Site icon Blue O'Clock

6 สิ่งที่คุณต้องหยุดซื้อในยุคนี้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในยุคที่ต้องประหยัดเงิน by Graham Stephan | Money Back to Basic EP.9

Graham Stephan

Image credit: https://koncrete.com/becoming-a-millionaire-at-age-26-graham-stephan/

การจับจ่ายใช้สอยเงินนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่ต้องเผชิญกับวิกฤต เราก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องจับจ่ายใช้สอยอย่างมีสติและใช้อย่างประหยัดในเรื่องที่จำเป็นจริง ๆ ต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งหากเรื่องไหนที่ประหยัดได้ก็ควรจะประหยัด แต่ก็ไม่ได้ถึงกับจะต้องตระหนี่ขี้เหนียวขนาดนั้น

ซึ่งในโพสต์นี้ Graham Stephan ยูทูปเบอร์สายอสังหาริมทรัพย์ การเงินและการลงทุนชื่อดัง เจ้าของช่อง Graham Stephan ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.5 ล้านคน และช่อง The Graham Stephan Show ที่มีผู้ติดตามกว่า 5.7 แสนคน ที่ ณ ปี 2020 เขามีทรัพย์อยู่ที่ $6.5 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 200 ล้านบาท จะมาแชร์วิธีการออมเงินประหยัดเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เขาพึ่งค้นพบ ทั้ง ๆ ที่เรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เล็กน้อยมากจนเขาเคยมองข้ามมันไป แต่พอได้ทำแล้วกลับมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างน่าสนใจ และนี่ก็คือ 6 สิ่งคุณควรหยุดซื้อเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในยุคที่ต้องประหยัด

1 – Haircut หยุดจ่ายเงินเพื่อตัดผม

Graham เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเขามองเรื่องของการตัดผมเป็นการให้รางวัลแก่ตนเอง เพราะหลายคนเวลาที่ไปร้านตัดผมก็มักจะรู้สึกได้ผ่อนคลายและเมื่อออกจากร้านก็รู็สึกดูดีขึ้น เขาจึงใช้จ่ายในส่วนเฉลี่ยเดือนละ $35 หรือประมาณเดือนละ 1,000 บาทไปกับค่าตัดผม

แต่เมื่อเจอกับวิกฤตร้านตัดผมทุกร้านก็ปิดตัวลง เขาจึงได้ไอเดียว่า ถ้าไปร้านตัดผมไม่ได้ ก็ตัดมันเองที่บ้านซะเลย โดยเริ่มจากการซื้อแบตเตอเลี่ยนหรือไอ้เจ้าเครื่องตัดผมนี่แหละ จากเว็บไซต์ Amazon.com ในราคา $70 หรือประมาณ 2,000 นิด ๆ แล้วเขาก็ให้แฟนสาวช่วยตัดผมอย่างง่าย ๆ ให้ทุก ๆ 6 สัปดาห์ และค่าตัดผมของเขาก็เลยเหลือ 0 บาท (ยกเว้นเสียแต่ว่าแฟนคุณจะคิดค่าตัดผมซะเอง ซึ่งคุณก็อาจจ่ายให้เธอในรูปแบบของการพาไปดินเนอร์สักมื้อเป็นการตอบแทน)

มาถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่า มันจะประหยัดได้ยังไง ก็ในเมื่อต้องออกตังค์ถึงสองพันกว่าบาทเพื่อซื้อแบตตาเลี่ยนตัดผม แถมการมีแฟนสักคนนั้นค่าใช้จ่ายสูงมาก เรียกได้ว่าบางคนหมดเป็นแสนแขนยังไม่ได้จับ! 555+

ซึ่ง Graham ก็ได้อธิบายว่าการตัดผมเองนั้น เขาได้ประโยชน์คืนกลับมาอย่างน้อยสองเด้งก็คือ เขาไม่ต้องเสียค่าตัดผมอีกต่อไป แถมค่าเครื่องตัดผมเมื่อเทียบกับค่าตัดผมที่ร้าน เขาใช้แค่สองครั้งก็ได้ทุนคืนแล้ว เพราะแฟนสาวของเขาก็แฮปปี้ที่จะตัดผมให้ ตราบใดที่คุณยังชื่นชมฝีมือการตัดของเธออยู่ และอย่างที่สองก็คือ เขาไม่ต้องคอยขับรถไปกลับและหาที่จอดรถระหว่างไปที่ร้านตัดผม และก็ไม่ต้องรอคิวเนิ่นนานแสนนาน เพราะคุณคงรู้ดีว่า หากคุณไปต่อคิวคนอื่นแค่หนึ่งคิว คุณอาจจะต้องรอเวลาอย่างน้อยก็ต้องมีครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงขึ้นไปแน่ ๆ รวมเวลาที่ต้องเสียไปก็ประมาณ 90 นาทีขึ้นไป ทำให้คุณได้เวลาในส่วนนี้กลับมาซึ่งนับว่าคุ้มแสนคุ้ม

ประหยัดเงินปีละ $400 หรือประมาณ 12,000 บาทต่อปี

2 – Fast Food หยุดจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารขยะ

ส่วนตัวของ Graham เองนั้น เขาก็ไม่ได้กินอาหาร Fast Food มากมายอะไร อย่างมากก็ตกเดือนละ 2-3 ครั้ง ที่เขาซื้อเพื่อให้รางวัลตัวเองด้วยดับเบิ้ลชีสเบอร์เกอร์จากร้านแมคโดนัล ที่มีราคาประมาณ 1-2 ร้อยกว่าบาท และบางครั้งเขาก็มักจะชอบตุนอาหารแช่แข็งเอาไว้ในตู้เย็น เพราะเขามักจะหยิบมันออกมาเพื่อกินในเวลาที่เร่งด่วน และหลังจากที่เกิดวิกฤตเขาก็เลิกจ่ายในส่วนนี้ไปเลยเป็นเวลากว่า 6 เดือนเข้าไปแล้ว ซึ่งเมื่อดูตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของชาวอเมริกันที่หมดไปกับค่าอาหาร Fast Food ก็จะพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่คนละ $1,200 เหรียญฯ ต่อปี หรือราว ๆ 36,000 บาทต่อปี!!! หรือเฉลี่ยเดือนละสามพันกว่าบาท หรือตกวันละหนึ่งร้อยบาท ซึ่งตีเป็นวันดูเหมือนจะไม่เยอะ แต่พอตีเป็นปีแล้วนี่ได้เกือบ ๆ ครึ่งแสนเลยนะนั่น

ซึ่งมีผลวิจัยออกมาว่า การทานอาหาร Fast Food นั้นไม่ได้ถูกกว่าการทำอาหารที่บ้านเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นอาหารจานด่วนที่ใช้เวลาทำแป๊บเดียวมันไม่ได้เกี่ยวกับจะถูกหรือจะแพงเลย และแน่นอนว่าสิ่งที่อาหาร Fast Food แพงกว่าการทำอาหารเองอย่างชัดเจนนั่นก็คือค่าโภชนาการและประโยชน์จากสารอาหารที่ได้รับ เมื่อคุณเลิกทานอารหาร fast food นั่นหมายถึงมันส่งผลต่อสุขภาพของคุณโดยตรงทำให้ไม่เจ็บป่วยบ่อย ลดโอกาสเป็นโรคอ้วน นั่นก็หมายถึงในทางอ้อมมันยังช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาหมอเพื่อรักษาสุขภาพอีกด้วย

ประหยัดเงินปีละ $1,200 หรือประมาณ 36,000 บาทต่อปี

3 – Gym Membership ยกเลิกการสมัครสมาชิกโรงยิม

Graham เล่าว่า เมื่อตอนที่เขายังเป็นสมาชิกอยู่เขามักจะไปโรงยิมเฉลี่ย 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ แถมยังรู้สึกเสียใจทุกครั้งที่วันไหนไม่ได้ไปใช้บริการเพราะรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม ไหน ๆ ก็ต้องจ่ายเต็มทุกเดือนอยู่แล้ว ยิ่งไปทุกวันยิ่งคุ้ม

จนกระทั่งเกิดวิกฤตแล้วทุกร้านก็ต้องปิดตัวลง เขาเลยหันไปหาอุปกรณ์ง่าย ๆ ภายในบ้าน อย่างเก้าอี้ม้านั่งธรรมดา ๆ กับการออกกำลังแบบ Body Weight ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำหนักของร่างกายเราเองในการออกกำลังกาย โดยเขาก็ศึกษาวิธีการเล่นจากวีดีโอบน Youtube นอกจากนั้นเขายังเสริมการกำลังกำลังด้วยการวิ่งแถวรอบ ๆ หมู่บ้านเฉลี่ยวันละ 3 กิโลเมตรต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ และแถมด้วยการเดินไปพูดไปกับ บก. ของเขาเพื่อคุยงานในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการออกกำลังที่ผ่อนคลายแถมยังได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย และทั้งหมดที่ว่ามานั้นฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่ก็เหมาะกับคนที่มีวินัยในการผลักดันตัวเองให้ลุกขึ้นไปออกกำลังกายในทุก ๆ วัน

ประหยัดเงินเฉลี่ย $1,000 ต่อปี หรือปีละ 30,000 บาท

4 – Changed Insurance เปลี่ยนประกันรถยนต์

Graham เล่าว่าเมื่อเกิดวิกฤต เขาก็ขับรถน้อยลง ทำให้เขาเปลี่ยนจากประกันรถยนต์ที่คุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง มาเป็นประกันที่จ่ายตามเวลาที่ใช้รถ ซึ่งเมื่อเทียบกับแผนประกันก่อนหน้านี้ เขาสามารถประหยัดเงินได้เฉลี่ยเดือนละ $30 เหรียญฯ หรือประมาณ 1,000 บาทในทุก ๆ เดือน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประกันชั้น 1 สำหรับรถใหม่ก็มักจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว ๆ ปีละ $500 หรือประมาณ 15,000 กว่าบาท ในขณะที่ ณ ปัจจุบันมีประกันแบบปิด-เปิด ที่เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถบ่อย เน้นจอด ซึ่งมันก็จะแฟร์กับทั้งตัวเราและบริษัทประกัน ที่เมื่อเราไม่ค่อยได้ขับนั่นก็หมายถึงโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุก็น้อยลง ความเสี่ยงของบริษัทที่จะต้องจ่ายค่าประกันซ่อมรถให้เรานั้นก็มีความเสี่ยงน้อยลงด้วย ดังนั้นประกันแบบนี้จะถูกกว่าแบบแรกอาจสูงถึง 70% เลย

ประหยัดเงินสูงสุดปีละ $360 เหรียญฯ หรือประมาณ 10,800 บาทต่อปี

5 – Clothing หยุดซื้อเสื้อผ้าใหม่

Graham เล่าว่าจากสถิติของคนวัยทำงานทั่วไปส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่าเสื้อผ้าใหม่เฉลี่ยปีละ $2,000 หรือประมาณ 60,000 บาทต่อปี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่เรียกได้ว่าเสื้อผ้าเต็มตู้แต่บ่นตลอดเวลาว่าไม่มีเสื้อผ้าใส่ ทั้ง ๆ ที่บางชุดใส่แค่ครั้งเดียว แต่สำหรับผู้ชายก็จะง่ายขึ้นมาหน่อยเพราะไม่อะไรมากขอแค่เสื้อผ้าเรียบหรูดูดีเหมาะกับการใช้งานและทนทานพอสมควรก็พอไม่ต้องแฟชั่นจ๋า ซึ่งถ้าคุณซักผ้าและดูแลตามความเหมาะสมมันก็จะอยู่กับคุณไปได้อีกหลายปี

ประหยัดเงินเฉลี่ย $2,000 ต่อปี หรือประมาณปีละ 60,000 บาทเลยทีเดียว

6 – A new phone งดซื้อโทรศัพท์ใหม่

Graham ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี แต่บางครั้งเทคโนโลยีก็อัพเดทเร็วเกินไป บ่อยเกินไป ซึ่งนอกจากมือถือแล้ว ก็ยังมีพวก gadget ต่าง ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น smart watch หูฟังไร้สาย ลำโพงบลูทูธ ที่ชาร์ตแบต ฯลฯ ซึ่งจากค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปมักหมดไปมักหมดไปกับค่าเหล่านี้เฉลี่ย $1,200 ต่อปี หรือประมาณ 37,000 บาทต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 3,000 กว่าบาท หมดไปพอ ๆ กับค่าอาหาร fast food ดังนั้นรอซื้อเครื่องตกรุ่นสักหนึ่งรุ่นก็จะได้ส่วนต่างพอสมควร แถมเทคโนโลยีก็ไม่ได้ห่างกันขาดลอยขนาดนั้น

นอกจากนั้นถ้าเป็น iPhone มันยังมีอัพเกรดแพคเกจรายเดือน ที่มีตั้งแต่ $30-$60 ต่อเดือน เพื่อซื้อประกันและอัพเกรดเครื่อง ตกปี ๆ หนึ่งก็หมดไปราว ๆ $360 – $720 ต่อปีหรือปีละประมาณ 9,000 – 18,000 ต่อปีเลยนะนั่น ซึ่งในส่วนของประกันก็น่าสนใจอยู่ แต่ในส่วนของการอัพเดทใหม่ ๆ นั้น มันก็ไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้น

ประหยัดเงินสูงสุดปีละ 37,000 บาทเลยทีเดียว

ซึ่งที่กล่าวมานั้น หากคุณแค่ลดหรือเลิกซื้อข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะทำให้คุณมีเงินเหลือเก็บเป็นหมื่นต่อปี และถ้าทำได้หลายข้อก็เท่ากับว่าคุณจะมีเงินเหลือเป็นแสนต่อปี ที่สามารถเอาไปออม เอาไปลงทุน ซึ่งคุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเลิกซื้อแบบหักดิบสุดขั้ว แต่ให้ลองเริ่มต้นทีเล็กทีละน้อย เพราะสิ่งสำคัญสำหรับในหัวข้อนี้ก็คือ การตระหนักรู้ว่า ตัวเราใช้จ่ายเงินอย่างไร เงินเดินทางไปที่ใดบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคุณก็จะพร่ำบ่นว่า ทำงานได้เงินมาตั้งเยอะ เงินหายไปไหนหมดละเนี่ย

Resources

Exit mobile version