3 ขั้นตอนหลักคิด แก้ไขปัญหา สไตล์ Elon Musk แบบ First Principles Thinking
ต้องยอมรับว่า Elon Musk คือ หนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคนี้ ชายผู้เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยทรัพย์สินรวมจำนวน $246,200 พันล้านดอลล่าร์ฯ หรือราว ๆ 8.4 ล้านล้านบาท แถมยังเป็นเจ้าของ Twitter ที่เขาพึ่งเข้าซื้อล่าสุดอีกด้วย
โดยที่ผ่านมาเขาสามารถสร้างบริษัทระดับพันล้านสำเร็จมาแล้วด้วยกันหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Paypal (Financial), Tesla Motors (Automotive) และ SpaceX (Aerospaces) นี่ยังไม่นับรวมอีกหลากหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Solar City (Energy), Neuralink (Brain-Machine), Hyperloop (Transport), OpenAI (Artificial Intelligence) และอื่น ๆ อีกมากมาย
ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า บริษัทแต่ละที่นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่อยู่คนละอุตสาหกรรมกันเลย แต่ทำไม Elon Musk เขาจึง สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และสร้างบริษัทแต่ละที่ให้เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ได้ ทั้ง ๆ ที่แต่ละอุตสาหกรรมนั้น ล้วนแล้วแต่ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นี่มันอัจฉริยะชัด ๆ
แต่ต้องยอมรับว่า ในความเป็นอัจฉริยะของเขานั้น พื้นฐานแล้ว เขาเป็นคนที่ทำงานอย่างหนัก โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาทำงานเฉลี่ยราว ๆ 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี โดยที่แทบไม่มีการลาพักเลย เพราะเขาเชื่อว่าการเพิ่มจำนวนเวลาในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น จะส่งผลให้มีโอกาสประสบความสำเร็จเร็วยิ่งขึ้นด้วย
แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่า คนขยันทุกคนไม่ได้ร่ำรวย แต่คนที่ร่ำรวยนั้นขยันกันทุกคน
สิ่งนั้นก็เป็นเพราะ ระบบความคิดของเหล่าบรรดาคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้น พวกเขามีวิธีคิดที่แตกต่างจากคนทั่ว ๆ ไป พวกเขามีระบบความคิดที่ฉลาด หลักแหลม เฉียบคม อย่างเป็นระบบ ที่ส่งผลให้พวกเขานั้น สามารถเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ ในอย่างรวดเร็ว สามารถแก้ไขปัญหาที่ยาก ๆ ได้ และสร้างผลงานชิ้นเอกไว้ให้กับโลกนี้ ซึ่งหลักการที่ว่านั้นก็คือ ‘FIRST PRINCIPLES‘
FIRST PRINCIPLES คืออะไร?
หลักการคิดแบบ FIRST PRINCIPLES นั้น ได้ถูกคิดค้นเมื่อกว่า 2300 ปีที่แล้ว โดยอริสโตเติล (Aristotle) เป็นนักปราชญ์กรีกโบราณ ด้วยผลงานที่โดดเด่นด้านการเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์ กวีนิพนธ์ต่าง ๆ สัตววิทยา การเมือง การปกครอง จริยศาสตร์และด้านชีววิทยา ทำให้อริสโตเติลได้รับการยกย่องให้เป็นนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลสูงที่สุดคนหนึ่งในโลกฟากตะวันตก
โดยอริสโตเติล บอกว่า First Principles นั้นเป็นรากฐานของความเข้าใจในสรรพสิ่ง และแนวคิดแนวคิดนี้มันยังเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบ
ซึ่งตัวของ Elon Musk เองนั้น เขาก็มีพื้นฐานจากทางด้านฟิสิกส์มาเป็นอย่างดี และตัวเขาก็บอกว่า การมีกรอบความคิดที่ดีนั้น คือการคิดแบบกฎฟิสิกส์ มันคือหลักการคิดของ First Principles อย่างมีเหตุมีผล โดยให้คิดหาถึงเหตุพื้นฐานที่เป็นรากฐานของสิ่งนั้นจริง ๆ แล้วค่อย ๆ สร้างผลจากเหตุนั้นขึ้นมา
แต่ชีวิตเราส่วนใหญ่นั้น เติบโตมาแบบการเปรียบเทียบจากสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว มันก็เหมือนกับการลอกเลียนแบบสิ่งที่คนอื่นเคยทำเอาไว้แล้วโดยมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยจากต้นฉบับ
และนี่คือ 3 ขั้นตอนหลักคิดแบบ First Principles ตามสไตล์ของ Elon Muk
ขั้นตอนที่ 1 – Identify problems and define your current assumptions ระบุปัญหาและกำหนดสมมติฐานปัจจุบันของคุณ
Tesla : “ทำไมแบตเตอร์รี่รถไฟฟ้าถึงมีราคาแพง? แบตเตอร์รี่มันประกอบไปด้วยวัสดุอะไรบ้าง? และส่วนประกอบดังกล่าวมีราคาเท่าไหร่?”
SpaceX : “ทำไมการสร้างจรวดอวกาศถึงมีราคาแพง? แล้วส่วนประกอบของจรวดนั้นมีอะไรบ้าง? แล้วส่วนประกอบเหล่านั้นมีราคาเท่าไหร่? และมันสามารถนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำได้หรือไม่?”
โดย Albert Einstein เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“If I had an hour to solve a problem, I’d spend 55 minutes thinking about the problem and 5 minutes thinking about solutions.”
– Albert Einstein –
แปลได้ว่า ถ้าฉันมีเวลาในการแก้ไขปัญหาอยู่ 1 ชั่วโมง ฉันจะใช้เวลาจำนวน 55 นาทีเพื่อคิดเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และฉันจะใช้อีก 5 นาทีที่เหลือในการคิดวิธีแก้ไขปัญหานั้น
ดังนั้น เมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ ๆ ให้ลองเขียนดูว่า ปัญหาดังกล่าวคืออะไรและส่งผลกระทบอะไรกับเป้าหมายของเรา
ขั้นตอนที่ 2 – Breakdown the problem into its fundamental principles ชำแหละปัญหาเพื่อระบุหลักการขั้นพื้นฐาน
ในขั้นตอนนี้คุณจะต้องทำให้แน่ใจก่อนว่า ตัวของคุณนั้น เข้าใจรากพื้นฐานของสิ่งนั้นอย่างถูกต้องและอย่างลึกซึ้งเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการดูรายละเอียดของใบไม้ คุณจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในเรื่องของ รากไม้ ลำต้น กิ้งไม้ เป็นอย่างดีเสียก่อน แล้วจึงค่อยลงลึกศึกษาในเรื่องของใบไม้
ซึ่ง fundamental principles หรือหลักการพื้นฐานนั้น โดยทั่วไปแล้ว เป็นเบสิคขั้นพื้นฐานที่ตั้งอยู่บนหลักความจริงของสิ่งนั้น ๆ ตามธรรมชาติอยู่แล้ว
และการที่เข้าใจสิ่งนั้นได้ ก็ให้เริ่มต้นจากการถามคำถามที่ทรงพลัง เพื่อให้ได้คำตอบที่ทรงพลัง
ซึ่งทาง Elon Musk ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ Kevin Rose ว่า เขามีหลักการคิดแบบ First Principles ที่นำไปใช้จริงกับ Tesla อย่างไรบ้าง
โดยเขาก็ได้ยกตัวอย่างจากการผลิต Battery ของรถไฟฟ้าว่า โดยส่วนใหญ่ผู้คนมักรับรู้ว่า การที่จะผลิตแบตเตอร์รี่ก้อนหนึ่งนั้นแพงมาก โดยมันมีราคาค่าใช้จ่ายราว ๆ $600 ดอลล่าร์ ต่อกิโลวัตต์ ชั่วโมง และด้วยชุดความคิดแบบเก่านั้น เมื่อผู้คนคิดไปแล้วว่า แบตเตอร์รี่รถไฟฟ้ามันแพง ในอนาคตมันก็คงจะยังแพงต่อไป
แต่เมื่อใช้หลักคิดแบบ First Principles คุณจะเริ่มต้นด้วยคำถามประมาณว่า “แล้ววัสดุที่ใช้ในการประกอบแบตเตอร์รี่นั้น มันมีส่วนประกอบอะไรบ้างล่ะ?” “แล้วแต่ละองค์ประกอบนั้น มีราคาเป็นเท่าไหร่บ้างในท้องตลาด”
คำตอบที่ได้ก็คือแบตเตอร์รี่นั้นประกอบไปด้วย cobalt, nickel, aluminum, carbon และ polymers บางส่วนเพื่อใช้ในการห่อหุ้มแบตเตอร์รี่ และนี่คือการ Breakdown หรือชำแหละวัสดุที่ใช้ทำแบตเตอร์รี่ออกมาเป็นส่วน ๆ ตามพื้นฐานการผลิต
ต่อมา ถ้าหากเราซื้อวัสดุดังกล่าวใน London Metal Exchange หรือในตลาดซื้อขายในลอนดอน เราก็จะพบว่า มันจะมีต้นทุนในการผลิตแบตเตอร์รี่อยู่ที่ราว ๆ $80 ต่อกิโลวัตต์ ชั่วโมง
ซึ่งคุณจะเห็นได้ชัดว่า คุณเพียงแค่ต้องคิดหาวิธีอันชาญฉลาดในการนำวัสดุเหล่านั้นมารวมร่างเป็นเซลล์แบตเตอร์รี่ และคุณก็จะได้แบตเตอร์รี่ที่มีราคาถูกกว่าใคร ๆ นั่นเอง
และนี่ก็คือตัวอย่างในการนำหลักคิดแบบ First Priciples นำไปใช้ในทางปฏิบัติ
แต่หากเรายังคงใช้ความคิดชุดเดิม ๆ ที่เคยเชื่อกันมาว่า การผลิตแบตเตอร์รี่รถไฟฟ้านั้นมีราคาแพง แต่ด้วยการตั้งคำถามที่ทรงพลังและท้าทายกับความเชื่อดั้งเดิม ด้วยการหาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบในการสร้างแบตเตอร์รี่ที่เป็นส่วนประกอบตามหลักพื้นฐานบนความเป็นจริงว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง แล้วเริ่มต้นจากการสร้างแบตเตอร์รี่ในราคาถูกจากจุด ๆ นั้น
ขั้นตอนที่ 3 – Create new solutions from scratch เริ่มต้นสร้างวิธีการแก้ไขปัญหาจากศูนย์
เมื่อเราสามารถระบุและแจกแจงปัญหาตามสมมติฐานบนพื้นฐานความเป็นจริงได้แล้ว ทีนี้ก็ให้เราเริ่มต้นสร้าง solution หรือวิธีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้น
และในเวลาต่อมา ก็ส่งผลให้บริษัท Tesla Motor นั้น กลายเป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ในที่สุด
และเช่นเดียวกัน เมื่อนำหลักคิดแบบ First Principles ไปใช้กับ SpaceX ทาง Elon Musk ก็เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมต้นทุนในการผลิตจรวดนั้นถึงแพง เพราะมันเอากลับมาใช้ซ้ำไม่ได้ ใช้แล้วทิ้ง แล้วถ้ามันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ล่ะ? แล้วส่วนประกอบของจรวดนั้นมีอะไรบ้าง? แล้วสามารถหาซื้อวัสดุที่เป็นส่วนประกอบจากที่ใดได้บ้าง? และมันมีราคาเท่าไหร่? และเมื่อเขาตั้งสมมติฐานบนหลักการบนพื้นฐานความเป็นจริงได้แล้วนั้น เขาก็เริ่มต้นสร้างบริษัท SpaceX เพื่อผลิตจรวดอวกาศขึ้นมาจากศูนย์เองซะเลย และเขาก็สามารถผลิตจรวดอวกาศที่มีต้นทุนแค่เพียง 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการผลิตจรวดอวกาศแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ แถมยังนำมันกลับมาใช้ซ้ำได้อีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนเลย
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า เขาได้ใช้หลักการคิดแบบ First Principles ในทุก ๆ อุตสาหกรรมได้ มันเป็นชุดความรู้ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้กับทุกสรรพสิ่งนั่นเอง
Resources
- https://medium.com/the-mission/elon-musks-3-step-first-principles-thinking-how-to-think-and-solve-difficult-problems-like-a-ba1e73a9f6c0
- https://www.independent.co.uk/business/elon-musk-uses-this-ancient-criticalthinking-strategy-to-outsmart-everybody-else-a7990601.html
- https://youtu.be/L-s_3b5fRd8
- https://youtu.be/0JQXoSmC1rs
- https://www.forbes.com/profile/elon-musk/
- https://www.scimath.org/article-science/item/11332-17-aristotle
- https://missiontothemoon.co/first-principles/
- https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000116/4-techno/maew/resrech/2.pdf