Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Quote

100 ข้อคิด วิกรม กรมดิษฐ์ | Blue O’Clock Podcast EP. 61

คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มหาเศรษฐีใจบุญที่ประกาศพินัยกรรมที่ระบุว่าจะทำการยกทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่คิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 95 ของทรัพย์ส่วนตัวของเขาให้กับมูลนิธิอมตะเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และนี่คือ 100 ข้อคิด 100 บทเรียน ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเขา

  1. คุณวิกรมเล่าว่า ธุรกิจแรกสุดที่เขาจำความได้ก็คือ เขาเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่เมื่อตอนอายุได้เพียง 4 ขวบ ที่เป็นธุรกิจขายถั่วคั่ว กับคุณป้าที่ทำอยู่ แล้วพอเขาอายุได้ 8 ขวบ คุณป้าของเขาก็ได้ย้ายเข้ากรุงเทพ เขาก็เลยยึดกิจการนี้ของคุณป้าซะเลย โดยคุณวิกรมเขารู้สึกสนุกกับการขายของ แล้วก็ชอบเรื่องของสตางค์มาตั้งแต่เด็ก ๆ
  2. ช่วงที่คุณวิกรมมีโอกาสได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยที่ไต้หวัน National Taiwan University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ ซึ่งคุณวิกรมก็เล่าว่าที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มันจะมีเรื่องประหลาดอยู่เรื่องนึง ที่คนเข้าไปเรียนที่นี่แล้วมันจะมีอีโก้ เพราะคนเรียนคิดว่าจะต้องทำอะไรที่พิเศษ ทุกคนต่างคิดว่าตนเองนั้นคืออัจฉริยะ ที่เป็นสถานที่ที่ประธานาธิบดีของไต้หวันทุกคนจะต้องเรียนจบจากที่นี่ทั้งสิ้น กลายเป็นว่าทุกคนก็ต้องหลอกตัวเองว่า ถ้าเรียนจบจากที่นี่มาแล้วจะต้องออกมาทำอะไรที่ดีที่สุดที่แจ๋วที่สุด จะทำอะไรที่ไม่ได้เรื่องไม่ได้เดี๋ยวเสียชื่อ มันก็เลยกลายเป็นนิสัยที่คุณวิกรมถูกปลูกฝังมาในรั้วมหาวิทยาลัย
  3. ธุรกิจแรก ๆ ที่คุณวิกรมเริ่มทำ เขาเริ่มจากไปรับงานเครื่องหวาย ที่ผลิตจากเรือนจำแถวคลองเปรม ซึ่งเครื่องจักรสานคนไทยก็จะทำได้ดี จึงทำให้สามารถส่งออกขายได้ โดยช่วงนั้นก็จะเป็นการซื้อมาขายไป
  4. ธุรกิจต่อมา คุณวิกรมได้มีโอกาสไปจับธุรกิจแป้งมัน ที่มีการผลิตในประเทศไทย แต่สมัยนั้นที่อื่นยังไม่มี ซึ่งแป้งมันเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารที่จำเป็นต้องใช้ โดยหลัก ๆ เขาก็ส่งขายให้กับไต้หวันเป็นหลัก เพราะได้เคยมีโอกาสไปเรียนอยู่ที่ไต้หวันประมาณ 6 ปี จึงเห็นช่องทางการทำธุรกิจกับทางไต้หวัน
  5. คุณวิกรม เล่าย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1978 ว่า ตัวของเขาได้มีโอกาสไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อตอนแรก ๆ ที่เขาเริ่มต้นทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกปลาทูน่า ต่อมาในปี ค.ศ. 1980 ทางอเมริกา ก็ให้คุณวิกรมพามาดูโรงงานที่ผลิตปลาทูน่าในประเทศไทย คุณวิกรมก็พาดูทั่วโรงงานเลย จนถึงเมื่อตอนที่ชาวอเมริกันกำลังจะกลับประเทศ เขาก็พูดกับคุณวิกรม ว่า “นี่ วิกรม ถ้าเราไม่ได้ทำธุรกิจกัน เราก็เป็นเพื่อนกันได้ไหม I ไม่อยากจะเสียค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง I อยากจะขอซื้อทูน่าตรงจากบริษัทในไทยเจ้านั้นเลยได้ไหม” ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คุณวิกรมถูกเขี่ยทิ้งออกจากธุรกิจส่งออกปลาทูน่า จากการที่เป็นคนติดต่อประสานงาน ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกทำไมคนเราถึงถูกรังแกได้ถึงขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนทำให้โปรเจ็คมันเกิดขึ้น
  6. หลังจากที่คุณวิกรม ถูกยกเลิกสัญญาค้าขายปลาทูน่าให้กับคนที่อเมริกาแล้ว เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ เพราะเรายังมีชีวิตอยู่ เราสู้ต่อได้ ซึ่งเขามองว่า ตลาดปลาทูน่าในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีขนาดมหึมามาก เพราะจากตัวเลขที่เขาได้ศึกษามาก็พบว่า คนอเมริกัน กินปลาทูน่าเฉลี่ยคนละ 6 กระป๋องต่อปี ดังนั้นในสมัยก่อน อเมริกามีประชากรอยู่ที่ราว ๆ 300 ล้านคน คูณคนละ 6 กระป๋องเข้า ก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ๆ เขาจึงมองว่า ยังมีโอกาสอย่างมหาศาลในตลาดนี้ แม้ว่าจะถูกเบี้ยว ถูกเขี่ยทิ้งจากบริษัทคู่ค้าที่อเมริกามาก่อนหน้านี้ ถ้าไม่ขายให้เจ้านี้ ก็ขายกับคนอื่นก็ได้ เพราะตลาดนี้ยังมีอนาคตที่สดใส
  7. คุณวิกรมพบว่า ตลาดน้ำ spring water หรือน้ำผุดตามธรรมชาตินั้น เป็นที่นิยมในการใส่ในกระป๋องปลาทูน่า หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ปลาทูน่าในน้ำแร่ ซึ่งในตอนนั้นคุณวิกรมก็ได้รถสิบล้อมาคันหนึ่งที่ได้มาจากมรดกของคุณพ่อ เอาไว้ขนน้ำแร่ขาย ได้เที่ยวละ 10,000 บาท สามารถสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่งจากตลาดปลาทูน่ากระป๋อง
  8. คุณวิกรมพบว่าตนเองนั้นสามารถสร้างธุรกิจนำเข้าปลาทูน่าสด ปลาทูน่าแช่แข็ง จากพาร์ทเนอร์ที่ประเทศฝรั่งเศส นำเข้าปลาทูน่าจนขยายธุรกิจนำเข้าปลาทูน่าเกือบ 30,000 ตันต่อปี
  9. คุณวิกรมพบว่า เนื้อขาวปลาทูน่านั้น มักจะนิยมให้คนกิน ส่วนเนื้อแดงของปลาทูน่านั้นจะนิยมไปเลี้ยงแมว ซึ่งคนอเมริกันนั้น ชอบเลี้ยงแมวมาก เลี้ยงแมวนี่เลี้ยงเหมือนลูก นิยมซื้ออาหารดี ๆ ให้แมวกิน ทางคุณวิกรมก็เลยได้ไปทำธุรกิจกับบริษัท Carnation เพื่อส่งออกปลาทูน่ากระป๋องสำหรับแมว เริ่มต้นจากออเดอร์แรก ๆ จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อนำไปทดสอบตลาด ก็ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากเหล่าแมวอเมริกัน ทำให้ออเดอร์ต่อมาคุณวิกรมได้รับออเดอร์เพิ่มขึ้นเป็น 100 ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อนำไปทดลองขายที่ตลาดอเมริกาและแคนาดา จนกระทั่งได้รับออเดอร์ล่าสุดอยู่ที่ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ต่อปี คุณวิกรมก็เลยบอกว่า ถูกเบี้ยวจากธุรกิจขายปลาทูน่าให้คนกินมาก็ไม่เป็นไร มาขายปลาทูน่าให้แมวกินก็แล้วกัน ทำให้คุณวิกรม ณ จุดนี้เขาไม่มีหนี้สินอะไรเลย แถมยังมีเงินเก็บอีกจำนวน 35 ล้านบาทเพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย
  10. คุณวิกรมเล่าว่า เขาได้มีโอกาสไปดูงานกับคณะนักธุรกิจที่ไต้หวัน และได้เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไต้หวัน แล้วท่านก็ทักว่า คุณวิกรมเนี่ยเป็นลูกครึ่งไทยไต้หวัน ทำไมไม่ลองเป็นสะพานระหว่างสองชาตินี้ดูล่ะ เพราะคนไต้หวันกำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คุณวิกรมก็เลยได้ไอเดียในการเปิดบริษัท consult สำหรับคนไต้หวันที่ต้องการจะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย
  11. หลังจากที่คุณวิกรมได้เปิดธุรกิจ Consult ที่ปรึกษาการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันแล้ว เขาก็ได้มีโอกาสไปพบกับนักธุรกิจไต้หวันคนหนึ่ง ที่มาบอกกับคุณวิกรมว่า “นี่คุณรู้ไหมว่า ร่ม 1 ใน 3 ของทั้งหมดในโลกนี้นั้น ผลิตขึ้นมาจากไต้หวันนี่แหละ แต่ตอนนี้ค่าแรงไต้หวันแพง ถ้าคุณวิกรมเปิดนิคมอุตสาหกรรมนะ เขาจะมาซื้อจากคุณวิกรมเป็นคนแรกเลย” แต่การลงทุนในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมนั้น จะต้องใช้เงินเป็นร้อย ๆ ล้าน แต่คุณวิกรม ณ ตอนนั้นมีแค่ 35 ล้านเท่านั้นเอง มันไม่พอที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ แต่นั่นก็ทำให้คุณวิกรมเริ่มได้ไอเดียในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งพอเริ่มจริงเจ้าของโรงงานร่มที่ไต้หวันก็ไม่เห็นมาเปิดสักโรงงาน เพราะเขาไปเมืองจีนกันหมด เพราะเขาพูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง คนไทยพูดภาษาจีนไม่ได้ก็เลยไม่ได้มา
  12. เมื่อคุณวิกรมมองเห็นโอกาส ในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยเริ่มต้นด้วยเงินประมาณ 16-17 ล้านบาท แต่การจะขยายใหญ่ไปกว่านั้นมันมีเงินไม่พอ เขาจึงเริ่มติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารต่าง ๆ ปรากฏว่าไปแบงค์แรกถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า คุณวิกรมยังไม่เคยมีประสบการณ์ประการทางด้านนี้มาก่อน เป็นเพียงแค่ที่ปรึกษา แล้วจะมากู้เงินทำโครงการเป็นร้อยร้อยล้านแบบนี้ มันจะได้หรอ แต่คุณวิกรมก็ยังไม่ถอดใจ เอาโครงการไปคุยกับอีกธนาคารหนึ่ง ผลปรากฏว่าแบงค์ที่สองอนุมัติโครงการพร้อมกับขอเป็นหุ้นส่วนของบริษัทด้วย ทางคุณวิกรมก็เลยบอกว่า ดีสิแบบนี้ เพราะทางธนาคารที่เป็นหุ้นส่วนนั้น พวกเขาจะช่วยดูแลในเรื่องของการเงิน ส่วนทางคุณวิกรมนั้นจะดูแลในเรื่องการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม
  13. สาเหตุที่คุณวิกรมมาเลือกทำเลในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดชลบุรี เหตุผลนั้นก็เป็นเพราะว่า การทำนิคมอุตสาหกรรมมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่จำเป็น ซึ่งคุณวิกรมก็ได้ไปศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 คือแผนพัฒนาของช่วงปี พ.ศ. 2535-2539 ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มุ่งมาที่นี่ ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ถนนหนทาง มันมาทางชลบุรีหมดเลยเมื่อตอน 30 กว่าปีที่แล้ว ส่วนเรื่องปัญหาน้ำท่วมคุณวิกรมศึกษามาว่า น้ำส่วนใหญ่ที่ลงมาจากทางเหนือ ปิง วัง ยม น่าน มารวมกันที่เจ้าพระยา สุดท้ายมันจะมุ่งไปลงทะเล ดังนั้น แถวทะเลน้ำน่าจะไม่ท่วม และเนื่องจากเขาเคยอยู่ที่ไต้หวันจะขยาดเรื่องแผ่นดินไหวมาก ดังนั้น ในประเทศไทย แถบที่เป็นแนวแผ่นดินไหวจะแถบเทือกเขาตะนาวศรีที่อยู่ในทิศตะวันตกของประเทศไทย ดังนั้นเขาก็คิดว่าเลือกทางทิศตะวันออกน่าจะดีกว่า และนอกจากนั้นต้องลือกฝั่งทะเลที่ไม่มีไต้ฝุ่นอย่างที่แหลมตะลุมพุก ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลเปิด ในขณะที่ชลบุรีนั้นเป็นพื้นที่ทะเลปิดที่มีประเทศเวียดนามกับเขมรบังพายุเอาไว้ จึงไม่มีไต้ฝุ่นในแถบทะเลชลบุรี แต่ก็ยังกลัวเรื่องของซึนามิ แต่ก่อนถึงนิคมก็จะมีเขาสุวรรณคอยบังซึนามิอีกชั้นก่อนถึงตัวนิคม แถมตัวอำเภอเมืองชลบุรียังสูงกว่าน้ำทะเลขึ้นมาอีก 20 เมตร ที่กว่าซึนามิจะเข้ามาถึงตัวนิคม น้ำก็เบาลงไปเยอะสมควรแล้ว
  14. เมื่อตอนเริ่มต้นก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 1988 คุณวิกรมเริ่มต้นจากพื้นที่เฟสแรกจำนวน 300 ไร่ ผลปรากฏว่า ผ่านไปเพียงแค่ครึ่งปี ก็หมด จากนั้นคุยกับพาร์เนอร์ว่าเอายังไงต่อ ทางคุณวิกรมก็เลยไปซื้อพื้นที่แถวบางปะกง 2 อีกกว่า 1,400 ไร่ ผลปรากฏว่า เวลาผ่านไปประมาณ 1 ปีครึ่ง ก็หมดเกลี้ยงอีก จากนั้นก็เริ่มหาพาร์ทเนอร์เพิ่มเติม ทำให้จากทุนจดทะเบียนบริษัทเริ่มต้นที่ 25 ล้านบาท เขยิบขึ้นเป็น 120 ล้านบาท และในปัจจุบันเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 1,150 ล้านบาท โดยบริษัทมีมูลค่าทางบัญชีกว่า 50,000 ล้านบาท และครอบครองที่ดินในประเทศไทยอีกกว่า 17,000 ไร่
  15. และเมื่อคุณวิกรมประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศไทยแล้วนั้น เขาก็มองเห็นลู่ทางว่า บริษัทสามารถขยายกิจการไปยังประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม พม่า ลาว จนกระทั่งมีที่ดินในครอบครองรวมกว่า 300,000 ไร่ โดยในปัจจุบันน่าจะเป็นบริษัทที่มีที่ดินอยู่ในมือมากที่สุดในภูมิภาคนี้เลยก็ว่าได้ และทั้งหมดที่ว่ามานั้น คุณวิกรมเริ่มต้นจากเพียง 300 ไร่ และค่อย ๆ ขยายมาตามลำดับขั้นจนถึง 300,000 ไร่ ในที่สุด
  16. เคล็ดลับการขายสไตล์คุณวิกรม บอกว่า 1) อย่างแรกเลยคือ คุณต้องยิ้ม ยิ้มเอาไว้ก่อนตอนเราจะไปไหน จะไปเจอใคร เพราะนอกจากการยิ้มจะไม่เสียตังค์แล้ว ยังให้ความรู้สึกที่ดีแก่ผู้สนทนาอีกด้วย 2) มีการเตรียมความพร้อม ศึกษาหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี เตรียมเอกสารให้พร้อม ให้เขาเห็นว่าเรานั้นเป็น professional 3) มี Background ที่ดี โดยคุณวิกรมบอกว่า ถ้าตอนเริ่มแรกไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Itochu จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ ก็จะไม่สามารถเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีบริษัทญี่ปุ่นมากที่สุดในโลกได้ ที่มีมากกว่า 700 โรงงานเลยทีเดียว และในปัจจุบันก็มีโรงงานจากจีนมากกว่า 200 โรงงานอีกด้วย 4) ก่อนที่เราจะรับปากใคร เราต้องมั่นใจว่าเราทำมันได้แน่ ถ้าคิดว่าเราทำไม่ได้ อย่าไปรับปากใครซี้ซั้ว 5) เผื่อเวลาเอาไว้เสมอ โดยคุณวิกรมยกตัวอย่างเช่น ถ้าสินค้าเราสามารถส่งของให้ลูกค้าได้ภายใน 6 เดือน ทางคุณวิกรมก็จะบอกลูกน้องว่าให้เพิ่มอีก 50% เป็น 9 เดือน เผื่อเอาไว้ในกรณีที่อาจเกิดมีปัญหาทำให้เกิดความล่าช้าแบบไม่คาดคิด ซึ่งเขาก็นำเอาไปปรับใช้กับในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไฟ เรื่องของน้ำ ก็ให้เผื่อเอาไว้ตลอด
  17. คุณวิกรมบอกว่า ภายในนิคมอุตสาหกรรม นั้น ได้ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง การผลิตไฟฟ้า ระบบน้ำ และระบบการสื่อสาร จนตอนหลังได้กลายมาเป็นบริษัทต่างหาก อย่างเช่น โรงไฟฟ้าอมตะ ที่มีโรงงานไฟฟ้ามากถึง 10 โรง ส่วนระบบน้ำนั้นมีขนาดใหญ่มาก ขนาดที่ว่า ถ้าฝนไม่ตก 2 ปี ก็ยังมีน้ำใช้ภายในนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างไม่ขาดแคลน และลงทุนระบบน้ำบำบัดน้ำเสีย ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้ใหม่แบบ 100% ไม่ว่าจะเอาไปปรับเป็นน้ำประปา, ใช้เป็นน้ำหล่อเย็นสำหรับโรงไฟฟ้า และใช้รดน้ำต้นไม้ในพื้นที่สีเขียว นอกจากนั้นยังสร้างถนนในแถบนิคมอุตสาหกรรมให้มีความหนาเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากถนนแบบปกติ แถมยังเสริมเหล็กถึงสองชั้นด้วยกัน ทำให้ถนนเส้นบางนาตราด สามารถใช้ได้มาอย่างยาวนานมากกว่า 30 ปีแล้ว
  18. คุณวิกรมเล่าว่า ที่มาของการทำระบบน้ำที่ดีนั้น มาจากการแก้ปัญหาให้กับลูกค้า โดยมีบริษัทอาซาฮี ของญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนกว่า $130 ล้านดอลล่าร์ฯ ประสบปัญหาน้ำกร่อย น้ำไม่ได้คุณภาพ ภายในนิคม ฉะนั้นในฐานะที่เรากับลูกค้าลงเรือลำเดียวกันแล้ว เราก็ต้องแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าให้ได้ และจะให้เคสนี้เป็นเคสแรกและเคสเดียวที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้
  19. อะไรที่ทำวันนี้ไปแล้ว พรุ่งนี้ต้องทำได้ดีกว่าวันนี้ ดีขึ้น ๆ ในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็น 1) เรื่องของคุณภาพ 2) เรื่องของราคาที่ต้องทำให้ถูกกว่าภาครัฐ 20% 3) การบริการต้องดี 4) มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง อย่างครบครัน โดยคุณวิกรม สามารถพูดกับเจ้าของโรงงานต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจเลยว่า ลื้อดูเฉพาะภายในโรงงานของลื้อนะ เดี๋ยวนอกรั้วโรงงานอั๊วรับผิดชอบหมด สิ่งนี้ก็ทำให้ลูกค้านั้นแฮปปี้ เช่น มีบริการทำบัตรประชาชนใหม่ให้ไม่ต้องเสียเวลากลับบ้าน, มีโรงพยาบาลภายในนิคม, มีโรงแรมที่สามารถจัดสัมมนาได้, มี super market ขนาดใหญ่ไว้จับจ่ายใช้สอย ฯลฯ
  20. คุณวิกรมเล่าว่า วิธีบริหารระหว่างโรงงานกับชาวบ้านรอบ ๆ นิคม ถ้าเปรียบเทียบกับนิคมอื่น ๆ ที่เคยมีเคสว่าประท้วงหน้าโรงงานปิดโรงงานกว่าครึ่งปีก็มี แต่ที่อมตะนั้น คุณวิกรมจัดพื้นที่ให้ประท้วงโดยเฉพาะ ที่บริเวณด้านหน้านิคมเลย เพราะผู้ประท้วงก็อยากจะให้คนเห็น แล้วคุณวิกรมก็เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของโรงงานกับคนประท้วงเพื่อรับเรื่องแล้วไปพูดคุยไกล่เกลี่ยกับเจ้าของโรงงาน ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องของการปิดถนน ปิดโรงงาน เราจะต้องเข้าไปดูแลและฟังเสียงชาวบ้านเหล่านั้น
  21. วิธีการบริหารคนในองค์กรสไตล์ของคุณวิกรมก็คือ ไม่อยากให้ทุกคนตนเองนั้นเป็นลูกจ้าง แต่ให้คิดว่าตัวเองนั้นคือผู้นำ ถ้าหากวันนี้มีงานใหม่ขึ้นมา ก็ให้เอาตัวเองไปลองทดสอบงานดู ถ้าคิดว่างานที่ทดสอบใหม่มันใช่ ก็สามารถย้ายแผนกได้เลย เพราะถ้าทำในสิ่งที่ใช่ จะมีโอกาสเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ดีกว่าอยู่แต่แผนกเดิม ส่วนที่พักอาศัยนั้นก็คิดค่าเช่าแค่เพียง 60 บาท/ตารางเมตร และสามารถอยู่ได้จนแก่ตาย หลังจากตายแล้วก็มีสุสานพร้อมเสร็จสรรพ ไม่ใช่แค่ดูแลพวกเขาถึงแค่ตอนอายุ 60 ปี แล้วต่างคนต่างไป เพราะที่เรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะคนในองค์กรช่วยกันสร้างมันขึ้นมา
  22. คุณวิกรมบอกว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ให้ทำอยู่สองข้อดังนี้ 1) รู้จักตัวเอง ว่าฉันชอบอะไร ฉันไม่ชอบอะไร ฉันถนัดทำอะไร ฉันไม่ถนัดทำอะไร อย่าไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด โดยคุณวิกรมยกตัวอย่างจาก Bill Gates ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft ที่เขากลายเป็นคนที่ร่ำรวยที่อายุน้อยที่สุดในโลกในนสมัยนั้น จากการที่เขาชอบในเรื่องของคอมพิวเตอร์ 2) รู้จักโลก ให้ดูว่าในตลาด ณ ตอนนี้มีตลาดอะไรเกิดใหม่ขึ้นมาบ้าง อย่ามัวไปมองตลาดเก่า อย่างร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านขนมครก
  23. คุณวิกรมบอกว่า ในฐานะที่เราเป็นผู้นำ เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเรานั้น ให้พวกเขามีแรงขับดันเพื่อที่จะทำตาม เดินตามผู้นำ มันไม่ใช่แค่เรื่องของเงินทอง เราต้องให้ความอบอุ่น อุ่นใจ มีความจริงใจต่อผู้คน
  24. คุณวิกรมพูดว่า คนเรานั้นล้วนเกิดมาจากศูนย์ และกำลังเดินทางไปศูนย์ เพราะตอนก่อนเกิดเราก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน พอเกิดมาแล้วเราก็เติบโตขึ้นแล้วก็แก่ลงเรื่อย ๆ เข้าใกล้ศูนย์ ดังนั้นคุณวิกรมจึงคิดได้ว่า ตัวของเขานั้นกำลังเดินไปสู่จุดสุดท้ายของชีวิต แล้วสุดท้ายเราก็ไปสู่ศูนย์ แต่ในระหว่างที่เราเดินไปสู่ศูนย์นั้น เรายังมีลมหายใจ เรายังมีกำลังใจ เรายังมีความฝัน เรายังมีความมุ่งมั่น ฉะนั้น เราจะทำอย่างไรให้เราไม่เป็นศูนย์ คุณวิกรมจึงสร้างเมืองอมตะที่ไม่เป็นศูนย์ สร้างปราสาทอมตะที่ไม่เป็นศูนย์ สร้างมูลนิธิอมตะก็ไม่เป็นศูนย์ และเขียนประสบการณ์ความผิดพลาดต่าง ๆ ลงในหนังสือ เพื่อให้คนอื่นไม่ต้องมาผิดพลาดเหมือนอย่างตัวของเขาในอดีตที่ผ่านมา และนั่นคือสิ่งที่คุณวิกรมคิดว่ามันเป็นประโยชน์ จากการที่เขายังมีชีวิตอยู่
  25. ถ้าถามว่าจะหาความสุขของชีวิตได้อย่างไร คุณวิกรมก็จะแนะนำด้วยการตั้งคำถามสักสองสามข้อดังนี้ก็คือ 1) ตัวคุณคือใคร 2) คุณต้องการอะไร ถ้าตัวเราไม่รู้ว่าตัวเราต้องการอะไร และไม่รู้ว่าในชีวิตเราต้องการอะไรนั้น มันจะทำให้เราเดินสะเปะสะปะมาก อย่าไปบินแบบแมลงวัน เพราะแมลงวันนี่มันบินทั้งวัน ยุ่งทั้งวัน แต่ไม่มีผลงานอะไรเลย ถ้าชีวิตของคนเรามันบินมั่วแบบนั้น มันจะไปถึงดวงดาวได้ยังไง ดังนั้นคุยกับตัวเองให้เคลียร์ และ 3) คุณเกิดมาเพื่ออะไร ซึ่งอย่างคุณวิกรมก็บอกว่า ตัวของเขานั้นเกิดมาเพื่อที่อยากจะสร้างเมืองมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว และเขาก็ได้สร้าง AMATA CITY ให้เกิดขึ้นอย่างที่เห็นทุกวันนี้
  26. หลักในการเลือกคนเข้ามาทำงานภายในองค์กร คุณวิกรมบอกว่า อย่างแรกนั้นต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนที่มีความสามารถ ต้องเป็นคนที่พูดแล้วทำ ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม มีความยุติธรรม และต้องเป็นคนหนุ่ม ในช่วงอายุ 30 ที่ให้พวกเขาเป็นกองหน้า แล้วคนแก่ ๆ อย่างเราเป็นกองหลัง เพราะคนหนุ่มเป็นวัยที่มีกำลัง แต่ยังขาดโอกาส ดังนั้นถ้าให้โอกาสคนหนุ่มที่เป็นคนดี มีคุณธรรม มันก็จะทำให้องค์กรของเราพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมั่นคงขึ้น
  27. บริษัทเราไม่จำเป็นต้องโตแบบก้าวกระโดด แต่ให้ค่อย ๆ โตอย่างมั่นคง และจะต้องโตแบบไม่มีหนี้ เพราะการที่บริษัทไม่มีหนี้ จะทำให้เติบโตแบบยั่งยืน เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร เราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องหนี้
  28. คุณวิกรมบอกว่า ชีวิตของเขานั้น เขาได้ตกตะกอน ประกอบไปด้วยอยู่สองเรื่องหลัก ๆ ก็คือ ความสำเร็จกับความสุข โดยความสำเร็จในแบบของคุณวิกรมนั้นมันจะได้กำไรมากหรือกำไรน้อยมันไม่ใช่ประเด็นเลย ขอให้ชีวิตประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราทำ โดยที่เราจะต้องมีความสุขและความภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งนั้น โดยเขาจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ภูมิใจ เช่น ไม่เอาเปรียบคนอื่น ไม่โกงคนอื่น ไม่ทำในสิ่งที่ชั่วร้ายหรือไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ได้เงินมา เขาจะไม่ทำแบบนั้น เพราะมันไม่มีความสุขถ้าได้เงินมาด้วยวิธีการเหล่านั้น
  29. คุณวิกรมเล่าว่า สาเหตุที่เขาขายหนังสือเพียงเล่มละ 20 บาท แถมขาดทุนเฉลี่ยเล่มละ 10 บาท ที่ขายไปแล้วมากกว่า 10 ล้านเล่ม หรือขาดทุนไปมากกว่าร้อยล้านแล้วนั้น ก็เพราะอยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซื้อได้ แม้แต่ขอทานยากจนก็ยังซื้อได้ เพื่อที่จะให้ความรู้ที่เขาถ่ายทอดลงในหนังสือนั้น ให้ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
  30. คุณวิกรมบอกว่า ที่เขาสามารถขายหนังสือได้มากกว่า 10 ล้านเล่มได้นั้น ก็เป็นเพราะ 7-11 เพราะเขาขายหนังสือในร้านที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีร้านหนังสือไหนในโลกที่เปิดขายแบบนี้
  31. คุณวิกรมพูดถึงสุภาษิตจีนว่า “ถ้าหากในเวลากลางวันเราไม่ทำความเลวนั้น ในเวลากลางคืนที่เรานอนก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีผีมาเคาะประตู” ความหมายก็คือ ถ้าเราไม่ทำความชั่ว เราก็จะสามารถนอนหลับได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าจะมีภัยตามมาจากการทำไม่ดี เพราะเราทำแต่ในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
  32. สิ่งที่คุณวิกรมเสียดายมากที่สุดในวัย 70 ปี นั้น ก็คือ ในช่วงที่เขาล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูกในการทำธุรกิจมากว่า 20 ปีนั้น เขาเสียดายที่ไม่มีหนังสือดี ๆ ให้อ่าน ให้ศึกษา เพราะถ้ามีหนังสือดี ๆ ให้อ่าน เขาก็ไม่ต้องเสียเวลามากถึง 20 ปี เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ในปัจจุบัน เขาน่าจะเผยแพร่ความรู้ ส่งมอบความรู้ที่เขามีอยู่ ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
  33. สาเหตุที่คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ตัดสินใจประกาศบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวกว่า 20,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 95 ให้กับมูลนิธินั้น เพราะเขาคิดว่า ส่วนตัวของเขาแค่ใช้เงิน 1% ของเงินก้อนนั้น หรือ 200 ล้านบาท ก็มากมายแล้ว เอาแค่ 20 ล้าน ก็ถือว่ามากแล้ว เพราะทุกวันนี้ในวัย 70 ปี เขาก็ไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมากมาย กินก็เหมือน ๆ เดิม ใส่เสื้อผ้าก็เหมือน ๆ เดิม ส่วนเงินบริจาคให้แก่มูลนิธินั้น จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้มากกว่า เพราะสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ แม้ว่าเราจะได้จากบริษัทมาอย่างมากมาย แต่มันก็สร้างมลพิษที่เกิดจากโรงงานต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันเป็นความรับผิดชอบของเรา ที่เราต้องไปปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
  34. คุณวิกรมบอกว่า การแบ่งมรดกให้กับครอบครัวนั้นเปรียบเสมือนยาพิษ เพราะตอนก่อนจะแบ่งมรดกพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ดูรักใคร่กันดี แต่พอแบ่งมรดกไม่เท่ากันเท่านั้นแหละ พี่น้องในครอบครัว ก็เกิดความขัดแย้ง ไม่พูดคุยกันอีกเลยก็มี หรือหนักสุดก็เอาถึงชีวิต ทั้ง ๆ ที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่นั้น อุตส่าห์เหน็ดเหนื่อยตรากตรำ สร้างตัวขึ้นมาได้อย่างยากเย็นแสนเข็น
  35. คุณวิกรมบอกว่าแทนที่จะมอบมรดกหรือทรัพย์สินส่วนตัวให้แก่คนในครอบครัวนั้น เขานำไปบริจาคให้กับมูลนิธิเกือบทั้งหมด ส่วนคนในครอบครัว เขาก็เลือกที่จะสอนให้พวกเขาขยัน ไม่งอมืองอเท้า สามารถหาเงินได้ด้วยลำแข้งของตนเอง คุณวิกรมก็เลยตั้งธุรกิจกงสีให้กับครอบครัวตั้งแต่ศูนย์ แล้วให้พวกเขาช่วยกันสร้างมันขึ้นมา จนตอนนี้มีมูลค่าเป็นพันล้านแล้ว ซึ่งสิ่งนี้มันจะทำให้คนในครอบครัวภาคภูมิใจในการหาเงินได้ด้วยตนเอง
  36. วิธีทำธุรกิจกงสีให้กับครอบครัวสไตล์คุณวิกรมนั้น นอกจากจะสอนให้มีความรู้ ได้รับการฝึกฝน มีแบคอัพจากคุณวิกรมที่มีชื่อเสียง สอนวิธีการทำงาน และธุรกิจกงสีที่จะมอบ อาหาร ที่พัก เงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล ที่เป็นปัจจัย 4 เป็นฐานของครอบครัว และก็จะมีกฏระเบียบของครอบครัว ที่เปรียบเสมือนกฏหมายเพื่ออยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่แตกแยก ให้กฏเป็นบทสรุปใครทำถูกก็ว่าไปตามถูก ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด นั่นคือวิธีการที่คุณวิกรมสร้างรากฐานให้กับครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งน้อง หลาน เหลน ร่วมอยู่อาศัยใต้ชายคาร่มเงาเดียวกัน
  37. คุณวิกรมบอกว่า เขาได้ใช้โมเดล ALL WIN คือเวลาที่จะสร้างโปรเจคต์ขึ้นมาทุกคนจะต้อง win-win ได้กันทุกฝ่าย 1) เริ่มต้นจากตัวของเราเองก่อน เพราะในโลกนี้ไม่มีใครรักตัวเราเท่าตัวเราเอง 2) ครอบครัวของเรา 3) องค์กรของเรา 4) ขยายไปสู่สังคมรอบตัวเรา อย่างเช่น ลูกค้า เพื่อนฝูง คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา สังคมรอบตัว ประเทศไทย ประเทศในแถบภูมิภาค ขยายแบบนี้ออกไปเรื่อย ๆ ตามความสามารถของเรา
  38. คุณวิกรมบอกว่า ตัวของเขานั้น เป็น Dreamer เป็นนักฝันเฟื่อง ชอบวางแผนงานตามไอเดีย ตามความฝันที่อยากจะให้มันเกิดขึ้นจริง เราก็จะมีความภูมิใจ
  39. การตั้งเป้าหมายนั้นไม่เสียตังค์ และการตั้งเป้าหมายก็เปรียบเสมือนการตั้งเข็มทิศให้กับเรือในมหาสมุทร ว่าเรากำลังจะเดินไปในทิศไหน แบบไม่สะดุด รู้จักความพอเหมาะพอดี
  40. คุณวิกรมได้พูดถึงสุภาษิตจากขงจื้อ ที่เป็นนักปราชญ์ชาวจีน ว่า เวลาที่เราดื่มน้ำจากบ่อ อย่าลืมคิดถึงคนขุดบ่อ ซึ่งใครก็ตามที่ส่งผลให้เราได้เราเป็นเราแบบทุกวันนี้ เราก็ต้องตอบแทนเขาไม่ว่าจะเป็นอะไรได้ก็ได้ขอให้เป็นสิ่งที่ดีงาม
  41. การจะทำอะไรก็ตาม เราจะต้องหวังผลสร้างกำไรในระยะยาว ไม่ใช่ในระยะสั้น ๆ
  42. เหตุผลที่คุณวิกรมเลือกชื่อนิคม ชื่อเมืองว่า อมตะ นั้น เพราะคุณวิกรมอยากได้ชื่อไทย ๆ ที่มีความหมายดี สื่อถึงความยั่งยืน เพราะถ้าเป็นชื่อเมือง ก็อยากให้เมืองมีความยั่งยืน เป็นชื่อที่อ่านง่าย เขียนง่าย AMATA CITY และบริษัทในเครือก็มีกว่า 40 บริษัท ก็จะมีคำว่าอมตะอยู่ในชื่อนั้นด้วย เช่น อมตะซิตี้ ถนนอมตะ อมตะแคสเซิล อมตะวอเตอร์ อมตะเพาเวอร์ เป็นต้น
  43. สาเหตุที่คุณวิกรมเลือกที่จะซื้อที่ดินแต่ไม่สร้างหมู่บ้านจัดสรรขายก็เป็นเพราะว่า คุณวิกรมเขาคิดว่า สิ่งนั้นมันไม่ได้สร้างผลประโยชน์ในภาพใหญ่ให้กับประเทศ เพราะอันนั้นคือสร้างเพื่อให้คนไปอยู่ แต่การเอาที่ดินมาสร้างนิคมอุตสาหกรรมนั้นคือการสร้างสายการผลิตขึ้นมา ซึ่งคุณวิกรมเขามองว่า ที่ดินในสายการผลิตแต่ละตารางเมตรนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับอีกหลายครอบครัวให้มีที่กินที่อยู่ได้จากโรงงานเพียงโรงงานเดียว ซึ่งภายในนิคมนี้มีโรงงานกว่า 1,400 โรงงาน ที่มีคนทำงานมากกว่า 200,000 ชีวิต
  44. คุณวิกรมได้มีโอกาสไปดูงานในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วนั้น พวกเขามักจะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองได้จากการทำอุตสาหกรรม ซึ่งสายการผลิตคือเครื่องจักรที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคุณวิกรมบอกว่า ในประเทศไทยมีแรงานกว่า 40 ล้านคน แต่แรงงานจำนวนเกือบ 40% นั้นจะอยู่ในภาคการเกษตร ที่มีผลผลิตคิดเป็นประมาณ 9% ของ GDP ประเทศ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้นคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของ GPD ของประเทศ ดังนั้นคุณวิกรมก็คิดว่า ในภาคเกษตรกรรมก็ให้ผลิตให้พวกเราได้กินได้ใช้พอ แล้วผลักดันให้แรงงานมาทำในภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่า เพื่อให้ GDP ของประเทศเติบโตมากกว่านี้
  45. คุณวิกรมบอกว่าที่อมตะเรานั้น เป็นเจ้าของที่ดิน แต่เราไม่ทำเอง เราให้คนที่เขาเก่ง ๆ ในแต่ละด้านนั้นมาเปิดโรงงานทำ เพราะพวกเขาทำได้ดีกว่าเรา เราไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนเก่ง ๆ เข้ามาทำแทน เช่น เรื่องระบบพลังงานแก๊สธรรมชาติก็ทำงานร่วมกับ ปตท. , โรงไฟฟ้าก็ทำงานร่วมกับ Harald Link ที่เป็นบริษัทมหาชนที่เชี่ยวชาญด้านนี้, ด้านโรงพยาบาลก็ทำร่วมกับ โรงพยาบาลวิภาราม หรืออย่างโรงแรมมืออาชีพก็ทำงานร่วมกับ โรงแรม Nikko ที่เป็นโรงแรมในเครือของ Okura ที่เป็นโรงแรมระดับห้าดาว มาทำโรงแรม Nikko ในราคาที่ย่อมเยาว์
  46. หลังจากที่ความฝันของคุณวิกรมที่อยากจะสร้างเมืองอย่าง AMATA CITY เป็นนิคมอุตสาหกรรมได้สำเร็จแล้ว ความฝันต่อไปของเขาก็อยากที่จะสร้างเมืองที่เป็นนวัตกรรม เป็นเมืองแห่งซอร์ฟแวร์ ถ้าทำให้มันเกิดขึ้นจริงก็น่าจะดี เป็นเรื่องของเมืองในอนาคต
  47. คุณวิกรมนึกย้อนไปสมัยตอนเด็กถ้าเด็กที่เรียนดี ตั้งใจเรียนแต่ไม่มีทุนนั้นมันจะทำอะไรได้ยากมาก เขาก็เลยคิดว่า การตั้งมูลนิธิขึ้นมา แล้วแบ่งเงินของตนนั้นจัดสรรให้แก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ครอบครัวยากจน เพื่อให้พวกเขามีโอกาสก็น่าจะเป็นการดี
  48. คุณวิกรมบอกว่า เมื่อคนเราไม่มีความโลภ ก็จะเกิดความสงบ และความสงบมันก็เหมือนกับเป็นปัญญา ทำให้จิตใจของเราเบิกบาน ทำให้จิตใจของเราไม่คับแคบ จะทำให้จิตใจของเรามองกว้าง เพราะว่าเราอยู่ในความสงบ ซึ่งความสงบมันคือต้นเหตุของความสุข ที่เราก็อยากจะขยายความสุขของเราออกไปให้กว้างขึ้น มากขึ้น
  49. การที่ประเทศไทยจะขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียนได้นั้น คุณวิกรมบอกว่าจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้ 1) ประเทศไทยจะต้องรู้จักโลกใบนี้ก่อน ว่าโลกใบนี้มีตั้งเกือบสองร้อยประเทศ และมีพื้นที่อยู่ราว ๆ 155 ล้านตารางกิโลเมตร โดยที่ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 500,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งโลกมีประชากรอยู่ที่กว่า 7,000 ล้านคน แล้ว GDP ของโลกมีเท่าไหร่ แล้วประเทศไทยเรามี GDP อยู่ตรงไหน เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องรู้จักโลกใบนี้ด้วยตัวเลขเสียก่อน 2) ย้อนกลับมาดูว่าประเทศไทยเรานั้นได้เปรียบเสียเปรียบเรื่องอะไรบ้าง โดยสิ่งที่ประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นมาก ๆ เลยก็คือเรื่องของภูมิศาสตร์ เช่น สาเหตุที่ประเทศไทยมีสนามบินดอนเมืองตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วนั้น ก็เป็นเพราะเรื่องของที่ตั้งเรื่องของภูมิศาสตร์ เพราะทุกอย่างต้องผ่านตรงนี้ ซึ่งเป็นสนามบินแบบ International แห่งแรกของภูมิภาคนี้ เพราะเวลาที่จะบินจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านนั้นใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง 3) ประวัติศาสตร์ ที่ประเทศไทยเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของพวกฝั่งตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม มีวัฒนธรรมที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ใครก็อยากมา ซึ่งการที่รู้สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีวิสัยทัศน์ว่า ประเทศนั้นทำไมเรื่องนี้แจ๋ว แต่เราไม่แจ๋ว จะทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลก จะทำให้เรารู้ว่าเราควรทำอะไรต่อ เช่น ถ้าประเทศอื่น ๆ เขามี GDP เพิ่มเฉลี่ยปีละ 6% แต่เราโตแค่ 3% ก็จะทำให้เราฉุกคิดแล้วว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ GDP โตกว่าเขา เป็นต้น
  50. คุณวิกรมบอกว่า ปัจจุบันในประเทศไทยวลีที่ว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าวนั้นก็ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จกันแทบทั้งสิ้น คิดเป็นอัตราส่วนสูงถึง 97%-98% นั่นแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากแค่ไหน
  51. วิธีที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป็นผู้นำในด้านการคิดค้น ด้านนวัตกรรม ได้นั้น คุณวิกรมบอกว่า ทำไม่ยากเลย ภายใน 1 ปี ก็ทำได้หมดแล้ว เพียงแค่เราต้องให้สิทธิประโยชน์ในสิ่งที่เราอยากจะดึงดูดเข้ามาก็คือนวัตกรรม ก็ให้ประเทศไทยเราประกาศให้โลกรู้เลยว่า เราอยากจะได้นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ EV, biotech, AI หรือจะอะไรก็แล้วแต่ ก็ให้เราประกาศไปเลย คนในโลกเขาฟังเราอยู่ จากนั้นก็ให้เราประกาศสิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุดในโลก ไม่ว่าใครก็อยากเข้ามาลงทุน เราในฐานะ Land Lord เจ้าของผืนแผ่นดิน ก็จะได้ในสิ่งที่พวกเขาจะนำทั้งนวัตกรรม ความรู้ เงินทุน เข้ามาทำให้สำเร็จ ซึ่งก็ให้รัฐบาลเขียนกฏเกณฑ์ให้ชัดเจนในการคัดกรองคน ซึ่งแทบไม่ต้องใช้เงินทุนในการจัดทำเรื่องดังกล่าวเลย ก็สามารถเปลี่ยนประเทศนี้ให้เจริญรุ่งเรืองได้เลย
  52. เคล็ดลับในการทำนิคมอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จ คุณวิกรมบอกว่ามีอยู่ 4 ข้อ 1) Location ต้องมีทำเลที่ดี 2) ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่ดี เพราะนักลงทุนต้องการ 3) All stop service center มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เรียกได้ว่าคนที่มาตั้งโรงงานก็ทำโรงงานเพียงอย่างเดียว เน้นที่การผลิต การขาย การบริหารธุรกิจ อย่างอื่นไม่ต้องทำเลยมีให้พร้อม 4) ต้นทุน มีต้นทุนที่ถูกว่า เช่น ที่อมตะซิตี้ มีต้นทุนไฟฟ้าถูกกว่าการไฟฟ้าภูมิภาค 1%-5%, น้ำถูกกว่า 2%-5% เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าต้นทุนในการสร้าง infrastructure โครงสร้างพื้นฐานจะแพงกว่าปกติ แต่ในระยะยาว 5-10 ปี นั้น จะมีต้นทุนที่ถูกกว่า
  53. คุณวิกรมบอกว่า ความยั่งยืนขององค์กรนั้น จะต้องมาจากความถูกต้อง ความมีระเบียบ ความมีวินัย ความโปร่งใส เป็นหลักการที่เปรียบเสมือนเป็นเสาเข็มขององค์กร ถ้าองค์กรไม่มีเสาเข็มตึกมันก็จะโยก สั่นคลอน
  54. การเป็นผู้นำที่ดีนั้น เราจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง จะต้องโปร่งใส มีคุณธรรม ทำงานเพื่อองค์กรอย่างเต็มที่ และที่บริษัทอมตะ เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่คุณวิกรมรับเงินเดือน ซึ่งเขาก็ไม่รับเงินเดือนจากอมตะมากว่า 20 ปีแล้ว เพราะเขารู้สึกว่า เขาได้รับจากอมตะมามากเกินพอแล้ว ดังนั้นนอกจากการมีความซื่อสัตย์ โปร่งใสแล้วนั้น เรายังจะต้องมีความสำนึกในบุญคุณต่อบริษัทที่ช่วยขุนให้เรามีจนถึงทุกวันนี้ด้วย
  55. คุณวิกรมได้แชร์ว่า สาเหตุที่บริษัทญี่ปุ่นที่มีอายุเป็นร้อย ๆ ปี ที่สามารถดำเนินกิจการมาได้จวบจนทุกวันนี้นั้น ก็เป็นเพราะ พวกเขามีลัทธิแห่งความเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ ซึ่งสิ่งนี้เปรียบเสมือนกลไกสำคัญที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทอยู่ได้ยืนยงคงกระพัน
  56. คุณวิกรมบอกว่า ประเทศไทยนั้น ไม่มีองค์กรใดที่ไม่มีการ corruption แม้แต่องค์กรของอมตะก็ตามที แต่วิธีการจัดการบริหารของคุณวิกรมนั้น เขาจะต้องเด็ดขาด มีการลงโทษอย่างจริงจัง และตัวของผู้นำนั้นก็จะต้องทำให้เป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม โปร่งใส
  57. คุณวิกรมเล่าว่าเขาชอบวิธีการต่อยอดของบริษัท TOYOTA จากเงินทุนของตัวเองที่สามารถทำได้ในปีที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปีก่อนขายได้เงินจำนวน 100 เขาก็จะนำเงินไม่เกินนี้ไปต่อยอด โดยไม่กู้หนี้ยืมสิน ไม่ใช้เงินเกินตัว ในขณะที่หลายบริษัท อยากเติบโตอย่างรวดเร็วก็มักจะกู้หนี้ยืมสินเป็นจำนวนมาก บางทีกู้เกินครึ่ง ซึ่งมันเป็นการบริหารธุรกิจที่เสี่ยงเอามาก ๆ
  58. คุณวิกรมบอกว่า ในอนาคตจะไม่มีคนนามสกุลกรมดิษฐ์ในบริษัทอมตะ เพราะเขาเชื่อว่า คนเก่ง ๆ มีเยอะมาก และคนในตระกูลตัวเองนั้น ก็ไม่ได้เก่งที่สุด โดยคุณวิกรมได้เห็นตัวอย่างจากบริษัท HONDA ที่ผู้ก่อตั้งคือคุณ Soichiro Honda ที่ในวันนี้ไม่มีคนนามสกุลฮอนด้าแล้วก็ตามที แต่บริษัทก็ยังเติบโตต่อไปได้ และกับบริษัทอมตะก็ตั้งใจไว้แบบนั้นเช่นกัน
  59. คุณวิกรมเล่าว่า ชีวิตของเขานั้นก็เหมือนกับหนอนผีเสื้อ ที่เมื่อช่วงแรกเป็นหนอน ก็จะต้องกัดกินใบไม้เพื่อเลี้ยงชีพ นั่นก็คือช่วงชีวิตการทำงาน ทำธุรกิจ จนกระทั่งตัวของเขานั้นเกษียณจากงานเมื่อตอนอายุได้ 48 ปี ก็จะเปรียบเสมือนช่วงที่หนอนกลายเป็นดักแด้ เก็บตัวอยู่กับตัวเอง ซึ่งในช่วงนี้คุณวิกรมเขาก็จะใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง นั่งเขียนหนังสือ ที่ถ่ายถอดออกมาจากประสบประการณ์ในการใช้ชีวิต ในการทำงาน ในการทำธุรกิจ ของตนเอง ที่แสดงความเป็นตัวตนเองของตนเองออกมา โดยเล่าให้เห็นทั้งสองด้านของเหรียญ ทั้งด้านที่ดีและด้านไม่ดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ เดินตามและหลีกเลี่ยงในสิ่งที่เขาเคยผิดพลาดมา จากนั้นก็กางปีกโบยบิน ไม่ยึดติด ไม่มีภาระ โดยเขาตั้งใจจะเขียนหนังสือถ่ายถอดเรื่องราวของชีวิตจนถึงลมหายใจสุดท้าย
  60. อย่าไปยึดติดกับอดีต เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ ซึ่งเรื่องในอดีตมันก็เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ดังนั้นคุณวิกรมก็จะใช้หลัก forgive and forget ก็คือการยกโทษให้อภัย แล้วก็ลืมเรื่องราวที่ไม่ดีในอดีตไปซะ
  61. คุณวิกรมเล่าว่าที่มา ของการเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ‘คิดถึงแม่’ นั้น มาจากการที่เขาได้คิดถึงคุณแม่หลังจากที่ท่านจากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งเขาอยากเขียนเป็นอุทาหรณ์ว่า ใครก็ตามที่ ณ วันนี้ ยังมีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ กลับไปเยี่ยมท่านหาท่านที่บ้าน กอดท่าน บอกรักท่าน ก็ให้ทำ ณ ตอนที่ยังมีโอกาสอยู่ อย่ารอให้โอกาสนั้นหมดไป
  62. ถ้าครอบครัวในสังคมไทย พ่อ แม่ ลูก เปิดใจกัน รักใคร่กลมเกลียวกัน แสดงความรักที่มีต่อกัน จะทำให้ปัญหาครอบครัวในประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ต้องมี 20%-30% ที่ปัญหาในครอบครัวจะหายไปจากสังคม
  63. คุณวิกรมบอกว่า Nothing Is Impossible ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างจากสองพี่น้องตระกูล Wright ที่เป็นผู้บุกเบิกวงการการบินให้กับมนุษยชาติ ที่พัฒนาให้โลกของเราในปัจจุบันสามารถบินขึ้นสู่ดวงจันทร์ได้ เพราะถ้ามัวแต่คิดว่ามนุษย์เราไม่สามารถบินได้ ก็คงไม่มีการพัฒนาการบินมาจนถึงทุกวันนี้
  64. คุณวิกรมบอกว่า การที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นหลุดพ้นจากความยากจนได้นั้น จะต้องส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจแบบยั่นยืน ไม่ฉาบฉวย ไม่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ยกตัวอย่างเช่น ในสายการผลิต อย่างในอมตะซิตี้ ที่โรงงานจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งนั้น มีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง มีการผลิตทุกสัปดาห์ มีการผลิตทั้งปี หน้าแล้งก็ผลิต หน้าฝนก็ผลิต หน้าหนาวก็ผลิต และเลือกเศรษฐกิจที่ไม่ให้มีมลพิษ มลภาวะ ต้องควบคุมของเสียจากโรงงานให้มันสะอาดไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หรือกระทบน้อยที่สุด และจะต้องเป็นโรงงานที่เป็นนวัตกรรม เพราะคนไทยจะได้เก่งขึ้นด้วย ไม่ใช่ได้เงินเดือนเพียงอย่างเดียว
  65. คุณวิกรมได้ฟังนิยามจาก สี เจิ้นผิง ผู้นำประเทศจีน เคยได้ให้คำจำกัดความ ในการทำให้คนจนหมดประเทศไปนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 5 ข้อดังนี้ก็คือ 1) ต้องมีบ้านอยู่ 2) ต้องมีข้าวกิน 3) หน้าหนาวต้องมีเสื้อใส่ 4) ถ้าครอบครัวมีลูกมีเต้าต้องมีโรงเรียนให้เรียน 5) ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยต้องมีหมอให้เขาหา ถ้าทำได้ทั้ง 5 ข้อนี้ คนจนก็จะหมดประเทศไปได้ ซึ่งการที่ประเทศมีเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ก็จะส่งผลให้คนมีงานทำตลอด ทำให้สามารถมีใช้จ่ายในปัจจัยทั้ง 5 ที่ว่ามาได้นั่นเอง
  66. คุณวิกรมเล่าว่าในปี ค.ศ. 2020 ประเทศจีนได้ประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับความยากจนได้สำเร็จ คนยากจนที่สุดในจีนก็ยังมีปัจจัย 5 ครบ ทั้งการมีบ้านอยู่ มีข้าวกิน มีเสื้อผ้าใส่หน้าหนาว มีการศึกษา มีการรักษาพยาบาลให้ครบแล้ว ต่อมาทางรัฐบาลจีนก็ตั้งกองทุนที่ให้มหาเศรษฐีชาวจีน 1,000 คนที่รวยที่สุด มาช่วยกันบริจาค อย่าง Jack Ma ก็บริจาคไปกว่า $15,000 ล้านดอลล่าร์ฯ เพื่อนำกองทุนตรงนี้ไปช่วยคนที่ยากจนที่สุด ให้คนที่เรียนเก่ง มีความสามารถ ได้มีทุนการศึกษาที่สูงขึ้น ส่วนคนจนที่ไม่มีเงินทุน ก็มีกองทุนตรงนี้ให้กู้เงินเพื่อไปเริ่มต้นทำธุรกิจ ทำให้คนยากจนที่สุดในจีน ก็จะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก สามารถขึ้นเป็นเศรษฐีได้เช่นกัน ก็จะส่งผลให้ประเทศเติบโตมากยิ่งขึ้น มีคนรวยจำนวนเพิ่มมากขึ้นไปอีก จากการให้การศึกษาที่สูงขึ้น และจากการมีกองทุนในการทำธุรกิจ
  67. หลายคนอาจจะแย้งคุณวิกรมว่า จีนเป็นการปกครองแบบระบอบคอมมิวนิสต์ จะเอาไทยไปเปรียบเทียบได้ยังไงกัน เพราะอันนั้นผู้นำเขาสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ โดยคุณวิกรมก็ตอบกลับว่า เมื่อก่อนไต้หวันก็ล้าหลังกว่าไทย เกาหลีใต้ก็ไม่มีอะไร ญี่ปุ่นก็โดนนิวเคลียร์ สิงคโปร์ก็ไม่มีอะไร หรืออย่างอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่าไทยตั้งเกือบ 4 เท่า ซึ่งแน่นอนว่า มีจำนวนคนจนเยอะกว่าประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่พอ Joko Widodo ขึ้นเป็นผู้นำสมัยที่สอง กลับส่งผลให้ประเทศอินโดนีเซียมี GDP เติบโตขึ้นเกือบ 6% ทั้ง ๆ ที่อินโดนีเซียก็ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย ดังนั้นคุณวิกรมบอกว่า มันขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ ไม่จำเป็นที่จะต้องปกครองแบบระบอบคอมมิวนิสต์
  68. บางคนอาจจะมีคำถามว่าคุณวิกรมเชียร์จีน ทำไมไม่เชียร์อเมริกาบ้าง? คุณวิกรมก็ให้คำตอบว่า ถ้าเขาไม่มีอเมริกาในช่วงที่ขายปลากระป๋องสำหรับเป็นอาหารแมวในช่วงต้น ๆ ของการทำธุรกิจ เขาก็ไม่มีทางที่จะมีเงินเก็บมากถึง 35 ล้าน เพื่อเอามาต่อยอดจนถึงทุกวันนี้ เขาได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากอเมริกาเยอะมาก เพียงแต่ว่าเนื่องจากเราเป็นคนเอเชีย คุณวิกรมก็เลยอยากเปรียบเทียบกับชาติเอเชียด้วยกัน เพราะเดี๋ยวไปยกเคสฝรั่งมา คนก็จะบอกอีกแหละว่า ทำไมเอาคนไทยไปเปรียบเทียบกับฝรั่งอีกนั่นแหละ
  69. คุณวิกรมเล่าว่า การที่ประเทศจะดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำให้ประเทศเจริญได้นั้น แต่ละประเทศจะต้องออกนโยบายที่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ เช่น ที่ประเทศจีน เริ่มแรกก็ทดลองทำที่เมืองเซินเจิ้นให้เป็นเมืองตัวอย่างเศรษฐกิจเขตพิเศษที่เปิดให้นักลงทุนเข้ามา ที่มีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ได้สิทธิพิเศษทางภาษี สิทธิพิเศษเรื่องของที่ดิน มี one stop service อย่างครบครัน มันจึงทำให้เมืองเซินเจิ้นนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดด กลายเป็นโมเดลต้นแบบที่จีนสามารถนำไปปรับใช้กับหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองท่าอื่น ๆ ได้อีก และเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีนโยบายดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ ดูไบ ที่นอกจากเรื่องของสิทธิพิเศษจากธุรกิจ กฎหมายแล้วนั้น แม้แต่เรื่องของการให้สัญชาติก็สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติได้ ทำให้ประเทศชาติเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยใช้เวลาภายในไม่กี่ปี
  70. ในปัจจุบันคุณวิกรมมีแนวคิดที่จะพัฒนา ยกระดับเมืองนิคมอุตสาหกรรม ให้กลายเป็น smart city เขาจึงได้ศึกษาจากเมืองทั่วโลกแล้วก็พบว่า เมืองโยโกฮาม่านั้น แต่ก่อนเป็นเมืองท่า เป็นเมืองนิคมอุตสาหกรรม แล้วพัฒนาเป็น smart city ที่เป็นเมืองอัจฉริยะ ที่นอกจากจะมีเทคโนโลยีที่ดีแล้วนั้น จะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย กลายเป็นเมืองที่มีประชากรใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น และทางอมตะซิตี้ก็มีโรงงานญี่ปุ่นมาตั้งฐานที่ไทยกว่า 700 โรงงาน ทางคุณวิกรมจึงไปติดต่อทางการต่างประเทศของญี่ปุ่นเพื่อให้มาช่วยพัฒนาอมตะซิตี้ ให้กลายเป็นเมือง smart city อย่างที่โยโกฮาม่าทำ ทางโยโกฮาม่าก็เห็นด้วย จึงเริ่มมาช่วยพัฒนาอมตะซิตี้ให้กลายเป็นเมือง smart city ที่เรียกได้ว่ากำลังจะกลายเป็นเมืองโยโกฮาม่าแห่งที่สองที่ตั้งอยู่ที่เมืองไทย
  71. การที่เราศึกษาจากคนที่ทำสำเร็จมาแล้ว แล้วก้อปปี้ตามแล้วทำให้ดีกว่าเขาได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เป็นเรื่องที่ดี ก็ในเมื่อเขาทำแล้วได้ดี แล้วทำไมเราจะไม่ทำบ้างล่ะ
  72. คุณวิกรมเปรียบเทียบนโยบายการแจกเงินทั้ง ๆ ที่ไม่มีเงินนั้น จะทำให้ต้องรับภาระในการกู้หนี้ยืมสินที่หนักมาก หากไม่มีแผนการในการหาเงิน โดยหากเราเปรียบเป็นบริษัท แล้วเราเป็นเถ้าแก่ จู่ ๆ เราจะให้สวัสดิการพนักงาน ทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่มีเงิน แล้วจะต้องไปกู้มาให้นั้น มันจะไปไม่รอด ดังนั้นบริษัทจะต้องหาเงินให้ได้มั่นคงยั่นยืน ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำแล้วตอบแทนพนักงานด้วยโบนัส ด้วยสวัสดิการต่าง ๆ ก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่โดยไม่เดือดร้อน การบริหารประเทศก็เช่นกัน จะต้องทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หาเงิน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศให้ได้ซะก่อน ก่อนที่จะแจกเงิน เพราะการแจกเงินทั้ง ๆ ที่ไม่มีวิธีการสร้างเม็ดเงินมารองรับ มันเป็นวิธีที่ฉาบฉวยไม่ยั่งยืน
  73. คุณวิกรมเล่าว่า Nature ของคนเอเชียกับฝรั่งทางตะวันตกนั้น มีความแตกต่างกันมาก โดยเขาได้ยกตัวอย่างในมุมของธุรกิจ ถ้าสมมติว่าเราทำการค้ากับฝรั่งฝั่งตะวันตก ที่ปกติมักจะสนิทเร็ว รู้จักกันเร็ว เข้าหากันเร็ว แต่ถ้าผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือไม่คุ้มค่า ฝรั่งจะตัดสินใจตีตัวออกห่างทันที บนพื้นฐานของตัวเลข ของการคำนวณความคุ้มค่า แม้ว่าจะสนิทกัน แต่ในขณะที่หากเป็นฝั่งเอเชียนั้น จะมีความแน่นแฟ้น ความผูกพันธ์ ถ้าเป็นพาร์ทเนอร์กันมานาน จะให้เกียรติกัน จะช่วยเหลือกัน จะไม่ทิ้งกันตัดฉับแบบในฝั่งของฝรั่ง เป็นต้น
  74. คุณวิกรมแชร์เรื่องการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ ว่า ตั้งแต่ยุคของ ลี กวนยู สมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ท่านจบจาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) มหาวิทยาชื่อดังที่ติดอันดับ Top 10 ของโลกมาอย่างยาวนาน ท่านก็เชิญให้ทาง Cambridge มาช่วยกันสร้างหลักสูตร จน ณ ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยสิงคโปร์อย่าง National University of Singapore นั้นติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกอยู่อันดับที่ 8 ของโลก ซึ่งเป็นหาวิทยาลัยชาติเอเชียเจ้าแรกที่ติดอันดับนับเป็นประวัติศาสตร์ของชาติเอเชียเลยก็ว่าได้ ซึ่งการศึกษาที่ดีของประเทศสิงคโปร์นี่แหละ ก็คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติสิงคโปร์นั้นเจริญก้าวหน้าอย่างมีคุณภาพ มีแต่คนเก่ง ๆ ทำงานให้กับประเทศ
  75. ประเทศไทยจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ คุณวิกรมบอกว่า จะต้องมีอย่างน้อยสามข้อดังนี้ก็คือ 1) เศรษฐกิจดี 2) มีความปลอดภัย อย่างเช่นภัยที่ตามมาจากสิ่งเสพย์ติด 3) สิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะนอกจากจะต้องทำให้ประเทศชาติรวยขึ้นแล้ว จะต้องมีความสะอาด ไม่มีมลพิษหรือมีให้น้อยที่สุดด้วย
  76. คุณวิกรมบอกว่า เขาภูมิใจมากที่สามารถสร้างอมตะนครจากศูนย์ขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี ที่คิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศไทยได้ สร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศไทยได้ และในอนาคตคุณวิกรมก็ตั้งเป้าว่า จะต้องเพิ่มมวลการผลิตให้เป็น 20% ของ GDP ประเทศไทยให้จงได้
  77. สาเหตุที่คุณวิกรมตัดสินใจที่จะไม่เข้าไปรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่มีงบประมาณประเทศให้ใช้ มีบุคคลากรมีคนให้ใช้ อย่างเพียบพร้อม นั่นก็เป็นเพราะว่า ถ้าเขาบริหารบริษัทตัวเอง เขาจะไม่โดนใครแอบเลื่อยขาเก้าอี้ ยิ่งพอเขาเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวที่แย่ ๆ ในอดีตของตัวเอง วัน ๆ ก็จะมีแต่คนขุดคุ้ยมาพูดในรัฐสภา ซึ่งมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยต่อการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง
  78. คุณวิกรมบอกว่า ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว ประเทศในอาเซียนตามหลังประเทศไทยแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย หรือแม้แต่จีน ซึ่งสาเหตุที่ประเทศไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ว่ามานั้น คุณวิกรมบอกว่า มันเป็นเพราะว่า คนที่มีโอกาสไม่มีความสามารถ ส่วนคนที่เก่ง ๆ ไม่ได้รับโอกาส ซึ่งเขาเชื่อว่า คนไทยที่มีความสามารถระดับรางวัลโนเบลนั้น มีในไทยเยอะมาก แต่ไม่มีโอกาส ดังนั้นผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์และดึงคนที่เก่ง ๆ เข้ามาทำงานให้กับประเทศ
  79. คุณวิกรมบอกว่าเขาเชื่อมั่นในประเทศไทยมาก ๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทุกสิ่งทุกอย่างหล่อหลอมรวมกันอย่างเพียบพร้อม ทั้งภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขอแค่เพียงมีผู้นำที่ดี ประเทศไทยจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย
  80. คุณวิกรมบอกว่า ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์นั้น เขาจะยึดความสำเร็จกับความสุขเป็นเกณฑ์ เพราะเมื่อประเทศประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจหรือในเรื่องของสิ่งแวดล้อม พอสำเร็จแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือความสุข
  81. คุณวิกรมบอกว่า หน้าที่ของผู้บริหารองค์กรนั้น หน้าที่หลัก ๆ ไม่ใช่การลงไปทำเอง แต่เป็นการปล่อยให้ลูกน้องทำ เพราะหน้าที่หลักของผู้บริหารนั้น จะประกอบไปด้วย 3 ข้อ ดังนี้ก็คือ 1) ดูว่าบริษัทมีกำไรมากน้อยเท่าไหร่ 2) บริษัทเป็นหนี้สินเท่าไหร่บ้าง 3) บริษัทมีปัญหาอะไรบ้าง นั่นแหละคือหน้าที่หลัก ๆ ของผู้บริหาร
  82. “เรียนก่อนที่จะรู้ รู้ก่อนที่จะทำ” โดยคุณวิกรมได้ข้อคิดมาเมื่อตอนที่จะขอทุนไปเรียนปริญญาโทที่อเมริกา ที่จะต้องทำเอกสารอะไรต่าง ๆ มากมาย และเขาก็ไม่รู้เลยว่าเอกสารต่าง ๆ นั้นจะต้องทำอะไรยังไง นั่นก็เพราะเขาไม่มีความรู้ มันจะทำให้เราเหนื่อยมาก ถ้าหากเราไม่มีความรู้ก่อนที่จะทำในสิ่งนั้น
  83. “ยอมจำนนกับอดีต แต่ไม่ยอมแพ้กับอนาคต” เพราะอดีตนั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนมันได้ จากความล้มเหลวในอดีต คุณวิกรมเคยขอยืมเงินคุณแม่มาจำนวน 80,000 บาท กับพี่สาวลูกของคุณป้าอีก 40,000 บาท รวมเป็น 120,000 บาท ในช่วงที่เริ่มต้นทำธุรกิจแรก ๆ ในชีวิต ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 แต่ตอนนั้นไม่มีคอนเนคชั่น ไม่รู้จักใคร ทำยังไงก็ขาดทุน ทำยังไงก็ร่อยหรอ บริหารเงินก็ไม่เก่ง ซึ่งการที่ตัวของเขาสามารถมาถึงทุกวันนี้ได้นั้น คุณวิกรมบอกว่า ไม่ใช่ว่าเขาเก่ง ไม่ใช่ว่าเขาดวงดี แต่เป็นเพราะเขาอึด เขาไม่ยอมแพ้ เขาคิดว่าการทำงานหนักนั้นยังไงก็ไม่ตาย เหนื่อยก็หยุด แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่ตัดสินใจแล้วว่าจะทำ จะไม่มีการทิ้งหรือเลิกทำกลางคัน
  84. “ทำดีไม่ต้องมีคำชม” เพราะคำว่าความสุขนั้นมันอยู่ที่ตัวเรา เรารู้ตัวเองว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งตอนที่คุณวิกรมกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนั้น เขาเป็นช่างตัดผมให้เพื่อน ๆ ฟรี ไม่คิดตังค์ สิ่งที่ได้ทันทีก็คือเรามีความสุขที่ได้ทำ และการที่เราทำดี คนที่มีความสุขที่สุดนั่นก็คือตัวของเราเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาชมแล้วค่อยมีความสุข เราไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้คนอื่นรับรู้ คนอื่นชมแล้วค่อยมีความสุข เราทำดีได้เลย มีความสุขได้เลย
  85. “เก่ง แต่ไม่โกง” เราต้องมีความภูมิใจในความเก่งของเรา ต้องรู้ว่าเราชอบอะไร และทำอะไรได้ดี และเราต้องไม่เป็นคนคดโกงใคร
  86. “แต่ละคนมีวิธีการทำต่างกันแต่เป้าหมายเดียวกัน” ในองค์กรแต่ละองค์กรนั้น ทุกคนมีหน้าที่ต่างกัน ทำงานต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนมีคือทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งบริษัทหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้นจะขึ้นอยู่กับการที่ทุกคนมีเป้าหมายอันเดียวกัน แม้ว่าต่างคนต่างทำ แต่ทำในภายใต้นโยบายเดียวกัน
  87. “หยุดคิดชีวิตจะล้าหลัง” คุณวิกรมบอกว่า ความคิดของคนเรานั้นมันคืออาวุธ มันคือพลัง มันคืออนาคต ที่ไม่เสียกะตังค์สักบาท ดังนั้นจงอย่าหยุดคิด เพราะถ้าคุณหยุดคิดเมื่อไหร่ ชีวิตจะล้าหลังเมื่อนั้น
  88. “มองให้ไกลไปให้ถึง” มองให้ไกล อย่ามองแค่สั้น ๆ แค่ปลายจมูก โดยให้มองทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน เรื่องอนาคต มองข้ามช็อต มองให้ไกล และก็ต้องมองอย่างมีเหตุและผล ไม่ใช่มองไปเรื่อยเปื่อย
  89. “พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้” คิดทุกวัน เพราะความคิดนั้นไม่เสียตังค์ ให้คิดในทุกเรื่องในชีวิตเรา คิดถึงเรื่องในบ้านเรา คิดถึงเรื่องงานของเรา คิดถึงเรื่องอะไรก็ได้ ให้พรุ่งนี้มันดีขึ้นสักนิดนึงก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้คิด ดีกว่าไม่ได้ทำ
  90. “ไม่มีอะไรสายสำหรับวันนี้” ถ้าใครที่ยังผัดวันประกันพรุ่ง วันนี้ลองเปลี่ยนใหม่ ลองเริ่มทำวันนี้เลย โดยคุณวิกรมบอกว่า การที่ทุกท่านเริ่มทำวันนี้ทันที จะนำไปสู่การเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง จะนำไปสู่ความสำเร็จ ความภูมิใจ และก็ความสุข
  91. “หลงทางดีกว่าหลงตัวเอง” หลงทางนั้นกลับง่าย กลับไม่ยาก ในสมัยนี้แค่เปิด GPS นำทางก็กลับได้แล้ว แต่หลงตัวเองกลับยากเหลือเกิน บางคนหนัก หลงตัวเองคิดว่าตัวเองเป็นเทพก็มี
  92. “เตรียมตัวมากปัญหายิ่งน้อยลง” ก็เหมือนกับเมื่อตอนที่เราสอบ ถ้าเราเตรียมตัวมาก ก็สอบง่ายขึ้น การทำงานก็เช่นกัน ยิ่งท่านเตรียมตัวยิ่งเยอะ ก็ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  93. “สมองมีไว้คิด กระดาษมีไว้จด” อย่าไปมัวบ่น ไปมัวเบิ๊ดกะโหลกตัวเอง ว่าทำไมจำไม่ได้ เพราะสมองเราก็แก่ลงทุกวัน ๆ ดังนั้น ให้คิดไปเลยว่า สมองมีไว้คิด พอนึกอะไรได้ก็ให้จดเอาไว้ พอจะทำก็ให้หยิบสิ่งที่จดขึ้นมาดู อย่าไปว่าตัวเอง อย่าไปว่าพ่อว่าแม่ว่าทำไมขี้หลงขี้ลืม เพราะมันจะทำให้เสียความมั่นใจในตนเอง อย่าไปโทษ เพราะสมองมีไว้คิด กระดาษมีไว้จด
  94. “คนขี้เกียจอายุสั้น คนขยันอายุยืน” ขยันออกกำลังกาย คนไหนเดินไปไหนพุงถึงก่อนอายุจะสั้น ให้สำรวจพุงตัวเอง ควบคุมการกิน ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ
  95. “รู้จักกิน รู้จักใช้” หิวเมื่อไหร่กินเมื่อนั้น แต่หายหิวปั๊บให้หยุด อย่าไปมัวเพลินกับการกิน
  96. “คิดก่อนพูด จะไม่เสียใจในอนาคต” อย่าปากเปราะ ให้เราฟังให้เยอะ มีหูไว้ฟัง มีสมองไว้คิด แล้วค่อยใช้ปากทีหลัง มันจะทำให้เราไม่เสียเปรียบ ไม่เสียหายจากคำพูดที่เกิดจากอารมณ์ บางทีคิดว่าตนเองนั้นเก่ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง มีคนเก่งกว่าเราในทุก ๆ เรื่องเสมอ ถ้าเราพูดไม่คิดเราก็จะเสียหาย ถ้าหนักหน่อยก็เสียหายทั้งองค์กร เพราะเกิดจากการคิดไม่รอบคอบแล้วดันพูดออกไป
  97. “โกรธเขาเราทุกข์” เวลาเราโกรธเขา เขาไม่รู้สึกอะไรกับเราหรอก เพราะเราไม่ได้บอกเขา เขาไม่รับรู้ ดังนั้นคนเราเวลามีเรื่องอะไรต้องพูดคุยกัน อย่างคุณวิกรมถ้าหากเขามีอะไรกับใคร เขาจะหาเวลามานั่งคุยกันเลยสองคนแบบสุภาพบุรุษ เอาความในใจของเราบอกให้เขาฟังอย่างสุภาพ ให้เกียรติเขา และเราก็ไม่มีทุกข์
  98. “อ่อนน้อมไม่อ่อนแอ” การที่เราไหว้ใครนั้น มันไม่มีอะไรเสียหายเลย มันกลับเป็นการแสดงความอ่อนน้อม มันเป็นเสน่ห์ มันเป็นใบเบิกทาง มันไม่ได้แสดงถึงความอ่อนแอของเราเลย การยกมือไหว้ การแสดงความขอบคุณ การยิ้มแย้มแจ่มใสให้แก่ผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมไทย เป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมไทย
  99. “ผู้นำต้องไม่เห็นแก่ตัว” ผู้นำนั้นจะต้องเป็นคนใจกว้าง ต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องหนักแน่น ไม่อิจฉา ถ้าเราทำได้แบบนี้ เราจะเป็นผู้นำที่ดี ส่วนผู้นำที่เห็นแก่ตัวนั้น คือผู้นำที่คนไม่ค่อยยอมรับ แต่ที่เห็นเขายอมรับอาจเป็นเพราะเรามีอำนาจ เขาอาจจะรับเพราะเก่ง แต่เขาไม่ศรัทธา และที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่ได้เป็นคนดี
  100. ผมจะเป็นคนดี คุณวิกรมบอกว่า ไม่มีอะไรที่ดีกว่าการทำดีอีกแล้ว คิดดี ทำดี พูดดี ก็เหมือนกับการทำบุญอย่างหนึ่ง เมื่อเขาจากโลกนี้ไปแล้ว ทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดของเขาทั้ง 100% นั้น ก็จะทำการยกให้แก่สังคม ประเทศของเราต้องการคนดี

Resources