100 ข้อคิด จาก Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook | Blue O’Clock Podcast EP. 65
Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ได้แชร์ข้อคิดและบทเรียนสำคัญมากมายจากประสบการณ์การทำธุรกิจ ตั้งแต่การก่อตั้ง Facebook จนถึงการพัฒนาบริษัทให้เติบโตและก้าวสู่ความเป็นบริษัท Meta ซึ่งมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกของ Metaverse, AI, AR และ VR
และนี่ คือ 100 ข้อคิด 100 บทเรียน ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเขา
- สำหรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของ Mark Zuckerberg นั้น เขาบอกว่า ถ้า ณ วันนี้ มันคือ mobile หรือเรื่องของมือถือที่ทำให้ทุก ๆ คนบนโลก สามารถเชื่อมต่อหาถึงกันได้ แต่ถ้าให้พูดถึงเรื่องในภายภาคหน้านั้น เขาบอกว่ามันยังมีอีกสองสิ่งที่เขาคิดว่า มันจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับเขาก็คือ เรื่องแรก แน่นอนว่าเป็นเรื่องของ AI ที่ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น มีการพัฒนาในวงการอย่างน่าทึ่ง ซึ่งเขาคิดว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์นั้น จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ ที่มีอยู่ในทุก ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งส่วนตัวเขาไม่คิดว่าจะมีซุปเปอร์ AI ที่เป็นศูนย์กลางรายใหญ่เพียงรายเดียว แต่มันจะมี AI หลากหลายชนิดหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของมนุษย์ในทุก ๆ ช่วงของแต่ละวัน แต่เขาก็ตื่นเต้นเป็นอย่างมากกับวงการนี้ที่เขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันรันวงการปัญญาประดิษฐ์ และเรื่องที่สองก็คือ เรื่องของ Metaverse ที่จะทำให้ผู้คนมีความสามารถในการแสดงและเห็นทางกายภาพของบุคคลอีกฝั่งได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดบนโลกนี้ก็ตามที ซึ่งตอนนี้ทาง Meta ก็มีผลิตภัณฑ์อย่างแว่น VR นี่นำเข้าสู่โลกเสมือน หรืออีกหน่อยก็อาจจะเป็น Hologram ที่สามารถแสดงภาพราวกับว่า เราได้อยู่ตรงนั้นจริง ๆ ซึ่งจุดประสงค์ของเขาก็คือต้องการสร้างอนาคตของการเชื่อมโยงของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น
- Mark บอกว่า ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ แต่หากเราสามารถควบคุมปัจจัยภายในอย่างคนในองค์กรให้เกิดความสามัคคีอย่างแน่นแฟ้นได้ ไม่ว่าเรื่องอะไรเราก็สามารถทำมันให้สำเร็จได้
- จงหาคนให้เหมาะสมกับงานที่จะให้เขาคนนั้นเข้าไปมีส่วนร่วม และสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมกับคนที่ยอดเยี่ยมขึ้นมาได้ แล้วพวกเขาก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ได้อย่างน่าทึ่งและยิ่งใหญ่
- ศัตรูคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับ Mark ก็คือ ตัวของเรา บริษัทของเราเอง โดยบริษัทส่วนใหญ่มักจะไปยึดติดกับบริษัทคู่แข่งมากจนเกินไป เพราะสิ่งที่เราควรทำก็คือ การกลับมาโฟกัสที่บริษัทของเรา ให้ทำในสิ่งที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน วันแล้ววันเล่า จงเป็นตัวคุณในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด และดีขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ วัน
- Mark เล่าว่า เขาเรียนด้านจิตวิทยามนุษย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มา ดังนั้น เขาจึงให้ความสนใจในเรื่องของผู้คนมากเป็นพิเศษ และในตอนที่เขาเริ่มต้นทำ Facebook นั้น ก็มีเครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างพร้อมแล้วอย่างการเข้ามาของโลกอินเตอร์เน็ต การมี search engine ที่สามารถค้นหาข้อมูลข่าวสาร หรือสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้อย่างครบครัน แต่ยังขาดเครื่องมือในการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คน เขาจึงเริ่มเขียนโปรแกรมอย่างง่าย ๆ เพื่อดูว่าแต่ละคนบนโลกออนไลน์นั้น พวกเขาจะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ผลปรากฏว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมในสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนรอบ ๆ ตัวของพวกเขา และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น Facebook เวอร์ชั่นแรกขึ้นมา
- Mark บอกว่า ตอนแรกที่สร้าง Facebook ขึ้นมานั้น เขาไม่ได้กะทำเป็นบริษัทจริง ๆ จัง ๆ ขึ้นมาซะด้วยซ้ำ แต่ที่เขาทำไป เขาทำไปตามความต้องการของผู้คน ซึ่ง facebook เวอร์ชั่นแรกสุดหลังจากที่เปิดตัวเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็มีนักศึกษาใน Harvard จำนวนกว่า 2 ใน 3 เข้ามาใช้งานอย่างแพร่หลาย แล้วในหมู่เพื่อนฝูงก็บอกเขาว่า ทำไมเราไม่ลองขยายการเปิดใช้งานไปยังโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ดูบ้างล่ะ เขาก็เลยเปิดในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้ามาใช้งาน และพอนักศึกษาเข้ามาใช้งานบน facebook อย่างแพร่หลาย เขาก็คิดว่า ทำไมไม่ลองเปิดในคนทั่วโลกเข้ามาใช้งานบ้างล่ะ จากนั้นเขาจึงเริ่มจ้างคนเพิ่ม ก่อตั้งเป็นบริษัทจริง ๆ จังขึ้นมานั่นเอง
- คำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่กำลังที่จะเริ่มต้นสร้างบริษัทหรือสร้างผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างขึ้นมานั้น Mark Zuckerberg บอกว่า คุณจะต้องเริ่มต้นจากการที่ตัวคุณอยากที่จะแก้ไขปัญหาบางอย่างให้กับโลกใบนี้ ไม่ใช่เริ่มต้นจากการที่อยากจะเปิดบริษัทขึ้นมา ซึ่งบริษัทที่ยอดเยี่ยมที่สุดนั้น พวกเขาคือกลุ่มคนที่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ไม่ใช่ว่าอยากจะเปิดบริษัทขึ้นมาเพื่อที่จะได้ร่ำรวย มีลูกน้องทำงานให้ มีเงินใช้เยอะ ๆ นั่นมันไม่ใช่บริษัทที่ควรจะเป็น
- จุดที่ Mark Zuckerberg เคยย่ำแย่และลำบากใจที่สุดในช่วงแรก ๆ ของการทำ facebook นั้น ก็คือ หลังจากที่เขาทำ facebook มาได้ประมาณ 2-3 ปี ที่มีผู้ใช้งานที่เป็นนักศึกษาอยู่ราว ๆ 10 ล้านคน เขาก็ได้รับข้อเสนอการซื้อกิจการจากบริษัท Yahoo! เป็นจำนวนเงินมากหนึ่งพันล้านดอลล่าร์ฯ ซึ่งเป็นใครต่างก็ต้องคิดหนักกับเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ ที่ก่อตั้งบริษัทมาเพียงแค่ 2-3 ปี ก็มีคนมาขอซื้อนับพันล้านแล้ว แต่ด้วยความที่ Mark เขาสื่อสารภายในองค์กรยังไม่ค่อยดี ว่า จะเอายังไงต่อ จะขายหรือไม่ขาย ถ้าไม่ขายแล้วจะเดินหน้าบริษัทต่ออะไรยังไง ทำให้ในช่วงนั้น ทีมผู้บริหารทั้งหมด ต่างพากันลาออกยกชุด เพราะไม่มั่นใจและไม่เข้าใจว่า Mark จะเอายังไงกันแน่ เพราะข้อเสนอการขอเข้าซื้อกิจการเขาก็ไม่ได้บอกปฏิเสธซะด้วย จนกระทั่งเขาก็ทำการบอกปฏิเสธข้อเสนอนับพันล้านไป และบอกถึงวิสัยทัศน์และแนวทางของบริษัทที่กำลังจะเดินหน้าต่อ เพื่อเปิดตัวให้บุคคลทั่วไปเข้ามาสมัครใช้งานได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และนั่นก็ทำให้ facebook ในวันนี้มีผู้ใช้งานหลายพันล้านคนทั่วโลก และเขาก็ไม่มีความคิดที่จะขายบริษัทอีกเลยนับตั้งแต่นั้น
- Mark เขาเชื่อว่ากุญแจสำคัญในการสร้างบริษัทนั้น คือการโฟกัสในการเรียนรู้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งการสร้างบริษัทมันก็เหมือนกับกระบวนการการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานต่าง ๆ แล้วจากนั้นถ้าหากคุณตั้งค่าการทดลองได้ดี คุณก็จะได้เรียนรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง โดย Mark เขาได้ยกตัวอย่างจากการที่เขาให้อำนาจแก่ทีมวิศวกรของเขา ในการทดลอง facebook ในเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันออกไปนับหมื่นเวอร์ชั่นในเวลาเดียว อาจปล่อยให้กลุ่มคนลองใช้งานสักหมื่นคนแล้วดูผลตอบรับว่า facebook เวอร์ชั่นไหน การแสดงฟีดแบบไหน ที่ได้รับผลตอบรับดีที่สุด จากนั้นก็ค่อยนำไปปรับใช้กับผู้คนในวงกว้างต่อไป ซึ่งนี่คือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในองค์กรของ faceboook
- Mark บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท หลายคนคิดว่า พอมีผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ให้ทำการตลาด ทำ Marketing ทำการสื่อสารออกไปเยอะ ๆ แต่เขาบอกว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าก็คือ ตัวของ product ตัวของผลิตภัณฑ์มันจะต้องดี และจะต้องทุ่มเทเพื่อพัฒนามัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านการมีฟีเจอร์ต่าง ๆ การลงทุนในการสร้างชุมชน community การลงทุนในการเก็บ data การลงทุนในทีม engineer เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม เพราะเมื่อผู้คนใน community ที่เข้ามาใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นแฮปปี้ พวกเขาก็จะบอกต่อแก่คนรอบข้างเอง
- Mark เล่าว่า ตอนเริ่มทำ Facebook ใหม่ๆ นั้น ทุกอย่างถูกเขียนด้วยภาษา PHP ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้เป็นภาษาที่เขาเรียนจากที่ฮาร์วาร์ด แต่เพราะเขามีพื้นฐานภาษา C ที่ดี ทำให้สามารถเรียนรู้ PHP ได้ภายในเวลาเพียง 1-2 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถ้ามีพื้นฐานที่ดี การต่อยอดไปเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร
- Mark เล่าว่า ก่อนที่จะมี Facebook เขาเคยสร้างเว็บไซต์อื่น ๆ มาหลายอย่าง เช่น Facemash ที่เอารูปนักศึกษามาให้โหวตว่าใครดูดีกว่ากัน ซึ่งทำเอาเขาเกือบโดนไล่ออก ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลในการแก้ปัญหาให้ชุมชนรอบตัวของเขาด้วย software มาตั้งแต่ต้น และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา Facebook ต่อยอดขึ้นมาในภายหลัง
- หลังจากที่บริษัทเริ่มเติบโต งานของ Mark Zuckberg นั้น เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับ “การจ้างคนเข้ามาทำงาน” เพราะเขามองว่า เมื่อบริษัทเริ่มเติบโต ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการมีคนเก่ง ๆมาร่วมงาน เพราะในยุคนี้ เทคโนโลยีพัฒนาจนทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและถูกลง ดังนั้น “จุดแข็งของบริษัทจึงไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่คน” ยิ่งตอนที่บริษัทยังเล็ก การมีคนฉลาดและมีไอเดียดี ๆ จะยิ่งส่งผลให้ขับเคลื่อนธุรกิจให้รุดหน้าและเติบโตแบบก้าวกระโดดได้เร็วขึ้น
- Mark เปิดเผยว่า วิธีการออกแบบฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของ Facebook นั้น บางทีก็เกิดจากพนักงานธรรมดาที่แค่พวกเขามองเห็นปัญหาแล้วลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากใคร เราต้องส่งเสริมให้พนักงานกล้าคิด กล้าลอง กล้าเสนอไอเดียใหม่ ๆ โดยไม่ต้องกลัวความผิดพลาด เพราะมุมมองที่แตกต่างหลากหลายนั่นแหละ ที่จะผลักดันให้บริษัทสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมดี ๆ ออกมาได้ไม่รู้จบ
- Mark ยอมรับว่า แม้ตัวเขาเองก็มักมัวแต่เล่น Facebook จนเสียเวลาเปล่าเหมือนกัน แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ผู้คนใช้เวลาทำบน Facebook ส่วนใหญ่ก็ยังมีคุณค่าในแง่ของการเชื่อมต่อและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เพียงแต่มันก็เหมือนกับเทคโนโลยีทุกอย่างที่ผู้ใช้ต้องรู้จักควบคุมและวางขอบเขตที่เหมาะสมเอง ไม่ใช่ปล่อยให้มันมาควบคุมเวลาและพฤติกรรมของเราจนเกินพอดี
- Mark เล่าว่า หลักการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ของ Facebook คือการ “เชื่อมั่นในทีมที่ฉลาดที่สุด” ถ้ามีใครสักคนในทีมที่เก่งมาก ๆ แนะนำว่าควรใช้เทคนิคอะไร เขามักจะให้การสนับสนุน แต่ก็ไม่ใช่เชื่อมั่นแบบไร้เหตุผล โดยเวลาที่ตัดสินใจจริง ๆ เราก็ยังต้องโฟกัสไปที่เป้าหมายหลักของบริษัท และคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่าง ๆ ประกอบกันด้วย
- Mark ยืนยันว่าแม้เวลาผ่านไป บริษัทจะขยายตัวขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนคือความต้องการที่จะ “สร้างสิ่งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด” เพราะโลกก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราไม่มีทางหยุดพัฒนาได้ ไม่อย่างนั้นจะล้าสมัยเอาได้ง่าย ๆ แต่การสร้างของใหม่ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป ต้องรู้จักปรับปรุงพัฒนาของเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
- Mark มองว่าความสำเร็จของ Facebook ที่เติบโตได้รวดเร็ว และตอนที่ทำ page view ได้วันละ 400 ล้านครั้ง ทั้ง ๆ ที่มีพนักงานแค่ 50 กว่าคนได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลังของเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทำให้คนทุกวันนี้สามารถ “ทำอะไรได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง” ต่างจากสมัยก่อนที่การจะสร้างอะไรสักอย่าง อาจต้องใช้ทุนมหาศาล จ้างคนเป็นร้อย แต่วันนี้เด็กในหอพักก็สามารถสร้างอะไรยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้แล้ว ถือเป็นยุคที่คนรุ่นใหม่ไม่ควรพลาดในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เต็มที่ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมวงกว้าง
- ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร หากเรามีความเข้าใจผู้บริโภคอย่างถ่องแท้ ก็จะเป็นข้อได้เปรียบที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก
- Mark มองว่าจุดอ่อนของโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่น ๆ ที่มีมาก่อน Facebook คือ พวกเขาไม่ได้เน้นเรื่อง “ตัวตนที่แท้จริง” (real identity) เพราะผู้ใช้สามารถสมัครด้วยชื่อปลอมหรือนามแฝงได้ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การสื่อสารกับตัวตนจริงๆของกันและกัน อีกทั้งระบบเพื่อนก็มีข้อจำกัด ไม่สามารถคลิกดูได้ว่าเพื่อนของเพื่อนเรามีใครบ้าง ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ออกไป ในขณะที่ Facebook ตั้งใจแก้ปัญหาจุดนี้ตั้งแต่ต้น ด้วยการกำหนดให้สมาชิกต้องใช้ชื่อและอีเมลจริงในการสมัคร และมีระบบ friending ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เติบโตแซงคู่แข่งได้ในที่สุด
- เมื่อ Mark ถูกถามว่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นคนสร้าง Facebook ขึ้นมา เขาคิดว่าจะต้องมีใครสักคนสร้างมันขึ้นมาแทนหรือไม่ ซึ่งเขาก็ตอบว่า มันไม่จำเป็นเสมอไป เพราะตอนแรกที่เขาได้คุยกับเพื่อนร่วมห้อง เขาก็ยังคิดแค่ว่าสักวันคงต้องมีคนทำโซเชียลเน็ตเวิร์คให้คนทั้งโลกใช้แน่ ๆ โดยคาดเดาว่าอาจจะเป็นบริษัทใหญ่ ๆอย่าง Microsoft, Google หรือไม่ก็ Yahoo ที่น่าจะมีทรัพยากรมากพอ ส่วนพวกเขาที่เป็นแค่นักศึกษาคงทำอะไรได้ไม่มาก ซึ่งความคิดนี้ก็กลายเป็นผิดถนัด เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นกลับมองข้ามโอกาสนี้ไป ด้วยความคิดที่ว่า คอนเซ็ปต์นี้ไม่น่าจะทำเงินได้ จึงไม่ได้ทุ่มเทอะไรกับมันมากนัก ซึ่งต่างจาก Facebook ที่พวกเขาขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่ามันจะต้องกลายเป็นสิ่งสำคัญของโลกนี้ในอนาคต ที่แม้ ณ ตอนนั้นพวกเขาจะยังหาโมเดลธุรกิจไม่ได้ก็ตามที และนี่เองคือเหตุผลที่ทำให้สตาร์ทอัพเล็ก ๆ สามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ได้ เพราะแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นที่มากกว่านั่นเอง
- กล้าลองทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เพื่อฝึกฝนตัวเอง เช่น ตอนแรก Mark เองก็กลัวการพูดต่อหน้าสาธารณะมาก แต่เขาก็ฝืนตัวเองรับคำเชิญไปพูดตามที่ต่าง ๆ บ่อย ๆ โดยไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก แค่อยากให้ตัวเองชินชากับมัน ซึ่งก็ได้ผลดี ความกลัวก็ค่อย ๆ หายไป เพราะมันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดสักเท่าไหร่ และประสบการณ์พวกนี้ก็ช่วยให้เราเติบโตขึ้นได้เสมอ
- Mark เล่าว่าตอนที่ Peter Thiel ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง paypal เข้ามาลงทุน เขาได้เรียกร้องให้ผู้ก่อตั้ง facebook ทุกคนทำ vesting schedule ซึ่งเป็นการกำหนดให้หุ้นของผู้ก่อตั้งทยอยตกเป็นของพวกเขาจริง ๆทั้งหมดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่นถ้าแต่ละคนได้สัดส่วนคนละ 25% แต่ต้องทำงานต่ออีก 4 ปี จึงจะได้หุ้นครบ มันเป็นเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ผู้ร่วมก่อตั้งทำงานกับบริษัทต่อไปนาน ๆ แต่ในตอนนั้น Mark ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร พอถูกนายทุนจี้ให้ทำตามเงื่อนไขก็เลยเกิดปัญหากับ Eduardo ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนของ facebook ที่ไม่ยอมย้ายมาทำงานที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งความไม่รู้นี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่ Mark อย่างมหาศาล แต่เขาก็ถือเป็นบทเรียนราคาแพงว่า การเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แม้จะผิดพลาดบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย
- เมื่อ Mark ถูกถามว่าที่ Facebook นั้น เขาได้เจอปัญหาและอุปสรรคมากกว่าสตาร์ทอัพทั่วไปในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มก่อตั้งหรือไม่ โดย Mark ก็ตอบว่า “น่าจะใช่” เพราะเตัวของขานั้น เริ่มต้นก่อตั้งบริษัท ตั้งแต่อายุได้แค่ 19 ปีเท่านั้น ซึ่งตัวของเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำธุรกิจเลยสักนิด เลยต้องเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ แต่เขาก็เชื่อว่าประสบการณ์เหล่านั้นล้วนมีค่า เพราะมันทำให้เราเติบโต ซึ่งมันก็ไม่เป็นไรที่เราจะทำผิดพลาดไป ขอแค่คุณอย่ายอมแพ้ เดินหน้าต่อไปให้ได้ นั่นแหละคือสิ่งสำคัญที่สุด
- Mark แนะนำว่าผู้ประกอบการควรจดจ่ออยู่กับ “สิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงแค่ไม่กี่อย่าง” เพราะในแต่ละวันอาจมีเรื่องให้ตัดสินใจนับร้อย แต่จริง ๆ แล้ว มันจะมีแค่ 1-2 เรื่องเท่านั้นที่สำคัญจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นคำแนะนำที่เขาได้จาก Peter Thiel ที่เป็นนายทุนรุ่นแรกสุด ตอนที่เริ่มต้นทำ Facebook นั่นเอง ดังนั้น Mark เขาจึงพยายามฝึกตัวเองให้แยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ และทุ่มเทมันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ไขว่คว้าทำทุกอย่างที่ผุดขึ้นมาในหัว
- บางครั้งการหมกมุ่นกับการแข่งขันกับคู่แข่งจนลืมโฟกัสกับการสร้างสินค้าที่ดีที่สุดให้ลูกค้าก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป เพราะการแข่งขันที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ “ความเร็ว” แต่อยู่ที่ “คุณภาพ” มากกว่า โดยให้โฟกัสไปที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงจุดมากที่สุด
- หัวใจสำคัญของ Facebook และภารกิจของ Mark นั้น เขาบอกว่ามันคือการ “เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน” เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อผู้คนรวมพลังกัน สิ่งดีงามยิ่งใหญ่ย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งการมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันคือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของสังคมในการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เหล่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ Facebook พยายามสร้างขึ้นมา
- Mark มองว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ Facebook ประสบความสำเร็จได้ คือการเปิดใจเรียนรู้และรับฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่มากประสบการณ์อย่าง Sean Parker ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพอย่าง Napster และ Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้ง paypal ที่ให้ข้อคิดเรื่องการวางกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น ต้องโฟกัสเรื่องการสร้าง network effect, เลือกทำเรื่องสำคัญให้ดีที่สุด, ขยายตลาดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Mark ไม่เคยคิดถึงมาก่อน แต่เมื่อนำมาปรับใช้ ก็ส่งผลดีต่อการเติบโตของ Facebook เป็นอย่างมาก
- แนวคิดที่ Mark ได้เรียนรู้จากการบริหารงาน คือการบริหารทีมให้เหมือน “กระบวนการทางวิทยาศาสตร์” นั่นคือการตั้งสมมติฐาน ลองทดสอบ เก็บผลลัพธ์ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงในครั้งต่อไป
- Mark ให้ความเห็นในประเด็น AI regulation หรือผู้ออกกฎควบคุมปัญญาประดิษฐ์ ว่า สิ่งสำคัญคือการรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องผู้บริโภคกับการส่งเสริมนวัตกรรม เขายอมรับว่ามีความเสี่ยงจริงอยู่ และเขาก็เข้าใจในความกังวลของรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มองว่า AI น่าจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในอนาคตที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล และสหรัฐฯ เองก็มีความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการกำกับดูแลที่ฉลาดคือการคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากการเป็นประเทศผู้นำในวงการนี้อย่างไรได้บ้าง โดยที่ไม่สกัดกั้นเทคโนโลยีจนเกินไป แต่ก็สามารถควบคุมไม่ให้ AI มันตกไปอยู่ในมือใครก็ตามโดยง่ายเช่นกัน
- หนึ่งในประเด็นละเอียดอ่อนเรื่อง AI regulation ที่ Mark ให้ความสำคัญคือเรื่องการเปิดเผย source code (open source) ซึ่งเขาเองสนับสนุนแนวทางนี้อยู่ เพราะ Meta ก็มีโครงการ open source หลายอย่าง โดยเขาเล็งเห็นข้อดีในแง่ที่ว่า เมื่อมีคนเข้ามาใช้งานมันเยอะขึ้น ก็จะทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น ช่วยให้ราคาถูกลง แก้บั๊กได้ไวขึ้น และปลอดภัยกว่าด้วย เพราะเปิดให้ใครก็ได้มาช่วยกันตรวจสอบ แต่ในทางกลับกัน การเปิดเผยโค้ดก็อาจโดนนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ง่ายกว่าเช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการหาจุดสมดุลว่า ควรเปิดเผยโมเดลแค่ไหนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยไม่เสี่ยงเกินไป ซึ่งเขายอมรับว่าตรงนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งก็อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทำแบบ open source เพราะมันกระทบต่อผลประโยชน์ของพวกเขาโดยตรง พวกเขาจึงพยายามผลักดันให้มีการจำกัดมากขึ้น แต่ Mark ก็เชื่อว่าจุดยืนของ Meta ที่เป็นบริษัทแม่ของ Facebook นั้น น่าจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรม AI โดยรวมในระยะยาวมากกว่า
- Mark เล่าถึงความตั้งใจที่จะนำ AI มาช่วยในเรื่องการสนทนากับผู้ใช้งานแอปต่าง ๆ ของ Meta และ Facebook ว่าเป้าหมายคือการสร้างประสบการณ์ที่เป็นธรรมชาติและสนุกสนานมากขึ้น แทนที่จะเป็นการสนทนากับบอทแบบแห้ง ๆ ซ้ำ ๆ เหมือนเดิม เขาจินตนาการถึงการมีผู้ช่วยอัจฉริยะส่วนตัวที่สามารถปรับแต่งได้ตามความชอบของแต่ละคน คอยช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือแม้แต่คอยคุยเล่นสร้างรอยยิ้มให้เราได้ โดยเขาเชื่อว่าทุกคนควรมี AI เป็นของตัวเอง
- Mark ให้ความเห็นเกี่ยวกับอุปกรณ์แว่น VR ว่า เขามองมันเป็นมากกว่าแค่เครื่องเล่นเกม แต่เป็นแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่เลยทีเดียว โดยสิ่งสำคัญของแพลตฟอร์มคือการใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง, เพื่อการสื่อสาร หรือเพื่อการทำงาน ซึ่งเหมือนกับที่พีซีหรือมือถือที่ได้วิวัฒนาการมา
- Mark เล่าว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา เขาได้มีเวลาคิดไตร่ตรองถึงสิ่งที่มีความหมายต่อตัวเองและบริษัทมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มุ่งแต่จะเชื่อมต่อผู้คนให้ได้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้เขาอยากให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งที่ยอดเยี่ยมและน่าทึ่ง ควบคู่ไปกับการสร้างสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ เพราะเทคโนโลยีไม่ได้มีไว้แค่เพื่อใช้ในการเข้าถึงใครได้มากกว่ากัน แต่เทคโนโลยีนั้นมันต้องเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนที่ใช้มันได้อย่างแท้จริงได้ด้วย
- Mark บอกว่าตัวเขารู้สึกตื่นเต้นกับงานที่ทำตอนนี้มากที่สุดในอาชีพการงานเลยก็ว่าได้ เพราะเทคโนโลยี AI และ Metaverse ที่กำลังมาแรง ทำให้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างไม่จำกัด เหมือนได้เริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมด และนั่นเป็นเสน่ห์สำคัญของวงการไอทีที่ทำให้เขาหลงใหลมาโดยตลอด นั่นคือมันไม่เคยหยุดนิ่ง มันมีสิ่งใหม่ ๆ มีความท้าทายให้เรียนรู้อยู่เสมอ
- Mark มองว่าแม้หลายคนจะมองว่างาน Metaverse ของเขายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และกังขาเรื่องในเรื่องของงบประมาณมหาศาลที่ลงไปหลายพันล้านดอลล่าร์ฯ ต่อปี แต่พอเห็นแว่น Meta Quest 3 รุ่นแรกของตลาดออกมา เขาก็ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าสิ่งที่ลงทุนไปน่าจะไปได้สวย โดยเฉพาะการที่มันต้องสู้กับแว่น Vision Pro ของ Apple ในด้านของประสบการณ์การใช้งานได้เช่นกัน แต่มีราคาที่ถูกกว่าหลายเท่าตัว
- Mark เล่าว่า Ray-Ban Stories หรือแว่นตาอัจฉริยะที่ Meta ร่วมกับ Luxottica พัฒนาขึ้นนั้นประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะแฟชั่นไม่ใช่จุดแข็งของ Meta โดยตรง แต่สุดท้ายก็เป็นการจับมือกันระหว่างเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกับดีไซน์และความเชี่ยวชาญด้านแว่นตาชั้นเลิศ เลยกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลงตัวทั้งความสามารถ ความสวยงาม และราคาที่จับต้องได้
- Mark Zuckerberg บอกว่าเขาไม่ได้คิดเรื่องการสร้างตำนานหรืออยากให้คนจดจำอะไรมากนัก สิ่งที่เขาอยากทำคือการสร้างผลกระทบที่ดีจากสิ่งที่คิดค้น และถ่ายทอดค่านิยมที่ดีให้กับลูก ๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นคนดีของสังคม เขาเชื่อว่าครอบครัวและคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่จะสืบทอดเรื่องราวของเราต่อไป ดังนั้นตอนนี้เขาเลยเน้นไปที่การใช้ชีวิต การสร้างสรรค์ และการอบรมเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- Mark เขามองว่าการทำธุรกิจเป็นการวิ่งมาราธอน บางทีเราต้องพักหายใจ เติมพลังด้วยกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง ไม่ใช่โฟกัสแต่เรื่องเดิม ๆ ซึ่งมันก็มีเรื่องให้เรียนรู้เสมอ เพื่อให้ชีวิตมีสีสันและมีพลังสดใสอยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง
- Mark เล่าว่าการได้พบปะพูดคุยกับ Jensen Huang ซีอีโอของ Nvidia นั้นมักจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าสนใจทั้งในแง่เทรนด์ของอุตสาหกรรม ไปจนถึงเรื่องปรัชญาการบริหารบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะผู้ก่อตั้งที่อยู่ในวงการมานานที่สุดในบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ด้วยกัน ก็เลยมีเรื่องราวและบทเรียนมากมายให้แบ่งปันกัน ซึ่ง Mark ก็ยินดีรับฟังคำแนะนำต่าง ๆ จากเขาด้วยความเคารพนับถือ
- Mark ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของเขาในฐานะพ่อ ว่าแม้เขาจะพยายามปลูกฝังค่านิยมและจารีตประเพณีบางอย่างให้ลูก ๆ แต่สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมให้พวกเขาได้แสดงออกในสิ่งที่รักและสนใจอย่างแท้จริง เขามองว่าลูกแต่ละคนมีบุคลิกและความชอบที่แตกต่างกันมาตั้งแต่เกิด หน้าที่ของพ่อแม่คือการโอบอุ้มและให้อิสระพวกเขาได้สำรวจโลก มากกว่าการกำหนดทิศทางชีวิตให้ ซึ่งเขาก็เรียนรู้จากการเฝ้าดูพัฒนาการของลูก ๆ ไม่แพ้กับที่ลูก ๆ ได้เรียนรู้จากเขาเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องของการเติบโตไปด้วยกันของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
- Mark ยอมรับว่าเขาเป็นคนชอบการแข่งขัน เพราะเมื่อมีคู่แข่งที่ทำได้ดี เขาจะรู้สึกถูกกระตุ้นและมีความมุ่งมั่นมากขึ้น ซึ่งมันสร้างความรู้สึกเร่งด่วนให้กับทีมงานว่าจะต้องรีบทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่งให้ได้เร็วที่สุด เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ดีเพราะมันทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขันนี้
- Mark มองว่าปริมาณเนื้อหาที่ผู้คนแชร์ในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นทวีคูณทุกปี ราวกับเป็น Moore’s Law เวอร์ชั่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้คนอาจจะแชร์มากกว่าทุกวันนี้ถึง 1,000 เท่า เขาจึงชวนให้ทุกคนมองไปข้างหน้าว่าในยุคที่ข้อมูลท่วมท้น จะมีบริการอะไรเกิดขึ้นมารองรับกันบ้าง
- Mark อธิบายว่าสาเหตุที่ Facebook มีผู้ใช้กลับมาใช้งานซ้ำ ๆ เพราะมันตอบสนองต่อธรรมชาติของมนุษย์ที่ให้ความสนใจกับเรื่องราวของคนรอบตัวเป็นพิเศษ สมองของคนเรามีวิวัฒนาการมาเพื่อจดจำใบหน้า อ่านอารมณ์ และมันทำให้เราฝันถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นหลัก ไม่เหมือนสัตว์อื่น ๆ ดังนั้นบริการที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันอย่าง Facebook จึงสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์โดยแท้
- Mark แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรเลือกแก้ปัญหาที่เป็นรากฐานของมนุษย์หรือของโลก มากกว่าปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่ว ๆ ไป เพราะสิ่งที่น่าสนใจที่สุดมักจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ฝังรากลึกในตัวของมนุษย์เราอยู่แล้ว โดยเขาได้ยกตัวอย่างจาก Wikipedia ที่ประสบความสำเร็จได้ในวงกว้างนั้น ก็เพราะมันสามารถตอบสนองต่อความอยากรู้ในข้อมูลสาธารณะของผู้คน ซึ่งเป็นความต้องการระดับพื้นฐานของมนุษย์ และเมื่อผู้คนมีพฤติกรรมต้องการแชร์มากขึ้นและต้องการเชื่อมต่อกันในโลกออนไลน์มากขึ้น ทาง Facebook ก็เข้ามาตอบสนองความต้องการนี้ของมนุษย์
- Mark เล่าว่าเขาเริ่มเขียนโค้ดเว็บ Facebook ครั้งแรกตอนเดือนมกราคม ปี 2004 ช่วงเวลาว่างที่มหาวิทยาลัย Harvard ที่ช่วงนั้นเรียกกันว่า Reading Period ซึ่งจริง ๆ เป็นเวลาที่ต้องใช้อ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ แต่เขากลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเขียนโปรแกรม จนเพื่อนบอกว่าถ้าอยากสอบผ่านวิชา Rome of Augustus ก็ให้ไปอ่านหนังสือบ้าง ทาง Mark ก็เลยเขียนเว็บง่าย ๆ ขึ้นมา เพื่อให้เพื่อน ๆ ช่วยกันแชร์ข้อมูลเตรียมสอบวิชานี้ ปรากฏว่าคะแนนสอบในคลาสของปีนั้นได้คะแนนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในมหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ Mark สร้างแพลตฟอร์มให้ทุกคนช่วยกันแบ่งปันความรู้ ทำให้นักศึกษาในคลาสได้เกรดที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนอาจารย์ผู้สอนต้องแปลกใจกับคะแนนสอบที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าทุกปีที่ผ่านมานั่นเอง
- Mark เผยว่าเขาตั้งใจไปเยือน Silicon Valley ครั้งแรกเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ในเดือนมกราคม 2004 แต่ก็ชอบบรรยากาศ สภาพอากาศ และบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ของที่นั่น เขากับเพื่อน ๆ จึงตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตช่วงซัมเมอร์ที่ Silicon Valley อีกครั้ง ซึ่งตอนแรกเขาก็ไม่ได้คิดจะลาออกจากการเรียน เพียงแค่อยากหาไอเดียธุรกิจดี ๆ สักอย่าง จนกระทั่งผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook อย่าง Dustin Moskovitz บอกว่า Facebook นั้นโตไว พัฒนายาก ไอ้การที่จะทำควบคู่ไปกับการเรียนคงไม่ไหว น่าจะลาเรียนสักเทอมนึง แล้วค่อยกลับไปเรียนต่อเมื่อระบบเสถียรแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย เพราะมัวแต่สนุกกับการสร้าง Facebook ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
- Mark เชื่อว่าการเป็น founder หรือผู้ก่อตั้งบริษัทนั้นไม่ควรปล่อยปละละเลยธุรกิจ แต่ต้องคอยตัดสินใจและมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อผลักดันบริษัทให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม founder ก็ต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเองด้วย เพราะไม่มีใครสามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งสำคัญคือการดึงคนเก่ง ๆ ที่มีความสามารถเสริมจุดอ่อนของเรา เข้ามาร่วมงาน และช่วยกันสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมา
- Mark แนะนำให้ผู้ประกอบการฟังความต้องการของผู้ใช้ทั้งเชิงคุณภาพ จากคำพูด และเชิงปริมาณ จากพฤติกรรมการใช้งานจริง อย่างตอนแรก Facebook มีให้อัปโหลดรูปโปรไฟล์ได้แค่รูปเดียว แต่สังเกตว่าหลายคนเข้ามาเปลี่ยนรูปใหม่ทุกวัน แสดงถึงความต้องการแชร์รูปเพิ่มเติม พอมีกำลังคนและเซิร์ฟเวอร์พร้อม จึงพัฒนาฟีเจอร์อัลบั้มรูปขึ้นมา ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ตรงจุด จนวันนี้มียอดอัปโหลดถึงหลายร้อยล้านรูปต่อวัน
- Mark ให้ข้อสังเกตว่า เพื่อนของเขาแต่ละคนที่ร่วมก่อตั้ง Facebook ในตอนแรก ไม่ว่าจะเป็น Chris Hughes, Dustin Moskovitz หรือ Eduardo Saverin ต่างก็มีเหตุผลและแรงจูงใจในการลาออกจากมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการทำธุรกิจ Startup เป็นเรื่องเสี่ยง ไม่มีใครการันตีความสำเร็จได้ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกันในช่วงเวลาดังกล่าว
- Mark แนะนำว่าผู้ประกอบการไม่ควรไปยึดติดกับหลักการ 80/20 มากจนเกินไป เพราะการสร้างบริการที่ดีที่สุด บางครั้งก็ต้องใส่ใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่าง เพื่อให้ได้คุณภาพโดยรวมที่เหนือกว่า ไม่ใช่แค่ทำให้พอใช้ผ่าน ๆ ไป
- ในช่วงแรกของการพัฒนา Facebook นั้น Mark และทีมงานพวกเขาใช้งบแค่เพียง $85 ต่อเดือน (ประมาณสามพันกว่าบาท) ในการเช่าเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดหลักในการขยายบริการไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แต่นั่นมันก็ทำให้พวกเขามีเวลาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นและจัดการปัญหาต่าง ๆ ก่อนที่จะขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเซิร์ฟเวอร์อาจล่มได้ และเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
- ในช่วงแรก Facebook พยายามขยายบริการไปยังมหาวิทยาลัยที่มีคู่แข่งเป็นของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว เพื่อพิสูจน์ว่า Facebook นั้นเหนือกว่าและดีพอที่จะลงทุนทำต่อในระยะยาว หากชนะคู่แข่งในสนามยากได้ ก็น่าจะไปได้สวยกับที่อื่น ๆ
- Mark ให้ความเห็นว่าหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Augmented Reality คือการย่อขนาดคอมพิวเตอร์ระดับ Supercomputer ให้เล็กลงจนพอดีกับกรอบแว่นตาธรรมดาที่หนาแค่ 5 มิลลิเมตร ซึ่งจะต้องมีทั้งเลเซอร์โปรเจคเตอร์, เซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่งตา, ลำโพง, ไมโครโฟน และระบบระบายความร้อน แสดงให้เห็นว่าการย่อขนาดให้เล็กลงนั้นท้าทายกว่าการสร้างของใหญ่โตเสียอีก
- Mark เน้นย้ำความสำคัญของการเลือก “คนที่จะมาร่วมเดินทางไปด้วยกัน” ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือผู้ร่วมงาน เพราะเราจะกลายเป็นเหมือนคนที่เราใช้เวลาด้วยมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราอยากทำงานด้วย เพราะเราจะได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเขามีหลักในการจ้างงานว่า จะรับคนเข้ามาทำงานก็ต่อเมื่อเขาคิดว่า ตัวเองก็ยินดีที่จะไปทำงานกับคน ๆ นั้นเช่นกัน เพราะพวกเขาจะได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน แม้ในฐานะเพื่อนร่วมงาน
- Mark ให้ความเห็นว่าการมี partnership ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือการทำงาน เขาบอกว่าบางคนอาจชอบทำอะไรคนเดียวเป็นหลัก แต่สำหรับเขาแล้วการมีหุ้นส่วนร่วมทางเดินไปด้วยกันนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายและสร้างแรงบันดาลใจได้มากกว่า ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขากับ Sheryl Sandberg ซึ่งเป็น COO หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Facebook มาตั้งแต่ปี 2008 สามารถร่วมงานกันได้อย่างราบรื่นมายาวนานกว่า 14 ปี จนเธอได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้หญิงทรงอิทธิพลที่สุดในซิลิคอนวัลเลย์”
- เมื่อพูดถึงการเลี้ยงดูลูก Mark เล่าว่าเขาพยายามอ่านหนังสือให้ลูก ๆ ฟังทุกคืนไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหน และมีช่วงคุยกับลูก ๆ ถึงสิ่งสำคัญในชีวิต 4 ข้อคือ 1. สุขภาพ 2. ครอบครัวและเพื่อนฝูง 3. ความตื่นเต้นกับอนาคต และ 4. การช่วยเหลือผู้อื่นในแต่ละวัน ซึ่งเขาจะไม่ปล่อยให้ลูก ๆ นอนจนกว่าจะบอกได้ว่าวันนี้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรับใช้สังคมตั้งแต่เด็ก
- Mark ให้ความเห็นว่าการทำงานแบบ remote นั้นจะช่วยปลดล็อกโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกได้มากขึ้น เพราะปกติแล้วโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจมักถูกผูกติดกับสถานที่ทางกายภาพเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เทคโนโลยี VR/AR จะช่วยให้คนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยรู้สึกเหมือนอยู่ในที่ทำงานจริง ๆ
- ถ้าถามว่า Mark เขาจัดการอย่างไรเมื่อตื่นมาพบข่าวร้ายต่าง ๆ ในอีเมลทุกเช้า โดย Mark ตอบว่าเขามักจะใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงทำกิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาทางน้ำ เพื่อ “รีเซ็ต” สมองและอารมณ์ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในแต่ละวันได้ดีขึ้น มิเช่นนั้นเขาอาจจะตกอยู่ในภาวะครุ่นคิดวนเวียนกับปัญหาต่าง ๆ จนทำให้ผลงานด้อยประสิทธิภาพลง
- Mark บอกว่าเขาอยากเห็นโลกที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามจินตนาการของตัวเองได้มากขึ้น เพราะเด็ก ๆ ทุกคนล้วนเป็นศิลปินโดยกำเนิด แต่ความท้าทายคือจะทำอย่างไรจึงจะคงความเป็นศิลปินนั้นไว้ได้เมื่อเติบโตขึ้น ซึ่ง Mark ก็หวังว่าเศรษฐกิจใหม่บน Metaverse จะช่วยให้ผู้คนจำนวนมากสามารถใช้ชีวิตในการสร้างงานศิลปะที่พวกเขารัก แทนที่จะเป็นแค่การทำงานเลี้ยงชีพธรรมดา
- Mark ให้ข้อคิดว่าหนึ่งในความหมายของชีวิตคือการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมมักมองข้ามคุณค่า เหมือนกับตอนเรียนหนังสือที่มักบอกให้ทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยไปเล่นกับเพื่อน แต่บางทีการเล่นกับเพื่อนนี่แหละอาจเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตก็เป็นได้ เพราะมันไม่ใช่แค่การใช้เวลาว่างเล่น แต่เป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิตของคนเรา
- Mark มองว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีแต่ด้านลบ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันอย่างไร ถ้าใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้คน ใช้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าใช้แค่เสพเนื้อหาด้านลบจนเกินพอดีก็อาจส่งผลเสียได้ เขาจึงพยายามปรับแต่งผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
- Facebook นั้นมีเครื่องมือมากมายให้ผู้ใช้ควบคุมประสบการณ์ของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย ทั้งการปิดกั้นผู้ที่รบกวน การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้เยาว์ การให้ผู้ปกครองดูแลการใช้งานของบุตรหลาน การบอกเวลาที่ใช้ไป ฯลฯ ซึ่ง Mark มองว่าสิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้ผู้ใช้ว่ามีเครื่องมือเหล่านี้ รวมถึงแนะนำวิธีใช้ให้เหมาะสมด้วย
- Mark คิดว่าไม่มีเวลาที่แน่นอนตายตัวว่าจะต้องใช้โซเชียลมีเดียนานเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่ามากเกินไป เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้มันทำอะไร ถ้าคุณใช้เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ก็อาจจะใช้ได้นานพอสมควร เหมือนกับที่เราอยากใช้เวลากับเพื่อนของเราจริง ๆ แต่ถ้าคุณใช้เพื่อกดดันตัวเองหรือทำให้อารมณ์แย่ลง การจำกัดเวลาเล่นก็อาจเป็นสิ่งที่จำเป็น
- จากประสบการณ์ส่วนตัวของ Mark เขาบอกว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญมากที่ช่วยรักษาสมดุลพลังงานและให้ความหลากหลายในชีวิต เพราะมันง่ายที่จะมัวแต่โฟกัสกับการทำงานจนลืมดูแลสุขภาพ การได้แข่งขันหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ผ่านการกีฬาจะช่วยสร้างความสดชื่นได้ดี
- Mark มองว่าแว่น VR จะเป็นแพลตฟอร์มที่ขยายขีดความสามารถในการออกกำลังกายได้มาก เพราะมันจะทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายจริง ๆ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน และมีโอกาสที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ อีกมากมายที่เกินกว่าข้อจำกัดในโลกจริง
- เทคโนโลยีแว่น VR จะทำให้การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เช่น การวาดรูป เล่นดนตรี ทำอาหาร เป็นไปได้ง่ายและเข้าถึงได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ราคาแพง แถมยังสามารถปรับแต่งหรือจินตนาการสิ่งใหม่ ๆ ที่เกินกว่าข้อจำกัดทางกายภาพได้อีกด้วย
- ในอนาคตอันใกล้ ครีเอเตอร์หรือแม้แต่ธุรกิจเล็ก ๆ จะสามารถสร้าง AI ของตัวเองขึ้นมาเพื่อมาช่วยสื่อสารโต้ตอบกับแฟน ๆ หรือลูกค้าได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้การดูแลชุมชนและบริการลูกค้าเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก
- เทคโนโลยี VR และ AR จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส เพราะทุกคนจะสามารถเข้าถึงสิ่งที่แต่ก่อนมีแต่คนมีกำลังทรัพย์สูงเท่านั้นที่จะมีได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี งานศิลปะ หรือแม้แต่ห้องทำงานส่วนตัวขนาดใหญ่ เพียงแค่ใส่แว่นก็จะมีพื้นที่เสมือนส่วนตัวเป็นของตัวเองได้ทันที
- Mark แนะนำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวที่มันจะมีต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ใช่มองแค่จำนวนคลิกหรือเวลาที่ใช้ เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสร้างประสบการณ์ที่ดีและมีความหมายให้กับผู้คน ไม่ใช่การเสพติดหรือวนเวียนอยู่กับสิ่งไร้สาระ
- ถึงแม้จะเป็นผู้ก่อตั้ง Facebook แต่ Mark ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะรู้ดีไปหมดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีสำหรับผู้ใช้งาน เขาจึงมักจะเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะจากคนอื่น ๆ ทั้งจากทีมงานและจากผู้ใช้เอง เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
- Mark มองว่าเรื่องของ connectivity หรือการเชื่อมต่อถึงกันนั้น มันไม่ได้หมายถึงความสงบสุขเสมอไป ถึงแม้ปัจจุบันโลกจะเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นจนเป็นหน่วยเดียวกัน แต่ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ เพราะการเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น ไม่ได้การันตีว่าคนจะลงรอยและมีความสามัคคีกันมากขึ้น ดังนั้นเราต้องมุ่งสร้างความกลมเกลียวควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงด้วย
- ถึงแม้การเชื่อมโยงข้อมูลในระดับโลกจะเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่ Mark เห็นว่าเรายังต้องระวังผลกระทบด้านลบ เช่นการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จที่ยากจะควบคุม หรือการใช้ข้อมูลไปในทางที่ผิด ซึ่งอาจทำร้ายสังคมและกระทบต่อบุคคล เราจึงต้องพัฒนากลไกที่เหมาะสมในการกำกับดูแลและป้องกันข้อมูลร่วมกัน
- Mark เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI นั้น มีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และมีความเสี่ยง หน้าที่ของผู้ออกแบบและกำกับดูแลเทคโนโลยีเหล่านี้ คือการผลักดันให้เกิดผลดี ขณะเดียวกันก็ต้องลดทอนผลเสียให้ได้มากที่สุด นี่คือแนวทางที่ควรใช้กับนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มันเป็นพลังบวกต่อมนุษยชาติโดยรวม ไม่ใช่แค่มองผลประโยชน์ระยะสั้นเท่านั้น
- แม้ AI และระบบอัตโนมัติจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ Mark เชื่อว่ามันยังไม่สามารถเข้าใจความต้องการของมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้ การให้อัลกอริทึมเหล่านี้มาชี้นำชีวิตเราจึงยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เราต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งว่าอะไรคือสิ่งที่คนใส่ใจจริง ๆ แล้วออกแบบเทคโนโลยีให้สนับสนุนสิ่งนั้น ไม่ใช่ทำให้ติดกับดักของการสร้างการมีส่วนร่วมระยะสั้นเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นจะทำให้ผู้คนรู้สึกเสียเวลาและไม่พอใจในท้ายที่สุด
- Mark มองว่าการเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกันผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ใช่แค่ช่วยให้ติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกขึ้นเท่านั้น แต่มันยังเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษา การค้าขาย และโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวมได้ในระยะยาว การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจึงเป็นพันธกิจสำคัญของ Facebook ที่ Mark ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
- Mark ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในหลาย ๆ จุดหักเหของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้นำและนักคิดที่ยิ่งใหญ่มักจะเลือกเดินหน้าด้วยความหวังเสมอ แม้ในยามที่ผู้คนหวาดกลัวและมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่เราควรเอาเยี่ยงอย่าง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมเต็มไปด้วยความแตกแยก เราต้องเชื่อมั่นในพลังบวก พลังแห่งความหวัง ที่จะนำพาเราข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันให้ได้
- Mark เน้นย้ำว่าพัฒนาการสำคัญของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ การค้าขายแลกเปลี่ยนอย่างเสรี ไปจนถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต ล้วนอาศัยการเชื่อมต่อและเข้าใจกันระหว่างผู้คนทั้งสิ้น ดังนั้นเป้าหมายของ Facebook คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อเจตนารมณ์ของการเชื่อมโยงนี้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้คนสื่อสารและแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกันได้ง่ายและมีความหมายมากขึ้น
- Mark ได้ยกตัวอย่างเรื่องราวของเด็ก ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ช่วงเวลาสำคัญในชีวิต เช่น ตอนลูกหลานเริ่มหัดเดิน ผ่านรูปภาพและวิดีโอบน Facebook ไปจนถึงการสื่อสารกับคนที่เรารักทางไกลแบบเห็นหน้ากันผ่านวิดีโอคอล ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างกลมกลืนจนแทบไม่รู้ตัว และมีส่วนช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวที่ห่างไกลให้แน่นแฟ้นขึ้นได้
- Mark เล่าถึงเรื่องราวของแม่ลูกคู่หนึ่ง ที่ลูกสาวได้ใช้ Facebook Live ถ่ายทอดสดภาพของแม่ที่ป่วยหนักและนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล เพื่อให้ลูกสาวอีกคนที่อยู่อีกฝั่งของประเทศได้เห็นและพูดคุยกับแม่เป็นครั้งสุดท้าย โดยไม่ต้องเดินทางไกล นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของเทคโนโลยีที่ช่วยเชื่อมโยงคนในครอบครัวให้ได้ใกล้ชิดกันได้แม้ในช่วงเวลาสำคัญและคับขันเช่นนี้
- Mark ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปิดกว้างทางความคิด ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดเห็นและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่เจริญก้าวหน้า อย่างที่เขาได้ยกตัวอย่างว่า การแลกเปลี่ยนและไหลเวียนของวัฒนธรรมข้ามพรมแดน เกิดจากการที่ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันและเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในขณะที่สังคมที่ปิดกั้นตัวเองมักจะเสื่อมถอยในที่สุด ดังนั้น Facebook จึงมุ่งสร้างแพลตฟอร์มที่เอื้อให้ผู้คนได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน
- จากเรื่องราวที่ Mark เล่าถึงการที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เห็นภาพลูกสาวของเพื่อนกำลังหัดเดิน และภาพแรกที่หลานชายของเขาคลาน ผ่านรูปและวิดีโอที่ครอบครัวแชร์มาใน News Feed บน Facebook แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือเย็นชา แต่สามารถถ่ายทอดช่วงเวลาอันแสนอบอุ่นและมีความหมายของผู้คนได้ และสิ่งนี้เองที่เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ Mark อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้มากที่สุด
- Mark ย้ำว่าการทำให้นวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงได้โดยคนจำนวนมากนั้นเป็นเป้าหมายสำคัญ ไม่ใช่แค่การสร้างของที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ต้องทำให้มันถูกและใช้ได้จริงในวงกว้าง ไม่เช่นนั้นมันก็จะเป็นแค่ของเล่นราคาแพงสำหรับคนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่บริษัท Meta ต้องการ
- แม้หลายคนจะมองว่าการลงทุนในด้าน metaverse ของ Meta นั้นเร็วเกินไป แต่ Mark ก็ยืนยันว่ามันเป็นการลงทุนระยะยาวที่จำเป็น โดยชี้ให้เห็นว่าการสร้างนวัตกรรมครั้งใหญ่ ๆ มักต้องผ่านช่วงที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยสลับกันไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อทำให้วิสัยทัศน์ที่เชื่อมั่นนั้นเป็นจริงให้ได้
- Mark ให้ข้อมูลว่างบประมาณลงทุนของ Meta ส่วนมากกว่า 80% ยังคงใช้ไปกับการพัฒนาแอปหลักอย่าง Facebook, Instagram, WhatsApp และระบบโฆษณาอยู่ ขณะที่อีกราว 20% เท่านั้นที่ใช้ในโครงการ Reality Labs เพื่อวิจัยพัฒนา metaverse ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สมเหตุสมผล เพื่อสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจปัจจุบันและการลงทุนเพื่ออนาคต
- Mark ชี้ให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยี deepfake เพื่อสร้างวิดีโอล้อเลียนบุคคลมีชื่อเสียง อย่างในกรณีที่มีคนทำวิดีโอจำลองให้เขาไปพูดในสภาคองเกรส เป็นเรื่องที่เข้าข่ายอนุญาตได้ ถ้ามันชัดเจนว่าเป็นการล้อเลียนขำขัน ไม่ได้ตั้งใจหลอกลวง แต่การนำ deepfake ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่สุจริตนั้นก็ยังเป็นภัยคุกคามที่ต้องจับตามอง เพราะเทคโนโลยีมักจะพัฒนาไปได้เร็วกว่ากฎระเบียบเสมอ
- เมื่อถูกถามว่าทำอย่างไรให้พนักงานมีกำลังใจท่ามกลางความผันผวนของราคาหุ้น Mark ตอบว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมจนพนักงานรู้สึกภูมิใจ เพราะนั่นคือแรงขับเคลื่อนหลักของคนทำงานในวงการไอที ไม่ใช่แค่เงินเดือนหรือหุ้น ยิ่งเวลาที่ปล่อยแอปใหม่ ๆ ออกมา ก็ยิ่งกระตุ้นให้คนอยากมาร่วมงานกับ Facebook เพิ่มขึ้นอีก เพราะอยากได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลงานเจ๋ง ๆ แบบนั้นบ้าง
- เมื่อถูกถามว่ากำลังสนุกกับการทำงานหรือเปล่า Mark ตอบว่าสำหรับเขาแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องความสนุก แต่เป็นเรื่องพันธกิจมากกว่า ซึ่งความตั้งใจแท้จริงของ Facebook คือการเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถแบ่งปันทุกอย่างที่พวกเขาต้องการได้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นและมุ่งมั่นที่จะสานต่อภารกิจนี้ต่อไป แม้จะเจอวันที่ยากลำบากบ้าง แต่ก็ยังมีวันที่รู้สึกประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เช่นกัน
- ถึงแม้ Mark จะมองการณ์ไกล แต่เขาก็ยอมรับว่าการวางแผนระยะยาวเป็นเรื่องท้าทาย เพราะหลายครั้งก็มีเรื่องเร่งด่วนเข้ามาแทรกจนต้องเบี่ยงเบนความสนใจไป บางครั้งอาจส่งผลให้แผนหลักต้องล่าช้าลงกว่าเดิมไปถึงครึ่งปีเลยทีเดียว
- Mark บอกว่าส่วนตัวแล้วเขาชอบช่วงเวลาแบบนี้ที่มีคนมองบริษัทต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมันทำให้มีอิสระที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่อาจสร้างความประหลาดใจให้กับใครหลายคนได้ โดยไม่ต้องกังวลกับความคาดหวังที่สูงเกินไป
- แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว แต่ Mark ก็ยังคงขยันเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เช่นการที่เขาเขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นด้วยมือถือทั้งหมด แม้จะไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์เท่าไหร่นัก เพราะเขาถนัดใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า แต่ตัวของเขาก็อยากที่จะท้าทายตัวเองและสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้มือถือที่มีต่อธุรกิจในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้นำไม่ควรหยุดนิ่งกับความสำเร็จ แต่ต้องเปิดใจเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- Mark เล่าว่าตอนที่ Facebook เผชิญช่วงเวลายากลำบากในอดีต เขาได้ไปขอคำแนะนำกับ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ซึ่งแนะนำให้เขาไปเยือนวัดแห่งหนึ่งในอินเดีย เพื่อทบทวนถึงพันธกิจและวิสัยทัศน์ของบริษัท Mark จึงได้มาใช้เวลาเกือบเดือนเพื่อเดินทางสำรวจประเทศอินเดีย ได้เห็นว่าผู้คนเชื่อมต่อกันอย่างไร และนั่นเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของสิ่งที่ Facebook กำลังทำอยู่ ในการเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่เขายังจดจำมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
- Mark ให้ความเห็นเรื่องความกังวลว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วนเท่าปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหาร น้ำสะอาด หรือห้องน้ำว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ทั้งนั้น แต่อินเทอร์เน็ตก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ การศึกษา และการมีงานทำ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ในระยะยาว แน่นอนว่า Facebook เองก็ไม่ได้ถนัดเรื่องปัจจัยพื้นฐานเหล่านั้น แต่เรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารนี่แหละที่เป็นจุดแข็งที่ Facebook สามารถมาช่วยเหลือได้
- Mark ชี้ให้เห็นว่าโอกาสในการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต อยู่ที่การพัฒนาวิธีการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครตอบโจทย์ได้ดีนัก ซึ่งมีอยู่มากมายหลากหลายรูปแบบ อย่างในปัจจุบันก็มี Tiktok ที่เข้ามาในตลาดนี้ ดังนั้น เราควรมองหาช่องว่างของความต้องการที่ยังไม่มีใครเติมเต็ม และพยายามสร้างบริการที่ดีที่สุดเพื่อตอบโจทย์ตรงนั้นให้ได้ ซึ่งแต่ละช่องว่างนั้นก็มีศักยภาพมหาศาล สามารถสร้างฐานผู้ใช้ได้หลักร้อยล้านถึงพันล้านคนเลยทีเดียว
- Mark เน้นย้ำว่าบริษัทเทคโนโลยีมักจะเสียเปรียบบริษัททั่วไปตรงที่ยิ่งใหญ่โต ก็ยิ่งเชื่องช้า ขาดความคล่องตัว แต่จุดแข็งของ Facebook คือการพยายามรักษาวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นความเร็ว กล้าเสี่ยง ไม่กลัวล้มเหลว เพื่อให้พนักงานที่มีไม่มากนัก สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าทึ่ง
- Mark ให้ข้อคิดว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทที่ทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบเสมอไป แต่บริษัทที่สร้างสินค้าให้ผู้คนรักได้ ก็สามารถรอดพ้นและเติบโตจากความผิดพลาดต่าง ๆ ได้ ขอแค่กล้ายอมรับ และเรียนรู้เพื่อแก้ไขสิ่งผิดเหล่านั้นให้ดีขึ้นในระยะยาว
- เมื่อ Mark ถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย เขาตอบว่า ทำผิดพลาดมาก็เยอะ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสร้างสินค้าที่คนรัก ถ้าทำได้ ก็จะมีโอกาสเรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้นไปได้เรื่อย ๆ
- Mark มองว่าคนเก่ง ๆ มักจะหาเส้นทางที่จะได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้มากที่สุดเสมอ ซึ่ง Facebook เป็นที่ที่ดึงดูดคนเหล่านี้ได้ เพราะเป็นช่วงที่มีผู้ใช้เยอะ แต่จำนวนวิศวกรไม่มาก ทำให้อัตราส่วนผู้ใช้ต่อวิศวกรสูงมาก คนเก่ง ๆ จึงรู้สึกว่ามาทำงานที่นี่แล้วจะได้สร้างผลกระทบกับผู้ใช้ได้อย่างมหาศาล
- Mark ยอมรับว่าต้องการให้การศึกษากลายเป็นเรื่องสนุกและมีส่วนร่วมมากขึ้น เหมือนกับพัฒนาการของซอฟต์แวร์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ที่เน้นประสบการณ์ผู้ใช้ ความสะดวก ความบันเทิง แทนที่จะเป็นแค่เครื่องมือทำงานอย่างจริงจังเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นถ้ามีใครสร้างแอปที่ทำให้การศึกษาสนุกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ก็จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่
- Mark มองว่าการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เป็นการสื่อสารความมุ่งมั่นต่อพันธกิจใหม่สู่ภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานเข้าใจว่าเราจะมุ่งไปทางไหน และทุกคนพร้อมลุยไปด้วยกัน เพราะบางครั้งการประกาศภายนอกแบบชัดเจน ก็เป็นวิธีสื่อสารกับคนในที่มีประสิทธิภาพที่สุด ว่าเราจริงจังกับเรื่องนี้มากแค่ไหน
Resources
- https://youtu.be/xFFs9UgOAlE?si=-WZ_9jwWxliAV7VI
- https://youtu.be/MGsalg2f9js?si=nVXpDRphGa67mSCj
- https://youtu.be/9aCg7jH4S1w?si=G1j-HOZcE7YroYXG
- https://youtu.be/x-kALfaofek?si=OIPDXJB5qUV0p-vY
- https://youtu.be/1Wo6SqLNmLk?si=R1T881K1Hv9tAX2g
- https://youtu.be/MVYrJJNdrEg?si=xEzDlUezhiXACGV-
- https://youtu.be/Boj9eD0Wug8?si=S0X_S2r6mYT7uYlb
- https://youtu.be/1N04_EHprO4?si=0qh9gJ3G9hLXiTt1
- https://youtu.be/ouE6qyTc-l0?si=hdamNx3m1ZR4WrId
- https://youtu.be/o2wPzjH2xwA?si=n3ZOUk6k2DTkI_bH
- https://youtu.be/odw3zgobTt8?si=zBgKDLgpW0OgwYbv
- https://youtu.be/Em2YmdSnoh4?si=An1ZRKLuklk9FaMs
- https://youtu.be/Czw-dtTP6oU?si=PGHSyjZaVNOIYJr6
- https://youtu.be/iwyyxEJCIuU?si=UbUduS4mS1qZCYwZ