Ramit Sethi นักเขียนชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ Best Seller อย่าง I Will Teach You to Be Rich ผมจะสอนให้คุณรวย ที่มุ่งเน้นให้คำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินและพัฒนาตนเอง และนี่คือ Money Rules กฎการเงินทั้ง 10 ข้อ ที่ทำให้ตัวของเขานั้น สามารถใช้ชีวิตแบบ Rich Life มีชีวิตแบบคนรวยได้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
กฎการเงินข้อที่ 1 – Always have 1 year of emergency fund มีเงินสดสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 1 ปี
คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของการเงินที่คนอื่น ๆ มักจะนำแนะนำกันก็คือ ให้เรามีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายเดือนในแต่ละเดือนของคุณ ในกรณีที่ตัวคุณนั้นไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่ตัวของ Ramit นั้น เขาคิดว่า การมีเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อเอาไว้ให้มากหน่อยก็น่าจะดีกว่า เพราะจากเหตุการณ์ covid-19 ที่ผ่านมานั้น ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่แทบไม่มีรายได้เข้าเลยนานนับปี แถมหนำซ้ำผู้ส่วนใหญ่ก็ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินมากพอที่จะใช้ประทังชีวิตในช่วงนั้น ซ้ำร้ายบางคนไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินเลยซะด้วยซ้ำ
ซึ่งเงินสำรองฉุกเฉินที่ Ramit เขาเน้นย้ำว่าเป็นเงินสดนั้น เขาไม่ได้หมายถึงว่า เขามีมันยัดเอาไว้ในตู้เสื้อผ้าที่บ้าน เพราะฉะนั้น ได้โปรดอย่าพยายามไปปล้นเงินที่บ้านของเขา เพราะเงินสดของเขานั้น ได้เก็บเอาไว้ที่ธนาคาร ที่พร้อมจะกดออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่เขาไม่ได้สนใจว่าธนาคารจะให้ดอกเบี้ยเงินฝากเท่าไหร่
ซึ่งถ้าตัวเลขเงินสำรองฉุกเฉินจำนวน 1 ปี ถ้าหากมันดูเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับตัวคุณ คุณก็แค่ปรับตัวเลขลงมา อย่างเช่น ลองเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน สัก 1 เดือนดูก่อน แล้วจากนั้น ก็ค่อย ๆ ขยายเป็น 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ในภายหลัง
กฎการเงินข้อที่ 2 – Save 10% & Invest 20% of gross income, minimum ให้ออมเงิน อย่างน้อยสุด 10% และลงทุน 20% จากรายได้ทั้งหมด
แม้ว่าในหนังสือ I will teach you to be rich ของเขาที่เขียนเอาไว้นั้น จะบอกว่าให้คุณเริ่มต้นออมเงินและลงทุนด้วยเงินจำนวน 5%-10% เป็นอย่างน้อย แต่ในนี้กลับบอกว่าให้ออมอย่างน้อย 10% และลงทุนอย่างน้อย 20% เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่สอนเอาไว้ในหนังสือนั้น Ramit ก็ให้เหตุผลว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น เราก็ควรขยับตัวเลขให้สูงขึ้นตามไปด้วย
โดยจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาที่ผ่านมานั้น เขาได้เรียนรู้ว่า การที่คนเราจะมีความมั่งคั่งที่แท้จริงได้นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการนำเงินไปลงทุน ดังนั้นเขาจึงคิดว่า ควรเพิ่มเงินที่จะนำไปลงทุนเป็น 20% จากรายได้ทั้งหมดของเขา เพราะเขามีหลักการส่วนตัวว่า เมื่อใดก็ตามที่ตัวของเขามีรายได้เพิ่มมากขึ้น เขาจะทำการลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และเขาก็ทำเช่นนี้ มาตั้งแต่อายุ 14 ปี แล้ว
เพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตแบบคนรวยตั้งแต่วันนี้ และใช้ชีวิตแบบคนที่มั่งคั่งกว่าในวันข้างหน้า
แต่ไอ้จำนวนเงิน 10%-20% นั้น สำหรับหลาย ๆ คนมันเป็นเงินจำนวนที่เยอะมาก ๆ ดังนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการสร้างรายได้ให้สูงมาก ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะออมและลงทุนได้เยอะขนาดนั้น
แต่หากคุณคิดว่า ตัวเลข 10%-20% มันสูงจนเกินไป ก็ให้คุณปรับตัวเลขเริ่มต้นลงมาที่ 5%-10% ก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ ปรับตัวเลขในการออมการลงทุนเพิ่มขึ้นปีละ 1% ซึ่งไอ้การเพิ่มขึ้นทีละ 1% ในทุก ๆ ปีนี่แหละ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเงินอย่างมหาศาลให้แก่คุณในอนาคต
กฎการเงินข้อที่ 3 – Be able to pay in full for large expenses สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนได้สำหรับรายจ่ายก้อนใหญ่
หลายคนพอเจอข้อนี้เข้าไป ถึงกับผงะ แล้วสวนกลับไปที่ Ramit ทันทีเลยว่า “คุณจะบ้าหรือไง ใครที่ไหนจะไปมีปัญญาจ่ายเงินสดเพื่อซื้อบ้านทั้งหลัง บ้าไปแล้ว”
แต่ Ramit ก็บอกว่า มันมีคนที่ซื้อบ้านได้ด้วยเงินสดได้จริง ๆ ในโลกนี้ แต่ประเด็นที่เขาต้องการจะสื่อจริง ๆ นั้นก็คือ เขาได้ตั้งกฎภายในบ้านของเขาเอาไว้ว่า เขาจะดำเนินชีวิตด้วยการที่ต้องไม่เป็นหนี้เด็ดขาด และเมื่อใช้กฎนี้ เขาก็รู้สึกว่า ชีวิตของเขานั้นก้าวหน้าขึ้น เขามีเงินเก็บมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเขาอายุได้ 20 ปีต้น ๆ เขาก็เริ่มตระหนักแล้วว่า สักวันหนึ่งในอนาคต เขาจะต้องแต่งงาน แม้ว่า ณ ตอนนั้น เขาจะยังไม่เจอกับภรรยาคนปัจจุบันซะด้วยซ้ำ ซึ่งเขาก็รับรู้ว่า งานแต่งงานถ้าอยากให้มันออกมาดูดี มันก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
ดังนั้น เขาจึงเริ่มต้นเก็บออมเงินเพื่องานแต่งโดยเฉพาะ ตั้งแต่อายุ 20 ต้น ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นค่าท่องเที่ยวเพื่อไปฮันนีมูน หรือเพื่อซื้อแหวนแต่งงาน อะไรทำนองนั้น
และเช่นกัน ถ้าตัวของเขาคิดว่า ถ้า ณ ตอนนี้ เขายังมีเงินสดไม่มากพอที่จะซื้อบ้านด้วยเงินสดทั้งหลัง เขาก็จะไม่ซื้อบ้าน ก็ให้เช่าไปก่อน
ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงของเขาที่ต้องการจะสื่อก็คือ ถ้าเก็บเงินสดได้ตามราคาของในสิ่งที่ต้องการได้แล้วนั้น เรื่องของเงินจะกลายเป็นรองในทันที มันจะไม่กลายมาเป็นประเด็นหลัก ในสมการการตัดสินใจของเขา
ดังนั้น ถ้าอยากได้อะไร ก็ให้ตั้งเป้าหมายตัวเลขเอาไว้ แล้วพยายามเก็บเงินให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ซะก่อน แล้วค่อยทำการซื้อมันด้วยเงินสด
กฎการเงินข้อที่ 4 – Never question spending on books, appetizers, or donating to charity ไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการจ่ายในเรื่องของการซื้อหนังสือ อาหารว่าง หรืออย่างการบริจาคเลยแม้แต่น้อย
ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม ตัวของเขาได้เจอกับหนังสือ ที่เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ และส่งผลให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้นั้น เขาจะทำการซื้อหนังสือเล่มนั้นในทันที โดยไม่ต้องตั้งคำถามกับจัวเองเลยว่า จะซื้อดีมั้ยน้าาา
ส่วนการซื้อของทานเล่นในภัตตาคารอาหารนั้น Ramit บอกว่า ในข้อนี้ มันเป็นปมส่วนตัวของเขา เมื่อตอนที่เขายังเด็กอยู่ เขาเกิดมาในครอบครัวที่จน ซึ่งนาน ๆ ทีทั้งครอบครัวจะได้ออกไปทานข้าวนอกบ้าน และเขาก็แทบไม่มีโอกาสในการสั่งขนมทานเล่น หรืออาหารเรียกน้ำย่อย ก่อนที่จะสั่งอาหารจานหลักเลย เพราะครอบครัวของเขาไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายมัน หรือเสียดายที่จ่ายมัน
แต่พอเขาเริ่มมีเงิน เขาก็บอกกับตัวเองว่า ถ้าอยากกินอะไรต้องได้กิน ถ้าตัวของเขาและครอบครัวของเขาอยากสั่งอาหารอะไรในเมนู อยากกินอะไร สั่งมาได้หมดเลย
ซึ่งเมื่อเขาตั้งกฎเอาไว้แบบนี้นั้น ก็เพราะว่า เขารู้สึกว่า นี่แหละคือชีวิตของคนรวย ที่สามารถเลือกได้ จ่ายไหว ได้กินของดี ๆ ได้กินในสิ่งที่อยากกิน มันคือการใช้ชีวิตในแบบที่เราเลือกได้ และเช่นเดียวกันกับในเรื่องของการบริจาคเพื่อการกุศลนั้น เขาจะตั้งกฎไปเลยว่า ไม่จำกัดจำนวน
ซึ่งตัวของเขากับภรรยานั้น ก็ได้จัดตั้งการระดมทุนเพื่อทำการกุศลอยู่บ่อยครั้งกับเพื่อนฝูง ซึ่งมันทำให้ใจของเขาฟูมาก เวลาที่ได้การกุศล
ดังนั้น ให้ตัวคุณลองหาดูว่า เรื่องใด ที่คุณชอบและอยากตั้งกฎให้สามารถใช้จ่ายในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างไม่มีจำกัด ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องของการทำสวน เพราะคุณทำแล้วมีความสุข คุณก็ทำให้ตัวเอง สามารถจัดเต็มในเรื่องของอุปกรณ์การทำสวน งบในการซื้อดอกไม้ โรงเรือนกันแดด ฯลฯ
เลือกมาสักอย่าง ในสิ่งที่คุณทำแล้วมีความสุข แล้วคุณจะพบกับชีวิตที่เหลือเชื่อเลยทีเดียว
กฎการเงินข้อที่ 5 – Fly business class on flights over 4 hours เลือกบินชั้นธุรกิจทันทีที่เดินทางยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง
กฎนี้ง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นก็คือ ตัวของ Ramit นั้น เขาอยากนั่งและเขาจ่ายไหว
ซึ่งตอนเขาเกิดมา เขาก็ไม่ได้เลือกนั่งชั้นธุรกิจมาตั้งแต่แรก กว่าเขาจะได้เริ่มขึ้นเครื่องบินก็อายุปาเข้าไป 20 กว่าแล้ว ซึ่งในตอนนั้น เขายังล้อพวกที่ยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อให้ได้นั่งในตำแหน่งดี ๆ ซะด้วยซ้ำว่า พวกนั้นนอกจากจะมีเงินแล้วยังต้องโง่ด้วย เพราะบินก็ขึ้นเครื่องบินลำเดียวกัน ทำไมจะต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อไปลงในจุดหมายเดียวกัน
แต่เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แทนที่เขาจะหัวเราะเยาะพวกนั้น เขาก็เริ่มตั้งคำถามแทนว่า เพราะเหตุใดพวกเขาเหล่านั้น ถึงยอมจ่ายงินที่นั่งที่แพงกว่าตั้ง 4 เท่า ทั้ง ๆ ที่ ก็ขึ้นเครื่องบินเพื่อไปจุดหมายเดียวกัน มันต้องมีอะไรพิเศษกว่าที่นั่งอื่น ๆ ที่ตัวของเขานั้นมองไม่เห็นบ้างล่ะ
จนเขาก็รู้ว่า ตำแหน่งดังกล่าว มันเป็นตำแหน่งที่นั่งสบายที่สุด เวียนหัวก็น้อย ปลอดภัยกว่าตำแหน่งอื่น ๆ เช่น บริเวณนั้นจะไม่มีกระเป๋าสัมภาระเหนือหัวตกลงมาใส่ตัวเขา ขึ้น ลง ก็ง่าย เข้าห้องน้ำก็สะดวก ฯลฯ
ซึ่งถ้าคุณจ่ายได้จ่ายไหว เงินเหลือหลังจากหักไปออมไปลงทุนหมดแล้ว ก็ทำไมจะไม่ลองจัดที่นั่งชั้นธุรกิจดูล่ะ
ซึ่งส่วนตัวของ Ramit นั้น เขาก็ชอบตั้งกฎง่าย ๆ ที่เข้าใจได้ในทันที นั่นก็คือ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเกินกว่า 4 ชั่วโมงแล้วล่ะก็ เขาจะนั่งชั้นธุรกิจทันที เงื่อนไขก็มีอยู่นั้น
ดังนั้น คุณลองตั้งกฎกับเรื่องเฉพาะตัวของคุณดู เพราะนี่มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเขาเช่นกัน
กฎการเงินข้อที่ 6 – Buy the best and keep it for as long as possible ซื้อสิ่งที่ดีที่สุดและเก็บมันเอาไว้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โดย Ramit บอกว่า ไม่ใช่เอะอะก็ซื้อแต่ของที่ดีที่สุด อย่างเช่นเสื้อผ้า แล้วก็กองยัดเอาไว้เต็มตู้เสื้อผ้า อันนั้นเขาเรียกว่าสุรุ่ยสุร่าย ซื้อเรื่อยเปื่อย แต่การซื้อของที่ดีที่สุดแล้วใช้มันไปนาน ๆ นั้น เขาหมายถึงว่า ของที่มีคุณภาพ ของที่ทนทาน ที่แม้ว่าเมื่อเทียบราคาแล้วมันอาจจะต้องเพิ่มเงินอีกสักหน่อย แต่ถ้าสิ่งนั้นมันสามารถใช้ได้อย่างนาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ นั่นแหละ คือสิ่งที่คุ้มค่ากว่าของที่ราคาถูก ๆ เป็นไหน ๆ
ซึ่งอย่างตัวของเขาก็เลือกของที่ดีที่สุดในรุ่น อย่างเช่น
- ถ้าเขาซื้อ iPhone เขาก็จะเลือกรุ่นที่มีความจุเยอะที่สุด
- ช้อนตักกาแฟ ที่เขาดื่มทุกวี่ทุกวัน เขาก็เลือกซื้อช้อนตักที่ทำจากไม้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ประดิษฐ์อย่างปราณีต ที่เขาเต็มใจที่จะใช้มันทั้งชีวิตที่เหลืออยู่
- อย่างรถยนต์ เขาก็เลือกซื้อ Honda Accord ตั้งแต่ช่วงที่เขาเรียนจบและพึ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ซึ่งเขาก็ใช้รถคันนี้ มาอย่างยาวนานถึง 19 ปี เรียกว่าใช้ได้อย่างคุ้มค่าสุด ๆ
- หรืออย่างเสื้อคลุมราคาแพงหลายแสนบาท แต่เขาก็เลือกซื้อมัน เพราะเขาตัดสินใจแล้วว่าจะเก็บมันเอาไว้ใช้ตลอดไป โดยคิดเผื่อถึงขนาดที่ว่า จะเก็บสิ่งนั้นเอาไว้ส่งต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานกันเลยทีเดียว
- หรืออย่างรองเท้าดี ๆ สักคู่หนึ่ง แล้วเฝ้าถนอมรักษามันเป็นอย่างดี แทนที่จะเฝ้าซื้อแต่รองเท้าใหม่ ๆ รุ่นใหม่ ๆ อยู่เรื่อยไป
ลองสำรวจดูว่า สำหรับตัวของคุณนั้น คุณจะเลือกซื้อสิ่งที่ดีที่สุดในของสิ่งใด ที่คุณยินดีที่จะซื้อแล้วเก็บรักษามันเอาไว้ไปอีกนานแสนนาน
กฎการเงินข้อที่ 7 – No limit for spending on personal development มีงบไม่จำกัดสำหรับเรื่องของการพัฒนาตนเอง
ตัวของ Ramit เองนั้น เขาอยู่ในแวดวงเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองอยู่แล้ว เขามักจะขึ้นบรรยายตามที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิตแบบคนรวย การเงิน การงาน อาชีพ ธุรกิจและจิตวิทยา
ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเล็งเห็นว่า มีคอร์สออนไลน์ คอร์สสัมมนาสด หรือจะเป็นเทรนเนอร์แบบส่วนตัว ใดก็ตามที่เขาลงเรียนแล้ว มันช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น พัฒนาขึ้น เก่งขึ้น เขาก็ลงเรียนคอร์สดังกล่าว โดยที่ไม่มีงบจำกัดในเรื่องนี้ เพราะมันช่วยส่งเสริมอาชีพการงานของเขาโดยตรง
โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตัวของเขาก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ไปเสียทุกเรื่อง
โดยในทางปฏิบัติ ตัวของคุณอาจจะลองกำหนดงบประมาณในเรื่องที่คุณต้องการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ อย่างเช่น คุณอาจจะลงทุนในคลาสฟิตเนสเดือนละ $100 หรือ คุณอาจจะกำหนดงบการศึกษาในอุตสาหกรรมที่คุณทำงานอยู่ปีละ $1,000 ก็ได้ แต่หากคุณทำแล้วรู้สึกมันไม่ใช่ตัวคุณ คุณก็แค่โยนกฎข้อนี้ทิ้งไปก็เท่านั้นเอง
กฎการเงินข้อที่ 8 – Earn enough to work only with people respect & like หารายได้ให้มากพอเพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกับคนที่เรารักและเคารพ
คุณคงจะเคยผ่านประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับคนที่คุณไม่ชอบขี้หน้ากันมาอยู่บ้าง โดยเฉพาะเวลาที่มีการประชุมทีม ประชุมบริษัท แล้วคุณจะต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานที่คุณไม่ค่อยชอบ หรือหัวหน้าที่คุณไม่เคารพเหล่านั้น คุณก็จะรู้สึกไม่ดี อึดอัด ไม่มีความสุข
ซึ่งสิ่งเหล่านั้น ทาง Ramit เขาบอกว่า เขาไม่อยากให้เกิดกับที่ทำงานของเขา เพราะต้องยอมรับว่าชีวิตในการทำงานนั้นใช้เวลาค่อนข้างเยอะ และเขาก็ไม่อยากที่จะใช้เวลากับคนที่เขาไม่เคารพและไม่ชอบในที่ทำงาน
ดังนั้น ตัวของ Ramit เอง เขาจะไม่ยอมให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่เดือดร้อนในเรื่องของการเงิน และต้องทนยอมทำงานกับที่เขาไม่ชอบและไม่เคารพอย่างเด็ดขาด
ดังนั้นเขาเลือกที่จะทำงานเพื่อให้ได้เงินมากเพียงพอกับคนที่เขาชอบและเคารพ มากกว่าที่จะเลือกทำงานให้ได้เงินเยอะ ๆ แต่ไม่มีความสุขกับคนที่ทำงานด้วยเลย
กฎการเงินข้อที่ 9 – Prioritize time outside the spreadsheet ให้ความสำคัญกับเวลาที่อยู่นอกตารางงาน
ตัวของ Ramit เองนั้น ในช่วงวัย 22 ปี เขาเป็นเด็กเนิร์ด ที่เรียกได้ว่า เป็นเจ้าพ่อแห่งการจัดการกับตารางเวลา ที่หมกมุ่นอยู่กับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มขึ้น 2-3% อยู่ตลอดเวลา ยิ่งจัดตารางได้งานเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะถือว่าเป็นการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่พอเขาโตขึ้นก็คิดได้ว่า ชีวิตไลฟ์สไตล์แบบคนรวยนั้น ชีวิตของพวกเขาไม่ได้อยู่ในตารางงาน แต่เป็นการใช้ชีวิตอยู่นอกตารางอย่างอิสระต่างหาก ถึงจะเรียกว่ารวยจริง
เช่น ออกไปฟิตเนส ดูแลรักษาสุขภาพให้มีร่างกายที่แข็งแรง ออกไปท่องเที่ยว ใช้ชีวิตกับเพื่อน ครอบครัว และคนเราที่เรารัก
กฎการเงินข้อที่ 10 – Marry the right person แต่งงานกับคนที่ใช่
คนที่คุณเลือกแต่งงานด้วยนั้น คือหนึ่งในการตัดสินใจในเรื่องทางการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคุณเลยก็ว่าได้
เพราะคนที่คุณเลือกนั้น จะเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมกับทุกสิ่งในชีวิตของคุณ ไม่ว่าจะเป็น
- เรื่องของรายได้
- แหล่งที่อยู่อาศัย
- อาหารที่ทานร่วมกัน
- โครงสร้างของครอบครัว
ส่วนในเรื่องของการเงินนั้น คู่ของคุณจะส่งผลต่อการสนทนาในเรื่องของการเงิน ความรู้สึกที่มีต่อเงิน ไปตลอดช่วงชีวิตคู่ที่อยู่ด้วยกัน
ดังนั้นมันสำคัญมากที่คนใกล้ตัวคุณ จะช่วยกันส่งเสริมในเรื่องของการเงิน คุณจะต้องเรียนรู้ที่ปรับจูน mindset หรือวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องของการเงินให้สอดคล้องกัน เปิดใจที่จะรับฟังในเรื่องของการเงินซึ่งกันและกัน
ซึ่งกฎการเงินทั้งหมดทั้งมวลที่ Ramit Sethi กล่าวมานั้น มันเป็นกฎที่เขาปรับและสร้างมันขึ้นมาจากการที่เขาต้องการที่จะมีชีวิตแบบคนรวย ในแบบที่เขาเป็น
ดังนั้น สำหรับตัวของคุณ ก็ลองนำไปปรับใช้ดูว่า สิ่งใดหรือเรื่องใด ที่คุณคิดว่า มันเป็นสิ่งที่มีค่าและเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตของคุณ ก็ให้คุณค่อย ๆ ปรับกฎให้เข้ากับตนเองมากที่สุด ได้ใช้ชีวิตแบบคนรวยตามที่คุณต้องการได้เลย
Resources