Jim Kwik ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ที่สอนให้คนทั่วโลกให้ใช้สมองให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ที่เขาใช้เวลาในการพัฒนาเทคนิคมามากกว่า 30 ปี โดยในคอนเท้นต์นี้ Jim Kwik จะมาแชร์ 3 วิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถจำสิ่งที่อ่านได้แบบไม่หลง ๆ ลืม ๆ อีกต่อไป
โดยเขาเริ่มต้นว่า พวกเราส่วนใหญ่คงเคยผ่านเหตุการณ์ประมาณว่า นั่งอ่านหนังสือ บทความ หรือเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย จนจบ แต่กลับพบว่า ตนเองนั้นได้ลืมสิ่งที่พึ่งอ่านไปเมื่อสักครู่ไปเรียบร้อยแล้ว แล้วคุณก็ต้องมานั่งอ่านใหม่ เพื่อทบทวนว่าตะกี้ฉันอ่านอะไรไป
ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้ตระหนักในเรื่องที่ว่า การที่จะต้องกลับไปอ่านซ้ำนั้น สิ่งที่เราต้องจ่ายไปก็คือ ‘เวลา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่าที่สุดในชีวิตของคนเรา เพราะเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์เรามีอยู่อย่างจำกัด
ซึ่ง Jim Kwik บอกว่า กุญแจสำคัญในการที่คนเรานั้นจะจดจำในสิ่งที่อ่านหรือสิ่งที่ได้รับฟังมานั้น คือการตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้น เพราะการตั้งคำถามจะนำไปสู่การได้มาซึ่งคำตอบ
โดยขั้นแรก ให้เราเริ่มต้นด้วยการหยิบสมุดโน้ตขึ้นมาสักเล่ม แล้วแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสองฝั่ง โดยให้ฝั่งซ้ายเอาไว้จดสิ่งที่ได้จากการอ่านหรือได้จากการฟังจากข้อมูลที่ได้รับมา (CAPTURING) ซึ่งเป็นการบันทึกข้อมูลเดิมที่ได้รับมา
ส่วนฝั่งขวา เราจะทำการเขียนสิ่งใหม่ขึ้นมา (CREATING) เขียนในสิ่งที่เราประทับใจ สิ่งที่รู้สึกที่ได้จากฝั่งซ้าย ที่ได้จากการบันทึกโน้ต เพื่อต่อยอดจากสารที่เราได้รับมา โดย Jim Kwik เขาได้ใช้เทคนิคในการตั้งคำถามด้วยกันอยู่ 3 ข้อ ดังนี้ก็คือ
คำถามที่ 1 – HOW CAN I USE THIS? ฉันจะใช้ข้อมูลนี้อย่างไรได้บ้าง
เวลาที่เราอ่านหรือฟังข้อมูลที่ได้รับมานั้น หากเราไม่โฟกัสฟุ้งซ่าน คิดเรื่องอื่นปนเข้ามาด้วย ก็จะทำให้สติเรานั้นหลุดกับเนื้อหาที่กำลังเสพย์อยู่ ดังนั้น เวลาที่ได้รับข้อมูลต่าง ๆ มา ให้เราพยายามตั้งคำถามในหัวของตนเองอยู่ตลอดว่า เราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้สมองของเรา หมกมุ่นกับการค้นหาคำตอบ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ว่า ฉันจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปในทางที่ 1 2 3 ก็จะทำให้จิตของเรานั้นจดจ่ออยู่กับเนื้อหาเหล่านั้น
คำถามที่ 2 – WHY MUST I USE THIS. ทำไมฉันจะต้องใช้สิ่งนี้
การหาเหตุผลให้ตนเองตระหนักเห็นถึงความสำคัญนั้น คือสิ่งอันทรงพลัง เพราะมนุษย์เรานั้น หากมีเหตุผลสำคัญอยู่เบื้องหลัง มันจะเป็นแรงผลักดันให้คนเราทำในสิ่งนั้น ๆ อย่างมีเป้าหมาย อย่างมีจุดประสงค์ จงตั้งคำถามกับตนเองว่า เพราะเหตุใดและทำไมเราจะต้องใช้สิ่งนี้หรือข้อมูลเหล่านี้
ดังคำกล่าวที่ว่า “Reason Lead Result” เหตุจะนำไปสู่ผล
เช่นเดียวกัน หากคุณไม่มีเหตุผลหรือแรงจูงใจในการอ่านสิ่งเหล่านั้น คุณก็อ่านสิ่งนั้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร
คำถามที่ 3 – WHEN WILL I USE THIS? เมื่อไหร่ที่ฉันจะใช้สิ่งนี้
Jim Kwik บอกว่าเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ระบุ วันเวลา ที่จะต้องทำในสิ่งต่าง ๆ นั้นก็คือปฏิทินนั่นเอง การระบุลงไปในปฏิทินว่า วันเวลาใดคุณจะทำงาน ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์นั้น จะช่วยให้เรามองเห็นว่า เมื่อถึงเวลาดังกล่าว เราควรจะลุกขึ้นไปทำในสิ่งที่จดเอาไว้ในตารางปฏิทิน
ซึ่ง Jim Kwik เขาก็บอกว่า ทุกครั้งที่เขาจะเริ่มต้นอ่านอะไรสักอย่าง เขาก็จะตั้งคำถาม 3 ข้อนี้ไว้อยู่เสมอ เพราะเขาตระหนักรู้ว่า การที่จะสละเวลาอ่านอะไรสักอย่างนั้น มันคือการลงทุนด้วยเวลาในชีวิตของเรา ดังนั้น หากตัดสินใจที่จะอ่านแล้ว ก็ต้องอ่านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพียงแค่อ่านไปผ่าน ๆ แล้วก็ลืมมันไป
ดังนั้นอันดับแรก คุณต้องเลือก Information หรือข้อมูลที่ควรค่าแก่การอ่านหรือฟังเสียก่อน จากนั้นก็บวกกับ Inspiration หรือแรงบันดาลใจในการเสพย์ข้อมูลเหล่านั้น จากนั้นก็ Implementation คือการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลลัพท์ที่ทรงพลัง ที่ได้จากการทำ Intigration คือรวม 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน
Resources