ในโลกยุคปัจจุบันนี้ เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าองค์กรใดต่างก็ต้องเร่ง “โชว์ของ” ที่มีออกมาให้หมด เพื่อเอาตัวรอดในสนามรบธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ฉะนั้น บุคลากรจะต้อง “เลือกเสี่ยง” ลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ หรือออกไอเดียที่ช่วยสร้างนวัตกรรมองค์กรได้ เป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญและเปิดทางให้บุคลากร กล้าคิดหรือลงมือทำ แม้มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ซึ่งความ “ไม่กล้าที่จะเสี่ยง” กลายมาเป็นปัญหาของพนักงานระดับทั่วไป (Frontline Employee) เพราะว่ากลัวผลลัพธ์ที่ตามมาจากความล้มเหลว ทำให้ไม่มีใครกล้าคิด หรือลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ส่งผลให้องค์กรเติบโตช้ากว่าคู่แข่งทางธุรกิจอื่นในธุรกิจยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้
โดยในคอนเท้นต์นี้ทางอาจารย์บี จาก Beyond Training ได้นำเสนอเนื้อหาจากนิตยสารธุรกิจชื่อดังอย่าง Forbes ในเรื่องของการทำแบบทดสอบออนไลน์ในหัวข้อ เกี่ยวกับเรื่อง ความกล้าที่จะเสี่ยงลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ในองค์กร โดยมีผู้ร่วมทำแบบทดสอบมากกว่า 10,000 คน โดยผลสำรวจพบว่า มีแค่คนจำนวนเพียง 28% ที่กล้าเสี่ยงลงมือทำโดยไม่กลัวความล้มเหลว
แต่นอกเหนือจากนี้ ก็ยังขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานของพวกเขาว่าตัวเองนั้นสามารถเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน อย่างกรณีในกลุ่มของคนที่อยู่ในระดับผู้บริหารมีถึง 40 % ที่พร้อมเสี่ยง แต่หากเป็นระดับพนักงานทั่วไปมีเพียงแค่ 24% เท่านั้น ที่เต็มใจเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ ฉะนั้นแล้ว เห็นได้ว่า ยังมีพนักงานจำนวนน้อยมากที่ยังขาด “ความกล้าเสี่ยง” จึงส่งผลให้องค์กรอาจจะเติบโตช้า เพราะขาดไอเดียจากบุคลากรที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ต่อธุรกิจ แล้วจะทำอย่างไร ให้พนักงานเปลี่ยนตนเองไปสู่ทัศนคติแห่งการเติบโตได้?
3 แนวทาง ที่ช่วยให้พนักงาน “กล้าเสี่ยง” ที่จะลงมือทำ โดยไม่กลัวความล้มเหลว
แนวทางที่ 1 : Willingness to Take Risks ยินดีกับความกล้าเสี่ยง แม้ผลลัพธ์จะล้มเหลว
ประการแรก แม้ว่าผู้นำองค์กรส่วนใหญ่อาจรู้สึกผิดหวัง หากผลลัพธ์จากการพยายามของพนักงานเกิดความล้มเหลว แต่ก็ควรที่จะแสดงความยินดีกับพนักงานที่ยอมเสี่ยง เพราะนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ตรงที่สุด ในการช่วยการเสริมแรงเชิงบวก (Empowerment) ที่ทรงพลังอย่างมาก ดังนั้น จงให้คุณค่ากับพนักงานที่รับความเสี่ยงได้ดี และกล่าวชื่นชมพวกเขาเหล่านั้น ในการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อให้พนักงานคนอื่นมองเป็น Role Model และปฏิบัติตาม”
แนวทางที่ 2 : Organizational Weakness ผู้นำต้องเผย “จุดอ่อนองค์กร” ให้พนักงานรับรู้
หลายองค์กรมีผู้นำที่มีอีโก้ค่อนข้างสูง มักจะมองว่าไม่มีใครที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาองค์กรได้ดีกว่าเขา จึงปิดกั้นไอเดียของพนักงานระดับล่าง ซึ่งเป็นแนวทางปฎิบัติที่ผิดหลักกับการทำธุรกิจในยุคใหม่นี้ ผู้นำควรโน้มลงมาเพื่อบอกกล่าว จุดอ่อนของตนเอง รวมถึงองค์กร เพื่อเปิดใจรับฟังความเห็นของพนักงาน และปล่อยให้พวกเขาลงมือทำจริง เพื่อจะได้ดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และพัฒนาต่อไปด้วยกันทั้งองค์กร
แนวทางที่ 3 : Psychological Safety สร้างความปลอดภัยทางใจให้กับพนักงาน
Psychological Safety เป็นหลักความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกองค์กรที่ต้องทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์จากความผิดพลาด แนวทางดังกล่าวนี้ สร้างความสำเร็จมาแล้วให้กับองค์กรของ Google ที่เปิดให้พนักงานได้ปลดปล่อยไอเดีย และลงมือทำอย่างไร้ความกังวลถึงปัญหาใด ๆ ก็ตาม ซึ่งจะทำให้พนักงานเกิด “ความกล้า” ที่จะลงมือทำเพื่อที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตไปได้ไกล ในธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นปัจจุบัน
Resources