Site icon Blue O'Clock

100 ข้อคิด จากนักธุรกิจเชื้อสายยิว | Blue O’Clock Podcast EP. 62

นักธุรกิจเชื้อสายยิว

ยินดีต้อนรับสู่ ‘100 ข้อคิด 100 บทเรียน จาก 10 ผู้ประกอบการเชื้อสายยิว ที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวยอย่างมหาศาลในระดับโลก ที่พวกเขาได้ทิ้งรอยประทับไว้บนโลกใบนี้ ตั้งแต่นวัตกรรมที่เป็นที่สุด จนถึงความเฉลียวฉลาดในการทำธุรกิจอย่างไม่ธรรมดาที่พวกเขามีอยู่ในสายเลือด ไปรับชมรับฟังกันเลยครับ

Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดของโลก

  1. สำหรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของ Mark Zuckerberg นั้น เขาบอกว่า ถ้า ณ วันนี้ มันคือ mobile หรือเรื่องของมือถือที่ทำให้ทุก ๆ คนบนโลก สามารถเชื่อมต่อหาถึงกันได้ แต่ถ้าให้พูดถึงเรื่องในภายภาคหน้านั้น เขาบอกว่ามันยังมีอีกสองสิ่งที่เขาคิดว่า มันจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับเขาก็คือ เรื่องแรก แน่นอนว่าเป็นเรื่องของ AI ที่ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น มีการพัฒนาในวงการอย่างน่าทึ่ง ซึ่งเขาคิดว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์นั้น จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ ที่มีอยู่ในทุก ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งส่วนตัวเขาไม่คิดว่าจะมีซุปเปอร์ AI ที่เป็นศูนย์กลางรายใหญ่เพียงรายเดียว แต่มันจะมี AI หลากหลายชนิดหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของมนุษย์ในทุก ๆ ช่วงของแต่ละวัน แต่เขาก็ตื่นเต้นเป็นอย่างมากกับวงการนี้ที่เขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันรันวงการปัญญาประดิษฐ์ และเรื่องที่สองก็คือ เรื่องของ Metaverse ที่จะทำให้ผู้คนมีความสามารถในการแสดงและเห็นทางกายภาพของบุคคลอีกฝั่งได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดบนโลกนี้ก็ตามที ซึ่งตอนนี้ทาง Meta ก็มีผลิตภัณฑ์อย่างแว่น VR นี่นำเข้าสู่โลกเสมือน หรืออีกหน่อยก็อาจจะเป็น Hologram ที่สามารถแสดงภาพราวกับว่า เราได้อยู่ตรงนั้นจริง ๆ ซึ่งจุดประสงค์ของเขาก็คือต้องการสร้างอนาคตของการเชื่อมโยงของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น
  2. Mark บอกว่า ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ แต่หากเราสามารถควบคุมปัจจัยภายในอย่างคนในองค์กรให้เกิดความสามัคคีอย่างแน่นแฟ้นได้ ไม่ว่าเรื่องอะไรเราก็สามารถทำมันให้สำเร็จได้
  3. จงหาคนให้เหมาะสมกับงานที่จะให้เขาคนนั้นเข้าไปมีส่วนร่วม และสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมกับคนที่ยอดเยี่ยมขึ้นมาได้ แล้วพวกเขาก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ได้อย่างน่าทึ่งและยิ่งใหญ่
  4. ศัตรูคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับ Mark ก็คือ ตัวของเรา บริษัทของเราเอง โดยบริษัทส่วนใหญ่มักจะไปยึดติดกับบริษัทคู่แข่งมากจนเกินไป เพราะสิ่งที่เราควรทำก็คือ การกลับมาโฟกัสที่บริษัทของเรา ให้ทำในสิ่งที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน วันแล้ววันเล่า จงเป็นตัวคุณในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด และดีขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ วัน
  5. Mark เล่าว่า เขาเรียนด้านจิตวิทยามนุษย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มา ดังนั้น เขาจึงให้ความสนใจในเรื่องของผู้คนมากเป็นพิเศษ และในตอนที่เขาเริ่มต้นทำ Facebook นั้น ก็มีเครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างพร้อมแล้วอย่างการเข้ามาของโลกอินเตอร์เน็ต การมี search engine ที่สามารถค้นหาข้อมูลข่าวสาร หรือสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้อย่างครบครัน แต่ยังขาดเครื่องมือในการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คน เขาจึงเริ่มเขียนโปรแกรมอย่างง่าย ๆ เพื่อดูว่าแต่ละคนบนโลกออนไลน์นั้น พวกเขาจะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ผลปรากฏว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมในสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนรอบ ๆ ตัวของพวกเขา และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น Facebook เวอร์ชั่นแรกขึ้นมา
  6. Mark บอกว่า ตอนแรกที่สร้าง Facebook ขึ้นมานั้น เขาไม่ได้กะทำเป็นบริษัทจริง ๆ จัง ๆ ขึ้นมาซะด้วยซ้ำ แต่ที่เขาทำไป เขาทำไปตามความต้องการของผู้คน ซึ่ง facebook เวอร์ชั่นแรกสุดหลังจากที่เปิดตัวเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็มีนักศึกษาใน Harvard จำนวนกว่า 2 ใน 3 เข้ามาใช้งานอย่างแพร่หลาย แล้วในหมู่เพื่อนฝูงก็บอกเขาว่า ทำไมเราไม่ลองขยายการเปิดใช้งานไปยังโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ดูบ้างล่ะ เขาก็เลยเปิดในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้ามาใช้งาน และพอนักศึกษาเข้ามาใช้งานบน facebook อย่างแพร่หลาย เขาก็คิดว่า ทำไมไม่ลองเปิดในคนทั่วโลกเข้ามาใช้งานบ้างล่ะ จากนั้นเขาจึงเริ่มจ้างคนเพิ่ม ก่อตั้งเป็นบริษัทจริง ๆ จังขึ้นมานั่นเอง
  7. คำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่กำลังที่จะเริ่มต้นสร้างบริษัทหรือสร้างผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างขึ้นมานั้น Mark Zuckerberg บอกว่า คุณจะต้องเริ่มต้นจากการที่ตัวคุณอยากที่จะแก้ไขปัญหาบางอย่างให้กับโลกใบนี้ ไม่ใช่เริ่มต้นจากการที่อยากจะเปิดบริษัทขึ้นมา ซึ่งบริษัทที่ยอดเยี่ยมที่สุดนั้น พวกเขาคือกลุ่มคนที่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ไม่ใช่ว่าอยากจะเปิดบริษัทขึ้นมาเพื่อที่จะได้ร่ำรวย มีลูกน้องทำงานให้ มีเงินใช้เยอะ ๆ นั่นมันไม่ใช่บริษัทที่ควรจะเป็น
  8. จุดที่ Mark Zuckerberg เคยย่ำแย่และลำบากใจที่สุดในช่วงแรก ๆ ของการทำ facebook นั้น ก็คือ หลังจากที่เขาทำ facebook มาได้ประมาณ 2-3 ปี ที่มีผู้ใช้งานที่เป็นนักศึกษาอยู่ราว ๆ 10 ล้านคน เขาก็ได้รับข้อเสนอการซื้อกิจการจากบริษัท Yahoo! เป็นจำนวนเงินมากหนึ่งพันล้านดอลล่าร์ฯ ซึ่งเป็นใครต่างก็ต้องคิดหนักกับเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ ที่ก่อตั้งบริษัทมาเพียงแค่ 2-3 ปี ก็มีคนมาขอซื้อนับพันล้านแล้ว แต่ด้วยความที่ Mark เขาสื่อสารภายในองค์กรยังไม่ค่อยดี ว่า จะเอายังไงต่อ จะขายหรือไม่ขาย ถ้าไม่ขายแล้วจะเดินหน้าบริษัทต่ออะไรยังไง ทำให้ในช่วงนั้น ทีมผู้บริหารทั้งหมด ต่างพากันลาออกยกชุด เพราะไม่มั่นใจและไม่เข้าใจว่า Mark จะเอายังไงกันแน่ เพราะข้อเสนอการขอเข้าซื้อกิจการเขาก็ไม่ได้บอกปฏิเสธซะด้วย จนกระทั่งเขาก็ทำการบอกปฏิเสธข้อเสนอนับพันล้านไป และบอกถึงวิสัยทัศน์และแนวทางของบริษัทที่กำลังจะเดินหน้าต่อ เพื่อเปิดตัวให้บุคคลทั่วไปเข้ามาสมัครใช้งานได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และนั่นก็ทำให้ facebook ในวันนี้มีผู้ใช้งานหลายพันล้านคนทั่วโลก และเขาก็ไม่มีความคิดที่จะขายบริษัทอีกเลยนับตั้งแต่นั้น
  9. Mark เขาเชื่อว่ากุญแจสำคัญในการสร้างบริษัทนั้น คือการโฟกัสในการเรียนรู้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งการสร้างบริษัทมันก็เหมือนกับกระบวนการการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานต่าง ๆ แล้วจากนั้นถ้าหากคุณตั้งค่าการทดลองได้ดี คุณก็จะได้เรียนรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง โดย Mark เขาได้ยกตัวอย่างจากการที่เขาให้อำนาจแก่ทีมวิศวกรของเขา ในการทดลอง facebook ในเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันออกไปนับหมื่นเวอร์ชั่นในเวลาเดียว อาจปล่อยให้กลุ่มคนลองใช้งานสักหมื่นคนแล้วดูผลตอบรับว่า facebook เวอร์ชั่นไหน การแสดงฟีดแบบไหน ที่ได้รับผลตอบรับดีที่สุด จากนั้นก็ค่อยนำไปปรับใช้กับผู้คนในวงกว้างต่อไป ซึ่งนี่คือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในองค์กรของ faceboook
  10. Mark บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท หลายคนคิดว่า พอมีผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ให้ทำการตลาด ทำ Marketing ทำการสื่อสารออกไปเยอะ ๆ แต่เขาบอกว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าก็คือ ตัวของ product ตัวของผลิตภัณฑ์มันจะต้องดี และจะต้องทุ่มเทเพื่อพัฒนามัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านการมีฟีเจอร์ต่าง ๆ การลงทุนในการสร้างชุมชน community การลงทุนในการเก็บ data การลงทุนในทีม engineer เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม เพราะเมื่อผู้คนใน community ที่เข้ามาใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นแฮปปี้ พวกเขาก็จะบอกต่อแก่คนรอบข้างเอง

Jan Koum ผู้ก่อตั้ง WhatsApp แอพแชทอันดับ 1 ของโลก

  1. Jan Koum เล่าว่า เขาเริ่มต้นในการสร้าง WhatsApp จากจุดเริ่มที่เรียบง่ายมาก ๆ นั่นก็คือ การพัฒนาโปรเจกต์เพื่อที่ตัวของเขาอยากที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาแอปบน iPhone ซึ่งแต่เดิมเขาไม่ได้มีแผนที่ยิ่งใหญ่หรือคิดว่าจะต้องเปลี่ยนโลกอะไรเลย เขาเพียงแค่ต้องการทำในสิ่งที่เขาสนใจและแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ ที่เขาเจอในชีวิตประจำวัน แต่จากการเริ่มต้นที่แสนเรียบง่ายนั้น มันทำให้เขาได้สร้าง WhatsApp ขึ้นมา ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้า WhatsApp ก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่มีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวิธีที่ผู้คนทั่วโลกติดต่อสื่อสารกัน จนกลายเป็นแอปที่มีผู้ใช้งานหลายพันล้านคน ทำให้การส่งข้อความ การโทร และการสื่อสารระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  2. เมื่อตอนที่แอพ WahtsApp มีผู้ใช้งานอยู่ที่กว่า 400 ล้าน users นั้น บริษัทของเขา มีพนักงานอยู่ที่ราว ๆ 50 คน แต่เป็น Engineer เป็นวิศวกรกว่า 25 ตำแหน่งแล้ว นั่นก็เป็นเพราะว่า Jan Koum นั้น เขาให้ความสำคัญกับตำแหน่งนี้มาก เพราะ วิศกรคน ๆ หนึ่ง นั้นจะต้องรับมือกับผู้ใช้งานหลายล้านคน ซึ่งเขาก็บอกว่า เขาค่อนข้างโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับคนที่ฉลาด ๆ คนเก่ง ๆ ที่นี่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้ว่าขนาดขององค์กรจะมีขนาดเล็ก แต่สามารถสร้าง impact ได้เป็นอย่างมาก
  3. Jan Koum เล่าว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้เขามีความหลงใหลในเรื่องของการพัฒนาการสื่อสาร มันมาจากเรื่องราวมากมายที่ได้พบเจอ อย่างเช่น จากเหตุการณ์ของบุคคลหนึ่ง ที่ตัวของเขาคนนั้น สามารถเชื่อมต่อและติดต่อสื่อสารกับคนที่รัก หลังจากการอพยพออกนอกประเทศที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกได้อย่างง่ายดายเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะ WhatsApp โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนที่เคยเป็นกับ SMS ระหว่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้เวลาที่เราจะส่งข้อความไปหาคนอีกฝากโลกนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก นั่นจึงทำให้ WhatsApp ได้กลายเป็นสะพานที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้คน มันเป็นการขจัดอุปสรรคในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วในการส่งข้อความหากัน ซึ่งการสื่อสารนั้น เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในการเชื่อมต่อติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน
  4. Jan Koum ได้เล่าว่าความสำเร็จของ WhatsApp นั้นไม่ได้มาจากไอเดียที่ยอดเยี่ยมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการที่ อยู่ได้ถูกที่ถูกเวลาอย่างเหมาะสม โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างแท้จริง การเข้าใจความต้องการที่แท้จริงและการสร้างสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่ทำให้ WhatsApp ประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่แค่การมีไอเดียที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการมีวิสัยทัศน์และการอยู่ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม
  5. Jan Koum บอกว่าหลักการของ WhatsApp คือการสร้างบริการที่ทุกคนทั่วโลกสามารถใช้งานได้ทันที เมื่อผู้คนทำการดาวน์โหลด มันก็พร้อมใช้งาน ไม่มีอุปสรรค ไม่มีความซับซ้อน ไม่มีโฆษณา ไม่มีเกม ไม่มีกิมมิคใด ๆ ซึ่งความเรียบง่ายและความเข้าถึงนี้คือสิ่งที่ทำให้ WhatsApp ประสบความสำเร็จได้ในวงกว้าง จนมีผู้ใช้งานจำนวนหลายร้อยล้านคนอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
  6. Jan Koum กล่าวว่าพวกเขาไม่ต้องการสร้างแค่เพียงแอปพลิเคชันอีกตัวหนึ่ง แต่พวกเขาต้องการสร้างสิ่งที่มีความหมายจริง ๆ กับผู้คน ซึ่งความตั้งใจนี้ ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อน WhatsApp ให้เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง จน ณ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่าสองพันล้านคนแล้ว
  7. Jan Koum เขาได้ชี้ตรงประเด็นที่ว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่จำนวนตัวเลขที่มีผู้ใช้งานหลายล้านคน แต่สิ่งที่สำคัญที่แท้จริงนั้นคือการมี user หรือผู้ใช้งานที่รักในผลิตภัณฑ์ของคุณ ซึ่งความรักและความภักดีนี้นี่แหละ คือมูลค่าที่แท้จริง ที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเลข ดังนั้นพวกเขาจะให้ความสำคัญในเรื่องของประสบการณ์ของผู้ใช้อยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องของการทำเงิน ซึ่งการที่บริษัทใช้แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาความจงรักภักดีของลูกค้าให้อยู่กับผลิตภัณฑ์ไปนาน ๆ แต่มันยังสร้างคุณค่าและความแตกต่างที่บริษัทอื่นยากจะเลียนแบบอีกด้วย
  8. เมื่อ Facebook เข้าซื้อกิจการ WhatsApp ไปในปี 2014 ด้วยมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ฯ หลายคนสงสัยว่า WhatsApp จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งหลังจากที่ Jan Koum ขายกิจการไปแล้วนั้น เขาก็ยังคงดำรงตำแหน่ง CEO ที่ WhatsApp อยู่ พร้อมกับทีมงานยังคงยึดมั่นในค่านิยมและวิสัยทัศน์เดิม นั่นก็คือ แอปจะต้องมีความเรียบง่าย, มีความเป็นส่วนตัว และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการรักษาอิสระในการพัฒนาและการตัดสินใจนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ WhatsApp ยังคงเป็นที่รักและไว้วางใจของผู้ใช้ทั่วโลก แม้จะอยู่ภายใต้ชายคาของ Facebook ก็ตาม การยึดมั่นในหลักการเหล่านี้ไม่เพียงแต่รักษาความเป็นตัวตนของ WhatsApp แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาและผู้ประกอบการทั่วโลกในการสร้างสรรค์โดยไม่เสียจุดยืนของตน
  9. Jan Koum เล่าว่า WhatsApp ได้สร้างการเข้าถึงในระดับสากล โดยทำการเข้าถึงผู้ใช้ในประเทศที่มีค่า SMS ราคาแพง เมื่อทำการส่งข้อความข้ามประเทศ อย่างเช่น ประเทศอินเดียและบางประเทศในทวีปแอฟริกา โดยทาง WhatsApp ก็ได้ให้บริการส่งข้อความและโทรฟรีผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ WhatsApp กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ใช้ในประเทศเหล่านั้น ซึ่งการเข้าถึงในตลาดสากลนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน WhatsApp ให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้าง network effect ที่ทำให้ผู้ใช้ใหม่มีแรงจูงใจในการเข้าร่วมมากขึ้น เพราะเพื่อนและครอบครัวของพวกเขาใช้งานกันอยู่แล้ว จนทำให้ WhatsApp กลายเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันส่งข้อความที่นิยมที่สุดในโลก
  10. Jan Koum ได้เริ่มต้น WhatsApp ในปี 2009 ซึ่งมันเป็นแอพฟรีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้งาน แต่หลังจากผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อรักษาคุณภาพบริการและความสามารถในการขยายตัวต่อไป จากนั้นในปี 2013 ทาง Jan Koum จึงตัดสินใจปรับ WhatsApp ให้เริ่มเรียกเก็บค่าบริการจำนวน $1 ต่อปี จากผู้ใช้งานหลังจากการใช้งานปีแรกฟรี ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ไม่สูง แต่ช่วยให้ทาง WhatsApp สามารถมีเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาแอพต่อไป และนอกจากนั้นมันยังแสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้งานยินดีจ่ายเพื่อบริการที่ดี แต่ต่อมา ในปี 2016 ทาง WhatsApp ก็ได้ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมรายปีและยืนยันว่าจะไม่แสวงหากำไรจากการโฆษณา แต่จะเริ่มทดลองวิธีการสร้างโมเดลรายได้ใหม่ ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นถึงการมีความยืดหยุ่นและความพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของ WhatsApp เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและผู้ใช้งานเป็นสำคัญ

Larry Ellison ผู้ก่อตั้ง Oracle บริษัทซอร์ฟแวร์ยักษ์ใหญ่ของโลก

  1. ข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเส้นทางการเดินไปสู่ความสำเร็จ
  2. หากคุณเกิดมาในที่ที่ลำบาก ยากเย็นแสนเข็ญ มากแค่ไหนก็ตามแล้วคุณยังไม่ตาย คุณยังมีชีวิตรอดอยู่ได้ นั่นมันจะทำให้ตัวคุณนั้นแข็งแกร่งขึ้น
  3. ตัวของเขานั้น มีความทะเยอทะยานอย่างมากมาโดยตลอด และเป็นคนที่มีความสงสัยใคร่อยากรู้ในเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ทันทีที่ตัวของเขาลาออกจากวิทยาลัย เขาก็ได้ย้ายไปทำงานที่ Silicon Valley ที่ถือเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี เมืองแห่งสตาร์ทอัพของโลกในทันที ในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์ เพราะตัวของเขานั้นฝึกเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนในวิทยาลัยอยู่
  4. บริษัท Oracle นั้นเริ่มก่อตั้งจากพนักงานเพียงแค่ 4 คน โดยเป้าหมายแรกสุดในการก่อตั้งบริษัท Oracle ที่เป็นธุรกิจซอร์ฟแวร์ของเขานั้น ตอนแรกสุด เขาอยากจะสร้างบริษัทให้เติบโต มีพนักงานสัก 50 คน โดยเป็นคนที่เขาอยากทำงานด้วย เอนจอย มีความสุขกับการทำงาน มีบ้านเป็นของตัวเอง มีรถดี ๆ สักคัน จากการเป็นที่ปรึกษาด้านซอร์ฟแวร์ แต่ไป ๆ มา ๆ บริษัทมันเติบโตขึ้นจนมีพนักงานในองค์กรรวมแล้วมากกว่า 150,000 คน ได้นั้น ก็เป็นเพราะพวกเขาได้เริ่มสร้างผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองขึ้นมา แทนที่จะเป็นแค่การให้บริการเพียงเดียว
  5. Larry Ellison บอกว่า การที่ Oracle จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในระบบ Cloud Database ที่ให้บริการการเก็บข้อมูลและการจัดการข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตได้นั้น เขาจะต้องเอาชนะระบบ Cloud ของบริษัท Amazon ให้ได้ซะก่อน ซึ่งการที่จะเอาชนะ Amazon ได้นั้น เขาจะต้องออกแบบให้ระบบ Cloud ของ Oracle ใช้งานได้ง่ายแบบ Amazon แต่จะต้องมีความปลอดภัยที่สูงกว่า นั่นแหละคือสิ่งที่ยอดเยี่ยม
  6. บริษัทซอร์ฟแวร์ มีการแข่งขันที่สูงมาก และตัวของเขาก็รักในการแข่งขัน เพื่อค้นพัฒนาศักยภาพของตนเองว่ามันจะไปสุดที่ตรงจุดไหน ซึ่งการแข่งขันนั้นจะทำให้เราไปพบกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เสมือนเป็นการปลดล็อค Limit ของตัวเราเองไปอีกขั้น ซึ่งการค้นพบศักยภาพที่เกินขีดจำกัดของคนเรานั้น อาจพบได้อย่างในวงการกีฬา ที่มีการโค่นสถิติเก่าลงได้อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งในวงการการทำธุรกิจก็เช่นกัน
  7. ในโลกนี้มีไอเดียดี ๆ อย่างเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่การที่จะเปลี่ยนจากไอเดียดี ๆ ไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจริงได้นั้น มันเป็นเรื่องที่ยากอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งการที่มีใครบางคนชอบกล่าวหาว่า คนนั้นไปขโมยไอเดียจากคนนี้ ซึ่งเอาเข้าจริง เจ้าของไอเดียดี ๆ คนดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ซะด้วยซ้ำ เพราะมันมีขั้นตอนที่ลงรายละเอียดและซับซ้อนเป็นอย่างมาก กว่าที่จะทำให้ไอเดียดี ๆ สักไอเดียหนึ่งนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้
  8. ผู้คนมักบอกว่าบริษัท Oracle นั้น เป็นบริษัทที่เป็นนักการขายและนักการตลาดที่ยอดเยี่ยม ที่สามารถทำให้มียอดขายที่สูงได้ขนาดนี้ แต่ทาง Larry Ellison นั้นบอกว่า บริษัท Oracle นั้น มีงบในเรื่องของการทำการขายและการทำการตลาดที่น้อยเอามาก ๆ เพราะงบในบริษัทเกือบทั้งหมดนั้น จะนำไปจ้างพนักงานที่เก่ง ๆ ตัวท็อป ๆ ของโลก มหาวิทยาลัยท็อป ๆ ของโลก มาทำงาน เพื่อให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ซอร์ฟแวร์ที่ยอดเยี่ยม ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในมือแล้วให้ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะลูกค้าจะซื้อสินค้าก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับสินค้าที่ยอดเยี่ยมที่สุด ไม่ใช่เพราะการขายและการทำการตลาดดีที่สุด
  9. Larry เล่าว่า ช่วงหนึ่งที่เขารู้สึกเจ็บปวดใจมากที่สุดในการสร้างบริษัท Oracle มานั้น มันเกิดขึ้นเมื่อปี 1990 ที่จู่ ๆ จากบริษัทที่เคยทำรายได้ ได้ปีละ $50 ล้านดอลล่าร์ฯ ไปเป็น $1,000 ล้านดอลล่าร์ฯ นั้น เขาจำเป็นที่จะต้องไล่ผู้บริหารที่เคยทำงานร่วมกันมานานนับสิบปีออก ไม่ใช่เพราะพวกเขาบริหารไม่เก่ง บริหารไม่ดี แต่เป็นเพราะทีมผู้บริหารชุดเก่านั้น พวกเขาถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจที่มีไซส์ขนาด $50 ล้านดอลล่าร์ฯ แต่พอธุรกิจมันเติบโตขยายไซส์เป็นพันล้าน ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ชุดผู้บริหารใหม่ทั้งหมดที่เหมาะสมกับบริษัทระดับพันล้าน เพราะระหว่างบริษัท $50 ล้านดอลล่าร์ กับ $1,000 ล้านดอลล่าร์ฯ มันใช้ skillsets ใช้ทักษะกันคนละแบบอย่างสิ้นเชิง และนั่นมันทำให้เขาปวดใจมากที่จะต้องไปนั่งคุยกับผู้บริหารยุคบุกเบิกที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานานนับสิบปี เพื่อขอให้พวกเขาลาออก หรือจำเป็นต้องไล่พวกเขาออกจากบริษัท Oracle
  10. Larry เล่าว่า พี่สาวของเขาเคยสอนเอาไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังเข้าใกล้เป้าหมายเดิมที่เราเคยตั้งเอาไว้แล้ว ให้รีบขยับเป้าหมายใหม่ให้ไกลขึ้นกว่าเดิมในทันที ดังนั้นตัวของเขาจะทำการเขยิบเป้าหมายให้ไปไกลขึ้นกว่าเดิม เพราะตัวของเขาคิดว่า ในวงการธุรกิจ คุณสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้เสมอ

Michael Bloomberg ผู้ก่อตั้งบริษัท Bloomberg L.P. บริษัทสื่อและเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของโลก

  1. ไมค์ บลูมเบิร์ก บอกว่า บางครั้งการที่คุณจะทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จนั้น ก็ต้องอาศัยโชคช่วยอยู่บ้าง แต่หาก “ยิ่งคุณทำงานหนัก คุณก็จะมีโอกาสโชคดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น” คำพูดของไมค์ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการมีความพยายามกับโอกาส ที่ไม่ใช่แค่รอให้โอกาสมาเคาะประตูที่หน้าบ้าน แต่เราต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยความพยายามอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่โชคชะตาที่เราต้องการ ซึ่งจากคำพูดนี้คอยเตือนเราว่า เมื่อเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค โชคดีก็จะตามมาพร้อมกับความสำเร็จที่เราแสวงหานั่นเอง
  2. เมื่อคุณเผชิญกับความล้มเหลว จงมองเข้าไปในกระจก แล้วถามกับตนเองว่า เพราะเหตุใดและทำไมมันถึงไม่เวิร์ค เมื่อความล้มเหลวมเยือน สิ่งที่คุณไม่ควรทำก็คือ การมองหาใครสักคนเพื่อที่จะโยนความผิดให้กับเขาคนนั้น ซึ่งสิ่งที่คุณควรทำก็คือ การเผชิญหน้ากับความจริงและค้นหาสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากมันได้ ความล้มเหลวมันไม่ใช่เรื่องของความผิดหวัง สิ้นหวัง แต่มันเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ และช่องทางการเติบโตใหม่ ๆ โดยให้คุณเปลี่ยนความล้มเหลวให้กลายเป็นบทเรียนและแรงผลักดันสู่อนาคต
  3. ไมค์บอกว่า ผู้ประกอบการมักมีความเชื่อแบบเก่า ๆ ที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ อาทิเช่น ความเชื่อที่ว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากโชคล้วน ๆ หรือคุณต้องเกิดมาพร้อมกับความสามารถพิเศษจึงจะประสบความสำเร็จได้ หรือเชื่อว่าการล้มเหลวครั้งหนึ่งคือจุดจบของทุกสิ่ง ดังนั้นการลบล้างความเชื่อแบบเดิม ๆ จะทำให้เราเห็นโลกในมุมมองใหม่ ๆ และเห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่รอให้เราไปค้นพบ
  4. พลังของการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมล่วงหน้านั้น เป็นการเปลี่ยนความกลัวให้กลายเป็นแรงกระตุ้น โดย ไมค์ บอกว่า ความรู้สึกกลัวนั้น มันสามารถช่วยกระตุ้นให้เรา อยากที่จะเตรียมตัวให้มากพอ ฝึกซ้อมพร้อมรับมือ และทบทวนกระบวนการซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความกลัวให้กลายมาเป็นพลังที่ผลักดันให้เราไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งการเตรียมตัวที่ดีนั้น ไม่เพียงแค่ทำให้เราพร้อมสู้ พร้อมรับมือ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กล้าเผชิญหน้ากับทุกความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา
  5. การร่วมมืออยู่เหนือการแข่งขัน เป็นแนวคิดสำคัญที่ไมค์ บลูมเบิร์ก สะท้อนถึงความจำเป็นของการทำงานร่วมมือกันในโลกยุคปัจจุบันที่โลกเชื่อมต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งการร่วมมือกันไม่เพียงแต่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเข้าด้วยกันอีกด้วย ซึ่งการแบ่งปันความสำเร็จและการแบ่งปันประสบการณ์อันมีค่านั้น เป็นกุญแจสำคัญในการเติบโต ที่ไม่เพียงแค่เติบโตเพียงคนเดียวแต่เติบโตแบบเป็นกลุ่ม โดยการร่วมมือกันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนมากกว่าการแข่งขันโดยตัวคนเดียว มันเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ
  6. การประเมินตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา เป็นวิธีการที่ทรงพลัง ทำให้เราเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดย ไมค์ เล่าวิธีที่เขาทำกับตนเองก็คือ เขาจะหยิบกระดาษโน้ตขึ้นมาสักแผ่นนึง แล้วเขียนเส้นแบ่งครึ่งตรงกลางหน้ากระดาษ โดยด้านหนึ่งเขาจะเขียนข้อดีของตนเอง และอีกด้านหนึ่งเขาก็จะเขียนข้อเสียของตนเองลงไปซึ่งการทำแบบนี้มันไม่เพียงช่วยให้เราเห็นภาพรวมของสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการตรวจสอบความคิดและการตัดสินใจของเราเองอย่างเป็นกลาง อย่างตรงไปตรงมา
  7. แม้คุณจะร่ำรวยมากแค่ไหน พอคุณจากโลกนี้ไป คุณก็ไม่สามารถเอาเงินติดตัวไปได้เลย ดังนั้น ปัญหาก็คือ คุณจะทำยังไงกับเงินที่คุณมีอยู่นี้ดีต่างหาก ซึ่งทาง Michael Bloomberg นั้น ถือได้ว่าเป็นเศรษฐีใจบุญ ที่บริจาคเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแล้วมากกว่า $8,000 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือกว่า 2.7 แสนล้านบาท
  8. เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยไมค์ เล่าว่า เขาได้ใช้เงินที่ได้ชดเชยหลังจากที่ถูกไล่ออกจากที่ทำงาน ที่ได้รับมาจำนวน $10 ล้านดอลล่าร์ฯ ทั้งหมด เพื่อไปจ้างและจ่ายเงินเดือนให้กับวิศกรหนุ่มไฟแรงจำนวน 3 คน เพื่อสร้างบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินของตนเองขึ้นมา
  9. It’s about starting a company that does things in a new way. การเป็นผู้ประกอบการมันไม่ได้หมายถึงเป็นแค่การเริ่มต้นบริษัท แต่มันเป็นการเริ่มต้นบริษัทเพื่อทำในเส้นทางที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่มีอยู่ โดย Mike Bloomberg เขามองว่าการเป็นผู้ประกอบการนั้น คือเส้นทางสู่การสร้างนวัตกรรมและสร้างความเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผู้ที่มีความปรารถนาที่จะเป็นผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นที่การนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์, บริการ หรือวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยมีนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความแตกต่างและความสำเร็จ ในการประยุกต์ใช้ ดังนั้นเราควรตั้งคำถามกับสถานการณ์ปัจจุบันและคิดถึงวิธีการที่คุณสามารถปรับปรุงหรือนำเสนอนวัตกรรมในสาขาวิชาชีพ ในอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ตลอดเวลา
  10. ถ้าคุณต้องการเป็นผู้นำ คุณต้องเป็นคนที่ลงมือทำ ไม่ใช่แค่คนที่เอาแต่พูด เพราะการกระทำนั้นอยู่เหนือคำพูด ผู้นำที่ดีต้องแปลงความคิดเปลี่ยนให้เป็นการกระทำ, สร้างความน่าเชื่อถือ, เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การลงมือทำ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น โดยการเริ่มต้นจากการทำสิ่งเล็ก ๆ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และใช้ความล้มเหลวเป็นบทเรียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำสามารถเปลี่ยนความคิดที่เป็นเพียงมโนธรรม กลายเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้

Sean Rad ผู้ก่อตั้ง Tinder แอพหาคู่ออนไลน์ระบือโลก

  1. “ไม่มีคู่มือในการเป็นซีอีโอ” คำพูดนี้ ฌอน สะท้อนประสบการณ์ของเขาให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับความท้าทายและความไม่แน่นอนในการนำทีม Tinder ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมใหม่ โดยตลอดการเดินทางของเขา เต็มไปด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทและความท้าทายส่วนตัว ที่เขาเคยถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งขึ้นมาและกลับมาเป็นซีอีโออีกครั้ง โดยฌอนบอกว่า “การถูกไล่ออกเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับเขา แต่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับเขาด้วยเช่นกัน” บทเรียนนี้มันสอนให้เขารู้จักกับการที่คนเราจะต้องมีความยืดหยุ่น มีความถ่อมตน และจะต้องนำทีมเพื่อให้มีความสามัคคีมีความร่วมมือกัน
  2. ฌอน พูดว่า “ที่ Tinder นั้น เราทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน” ซึ่งคำพูดนั้นมันสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของ Tinder ที่เกินกว่าเป้าหมายเดิม ที่ตั้งใจที่จะเป็นแค่เพียงแอปหาคู่ เปลี่ยนไปเป็น ตามความต้องการใช้งานที่หลากหลายของ users ที่ไม่ใช่แค่เพียงใช้มันเพียงเพื่อการหาคู่รัก แต่ยังรวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ใช้ Tinder เพื่อการหาเพื่อน หรือการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ฌอนและทีมของเขาต้องปรับเปลี่ยน Tinder ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมต่อผู้คนทุกประเภทเข้าด้วยกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นบทเรียนสำคัญในการทำธุรกิจ ที่จะต้องปรับตัวและจะต้องตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งาน สิ่งนี้มันแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจสามารถขยายขอบเขตและความเกี่ยวข้องได้โดยการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการที่กว้างขึ้น มันทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ที่ทำให้ Tinder กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีสังคมที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม
  3. “สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ได้เริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่อะไรเลย” ซึ่งคำพูดของฌอนนั้นสะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ บริษัทที่ประสบความสำเร็จ มักเกิดจากความคิดหรือความหลงใหลส่วนตัวของพวกเขาเอง มากกว่าการวางแผนเปลี่ยนแปลงโลกตั้งแต่วันแรก ๆ อย่างการเริ่มต้นบริษัท Tinder ของเขานั้น ก็เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี โดยที่มีจุดเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ว่า เขาอยากจะทำให้การสื่อสารทางสังคมง่ายขึ้นและลดความกลัวการถูกปฏิเสธให้น้อยลง ซึ่งความคิดเริ่มต้นที่เรียบง่ายนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัวของฌอนเอง และบริษัทมันก็เติบโตผ่านกระบวนการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ และการตอบสนองต่อ users ผู้ใช้งาน จนกลายเป็น Tinder ที่เรารู้จักในวันนี้
  4. “ยิ่งคุณเข้าใจ users และลูกค้าได้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นได้มากเท่านั้น” ซึ่งฌอน เขาได้ย้ำถึงความสำคัญของการเข้าใจผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม อย่างลึกซึ้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้การพัฒนาไปได้ไกลกว่าสิ่งที่ผู้คนต้องการแค่เพียงเบื้องหน้า มันจะช่วยให้เราได้สำรวจความต้องการที่ซ่อนอยู่ภายในพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้งาน ของลูกค้าได้อย่างแท้จริง
  5. ฌอน พูดว่า “เขาให้ทุกคนในทีมสามารถตั้งคำถามที่มีความท้าทายซึ่งกันและกันได้” ซึ่งฌอน เขาถือว่าสิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีที่ Tinder และส่งเสริมการทำงานด้วยความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมสามารถแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อช่วยเสริมในการสร้างนวัตกรรมและการทำงานเป็นทีมที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยวิธีนี้ยังสามารถทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของงานร่วมกัน และมุ่งมั่นทำงานร่วมกันมีเป้าหมายเดียวกันกับบริษัทสิ่งนี้จะช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโตและประสบความสำเร็จได้
  6. “ทุกความผิดพลาดเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง” โดยฌอนสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ของเขาในการทำบริษัท Tinder ที่ตัวของเขานั้นมองว่า ความผิดพลาดนั้นเป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกของบริษัทสตาร์ทอัพ แต่ความล้มเหลวเหล่านั้นกลับมีความสำคัญต่อการเติบโตและสร้างนวัตกรรมองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้ โดยในระหว่างการพัฒนา Tinder นั้น ฌอนเขาได้นำทุกความผิดพลาดมาใช้เพื่อหาข้อคิดและปรับปรุงแอปให้ดียิ่งขึ้น มันเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมของความอดทนและกระตุ้นให้เกิดการทดลองภายในทีมงาน ด้วยการมองข้อผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาบริษัท
  7. “คุณต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานในบริษัทพวกเขารู้สึกว่าเสียงของพวกเขาได้รับการรับฟัง” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับบริษัทสมัยใหม่ โดยเฉพาะในการดึงดูดและรักษาพนักงานยุคมิลเลนเนียล โดยฌอนนั้นเขาเข้าใจว่าพนักงานในยุคนี้ต้องการมากกว่าเพียงแค่ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน พวกเขาต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ความคิดเห็นของพวกเขาได้รับการเคารพ มีการยอมรับผลงาน และรู้สึกว่างานของพวกเขามีความหมาย โดยฌอนเขาสร้างวัฒนธรรมที่ Tinder ที่เน้นการรวมพลังและการสนับสนุนทุกคนในทีม วิธีการนี้ไม่เพียงแต่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี แต่ยังช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมและการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตและความสำเร็จของ Tinder และเป็นตัวอย่างของวิธีการสร้างทีมงานที่ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คือผู้ฟังที่ยอดเยี่ยม”
  8. ฌอน บอกว่า “AI จะถูกใช้เป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่มันไม่ใช่คุณค่าหลักของบริษัท” โดยสิ่งที่ฌอนต้องการที่จะเน้นย้ำถึงบทบาทของ AI ว่ามันอยู่ในฐานะเครื่องมือในการเสริมสร้างและปรับปรุงฟังก์ชันต่าง ๆ มากกว่าที่จะเป็นส่วนหลักสำคัญของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเขาย้ำหลักการที่ว่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ควรถูกใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้งานและลูกค้า เพื่อมอบคุณค่าและคุณประโยชน์ที่สามารถจับต้องได้ โดยในกรณีของ Tinder นั้น ได้ใช้ศักยภาพของ AI เพื่อการปรับปรุงปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน โดยใช้ตั้งแต่เรื่องของการทำความเข้าใจ ความชอบ ไปจนถึงการเพิ่มความแม่นยำในการจับคู่ ทำให้กระบวนการหาความสัมพันธ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  9. “คุณต้องรักในสิ่งที่คุณทำจริง ๆ เท่านั้น เพราะถ้าคุณไม่รักมัน เวลาที่เจอความยากลำบาก คุณอาจจะไม่สู้ต่อหรือสูญเสียเหตุผลที่จะสู้ต่อไป” เพราะฌอนเขาเชื่อว่าการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้นมักเต็มไปด้วยความท้าทาย ดังนั้น การหลงใหลในสิ่งที่ทำนั้นเป็นเชื้อเพลิงที่คอยขับเคลื่อนความมุ่งมั่น ที่สำคัญในการเอาชนะความยากลำบากเหล่านั้น ประสบการณ์ของเขากับ Tinder แสดงให้เห็นว่าความมุ่งมั่นและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องนั้นสำคัญอย่างไรในการนำทางความซับซ้อนของการเดินทางของสตาร์ทอัพและในการบรรลุความสำเร็จที่ยั่งยืน
  10. ฌอนได้ให้นิยามความหมายของคำว่า co-founders ใหม่ว่า มันไม่ใช่แค่เพียง คนสองสามคนที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วจะประสบความสำเร็จ แต่เขาจะหมายถึงทุกภาคส่วน ทุก ๆ คน ที่มีส่วนร่วมตลอดเส้นทางไปสู่ความสำเร็จนั้น คือผู้ช่วยกันผลักดันให้บริษัทประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ หากไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ลำพังผู้ก่องตั้งเริ่มแรกสุดเพียงไม่กี่คนก็อาจมาได้ไม่ไกลถึงขนาดนี้ ดังนั้น เขาจึงให้ความสำคัญกับทุก ๆ คน ที่มีส่วนร่วมในการนำพาบริษัท Tinder ไปสู่ความสำเร็จ

Michael Dell ผู้ก่อตั้งบริษัท Dell Technologies บริษัทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ด้านไอที ที่เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก

  1. เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง มีธุรกิจมากมายที่มักจะล้มหายตายจากไป เพราะไม่ยอมปรับตัว ดังนั้น การนั่งรอเฉย ๆ แล้วรอให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้น โดยไม่ทำอะไรเลยนั้น ไม่ใช่ไอเดียที่ดีเอาซะเลย ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำก็คือ เข้าใจสถานการณ์ซะก่อนว่า ณ ตอนนั้น มันเกิดอะไรขึ้น เพื่อที่จะได้เตรียมตัวเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องและเข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ จะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และในปัจจุบันความเร็วในการทำธุรกิจนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะ business cycle ในปัจจุบันนั้นกำลังเร็วขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากการมาของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่าง
  2. Michael Dell บอกว่า หากคุณมีความหวาดกลัว และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นั้น เขาแนะนำว่า อย่าไปทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเลยจะดีกว่า เพราะคุณจะไม่มีความสุขกับการทำงานเลย ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น บริษัททุกบริษัทต่างก็กำลังกลายมาเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น แถมอัตราในการเปลี่ยนแปลงของบริษัทต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางนี้ก็เร็วขึ้นซะด้วย ดังนั้นไม่ว่ายังไงคุณก็จะต้องยอมรับมัน คุณจะต้องรู้สึกสบายใจกับการที่จะต้องเผชิญกับความกลัวและการเปลี่ยนแปลง เพราะนั่นคือโลกที่แท้จริงที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง
  3. สิ่งที่ Michael Dell เขาได้เรียนรู้จากการบริหารในองค์กรอย่าง DELL นั้น ก็คือ การที่เขาพยายามเข้าใจถึงปัญหาของลูกค้าที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั้น พวกเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้กับลูกค้าอย่างไรได้บ้าง ตัวของเขานั้นจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและมีส่วนร่วมกับทีมอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ทีมนั้นรู้สึกตื่นเต้นกับภารกิจที่พวกเขาได้รับ และจัดการให้การดำเนินงานนั้นเกิดขึ้นจริง สามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้จริง มันเป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้า แล้วในท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลดีต่อบริษัท สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทไปโดยปริยาย
  4. การมีเป้าหมาย การมีภารกิจ พันธกิจ ของบริษัทนั้น มันยิ่งใหญ่เกินกว่า ที่จะตั้งเป้าหมายเป็นแค่เพียงตัวเลข ว่าจะต้องได้ยอดขายเท่านั้นเท่านี้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ การที่ทุกคนอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำเป้าหมาย เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งนั้นมันจะทำให้พวกเขาอยากลุกออกจากเตียงในทุก ๆ เช้า เพื่อมาทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ
  5. เทรนด์และโอกาสทางธุรกิจในอนาคตทาง Michael Dell บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้กำลังจะเชื่อมกันด้วย AI ซึ่ง AI จะเข้ามาจัดการระบบระเบียบข้อมูลในปริมาณที่มหาศาลผ่านการเชื่อมต่อด้วย 5G ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกนี้ ผ่านพวก microcontroller microprocessor ที่จะถูกฝังอยู่ในสิ่งทุกสิ่งอย่างทางกายภาพ ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้นทุนในการทำสิ่งเหล่านี้จะถูกลง ดังนั้นหลายสิ่งหลายอย่างในทุก ๆ อุตสาหกรรม ที่เทคโนโลยีที่แม้ว่าจะยอดเยี่ยมก่อนหน้านี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องนำมาคิดใหม่ และนี่คือยุคเริ่มต้นของยุคใหม่เท่านั้นเอง
  6. Michael Dell เล่าว่า บริษัท Dell Technologies นั้น ไม่ได้ขายเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วย Hardware, Software และ Services เข้าด้วยกัน แต่เริ่มแรกสุดนั้น ก็ต้องเริ่มจาก Hardware ที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานเสียก่อน จากนั้นก็นำ Software และ Services นำเสนอต่อลูกค้าต่อไป กลายเป็น IT Solution แบบครบวงจร
  7. Michael เล่าว่า เขาให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น ในวิชาคณิตศาสตร์ที่คุณครูนั้นทำการป้อนคำสั่งเข้าไปใน Machine ตัวหนึ่ง แล้วมันก็สามารถแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ออกมาได้ มันทำให้เขาทึ่งมาก จนกระทั่งในปี 1981 เมื่อตอนที่บริษัท IBM ได้เปิดตัว IBM PC คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลขึ้นมา นั่นมันทำให้เขารับรู้ทันทีได้ว่า ในตลาดกำลังจะมีการขายคอมพิวเตอร์อย่างจริงจังโดยเฉพาะในกลุ่มของธุรกิจต่าง ๆ ที่สามารถจ่ายในราคาไม่กี่พันดอลล่าร์ฯ ก็สามารถนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปช่วยเสริมศักยภาพในการทำธุรกิจของแต่ละบริษัทได้ แต่ก็มีเพียงไม่กี่บริษัทที่จะมีกำลังซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ในราคาที่สูงเหล่านั้นได้ จนกระทั่งเขาได้ลองนำเครื่อง PC มาแกะดูส่วนประกอบต่าง ๆ เขาก็พบว่า ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ขายกันที่ $3,000 ดอลล่าร์ฯ นั้นมันประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มาจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีต้นทุนแค่เพียง $500 ดอลล่าร์ฯ เท่านั้นเอง มันทำให้ตัวของเขารู้สึกว่า ราคามันแรงเกินไป ซึ่งการประกอบคอมพิวเตอร์นั้น สามารถเริ่มต้นได้จากไม่กี่ร้อยดอลล่าร์ฯ แล้วค่อย ๆ อัพเกรด แบบที่รถยนต์อัพเกรดกันได้ เขาจึงเริ่มต้นสร้างบริษัทเพื่อผลิตคอมพิวเตอร์ขายเองในปี 1984 ในช่วงที่เขาอายุได้เพียง 19 ปี ภายในหอพักในวิทยาลัย ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง $1,000 ดอลล่าร์ฯ และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ลาออกกลางคันมาทำธุรกิจเต็มตัว
  8. Michael บอกว่า หลัก ๆ แล้วที่บริษัท Dell นั้น จะโฟกัสที่ลูกค้าที่เป็นองค์กรเป็นหลัก เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่จะอยู่ที่นั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนใหม่ขึ้นมา ในมือถือเครื่องนั้นจะไม่มีอะไรเลยนอกจากเครื่องเปล่า ๆ แต่เมื่อมือถือเครื่องนั้นทำการโหลดแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ บริการต่าง ๆ ลงไปในนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยเซิร์ฟเวอร์ในการดาวโหลดหรืออัพโหลดข้อมูลเหล่านั้น ดังนั้น การไปโฟกัสที่การสร้าง infrastructure เซิร์ฟเวอร์ หรือบริการ cloud เพื่อรองรับอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น มีมูลค่ามหาศาลเป็นอย่างมาก
  9. Michael Dell บอกว่า จำนวนตำแหน่งอัตราการจ้างงานใหม่ ๆ ทั่วโลกกว่า 70%-90% นั้น เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการ เกิดจากเหล่าบรรดาธุรกิจ SMEs ต่าง ๆ ที่กำลังเติบโต ที่จะก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ นับพันล้านตำแหน่ง ดังนั้น นอกจากตัวของเขาจะชอบช่วยเหลือในด้านการศึกษาแล้วนั้น เขายังสนใจที่จะพยายามช่วยเหลือให้เหล่าบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลาย สามารถลืมตาอ้าปาก สามารถยืนหยัดในธุรกิจของตนเองได้ ซึ่งมันจะส่งผลดีต่อโลกของเรา
  10. Michael Dell บอกว่า ฮีโร่ของเขาที่เป็นไอดอลในการทำธุรกิจก็คือ Steve Jobs และ Bill Gates ที่พวกเขาเป็นผู้ประกอบการที่มาเปลี่ยนโลก สร้างธรุกิจใหม่ ๆ พลิกโฉมแก่โลกใบนี้

Steve Ballmer อดีต CEO พันล้านบริษัท Microsoft หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

  1. ในยุคที่ไมโครซอฟท์ยังเป็นเพียงสตาร์ทอัพเล็กๆ Steve Ballmer ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งในเวลานั้นบริษัท Microsoft เต็มไปด้วยทีมงานที่เป็นโปรแกรมเมอร์และผู้ที่หลงใหลในเทคโนโลยีซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพวกเขามักหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของโค้ดคอมพิวเตอร์และทางเทคนิคซะมากกว่า มากกว่าการแสดงตัวเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ แต่แล้ววันหนึ่งโอกาสทองก็มาถึงเมื่อบริษัท Microsoft มีโอกาสที่จะทำงานร่วมกับบริษัท IBM ที่ถือได้ว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการคอมพิวเตอร์ และนี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ Microsoft จะต้องนำเสนอตัวเองให้ดูเป็นมืออาชีพและเป็นผู้มีความสามารถ ซึ่ง Steve Ballmer เขาได้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความประทับใจที่ดี เขารู้ว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของเทคนิคหรือโค้ดทางคอมพิวเตอร์ แต่มันเป็นเรื่องของการสื่อสารและการแสดงความเป็นมืออาชีพ เขาจึงได้ตัดสินใจแต่งกายให้เหมาะสมกับการเข้าประชุมที่นอกจากจะสวมสูทผูกไท ให้ดูเหมือนกับนักธุรกิจมืออาชีพ และเตรียมตัวให้พร้อมกับการเข้ารับบทบาทการเป็นพ่อค้าของ Microsoft ท่ามกลางทีมงานที่มีแต่พวกเด็กเนิร์ดบ้าเขียนแต่โค้ดคอมพิวเตอร์
  2. Steve Ballmer บอกว่า “เขาเป็นคนภักดีมาก โดยเขายังคงขับรถยี่ห้อฟอร์ด เพราะพ่อของเขาเคยทำงานอยู่ที่นั่น และตัวของเขาเองนั้นก็ยังถือหุ้นไมโครซอฟท์อยู่ แม้ว่าตัวของเขาจะลงจากตำแหน่ง CEO ที่นั่นแล้วก็ตามที” ซึ่งคำพูดเหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงความมั่นคงและความภักดีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อบริษัทที่เขาเคยนำทัพ มันไม่เพียงแต่เป็นการลงทุนทางการเงิน แต่ยังเป็นการรักษาความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์และอนาคตของไมโครซอฟท์ โดย Steve Ballmer ยืนยันให้เห็นว่าแม้ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง แต่ความจงรักภักดีและการยึดมั่นในต้นกำเนิดของตัวเองสามารถเป็นแรงบันดาลใจและเป็นพลังที่นำทางไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแท้จริง
  3. Steve Ballmer พูดว่า “หลังจากที่แพ้ เรายังไม่ควรพูดกับใคร” โดยหลังจากที่เขาเกษียณจากบริษัท Microsoft เขาก็ได้เข้าซื้อทีมบาสเกตบอล NBA อย่าง LA Clippers ในราคาราว ๆ $2,000 ล้านดอลล่าร์ฯ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า $4,000 พันล้านดอลล่าร์ฯ ซึ่งคำพูดดังกล่าว เขาได้บทเรียนจากการที่เมื่อทีมบาสของเขาพ่ายแพ้ เพราะเวลาที่ทีมแพ้นั้น อารมณ์ของคนในทีมนั้น พวกเขาไม่พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำในอารมณ์ที่ขุ่นมัว ซึ่งอาจตีความผิดและทำให้สถานการณ์แย่ลง ซึ่งมันเป็นเรื่องของจังหวะเวลาในการสื่อสาร ที่ไม่ว่าในวงการกีฬาหรือวงการธุรกิจก็ต้องดูจังหวะการสื่อสารในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งปรัชญานี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตั้งสติและการตั้งคำถาม การหลีกเลี่ยงการพูดคุยทันทีช่วยให้อารมณ์สงบและเปิดโอกาสให้มีการวิเคราะห์และเรียนรู้อย่างมีเหตุผล เป็นการเตือนใจว่าการรู้เวลาที่เหมาะสมในการพูดและการหยุดนิ่งเป็นสิ่งสำคัญในการนำทีมและการเป็นผู้นำที่ดี
  4. “การบริหาร Microsoft มันสนุกมาก มันเป็นแรงบันดาลใจเพราะเรากำลังทำงานกับสิ่งที่เปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง” โดยคำพูดนี้ของ Steve Ballmer สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจที่เขาได้จากการมีส่วนร่วมในงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ภายใต้การนำทัพของเขา
  5. Steve Ballmer มองว่า “บางครั้งมันก็ยากมากสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ที่พยายามจะทำในสิ่งที่แตกต่างจากท้องตลาด” โดยเขาชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน Tech Company ยักษ์ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคที่ Microsoft เป็นผู้นำตลาด ที่บริษัทต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งก็มักจะมีความกังวลต่อผู้ถือหุ้น บอร์ดบริหารที่มีลำดับหลายชั้น ช้าต่อการอนุมัติดำเนินงาน ยากต่อการเป็นองค์กรที่จะต้องมีความคล่องแคล่วว่องไวและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในวงการเทคโนโลยี เป็นปัญหาที่องค์กรขนาดใหญ่มักพบเจอ ดังนั้น องค์กรจะต้องสนับสนุน ปลูกฝังและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อนำพาให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จ
  6. “การเป็นผู้นำต้องเป็นผู้นำแห่งความคิด คุณต้องยึดมั่นและมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง” โดยคำพูดนี้ของ Steve Ballmer สะท้อนให้เห็นถึงหลักการที่เขาใช้ในการเป็นผู้นำที่บริษัท Microsoft โดยเน้นการเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และมีความมุ่งมั่น และนำพาบริษัท Microsoft ไปสำรวจดินแดนใหม่ ๆ ตั้งแต่เรื่องของ Cloud Computing ไปจนถึงการเข้าสู่โลกของเกม
  7. Steve Ballmer กล่าวว่า “คุณจะต้องเป็นคนที่ฮาร์ดคอร์ ดุดัน” และ “มีความหลงใหลและความมั่นใจในการเป็นผู้นำ” เพราะมันเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการนำพาบริษัท Microsoft ให้กลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนถึงปัจจุบัน
  8. คุณจะรู้สึกดีกับความสำเร็จของคุณ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็รู้สึกถึงความผิดพลาดล้มเหลว ที่เจ็บปวด ที่ผ่านมาในระหว่างเส้นทางเดินไปสู่ความสำเร็จด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณไม่มีทางหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้ เพราะมันคือเส้นทางเดินเดียวกันกับการก้าวไปสู่ความสำเร็จ จงเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาจากความผิดพลาดเหล่านั้นซะ
  9. Steve Ballmer กล่าวว่า “ในหลาย ๆ ธุรกิจ คุณจะถูกบังคับให้ต้องมีกลยุทธ์ที่สอง ไม่เช่นนั้นแล้วบริษัทคุณอาจจะเจ๊งได้” ซึ่งคำกล่าวนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาธุรกิจและพัฒนานวัตกรรมของบริษัทอย่างต่อเนื่อง อย่าไปมัวหลงระเริงกับความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา แต่ต้องมีการนำนวัตกรรมมาใช้และปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
  10. “บางทีมันอาจจะสายเกินไปแล้ว” โดย Steve Ballmer บอกว่า ในหลาย ๆ ครั้งที่มีเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม แต่มันก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมันอยู่ ซึ่งบางอย่างหากพัฒนาช้าจนเกินไป ก็อาจจะไม่ทันการเสียแล้ว หรือเทคโนโลยีบางอย่างออกมาเร็วเกินไป มันก็อาจจะไม่เปรี้ยงปร้าง เพราะมันไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้น นอกจากที่จะมีไอเดียที่ยอดเยี่ยม เทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมแล้วนั้น จะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

Howard Schultz ผู้ปลุกปั้นร้านกาแฟ Starbucks ร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของโลก

  1. ผมเชื่อว่า วิธีที่ดีที่สุดในการทำนายอนาคตก็คือ ให้เราสร้างมันขึ้นมาเองเลย
  2. ผู้ประกอบการคือกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวที่ยอมทำงานกว่าวันละ 16 ชั่วโมง แทนที่จะทำงานเฉลี่ยเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน
  3. การเป็นผู้ประกอบการที่ดีที่สุด คือการเป็นผู้ที่สามารถระบุปัญหาและสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขมันได้
  4. สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นผู้ประกอบการก็คือ การโฟกัสไปที่การสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าเป็นหลัก
  5. การที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ก็คือ การที่ผู้ประกอบการคนดังกล่าว สามารถมองเห็นโอกาสที่ท้าทาย
  6. ความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการไม่เสี่ยงอะไรเลย
  7. ข้อได้เปรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเป็นผู้ประกอบการก็คือ การมีอิสระในการสร้างโชคชะตาของตัวคุณเอง
  8. ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่นั้น คือผู้ที่สามารถเรียนรู้จากความล้มเหลวและใช้มันเป็นบันไดในการปีนป่ายขึ้นไปสู่ความสำเร็จ
  9. คุณลักษณะที่สำคัญมากที่สุดสำหรับผู้ประกอบการก็คือ การมีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการฟื้นตัวจากความล้มเหลวและสามารถลุกขึ้นเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าได้
  10. ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ คือคนที่สามารถเปลี่ยนความหลงใหล ให้กลายเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้

Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Search Engine เบอร์หนึ่งของโลก

  1. ถ้าหากคุณยังไม่เคยได้ลองทำอะไรที่มันดูบ้า ๆ ดูบ้าง นั่นแสดงว่า คุณน่าจะกำลังทำอะไรผิดพลาดอยู่
  2. ผู้คนคิดว่าการโฟกัส หมายถึงการ say yes ในสิ่งต่าง ๆ ที่คุณต้องโฟกัส แต่นั่นมันไม่ใช่ความหมายของมันเลย เพราะการโฟกัสมันหมายถึงการที่คุณจะต้องปฏิเสธไอเดียดี ๆ นับร้อยอย่าง เพื่อทำไม่กี่อย่าง
  3. จงส่งมอบให้มากกว่าความคาดหวัง
  4. ถ้าคุณกำลังเปลี่ยนแปลงโลกอยู่ นั่นคือคุณกำลังทำในสิ่งที่สำคัญ คุณจะรู้สึกตื่นเต้นในทุก ๆ เช้าที่ได้ตื่นขึ้นมาเพื่อไปเปลี่ยนแปลงโลก
  5. คุณไม่จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานเป็นร้อยในบริษัทเพื่อพัฒนาไอเดียนั้น ๆ เสมอไป
  6. ตัวของคุณไม่เคยสูญเสียความฝัน แต่ในหลาย ๆ ครั้งมันลดสถานะไปเป็นงานอดิเรกแทน
  7. มันยากมาก ๆ ที่จะเกิดการล้มเหลวโดยที่ไม่ได้อะไรเลย หากคุณตั้งเป้าไว้ให้สูงมากพอ ความหมายก็คือ ถ้าเป้าคุณสูง ต่อให้ล้มเหลว ก็อาจจะไปได้ไกลกว่าการประสบความสำเร็จกับเป้าเล็ก ๆ ซะอีก
  8. ทุกสิ่งที่คุณจิตนาการเอาไว้นั้น สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ คุณแค่ต้องจินตนาการถึงมัน แล้วลงมือทำมันซะ
  9. คุณสามารถอยู่ในโหมดจริงจังได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดสูท
  10. การมองโลกในแง่ดีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ บางครั้งคุณก็อาจจะต้องแกล้งโง่บ้างในบางครั้งที่ทำการตั้งเป้าหมาย และให้คุณพยายามทำในสิ่งที่คนอื่น ๆ เพิกเฉย และไม่ค่อยมีใครทำมัน

Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Search Engine เบอร์หนึ่งของโลก

  1. เราต้องการให้ Google เป็นเสมือนสมองซีกที่สามของคุณ
  2. ส่วนตัวแล้ว ผมไม่มีความฝันว่าจะต้องทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในเชิงเศรษฐศาสตร์เลย ผมคิดว่าคุณควรทำด้วยความสนุกและไม่คาดหวังกับผลลัพธ์มากจนเกินไป
  3. ผมต้องการที่จะเห็นทุก ๆ คน ที่มีความฝัน สามารถบรรลุความฝันของพวกเขาได้ และนั่นคือสิ่งที่องค์กรนี้ทำอยู่
  4. การแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่นั้น แก้ไขได้ง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาขนาดเล็ก
  5. ผมรู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่นั้นมีความกังวลมากจนเกินไป ซึ่งผมไม่เคยกังวลเลย ซึ่งหลายคนอาจมองเห็นภาพภูเขาขนาดใหญ่ตั้งขวางทางอยู่ตรงหน้า แต่ผมกลับเห็นมันเป็นแค่เพียงเนินเขาเล็ก ๆ ลูกเดียวที่ต้องปีนข้ามมันไปก็เท่านั้นเอง
  6. ในสังคมของเรา ท่ามาตรฐานโดยทั่วไปก็คือ การที่ไปโรงเรียน เรียนจบแล้วก็ได้งานดี ๆ ทำ ขยันตั้งใจทำงาน แล้วก็เกษียณเพื่อที่จะได้ทำในสิ่งที่รัก คำถามก็คือ ทำไมไม่ทำในสิ่งที่รักตั้งแต่แรกเลยล่ะ?
  7. เห็นได้ชัดว่า ใคร ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จกันทั้งนั้น แต่ผมอยากให้ลองมองย้อนกลับไปที่เรื่องที่สำคัญก่อนอื่นเลยว่า อย่างแรกคุณจะต้องมีนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม มีความน่าเชื่อถือสูงและมีจริยธรรมที่สูงเสียก่อน แล้วในท้ายที่สุดก็ค่อยสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกใบนี้ได้
  8. วิธีการจัดอันดับผลการค้นหาของ Google ก็คือ เราจะทำการแปลงเว็บไซต์ทั้งเว็บให้เป็นสมการทางคณิตศาสตร์ขนาดมหึมา โดยมีตัวแปรหลายร้อยล้านตัวแปร และ Google ก็ทำการแก้ไขสมการดังกล่าว เพื่อนำไปประมวลผลในการแสดงผลการค้นหาเพื่อจัดอันดับเว็บไซต์ในหน้าแรกของ Google
  9. เราพยายามให้คำจำกัดความของคำว่าการเป็นคนดี มีจริยธรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือจะสรุปอย่างง่าย ๆ ด้วยคำเดียวก็ได้เช่นกัน นั่นก็คือ อย่าเป็นคนชั่ว แค่นั้นเอง
  10. คุณจะเห็นได้ว่า ในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านของมนุษย์เรานั้น สามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดและสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้มากขึ้น และผมก็หวังว่าจะเห็นแนวโน้มดังกล่าวดำเนินแบบนี้ต่อไป

Resources

Exit mobile version