100 ข้อคิด จาก หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง ookbee | Blue O’Clock Podcast EP. 60
พี่หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ookbee แอพขาย ebook และเจ้าของแพลตฟอร์มนิยายอย่าง ธัญวลัย จอยลดา fictionlog ตัวพ่อผู้บุกเบิกวงการสตาร์ทอัพเมืองไทย สู่การเป็นนักลงทุน 500 Tuk Tuks ที่ลงทุนบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยมีความฝันหนึ่งที่อยากผลักดันให้ประเทศไทยเรา มีสตาร์ทอัพที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาค South East Asia และระดับโลกได้ และนี่คือ 100 ข้อคิด 100 บทเรียน จาก พี่หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
- การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้เรามีโลกที่กว้างขึ้น เราจะเห็นได้ว่าในโลกนี้มีคนที่เก่งกว่าเราอีกมากมายที่เราสามารถพัฒนาทักษะให้ก้าวหน้าได้อีก และในขณะเดียวกันนั้นก็มีคนอีกหลายคนที่ห่วยกว่าเราแย่กว่าเรา เราก็ไม่ต้องน้อยใจหรือเสียใจไป
- พี่หมูเล่าว่า เขาจะรู้สึกไม่ค่อยดี ถ้าหากไม่ได้ลงมือทำ เพราะ เวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุด หากอยากทำอะไรให้ใช้เวลาในการเริ่มต้นลองลงมือทำในสิ่งที่เราอยากจะทำเลย
- พี่หมูเล่าว่า เขาเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง คุณพ่อเป็นนักบัญชี ส่วนคุณก็เป็นแม่บ้าน ซึ่งเขาได้สูญเสียคุณแม่ด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ยังเด็ก และใช้ชีวิตเติบโตมากับคุณพ่อสองคน ทำให้ชีวิตประจำวันของเขานั้น ก็จะคลุกคลีอยู่กับเพื่อน อยู่กับเกม อยู่กับคอมพิวเตอร์ ซึ่งครั้งแรกที่ได้มีโอกาสใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็อายุประมาณ 12 ปี ที่เริ่มเขียนโปรแกรม ที่เรียกว่าภาษา BASIC ที่เริ่มเขียนเกมง่าย ๆ ให้เพื่อนเล่นกัน และพออายุได้ประมาณ 16 ปี ก็เคยไปเป็นเด็กหลังร้านประกอบคอมพิวเตอร์และลงโปรแกรมที่ห้างพันทิป ที่ได้ค่าจ้างเครื่องละ 70 บาท และนี่คือครั้งแรกที่พี่หมูบอกว่า เขารู้สึกอยากที่จะเป็น Entrepreneur เป็นผู้ประกอบการ
- พี่หมูเล่าว่า เขาเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ โดยเมื่อตอนอายุ 19 ปี ก็เริ่มมีไอดอลในดวงใจเป็นนักธุรกิจชื่อดังระดับโลกอย่าง Bill Gates และ Steve Jobs ที่เมื่อได้อ่านเรื่องราวของพวกเขามีสามารถสร้างบริษัทแล้วมีผลิตภัณฑ์ที่มีคนเข้ามาใช้กันทั้งโลก แล้วรู้สึกว่ามันเจ๋งดี ก็เลยทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมา แล้วก็เปิดบริษัทรับจ้างเขียนโปรแกรมเมื่อตอนอายุ 22 ปี
- พี่หมูเล่าว่า ตอนที่เริ่มต้นบริษัทรับจ้างเขียนโค้ดเขียนโปรแกรมตัวคนเดียวนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถควบคุมเวลาในการส่งงานแก่ลูกค้าได้ทันตามเวลาที่กำหนด แต่พอเริ่มมีทีมงานเข้ามาเขียน แล้วตัวของพี่หมูเองนั้น ก็ไม่ได้มีสกิลอะไรเกี่ยวกับการบริหารคน บริหารเวลา จึงทำให้งานเริ่มส่งไม่ทันตามกำหนด และเมื่องานส่งไม่ทันตามกำหนด ก็ไม่สามารถเก็บเงินที่เหลือจากลูกค้าได้ และเมื่อไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้ารายแรกได้ ก็ต้องออกไปหาลูกค้ารายใหม่ เพื่อที่จะได้เงินค่ามัดจำมาหมุนต่อ ต้องออกไปขายงานมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ทบของเดิมวนเวียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่มันเริ่มทบกันไม่ทัน ขาดสภาพคล่องจนต้องเริ่มทยอยขายรถทิ้ง ขายคอนโดทิ้ง สุดท้ายก็ยังได้ไปขอยืมเงินจากคุณพ่อ จากญาติ ๆ เพื่อมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน จากเดิมที่คิดว่าตนเองนั้นสามารถทำได้ทุกอย่าง แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่ใช่แบบที่คิดเอาไว้เลย พี่หมูก็เริ่มคิดแล้วว่า เขาเลือกถูกทางหรือเปล่า และเขาก็ใช้เวลาในเส้นทางการเป็น SME อยู่ราว ๆ 10 ปี
- พี่หมูบอกว่า ข้อดีในการมาของโลกอินเตอร์เน็ตนั้น สามารถทำให้เราลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ในสเกลเล็ก ๆ ก่อนได้ เช่น สมมติว่าให้เราโพสต์บน facebook ว่า ถ้าเราอยากจะทำสินค้าหรือบริการแบบไหน แล้วก็ให้เราลองยิงโฆษณาดูด้วยจำนวนเงินน้อย ๆ ก่อน เช่นอาจจะลองแค่หลักร้อย แต่สามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นหมื่นเป็นแสนคน เพื่อทดลองดูว่า จะมีสนใจ มีคนเข้ามาคอมเม้นท์หรือไม่ หรือมีทัก inbox เข้ามาเพื่อติดต่อขอซื้อสินค้าหรือไม่ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถรู้ในเบื้องต้นได้ภายใน 1-2 วัน แล้วว่า เรื่องดังกล่าว สามารถต่อยอดไปเป็นธุรกิจต่อได้หรือไม่นั่นเอง
- การที่จะเป็น Startup ได้นั้น ธุรกิจดังกล่าวจะต้องมีความสามารถในการทำซ้ำได้โดยที่ทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ต้องใช้ทรัพยากรมาก และสามารถทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นธุรกิจ Startup ส่วนใหญ่จึงเป็นธุรกิจที่มักจะเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี ยกตัวอย่างจากบริษัท ookbee ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ ebook นั้น เนื่องจากมันอยู่ในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะมีคนอ่านร้อยคน พันคน หมื่นคน แสนคน ล้านคน มันก็จะยังคงใช้ทรัพยากรเท่าเดิม ๆ ใช้โปรแกรมเมอร์เท่า ๆ เดิม ขนาดของธุรกิจก็มีไซต์เท่า ๆ เดิม ไม่แตกต่างกันมากนัก
- พี่หมูเล่าว่า เมื่อประมาณปี 2009 ตอนที่ iPhone พึ่งออกมาไม่นาน เป็นสมาร์ทโฟนแบบจอสี เล่นอะไรต่าง ๆ บนมือถือได้ เขาก็เลยลองเขียนแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Thai Beauty Clock ที่เป็นแอพบอกเวลาที่มาพร้อมกับรูปสาว ๆ น่ารัก ๆ แล้วลองอัพโหลดขึ้นไปขายบน App Store ในราคา $1 หรือประมาณ 30 กว่าบาท ปรากฏว่าเพียงแค่ภายในวันแรกมันสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณสองหมื่นบาทเลยทีเดียว จึงทำให้เขาเรียนรู้ว่า มันมีคนที่ยอมจ่ายเงินเพื่อโหลดแอพอยู่ ซึ่งไม่เหมือนแต่ก่อนที่ทำธุรกิจจะต้องออกไปขายงานเอง เตรียมพรีเซ็นต์งาน ต่อรองราคา ออกเอกสารเก็บเงินลูกค้า แถมยังมี cycle หรือรอบจ่ายบิลที่จะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะได้เงินมา ในขณะที่ธุรกิจแอพพลิเคชั่นนั้น สามารถเข้าถึงลูกค้าที่มีสมาร์ทโฟนที่ผูกกับบัตรเครดิตพร้อมที่จะจ่ายเงินอยู่ในกระเป๋าของลูกค้าอยู่แล้ว และจากจุดนั้นเขาก็คิดว่า ธุรกิจแนวทางนี้น่าจะสามารถขยายไปได้อีกไกล
- ที่มาของชื่อ ookbee นั้นพี่หมูบอกว่า มาจากความเกรียนล้วน ๆ เลยก็คือ มันคือคำผวนจากคำว่า ebook หรืออย่างธุรกิจในอุตสาหกรรมเพลง พี่หมูก็มีสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Fungai ถ้าเป็นภาษาไทยก็ตรงตัวเลยคือ ฟังเพลงด้วยใจ แต่มันก็ไปพ้องเสียงกับภาษาอังกฤษคำว่า Fungi ที่แปลว่า ‘เห็ดรา’ ก็เลยเป็นที่มาของโลโก้รูปเห็ด แล้วเวลาตั้งชื่อตอนจัดคอนเสิร์ตเล่นสด ก็ตั้งชื่อว่า ‘เห็ดสด’ ก็คือ Fingai ไปเล่นดนตรีสด ๆ ที่งานคอนเสิร์ต หรืออย่างมีโครงการที่ Fungai เข้าไปสอนตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ เรียนรู้เรื่องกระบวนการขายเพลงดิจิตอลยังไง สร้างเพลงอัดเสียงในห้องนอนทำยังไง จะเข้าไปอัดเสียงในสตูดิโอทำยังไง ฯลฯ นั้นก็ใช้ชื่อโครงการว่า ‘เห็ด Young’ คำว่า Young ที่แปลว่าคนหนุ่มคนสาว ก็เลยพ้องเสียงกับคำไทยว่า ‘เฮ้ดหยัง’ นี่คือความเกรียนในการตั้งชื่อสไตล์พี่หมูนั่นเอง
- ภาพใหญ่ของอินเตอร์เน็ตในความหมายของพี่หมูมองว่ามันคือสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นไปแล้วก็มีเพื่อน ๆ ของเราเข้ามาดู ทุกคนเป็นคนช่วยกันสร้าง content ช่วยกันสร้างเนื้อหาแล้วใส่มันลงไปบนโลกอินเตอร์เน็ต เช่น เราโพสต์รูปบน Facebook Instagram ว่าเรากำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน กินอะไร ในขณะที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้น ไม่ได้สร้างเนื้อหาเอง แต่ให้ผู้ใช้งานหรือ user เข้ามาสร้างเนื้อหา
- ในโลกยุคดิจิตอล เราสามารถตั้งราคาสินค้าขายที่ถูกแบบไม่แพง แต่สามารถขายได้ในปริมาณเยอะ ๆ ได้ เพราะ เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่ต้องออกไปหาลูกค้าเลยก็ยังได้
- พี่หมูเล่าว่า แต่เดิมทีคนที่ผลิต content ที่เป็นตัวหนังสือนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสำนักพิมพ์ ที่จัดประเภทว่าเป็น PGC: Professional Gerate Content ที่เป็นมือโปร ในการผลิตผลงานออกมา ซึ่งรวม ๆ แล้วอย่างมากก็มีแค่หลักพันเจ้า แต่ในปัจจุบัน content กว่าร้อยละ 90 จะมาจาก UGC: User Generated Content คือผู้ใช้งานก็สามารถกลายเป็นผู้ผลิตคอนเท้นต์เองได้ ที่กลายเป็นว่ามีนักเรียนจำนวนหลายแสนคนที่สร้างเนื้อหาออกมา และกลับกลายเป็นว่า หลายต่อหลายเรื่องที่ฮิต ๆ กันบนโลกออนไลน์ก็มีที่มาจากผู้ใช้งาน ที่ไม่เคยเป็นนักเขียนมืออาชีพมาก่อน ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนที่แม้จะเปิดให้อ่านการ์ตูนฟรี นิยายฟรี แต่ก็จะได้รับส่วนแบ่งค่าตอบแทนจากค่าโฆษณาที่มาลงกับแพลตฟอร์มด้วย
- ด้วยความที่ตลาด ebook ในภูมิภาค South East Asia นั้น ไม่ได้เติบโตและใหญ่เท่าในฝั่งของอเมริกาหรือยุโรปนั้น ทำให้ ookbee ที่เป็นบริษัทที่ไม่ใหญ่นัก กลับกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดใน South East Asia ดังนั้น ในเมื่อเส้นทางเดิมมันไม่สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้หรือได้เร็วกว่านี้ ก็จำเป็นที่จะต้อง Pivot หรือทำการเปลี่ยนแปลงหรือหาช่องทางการทำให้ธุรกิจเติบโตในรูปแบบใหม่ ๆ ที่แตกต่างออกไปเดิม
- เมื่อคิดแล้วว่า ookbee จะต่อยอดในธุรกิจ content พี่หมูก็เริ่มคิดว่า จะเริ่มจาก creator หรือศิลปินที่คอยผลิตเนื้อหานั้นในกลุ่มไหนดี ซึ่งถ้าเป็นรูปถ่าย Instagram ก็ทำไปแล้ว ถ้าเป็นโพสต์โซเชียลทาง facebook ก็ทำไปแล้ว ดังนั้นก็เลยไปเจาะกลุ่มของ นักวาดการ์ตูน, นักเขียนนิยาย, นักแต่งเพลง, นักถ่ายวีดีโอ หรือแม้กระทั่งนักดูดวง
- พี่หมูได้เล่าการเปลี่ยนแปลงในวงการนักวาดการ์ตูนในประเทศไทยหลังจากที่ได้ลองทำ ookbee comics ที่เปิดให้เด็กไทยมาวาดการ์ตูนลงบนแพลตฟอร์ม ที่ตัวท็อป ๆ นั้น มียอดอ่านการ์ตูนมากกว่า 10 ล้านครั้ง ซึ่งมันแตกต่างจากยุคหนังสือการ์ตูนที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ที่หากขายได้ 50,000 เล่ม นี่ก็แทบจะปิดบริษัทเลี้ยงฉลองกันแล้ว แต่ในโลกออนไลน์กลับมีคนเข้ามาอ่านหลายสิบล้านคน และจากเดิมที่เรามักจะรออ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ที่กว่าจะออกแต่ละตอนช้ามาก แฟนคลับบางคน เอาต้นฉบับจากญี่ปุ่นมาแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกให้ได้อ่านกันแล้วตั้งแต่วันแรกที่ภาษาญี่ปุ่นวางแผงหนังสือ แต่ในปัจจุบัน การ์ตูนที่วาดโดยคนไทย โดยเด็กไทยนั้น กลับมีแฟนคลับเอาไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้ว เช่น ไปแปลเป็นภาษาเกาหลีบ้าง ภาษาสเปนบ้าง ฯลฯ ซึ่งถ้าหากไม่ลองทำดูเราก็จะไม่รู้เลยในเรื่องเหล่านี้
- พี่หมูได้เล่ากรณีศึกษาสตาร์ทอัพที่อยู่ในเครือ ookbee โดยต่อยอดในวงการเพลง วงการนักดนตรี ที่ชื่อว่า Fungai ซึ่งพี่หมูใช้หลักคิดบนพื้นฐานของคนที่อยากเป็นนักดนตรีทั่วประเทศนั้น น่าจะมีเยอะมาก แต่มีจำนวนศิลปินน้อยมากที่ได้เข้าวงการ ได้เซ็นต์สัญญากับค่ายเพลง ส่วนนักดนตรีที่ไม่มีสังกัด ไม่มีค่ายเพลง ไม่ได้ทำเพลง ออกอัลบั้มนั้น มีจำนวนเยอะกว่ามาก ก็เลยลองเปิดแพลตฟอร์มที่ให้นักดนตรีทั่วประเทศเข้ามาแสดงผลงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นวงอินดี้ แล้วก็ต่อยอดการหารายได้ให้กับศิลปินที่เป็นผู้สร้างคอนเท้นต์เหล่านี้ ด้วยการจัดแสดงคอนเสิร์ตบ้าง รับงานแสดงตามสถานการศึกษาต่าง ๆ บ้าง แล้วก็ช่วยออแกไนซ์งาน ช่วยติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์เพลงในกรณีที่เอาเพลงมาร้อง cover ช่วยเรื่องการทำการตลาด แล้วก็แบ่งส่วนแบ่งกับศิลปิน โดยที่ถ้าหากเพลงดังกล่าวทางศิลปินแต่งเอง ลิขสิทธิ์นั้นก็จะยังคงเป็นของศิลปินอยู่ ทางแพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนค่ายเพลงนั้น ไม่ได้ถือลิขสิทธิ์เหล่านั้นเอาไว้ เพราะพี่หมูบอกว่า เราเคงเคยได้ยินข่าวดราม่าที่ว่า มีศิลปินที่เอาเพลงของตัวเองไปร้องงานแต่งงานแล้วถูกฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งพี่หมูไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นกับ Fungai
- ในชีวิตของคนเรานั้น ถ้าหากเราลองมองย้อนกลับไปในอดีต สิ่งที่เรามักจะเสียใจมากที่สุด คือเรื่องที่เราอยากทำ แต่ไม่ได้ทำ
- ต่อให้เราล้มเหลว เราก็ยังได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการล้มเหลวเหล่านั้น เพื่อนำไปใช้ในครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตได้
- อย่าได้เข้าใจไปเองว่า การที่เราเรียนเก่งในห้องเรียน แล้วเราจะเก่งนอกห้องเรียน เพราะในทุก ๆ งาน ทุก ๆ ตำแหน่ง มีคนที่เก่งกว่าเราหมด อย่างเช่น ฝ่ายบัญชีก็ทำบัญชีเก่งกว่าเรา หรืออย่างพี่แมสเซนเจอร์ขับรถเพื่อส่งเช็ค วางบิล ฝากเงินธนาคาร เขาก็สามารถทำได้เร็ว ทำได้ดีกว่าเรา ถ้าเราสามารถปลดล็อคตัวเองแล้วมอบหมายงานให้คนที่เก่งกว่าเข้ามาทำงานนั้น ๆ แทนเราได้ ก็จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตและขยายมากขึ้นกว่าเดิมได้อีกเยอะเลย
- พี่หมูเล่าว่า เมื่อตอนที่เริ่มต้นทำแอพอ่าน ebook อย่าง ookbee ในช่วงแรกสุดนั้น เขามองเห็นว่า iPhone มาแล้ว และ iPad กำลังจะตามมา เลยตัดสินใจไปซื้อ iPad ที่ต่างประเทศ แล้วลองเอานิตยสารมาสแกนแล้วเปิดอ่านผ่าน iPad จากนั้น ก็นำไปคุยกับเจ้าของนิตยสารแต่ละเจ้าว่า เทรนด์การอ่าน E-Magazine กำลังจะมา โดยทาง ookbee จะทำแอพพลิเคชั่นให้ฟรี โดยขอแลกแค่เพียงให้ทางนิตยสารลงโฆษณา 1 หน้า ว่า มีเวอร์ชั่น E-Magazine แล้ว ไปดาวน์โหลดแอพได้ โดยทำแอพให้กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ หลายร้อยแอพ ซึ่งสิ่งที่ทาง ookbee ต้องการจริง ๆ ณ ตอนนั้นก็คือการลงโฆษณาในพื้นที่ที่มีลูกค้าอยู่นั่นก็คือคนอ่านนิตยสารต่าง ๆ ไม่ใช่ไปโฆษณาป้ายบิลบอร์ดหรือตามรถไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งการดีลลักษณะนี้ถ้าคิดเป็นค่าโฆษณาที่ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาทแน่ ๆ ซึ่งหลังจากใช้วิธีการนี้ ทำให้ ookbee มีลูกค้าเกือบ 1 ล้านคน ภายในระยะเวลาประมาณ 13 เดือนแรกเท่านั้น เพราะไม่ต้องเสียค่าโฆษณาเลย แถมยังมีสำนักพิมพ์ต่าง ๆ โฆษณาให้แบบฟรี ๆ อีกด้วย และในช่วงนี้นี่เองที่โปรเจค ookbee นั้น สามารถสร้างยอดขายได้เป็นสิบล้าน จึงเริ่มเปิดบริษัทใหม่แยกออกมาจากธุรกิจรับเขียนโปรแกรมเดิมที่ชื่อ IT WORKS เปิดแยกใหม่เป็นบริษัท ookbee โดยเฉพาะ
- พี่หมูบอกว่า การทำ marketing ที่ดี คือจะต้องได้ลูกค้าโดยที่ไม่จ่ายตังค์ เพราะการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ลูกค้ามานั้น ใคร ๆ ก็จ่ายได้ และเนื่องจากหน้าฟีดของลูกค้านั้นมีจำกัด ดังนั้นการลงโฆษณาของแต่ละเจ้าก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครจ่ายเยอะกว่า ได้แสดงผลโฆษณาดีกว่า และก็มีคนที่พร้อมจะจ่ายเยอะกว่าเราอยู่ตลอดเวลา
- พี่หมูบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้นั้น คือ mission ของบริษัท ซึ่งเราต้องย้อนกลับไปดูในวันแรกที่ก่อตั้งบริษัทนั้น เราก่อตั้งมันขึ้นมาเพราะอะไร ตัวอย่างจาก ookbee นั้น พี่หมูบอกว่า mission ของบริษัทก็คือ ต้องการช่วยให้ศิลปินนับล้านคน สามารถมีรายได้ขึ้นมาจากการสร้างผลงานของพวกเขานั้น ไม่ว่าจะเป็น ผลงานผ่านงานเขียน วาดภาพการ์ตูน เขียนนิยาย แต่งเพลง ฯลฯ
- การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ หลายคนอาจมองว่าจะต้องมองภาพในระยะยาว 4-5 ปีให้ออกว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พี่หมูบอกว่า พอเอาเข้าจริง ลองมองย้อนกลับไปดูเมื่อ 4-5 ปี ที่แล้ว ตัวของเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า บริษัทจะมาอยู่ ณ จุด ๆ นี้ แต่ที่มันเดินมาได้มันคือการก้าวทีละก้าว เช่นเมื่อเรารู้ว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าเราอยากจะทำอะไร ถ้าทำแล้วมันดีเราก็ทำเพิ่ม แต่ถ้ามันไม่ดีก็ถอยกลับออกมา แล้วทดลองทำอย่างอื่น เปรียบเสมือนการยิงปืนรัว ๆ ถ้ายิงไม่โดน ก็ให้ยิงต่อไปเรื่อย ๆ ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะโดน
- การเปิดบริษัท startup หลายคนอาจจะมองว่ามันดูเท่ห์ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ในช่วงพึ่งเริ่มก่อตั้งบริษัท คนที่เป็น founder หรือเป็นผู้ก่อตั้งนั้น จะทำงานหนักมาก เหนื่อยมาก เพราะงานส่วนใหญ่จะต้องทำทั้งหมดเอง และควรจะต้องรู้งานทุกอย่างภายในบริษัท เช่น อาจจะต้องรู้เรื่องกฎหมายอยู่บ้าง การขายก็ต้องออกไปขายเอง เรื่องเทคโนโลยีก็ต้องพอได้ งานพรีเซ็นต์โปรเจคต่อหน้านักลงทุนก็ต้องทำเอง ซึ่งกลายเป็นว่า คนที่เป็นผู้ก่อตั้งนั้นจะต้องรู้รอบด้าน ซึ่งในช่วงแรกเราอาจจะรู้ถูกรู้ผิดไปบ้างก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่ตัดสินใจทำอะไรเลย
- ไม่มียุคไหนที่เราสามารถทำธุรกิจแล้วสามารถเข้าไปทัช เข้าถึงผู้คน เข้าถึงลูกค้า ทั่วประเทศหรือแม้กระทั่งทั่วโลก ได้ไปมากกว่าการทำสตาร์ทอัพในยุคนี้อีกแล้ว ในยุคของโลกอินเตอร์เน็ต
- การทำธุรกิจสตาร์ทอัพจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ได้ แต่ความเสี่ยงที่ว่านั้นจะต้องไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะเวลาผิดพลาด ล้มเหลว ความเสียหายจะได้ไม่ทำให้เราถึงกับเจ๊ง จะทำให้เราสามารถรันธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
- พี่หมูบอกว่า เราจะต้องเสียสละ และไว้ใจ เชื่อใจ มั่นใจ ในทีมงานที่ตัวของพวกเขานั้น สามารถทำงานแทนเราได้ ซึ่งมันจะเกิดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอ ก็ให้เรามองว่า เป็นค่าเรียนรู้สำหรับทีมงานคนดังกล่าว เพื่อให้ตัวของพวกเขานั้น เติบโตมากยิ่งขึ้น และในฝั่งของคนที่เป็นลูกน้องเขาก็จะรู้สึกว่า หัวหน้าไว้เนื้อเชื่อใจ จะรู้สึกมีความรับผิดชอบ เป็นเจ้าของโปรเจคต์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้นด้วย
- พี่หมูบอกว่า การนำกำไรของบริษัทกลับมาลงทุนในตัวพนักงาน ทีมงานนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยพี่หมูมั่นใจว่า ถ้าต่อให้เกิดกรณีแย่สุด คือเกิดเหตุการณ์บางอย่างแล้วจู่ ๆ บริษัทก็เจ๊งไปเลย ตัวของเขาขอแค่มีทีมงานที่ทำมาด้วยกันจนถึงทุกวันนี้ สนิท ๆ กันสัก 5 คน ขอเวลาแค่ 5 ปี เราจะสามารถทำทุกอย่างกลับมาได้อย่างแน่นอน ซึ่งการมีทีมงานที่ยอดเยี่ยมนั้น จะทำให้เรามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น กล้าที่จะเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
- นิยามของคำว่า Leadership หรือภาวะความเป็นผู้นำ นั้น พี่หมูบอกว่าผู้นำที่ดีจะต้องมีคนเก่ง ๆ อยากมาเดินตาม อยากมาทำงานให้ ยกตัวอย่างจาก Elon Musk ที่แม้ตัวของเขานั้นจะไม่ได้เป็นคนที่สร้างจรวดเอง ไม่ได้สร้างรถยนต์ไฟฟ้าเอง แต่ตัวของ Elon Musk นั้นจะต้องทำยังไงก็ได้ที่ทำให้คนที่ทำเรื่องนี้ได้มาทำงานกับเขา ที่มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่เก่ง ๆ พวกเขาสามารถเลือกงานได้ ต้องทำให้พวกเขาอยากเข้ามาทำ
- อยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ คุณจะต้องเป็นคนที่มี Growth Mindset เปิดรับและพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และจะต้องมองเรื่องที่ท้าทายเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่สามารถก้าวข้ามมันไปได้ ไม่ใช่ว่าเรื่องไหนเราไม่เก่ง ก็ไม่ทำซะอย่างงั้น และนอกจากนั้นจะต้องเป็นคนที่ถ่อมตัว ที่จะต้องเข้าใจว่าตัวเราไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด โลกเปลี่ยนไปเร็ว ความรู้ในวันนี้ อาจจะใช้กับวันพรุ่งนี้ไม่ได้แล้ว
- ความยั่งยืนของการทำธุรกิจคือทีมงานที่แข็งแกร่ง โดยพี่หมูจะไม่ยึดติดกับตัวองค์กร เพราะทีมที่มีอยู่นั้น ล้วนแล้วแต่ผ่านการสร้างมาหลายต่อหลายบริษัท ดังนั้น ถ้ามีทีมงานที่แข็งแกร่ง จะสร้างบริษัทใหม่ให้ประสบความสำเร็จกี่บริษัทก็สามารถทำได้
- พี่หมูเล่าว่าในช่วงที่เกิดวิกฤต covid นั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักจะกักตัวกันอยู่แต่ที่บ้าน กลายเป็นว่าในช่วงนั้นบริษัทในเครือ ookbee กลับเป็นช่วงที่มีรายได้สูงที่สุด เพราะเวลาที่คนอยู่ที่บ้านมากยิ่งขึ้น ก็จะใช้เวลากับคอนเท้นต์ในโลกดิจิตอลมากยิ่งขึ้น ทำให้มีผู้ใช้งานเข้ามาใช้บริการบนแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น ทำให้มีรายได้ที่เติบโตมากยิ่งขึ้นด้วยนั่นเอง
- พี่หมูเล่าว่า ผู้ใช้งานในยุคปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนวิธีการเสพย์คอนเท้นต์ จากเดิมที่เมื่อก่อนผู้คนมักจะพิมพ์คำค้นหาบน Google แล้วก็เข้าไปอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ ที่ส่วนใหญ่มักเป็นการสื่อสารผ่านตัวอักษรผ่านการอ่านการเขียน แต่ในปัจจุบันหลายคนเปลี่ยนไปเป็นค้นหาบน Youtube เพื่อดูวีดีโอ หรือย่างค้นหารูปใน IG เพื่อหาข้อมูลร้านอาหาร หรือย่างใน Tiktok ผู้คนก็เข้าไปอัพเดทเทรนด์ว่า มีเรื่องอะไรที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ ปัจจุบันอยู่บ้าง ซึ่งพฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไปเสพย์คอนเท้นต์ที่มีทั้งภาพและเสียง ซึ่งพี่หมูมองว่า มันคือการเล่าเรื่อง ที่เราจะต้องปรับตัวจากที่เคยมีให้เขียนให้อ่านเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะต้องเพิ่มวิธีการเล่าเรื่องใหม่ ๆ อย่างเช่น การไลฟ์สตรีมมิ่งคุยกันแบบสด ๆ หรือแม้กระทั่งอาจจะลองสร้างตัวละครเพื่อใส่ในโลก metaverse เพื่อพูดคุยกัน เป็นต้น
- พี่หมูเล่าว่า กลุ่มผู้ใช้งานหลักในแพลตฟอร์มในเครือของ ookbee นั้น มักจะเป็นคนในกลุ่ม Gen Z ที่มีตั้งแต่ช่วงนักเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย จนถึงวัยเริ่มต้นทำงาน ที่มีกำลังซื้ออยู่ในหลักร้อย ที่อาจจะยังไม่มีกำลังซื้อมากเท่ากับกลุ่มของผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่อาจจะมีกำลังซื้อเป็นหลักพันต่อเดือน ดังนั้นเรื่องของราคาของผลิตภัณฑ์ก็จะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มของลูกค้า เช่น จากเดิมที่ขาย ebook เล่มละ 200-300 บาท ก็มีการขายนิยาย เป็นตอน ๆ อาจจะเก็บเงินแค่ตอนละ 3 บาท 5 บาท เป็นต้น
- พี่หมูบอกว่า จากการทดลองทำไลฟ์สตรีมมิ่งก็ทำให้ได้เรียนรู้กับวิธีการสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ ๆ จากการที่มีผู้ชม หรือแฟนคลับ ที่เข้ามาดู แล้วชอบใจ ก็ซื้อ gift หรือของขวัญ ให้แก่ผู้ผลิตเนื้อหา ซึ่งไม่ได้เป็นการขายแบบตรงไปตรงมาเมื่ออย่างแต่ก่อน แต่เป็นการซื้อให้เพราะชอบพอกันและอยากสนับสนุนผู้ผลิตคอนเท้นต์
- โมเดลการสร้างรายได้ของคนผลิตคอนเท้นต์ บนแพลตฟอร์ม สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ขายคอนเท้นต์แบบตรง ๆ ไปเลย หรือจะเปิดให้อ่านหรือชมคอนเท้นต์แบบฟรี ๆ แต่มีโฆษณาคั่นก็จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา หรือสามารถสมัครายเดือนแบบ VIP ไม่มีโฆษณาคั่น ผู้ผลิตเนื้อหาก็จะได้ส่วนแบ่งที่คิดจากปริมาณยอดวิว หรือจะเป็นรายได้จากการ donate การบริจาคจากผู้อ่าน หรือเป็นการซื้อของขวัญ อยากเปย์ให้กับเจ้าของเนื้อหานั้น ๆ หรืออย่างเวลาที่มีสปอนเซอร์เข้ามา ก็สามารถทำ tie-in สินค้า เข้าไปในเนื้อหา เพื่อสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่งด้วย เป็นต้น
- ในแอพ จอยลดา ที่เป็นนิยายแชทนั้น พี่หมูเล่าว่า เขาได้เล็งเห็นการเติบโตในกลุ่มของคนเขียนนิยาย เห็น gap เห็นช่องว่างของตลาดที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ต่อยอดจากแอพ ธัญวลัย และ fictionlog ที่มักเขียนเป็นนิยายยาว ๆ เขียนเป็นหน้า ๆ ซึ่งทำมา 3-4 ปี แต่ก็มีคนเข้าเขียนนิยายไม่ถึงแสนคน เพราะมันเขียนยาก ต้องใช้เวลาเขียนยาวแล้วการที่จะให้เขียนแบบนั้นทุก ๆ วัน แล้วให้คนเข้ามาอ่านหลายหน้าทุก ๆ วันนั้น ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ซึ่งพี่หมูบอกว่า การที่จะทำให้ community นั้น ๆ เติบโตนั้น จะต้องมีคนเข้ามาเขียนเยอะ ๆ ประกอบกับเล็งเห็นว่าคนรุ่นใหม่ มักจะแชทกันเป็นเรื่องปกติ แชทกันบ่อยอยู่แล้ว ก็เลยลองทำนิยายแชทขึ้นมา จนมีฐานผู้เขียนเข้ามาผลิตเนื้อหาหลายแสนคน และมีผู้อ่านหลายล้านคนต่อเดือนเข้ามาใช้บริการ
- พี่หมูแนะนำว่า เวลาที่เราไปเปิดตลาดต่างประเทศ สร้างแอพให้คนต่างประเทศเข้ามาใช้งานนั้น ถ้าในช่วงที่เปิดตลาดใหม่ ๆ ที่มีผู้ใช้งานไม่ถึงแสนคน ก็มักจะให้เข้ามาใช้งานบนแพลตฟอร์มได้ฟรีไปก่อน เพราะการรีบเอาโฆษณาลงไปมันจะเป็นการรบกวน user หรือผู้ใช้งานเปล่า ๆ หรือถ้าเอาโฆษณาลงจริง ๆ ก็ได้เงินไม่เท่าไหร่ ดังนั้น รอให้ฐานผู้ใช้งานเติบโตในระดับหนึ่งก่อน ค่อยคิดเรื่องของวิธีการสร้างรายได้ในตลาดใหม่นั้น ๆ ในภายหลัง ในระหว่างนั้นก็ให้เน้นการสร้างรายได้ที่ตลาดหลักไปก่อน
- การที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา disrupt หรือเข้ามาปฏิวัติในอุตสาหกรรมนั้น มันขึ้นอยู่กับตัวเราว่า เราจะมองมันว่าเป็นภัย เป็นความเสี่ยง หรือมองว่ามันเป็นโอกาส
- ในฐานะที่พี่หมูเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนเข้ามาสร้างคอนเท้นต์ได้นั้น ระหว่างเทคโนโลยีกับคุณภาพของคอนเท้นต์ อันไหนสำคัญกว่ากัน โดยพี่หมูบอกว่า ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มนั้น ก็จะต้องมีเทคโนโลยีที่ดีซะก่อน แต่สุดท้ายแต่ละแอพก็จะมี feature ที่เหมือน ๆ กัน อย่างเช่นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix, HBO, Disney+ แต่ในท้ายที่สุดต้องมาวัดกันที่คอนเท้นต์เพราะมันเป็นตัวตัดสินว่าคนจะเลือกใช้แพลตฟอร์มเจ้าไหน เช่น อีกเจ้ามีจำนวนหนังให้ดูเยอะกว่า หรือบางเจ้ามีหนังที่หาดูที่อื่นไม่ได้มีที่นี่ที่เดียว
- สำหรับมือใหม่อยากเริ่มต้นทำ content นั้น พี่หมูบอกว่า เราควรเริ่มต้นจากเรื่องที่เราชอบก่อน เพราะต่อให้เรื่องที่เราชอบมันไม่ได้ success อะไร แต่เราก็ไม่ต้องไปฝืนทำมัน เพราะอย่างน้อยเราก็ยังคงได้ทำในสิ่งที่เราชอบ แต่ถ้าเราโชคดีว่าเรื่องที่เราชอบนั้น ดันไปตรงกับความต้องการส่วนใหญ่ของตลาดก็ดีไป แต่ตลาดในปัจจุบันนั้นมันใหญ่มากพอ พอที่จะให้มีพื้นที่ของ Niche Market หรือตลาดเฉพาะทางที่มีขนาดเล็กนั้น สมัยนี้แทบจะทุกเรื่องก็มีคนให้ความสนใจที่หลากหลายอยู่มากพอสมควร
- เงินลงทุน เป็นส่วนสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างรวดเร็วสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยพี่หมูบอกว่า อย่างบริษัท ookbee ของพี่หมูเอง ก็ได้เคยได้รับเงินทุนในช่วงเริ่มต้นกิจการที่มีนักลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศเช่นกัน จึงทำให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ดังนั้น พี่หมูจึงได้เปิดกองทุนที่ชื่อว่า 500 Tuk Tuks ที่เป็นกองทุนที่บริหารเงินจากนักลงทุน เพื่อไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพกว่าร้อยละ 80 นั้น ก็มักจะได้รับเงินทุนในช่วงเริ่มต้นกิจการจากกองทุน 500 Tuk Tuks นี้ เพื่อเป็นการผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
- พี่หมูเล่าว่า ที่มาของบริษัท 500 Tuk Tuks นั้น ก็มาจากกองทุนต่างประเทศที่ชื่อว่า 500 Startups โดยมีผู้ก่อตั้งที่ชื่อว่า Dave McClure ซึ่งเป็นหนึ่งในแก๊งค์ Paypal Mafia ที่เป็นสตาร์ทอัพขนาดใหญ่กลุ่มแรกของโลกที่สามารถขายกิจการและได้เงินสดกลับคืนมาอย่างมหาศาล ที่ ณ ตอนนั้นได้ขายกิจการ Paypal ที่เป็นแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนั้นให้กับบริษัท Ebay ด้วยมูลค่ากว่า $1,500 ล้านดอลล่าร์ฯ ซึ่งที่มาก่อนจะเป็น Paypal นั้น ก็มาจากบริษัท X.com ที่ Elon Musk เป็นเจ้าของอยู่ แล้วมารวมกิจการเข้ากับบริษัท Confinity ที่มี Peter Thiel เป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า แต่ละคนในแก๊งค์ Paypal Mafia นั้น แต่ละคนก็ต่อยอดในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพอีกเยอะแยะมากมาย อย่างเช่น Elon Musk ก็ไปทำ Tesla รถยนต์ไฟฟ้า และต่อยอดไปธุรกิจยานอวกาศอย่าง SpaceX หรืออย่าง Peter Thiel ก็เป็นนักลงทุนรายแรก ๆ ที่ให้เงินทุนกับ Facebook และเช่นกันทาง Dave McClure ก็มาก่อตั้ง Venture Capital อย่าง 500 Startups เพื่อนำเงินไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ๆ ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งพี่หมูก็เป็น Partners ในเมืองไทยที่เปิดกองทุน 500 Tuk Tuks ที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพในไทยด้วยเช่นกัน
- วิธีการคัดเลือกบริษัทสตาร์ทอัพที่จะเข้าไปลงทุนนั้น พี่หมูบอกว่า หลัก ๆ แล้วจะดูจาก founder หรือตัวของผู้ก่อตั้งเป็นหลัก เพราะแน่นอนว่า แม้ว่า founder จะมีเรื่องราว มีแผนการ มานำเสนอ แต่ผลงานก็มักจะยังมีไม่มาก หรือยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้น ก็จะทำการประเมินว่า ธุรกิจดังกล่าวนั้นมันมีตลาดขนาดที่ใหญ่มากพอหรือไม่ และตลาดขนาดใหญ่นั้น ทาง founder สามารถรับมือได้หรือไม่ เป็นต้น
- กฏเหล็กของการลงทุนของกองทุน 500 Tuk Tuks พี่หมูบอกว่า จะต้องจำกัดความเสี่ยงจำนวนเงินในการไปลงทุนในแต่ละบริษัท เพราะในตอนแรกที่เราอาจมองว่าเป็นบริษัทที่ดี แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นคนขี้โกงหรือเป็นพวกแชร์ลูกโซ่ เงินสูญหมด ก็เลยจะต้องขีดเส้นใต้จำกัดวงเงินเอาไว้เลยว่า จะลงทุนในแต่ละบริษัทไม่เกิน 3-5 ล้านบาท ซึ่งต่อให้เป็นบริษัทที่ดียังไงก็ต้องตัดใจไม่ลงเงินเยอะกว่านี้เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการลงทุน
- สาเหตุที่ประเทศไทยเริ่มมีบริษัทสตาร์ทอัพก่อตั้งขึ้นมาอย่าง ookbee นั้น ก็เป็นเพราะการเข้ามาของสมาร์ทโฟน ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น คนไทยสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ยังไม่มีสมาร์ทโฟน การเขียนโปรแกรมส่วนใหญ่ในยุคนั้น ก็จะเป็นการเขียนโปรแกรมมาเพื่อขายให้กับองค์กรซะเป็นส่วนใหญ่ แต่พอสมาร์ทโฟนเข้ามาจึงเริ่มมีการเขียนโปรแกรมขายให้กับบุคคลทั่วไปมากยิ่งขึ้น
- สาเหตุหนึ่งที่บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทย จะเติบโตเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์น หรือระดับ $1,000 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือกว่า 30,000 ล้านบาทได้ช้ากว่าบางประเทศ อย่างเช่นเมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน ก็จะมีขนาดของเศรษฐกิจประเทศโดยรวมที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยที่มีประชากรอยู่ที่ราว ๆ 70 ซึ่งมีจำนวนประชากรน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า
- บริษัทสตาร์ทอัพจะเติบโตได้ช้าหรือเร็วนั้น กฎหมายของแต่ละประเทศมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก และก็เป็นเรื่องที่สตาร์ทอัพทำเองไม่ได้ ต้องอาศัยการความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลด้วย โดยพี่หมูยกตัวอย่างว่า ชอบมีบริษัทสตาร์ทอัพหลายเจ้าไปเปิดบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เช่นมีการจัดเก็บภาษีที่น้อยกว่า ทำให้ในช่วงแรกของการเริ่มต้นบริษัทนั้น สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
- สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพนั้น พี่หมูแนะนำว่า ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัทของตัวเองนั้น ให้เราลองไปสมัครทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพกับเจ้าอื่น ๆ ก่อนเพื่อหาประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับบริษัทสตาร์ทอัพที่พึ่งเริ่มต้นใหม่ ๆ เราก็จะได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับเงินทุนที่ได้รับมาเป็นก้อนจากนักลงทุน ซึ่งมันไม่ใช่เงินของเรา ดังนั้นเราจึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการเงินเลยเพราะมันเป็นเงินของบริษัทคนอื่น แต่ข้อด้อยของคนที่อายุน้อยที่อยากจะเข้ามาทำบริษัทสตาร์ทอัพนั้นคือเรื่องของประสบการณ์ ดังนั้น ให้ใช้เวลาตรงนี้ เรียนรู้ให้ได้มากที่สุด
- ทุก Startup เป็น SME แต่ทุก SME ไม่ได้เป็น Startup โดยธุรกิจที่จะเป็นสตาร์ทอัพได้นั้น จะต้องทำซ้ำได้ และต้อง scale ต้องขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วโดยที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเป็นเงาตามตัว
- ข้อเสียของคนที่เคยทำบริษัท SME แล้วจะเปลี่ยนมาทำบริษัท Startup นั้น พี่หมูบอกว่า ส่วนใหญ่มักจะติดกรอบในการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ในขณะที่โลกในยุคนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก การยึดติดกับเรื่องที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วแบบเดิม ๆ อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับในยุคปัจจุบัน
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจ SME กับธุรกิจ Startup นั้น พี่หมูบอกว่า หลัก ๆ มันจะแตกต่างในเรื่องของความเร็ว โดยบริษัท SME แบบทั่ว ๆ ไปนั้น ส่วนใหญ่จะวางแผนการเติบโตของธุรกิจอย่างมากปีละ 20%-30% นี่ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพนั้นมักที่จะต้องการเติบโตแบบ 5 เท่า 10 เท่า ภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น Business Model ของธุรกิจก็จะไม่เหมือนธุรกิจแบบ SME และก็จะต้องเปลี่ยนวิธีคิด หาวิธีนอกกรอบ หาวิธีการเติบโตแบบใหม่ ๆ โดยพี่หมูยกตัวอย่างจากธุรกิจส่งอาหาร delivery ถ้าเป็นธุรกิจรูปแบบเดิมก็จะต้องคิดเรื่องการจ้างคนมาขับรถส่งอาหารให้ ซึ่งต้องใช้เงินจ้างเยอะและถ้าธุรกิจมันขยายตัวอย่างรวดเร็วก็จ้างคนไม่ทัน แต่พอเป็นบริษัทสตาร์ทอัพก็คิดใหม่ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เขียนแอพขึ้นมาแล้วให้คนที่อยากขับรถส่งอาหารมาสมัครเอง แล้วก็แบ่งรายได้กัน เป็นต้น
- พี่หมูได้ยกตัวอย่างวิธีคิดก่อนเริ่มต้นเขียนแอพ ookbee ที่เป็นแอพอ่าน ebook ว่า ถ้าคิดแบบ SME เขาก็จะคิดว่า จะไปคุยกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อเสนอเขียนโค้ดแอพพลิเคชั่น ให้สำนักพิมพ์แล้วก็เก็บเงินค่าเขียนโปรแกรมกี่แสนก็ว่ากันไป ซึ่งต่อให้เขียนแอพให้ทุกสำนักพิมพ์ ทั้งประเทศเลย อย่างมากก็อาจจะได้ค่าเขียนโปรแกรมไม่กี่สิบล้าน มันก็จะได้แค่นั้น แต่พอเปลี่ยนวิธีคิดเป็นแบบ Startup ก็คิดที่จะอยากสร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง แล้วให้คนอื่น ๆ เข้ามาทำมาค้าขายบนแอพของเรา แล้วเราก็เก็บค่าส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดขึ้น
- พี่หมูมองว่า pain point ของธุรกิจสตาร์ทอัพที่เคยเจอมาก็คือ การหาคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานให้กับบริษัทเรา และจะต้องรักษาคนเก่ง ๆ นั้นเอาไว้กับบริษัทเราให้ได้นานที่สุด เพราะคนที่เก่งในเรื่องของเทคโนโลยีนั้นมีน้อย เป็นตำแหน่งที่ขาดแคลน อย่างเช่นคนที่เขียนโปรแกรมเก่ง ๆ เป็นต้น
- วิธีมองคนเก่งในสไตล์พี่หมูก็คือ การดูผลงานที่ผ่านมาในอดีต ว่าคน ๆ นั้น สามารถทำอะไรได้บ้าง มีทักษะอะไรที่โดดเด่นบ้าง แต่แน่นอนว่า โลกมันเปลี่ยนไปไว ซึ่งทักษะที่คน ๆ นั้น มีอยู่ อาจจะใช้ได้ไม่ได้แล้วในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือ Attitude หรือวิธีคิด วิธีการปรับตัว วิธีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปด้วยกัน และสามารถทำงานร่วมกับคนในองค์กรเราได้ จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องของความเก่งเพียงอย่างเดียว
- เรื่องที่ยากที่สุดสำหรับพี่หมูก็คือ เรื่องของการบริหารคนทุกฝ่ายให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพนักงาน ฝ่ายนักลงทุน ฝ่ายลูกค้า ฝ่ายที่แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องของคนนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งหลายเรื่องมันไม่ได้อยู่บนกระดาษซะด้วยซ้ำ หลายต่อหลายครั้งมันเป็นเรื่องของการมองตากัน เพื่อให้เกิด win-win ทั้งสองฝ่าย ว่าถ้าเขาต้องการอะไรและเราสามารถช่วยอะไรเขาได้ หรือเราต้องการอะไรแล้วเขาสามารถช่วยอะไรเราได้
- Put the right man to the right job เลือกคนที่ใช่ให้เหมาะสมกับงานที่ทำ โดยพี่หมูเล่าว่า ด้วยความที่ตัวของเขานั้นมักจะได้มุมมองการทำธุรกิจส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศซะเยอะ จนทำให้ในช่วงแรกนั้นมองไม่เห็นตลาดในไทย อย่างเช่น ตลาดของนิยาย ที่ตัวของเขาคิดว่า มันไม่น่าจะมีตลาดนี้อยู่ แต่พอได้รับมุมองใหม่ ๆ จากคนอื่น ๆ กลายเป็นว่า ตลาดนิยายกลับกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ในเมืองไทย ดังนั้นตัวเราไม่ได้คิดถูกเสมอไป
- เวลาที่เราทำธุรกิจบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้น Business Model เราไม่สามารถเสนอสินค้าแบบเดียวให้กับทุกคนได้ เราจำเป็นที่จะต้องปรับให้เข้ากับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ เพราะเวลาที่ฟีดแสดงบนหน้าจอของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันเลย ถ้าคุณลองเทียบหน้าจอของคุณกับเพื่อน ก็จะพบว่าเนื้อหามันไม่เหมือนกัน
- พี่หมูบอกว่า คนอายุช่วง 12-24 ปี ในกลุ่มของธุรกิจคนที่ทำคอนเท้นต์นั้น กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ Active มีส่วนร่วมมากที่สุด จากนั้นก็ให้เราวิเคราะห์ย้อนกลับว่า เราสามารถต่อยอดทำธุรกิจกับคนกลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง
- การมาของเทคโนโลยีนั้น ทำให้นักเขียนโนเนมสามารถกลายเป็น Bestsellers ที่มียอดอ่านหลายสิบล้านครั้งได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ในขณะที่ Bestsellers แบบในร้านหนังสืออย่าง Se-ed นั้น เพียงมียอดขายสัก 20,000 เล่ม ก็เป็น Bestsellers ได้แล้ว
- พี่หมูแชร์ข้อมูลว่า นักเขียนนิยายที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ บนเว็บไซต์ธัญวลัยที่ได้รับค่าเขียนสูงสุด พวกเขามีรายได้สะสมสูงถึง 6 แสนกว่าบาท โดยใช้เวลาเพียงแค่ 12 เดือน ซึ่งได้มาจากการเขียนนิยายขายตอนละ 3-4 บาท นี่แหละคือ Thailand 4.0 โดยเดือนแรกนักเขียนนิยายคนดังกล่าวได้ค่าเขียนเพียงแค่ 500 บาท แต่พอสิ้นปีแรกเขาได้ 6 แสน และพี่หมูการันตีได้เลยว่า ถ้าอัตราการเติบโตยังคงเป็นแบบนี้อยู่ ปีต่อ ๆ ไป นักเขียนนิยายคนนี้จะต้องได้ค่าเขียนนิยายเดือนละเป็นล้านหรือสิบล้านได้เลยในอนาคต
- การเข้ามาของเทคโนโลยีและการออกแบบ Business Model นั้นมีส่วนสำคัญมาก โดยพี่หมูได้ยกตัวอย่างจาก Business Model ของสำนักพิมพ์แบบดั้งเดิม ที่แทบจะไม่มีกำไรเลย เพราะพอจะวางขายตามร้านหนังสือชั้นนำเช่น se-ed นั้น ก็จะถูกหักเอาไว้ก่อนเลย 50% เพราะทางร้านหนังสือพวกเขาก็มีค่าเช่าร้านต่าง ๆ และนอกจากนั้นก็จะต้องแบ่งให้กับนักเขียนอีก 10% นี่ยังไม่รวมต้นทุนการผลิต การพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่ม ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะขายหมดไหม แต่ในขณะที่เมื่อเป็น Digital First คือคอนเท้นต์ออกมาเป็นเวอร์ชั่นดิจิตอลก่อนเลย ไม่มีค่าพิมพ์ค่าปริ้นท์ออกมาเป็นกระดาษ แถมทำครั้งเดียว คนจะอ่านกี่รอบก็ได้ไม่มีต้นทุนการผลิตเพิ่ม แถมทางแพลตฟอร์มกับนักเขียนก็แบ่งรายได้กันคนละ 50/50 win-win ทั้งสองฝ่าย ส่วนในฝั่งของคนอ่านหรือลูกค้านั้นก็ชิล ๆ ไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อมาอ่าน แถมราคาสบายกระเป๋าจ่ายค่าอ่านตอนละ 3-4 บาท ไม่ต้องจ่ายตังค์ซื้อรวดเดียวทั้งเรื่อง อยากจะหยุดอ่านตอนไหนก็ได้ไม่ต้องจ่ายตังค์เพิ่ม หรือถ้าจะอ่านต่อแต่ไม่อยากจ่ายตังค์ก็ดูโฆษณาแทนได้ พี่หมูบอกว่ามันเป็น Business Model ที่ฟินมากกับทุก ๆ ฝ่าย
- พี่หมูเล่าว่า เมื่อตอนที่เปิดตัวแอพ Joylada ที่เป็นแอพเกี่ยวกับนิยายแชท ที่อยากจะทดลองการนำเสนอการเขียนนิยายในรูปแบบใหม่ ๆ ที่จากแอพก่อนหน้านี้มักจะต้องเขียนนิยายหลายหน้า A4 ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ ขนาดรู้ว่าเขียนนิยายแล้วได้ตังค์ ก็ยังไม่เขียนกัน เพราะมันเขียนยาก ใช้เวลาเรียบเรียงเยอะ ทางแอพ Joylada จึงเป็นนิยายลักษณะแชท ที่มีตัวละครเหมือนกำลังพูดคุยกันอยู่ ก็คล้าย ๆ กับที่เด็ก ๆ ชอบคุยใน Line ในแชทกัน ซึ่งปรากฎว่าพอเปิดตัวไปได้เพียงแค่ 8 สัปดาห์ มันกลับใหญ่กว่าธุรกิจทั้งหมดที่พี่หมูเคยทำมารวมกันซะอีก อย่างเช่น ในแต่ละวันมีคนเข้ามาอ่านนิยายกว่า 55 ล้านครั้ง แถมยังมีนิยายที่ถูกเขียนแล้วส่งเข้าแพลตฟอร์มแล้วกว่า 6 แสนเรื่อง โดยใช้เวลาเพียงแค่ 8 สัปดาห์แรกเท่านั้น เพราะมันเป็น Business Model แบบใหม่ ที่จากเดิมจะต้องจ้างนักเขียนมาเขียนนิยาย แต่นี่เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้เด็กทั้งประเทศ สามารถเข้ามาเขียนนิยายของตัวเองได้ เขียนง่าย ใคร ๆ ก็สามารถเป็นนักเขียนนิยายได้
- พี่หมูแนะนำสำหรับวิธีการสร้าง content นั้น ถ้าคุณทำ content มา 10 อัน คุณจะต้องทำคลิปที่คนอยากจะแชร์ ที่ไม่ใช่เป็นคลิปขายของสัก 8 คลิป ส่วนคลิปขายของไม่เกิน 2 คลิป เพราะส่วนใหญ่คลิปขายของคนมักจะไม่ค่อยแชร์ และเมื่อคนไม่แชร์ คนก็จะมองเห็น content นั้นน้อยมาก แต่ด้วยความที่คุณทำธุรกิจ คุณก็จำเป็นที่จะต้องมีการขายของเพื่อให้มีรายได้เข้ามาด้วย
- พี่หมูบอกว่า หลักในการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น เราไม่จำเป็นที่จะต้องรีบสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาก่อน แต่ให้เราลองไปใช้แพลตฟอร์มของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว ในที่ที่มีคนเล่นอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพที่พี่หมูเข้าไปร่วมหุ้นด้วยอย่าง C Channels ที่เป็นสตาร์ทอัพทำคลิปสั้นเกี่ยวกับผู้หญิง ที่แรกเริ่มก็อัพโหลดวีดีโอไปบน Facebook ซึ่งแม้ว่า C Channels จะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่พอไปอัพโหลดคลิปบน Facebook อาจมียอดวิว 5 ล้านวิว ในขณะที่เว็บไซต์ตัวเองนั้น ถ้ามีถึง 5 หมื่นวิว นี่ก็ถือว่าบุญมากแล้ว ดังนั้นถ้าเรายังไม่สามารถดึงผู้ใช้งานเข้ามายังแพลตฟอร์มของเราได้ เราก็ใช้แพลตฟอร์มของคนอื่นที่ดีกว่าไปก่อนได้ เพื่อให้มันเติบโตก่อน
- ในฐานะที่พี่หมูอยู่ในวงการการทำ content พี่หมูบอกว่า เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับแพลตฟอร์มที่เราจะเข้าไปใช้งานด้วย อย่างเช่นบน Facebook ในช่วงที่แพลตฟอร์มดัน Live สด ใครที่ทำ Live สด จะได้ยอดวิว ยอดเข้าถึงคนได้มากเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่ Live สด แตกต่างจากการทำ content แบบปกติทั่วไปก็คือ มันเป็นการสื่อสารแบบ 2-way communication เป็นการสื่อสารแบบสองทาง คนสร้างคอนเท้นต์สามารถโต้ตอบกับคนดูได้ ก็เลยคิดว่า ตลาดไหนที่จะทำ Live สด ได้บ้าง ก็จับพลัดจับผลูไปตลาดหมอดู ตลาดดูดวง ที่คนทั้งออฟฟิศคิดว่าน่าจะไปทำเรื่องอื่นดีกว่า แต่ไป ๆ มา ๆ กลับช็อคทั้งออฟฟิศว่าตลาดนี้มันไปได้ ขนาด co-founder ผู้ร่วมก่อตั้งกับพี่หมูยังอุทานออกมาเลยว่า แพลตฟอร์ม a ดวง ใหญ่กว่าแพลตฟอร์มนิยายซะอีก ดังนั้นให้ทดสอบ ทดลองดูความเป็นไปได้ก่อนที่จะตัดสินว่ามันเป็นไปไม่ได้
- บริษัท Startup อาจไม่ใช่ธุรกิจ IT แบบเพรียว ๆ เสมอไป แต่ IT มันคือหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจ Startup ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจขับ Taxi อย่าง Grab นั้น ก็ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นเพรียวดิจิตอลล้วน แต่มี IT เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่ง Grab เอาส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุดในการเติบโตออกไปให้ได้ เช่นจากเดิมที่จะต้องซื้อรถ Taxi เป็นจำนวนมากเพื่อเปิดอู่ Taxi เอง ก็เปลี่ยนเป็นสร้างแอพ แล้วให้คนมาสมัครเป็นคนขับรถ Taxi ให้ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ ในส่วนที่มันติดปัญหาการ scale การเติบโตเราจะต้องหากระบวนท่า หาวิธีการนำมันออกไปให้ได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา
- ถ้าประเทศไทยเราไม่ทำ Startup เอง สุดท้ายก็จะมีบริษัทต่างสัญชาติเข้ามาในประเทศไทยอยู่ดี ดังนั้น คำถามมันไม่ได้อยู่ที่ว่า ในไทยจะมี Startup หรือไม่ แต่คำถามที่ถูกต้องมากกว่าก็คือ บริษัท Startup เหล่านั้น เป็นบริษัทของคนไทยหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะหน่วยงานใดหรือองค์กรใดก็ตามในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ต้องจ่ายค่าลงโฆษณาให้กับ Google และ Facebook ไม่หลักหน่วยก็หลักสิบของรายได้ทั้งหมด นั่นหมายความว่า เรากำลังนำรายได้ของคนไทยทั้งประเทศ ไปแบ่งให้กับบริษัทต่างชาติ ราว ๆ 5%-10% จากค่าโฆษณา
- การล่าอาณานิคมในยุคอินเตอร์เน็ตนั้น สมัยนี้หากต้องการจะยึดประเทศอื่น ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเรือรบ ส่งรถถังมายึดแล้ว เพราะสมัยนี้เพียงแค่ส่งแอพผ่านอินเตอร์เน็ตเข้ามา ก็สามารถกินรวบ กวาดรายได้ของคนทั้งประเทศนั้น ๆ ได้เลย
- พี่หมูแชร์ประสบการณ์การเปิด Startup ใหม่ ๆ ที่ตัวของเขาได้เข้าไปเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอย่างธุรกิจ Startup เจ้าหนึ่งที่ชื่อว่า favstay ที่เป็นแพลตฟอร์มเปิดให้จองคอนโด ที่พัก ที่ลักษณะเหมือนกับ airbnb เลย แต่เพิ่มเติมคือ ทาง favstay จะมีบริการดูแลห้อง ทำความสะอาดให้เจ้าของคอนโดด้วย เพราะพี่หมูเขาพบว่า คนไทยหลายคนที่มีตังค์นั้น มักจะมีคอนโดอยู่ต่างจังหวัด หรือบางคนอยู่ต่างจังหวัดก็ซื้อคอนโดเอาไว้ปล่อยเช่าในเมือง แต่ปัญหาก็คือ ถ้าเอาห้องเช่าเข้าระบบ airbnb บางคนขี้เกียจไปคอยรับแขกเพื่อเช็คอินเช็คเอ้าท์และทำความสะอาด แต่ถ้ามาลงที่ favstay ทำให้หมดทุกอย่างเลย ซึ่งปรากฏว่า ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจทำไปเพียงแค่ 2 ปี แต่กลับมีคนมาฝากห้องให้เช่าจำนวนมากกว่า 25,000 ห้อง แถมยังปล่อยเช่าให้เกินกว่าครึ่ง กลายเป็นว่า เป็นธุรกิจปล่อยห้องเช่าที่ใช้เงินทุนน้อยกว่าการสร้างโรงแรมเอง ใช้เวลาตั้งตัวแค่ 2 ปี แต่สามารถปล่อยห้องเช่าได้มากกว่าธุรกิจโรงแรมที่เปิดมา 70-80 ปีซะอีก นี่คือการนำปัญหาที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขนั่นเอง แต่จุดที่พี่หมูบอกว่าน่าเสียดายก็คือ บริษัทนี้ต้องไปเปิดบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะกฎหมายไทยไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงเป็นอะไรที่เสียโอกาสมาก ถ้ากฎหมายตามไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
- พี่หมูบอกว่า จำนวนเงินที่ลงทุนที่เข้ามานั้น มากเท่าไหร่มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการนำเงินทุนนั้น ไปใช้ให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า โดยพี่หมูยกตัวอย่างว่า เขาได้มีการไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยหลาย ๆ เจ้า เช่น ลงทุนใน fastwork ที่เป็นแหล่งรวมจ้างงานฟรีแลนซ์ ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่าฟรีแลนซ์จะได้เงินค่าจ้างจริงกับนายจ้างก็ได้ชิ้นงานจริง ทำให้ฟรีแลนซ์หลายคนทั่วประเทศ มีงานมีเงินหมุน จากนั้นก็มีการลงทุนในบริษัท flowaccount ที่เป็นโปรแกรมทำบัญชีออนไลน์ ซึ่งจะเป็นฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า หรือ SME ก็สามารถทำบัญชีออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ทั้งการทำใบเสนอราคา วางบิล ออกใบเสร็จ จากนั้น เมื่อมีการวางบิล เก็บเงิน มีการขึ้นเช็ค ก็ต้องมีคนวิ่งงาน เขาก็ไปลงทุนในบริษัท skootar ที่เป็นบริการ Messenger วิ่งรถส่งเอกสาร ก็ทำให้คนที่วิ่งเอกสารมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อาจจะได้เฉลี่ยคนละ 20,000 บาทต่อเดือนอีกหลายพันคน ซึ่งจะเห็นได้ว่า มันเกิดระบบเศรษฐกิจที่มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศ และเงินก็ยังคงอยู่กับประเทศไทย ไม่ได้รั่วไหลออกไปนอกประเทศ
- แม้ว่าบริษัท Startup จะสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ได้หลายเท่าตัว ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่มันก็มีความเสี่ยงเยอะกว่าบริษัทแบบ SME ซึ่งถ้าเราเคยได้ยินว่า บริษัท SME ส่วนใหญ่พอผ่านไป 5 ปี จะเจ๊งซะครึ่งนึง ในขณะที่ถ้าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ มีโอกาสเจ๊งสูงถึง 95% เลยก็ว่าได้ เพราะมันมักจะเป็นบริษัทที่ชอบทดลองทำอะไรแปลก ๆ ที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา
- พี่หมูเล่าว่า การทำบริษัทสตาร์ทอัพมันก็คือการเรียนรู้จากประสบการณ์การเจ๊ง ที่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ โดยพี่หมูได้เล่าความเจ๊ง ที่เขาเคยมีความคิดที่จะเปิดเว็บไซต์ ookbee mall ที่เป็น marketplace ที่เปิดให้คนมาขายของออนไลน์ อย่างเช่นแบบ shopee lazada ซึ่งเขาก็คิดแบบโง่ ๆ เลยว่า เขามีฐานข้อมูลผู้ใช้งานเยอะกว่า มี email database เยอะกว่า lazada และ lazada ก็ใช้งบโฆษณาเยอะมาก ookbee ไม่เห็นจะต้องใช้งบโฆษณาเลยก็ยังได้ ซึ่งในตอนนั้นเขาก็คิดเอาเองและก็คิดแบบโง่ ๆ เลยว่า คนชอบอ่านนิตยาสารบ้านก็ต้องชอบบ้านซิ อ่านรถก็ต้องชอบรถซิ อ่านนิตยสารหมาก็ต้องซื้ออาหารหมาซิ ก็เลยไปลงทุนด้วยเงินจำนวนกว่า 150 ล้านบาท จ้างคนมาทำโปรเจคนี้โดยเฉพาะกว่า 100 คน และใช้เงินทั้งหมด 150 ล้านบาท หมดภายในเวลา 18 เดือน และต้องไล่พนักงานออกทั้งหมดเป็นร้อยคน แถมทันทีที่ปิดบริษัท ookbee mall ก็ทำให้บริษัทแม่อย่าง ookbee มีกำไรในปีนั้นทันที 300 ล้านบาท และนั่นก็คือบทเรียนความเจ๊งวายป่วงที่พี่หมูเล่าให้ฟัง
- Winner Never Cheat, Cheater Never Win. โดยพี่หมูให้ความหมายว่า คุณไม่ทางเป็นคนขี้โกง เป็นคนไม่ดี แล้วจะทำธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นมาได้
- Always use your moral compass. ความหมายที่พี่หมูหมายถึงก็คือ ถ้าคุณนึกไม่ออก ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำอะไรหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ก็ให้คิดก่อนเลยว่า ให้ทำในเรื่องที่ถูกศีลธรรม ทำในเรื่องที่ดีต่อโลกเอาไว้ก่อนเสมอ เราจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้กับเด็กรุ่นใหม่เรื่องของศีลธรรม เพราะมีหลายคนที่เก่งมากแต่กลับใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิด ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เกิดความเสียหายในวงกว้าง
- กฎหมายมักจะเกิดทีหลังเทคโนโลยี อย่างเช่น รถยนต์ก็มาก่อน แล้วจากนั้นจึงค่อยมีกฏหมายจราจรออกมา ซึ่งบางครั้งการผิดกฎหมายมันก็ไม่ได้หมายถึงสิ่งนั้นจะต้องผิดศีลธรรม เพราะถ้าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น มันส่งผลดีต่อมนุษย์ ส่งผลดีต่อโลก ในฝั่งของทางกฎหมายก็ควรจะปรับให้เข้ากับยุคกับสมัย ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ Grab ช่วงแรกทุกคนก็มองว่ามันคือธุรกิจ Taxi เถื่อน หรือย่าง Airbnb ทุกคนก็บอกว่ามันคือธุรกิจโรงแรมเถื่อน ในขณะที่เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้คนให้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ถ้ามันไม่ดีก็คงไม่มีคนใช้ แต่ในเมื่อมันมีคนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ในทางกฎหมายก็ควรเรียกผู้ประกอบการเหล่านี้ เข้ามาพูดคุย ปรึกษาหารือ เกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายให้มันเข้ากับเทคโนโลยี เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าเป็น Taxi เถื่อน ก็เรียกให้มาลงทะเบียน ถ้าเป็นโรงแรมเถื่อนก็เรียกเข้ามาให้ลงทะเบียน ให้มันถูกต้อง เป็นต้น
- ทุกคนอาจเข้าใจว่า ในโลกนี้ไม่มีการลงทุนใดที่ไม่มีความเสี่ยง แต่พี่หมูบอกว่า มีอยู่การลงทุนหนึ่งที่ไม่มีความเสี่ยง นั่นก็คือ การลงทุนในตัวเราเอง ลงทุนในตัวเราเองซะจนคนอื่น ๆ เขาอยากที่จะเข้ามาลงทุนกับตัวเรา โดยพี่หมูบอกว่า ถ้าเป็นในรูปของบริษัท แทนที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการออกไปหานักลงทุน ให้กลับมาลงทุนในบริษัท ทำให้บริษัทตัวเองมันดีซะจนคนอื่นอยากจะเข้ามาลงทุนจะดีกว่า หรือถ้าเป็นในแง่ของตัวบุคคล อย่างเอาเรื่องง่าย ๆ แค่ตัวเราเลือกกินแต่ของดี ๆ และออกกำลังกาย มันก็คือการลงทุนกับตัวเราเองมันไม่มีความเสี่ยงเลย
- มีเด็กมหา’ลัย ชอบมาถามพี่หมูว่า ถ้ามีเงินเก็บอยู่ 1-2 แสน จะเอาไปซื้อหุ้นอะไรแล้วรวยดี ซึ่งพี่หมูก็คิดในใจว่า ต่อให้เอ็งซื้อหุ้นถูกตัว หุ้นขึ้นสัก 5 เท่า ได้กำไรมา 8 แสน ไอ้เงินจำนวนนี้ มันก็ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตอะไรใครมากมายอยู่ดี ซึ่งวิธีคิดที่อยากจะเสี่ยงรวยเร็วอะไรแบบนี้มันตั้งต้นโจทย์ผิดตั้งแต่แรก ซึ่งพี่หมูบอกว่า ถ้าเอ็งเอาเงิน 1-2 แสนไปเปิดโลก เช่นให้พี่หมูจัดทัวร์ไปดูงานที่ Silicon Valley ซึ่งเป็นการลงทุนกับตัวเอง แล้วพอกลับมาแล้วไอเดียใหม่ ๆ ไอ้การที่จะหาเงินไม่กี่แสนนั้นมันหาเงินกันได้ง่าย ๆ เลย
- ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น พี่หมูบอกว่า การที่จะมานั่งแพลน คิดเยอะ กว่าจะทำอะไรสักอย่างนั้น ไม่ทันคู่แข่งแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนวิธีคิดแบบ Fail Fast คือต้องล้มให้ไวลุกให้ไว ยิงรัว ๆ แบบกระสุนปืนกล มันต้องโดนบ้างแหละ จากนั้นเมื่อยิงโดนแล้ว ให้ยิงเน้นย้ำซ้ำ ๆ ที่จุด ๆ นั้น
- ในโลกนี้ พี่หมูบอกว่า เวลา คือสิ่งสำคัญที่สุด มันไม่ใช่เรื่องของเงินหรือคน เพราะเราสามารถหาเงินได้เพราะมีนักลงทุนที่พร้อมจะเสี่ยง และมีคนเก่ง ๆ ที่เราจ่ายเงินพวกเขาก็พร้อมที่จะมามาทำงานให้เรา แต่ถ้าเราช้า สิ่งที่เราเคยคิดว่าจะทำนั้น มันอาจจะมีคนทำขึ้นมาแล้ว เราก็ไม่สามารถทำมันได้
- สำหรับในโลกที่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยทำธุรกิจนั้น มันเอื้อให้สามารถ สร้างหรือทำการทดลองได้อย่างรวดเร็ว โดยพี่หมูแนะนำว่า ให้ใช้หลักคิดการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยหลักการ Lean Startup ที่มีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ 1) Build คือการสร้าง 2) Measure คือการวัดผล และ 3) Learn คือการเรียนรู้ แล้วทำวน 3 Step นี้ ให้เร็วที่สุด ยิ่งสร้าง วัดผล แล้วเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ได้ภายในสองสัปดาห์ได้ยิ่งดี
- เมื่อตอนช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ebook บน ookbee นั้น พี่หมูบอกว่า ตอนแรกคิดว่าคู่แข่งในตลาดคือหนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แต่จริง ๆ แล้วคู่แข่งของ ookbee ก็คือ คนที่หยิบแท็ปเล็ตหรือมือถือขึ้นมาแล้วเข้าไปไถฟีด facebook Youtube หรือไม่ก็ไปดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ที่พวกเขามักจะมีเวลาว่างสัก 4-5 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะทันทีที่พวกเขาหยิบมือถือหรือแท็ปเล็ตขึ้นมานั้น พวกเขาไม่ได้นึกถึงว่าจะต้องไปร้านหนังสือแล้วซื้อหนังสือมาอ่าน แต่พวกเขาเลือกที่จะเข้าไปเสพย์คอนเท้นต์ที่มีอยู่บนโลกออนไลน์ ดังนั้นโจทย์ของ ookbee ก็คือ จะทำยังไงให้คนยอมใช้ช่วงเวลาก่อนนอน มาใช้เวลาบน ookbee ได้กี่นาทีต่างหาก มันคือการแย่ง Time Share หรือแย่งเวลาที่มีอยู่จากคู่แข่งที่ต้องการดึงดูดเวลานี้เช่นกัน
- พี่หมูบอกว่า เราอย่าไปคิดเองว่า ถ้าเราได้ส่วนแบ่งจากตลาดนั้น ๆ สัก 1% ก็รวยแล้ว เพราะสมัยก่อนตอนที่เริ่มต้นทำบริษัท ookbee ที่จะขาย ebook นั้น พี่หมูเคยคิดแค่เพียงว่า ถ้าได้ส่วนแบ่งจากตลาดหนังสือเล่มที่เป็น Top Best Sellers ที่ขายได้หลักหมื่นเล่ม สัก 5% นี่ก็ดีแล้ว รวยแล้ว แต่นั่นมันเป็นความคิดที่ติดกรอบ limit แบบเดิม ๆ เพราะพอทำเข้าจริง มีการพัฒนากว่าธุรกิจแบบดั้งเดิม กลายเป็นว่า พอมาตลาดการ์ตูน นิยาย มีคนอ่านหลายสิบล้านครั้ง จะเห็นได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องไป limit จากตัวท็อปในวงการแบบเดิมว่าเป็นเท่าไหร่
- พี่หมูบอกว่า ภาษาที่แนะนำให้เด็ก ๆ เรียนเป็นภาษาที่สอง ที่สามนั้น ถ้าแต่เดิมผู้ปกครองหลายคนอาจจะส่งลูกหลานเรียนภาษาจีน แต่จะดีกว่าไหมถ้าส่งลูกเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ เพราะเมื่อคุณเก่งภาษาคอมพิวเตอร์ คุณก็สามารถจ้างคนที่พูดภาษาจีน ที่ปัจจุบันมองไปทางไหนก็มีคนพูดภาษาจีนได้อยู่เต็มไปหมด มาทำงานให้คุณแทนก็ยังได้
- หน้าที่ของคนที่เป็น CEO เมื่อตอนที่ธุรกิจเริ่มขยายเริ่มเติบโตมากยิ่งขึ้นนั้น พี่หมูบอกว่า ไม่ใช่การทำทุกอย่างเองไปซะหมด แต่เป็นการหาคนที่เก่ง ๆ เข้ามาทำในแต่ละตำแหน่งแทนเราให้ได้ เพราะหน้าที่หลักของ CEO นั้นคือการมีวิสัยทัศน์ การมี Vision แล้วจากนั้นก็มีหน้าที่หานักลงทุน ทำธุรกิจหาเงิน เพื่อมาซับพอร์ท Vision ของตัวเองให้ได้ นี่คือความสำคัญลำดับที่ 1 ที่เป็นหน้าที่เดียวและหน้าที่หลักที่ CEO ต้องทำ
- พี่หมูบอกว่าความลับสุดยอดของการเป็นนักธุรกิจ ในการเป็นผู้บริหารเป็น CEO ในแต่ละวัน คือการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ เพื่อให้ลูกน้องไปตาม Vision ของบริษัทเรา โดยงานของพี่หมูทุกวันนี้คือการที่เขาเดินขึ้นลงออฟฟิศตั้งแต่ชั้น 1ถึงชั้น 4 เพื่อไปตบไหล่กับทีมงานแล้วพูดชื่นชมพวกเขาประมาณว่า “เออ ที่เอ็งทำดีมาก เก่งมาก เฮ้ย ตั้งใจทำต่อไป” โดยที่ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าพนักงานคน ๆ นั้นกำลังทำงานอะไรอยู่
- หลักในการจ้างคนเข้ามาทำงานในบริษัทเรานั้น เราต้องคิดเสมอว่า คนที่้ราจ้างเข้ามานั้น เขาจะต้องกลายมาเป็นหัวหน้าเราได้ อาจจะผ่านการสัมภาษณ์ นั่งคุย กินข้าว แล้วเราก็ลองคิดดูว่า คนที่เรากำลังจะจ้างเข้ามานั้น เราอยากเป็นลูกน้องเขาหรือเปล่า เช่น เราไม่อยากได้เจ้านายที่นิสัยไม่ดี เพราะเมื่อเจ้านายนิสัยไม่ดี เราก็ไม่อยากเป็นลูกน้อง ถ้าหัวหน้าไม่เก่งเราก็ไม่อยากเป็นลูกน้อง เจ้านายเป็นคนเก่งแต่กวนโอ๊ยเราก็ไม่อยากเป็นลูกน้อง ซึ่งถ้าเมื่อไหร่เราตอบได้ว่า เราอยากได้คน ๆ นี้มาเป็นหัวหน้าเรา คนอื่น ๆ ก็อยากมาเป็นลูกน้องเขา เขาก็จะทำให้บริษัทเราก็จะโต
- ในโลกนี้มีทุกคนที่เก่งมากกว่าที่เราทำเองในทุก ๆ เรื่อง ในราคาที่ถูกกว่าเราทำเอง เราแค่ต้องวางอีโก้ลง แล้วยอมรับว่า เราไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด มีคนที่เก่งกว่าเราอยู่เสมอ
- พี่หมูบอกว่าในโลกความจริงนั้น มันไม่มีหรอก การที่คนเราจะกำหนดชีวิตการทำงานทั้งหมดที่เหลืออยู่ในชีวิตอีก 30-40 ปี ข้างหน้าที่เหลือ ด้วยการเรียนในมหา’ลัย แค่ 3-4 ปี เพราะชีวิตจริง มันมีอะไรให้ทำอีกเยอะมากกว่าที่อยู่ในโรงเรียน
- พี่หมูเล่าว่าเมื่อตอนก่อนที่จะเปิดตัวแอพ Joylada ที่เป็นแอพอ่านนิยายแชทที่ใช้เวลา 8 สัปดาห์ ในการ Launch หรือเปิดตัว นั้น เขาและทีมงานใช้เวลาทำแบบเข้มข้นจริง ๆ จัง ๆ เพียง 6 สัปดาห์ โดยพี่หมูเขาจะเกณฑ์ทีมงาน น้อง ๆ เสมือนว่ากักตัวเข้าค่าย มากินนอนที่ทำงาน และตัวของพี่หมูเองนั้นก็จะมาอยู่กับทีมงานตลอด 6 สัปดาห์นั้นโดยไม่ไปไหนเลย โดยพี่หมูบอกว่า มันก็เสมือนกับเราเป็นแม่ทัพ เวลาออกรบเราก็จะต้องไปรบด้วย
- บริษัทใหญ่ ๆ มักใช้เวลากว่าจะประชุมกว่าจะลงมือทำก็ปาเข้าไป 3 เดือนแล้ว ในขณะที่ถ้าตั้งใจจริง ๆ แบบเข้มข้น ไม่กี่สัปดาห์ก็เสร็จแล้ว
- เวลาที่เราทำโปรเจ็คท์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ให้เราตั้งต้นด้วย mindset ด้วยความคิดว่า Can Do Attitude คือให้คิดก่อนเลยว่า เราสามารถทำมันได้ เราสามารถทำสิ่งนั้นให้มันสำเร็จขึ้นมาได้ แล้วโฟกัสทำสิ่งนั้น จนกว่าจะสำเร็จ
- พี่หมูบอกว่า ถ้าประเทศไทยเรา ขอแค่มีแนวคิดแบบ Startup นำไปปรับใช้กับธุรกิจแบบ SME ทีมีอยู่หลายแสนบริษัทได้ ก็จะทำให้ประเทศไทย สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เติบโตเป็นอย่างมาก ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น Startup เต็มตัวก็ได้ เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะต้องการเติบโตปีละ 5 เท่า 10 เท่า แต่ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่เติบโตปีละ 20% นี่ก็หรูแล้ว แต่หากนำแนวคิดแบบ Startup มาปรับใช้กับธุรกิจ แล้วทำให้ SME สามารถเติบโตปีละ 2 เท่า ติดกันเป็นเวลาต่อเนื่องสัก 4 ปี นั่นก็หมายถึงว่า บริษัทเติบโตไปแล้วว่า 32 เท่า จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 16 จาก 16 เป็น 32 เท่า
- พี่หมูบอกว่าการที่เราต้องการจะไปเป็นส่วนร่วมกับวงการ Startup นั้น ก็สามารถแบ่งคนออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ก็คือ 1) ถ้าคุณมีความสามารถ มีเวลา ยังมีไฟ ยังหนุ่มยังแน่น ก็ลองเริ่มต้นบริษัทสตาร์ทอัพด้วยการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ หรือจะไปร่วมจอยกับสตาร์ทอัพสักที่นึง 2) ถ้าคุณทำธุรกิจ SME อยู่ คุณสามารถเปลี่ยนไอเดียของคุณไปคิดแบบสตาร์ทอัพได้ หรือถ้าคุณเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีเวลาคุณก็สามารถไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์ทอัพได้ 3) แต่ถ้าคุณเป็นคนมีเงิน ก็สามารถนำเงินไปลงทุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ได้
- พี่หมูบอกว่า คนที่จะทำธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อ Exit หรือออกจากกิจการนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง ก็คือ 1) เจ๊ง เพราะถ้าบริษัทเจ๊งก็ได้ออกแน่ ๆ เพราะเลิกทำ 2) IPO: Initial Public Offering ก็คือการเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน เป็นบริษัทมหาชน 3) M&A: Mergers and Acquisitions คือการควบรวมบริษัทและการถูกเข้าซื้อกิจการจากบริษัทอื่น
- โอกาสทางธุรกิจมีอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างมันมีจังหวะและเวลาของมัน โดยพี่หมูยกตัวอย่างเช่นว่า ถ้ามีธุรกิจร้านหนังสือแบบดั้งเดิม มาซื้อกิจการ ookbee ไปตั้งแต่เมื่อปี 2012 จะใช้แค่ 150 ล้านบาท ก็สามารถซื้อ ookbee ได้ทั้งบริษัท แต่ตอนนี้ต้องใช้เงินมากกว่าพันล้านถึงจะซื้อได้ทั้งบริษัท ซึ่งสิ่งที่พี่หมูต้องการจะสื่อก็คือ การเข้าซื้อกิจการหรือลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ ๆ นั้น จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเดิมแข็งแกร่งขึ้น อย่างทุกวันนี้บริษัท ookbee หรือทางกองทุน 500 Tuk Tuks ก็ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ ๆ อยู่เฉลี่ยเดือนละ 1-2 บริษัทในทุก ๆ เดือน เพื่อสร้าง eco system ระบบเศรษฐกิจภายใน South East Asia ให้มันแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
- พี่หมูบอกว่า คุณสมบัติที่ Founder ของบริษัทสตาร์ทอัพที่จำเป็นต้องมี จะมีทักษะที่สำคัญอยู่ด้วยกันอยู่ 3 ประการ ก็คือ 1) Business คือมีหัวธุรกิจ 2) Design มีไอเดีย มีการออกแบบที่ดี และ 3) Technology คือมีทักษะที่เก่งกาจด้านเทคโนโลยี ซึ่งการที่คน ๆ เดียว จะมีครบทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นคนที่หาได้ยากมาในโลกนี้ ยกตัวอย่างเช่น Steve Jobs ที่ตัวเขาคนเดียวมีครบทั้งสามข้อนี้เลย เป็นระดับซุปเปอร์ไซย่า ที่มีน้อยมาก นับคนได้เลย และคนที่เก่งรองลงมาก็คือ อย่างน้อยต้องมีหัวด้านนี้สักสองข้อ ส่วนคนธรรมดาส่วนใหญ่ ก็มักจะเก่งในด้านใดด้านหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นในทีมผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จะต้องมีคนเก่งครบทั้งสามด้านนี้ ถ้าเก่งคนเรื่องเดียว ก็ต้องมีอย่างน้อยสามคนที่ถนัดคนละด้านกัน แต่ถ้ามีคนเก่งสองด้านแต่รวมกันสองคนครบทุกด้าน ก็สามารถตั้งทีมขึ้นมาได้ดี
- พี่หมูแชร์เรื่องการแบ่งหุ้นบริษัทว่า ควรแบ่งหุ้นให้แต่ละคนเท่าไหร่ดี ซึ่งพี่หมูบอกว่า จำนวนหุ้นมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เพราะไม่มีใครอยากได้หุ้นจำนวน 99% ของบริษัทที่ใกล้เจ๊ง แต่ในขณะที่หากคุณถือหุ้นของบริษัท Google แค่ 0.01% คุณก็รวยเป็น millionaire เป็นเศรษฐีแล้ว ดังนั้น ในวันแรกที่เริ่มก่อตั้ง ก็แบ่งให้ลงตัว แบ่งไปเลยเท่า ๆ กัน คนละครึ่ง ๆ ไปเลย เพราะด้วยความที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพนั้น กลุ่มของ founder จะไม่เห็นผลเป็นตัวเงินจนกว่าจะพาบริษัท Exit ได้ ขายกิจการได้ หรือเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ดังนั้น mindset ของทุกคนก็คือ การ drive อย่างสุดชีวิต เพื่อให้บริษัทไปถึงจุด ๆ นั้นให้ได้ เพราะไม่งั้นก็จะไม่มีใครได้อะไรจากการทำบริษัทนี้หากมันเจ๊งไปซะก่อนที่จะ Exit กิจการ ซึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้ก็คือ เราต้องเป็นคนใจกว้างมากพอ
- พี่หมูบอกว่า เวลาที่สตาร์ทอัพไปหาเงินทุนจากนักลงทุนนั้น จะต้องทำการ Pitching ก็คือการนำเสนอ opportunity หรือโอกาสทางธุรกิจที่นักลงทุนเขาจะได้รับจากการมาลงทุนในบริษัทเราอย่างไร โดยจะต้องนำเสนอให้จบภายใน 5 นาที ให้ได้ เพราะถ้านานกว่านั้น นักลงทุนเขาจะขี้เกียจคุยกับเรา ก็เหมือนกับเราไปจีบสาว ขั้นแรกสุดขอ Line มาให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปคุยต่อกันภายหลัง ดังนั้น ต้องทำให้นักลงทุนเขาอยากคุยกับเราต่อ
- ความฝันของพี่หมูอันนึงที่เขาอยากจะทำให้เกิดขึ้นจริง พี่หมูบอกว่า เขาอยากเห็นสตาร์ทอัพไทยเติบโตในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกได้ ด้วย Digital Economy แบบไทย ๆ ด้วยระบบเศรษฐกิจดิจิตอลแบบไทย ๆ นี่ล่ะ
Resources
- https://youtu.be/mfk4dmZ2TUo?si=Jz6X2aL52Eobg2tT
- https://youtu.be/CY_lGvjUWMk?si=Uxgkt0aRb2Q_hqG-
- https://youtu.be/qt3TUFntIdY?si=bO3VArov8GfSt-SB
- https://youtu.be/qt3TUFntIdY?si=pIl0kbQF3mVC7jB2
- https://youtu.be/s8f-LC8iBRw?si=-slOzVEmaYrQ7d3y
- https://youtu.be/YJJL1poCYlc?si=Yk6vdGZVyDc3RxUW
- https://youtu.be/ARCPDuNacJk?si=fGr0zHSxapQ1yZaZ
- https://youtu.be/ARCPDuNacJk?si=3wVXENawG2_xPVJE
- https://youtu.be/XfjRcrepKUU?si=eqZujuLBjFVASS5j
- https://youtu.be/XfjRcrepKUU?si=G0F4IXx6VfVWKdnE
- https://youtu.be/TzknG54yKak?si=Pkv0TTlf7LsWFZUg
- https://youtu.be/TzknG54yKak?si=Hey2A8UHt2jqnk2C
- https://www.favstay.com/
- https://youtu.be/NPIQZPNPnoc?si=HsZ77_Tybnmuz6Tz
- https://en.wikipedia.org/wiki/Confinity
- https://en.wikipedia.org/wiki/X.com_(bank)
- https://www.longtunman.com/40236
- https://youtu.be/RZEJvWVRjqk?si=yz02ZMBYBDCpeeAu
- https://youtu.be/RZEJvWVRjqk?si=f3nVp-1zuY9pZ_qU
- https://youtu.be/MYd6BI0IECk?si=qPeOxziObJG11qjQ