100 ข้อคิด จาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | Blue O’Clock Podcast EP. 56
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร คือนักลงทุนระดับตำนานของประเทศไทย เป็นนักลงทุนแบบ VI: Value Investor นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ฉายา วอร์เรน บัฟเฟตต์ แห่งเมืองไทย ที่สามารถพลิกชะตาจากยาจกสู่มหาเศรษฐีพันล้านได้ด้วยตนเองจากการลงทุนในตลาดหุ้น และนี่คือ 100 ข้อคิด 100 บทเรียนจาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- ดร. เล่าว่า เขาประหยัดอดออมเงินมาก โดยเขาสามารถออมเงินได้เป็นจำนวนประมาณ 10 ล้านบาท เมื่อตอนอายุราว ๆ 44 ปี เป็นจังหวะที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งแล้วตกงาน ซึ่งดอกเตอร์เขาไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน เช่ารถ เพราะเขาไม่ได้ซื้อ จึงทำให้มีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับคนอีกหลายคน เงินเก็บจำนวนนี้ดอกเตอร์บอกว่าถือว่ายังน้อยไปซะด้วยซ้ำ
- ตราบใดที่ตัวเรายังมีแรงทำงาน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ นั้น ก็จงทำงานหาเงินต่อไป อย่าพยายามไปคิดว่า จะนำเงินจากการลงทุนมาใช้จ่ายในช่วงแรก ๆ เพราะการลงทุนคือการหวังผลตอบแทนในระยะยาว มีกินมีใช้ในยามเกษียณ ดังนั้น ถ้ามีแรงทำงานอยู่ให้ใช้เงินที่ได้จากตรงนั้น อย่าพึ่งไปแตะเงินลงทุน รอให้มันงอกเงยเสียก่อน
- หลังจากที่ ดอกเตอร์ ตกงาน ในวัย 44 ปี แล้วนั้น เขานำเงินเก็บจำนวน 10 ล้านบาท ไปทยอยลงทุนในหุ้นจนหมด แล้วไม่แตะเงินลงทุนนั้นอีกเลย โดยในระหว่างที่รอหุ้นเติบโตและรอออกดอกออกผลนั้น ดอกเตอร์บอกว่า ในระหว่างนั้น เขาก็ทำงานหาเงินไปอีก 7 ปี แล้วถ้ามีเงินเหลือในแต่ละเดือน หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เขาก็จะนำเอาเงินที่เหลือนั้น ไปลงทุนอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 51 ปี เขาก็พบว่า เงินปันผลที่ได้รับนั้น สามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องทำงานอีกต่อไป
- ปีแรกที่ดอกเตอร์ลงทุนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท นั้น เขาได้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อสมัย 30 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นเงินจำนวนที่เยอะมาก สามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ได้เลย และพอวันเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อหุ้นเติบโตขึ้น เขาก็ได้เงินปันผลหลายร้อยล้านบาทต่อปี ซึ่งนี่คือข้อดีหากบริษัทดังกล่าวมีการเติบโตอยู่เรื่อย ๆ
- การเลือกลงทุนในหุ้นที่มีคุณค่า อย่างน้อยจะต้องมีคุณค่ามากกว่าราคาอย่างน้อย 30% ขึ้นไป เผื่อในกรณีที่เราคำนวณผิดพลาด เช่น สมมติเราคำนวณผิดพลาดไปสัก 20% อย่างน้อยเราก็จะยังคงมีกำไรเหลือ 10%
- การลงทุนแบบ VI: Value Investor นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่านั้น คือการลงทุนในหุ้น โดยให้คิดเสมือนว่าเรากำลังลงทุนในบริษัทนั้น ๆ เป็นเจ้าของร่วมในธุรกิจนั้น ๆ ที่เรามีสัดส่วนเป็นเจ้าของในบริษัทนั้น ๆ อยู่ โดยเราสามารถรับปันผลส่วนแบ่งจากผลกำไรที่บริษัทนั้น ๆ ทำได้
- การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น เวลาซื้อหุ้นบริษัทที่เราทำการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว ให้เราคิดไปเลยว่า เราจะไม่ทำการขายหุ้นบริษัทดังกล่าวไปตลอดชีวิต เพราะถ้าบริษัทมันดี เราจะขายหุ้นทำไมกัน
- ถ้าตลาดหุ้นร่วง ราคาหุ้นตก แล้วเราเอาเงินไปลงทุนกับหุ้นหมดเลย จะทำยังไง ซึ่งทาง ดร. นิเวศน์ ก็บอกว่า ราคาหุ้นตกก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีเงินกินเงินใช้จากปันผลไปตลอดชีวิต ตราบใดที่เราไม่ได้ขายหุ้นนั้นทิ้งไป
- การซื้อพันธบัตร และการฝากเงินออมนั้น เงินมันจะไม่โต ผ่านไปสิบปีถอนออกมาก็ได้เท่า ๆเดิม ไม่เหมือนกับหุ้น ที่เมื่อเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น บริษัทภายในประเทศก็เติบโตขึ้น
- ถ้าคุณจะวางแผนการเงินเพื่อชีวิตนั้น คุณจะขาดหุ้นไปไม่ได้ เพราะจากสถิติทั่วโลกนั้น หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด และปลอดภัยที่สุดในระยะยาว
- การลงทุนในหุ้นหลายต่อหลายครั้ง มีต้นทุนถูกกว่าการไปทำบริษัทเองซะอีก เราจะไปเหนื่อยทำเองกันไปทำไม
- หุ้นของบริษัทที่มั่นคง เป็นเจ้าในตลาดนั้น ๆ มักไม่ใช่หุ้นที่จะเติบโตอะไรมากนัก แต่มักจะจ่ายปันผลที่ดี จ่ายปันผลสูง
- การลงทุนแบบ VI เน้นคุณค่านั้น ไม่ว่าราคาหุ้นจะต่ำไปหรือสูงเกินไป สุดท้าย ราคาหุ้นมันจะกลับมาเป็นราคาที่แท้จริงที่มันควรจะเป็น
- บริษัทที่แสดงตัวเลขการเติบโตที่ดีเกินไป จนผู้สอบบัญชีไม่กล้ารับรองนั้น ให้ระวังเอาไว้ว่า ภายในบริษัทดังกล่าวอาจมีปัญหาภายในที่ยังไม่ปรากฏ และอาจเกิดปราฏการณ์ราคาหุ้นร่วงอย่างรุนแรง และบริษัทหมดค่าไปเลย
- ตามหลักจิตวิทยาของมนุษย์แล้วนั้น มักคิดว่าตนเองคือผู้ล่า และมักไม่คิดว่าตนเองนั้นเป็นเหยื่อ จนกระทั่งวันที่เกิดวิกฤตนั่นแหละ จึงรู้ว่าตนเองนั้นตกเป็นเหยื่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจงอย่าประมาท
- บริษัทที่กิจการโตปีละ 20% นี่ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่ถ้าบริษัทไหนโตปีละ 2 เท่า 5 เท่า 10 เท่า นี่ต้องระวังเอาไว้เลยว่า อาจจะเป็นหุ้นปั่น ที่หลอกให้นักลงทุนรายย่อยเข้าไปซื้อ
- หุ้นต่างประเทศที่เป็นกลุ่มพวก technology อย่างเช่นโซเชียลมีเดียนั้น สามารถเติบโตปีละหลายเท่าได้ เพราะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านคนอย่างรวดเร็วทั่วโลก แต่ในขณะที่หุ้นในประเทศไทยต้องระวังเอาไว้หากมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะบริษัทเทคโนโลยีในไทย มักไม่ได้ไปทั่วโลก
- ประเทศไทย จากเดิมที่เคยเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน ตอนนี้กลายเป็นประเทศที่เติบโตช้าที่สุดในอาเซียน ถ้าไม่นับรวมอย่างประเทศพม่า
- การกระจายความเสี่ยง โดยการซื้อหุ้นหลาย ๆ ตัวนั้น ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด เพราะถ้าคุณอยากได้ผลตอบแทนสูงกว่า 20%-30% ต่อปี ที่ขนาดนักลงทุนเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Warren Buffett ยังได้เฉลี่ยปีละ 20% เอง คุณจะต้องควานหาเพชรในตมให้เจอ แล้วเน้นลงทุนหุ้นตัวนั้นตัวเดียวไปเลย แต่คนทั่ว ๆ ไป ก็ไม่สามารถทำได้ แต่มันก็มีคนที่ทำได้อยู่ แต่ก็มีน้อยคนที่ทำได้
- ถ้าคุณไปถามคนที่ไม่ค่อยมีตังค์ว่า ในประเทศไทย วิธีไหนที่รวยเร็วสุด พวกเขาจะตอบว่า ซื้อล็อตเตอร์รี่ ซึ่งดอกเตอร์บอกว่า มันก็จริงที่คนที่ถูกรางวัลที่ 1 รวยได้ แต่มันจะมีคนจำนวนกว่า 99% ที่ขาดทุน มีคนจำนวนน้อยมากที่จะได้กำไรจากการซื้อล็อตเตอร์รี่
- ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจ ที่น่าจะมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ซึ่งประเทศเวียดนามในตอนนี้ คล้าย ๆ กับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่มีโอกาสเติบโตดังเช่นประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทางดอกเตอร์เขาเชื่อเรื่องของการศึกษาในประวัติศาสตร์
- จงลงทุนในสิ่งที่ตนเองถนัด รู้ และคาดการณ์ได้
- กฎแห่งความมั่งคั่ง ตะเกียงวิเศษ 3 ดวง หลักในการลงทุนสไตล์ ดร.นิเวศน์ ก็คือ 1) เก็บออมให้เยอะที่สุด ขยันทำงาน อดออม อย่าซื้อของฟุ่มเฟือย อย่าพึ่งซื้อบ้าน ซื้อรถ 2) ลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ซึ่งตามประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาก็คือการลงทุนในหุ้น ซึ่งคุณจะต้องเลือกหุ้นให้ถูกตลาด เลือกตลาด เลือกประเทศ ที่กำลังมีการเติบโต มีการเติบโตในระยะยาว ไม่ใช่ประเทศที่มีแต่คนแก่ ต้องมีประชากรจำนวนเยอะ ๆ และเลือกลงทุนในหุ้นเอง โดยไม่ผ่านพวกกองทุนรวม และต้องลงทุนสไตล์ VI 3) ระยะเวลาในการลงทุน คุณจะต้องลงทุนในระยะยาว ซึ่งในบางครั้ง ตลาดหุ้นมันมีการตกอย่างรุนแรง แต่คุณอย่าตกใจขาย หากในระยะยาวตลาดนั้น มันยังคงเติบโตอยู่ ให้คุณถือหุ้นเก็บเอาไว้ ไม่ก็เข้าซื้อเพิ่ม
- ถ้าคุณไม่ได้เกิดมาเป็นลูกคนรวย เงินต้นไม่เยอะ คุณจะต้องแข็งใจอดออมมากกว่าคนอื่นเอาหน่อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำงานได้ 100 ก็ตัดเอาไปลงทุนเลยสัก 50 เหลือเอาไว้กินสัก 50 หรืออย่างบ้าน อย่างรถนั้น ถ้าไม่จำเป็นยังไม่ต้องซื้อ หรือถ้าจะซื้อบ้านก็ซื้อหลังเล็ก ๆ ก่อน ส่วนรถนั้น ใช้รถคันเก่าไปก่อน หรือถ้าไม่มีรถ ก็นั่งรถแท็กซี่ รถเมล์ ไปก่อน แล้วนำเงินที่เหลือไปลงทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้เงินต้นมีจำนวนมากที่สุดก่อน
- คนที่อายุยังน้อยนั้น มีข้อได้เปรียบในการลงทุนมาก เพราะระยะเวลาในการลงทุนนั้น มีมากกว่าคนวัยอื่น ๆ แต่หลายคนกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์และข้อได้เปรียบจากตรงนี้ เพราะคิดว่า การลงทุนเป็นเรื่องที่น่ากลัว เลยไม่คิดที่จะเริ่มต้นลงทุนสักกะที
- ดอกเตอร์ บอกว่า ยิ่งคุณลงทุนนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมั่งคั่งร่ำรวยมากเป็นทวีคูณ สมมติว่าในวันนี้คุณมีความมั่งคั่งในหุ้นจำนวน 1 ล้าน แต่พอผ่านไป 30 ปี คุณอาจจะมีความมั่งคั่งในหุ้นมากกว่าเดิมเป็นร้อยเท่าได้เลย
- การเรียนเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนเรา และเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในบรรดาการลงทุน สมมติว่าคุณเรียนไป 1 ปี ปีต่อไปคุณสามารถใช้ความรู้ดังกล่าวไปทำงานหาเงินเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นสิบเท่าได้
- ดร. นิเวศน์ บอกว่า ตัวของท่านนั้นไม่ใช่เซียนหุ้น ไม่ได้เป็นคนเล่นหุ้น แต่เป็นนักลงทุน ลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจ ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจผ่านตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็ปล่อยให้บริษัทนั้น ทำหน้าที่ทำธุรกิจของพวกเขาต่อไป
- ตราบใดที่บริษัทดังกล่าวที่เราเข้าไปลงทุน ยังสามารถบริหารได้เป็นอย่างดี ทำกำไรได้เป็นอย่างดี จ่ายปันผลดี เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไร ซึ่งโดยปกติการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ VI นั้น มักจะลงทุนเกินหลักสิบปีโดยปกติ
- เงินที่นำมาลงทุนนั้น จะต้องเป็นเงินเย็น เป็นเงินที่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้จนกว่าจะเกษียณ จนกว่าจะตาย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ขายหุ้นบริษัทดังกล่าวไป มันก็จะยังจ่ายเงินปันผลอยู่เรื่อย ๆ
- การลงทุนแบบ VI คือการลงทุนระยะยาว ลงทุนเพื่อการเกษียณ ส่วนตราบใดที่คุณยังทำงานไหว ทำงานได้อยู่ ก็ให้ใช้เงินในส่วนที่หามาได้ไป แต่เงินในส่วนของการที่จะนำมาลงทุนนั้น จะทำเพื่ออนาคตเท่านั้น ไม่ใช่ทำเพื่อจะรวยวันนี้ พรุ่งนี้
- การลงทุนแบบ VI แบบเน้นคุณค่านั้น คุณจะต้องลงทุนในธุรกิจที่มั่นคง อยู่มานาน เป็นบริษัทที่รู้จักกันโดยทั่วไป คนในประเทศใช้บริการกันแทบทุกวัน เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยให้ลงทุนกับเจ้าของบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจในระยะยาวนับสิบปี ไม่ใช่ทำประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็เลิก เพราะการเลือกบริษัทที่เราจะทำการไปลงทุนด้วยนั้น มันก็เหมือนกับเราเป็นเป็นเจ้าของร่วมส่วนหนึ่งของธุรกิจดังกล่าว ร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน เพียงแต่เราไม่ต้องเข้าไปบริหารเอง
- เมื่อมีรายได้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นจากช่องทางใดก็ตาม ไม่ว่าจะได้เงินจากโบนัส เงินเดือน ทำงาน ทำธุรกิจ ขายของ ให้เก็บเงินออมเพื่อการลงทุนทันทีอย่างน้อย 15% เพราะนี่คือต้นทุนแรกสุดในการเริ่มต้นลงทุน หากคุณไม่ได้เกิดมาเป็นลูกคนรวยอย่าง ดร. นิเวศน์
- ดอกเตอร์เรียนจบด้านวิศวกรมา แต่ท่านเล็งเห็นว่า เพดานเงินเดือนแม้ว่าจะสูงเมื่อเทียบกับสายอาชีพอื่น ๆ แต่เพดานเงินเดือนก็ยังมีจำกัด และอัตราการเติบโตค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับด้านสายการตลาดหรือสายการเงิน ท่านจึงไปเรียน ป.โท ต่อเพิ่มด้านบริหารธุรกิจ เพราะเล็งเห็นว่า ถ้ามีความรู้ด้านนี้ แม้ว่าในช่วงแรกต่อให้มีเงินเดือนที่ต่ำ แต่หากมีความรู้ จะสามารถใช้ความรู้ทำให้หาเงินได้แบบก้าวกระโดดได้
- ระหว่างเรียนต่อ ป.โท ในช่วงที่ทำงานไปด้วยนั้น ดอกเตอร์เล่าว่า เขาต้องทำงาน 3 วัน เรียน 3 วัน สลับกันไปแบบนี้ในแต่ละสัปดาห์ โดยยอมโดนหักเงินเดือนเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะระหว่างเรียนไปด้วย ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา แต่เขาก็ทำงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดี นายจ้างจึงยอมให้ทำได้
- สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีทุนให้คุณสามารถเรียนต่อจนจบปริญญาเอกเสมอ ซึ่งนักเรียนจำนวนกว่าร้อยละ 90 มักได้รับทุนเรียนฟรี เพราะที่สหรัฐอเมริกา เขามีนโนบายในการมอบทุนการศึกษาปริญญาเอก เพื่อที่จะได้มีคนมาช่วยวิจัยสิ่งใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้โลกเกิดความก้าวหน้า
- หลังจากเรียนจบ ป.โท ที่ต้องใช้เงินทุนตัวเอง ท่านได้ไปเรียนต่อ ป.เอก ด้านการเงิน ที่ Mississippi State University เพราะ ดร. นิเวศน์ ท่านมองว่า เรื่องของการเงินนั้นมันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ว่าองค์กรใดก็จะต้องเกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน และในเวลานั้น ก็มีคู่แข่งน้อยมาก ในขณะที่ตอนเป็นวิศวกรนั้น มีคู่แข่งเยอะ การแข่งขันเยอะ
- ถ้าคุณไม่เก่งจริง คุณไม่ควรเล่นหุ้น แบบซื้อ ๆ ขาย ๆ เพราะคนที่เล่นหุ้นนั้น มีแต่คนเก่ง ๆ ที่จบจากมหาวิทยาลัยท็อป ๆ อย่าง Havard หรือ MIT ที่พวกเขาฉลาดและเก่งกว่าพวกที่จบ ป.เอก ซะอีก ดังนั้น ทางเลือกแรกในการเข้าสู่ตลาดหุ้นที่ดอกเตอร์แนะนำสำหรับมือใหม่ที่ยังเลือกหุ้นเองไม่เป็นนั้น การลงทุนในกองทุนรวมจะเหมาะกว่า เพราะมีผู้จัดการกองทุนเก่ง ๆ คอยบริหารแทน
- ในตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะมีแต่คนอยากขาย และขายทรัพย์สินในราคาที่ถูกมาก ๆ ดังนั้น ในช่วงวิกฤตคือโอกาสของคนที่มีเงินสด ที่สามารถเข้าซื้อทรัพย์สินเหล่านั้นได้ในราคาที่ถูกแสนถูก เมื่อเทียบกับราคาในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ
- ดร. นิเวศน์ เล่าว่า ตอนที่พอร์ทหุ้นมีมูลค่าเป็นพันล้าน ยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่า เขาร่ำรวยแล้ว เพราะบริษัทก็ไม่ได้ทำ ลูกน้องก็ไม่มี รถเบนซ์ก็ไม่มี บ้านหลังใหญ่โตก็ไม่มี เพราะเขายังใช้รถคันเก่า และยังอาศัยอยู่บ้านพ่อตาที่สร้างให้เขาอยู่กับภรรยาอยู่เลย
- ความสุขของดอกเตอร์บอกว่า ความสุขของเขานั้นมาจากการที่เขาได้เก็บออมเงิน ไม่ใช่จากการใช้เงิน เช่น เวลาที่จะจ่ายค่าเครื่องบินชั้น busienss class นั้น เขารู้สึกเสียดายเงิน ในขณะที่หากนั่งชั้น economy นั้น เขามีความสุขที่ได้ประหยัดเงินมากกว่า
- ดร. นิเวศน์ บอกว่า เขาเกิดมาเป็นลูกคนจน แต่ลูกสาวของท่านนั้น เธอเกิดมาเป็นลูกคนรวย ดังนั้น ด้วยความที่ท่านเกิดมาเป็นลูกคนจน ท่านก็พอใจที่จะใช้ชีวิตแบบไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย แต่ถ้าเป็นเรื่องของลูกสาวนั้น เธอก็จะใช้เงินเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับครอบครัว อย่างเช่น เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ก็บิน business class ไปทั้งครอบครัว
- ถ้าถามดอกเตอร์ว่า เขาคิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้หรอก” โดยทางดอกเตอร์ท่านก็ตอบว่า “เงินน่ะ มันซื้อความสุขจริง ๆ ไม่ได้หรอก แต่มันสามารถซื้อความทุกข์บางอย่างทิ้งไปได้” อย่างเช่น เวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็สามารถอยู่โรงพยาบาลที่ดี ๆ ได้ หรืองานบางอย่างที่เราไม่อยากทำ เราก็สามารถจ้างคนอื่นให้ทำสิ่งนั้นแทนได้
- ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของเรา ไม่ใช่ที่สิ่งของ
- สมมติว่า ถ้าเราเกิดมาได้รับพรให้สามารถมีความสุขได้มากสุดที่ 120% การที่เรามีเงินนั้น เราก็สามารถใช้มันเพื่อให้เรามีความสุขเข้าใกล้ 100% หรือ 120% ก็เท่านั้นเอง เพราะเงินมันไม่สามารถทำให้คุณมีความสุขได้เกิน 120% ไปได้หรอก
- การลงทุนแบบเน้นคุณค่าแบบ VI นั้น ให้ลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินกิจการ มีผลผลิตออกมาอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่มีคนซื้อขายหุ้นบริษัทนั้นเลยก็ตามที มันก็ยังคงมีมูลค่าในตัวมันเอง สามารถผลิตเงินได้ด้วยตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า Productive Asset
- การมีเงินเยอะขึ้น คุณจะรู้สึกมั่นคงมากยิ่งขึ้น คุณสามารถที่จะเลือกทำในสิ่งที่คุณต้องการได้อย่างอิสระ และส่งผลให้คุณมีความสุขมากยิ่งขึ้นได้
- คนรวยส่วนใหญ่ ที่เมื่อรวยแล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่หยุดทำงาน นั่นก็เป็นเพราะ คนรวยส่วนใหญ่ เขามีความสุขจากการที่ได้ทำงานอยู่ มันก็ไม่มีเหตุผลที่ว่า ทำไมจะต้องหยุดทำงาน หรือทำในสิ่งที่เขารัก ทำในสิ่งที่พวกเขามีความสุข ซึ่งดอกเตอร์เชื่อว่า ยิ่งหยุดทำงานเนี่ยสิ อาจจะยิ่งอยู่ไม่นาน เพราะเมื่อหยุดทำงาน เซลล์สมอง เซลล์ร่างกายต่าง ๆ มันจะฟ่อลง เพราะมันไม่ค่อยได้ถูกใช้งาน
- เมื่อถึงจุดหนึ่งที่หุ้นที่เราถือโตมาก ๆ แล้วในจังหวะ ณ เวลานั้น มีทางเลือกที่ดีกว่า โอกาสเติบโตดีกว่า ก็สามารถขายหุ้นบริษัทเดิม เพื่อไปลงทุนในบริษัทใหม่ที่ดีกว่าได้เช่นกัน
- การที่ยอดขายของธุรกิจบางธุรกิจมียอดขายสูงขึ้น เราต้องดูด้วยว่า มันขึ้นเฉพาะราคาหุ้น หรือธุรกิจขยายตัวจริง ๆ โดยดอกเตอร์ยกตัวอย่างสมมติว่า ราคาน้ำมันเคยมีราคา 50 บาทต่อบาร์เรล จู่ ๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 100 บาทต่อบาร์เรล ส่งผลให้ยอดขายบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 100% แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น จำนวนที่ขายน้ำมันได้ก็เท่าเดิม โรงงานก็โรงงานเดิม ไม่มีมีการขยายตัวของธุรกิจแต่อย่างใด แต่คนกลับแห่กันเข้าไปซื้อหุ้น เพียงเพราะเห็นว่ายอดขายธุรกิจสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคนที่เข้าไปซื้อหุ้นทีหลังคนอื่น พอซื้อปุ๊บ ราคาก็ตกเลย ขายไม่ทัน ก็เจ๊งกันไป
- เวลาลงทุน อย่ามัวไปมองคนอื่นว่า เขาหุ้นกำลังขึ้น กำลังได้กำไร แต่ไม่เคยมองเลยว่า หุ้นตัวที่เขาถืออยู่นั้น อาจจะนิ่งเงียบมาหลายปีแล้ว ซึ่งสิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ การโฟกัสที่ตัวเราเอง โฟกัสที่การลงทุนของตัวเอง
- ก่อนที่เราจะเลือกลงทุนในธุรกิจใด ให้เราลองไปใช้บริการเป็นลูกค้าในธุรกิจนั้นดู ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหาร ก็ให้เราไปลองใช้บริการที่ร้านสาขาต่าง ๆ ดูว่า รสชาติอาหารเป็นอย่างไร อาหารอร่อยไหม บริการดีหรือไม่ มีราคาถูกกว่าอีกเจ้า แต่มีคุณภาพดีกว่า
- เวลาเลือกลงทุน อย่ามัวรอดูตอนตัวเลขทางบัญชีออกมาแล้ว เพราะการรอดูตัวเลขทางบัญชี มันจะช้าเกินไป เพราะมันคือผลสรุปที่ผ่านมาทั้งปีแล้ว แต่คุณสามารถดูตัวธุรกิจก่อนหน้าที่ตัวเลขทางบัญชีจะออกได้ เช่น ดูวิธีการทำการตลาด สอบถามการรับรู้แบรนด์จากคนทั่ว ๆ ไปว่ารู้จักแบรนด์ดังกล่าวหรือไม่ ดูว่ามีการขยายสาขาจำนวนเท่าไหร่ ความเร็วในการขยายสาขาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งการเฝ้าสังเกตสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราพอจะคาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจดังกล่าว มีอัตราการเติบโตที่ดี ส่วนเรื่องของกำไรนั้น หากธุรกิจดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็อาจจะยังไม่มีกำไรมากนัก ก็อย่าพึ่งไปสนใจตัวเลขตรงนั้นมากนักในช่วงแรก
- ดอกเตอร์เล่าว่าที่ต่างประเทศเคยมีกรณีศึกษาลองให้เด็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจด้วยการซื้อหุ้น แต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับหุ้นเลย แต่ให้พาเด็ก ๆ ไปชม ไปสัมผัส ไปรับประสบการณ์จริง ๆ จากธุรกิจจริง ๆ ซึ่งด้วยความเป็นเด็ก พวกเขาก็มักจะใช้ common sense คือใช้สามัญสำนึกโดยทั่วไปว่า แบรนด์ไหนดีกว่า แบรนด์ไหนน่าลงทุนกว่า ปรากฏว่า เด็ก ๆ กลุ่มนี้ สามารถลงทุนได้ผลตอบแทนที่ชนะขาดเลย เมื่อเทียบกับพวกกองทุนใหญ่ ๆ ที่ดูทั้งทางเทคนิค ดูข่าว วิเคราะห์ PE ดูงบการเงิน ฯลฯ ดังนั้นบางครั้งเราก็ต้องใช้ common sense ในการเลือกลงทุน โดยจะต้องไม่มีการ bias หรือเอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือเอาแต่ดูราคาหุ้นเพียงอย่างเดียว
- ดอกเตอร์บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ มักจะเข้าถึงเทรนด์ใหม่ ๆ ได้ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนดอกเตอร์รู้จักแต่ Search Engine หรือผู้ให้บริการผลการค้นหาบนอินเตอร์เน็ต ที่ชื่อว่า Yahoo! แต่จู่ ๆ ลูกของดอกเตอร์ก็มาถามว่า Google มันใช้หาข้อมูลยังไง ซึ่งตอนนั้นดอกเตอร์ไม่รู้จัก Google ซะด้วยซ้ำ นึกว่าชื่อกุ๊กไก่ จนมาถึงตอนนี้ บริษัท Google กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับท็อป ๆ ของโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ดอกเตอร์แนะนำว่า การบริหารพอร์ทการลงทุน ถ้าจะไปลงทุนในบริษัทที่พึ่งเริ่มกิจการใหม่ ๆ นั้น ควรลงทุนไม่เกิน 3%-5% ของพอร์ท เพราะเราไม่รู้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคตได้หรือไม่ ดังนั้น กรณีแย่สุดคือบริษัทนั้นเจ๊ง เราก็จะไม่กระทบมาก เพราะเป็นปริมาณส่วนน้อยของพอร์ท ดังนั้นเวลาเริ่มต้นลงทุนบริษัทใหม่ ๆ ให้เริ่มต้นทีละน้อย
- การถือหุ้นผิดบริษัทเป็นสิบปีไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะดอกเตอร์บอกว่า ถ้าธุรกิจที่ไม่ดี เราในฐานะนักลงทุนคุณค่าแล้วนั้น จะต้องตระหนักรู้ตั้งแต่ 2-3 ปีแรก แล้วว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีการเติบโต กำไรไม่มี ปันผลไม่ดี เราก็ควรขายหุ้นบริษัทนั้นทิ้งไปตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ทนถือบริษัทแย่ ๆ มานานนับสิบปี
- ดร. นิเวศน์ เล่าว่า การเข้าซื้อหุ้นบริษัทนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบหาเพื่อเข้าไปลงทุนบริษัทดังกล่าวตั้งแต่พึ่งเริ่มใหม่ ๆ เพราะอย่าง Warren Buffett ที่กว่าจะเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท โค้ก นั้น ก็ได้ก่อตั้งมากว่า 50 ปี แล้ว แต่ตอนที่ Warren Buffett เข้าซื้อหุ้นบริษัทโค้ก นั้น ก็เป็นเพราะว่า เขาเล็งเห็นว่า จากเดิมที่โค้กได้ขายเฉพาะในแถบอริกาและยุโรป แต่พอขยายไปเอเชีย อย่างประเทศจีน และประเทศอินเดียแล้วนั้น คนจำนวนมากเหล่านี้ ยังไม่เคยดื่มโค้กกันมาก่อน นั่นจึงทำให้โค้ก สามารถเติบโตได้อย่างมากมายได้อย่างอีกยาวไกลในอนาคต
- ข้อดีของความฝัน ก็คือ มันฟรี ไม่เสียตังค์ ดังนั้น ถ้าคุณอยากได้อะไร ให้ฝันเอาไว้ แล้วเอาเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ตามฝันนั้น แล้วพอคุณอยู่ในตลาดหุ้นนานมากพอ เดี๋ยวสิ่งต่าง ๆ ที่คุณเคยฝันเอาไว้จะค่อย ๆ ตามมาเอง
- ดอกเตอร์แนะนำว่า เมื่อทำงานได้เงินมาแล้ว อย่ามัวเอาเงินไปฝากแบงค์ อย่าเอาเงินไปซื้อทอง อย่าเอาเงินไปซื้อพันธบัตร อย่าเอาเงินไปทำอย่างอื่น แต่ให้ซื้อหุ้นเพียงอย่างเดียว ถ้าอยากจะรวย เพราะจากสถิติทั่วโลกส่วนใหญ่นั้น ผลตอบแทนในระยะยาวนั้น หุ้นคือสินทรัพย์ที่สูงที่สุดและปลอดภัยที่สุด
- โดยธรรมชาติของหุ้น มันจะยากในช่วงแรก ๆ แต่หากคุณสามารถอยู่ทนได้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป คุณจะรู้สึกได้เลยว่า เงินมันจะเพิ่มมากขึ้น กว่าการฝากเงินเอาไว้ในธนาคาร และมันจะไม่กลับมาต่ำกว่าการฝากเงินเอาไว้ในแบงค์อีกเลย ซึ่งเมื่อถึงจุด ๆ นั้น คุณจะสบายอย่างยิ่ง โดยไม่วิตกกังวลอะไร ในการที่จะถือหุ้นเอาไว้แบบ 100%
- ข้อดีของการลงทุนในหุ้นนั้น เงินของเรา มันสามารถไปได้ทั่วโลก มันสามารถไปต่างประเทศได้ เช่น เราอาจจะเริ่มจากการลงทุนในหุ้นไทย แต่อีกหน่อย เราก็สามารถลงทุนในเวียดนามได้ ลงทุนในจีนได้ หรือจะไปลงทุนในลาว หรือพม่า หรือประเทศอื่น ๆ ได้
- การที่คุณเกิดมาไม่มีแต้มต่อ ไม่ใช่ลูกคนรวย ก็ยังถือว่ายังมีโอกาสรวยได้ แต่หากใคร ที่แม้ไม่แต่กระทั่งอยากที่จะขวนขวาย กระตือรือร้น หาความรู้ใส่ตัว มีความทะเยอทะยานอยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิต ขยันทำมาหากินด้วยแล้วล่ะก็ หมดแต้มต่อไปเลย มันก็จบเกมไปตั้งแต่วันแรกแล้ว
- ลูกคนรวยนั้น ถ้าไม่ทำอะไรที่เลวร้ายจนเกินไป ยังไงก็สบาย แต่หากเลือกเส้นทางเดินผิด ถลุงเงินจนหมด ก็สามารถหมดตัวได้เช่นกัน
- ดอกเตอร์เล่าว่า แม้ว่าเขาจะเกิดมาจน แต่เขาก็มีแต้มต่อตั้งแต่ยังเด็ก เช่น เป็นคนมีระเบียบวินัย เป็นอดออม กินแต่พอดี ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นแต้มต่อในชีวิตส่วนหนึ่ง ที่แม้คุณจะเกิดมายากจน แต่คุณก็สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
- หลายคนไม่รู้พลังของการทบต้น ว่ามันมโหฬารมาก มันเหมือนกับ snow ball ที่ช่วงแรก ๆ มันเป็นหิมะก้อนเล็ก ๆ ที่ลงจากภูเขา แต่พอวันเวลาผ่านไป มันจะมีขนาดที่ใหญ่มหึมามาก ซึ่งการลงทุนก็จะเป็นในลักษณะดังกล่าว ที่หากคุณอยู่ในตลาดหุ้นที่ยาวนานมากพอ เงินของคุณจะโตมากเป็นทวีคูณ
- พลังของทบต้นนั้น ดร.นิเวศน์ ลองคำนวณให้ดูว่า ถ้าหากวันนี้คุณมีเงินต้น 1 ล้านบาท แล้วลงทุนเป็นระยะเวลานาน 50 ปี ถ้าลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% คุณจะเป็นเศรษฐีร้อยล้าน แต่ถ้าผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 15% คุณจะเป็นเศรษฐีพันล้าน แต่ถ้าผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 20% แบบทบต้น คุณจะกลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน จากเงินต้นเพียง 1 ล้านบาท
- ถ้าในวันนี้สำหรับคนที่ขวนขวายหาความรู้เรื่องการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยอยู่ พอเรียนจบ เริ่มต้นทำงาน ตั้งแต่อายุ 22 ปี คือจบระดับชั้นปริญญาตรี แล้วเริ่มลงทุนเลยตั้งแต่นั้น จะได้เปรียบมาก เพราะกว่าจะถึงวัยเกษียณ ก็อีกราว ๆ 30-40 ปี ซึ่งได้เปรียบกว่าตัวของ ดร.นิเวศน์ มาก ๆ เพราะกว่าที่เขาจะเริ่มลงทุนแบบจริง ๆ จัง ๆ 100% นั้น อายุก็ปาเข้าไป 44 ปี แล้ว อีก 30-40 ปี เขาก็ตายแล้ว เหลือเวลาไม่มาก
- ดร. นิเวศน์ เล่าว่า สไตล์การเก็บเงินหากคุณทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเขาแล้วนั้น จะต้องเลือกงานที่มีค่าตอบแทนสูง และรายจ่ายน้อย เพราะจะทำให้มีเงินเหลือออมไปลงทุนได้เยอะ ๆ ซึ่งกรณีของดอกเตอร์นั้น เขาวางแผนไว้เลยว่า เขาเลือกที่เรียนวิศวกร ที่สมัยก่อนมักมีรายได้ที่สูง แล้วเขาเลือกที่จะไปทำงานต่างจังหวัดที่มีค่าครองชีพที่ต่ำ แถมยังเลือกทำบริษัทที่มี OT: Over Time หรือที่เรียกว่าทำโอ ที่จะได้เงินเสริมการทำงานค่าล่วงเวลามาเพิ่มอีกหลายเดือน แถมบริษัทดังกล่าวยังมีสวัสดิการที่ดี เช่น มีที่พักให้อยู่ฟรี มีรถประจำตำแหน่งให้ มีอาหารให้กินสามมื้อ ทำให้ดอกเตอร์ มีเงินเก็บเยอะ ที่ขนาดยังส่งเงินไปให้ที่บ้านพ่อแม่ใช้แล้วประมาณ 30% ของรายได้ ก็ยังเหลือเงินเยอะอยู่ เพราะแทบไม่ได้ใช้จ่ายอะไร
- หลายคนพอทำงานแล้วได้ขึ้นเป็นผู้บริหาร มีรายได้เยอะขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะหมดไปกับค่า ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนของชิ้นใหญ่ ๆ จนไม่เหลือเงินเก็บ แต่ในขณะที่ ดร. นิเวศน์ นั้น ท่านบอกว่า กว่าท่านจะซื้อรถคันแรก อายุก็ปาไป 40 กว่า แล้ว แถมยังเป็นรถมือสองถูก ๆ ส่วนบ้านนั้น กว่าจะซื้อหลังแรก อายุก็ปาไป 50 กว่าแล้ว ส่วนก่อนหน้านั้นก็อยู่อาศัยที่บ้านของภรรยาที่พ่อตาสร้างเอาไว้ให้
- หลักการเป็น VI : Value Investor ที่ดีนั้น คือการที่คุณต้องเป็นนักเลือก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่เลือกหุ้น แต่เป็นการเลือกในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเลือกเส้นทางเดินที่ถูกต้อง ถ้าคุณเลือกเส้นทางเดินที่ถูกต้อง ก็ถือว่าคุณเข้าใกล้การประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
- เส้นทางการเป็น VI นั้น มันอาจจะสำเร็จช้า คุณอาจจะผิดหวัง แต่คุณจะไม่เจ๊ง และในที่สุด ถ้าคุณไปในทิศทางที่ถูกต้อง เดี๋ยวมันปูเส้นทางไปสู่ความสำเร็จด้วยตัวมันเอง
- ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เมื่อสมัยก่อนเกลียดวิชาพวก ชีววิทยา มาก แต่มาตอนนี้เขากลับชอบศึกษาเรื่องยีนส์ จิตวิทยา และประวัติศาสตร์มาก เพราะตลาดหุ้นมันก็คือแหล่งรวมของกระแสผู้คน ซึ่งเมื่อเข้าใจในเรื่องของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้มองเห็นภาพของมวลชนมากยิ่งขึ้น ลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
- คนสมัยนี้ มีทางเลือกที่ดีกว่าคนสมัยก่อนมาก โดย ดอกเตอร์เล่าว่า สมัยที่ท่านทำงานเป็นวิศวกรอยู่นั้น เงินเดือนแค่ 3,000 บาท เอง ซึ่งสมัยก่อนวิธีที่จะรวยได้มีเพียงอยู่วิธีเดียวก็คือ จะต้องทำธุรกิจ ซึ่งการที่จะทำธุรกิจสมัยก่อนนั้น คือเรื่องใหญ่มาก ที่แม้คุณจะมีความรู้เรื่องการทำการตลาด แต่ก็ทำได้ยากมาก ใช้ทุนสูง การตั้งออฟฟิศเป็นเรื่องเป็นราว จะต้องมีโกดังเก็บสินค้า ใช้เงินเยอะมาก แต่ในสมัยนี้ มีเงินนิดเดียว ก็สามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้แล้ว หรือถ้าจะทำธุรกิจสมัยนี้ ขอแค่คุณมีไอเดียกับเงินทุนหมุนเวียนสักก้อนหนึ่งคุณก็ไปได้แล้ว ส่วนการตลาดทำเองบนออนไลน์ก็ยังได้ แถมยังไม่ต้องสต็อกของไว้เยอะ ๆ เพราะคุณสามารถไปซื้อราคาส่งจากเจ้าใหญ่ ๆ มาขายต่อได้ หรืออย่างในสมัยนี้ก็มีคนรับผลิตสินค้าเยอะแยะ จ่ายเงินก็จบ
- นักร้องสมัยก่อน กว่าจะดัง ว่าจะรวยได้นั้น จะต้องมีค่ายยักษ์ใหญ่อยู่ แต่ในขณะที่สมัยนี้ คุณแค่มีเครื่องมือนิด ๆ หน่อย อัดวีดีโอแล้วโพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดีย คุณก็สามารถดังได้ และเมื่อคุณดังแล้ว คุณก็สามารถรวยได้
- ตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ดร. นิเวศน์ ในวัย 44 ปี โดน layoff ไล่ออกจากงาน ท่านเล่าว่า ท่านไม่เศร้าเลย แต่สิ่งที่ท่านทำก็คือ รีบสำรวจอย่างรวดเร็วต่อเลยว่า จะมีเส้นทางใด ที่จะเดินหน้าต่อไปได้บ้าง จนกระทั่งเส้นทางรอดทางเดียว ณ ตอนนั้น คือตลาดหุ้น เพราะครั้นจะไปสมัครงานที่แห่งใหม่ก็หาได้ยากมาก มีแต่บริษัทต้องการไล่ออก แถมอายุเยอะแล้วด้วย แต่ด้วยความที่มีประสบการณ์ในการลงทุนหุ้นในนามบริษัทเก่ามาก่อน จึงรู้หลักของการลงทุนแบบ VI มาเป็นอย่างดี
- ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เมื่อตนเองเลือกที่จะเป็น VI เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หลังจากตกงานแล้วนั้น ท่านก็ตัดสินใจที่จะเขียนหนังสือในทันที เพราะการลงทุนแบบ VI ในตอนนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งถ้าหากแนวคิดนี้ติดตลาดได้ ท่านก็จะกลายเป็นผู้นำในตลาดนี้ในทันที เวลาที่มีข่าวอะไรเกี่ยวกับหุ้น สื่อต่าง ๆ ก็มักจะนึกถึงท่านเป็นอันดับต้น ๆ ที่จะถามคำถาม นั่นคือข้อได้เปรียบของการเป็นผู้นำในวงการนั้น ๆ
- ดอกเตอร์บอกว่า ถ้าเรื่องใดที่เขาไม่มั่นใจที่จะชนะ เขาเลือกที่จะไม่ทำ ต่อให้มีโอกาสชนะถึง 60% ก็ไม่ทำ จะเลือกทำหากเรื่องดังกล่าวมีโอกาสชนะ 80% ขึ้นถึงจะทำ ถ้าต่ำกว่านั้น ไม่ทำซะดีกว่า อยู่เฉย ๆ ดีกว่า
- สาเหตุที่ ดร. นิเวศน์ ไม่เลือกที่จะเล่นการเมือง แม้ว่าท่านจะบอกว่า ท่านรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเกือบหมด นั่นก็เป็นเพราะว่า การรู้ทุกเรื่อง ไม่เหมือนกับการลงไปเล่นการเมืองเอง การลงไปเล่นการเมืองเองนั้นต้องแพ้แน่ ๆ เพราะท่านบอกว่า การเป็นนักการเมืองนั้นจะต้องมีบุคคลิกที่ดี หน้าตาดี มีแรงดึงดูดมวลชน ซึ่งถ้าไม่มีเหล่านี้ก็ชนะยาก
- ดร. นิเวศน์ บอกว่า แม้ว่าท่านจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจ แต่ถ้าให้ท่านไปบริหารธุรกิจเองเจ๊งแน่นอน เพราะการบริหารธุรกิจนั้น มันจะต้องเก่งเรื่องของการบริหารคน มี EQ สูงมาก พูดอะไรแล้วคนฟัง พูดจาเพราะพริ้ง คนฟังแล้วเคลิ้มนิยมชมชอบ ในขณะที่ตัวของท่านเองเป็นคนพูดตรง คนไม่ค่อยชอบ
- การเป็น VI ที่ดี จะต้องรู้กว้าง รู้รอบโลก รู้เรื่องที่สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก และที่สำคัญจะต้องรู้เรื่องของมนุษย์เป็นอย่างดี
- ตลาดหุ้นมันคือชีวิต มันคือทุกอย่าง มันเป็นที่รวมเรื่องของเศรษฐกิจโลก และเรื่องเศรษฐกิจคือชีวิตของมนุษย์เรา และโลกอยู่ในภาวะขาขึ้นมาอย่างยาวนาน ดังนั้นถ้าตลาดหุ้นตกต่ำ เดี๋ยวมันก็ขึ้น ถ้าคุณเลือกหุ้นที่ถูกตัว เพราะโดยปกติแล้ว โลกมีการพัฒนาขึ้นอยู่ตลอดในช่วงหมื่นปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการสร้างเมือง ตั้งอาณานิคม มีแต่เจริญขึ้น เศรษฐกิจขึ้นทุกปี ดังนั้นตลาดหุ้นมันคือสิ่งที่สะท้อนเศรษฐกิจทั้งโลกว่า โลก ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร
- ต้องระวังเอาไว้ว่า พักหลัง ๆ เรื่องของการเมืองภายในประเทศต่าง ๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ บางครั้งหุ้นอาจจะลงมาต่ำกว่า 50% แล้วไม่กลับไปขึ้นอีกเลยก็เป็นได้ จังหวะนั้น คุณอาจจะต้องตัดสินใจขายก่อนที่ย่ำแย่ยิ่งไปกว่านี้ ยกตัวอย่างประเทศที่ล่มสลายไป เช่น ประเทศเวเนซุเอลา ประเทศอาร์เจนตินา ประเทศศรีลังกา เป็นต้น
- การคิดแบบ VI คุณจะต้องคิดแบบตรงไปตรงมา ไม่ bias หรือคิดทำนองพรรณาเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่จะต้องวิเคราะห์ตามหลักสถิติ ตัวเลข อย่างมีเหตุมีผล
- เวลาจะลงทุนในสิ่งใด ให้คุณลองคำนวณด้วยหลักสถิติดู ยกตัวอย่างเช่น หากคุณได้ยินมาว่า มีคนลงทุนใน cryptocurrency แล้วรวย ก็ต้องกลับไปดูสถิติว่า มีคนจำนวนเท่าไหร่ที่ร่ำรวยจาก crypto ซึ่งมันอาจจะมีเพียงคนแค่ 0.1% เท่านั้น ที่ร่ำรวยจากตลาดนี้ ส่วนอีก 99% นั้นเจ๊งหมด คุณก็ต้องคิดแล้วว่า คุณเก่งพอที่จะเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มของ 0.1% ที่ร่ำรวยจากโลก crypto นั้นหรือไม่
- ดอกเตอร์บอกว่า ถ้าคุณศึกษาเรื่องยีนส์ของมนุษย์ คุณจะสามารถรู้พฤติกรรมของคน ๆ นั้นค่อนข้างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องใช้เรื่องของจิตวิทยามาพิจารณาก็ยังได้เลย เพราะโดยปกติแล้ว ยีนส์ของมนุษย์แต่ละคนนั้น จะแสดงออกมาตามธรรมชาติของมนุษย์เอง เช่น ยีนส์ของผู้นำ ผู้บริการองค์กรระดับสูงนั้น มักจะเป็นคนที่มีร่างกายสูงใหญ่ เหมาะกับการเป็นผู้นำ เป็นจ่าฝูง เป็นต้น
- ความสุขส่วนใหญ่ของคนเรานั้น มักมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนฝูง ซึ่งเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ที่คุณมีเงินเกินพอแล้ว มีเป็นพันล้านแล้ว ความสุขคุณก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมากกว่าที่คุณมีอยู่ เพียงแต่มันแค่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของคุณให้ง่ายยิ่งขึ้นก็เท่านั้นเอง
- สิ่งที่ ดร. นิเวศน์ แสวงหานั้น ไม่ใช่ความร่ำรวย แต่เป็นความมั่นคง ซึ่งการมีเงินเยอะจะทำให้เรารู้สึกมีความมั่นคง ไม่พะวงหน้าพะวงหลังในเรื่องของการหาเงิน
- สาเหตุที่ ดอกเตอร์ ท่านได้ตัดสินใจลาออกจากงานสุดท้ายนั้น ไม่ใช่เพราะมีเงินเยอะแล้ว แต่เป็นเพราะมีความเครียด มีความกดดัน ในตอนที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่แบงค์ แล้วต้องเซ็นต์อนุมัติสินเชื่อรายหนึ่งที่ส่อแววจะเจ๊ง แล้วอาจจะผิดกฏหมายได้หากเซ็นต์อนุมัติปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ กลับไปบ้านก็เครียดนอนไม่ค่อยหลับ เลยตัดสินใจลาออกจากธนาคาร
- ในขณะที่คุณลงทุน หากคุณไม่ได้เดือดร้อนอะไร การทำงานเพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอด ก็จะทำให้คุณรู้สึกมั่นคงมากยิ่งขึ้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องลาออกก็ได้ หากคุณยังมีแรงทำงานและมีความสุขกับงานทำงานอยู่
- เราทุกคนควรวางแผนทางการเงินในระยะยาว ตั้งแต่แรก ๆ ในวัยทำงานเลย วางให้เห็นภาพใหญ่ทั้งหมด แล้วกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วเลือกเส้นทางเดิน แล้วค่อย ๆ ทำตามเป้าหมายทีละเล็กทีละน้อยให้กลายเป็นจริงตามแผนที่วางเอาไว้
- เมื่อคุณแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก คุณจะกล้าเสี่ยงได้น้อยลง เพราะก่อนหน้านั้น คุณสามารถลุยได้เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องคอยห่วงคนอื่น ๆ ว่าจะได้รับผลกระทบหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แต่เมื่อมีครอบครัวแล้ว คุณจะไม่กล้าเสี่ยงมาก เพราะกลัวลูกเมียได้รับผลกระทบตามไปด้วย หากเกิดข้อผิดพลาด
- การเป็นนักลงทุนแบบ VI ไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าหน้าจอเพื่อดูกราฟ เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วนั้น ยังเสียประโยชน์ด้วย เพราะเราจะไปมัวหาแพทเทิร์นของกราฟ เพื่อหาจุดเข้าทำเก็งกำไร ในขณะที่หลักการใหญ่ที่เป็นหัวใจสำคัญแบบ VI คือการวิเคราะห์ตัวบริษัท ไม่ใช่อยู่ที่ราคาหุ้น
- คุณต้องแยกก่อนว่า ระหว่าง ชีวิตกับเงิน นั้น เป็นคนละเรื่องกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรง คุณไม่สามารถใช้เงินไปซื้อยามาโดปแล้วก็แข็งแรงขึ้นมาได้ เพราะถ้าคุณอยากแข็งแรง คุณก็ต้องไปออกกำลังกาย ออกไปวิ่ง
- ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เคยมีคนถาม George Soros พ่อมดแห่งโลกการเงินว่า การที่เขามีเงินเยอะขึ้นอย่างมหาศาลนั้น มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ซึ่งเขาก็ตอบกลับมาในทำนองที่ว่า เขาก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือน ๆ เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนก็คือ มีคนฟังเสียงของเขามากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง ดร.นิเวศน์ ท่านก็เห็นด้วยว่า พอมีเงินเยอะถึงจุด ๆ หนึ่ง คุณก็จะใช้ชีวิตไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนอย่างชัดเจนก็คือ มีคนฟังเขามากยิ่งขึ้น
- ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เขามีเพื่อนที่เรียนจบมาพร้อม ๆ กัน แต่เพื่อนเลือกที่จะทำธุรกิจ ทำจนแก่ แล้วก็เลิกไป ส่วนรุ่นลูกก็ไม่อยากทำต่อ ซึ่งทำมาทั้งชีวิต อย่างมากก็ได้ประมาณร้อยล้าน หรืออย่างแย่หน่อยก็ได้ราว ๆ 20-30 ล้านบาท แต่ในขณะที่การลงทุนในหุ้นนั้น สามารถทำให้เรามีเงินเป็นพันล้านได้ โดยที่ไม่ต้องออกแรงมากเท่ากับการทำธุรกิจเอง
- กฎ 72 คือตัวเลขมหัศจรรย์ที่นำไปใช้คำนวณหาได้ว่า เงินของเราจะโตขึ้นเป็นสองเท่าต้องใช้เวลากี่ปี โดยนำผลตอบแทนไปหาร 72 ยกตัวอย่างเช่น ผลตอบแทน 5% ต่อปี ก็จะได้ว่า 72/5 = 14.4 ปี ถ้าผลตอบแทน 10% ต่อปี เงินจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 72/10 = 7.2 ปี เป็นต้น
- ดอกเตอร์เล่าว่า รุ่นคุณพ่อของเขาท่านอพยพมาจากประเทศจีนที่ไม่ได้มีการศึกษาอะไร ก็ทำได้แต่งานช่างก่อสร้างตลอดชีวิต ดังนั้น ดร.นิเวศน์จึงได้ข้อคิดว่า เขาจะต้องลงทุนในความรู้ เพราะด้วยความที่เขาไม่ค่อยมีเงิน การลงทุนในความรู้จึงเป็นอะไรที่ทำได้ในตอนนั้น ซึ่งก็อาศัยทำงานไป เรียนควบคู่กันไป แม้แต่ตอนที่บินไปเรียนปริญญาเอกที่ต่างประเทศ ดอกเตอร์ยังมีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินแค่ขาไปขาเดียว ส่วนที่เหลือไปลุยทำงานเลี้ยงตัวเอง ช่วยอาจารย์สอนบ้าง ทำรีเสิร์ชช่วยอาจารย์บ้าง จนกระทั่งสามารถเรียนจบปริญญาเอกได้ มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน บินกลับไทยได้
- ใครที่บอกว่า ดร.นิเวศน์ พอเข้าตลาดหุ้นแล้วรวยเลย ดอกเตอร์บอกว่าไม่เป็นความจริง เพราะในวันที่ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งราว ๆ ปี พ.ศ. 2537 นั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ราว ๆ 1,700 จุด พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมาประมาณ 50% เหลือแค่เพียง 800 จุด ทางดอกเตอร์จึงตัดสินใจ อัดเงินเก็บทั้งชีวิต 100% ที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายการทำงานประมาณ 10 ล้านบาท ลงไปในตลาดหุ้นทั้งหมด ซึ่งพอผ่านไปเพียงแค่สองปี จาก 800 จุด เหลือแค่เพียง 200 จุด แต่พอผ่านไป 20 ปี ตลาดหุ้นไทยก็กลับมาที่ประมาณ 1,600-1,700 จุด ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนี่คือข้อดีของการลงทุนแบบ VI ในการเลือกถือหุ้นที่ดี ที่ในระยะยาวมันจะสามารถกลับมาได้
- วิธีเลือกหุ้น super stock สไตล์ของ ดร.นิเวศน์ ก็คือการเลือกจากคุณภาพของกิจการ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น Mega Trends อยู่ในช่วงเติบโต ณ เวลานั้น และเลือกผู้นำที่เป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมนั้น ที่จะต้องเป็นผู้ชนะที่มี market share ทิ้งห่างจากอันดับรองลงมาอย่างน้อย 2 เท่าตัว และนอกจากนั้นยังต้องเป็น super brand ที่สามารถขายสินค้าได้ราคาสูงกว่าคู่แข่งมาก ๆ ได้ มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่มาก ๆ จนคู่แข่งตามไม่ทัน ต่อมาคือจะต้องมี network effect อย่างเช่น Social Media ต่าง ๆ ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างมหาศาล และลูกค้ามาใช้บริการซ้ำ หรืออาจจะเป็นธุรกิจที่มีให้บริการเพียงเจ้าเดียว ไม่มีคู่แข่ง และธุรกิจดังกล่าวจะต้องไม่ถูกทำลายโดยเทคโนโลยี และนอกจากนั้นก็จะต้องมีตัวเลขที่ดี ผลกำไรที่ดี เติบโตทุกปี มีหนี้สินน้อยหรือไม่มีหนี้เลย และมีการลงทุนน้อยแต่สามารถขยายกิจการได้เยอะ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่พื้นฐานบริษัทเหล่านั้น สูญเสียความเป็น super stock คุณก็จะต้องสามารถตัดสินใจขายมันทิ้งได้ในทันที แต่ถ้าพื้นฐานยังดีอยู่ ก็ถือกันยาว ๆ
และนี่ ก็เป็นเพียงคำแนะนำส่วนตัวจากทาง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เพียงท่านเดียวเท่านั้น ไม่ใช่การแนะนำในการลงทุนใด ๆ ดังนั้น เงินของคุณ คุณต้องตัดสินใจกันเอาเอง โดยเนื้อหานี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรณีศึกษาและเรียนรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
Resources
- https://youtu.be/x4KpxHxcYyc
- https://youtu.be/KMLm3pYX_Fs
- https://youtu.be/RjD-bjAzJ4U
- https://youtu.be/eFTWtI2cZ7A
- https://youtu.be/TgaN3vGoEII
- https://youtu.be/2UcHhyj1lZc