Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Top 10 Mentors

10 บทเรียนจาก Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei จากยาจกสู่มหาเศรษฐีแสนล้าน

หากล่าวถึง Ren Zhengfei หลาย ๆ คนอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อนี้กันสักเท่าไหร่ แต่หากบอกว่าเป็นผู้ก่อตั้ง Huawei แล้วล่ะก็ทุกคนก็จะร้องอ๋อแทบจะในทันที เพราะใครจะไปคิดว่า แบรนด์จากจีนค่ายนี้ จะสามารถเข้ามาตีตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันได้ จนสามารถมียอดขายอย่างมหาศาลและกลายแบรนด์เป็นอันดับที่ 2 ของโลก แซง Apple ไปอย่างหน้าตาเฉย (แต่มูลค่าแบรนด์กับกำไรของ Apple ยังคงมากกว่า Huawei อยู่)

และที่น่าสนใจก็คือ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง คนนี้นั้น ไม่ได้เติบโตมาจากครอบครัวคนรวยหรือคนมีฐานะปานกลางทั่ว ๆ ไป แต่เติบโตมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนด้วยซ้ำไป ต้องอดมื้อกินมื้อ ไม่มีชุดนักเรียนใส่ไปโรงเรียนจนจบชั้นมัธยมปลาย ส่วนผ้าห่มที่ใช้ในช่วงมหา’ลัย ก็เป็นผ้าห่มเก่า ๆ ที่คนอื่นทิ้งแล้วและแม่ของเขาก็เอามาเย็บซ่อมแซมให้

และที่ลำบากไปกว่านั้น เขาเติบโตมาในช่วงที่จีนกำลังสั่นคลอน เพราะอยู่ในช่วงของ “ปฎิวัติวัฒนธรรม” ที่เกิดสงครามภายในประเทศ ที่เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงพ่อของ Ren Zhengfei ก็ถูกกลั่นแกล้งและทารุณสารพัด โดนจับขังคุกก็เคยมาแล้ว

Ren Zhengfei จึงเป็นความหวังเดียวของครอบครัว ในฐานะที่เป็นลูกชายคนโตสุดของบ้าน ที่มีน้อง ๆ ที่ต้องดูแลอีกหกคน พ่อแม่ของเขา จึงทำทุกวิถีทางที่จะส่งเขาเรียนสูง ๆ เพื่อที่จะได้งานได้เงินดี ๆ ทำ เพื่อพลิกฟื้นชีวิตของคนในครอบครัว

และนี่ ก็คือ 10 บทเรียนจาก Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei จากยาจกสู่มหาเศรษฐีแสนล้าน

บทเรียนที่ 1 – ใช้ระบบ Ownership การเป็นเจ้าของร่วมกัน

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ก่อตั้งบริษัท มักจะหวงแหนและต้องการควบคุมอำนาจเอาไว้ในมือของตนเองซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ตรงกันข้ามกับการบริหารของ Ren Zhengfei ที่เขากลับใช้ระบบให้พนักงานทุกคนเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนร่วมกัน ดูได้จากการที่ Ren Zhengfei นั้น เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่ถือหุ้นของ Huawei ไว้เพียง 1.4% เท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือถูกแจกจ่ายไปให้กับพนักงานภายในบริษัท ซึ่งถือหุ้นของบริษัทเอาไว้กว่า 64% แต่จะได้รับในลักษณะของหุ้นลอย ก็คือ หากยังคงทำงานอยู่ในบริษัท พวกเขาก็จะได้รับปันผลจากหุ้นส่วนนั้น ๆ แต่หากลาออกก็ต้องคืนหุ้นกลับมาให้ยังบริษัท

บทเรียนที่ 2 – จงลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ปกติแล้ว Huawei มีนโยบายในการกันเงินจำนวน 10% ในทุก ๆ ปี เพื่อนำไปลงทุนในส่วนของ R&D โดยในปี 2017 มีรายงานว่า Huawei ได้ลงทุนในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยใช้เงินจำนวนกว่า 13.8 พันล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ 4.55 แสนล้านบาท) ซึ่งทำให้ ณ ปัจจุบันนี้ Huawei มีสิทธิบัตรที่ถือครองอยู่ในมือนับพันรายการเลยทีเดียว

บทเรียนที่ 3 – ซ่อนตัวอยู่ในเงามืด

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท Huawei ในปี 1987 จนถึงปี 2013 รวมระยะเวลากว่า 26 ปีแรกนั้น Ren Zhengfei ไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อใด ๆ เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Production, Sales และ Profit หรือแม้กระทั่งประวัติความเป็นมาของตัวเขา ประวัติความเป็นมาของบริษัท โดยเขายึดหลักที่ว่า “พูดน้อยแต่ทำเยอะ” เพราะเขาต้องการที่จะมุ่งมั่นในการทำงานอย่างหนัก มากกว่าที่จะคอยมากังวลว่า เวลาจะออกสื่อจะต้องเตรียมตัวพูดยังไงมากกว่า จนกระทั่งเมื่อทุก ๆ อย่างในบริษัทมันเริ่มลงตัวแล้วค่อยคิดถึงเรื่องนี้กันอีกที “ไม่พูดเยอะ เจ็บคอ”

บทเรียนที่ 4 – เริ่มต้นธุรกิจด้วยความไร้เดียงสา

ก่อนหน้าที่ Huawei จะเข้าทำมาทำธุรกิจเกี่ยวกับการโทรคมนาคมนั้น พวกเขาทำมาค้าขายมาหลายอย่างมาก เพื่อให้บริษัทนั้นไปรอด ถึงขนาดที่ยาลดความอ้วนก็ยังเคยขายมาแล้วด้วยซ้ำ และเมื่อเล็งเห็นโอกาสและการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมเข้ามาในประเทศจีน พวกเขาก็ไม่รอช้า กระโดดเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ และเมื่อพวกเขาถลำลึกจนถอนตัวไม่ขึ้น พวกเขาก็พบว่า “รู้งี้ไม่น่าเข้ามาทำในวงการนี้เลย” เพราะในอุตสาหกรรมนี้นั้น มีแต่คู่แข่งรายใหญ่ ๆ ทุนเยอะ เงินหนา อิทธิพลก็สูง ไม่ว่าจะเป็น เอ็นอีซีและฟูจิตสึจากญี่ปุ่น, ลูเซนท์จากอเมริกา, ซีเมนส์จากเยอรมัน, เบลล์จากเบลเยี่ยม, อีริคสันจากเดนมาร์ก และอัลคาเทลจากฝรั่งเศส ซึ่งด้วยสาเหตุนี้บริษัทหัวเหว่ยก็เกือบจะเจ๊มาก็หลายรอบ ทำธุรกิจอย่างยากลำบาก แต่ในเมื่อมันถลำลึกเข้ามาแล้ว ถอยหลังก็ไม่ได้ จึงเหลือทางเลือกเพียงทางเดียวเท่านั้นก็คือ “ลุยไปข้างหน้าแบบเทหมดหน้าตักกันไปเลย”

บทเรียนที่ 5 – จุดเปลี่ยนของ Huawei คือการคิดใหม่ทำใหม่

Ren Zhengfei ได้ข่าวเกี่ยวกับองค์กรใหญ่ภายในประเทศมีความต้องการเกี่ยวกับระบบการสื่อสารโทรศัพท์ภายในเป็นจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล, สถานีตำรวจ ฯลฯ เขาจึงตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายระบบตู้สาขาโทรศัพท์หรือที่เรียกว่า PBX ซึ่งเป็นระบบโทรศัพท์ภายในองค์กรที่สามารถมีเลขหมายประจำสำนักงานเป็นของตัวเอง เพื่อเอาไว้ติดต่องานภายในและภายนอกองค์กรอย่างเป็นระบบ ซึ่งพวกเขาก็ได้เข้าไปเจรจากับบริษัทหงเหยียนที่ฮ่องกง ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าและราคาถูกกว่าเจ้าอื่น ๆ ในตลาด และด้วยความที่ Huawei ก่อนจะมาจับธุรกิจนี้ ก็ขายมาสารพัดอย่างแล้ว ทีมงานจึงมีความเชี่ยวชาญและมั่นใจเป็นอย่างมากในเรื่องของการขาย Ren Zhengfei จึงสั่งให้คนในทีมทำการตั้งทีมขายขึ้นมาเพื่อบุกตลาด ซึ่งหลังจากที่ผ่านไปเพียงปีแรกปีเดียว พวกเขาก็สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านหยวน จนต้องเพิ่มพนักงานเข้ามาในบริษัทกว่าร้อยคน ขายดีถึงขนาดที่ว่า บริษัทแม่ที่ฮ่องกง ผลิตและส่งของให้ลูกค้าไม่ทันกันเลยทีเดียว เนื่องจากต้นทุนสิ้นค้านั้นต่ำกว่าในท้องตลาดแถมสินค้ายังมีคุณภาพดีกว่า Huawei จึงเจาะตลาดในฐานะบริษัท Low-cost ซึ่งเหมาะกับ SME ขนาดเล็กที่มีงบประมาณไม่เยอะและต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเคล็ดลับของ Hauwei อีกอย่างหนึ่งก็คือ Ren Zhengfei จะให้ความสำคัญกับบริการหลังขายเป็นอย่างมาก เพราะเขารู้ดีว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มียอดขายเยอะ ลูกค้าเยอะนั้น ไม่สามารถดูแลลูกค้าได้ทั่วถึงอย่างแน่นอน ในขณะที่ Huawei นั้น เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ลูกค้าไม่เยอะมาก จึงดูแลลูกค้าหลังการขายเป็นอย่างดี

บทเรียนที่ 6 – ปรับปรุงแผนธุรกิจอยู่ตลอดเวลา

อย่างที่เราทราบจากเบื้องต้นแล้วว่า Huawei ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นบริษัทโทรคมนาคมตั้งแต่แรก เพราะหาก Ren Zhengfei มองเห็นช่องทางและโอกาสเมื่อไหร่ เขาก็จะลุยทันที โดยรูปแบบธุรกิจของ Huawei นั้น ได้เปลี่ยนไปตามโอกาสและสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เช่น

ในปี 1988 ถึง 1999 พวกเขาเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่อง PBX จากบริษัทในฮ่องกง

ในปี 1990 ถึง 2008 พวกเขาเริ่มผลิตสินค้าและมีโรงงานเป็นของตนเอง

ในปี 2008 ถึง 2013 พวกเขาเพิ่มนโยบายการลงทุนในแผนก R&D หรือการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยจะกันเงินจากยอดขายเป็นจำนวน 10% ในทุก ๆ ปี เพื่อลงทุนในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ในปี 2013 ถึง 2016 Huawei เข้าสู่อุตสาหกรรม Smartphone

และในปี 2018 ก็เข้าสู่การพัฒนาระบบมือถือ 5G และอื่น ๆ อีกมากมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

บทเรียนที่ 7 – เป็นบริษัทเทคโนโลยีประเทศจีนเจ้าแรกที่โกอินเตอร์

ยอดขายกว่า 2 ใน 3 ของ Huawei นั้น มาจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับบริษัทระดับโลกยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Google, Tencents หรือแม้แต่ Alibaba นั้น Huawei ถือว่าเป็นบริษัทที่เข้าถึงประเทศอื่น ๆ ในโลกในมากกว่าใคร ๆ ณ ตอนนี้

บทเรียนที่ 8 – ลูกค้าคือคนที่ทำให้ธุรกิจยังคงไปต่อได้

ในบทเรียนนี้จะว่าไปคำว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะ Huawei พวกเขาใส่ใจและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ เพราะถ้าไม่มีลูกค้า พวกเขาก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น จะตรงกันข้ามกับทาง Apple ที่ยึดตัวบริษัทเป็นศูนย์กลาง แต่ในขณะที่ Huawei นั้นยึดจากลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

บทเรียนที่ 9 – ต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากลโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ Hauwei นั้น ได้กลายเป็นบริษัทเจ้าแรกที่สามารถสร้างชิฟเซ็ตระบบ 5G ได้ก่อนใคร ในชื่อของ Balong 5G01 ซึ่งข้อดีของการพัฒนาเทคโนโลยีและนัวตกรรมได้ก่อนใคร ๆ พวกเขาก็สามารถที่จะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีนั้น ๆ และคนอื่น ๆ ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สำหรับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้แก่ Huawei

บทเรียนที่ 10 – เข้าใจคนในท้องที่เป็นอย่างดี

การที่ Huawei สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้มากกว่า 170 ประเทศทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะพวกเขาเข้าใจปัญหาและความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Ericsson ได้ให้บริการติดตั้งระบบโทรคมนาคมสำหรับองค์กร ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและต้องการพื้นที่ในการติดตั้งใหญ่มาก จึงเหมาะสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณสูงและมีพื้นที่เพียงพอต่อการติดตั้งระบบ เมื่อ Huawei ได้ลงพื้นที่จริง พร้อมกับได้คุยกับลูกค้าในท้องถิ่นจริง ๆ ว่า พวกเขากำลังประสบกับปัญหาอะไรกันอยู่ และเมื่อลงพื้นที่ก็พบว่า บริษัท SME ส่วนใหญ่ ไม่มีเงินมากพอที่จะติดตั้งระบบของ Ericsson และเนื่องจากพื้นที่ในการติดตั้งไม่มากพอจะรองรับระบบได้ เมื่อเห็นดังนั้น Huawei จึงได้สร้างระบบที่ลูกค้าสามารถจ่ายไหวและออกแบบให้ใช้พื้นที่ไม่มากในการติดตั้ง นั่นก็ทำให้สินค้าของ Huawei ตอบโจทย์เป็นอย่างมาก จึงทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว

และนี่ก็คือบทเรียนจาก Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei เมื่อตอนที่เขาอายุ 43 ปี และหลังจากนั้น 30 ปีผ่านไป Ren Zhengfei ในวัย 73 ปี ก็สามารถทำให้ Huawei กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Resource