Site icon Blue O'Clock

4 บทเรียนล้ำค่าจาก Robert Herjavec มหาเศรษฐีพันล้าน ในรายการ Shark Tank

Robert Herjavec

image credit - https://www.bustle.com/articles/70868-how-tall-is-robert-herjavec-his-dancing-with-the-stars-partner-kym-johnson-is-the-key

ถ้าพูดมหาเศรษฐีมาดเท่ รูปหล่อ แถมยังเต้นลีลาศไดแบบขั้นเทพ จากรายการ Shark Tank รายการที่เหล่าบรรดามหาเศรษฐีมองหาธุรกิจจากผู้ประกอบการที่มานำเสนอเพื่อขอเงินลงทุน ที่เล่นจริง ได้จริง เจ็บจริงแล้วล่ะก็ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Robert Herjavec ที่ ณ ปี 2020 เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $200 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 6,000 ล้านบาท

ซึ่ง Robert Herjavec ถือได้ว่า เป็นมหาเศรษฐีที่สร้างฐานะขึ้นมาด้วยลำแข็งของตัวเองจากศูนย์ โดยหากย้อนกลับไปเมื่อปี 1970 เมื่อตอนที่เขาอายุได้เพียง 8 ขวบ นั้น เขาได้นั่งเรืออพยพกับครอบครัวมาจากประเทศ Croatia มายัง Canada โดยทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีติดตัวพวกเขามาก็คือเสื้อผ้ากับเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น

โดยพ่อและแม่ของเขาทำงานอย่างหนัก เพื่อหาเงินส่งลูกเรียน จนกระทั่ง Robert สามารถเข้าเรียนในระดับชั้นมหาวิทยาลัยจนได้ และในปี 1990 เขาก็ได้ก่อตั้งบริษัทที่เกี่ยวกับ Internet Security Company ที่เป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยระบบอินเตอร์เน็ต จนกระทั่ง AT&T ได้ติดต่อขอเข้าซื้อกิจการไปในราคากว่า 30 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ กว่า 900 ล้านบาท สู่การเป็นนักลงทุนในรายการ Shark Tank

และนี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทสัมภาษณ์ Robert Herjavec ในรายการ The Jeff Probst Show

บทเรียนที่ 1 – ใครก็สามารถเป็นเศรษฐีได้ แต่ไม่ใช่เป็นกันง่าย ๆ

คนรุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่รับชมรายการทีวีอย่าง Shark Tank นั้นมักเข้าใจกันว่าการหาเงินเยอะ ๆ เป็นเศรษฐี มันเป็นเรื่องง่าย ๆ เพราะเพียงแค่ออกรายการไม่กี่นาที บางคนก็ได้เงินลงทุนนับล้าน แม้กระทั่งลูกของ Robert Herjavec ในวัย 14 ปี เองที่มีพ่อเป็นเศรษฐีพันล้านนั้น เธอก็เข้าใจว่า พ่อคนอื่น ๆ ก็เป็นเศรษฐีพันล้านง่าย ๆ เหมือน ๆ กันหมด

ดังนั้นคนรับสารถ้าเป็นเด็กจะต้องมีผู้ใหญ่คอยแนะนำ และหากเป็นผู้ใหญ่รับชมรายการทีวีก็จะต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนกับสารที่ได้รับมา

ซึ่งแม้ว่าการเป็นเศรษฐีพันล้าน มันไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ นั่นก็เพราะผู้คนส่วนใหญ่มองเงินว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ชอบมองเงินในทางลบ ๆ และแน่นอนว่า เวลาที่คนเราไม่ชอบอะไรก็ตาม คนเรามักก็จะตีตัวออกห่างจากสิ่งนั้น ในขณะที่ตัวของ Robert เองนั้น เขาไม่เคยมองเงินในแง่ร้าย เขาไม่เคยกล่าวโทษหรือคิดลบกับการที่เขาประสบความสำเร็จเลยแม่แต่น้อย

และ Robert ก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ใครก็สามารถเป็นเศรษฐีได้ เพราะตัวของเขาเองก็เริ่มต้นมาจากศูนย์โดยที่พ่อและแม่ของเขาตอนที่อพยพจากโครเอเชียมาแคนาดานั้น ยังพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้สักกะคำเลยด้วยซ้ำ

บทเรียนที่ 2 – จงทำตัวเองให้เป็นคนที่น่าคบหา

Robert เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่เขายังเด็ก เมื่อเขาไปโรงเรียนแล้วก็พบว่า เขาโดนล้อว่าเป็นคนต่างชาติที่อพยพมา พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เรื่อง แถมยังจนอีกต่างหาก ทำให้หลังจากเลือกเรียนเขาก็กลับมาที่บ้านแบบหงอย ๆ แล้วก็เอาแต่คร่ำครวญถึงความยากจนข้นแคนของครอบครัวของเขา จนกระทั่งพ่อของเขาเดินเข้ามาแล้วบอกกับเขาว่า “ไม่ต้องคร่ำครวญไปหรอก จงยิ้มสู้และร่าเริงเข้าไว้ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรก็ตาม” และตั้งแต่นั้นมา Robert ก็เป็นคนที่ร่าเริง ยิ้มง่าย อารมณ์ดีอยู่เสมอ

เพราะ Robert อธิบายให้ฟังว่า เมื่อคุณเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ใคร ๆ ก็อยากเข้าหา เข้ามาทำความรู้จักกับคุณ อยากไปแฮ้งเอ้าท์กับคุณ ซึ่งคุณลองจินตนาการดูว่า หากคุณถูกเชิญไปงานเลี้ยงสังสรรค์แล้ว ทำหน้าบูด หน้าตึง ใครจะอยากเข้าหาคุณ และเมื่อผู้คนไม่อยากเข้าหาคุณ นั่นก็หมายถึง มันไม่มีโอกาสที่คุยเพื่อไปต่อยอดความสัมพันธ์ ต่อยอดธุรกิจ อะไรต่อได้เลย มันจะทำได้ยากมาก

บทเรียนที่ 3 – คุณรู้จักใครไม่เท่าใครรู้จักคุณ

Robert บอกว่าอนาคตของคุณขึ้นอยู่กับคนที่รู้จักคุณ ไม่ใช่คนที่คุณรู้จัก โดยเขาได้เล่าให้ฟังเมื่อตอนที่เขาอายุประมาณ 18 ปี ตอนที่เขารู้จักเพียงแค่พ่อกับแม่ โดยพ่อเขาทำหน้าที่ถูพื้นในโรงงาน ส่วนแม่ของเขาก็ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับ

ซึ่ง Robert บอกว่าถ้ากฎแห่งความสำเร็จมันคือการที่คุณรู้จักใครเป็นจริงแล้วล่ะก็ เขาแย่แน่ เพราะตอนนั้นเขาก็รู้จักแค่พ่อกับแม่ของเขานี่แหละ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจตั้งแต่วันนั้นว่า เขาจะต้องเป็นคนที่ใคร ๆ ก็อยากรู้จักให้ได้

บทเรียนที่ 4 – การลงทุนต้องคาดหวังว่าต้องได้เงินคืนกลับมา

Robert ได้เล่าถึงเคสนึงที่เขาได้ลงทุนกับผู้ประกอบการในรายการ Shark Tank กับแบรนด์ที่ชื่อ Chord Buddy ที่เป็นอุปกรณ์ในการช่วยฝึกจับคอร์ดและเล่นกีต้าร์สำหรับผู้เริ่มต้น ที่สามารถทำให้มือใหม่เล่นกีต้าร์ได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น

โดยก่อนที่ธุรกิจนี้จะได้เงินลงทุน เขามียอดขายอยู่ที่ประมาณ $150,000 ตีเป็นไทยก็ประมาณ 4.5 ล้านบาท แต่พอ Robert ได้ลงทุนกับธุรกิจนี้ หลังจากนั้นเพียง 9 เดือน ธุรกิจนี้ก็สามารถทำยอดขายได้กว่า $2 ล้านเหรียญฯ หรือกว่า 60 ล้านบาทเลยทีเดียว

โดย Robert บอกว่า เขาทุ่มเทและทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้เงินลงทุนก้อนนี้มา ดังนั้นมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเขาให้เงินก้อนนี้กับใครสักคนไป เขาก็คาดหวังที่จะได้เงินก้อนนี้กลับคืนมา

แนะนอกเหนือจากเรื่องเงิน สิ่งที่เขารู้สึกปิติยินดีมากก็คือ การลงทุนของเขานั้น ช่วยให้ชีวิตของผู้ประกอบการนั้น ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ขึ้น อย่างเจ้าของแบรนด์ Chord Buddy ก็เช่นกัน จากเดิมที่พวกเขาผลิตสินค้ากันเองบนโต๊ะอาหารภายในห้องครัว แต่หลังจากที่ Robert ได้ลงทุนไป ตอนนี้พวกเขาก็ได้สร้างโรงงานผลิตสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีการจ้างพนักงานอีกกว่า 20 ชีวิต ให้ได้มีงานทำอีกด้วย

Resources

Exit mobile version