Site icon Blue O'Clock

100 ข้อคิด จาก Jan Koum ผู้ก่อตั้ง WhatsApp | Blue O’Clock Podcast EP. 66

Jan Koum

Jan Koum ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatApp แอปพลิเคชั่นแชทอันดับ 1 ของโลก และนี่คือ 100 ข้อคิด 100 บทเรียน ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเขา

  1. Jan Koum เล่าว่า เขาเริ่มต้นในการสร้าง WhatsApp จากจุดเริ่มที่เรียบง่ายมาก ๆ นั่นก็คือ การพัฒนาโปรเจกต์เพื่อที่ตัวของเขาอยากที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาแอปบน iPhone ซึ่งแต่เดิมเขาไม่ได้มีแผนที่ยิ่งใหญ่หรือคิดว่าจะต้องเปลี่ยนโลกอะไรเลย เขาเพียงแค่ต้องการทำในสิ่งที่เขาสนใจและแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ ที่เขาเจอในชีวิตประจำวัน แต่จากการเริ่มต้นที่แสนเรียบง่ายนั้น มันทำให้เขาได้สร้าง WhatsApp ขึ้นมา ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้า WhatsApp ก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่มีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวิธีที่ผู้คนทั่วโลกติดต่อสื่อสารกัน จนกลายเป็นแอปที่มีผู้ใช้งานหลายพันล้านคน ทำให้การส่งข้อความ การโทร และการสื่อสารระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  2. เมื่อตอนที่แอพ WahtsApp มีผู้ใช้งานอยู่ที่กว่า 400 ล้าน users นั้น บริษัทของเขา มีพนักงานอยู่ที่ราว ๆ 50 คน แต่เป็น Engineer เป็นวิศวกรกว่า 25 ตำแหน่งแล้ว นั่นก็เป็นเพราะว่า Jan Koum นั้น เขาให้ความสำคัญกับตำแหน่งนี้มาก เพราะ วิศกรคน ๆ หนึ่ง นั้นจะต้องรับมือกับผู้ใช้งานหลายล้านคน ซึ่งเขาก็บอกว่า เขาค่อนข้างโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับคนที่ฉลาด ๆ คนเก่ง ๆ ที่นี่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้ว่าขนาดขององค์กรจะมีขนาดเล็ก แต่สามารถสร้าง impact ได้เป็นอย่างมาก
  3. Jan Koum เล่าว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้เขามีความหลงใหลในเรื่องของการพัฒนาการสื่อสาร มันมาจากเรื่องราวมากมายที่ได้พบเจอ อย่างเช่น จากเหตุการณ์ของบุคคลหนึ่ง ที่ตัวของเขาคนนั้น สามารถเชื่อมต่อและติดต่อสื่อสารกับคนที่รัก หลังจากการอพยพออกนอกประเทศที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกได้อย่างง่ายดายเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะ WhatsApp โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนที่เคยเป็นกับ SMS ระหว่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้เวลาที่เราจะส่งข้อความไปหาคนอีกฝากโลกนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก นั่นจึงทำให้ WhatsApp ได้กลายเป็นสะพานที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้คน มันเป็นการขจัดอุปสรรคในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วในการส่งข้อความหากัน ซึ่งการสื่อสารนั้น เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในการเชื่อมต่อติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน
  4. Jan Koum ได้เล่าว่าความสำเร็จของ WhatsApp นั้นไม่ได้มาจากไอเดียที่ยอดเยี่ยมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการที่ อยู่ได้ถูกที่ถูกเวลาอย่างเหมาะสม โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างแท้จริง การเข้าใจความต้องการที่แท้จริงและการสร้างสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่ทำให้ WhatsApp ประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่แค่การมีไอเดียที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการมีวิสัยทัศน์และการอยู่ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม
  5. Jan Koum บอกว่าหลักการของ WhatsApp คือการสร้างบริการที่ทุกคนทั่วโลกสามารถใช้งานได้ทันที เมื่อผู้คนทำการดาวน์โหลด มันก็พร้อมใช้งาน ไม่มีอุปสรรค ไม่มีความซับซ้อน ไม่มีโฆษณา ไม่มีเกม ไม่มีกิมมิคใด ๆ ซึ่งความเรียบง่ายและความเข้าถึงนี้คือสิ่งที่ทำให้ WhatsApp ประสบความสำเร็จได้ในวงกว้าง จนมีผู้ใช้งานจำนวนหลายร้อยล้านคนอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
  6. Jan Koum กล่าวว่าพวกเขาไม่ต้องการสร้างแค่เพียงแอปพลิเคชันอีกตัวหนึ่ง แต่พวกเขาต้องการสร้างสิ่งที่มีความหมายจริง ๆ กับผู้คน ซึ่งความตั้งใจนี้ ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อน WhatsApp ให้เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง จน ณ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่าสองพันล้านคนแล้ว
  7. Jan Koum เขาได้ชี้ตรงประเด็นที่ว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่จำนวนตัวเลขที่มีผู้ใช้งานหลายล้านคน แต่สิ่งที่สำคัญที่แท้จริงนั้นคือการมี user หรือผู้ใช้งานที่รักในผลิตภัณฑ์ของคุณ ซึ่งความรักและความภักดีนี้นี่แหละ คือมูลค่าที่แท้จริง ที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเลข ดังนั้นพวกเขาจะให้ความสำคัญในเรื่องของประสบการณ์ของผู้ใช้อยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องของการทำเงิน ซึ่งการที่บริษัทใช้แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาความจงรักภักดีของลูกค้าให้อยู่กับผลิตภัณฑ์ไปนาน ๆ แต่มันยังสร้างคุณค่าและความแตกต่างที่บริษัทอื่นยากจะเลียนแบบอีกด้วย
  8. เมื่อ Facebook เข้าซื้อกิจการ WhatsApp ไปในปี 2014 ด้วยมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ฯ หลายคนสงสัยว่า WhatsApp จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งหลังจากที่ Jan Koum ขายกิจการไปแล้วนั้น เขาก็ยังคงดำรงตำแหน่ง CEO ที่ WhatsApp อยู่ พร้อมกับทีมงานยังคงยึดมั่นในค่านิยมและวิสัยทัศน์เดิม นั่นก็คือ แอปจะต้องมีความเรียบง่าย, มีความเป็นส่วนตัว และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการรักษาอิสระในการพัฒนาและการตัดสินใจนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ WhatsApp ยังคงเป็นที่รักและไว้วางใจของผู้ใช้ทั่วโลก แม้จะอยู่ภายใต้ชายคาของ Facebook ก็ตาม การยึดมั่นในหลักการเหล่านี้ไม่เพียงแต่รักษาความเป็นตัวตนของ WhatsApp แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาและผู้ประกอบการทั่วโลกในการสร้างสรรค์โดยไม่เสียจุดยืนของตน
  9. Jan Koum เล่าว่า WhatsApp ได้สร้างการเข้าถึงในระดับสากล โดยทำการเข้าถึงผู้ใช้ในประเทศที่มีค่า SMS ราคาแพง เมื่อทำการส่งข้อความข้ามประเทศ อย่างเช่น ประเทศอินเดียและบางประเทศในทวีปแอฟริกา โดยทาง WhatsApp ก็ได้ให้บริการส่งข้อความและโทรฟรีผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ WhatsApp กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ใช้ในประเทศเหล่านั้น ซึ่งการเข้าถึงในตลาดสากลนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน WhatsApp ให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้าง network effect ที่ทำให้ผู้ใช้ใหม่มีแรงจูงใจในการเข้าร่วมมากขึ้น เพราะเพื่อนและครอบครัวของพวกเขาใช้งานกันอยู่แล้ว จนทำให้ WhatsApp กลายเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันส่งข้อความที่นิยมที่สุดในโลก
  10. Jan Koum ได้เริ่มต้น WhatsApp ในปี 2009 ซึ่งมันเป็นแอพฟรีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้งาน แต่หลังจากผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อรักษาคุณภาพบริการและความสามารถในการขยายตัวต่อไป จากนั้นในปี 2013 ทาง Jan Koum จึงตัดสินใจปรับ WhatsApp ให้เริ่มเรียกเก็บค่าบริการจำนวน $1 ต่อปี จากผู้ใช้งานหลังจากการใช้งานปีแรกฟรี ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ไม่สูง แต่ช่วยให้ทาง WhatsApp สามารถมีเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาแอพต่อไป และนอกจากนั้นมันยังแสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้งานยินดีจ่ายเพื่อบริการที่ดี แต่ต่อมา ในปี 2016 ทาง WhatsApp ก็ได้ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมรายปีและยืนยันว่าจะไม่แสวงหากำไรจากการโฆษณา แต่จะเริ่มทดลองวิธีการสร้างโมเดลรายได้ใหม่ ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นถึงการมีความยืดหยุ่นและความพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของ WhatsApp เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและผู้ใช้งานเป็นสำคัญ
  11. การเลือกเก็บค่าบริการรายปีเป็นรายได้หลัก แทนที่จะพึ่งพารายได้จากโฆษณา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ WhatsApp ที่จะรักษาประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ ปราศจากสิ่งรบกวนที่ไม่จำเป็น
  12. Jan Koum เล่าว่าการที่ WhatsApp ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาทำทุกอย่างต่างจากคนอื่น ที่ตัดสินใจทำทุกอย่างตรงข้ามกับสัญชาตญาณของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่าง ไม่เร่งการเติบโต เก็บค่าบริการ หลีกเลี่ยงการพูดกับสื่อ ไม่มีป้ายติดหน้าออฟฟิศ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนจากภายนอกและมีพื้นที่ให้ลองทำผิดพลาด ลองผิดลองถูก และทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้โดยไม่ถูกกดดันจากสื่อ
  13. การที่บริษัทเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้พวกเขาคิดถึงช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีใครรู้จัก แม้แต่เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ ก็ไม่มีใครสนใจเขียนข่าว แต่พอมาถึงจุดนี้ ออกฟีเจอร์อะไรไปก็มีคนเขียนถึง 20 บทความ ซึ่ง Jan Koum เขามองว่ามันเป็นตัวรบกวนสมาธิ เพราะพวกเขาพยายามจะโฟกัสกับการสร้างผลิตภัณฑ์อยู่
  14. สิ่งสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพคือการมี focus ในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุด ไม่ใช่การวิ่งไล่ตามเทรนด์ ทำทุกอย่างที่คู่แข่งทำ ต้องกล้าเลือกทำเฉพาะสิ่งที่สำคัญ และทุ่มเททรัพยากรไปกับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่
  15. Jan Koum ให้ความสำคัญกับการจ้างคนเก่งมาทำงานด้วย โดยพวกเขาโชคดีที่มีเครือข่ายเพื่อนร่วมงานสมัยอยู่ Yahoo ที่ฉลาดและมีความสามารถ ทำให้สามารถชักชวนมาร่วมงานที่ WhatsApp ได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปตามหาคนที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่าเข้ากับทีมได้ดีหรือไม่
  16. การเติบโตของบริษัท ผู้ก่อตั้งอย่าง Jan Koum ต้องปรับตัวและทำหน้าที่หลายอย่างที่อาจไม่ถนัดหรือไม่ชอบ เช่น ไปประชุม คุยกับทนายความ จัดการเรื่องพื้นที่ทำงาน มอบหมายโปรเจกต์ให้ทีม ฯลฯ ซึ่งต่างจากช่วงเริ่มต้นที่เป็นการทำงานของคนแค่ 2 คน แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ หากต้องการให้บริษัทเติบโตและสามารถรองรับผู้ใช้หลายพันล้านคนได้
  17. สำหรับคนที่กำลังสร้างสตาร์ทอัพ Jan Koum แนะนำว่าให้ลองทำต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าไอเดียแรกไม่สำเร็จ ให้ใช้สิ่งที่มีอยู่ต่อยอดทำอย่างอื่นต่อ
  18. ช่วงที่ WhatsApp เติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ก่อตั้งอย่าง Jan Koum กับ Brian Acton ต้องทุ่มเทเวลาให้กับบริษัทอย่างหนัก ทำงานช่วงสุดสัปดาห์เป็นปกติ ไม่มีเวลาไปเจอเพื่อนหรือครอบครัว ไม่ได้ออกกำลังกาย น้ำหนักขึ้นเยอะ แต่พวกเขายอมเสียสละ เพราะถ้าอยากประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็ต้องทุ่มเทเต็มที่ ไม่มีทางทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ได้ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าการสร้างธุรกิจ ต้องอาศัยความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสูง โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้นสร้างบริษัท
  19. Jan Koum เล่าว่า WhatsApp โฟกัสที่จะสร้างแอปที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ที่มีแค่ฟีเจอร์ในสื่อสารเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรหลากหลายเหมือนแอปอื่น ๆ เช่น ที่มีทั้งเรียกแท็กซี่ มีฟีดให้ติดตามคนอื่น ฯลฯ เพราะ WhatsApp ต้องการสร้างแอปที่มีประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย เร็ว และเสถียร เพื่อให้ทุกคนใช้ได้ แม้คนที่ใช้สมาร์ทโฟนรุ่นเก่าหรือสเปกต่ำ การโฟกัสทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดีที่สุดจึงสำคัญมากกว่าการมีฟีเจอร์เยอะแยะ
  20. หนึ่งในความท้าทายสำคัญของ WhatsApp ในช่วงเริ่มต้นสร้างบริษัทก็คือการจัดการระบบหลังบ้านให้สเกลรองรับผู้ใช้หลายร้อยล้านคนได้ แต่ความโชคดีของพวกเขาคือ ทั้ง Jan Koum และ Brian Acton เคยทำงานที่ Yahoo มานาน จึงมีประสบการณ์เยอะในการทำให้ระบบใหญ่โตและรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้
  21. Jan Koum ให้ข้อคิดว่าในการสร้างบริษัท เราจำเป็นต้องมีความเชื่อในตัวเองและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นถูกต้องและจะประสบความสำเร็จ เช่นการที่ WhatsApp เชื่อว่าการใช้เบอร์โทรศัพท์ในการลงทะเบียนจะใช้ได้ผล โดยไม่ต้องมี username หรือรหัส PIN เหมือนแอปอื่น ๆ ซึ่งเขามองว่ายุ่งยากและทำให้แอปซับซ้อนเกินไป ถึงแม้ผู้ใช้บางคนจะแนะนำว่าควรมี แต่ทีม WhatsApp ก็ยังคงยึดมั่นในแนวทางของตนเอง เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
  22. การเชื่อมั่นในสัญชาตญาณและวิสัยทัศน์ของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งแม้ผู้ใช้จะแนะนำบางสิ่ง เช่น ให้มี username หรือ PIN แต่ถ้ารู้สึกว่ามันไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้อง ก็ต้องกล้ายืนหยัดในแนวทางของเรา
  23. ในช่วงแรก ๆ การได้พนักงานมาทำงานด้วยนั้น Jan Koum เล่าว่าไม่ยากนัก เพราะหลายคนเป็นเพื่อนเก่าจากเครือข่ายส่วนตัว ที่กำลังว่างงานหรือไม่ค่อยได้ทำอะไร จึงชวนมาร่วมงานได้ไม่ยาก แต่สำหรับบางคนที่มีงานประจำดี ๆ อยู่แล้ว อย่าง Rick Reed ที่เป็นวิศวกรที่ Yahoo นั้น ก็ต้องใช้เวลาพูดคุยกันหลายเดือน โดยใช้วิธีบอกเล่าความท้าทายทางเทคนิคที่น่าสนใจให้เขาฟัง แทนที่จะพูดเรื่องเงินเดือนหรือหุ้นเพียงอย่างเดียว เพราะเขารู้ว่า Rick นั้นชอบแก้ปัญหาเทคนิคยาก ๆ ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็ตอบตกลงมาร่วมงานด้วย นี่แสดงให้เห็นถึงการเข้าใจแรงจูงใจของผู้มีศักยภาพและหาวิธีจูงใจพวกเขาเป็นรายบุคคล
  24. ในช่วงแรก ๆ ของ WhatsApp นั้น Jan Koum เล่าว่าพวกเขาพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายในทุกทาง เช่น ขอใช้เซิร์ฟเวอร์ฟรีจากเพื่อนแทนที่จะเสียเงินเป็นหมื่น ๆ ไปกับค่าเซิร์ฟเวอร์ต่อเดือน โดยเพื่อนที่ให้ยืมเซิร์ฟเวอร์ก็เป็นคนที่เขาเคยทำงานด้วยกันสมัยอยู่ที่ Yahoo นั่นเอง ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประหยัดต้นทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ และการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า
  25. สาเหตุที่ Jan Koum ไม่อยากไประดมทุนและปฏิเสธนักลงทุนที่เข้ามาหาเยอะแยะในช่วงแรก เป็นเพราะเขาเชื่อว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการระดมทุน คือตอนที่เรายังไม่ต้องการเงินจริง ๆ เพราะมันจะทำให้เรามีอำนาจต่อรองมากกว่า โดยรอจนกระทั่งมั่นใจว่า WhatsApp โตไปได้สวยแล้ว ถึงค่อยตอบตกลงรับเงินจากนักลงทุน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินในอนาคต เผื่อต้องการขยายออฟฟิศหรือจ้างพนักงานเพิ่ม โดยไม่ต้องเสียเวลาไประดมทุนใหม่
  26. Jan Koum แนะนำนักศึกษาว่า อย่าเพิ่งออกจากมหาวิทยาลัยไปเริ่มทำธุรกิจ เหมือนที่เขาเคยทำ เพราะแม้จะมีตัวอย่างของ Mark Zuckerberg หรือ Steve Jobs ที่ประสบความสำเร็จหลังจากดร็อปเรียน แต่นั่นเป็นข้อยกเว้นมากกว่า ซึ่งตัวของเขาเองก็เสียใจที่ไม่ได้เรียนจบ ดังนั้นเขาแนะนำให้ศึกษาให้จบก่อน แล้วเรื่องอื่น ๆ จะตามมาในภายหลัง
  27. วิสัยทัศน์ของ WhatsApp คือการสร้างแอปที่ไม่ใช่แค่คนที่อเมริกาใช้ได้ แต่คุณยายวัย 60 ปีในประเทศบราซิล ที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปมาก่อน ไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ซื้อมือถือเป็นครั้งแรก เพื่อติดต่อกับญาติ เธอก็ใช้ได้ นั่นคือสิ่งที่ขับเคลื่อน Jan Koum เขาต้องการเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถสื่อสารและรักษาการติดต่อกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก
  28. เมื่อถูกถามว่า กลัวไหมถ้า Google จะเข้ามาแข่งขันใน Android ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการของพวกเขาเอง Jan Koum ตอบว่า เขามองว่าหากทำสิ่งหนึ่งได้ดีจริง ๆ และโฟกัสที่มัน เราจะทำได้ดีกว่าคู่แข่งที่ทำหลายอย่าง ถึงแม้ Google จะเก่งมาก แต่ธุรกิจหลักของเขาคือการให้บริการการค้นหา การโฆษณา และข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้งาน ส่วน WhatsApp โฟกัสเรื่องการส่งข้อความเป็นหลัก จึงไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้ ขอแค่ทำแอปของตัวเองให้ดีที่สุดเท่านั้น
  29. Jan Koum ไม่ชอบคำว่า “entrepreneur” เพราะรู้สึกว่ามันแปลว่าคนที่เริ่มธุรกิจเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน แต่สำหรับเขา แรงขับเคลื่อนคือการอยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี ไม่ใช่การอยากบริหารคน จัดการโครงสร้างองค์กร จ้างทีมกฎหมาย การตลาด ประชาสัมพันธ์ หรือจัดการเรื่องออฟฟิศ เขาแค่อยากสร้างผลิตภัณฑ์ดี ๆ ที่อยู่ยาวนาน ไม่ใช่สร้างบริษัท 10 แห่งที่ไม่มีอะไรโดดเด่นแล้วขายบริษัทต่อให้คนอื่นเพื่อทำกำไร
  30. Jan Koum ให้ความสำคัญกับหลักการ “net neutrality” หรือ “ความเป็นกลางของอินเทอร์เน็ต” เป็นอย่างมาก ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายต้องให้บริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่บล็อก ไม่ปิดกั้น หรือไม่จำกัดความเร็วของแอปและเว็บไซต์ต่าง ๆ เขามองว่าอินเทอร์เน็ตควรเป็นพื้นที่เสรี เหมือนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีอำนาจมาควบคุมว่าผู้ใช้ปลายทางจะเข้าถึงบริการอะไรได้บ้าง ด้วยความเร็วเท่าไหร่ โดยในอดีต WhatsApp เคยประสบปัญหาจากการถูกผู้ให้บริการมือถือในเนเธอร์แลนด์ข่มขู่ว่าจะบล็อกการใช้งาน จึงได้เข้าไปช่วยผลักดันให้เกิดกฎหมาย net neutrality ขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ถือเป็นการยืนหยัดปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติจากผู้ให้บริการนั่นเอง
  31. การเติบโตของ WhatsApp ในระยะแรกนั้นเกิดจากการบอกต่อ ไม่ได้ใช้การตลาดหรือโฆษณาเลย โดย Jan Koum ก็ขอขอบคุณผู้ใช้งานทุกคนที่ช่วยแนะนำให้เพื่อน ๆ และครอบครัวของพวกเขาเข้ามาใช้งานบนแอพ
  32. เนื่องจาก Jan Koum และ Brian Acton ต่างก็เป็นวิศวกร พวกเขาจึงไม่ชอบและไม่ถนัดเรื่องการประชุม การพบปะผู้คน การให้สัมภาษณ์ ฯลฯ เพราะมันจะไปแย่งเวลาจากการนั่งเขียนโค้ดที่พวกเขารัก ดังนั้น WhatsApp จึงมีวัฒนธรรมแบบ “heads down” คือการก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่สนใจสิ่งรบกวนภายนอก เพื่อให้สามารถโฟกัสกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่เข้ากับบุคลิกของผู้ก่อตั้ง
  33. Jan Koum เล่าว่า เขาคาดหวังว่าจะใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง ออกกำลังกาย เล่นกีฬา มากขึ้นหลังจากขายกิจการและเป็นเศรษฐีแล้ว แต่พบว่าจริง ๆ แล้วเขากลับยุ่งมากขึ้นไปอีก เพราะต้องประชุมกับทนายความ จัดการเรื่องสำนักงาน บริหารจัดการพนักงานจำนวนมาก มอบหมายงาน จัดลำดับความสำคัญ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดหรือชอบเลย แสดงให้เห็นว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ อาจต้องแลกมาด้วยอิสระและเวลาส่วนตัวที่ลดลงก็เป็นได้
  34. ตอนแรก WhatsApp เป็นแค่แอพส่งสถานะ (status app) แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเพิ่มฟีเจอร์ส่งข้อความ (messaging) เข้าไป มันถึงมาปังและดังเป็นพลุแตก แสดงให้เห็นว่าถ้ายังไม่สำเร็จ ก็ต้องลองปรับเปลี่ยนและทดลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอจุดที่ใช่
  35. เขาเล่าว่าตอนเริ่มทำแอพ WhatsApp นั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เพื่อน ๆ เลิกตามตื้อให้เขาไปหางานทำ โดยบอกว่าตนเป็นนักพัฒนา iPhone อยู่แล้ว จะได้ไม่โดนรบกวน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบางครั้งแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ก็มาจากแรงกดดันรอบข้างได้เหมือนกัน
  36. Jan Koum เล่าว่าเขาเคยไปเที่ยวอาร์เจนตินาก่อนเริ่มทำ WhatsApp ซึ่งพบว่าการโทรติดต่อจากต่างประเทศเข้าไปนั้นยากมาก ต้องใช้โค้ดลับในการโทรเข้า ทำให้เขาเห็นถึงปัญหาและโอกาสในการพัฒนาแอปเพื่อการสื่อสารที่ง่ายขึ้น
  37. Jan Koum เขาเน้นย้ำว่าการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์และทักษะดิจิทัลมีความสำคัญมากในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี เพราะจะช่วยให้เข้าใจการทำงานของมัน รู้เท่าทัน และนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดได้
  38. Jan Koum เขาเชื่อว่าเบอร์โทรศัพท์ยังคงเป็นระบบที่ใช้ได้ดีและยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน ถึงแม้ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปใช้วิธีระบุตัวตนแบบอื่น แต่ก็คงต้องใช้เวลานานหลายสิบปี เหมือนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
  39. เขากล่าวว่าการเจรจาเรื่องการควบรวมกิจการกับ Facebook นั้น จริง ๆ แล้วไม่ได้เน้นที่การต่อรองราคาหรือผลประโยชน์ แต่เน้นไปที่การหารือว่าจะร่วมมือกันอย่างไรให้ WhatsApp สามารถเติบโตต่อไปได้ เพื่อสร้างแอปที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้นั่นเอง
  40. Jan Koum เคยถูก Facebook ปฏิเสธการรับเข้าทำงานในปี 2007 หลังจากลาออกจาก Yahoo! เขาจึงร่วมกับ Brian Acton เพื่อนร่วมงานเก่า สร้าง WhatsApp ในปี 2009 จนกระทั่ง ในปี 2014 Facebook ก็เข้าซื้อกิจการ WhatsApp ในมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ในที่สุด
  41. หนึ่งในเรื่องที่ Jan Koum ได้ตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องเกี่ยวกับ WhatsApp ก็คือการเพิ่ม end-to-end encryption (E2EE) ซึ่งเป็นระบบการเข้ารหัสข้อมูลที่ช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลที่สามสามารถอ่านข้อความระหว่างผู้ส่งและผู้รับได้ โดยข้อมูลจะถูกเข้ารหัสที่อุปกรณ์ของผู้ส่ง และถอดรหัสที่อุปกรณ์ของผู้รับเท่านั้น แม้แต่ WhatsApp เองก็ไม่สามารถอ่านเนื้อหาระหว่างทางได้ แม้ WhatsApp จะไม่ได้เป็นเจ้าแรกที่ใช้ E2EE แต่เป็นแอปยักษ์ใหญ่รายแรกที่นำมาใช้กับผู้ใช้กว่า 1 พันล้านคนได้สำเร็จ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลของผู้ใช้ ทำให้ทุกการสนทนา รูปภาพ วิดีโอ ไฟล์เสียง หรือการโทรผ่าน WhatsApp ได้รับการปกป้องโดยอัตโนมัติ กลายเป็นหนึ่งในบริการสื่อสารที่ปลอดภัยที่สุดในโลกปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญที่ WhatsApp ให้กับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้นั่นเอง
  42. Jan Koum บอกว่าความแตกต่างอีกอย่างจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, Google และ Yahoo นั้น พวกเขาต้องพึ่งพารายได้จากการโฆษณา จึงจำเป็นต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้เพื่อนำไปทำโฆษณา แต่ในขณะที่ WhatsApp นั้นกลับไม่ได้สนใจในธุรกิจโฆษณา จึงไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้ โดยตั้งใจให้เป็นบริการที่เก็บข้อมูลส่วนตัวน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ด้วย
  43. ช่วงที่เติบโตขึ้น WhatsApp เริ่มมีคู่แข่งอย่าง iMessage, Facebook Messenger หรือ Line ซึ่ง Jan Koum บอกว่าพวกเขาไม่ได้กังวลกับคู่แข่งมากนัก เพราะกลุ่มผู้ใช้มีความแตกต่างกัน iMessage เน้นกลุ่มคนใช้ iPhone ใน US เป็นหลัก ในขณะที่ WhatsApp มีกลุ่มผู้ใช้กระจายตัวและเน้นอุปกรณ์หลากหลายกว่า ขณะที่ Line ยังคงเน้นผู้ใช้ในญี่ปุ่นและเอเชีย ส่วน Facebook Messenger ก็ต่างจาก WhatsApp ที่เชื่อมต่อกับสมุดโทรศัพท์ได้
  44. การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี โดยโฟกัสไปที่การแก้ปัญหาให้ลูกค้า และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะทำให้บริษัทเป็นที่สนใจของนักลงทุนเอง โดยที่ไม่ต้องไปวิ่งตามนักลงทุน
  45. จ้างคนที่ฉลาดที่สุดเท่าที่จะหาได้ แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่หากได้คนที่ความสามารถสูง ก็จะสามารถสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีจำนวนพนักงานมากมาย
  46. การรักษาสมดุลระหว่างการทำงานหนักเพื่อสร้างธุรกิจ กับการใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูงนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องยอมเสียสละบางอย่างไประยะหนึ่ง แต่เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตแล้ว ก็สามารถปรับสมดุลได้มากขึ้น
  47. เมื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนต้องการอย่างแท้จริง จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ผู้ใช้จะให้ความรัก ชื่นชม และสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้ทีมมีกำลังใจและแรงผลักดันที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดียิ่งขึ้นไปอีก
  48. การเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ในแต่ละประเทศนั้นสำคัญมาก อย่ามองแค่ในฟองสบู่ของ Silicon Valley จงสร้างแอปที่ตอบโจทย์คนทั่วโลก ทั้งในแง่แพลตฟอร์ม ภาษา และวัฒนธรรมการใช้งานที่แตกต่างกัน
  49. การเป็น mobile-only ที่เน้นแพลตฟอร์มมือถือเพียงอย่างเดียว อาจกลายเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าการกระจายไปหลายแพลตฟอร์ม เพราะสามารถโฟกัสไปที่ปัญหาเฉพาะและสร้างโซลูชั่นที่ดีที่สุดได้
  50. แม้จะเป็นผู้นำตลาด ก็ไม่ควรหยุดพัฒนา คู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดของเราอาจเป็นตัวเราเองหากไม่สามารถรักษาโมเมนตัมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้
  51. แทนที่จะกังวลกับการแข่งขัน ให้มุ่งมั่นสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด มันจะช่วยสร้างความภักดีและการบอกต่อในระยะยาว มากกว่าการเปรียบเทียบกับคู่แข่งตลอดเวลา
  52. แม้จะเป็นผู้บุกเบิกตลาด แต่ก็ไม่ควรประมาทคู่แข่ง ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง สร้างความแตกต่างด้วยการโฟกัสที่การแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างตรงจุด แทนที่จะพยายามทำทุกอย่างเหมือนคู่แข่งขนาดใหญ่
  53. การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง SSD ที่เป็นฮาร์ดดิสก์ที่มีความเร็วสูงมาใช้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้ WhatsApp สามารถให้บริการที่เสถียรและรวดเร็ว โดยใช้ทรัพยากรน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ HDD แบบเดิม ๆ ที่มีความเร็วต่ำ แสดงให้เห็นประโยชน์ของการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี
  54. จงมุ่งมั่นแก้ปัญหาที่ผู้ใช้มีอย่างแท้จริงด้วยวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ เพราะสิ่งนี้ต่างหากเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ การแก้ปัญหาให้ได้ในระดับโลก ย่อมดีกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม
  55. เมื่อคนรักและต้องการสินค้าของคุณ บรรยากาศในบริษัทจะเปลี่ยนไป ทุกคนจะกระตือรือร้นอยากทำสิ่งที่ดีที่สุด การขายความฝันให้พนักงานและผู้สมัครงานจะง่ายขึ้น ทุกอย่างจะไหลลื่นเหมือนมีพลังวิเศษ
  56. การเลือกพาร์ทเนอร์ ไม่ควรคิดแค่เม็ดเงิน แต่ต้องคิดถึงคุณค่าระยะยาว เช่น ชื่อเสียง เคมีส่วนตัว ความเข้าใจธุรกิจ การให้คำปรึกษาโดยไม่ก้าวก่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว
  57. พนักงาน WhatsApp ทุกคนต้องเป็น “smart and get things done” คือต้องฉลาด สามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง จึงจะสามารถอยู่รอดและเติบโตไปกับ WhatsApp ได้
  58. WhatsApp ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพราะเข้าใจว่าโลกกำลังก้าวสู่ยุคข้อมูล ดังนั้นจึงร่วมมือกับผู้ให้บริการมือถือหลายรายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้สมัครแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตในการใช้ WhatsApp ถือเป็นความสัมพันธ์แบบ win-win ที่ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเติบโตไปด้วยกัน
  59. Jan Koum เชื่อว่าผู้นำที่ดีไม่ใช่แค่ออกคำสั่ง แต่ผู้นำที่ดีนั้นต้องแสดงให้เห็นด้วยการกระทำจริง โดยตัวของเขาเน้นที่การทำงานร่วมกับทีมและแสดงความตั้งใจและความซื่อสัตย์ลงไปในงาน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ
  60. การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี บางครั้งต้องกล้าตัดฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นทิ้งไป Jan Koum บอกว่า เขาสนุกกับการลบฟีเจอร์ออก มากกว่าการเพิ่มเข้าไปเสียอีก เพื่อให้แอปเรียบง่ายและใช้งานได้ง่ายที่สุด
  61. Jan Koum เน้นความเรียบง่ายในผลิตภัณฑ์ของเขาเนื่องจากประสบการณ์จากการเติบโตในยุคที่เทคโนโลยีมีความซับซ้อนและยากต่อการใช้งาน ความเรียบง่ายทำให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้โดยไม่ต้องมีการเรียนรู้มากมาย
  62. การเติบโตในสังคมที่การสื่อสารถูกจำกัดทำให้ Jan Koum เข้าใจถึงความสำคัญของการสื่อสารที่เสรีและมีประสิทธิภาพ
  63. ความลำบากในวัยเด็ก ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการไปสู่ความสำเร็จ หากเรามีความมุ่งมั่น เช่นเดียวกับ Jan Koum ที่เติบโตมาในความยากจนในยูเครน แต่สามารถพลิกชีวิตจนกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ในที่สุด
  64. งานประจำ ไม่ได้ขัดขวางการเป็นผู้ประกอบการ แต่กลับมอบประสบการณ์และมุมมองที่เป็นประโยชน์ในการเริ่มต้นธุรกิจได้ อย่าง Jan Koum เอง ก็เป็นพนักงานประจำอยู่ที่บริษัท Yahoo ถึง 9 ปีด้วยกัน
  65. ช่วงเวลาว่างงานหรือตกงาน ไม่ใช่ช่วงเวลาที่สูญเปล่า หากเป็นโอกาสในการค้นหาตัวเองและความฝัน จนนำไปสู่การเริ่มต้นบางสิ่งใหม่ ๆ ที่ยิ่งใหญ่ได้
  66. ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืน ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นเป็น startup เล็ก ๆ จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่
  67. การเล็งเห็นถึงความต้องการของตลาด และเข้าใจ pain points หรือปัญหาที่แท้จริงที่สร้างความเจ็บปวดของผู้ใช้งาน มีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ เติบโตได้รวดเร็ว
  68. ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยต้องกล้าทำในสิ่งใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากคู่แข่ง เพื่อสร้างจุดขาย
  69. การปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการ ไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป แต่อาจเป็นการปูทางสู่การซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงกว่าในอนาคต
  70. การออกแบบองค์กรที่เรียบง่าย มีประสิทธิภาพ และคล่องตัว ช่วยให้ขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตได้รวดเร็วกว่า
  71. ความเชื่อมั่นในตนเองและความกล้าที่จะเสี่ยง ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อต้องเลือกระหว่างเส้นทางที่ดูง่ายและปลอดภัย หรือเส้นทางที่ไม่เคยมีใครเดินไปมาก่อนที่ยากและอันตรายไม่รู้อนาคตที่ชัดเจน
  72. ไม่มีสูตรสำเร็จใด ๆ ในการสร้างธุรกิจ แต่หัวใจสำคัญคือการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้ผู้ใช้ และการไม่ยอมแพ้ เมื่อเผชิญอุปสรรค
  73. ความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด สำคัญกว่าเรื่องเม็ดเงินหรือผลประโยชน์ระยะสั้น หากผลิตภัณฑ์ดีจริง เงินย่อมตามมา
  74. การรักษาวัฒนธรรมและค่านิยมแบบ startup เอาไว้ได้ จะทำให้บริษัทเติบโตได้รวดเร็ว มันจะช่วยรักษาความคล่องตัวและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอ โดยไม่ติดแหงกหรือจมอยู่กับระบบองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความเชื่องช้า ไม่กล้าเสี่ยง และมีโอกาสกลายเป็นบริษัทล้าหลังได้ในที่สุด
  75. การเป็นบริษัทสตาร์ทอัพนั้น มันไม่ได้หมายถึงการใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ หรือประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่มันเต็มไปด้วยความเครียด ความท้าทาย และต้องมีความอดทนสูง เพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย
  76. Jan Koum เขาเติบโตมาในประเทศรัสเซีย โดยที่บ้านของเขานั้นมีโทรศัพท์ใช้ แต่เพื่อนบ้านจำนวนมากกลับไม่มี ทำให้โทรศัพท์บ้านเขากลายเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของคนในอพาร์ตเมนต์ทั้งหมด ที่หากใครอยากโทรหาญาติที่อยู่ต่างเมือง ก็แค่เดินมาเคาะประตูบ้านของเขาเพื่อขอใช้โทรศัพท์
  77. บ่อยครั้ง ผู้คนมักเริ่มต้นด้วยไอเดียที่ดูดีหลายอย่าง แต่เมื่อลงมือทำ พวกเขากลับหลุดโฟกัสจึงทำให้หลุดออกนอกเป้าหมายเดิม จนสุดท้ายสิ่งที่ทำก็เลยไม่ประสบความสำเร็จ
  78. ผมเติบโตมาในสังคมที่ทุกสิ่งที่คุณทำจะถูกแอบฟัง จดบันทึก และใส่ร้าย โดยในสมัยเด็ก ๆ ผมมีเพื่อนที่เดือดร้อนเพียงเพราะไปเล่าเรื่องตลกล้อเลียนผู้นำคอมมิวนิสต์
  79. แน่นอนว่าการมีชีวิตที่ขาดแคลนสิ่งของมีข้อเสียมากมาย แต่ก็มีข้อดีเหมือนกัน มันทำให้ Jan Koum ในวัยเด็กนั้น เขามีสมาธิจดจ่ออยู่กับการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคที่โตมาในสหภาพโซเวียต
  80. คนเรามี SMS ให้ใช้ส่งข้อความหากัน แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่แย่เอามาก ๆ มันเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไปแล้ว เหมือนเครื่องโทรสารที่ตกยุคมาตั้งแต่ยุค 70 ที่ยังอยู่เพื่อเป็นแหล่งรายได้ของเครือข่ายมือถือก็เท่านั้น
  81. บางทีคุณก็อยากไว้วางใจกับรัฐบาล แต่ Jan Koum บอกว่า คุณไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะใครจะไปรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร สิ่งต่าง ๆ อาจพลิกผันเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่
  82. การสื่อสารคือหัวใจสำคัญของสังคม มันคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์
  83. ผมไม่มีคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งอายุ 19 ปี แต่อย่างน้อยก่อนหน้านั้น ผมก็มีลูกคิดเอาไว้คิดเลขอยู่นะ
  84. เห็นได้ชัดว่าเราไม่ควรเชื่ออะไรก็ตามที่อ่านเจอบนข่าวสารไปซะทั้งหมด
  85. การทำการตลาดและการประชาสัมพันธ์ PR มันเหมือนฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย ที่มันจะลอยมาเข้าตาคุณ ทำให้คุณไม่มีสมาธิกับการสร้างผลิตภัณฑ์
  86. ประสบการณ์ในวัยเยาว์ส่งผลต่อสิ่งที่เราเป็นเมื่อโตขึ้น อย่าง WhatsApp ก็สะท้อนถึงตัวตนของ Jan Koum เช่นกัน
  87. สิ่งสำคัญคือคนทุกคนต้องมีอิสระในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองต้องการ เราไม่มีปัญหากับคนที่ใช้แอปอื่น ตราบใดที่พวกเขายังคงใช้ WhatsApp อยู่ด้วย
  88. Jan Koum เขาได้ยินเรื่องราวมากมายว่า คุณปู่คุณย่าได้เดินเข้าร้านไปซื้อสมาร์ทโฟน เพื่อที่จะได้คุยกับลูก ๆ หลาน ๆ ได้สะดวกขึ้น
  89. ในบางประเทศ WhatsApp เปรียบเสมือนออกซิเจน โดยในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา การสื่อสารผ่าน SMS หรือการโทรนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการส่งข้อความได้ยาก แต่การเข้ามาของ WhatsApp ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการให้บริการส่งข้อความและโทรฟรีผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้คนทั่วไปสามารถติดต่อกันได้โดยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงอีกต่อไป

  90. Jan Koum บอกว่า เขามีเรื่องที่อยากย้อนเวลากลับไปแก้ไขอีกมาก แต่เขาก็ได้ทุ่มเทและพยายามพัฒนาตัวเองมาโดยตลอด นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาตระหนักดีถึงความผิดพลาดหรือการตัดสินใจที่ไม่ดีในอดีต ซึ่งหลายคนอาจจะมัวเสียใจ คิดฟุ้งซ่าน และมัวหมกมุ่นอยู่กับมัน แต่สำหรับ Jan Koum แล้ว เขาคิดว่าแทนที่จะมัวจมอยู่กับเรื่องในอดีต เขากลับเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตนเองในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
  91. ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ได้วัดกันที่ทรัพย์สินเงินทอง แต่อยู่ที่ผลกระทบเชิงบวกที่เราสร้างแก่ผู้อื่น นั่นต่างหากคือเครื่องพิสูจน์คุณค่าที่แท้จริงของคน
  92. จงรักษามาตรฐานและคุณธรรมของตนเอาไว้ให้มั่น อย่ายอมประนีประนอมเพื่อแลกกับผลประโยชน์ระยะสั้น ความซื่อสัตย์เท่านั้นที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
  93. แม้ประสบความสำเร็จแล้ว ก็อย่าหยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง โลกนี้เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คนที่อยากอยู่รอดต้องปรับตัวให้ทันโลกอยู่ตลอดเวลา
  94. อย่ากลัวที่จะฝันใหญ่และตามหาสิ่งที่รัก ความฝันคือแรงบันดาลใจ ส่วนแรงหลงใหลคือพลังขับเคลื่อน ที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายปลายทางได้ในที่สุด
  95. ความพยายามและความทุ่มเทจะพาคุณไปได้ไกลที่สุด ตามที่คุณต้องการ มันเป็นรากฐานสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
  96. เข้าใจที่มาที่ไปของตัวเอง จดจำว่าเราเริ่มต้นจากจุดใด แต่ก็อย่ายอมให้ภูมิหลังมาเป็นข้อจำกัดศักยภาพของเรา เพราะทุกคนล้วนเทียบเท่ากันในโอกาสที่จะไปให้ถึงฝัน
  97. หาความสุขจากการได้ไล่ล่าความฝัน อย่าเพิ่งไปนึกถึงเป้าหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว เพราะบางทีสิ่งดีๆ ที่สุด อาจอยู่ระหว่างทางก็เป็นได้
  98. แนวคิดที่ดีที่สุด มักมาจากที่ที่เราคาดไม่ถึง ดังนั้นจงเปิดใจกว้าง ยอมรับมุมมองแปลกใหม่ เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมครั้งสำคัญ
  99. ความถ่อมตนคือคุณธรรมของผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จระดับใด ก็อย่าลืมที่มาของตัวเอง จงอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ก็เชิดหน้าได้เต็มภาคภูมิ
  100. ความล้มเหลวไม่ได้แปลว่าจบ มันคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นบันไดก้าวต่อไป จนสามารถไปถึงจุดสูงสุดได้ในวันหนึ่ง

Resources

Exit mobile version