Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

10 ความท้าทายที่ต้องเจอ หากคุณต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ

อาชีพผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัวนั้น ก็ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่ง ที่ ณ ปัจจุบัน หลาย ๆ คนให้ความสนใจ และอยากกระโดดเข้ามาในวงการนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่รู้ว่า เมื่อเข้าสู่อาชีพการเป็นผู้ประกอบการแล้ว จะต้องพบเจออะไรบ้าง เพราะในโรงเรียนก็ไม่ได้มีสอนกันทั่ว ๆ ไปซะด้วยว่า ถ้าจบไปแล้วหากต้องการทำอาชีพธุรกิจส่วนตัวจะต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้น หากใครที่กำลังสนใจที่จะเปลี่ยนงานจากนักเรียนจบใหม่ไฟแรง, พนักงานประจำ, ฟรีแลนซ์ หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน ไปเป็นผู้ประกอบการ หากรู้ว่าจะต้องพบเจออะไรบ้าง ก็จะได้ตระเตรียมตัวกันได้ทัน ก่อนที่จะเจอเหตุการณ์จริง จะได้รับมือได้

ความท้าทายที่ 1 – ต้องละทิ้งเงินเดือนของตัวเอง (SACRIFICING SALARY)

แน่นอนว่า ในกรณีที่ใครหลาย ๆ คนกำลังทำงานประจำอยู่ แล้วจู่ ๆ ก็อยากจะเปลี่ยนอาชีพไปเป็นผู้ประกอบการ สิ่งที่คุณจะต้องเผชิญในทันทีเลยก็คือ ต้องละทิ้งเงินเดือนของตัวเอง เพราะไม่มีนายจ้างคนไหนหรอกที่จะยอมให้ลูกจ้างของตนเองนั้น แบ่งเวลาส่วนตัวไปทำธุรกิจของตัวเอง แต่ยังมานั่งกินเงินเดือนแถมทำงานแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ซึ่งหลาย ๆ บริษัท ก็มักจะมีนโยบายที่ชัดเจนอยู่เลยว่า หากคุณทำงานประจำที่บริษัท คุณไม่สามารถทำงานอย่างอื่นควบคู่กันไปได้ ในขณะที่กำลังทำงานอยู่ที่นี่

รวมไปถึง คุณจะต้องเสียสละสวัสดิการต่าง ๆ ที่บริษัทเอกชนหรือองค์กรของรัฐบาลมีให้กับคุณ ไม่ว่าจะเป็น เงินโบนัส, ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, ค่าน้ำมัน, ค่าชดเชย ฯลฯ

ความท้าทายที่ 2 – การบริหารจัดการกับเวลา (TIME MANAGEMENT)

การบริหารเวลาจำเป็นที่จะต้องมีในทันทีที่คุณตัดสินใจเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่คุณลาออกจากงานประจำแล้ว จะไม่มีเจ้านายหรือหัวหน้า คอยบงการชีวิตคุณอีกต่อไปแล้ว จะมีแต่ตัวคุณเท่านั้น ที่จะบงการชีวิตคุณ และคุณก็จะต้องเริ่มบงการชีวิตคนอื่น ๆ ที่เข้ามาเป็นทีมงานของคุณ หากใครคิดว่าการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น นั้นเป็นเรื่องแสนสาหัส ที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อฝ่ารถติดไปทำงาน แถมกว่าจะถึงบ้านก็ปาเข้าไปดึก ๆ ดื่น ๆ เพราะก็ต้องฝ่ารถติดกลับบ้านเหมือนเดิม ซึ่งถ้าคุณหวังเอาไว้ว่า หากลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว จะมีเวลาว่างมากก็เดิมนั้น บอกไว้ตรงนี้เลยว่า “คุณคิดผิดอย่างมหันต์” เพราะการเริ่มต้นเป็นนายตัวเองนั้น ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ จะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีวันหยุดพัก เพราะเป็นช่วงตั้งไข่ของธุรกิจ เพราะในช่วงแรก หากไม่ประคองธุรกิจให้เติบโตคุณก็ไม่สามารถไปต่อได้

ความท้าทายที่ 3 – จะมีปัญหาในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเข้ามาอย่างมากมาย (PROCESSING ISSUES)

ในกรณีที่เราเข้าไปทำงานในบริษัทใหม่ ๆ ก็มักจะมีการฝึกอบรมพนักงานใหม่หรือรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อน คอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือหากไม่รู้ก็ให้ถามหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัทได้ และถ้าดีหน่อย คุณก็จะมีพี่เลี้ยงประกบและอธิบายขั้นตอนในการทำงานกันเลยทีเดียว

แต่ในขณะที่การเริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวนั้น จะมีสิ่งที่คุณไม่รู้เยอะแยะมากมาย และในหลาย ๆ ครั้งก็จะไม่รู้ว่ามันจะต้องทำยังไง หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ ไม่รู้ว่าต้องรู้อะไรบ้าง เช่น

  • จะจดทะเบียนบริษัทต้องทำยังไง เตรียมเอกสารอะไรบ้าง
  • เริ่มต้นทำธุรกิจต้องมีเงินเท่าไหร่
  • จะหาทีมงานมาจากไหน แล้วจะรับสมัครพนักงานจะต้องเลือกยังไง
  • อุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง
  • จะผลิตสินค้ายัง เจ้าไหน ราคาเท่าไหร่ ได้ของเมื่อไหร่
  • จะทำการตลาดยังไง จะลงโฆษณา Facebook, Google ต้องทำยังไง
  • ขายราคาเท่าไหร่ ส่งของให้ลูกค้ายังไง
  • สินค้าเสียหายทำยังไง ลูกค้าคืนของทำยังไง
  • ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ยังไง แล้วต้องส่งสรรพากรต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
  • และอื่น ๆ อีกมากมายที่บางทีคุณก็คาดไม่ถึง ฯลฯ

ความท้าทายที่ 4 – การสร้างทีมงาน (TEAM BUILDING)

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กร แน่นอนว่า มันคือการรวมตัวของกลุ่มคนที่รวมตัวกันสร้างสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า ที่ยินดีที่จะมอบเงินเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกัน

ดังนั้น แม้ว่าคุณจะเริ่มต้นด้วยคำว่า “บริษัทตัวคนเดียว” ซึ่งเอาเข้าจริง หลายสิ่งหลายอย่าง คุณไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว แม้ว่าในตอนเริ่มต้น คุณจะเป็นทั้งยาม, ภารโรง, แม่บ้าน, พนักงานต้อนรับ, พนักงานปฏิบัติการ, ฝ่ายขาย, ฝ่ายบัญชี, แผนกเทคโนโลยี หรือฝ่ายซับพอร์ท

และในฐานะที่คุณเป็นผู้นำ เป็นเจ้าของบริษัท เป็นหัวหน้าทีมผู้ก่อตั้ง หน้าที่ของคุณก็คือ จะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้คนอื่น ๆ เข้ามาร่วมลุยกับคุณ  เพราะบริษัทที่คุณตั้งขึ้นมาใหม่นั้น มีครบทุกประการทั้งปวงในสิ่งที่พนักงานประจำทุกคนไม่ต้องการ เช่น ไม่มีความมั่นคง, ไม่มีโบนัส, เงินเดือนน้อย, ออฟฟิศไม่ได้หรูหรา, ไม่มีหน้ามีตาในสังคม, ไม่มีเครดิต สารพัดจะไม่มี

ความท้าทายที่ 5 –  วิสัยทัศน์ (VISION)

วิสัยทัศน์คือความสามารถในการมองเห็นอนาคตหรือแนวโน้มของธุรกิจที่คุณต้องการให้มันเป็นจริง โดยเริ่มต้นจากความคิดของคุณว่า ในอีก 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี ข้างหน้าจากนี้ ธุรกิจของคุณจะมีหน้าตาอย่างไร จะมุ่งไปในทิศทางใด และที่สำคัญก็คือต้องขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าที่จะฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

ความท้าทายที่ 6 – ความโดดเดี่ยวเดียวดาย (LONELINESS)

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณตัดสินใจที่จะลุยในเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งหลายคนมาจากพนักงานประจำที่มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ค่อนข้างมั่นคง และเมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจคุณมีปัญหา หรือทำท่าจะไปไม่รอด เมื่อคุณตัดสินใจที่จะโทรหาคนในครอบครัว เพื่อนมิตร ญาติสนิท ทุกคนกลับต่างพร้อมใจกันบอกคุณว่า “ฉันบอกแกแล้ว ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้หรอก” “เลิกหวังลม ๆ แล้ง ๆ เถอะ” “มันไม่มีทางทำได้หรอก” “บอกแล้วว่าอย่าลาออกมาก็ไม่เชื่อ” “มีงานมั่นคงดี ๆ อยู่แล้ว จะไปลำบากทำไมกัน”

ความท้าทายที่ 7 – ภาษีและนักกฏหมาย (TAX & LAWYERS)

ว่ากันว่า บนโลกนี้มีอยู่สองสิ่งที่หนียังไงก็หนีไม่พ้น นั่นก็คือความตายและภาษี

เมื่อคุณเริ่มทำธุรกิจ และทันทีที่มีรายได้ จะต้องจดบันทึกทุกตัวเลขที่เกิดธุรกรรมขึ้นกับธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นรายรับ-รายจ่าย ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณจะไม่สามารถนำไปคำนวณในเรื่องของภาษีได้อย่างถูกต้อง หรือบางอย่างที่ควรจะลดหย่อนภาษีได้ ก็ไม่ได้บันทึกเอาไว้ แต่แค่วัน ๆ หาเงินเข้าบริษัทก็หมดเวลาแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจะต้องมีฝ่ายบัญชี เพราะเป็นงานที่กินเวลาเอามาก ๆ จะไม่ได้ทำก็ไม่ได้ เพราะหากไม่ยื่นงบการเงินก็ผิดกฏหมาย ถูกโทษปรับขึ้นโรงขึ้นศาลกันอีก ครั้นจะมานั่งทำบัญชีทั้งวันก็คงไม่ต้องทำมาหากินกันพอดี ดังนั้น จงหาใครสักคนมาช่วยในส่วนนี้ซะ รวมไปถึงนักกฏหมายหรือทนายความที่คุณจะต้องมีประจำบริษัทหรือสามารถปรึกษาได้ในทันทีที่ต้องการ เพราะฝ่ายนี้นั้น เปรียบเสมือนหลังบ้านที่สำคัญของคุณ พวกเขารู้วิธีการที่จะรักษาผลประโยชน์ของบริษัทได้มากที่สุด ซึ่งภาษานักกฏหมายเป็นอะไรที่คนทั่ว ๆ ไปอย่างเรา ๆ ไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจแต่ก็ยังงง ๆ กับความหมายที่สื่อสาร

แน่นอนว่า หากคุณคือกองหน้าที่คอยยิงทำประตู คุณไม่สามารถขาดกองหลังได้ เพราะต่อให้ยิงได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะถูกยิงพรุนก็มากเท่านั้นเช่นกัน

ความท้าทายที่ 8 – สวมบทบาทที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน (WEARING MULTIPLE HATS)

ในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น เนื่องจากคุณยังมีทีมงานไม่มากนัก แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นต้องทำ จะรอคนอื่นมาทำก็ไม่ทันการ ในฐานะที่คุณเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ เช่น เป็น CEO, ยาม, ภารโรง, แม่บ้าน, พนักงานต้อนรับ, พนักงานปฏิบัติการ, ฝ่ายขาย, ฝ่ายบัญชี, แผนกเทคโนโลยี หรือฝ่ายซับพอร์ท

เพราะงานสำคัญ ที่จะต้องทำได้แก่ จัดออฟฟิศ, ผลิตของ, ส่งของ, ทำเว็บไซต์, ทำโซเชียลมีเดีย, ทำการตลาด, ทำการขาย ซึ่งนั่น จะทำให้คุณเริ่มรู้ว่าในแต่ละแผนกนั้น ทำงานกันอย่างไร และเมื่อธุรกิจคุณขยายขึ้น จงหาผู้คนมาช่วยงานในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อที่ตัวคุณ จะได้ไปทำงานในส่วนที่สำคัญที่สุดเพื่อให้ธุรกิจเติบโต และมีแต่คุณคนเดียวเท่านั้นที่สามารถทำได้ คนอื่นทำแทนไม่ได้

ความท้าทายที่ 9 – ธุรกิจคือการแข่งขัน (HANDLING COMPETITION)

หากธุรกิจที่คุณทำนั้น ไม่มีคู่แข่งอยู่เลยแม้แต่รายเดียว หากเกิดเหตุการณ์นี้ มีคำตอบด้วยกันอยู่สองข้อก็คือ ข้อแรกธุรกิจที่คุณทำนั้น ไม่มีลูกค้าอยู่เลยและถึงมีก็มีน้อยมากซะจนอยู่บ้านเฉย ๆ น่าจะดีซะกว่า กับอย่างที่สองคือ คุณไม่ได้กำลังทำธุรกิจอยู่บนโลกนี้

เพราะทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กน้อยหรือใหญ่โตแค่ไหน ก็ย่อมมีคู่แข่งอยู่เสมอ เช่น สมมติว่าคุณเปิดร้านโชว์ห่วยที่บ้านมานับสิบปี แต่อยู่ดีคืนนี้ก็มีซุปเปอร์มาร์เก็ตมาตั้งติดกับร้านคุณซะอย่างงั้น จากรายได้วันนึงเป็นหมื่นเหลือแค่หลักร้อย

หรือแม้แต่ธุรกิจอวกาศไปนอกโลก ดูเหมือนจะมีคู่แข่งน้อย แต่คู่แข่งแต่ละเจ้านั้น กลับมีแต่พี่ใหญ่บิ๊กเบิ้ม ที่พร้อมจะเขมือบน้องใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะผู้เล่นที่เขามาในอุตสาหกรรมนี้ มีแต่มหาเศรษฐีพันล้าน หมื่นล้านกันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Elon Musk, Jeff Bezos, Richard Branson เป็นต้น

ความท้าทายที่ 10 – วิถีการใช้ชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไป (LIFESTYLE CHANGE)

เมื่อคุณเลือกเดินบนเส้นทางนี้ วิถีการใช้ชีวิตของคุณในทุก ๆ ด้าน จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อย่างแรกที่เบสิคสุด ๆ เลยก็คือ จากเดิมที่คุณเคยทำงานประจำ เพื่อรอวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยทุกคนต่างพร้อมใจกันเรียกบ่ายวันศุกร์ว่า “วันซ้อมหยุดจริง” และในคืนวันศุกร์และเสาร์ คือวันที่คุณจะสังสรรค์และปลดปล่อยความเครียดจากที่ทำงาน พอตื่นมาวันอาทิตย์ที่ยังอารมณ์ค้างกับอาการแฮงค์ คุณก็ใช้เวลาทั้งวันไปเพื่อการนั่งดูทีวี ซีรี่ย์ เพื่อที่จะเสพย์ความบันเทิงอย่างเต็มที่ ก่อนที่เช้าวันจันทร์กำลังจะมาถึง

  • ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน, พี่น้อง, แฟน และครอบครัว ของคุณจะเปลี่ยนไป
  • กิจวัตรประจำวันของคุณจะเปลี่ยนไป
  • เพื่อนที่คุณคบหาหรือไปสังสรรค์ด้วยกันจะเปลี่ยนไป
  • สถานที่ที่คุณเคยไปก่อนหน้านี้อยู่บ่อย ๆ จะเปลี่ยนไปเป็นสถานที่อื่นแทน

และนี่ก็คือ 10 สิ่งความท้าทายที่ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องเจอและต้องรับมือกับมันให้ได้ เพราะหากคุณไม่สามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ ก็แนะนำว่าอย่าพึ่งรีบตัดสินใจที่จะก้าวเข้ามาสู่เส้นทางนี้ แต่หากคุณพร้อมแล้วล่ะก็ ต้องลุยให้ถึงที่สุด ล้มได้ก็ลุกได้ อย่ายอมแพ้เด็ดขาดจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ถามใจคุณดูว่าคุณพร้อมที่จะเข้าสู่เส้นทางผู้ประกอบการแล้วหรือยัง?

 

Resource