Site icon Blue O'Clock

3 ทักษะที่ขาดไม่ได้หากคุณต้องการที่จะเป็นเศรษฐี

Jeff Bezos

การที่คนธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะกลายเป็นเศรษฐีได้นั้น มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะจากสถิติของคนรวยทั้งหมดพบว่า คนที่สามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเองนั้น มีสูงถึงร้อยละ 80 ส่วนอีกไม่เกิน 20% นั้นรวยมาจากมรดกตกทอด และนี่คือ 3 ทักษะสำคัญที่คุณจำเป็นที่จะต้องมีและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะทักษะเหล่านี้ จะนำให้คุณกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้ในที่สุด และนี่ก็คือคำแนะนำจากมหาเศรษฐีรุ่นพี่มาสอนว่าที่เศรษฐีรุ่นน้อง

ทักษะที่ 1 – สร้างแรงจูงใจได้ด้วยตนเอง (Have Self-Motivation)

Mark Cuban มหาเศรษฐีวงการไอทีชื่อดังในรายการธุรกิจระดับโลกอย่าง Shark Tank โดย ณ ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 4.1 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 1.27 แสนล้านบาท ได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณค้นพบว่า คุณเก่งหรือถนัดในเรื่องใด จงมุ่งไปในเส้นทางนั้นในทันที แต่จงอย่ามุ่งไปตาม Passion หรือความหลงใหล แต่จงมุ่งไปด้วยความเพียรพยายาม ซึ่งอันที่จริงแล้ว การที่คุณตาม Passion ไปนั้นมันอาจไม่ได้ทำให้คุณประสบความสำเร็จเสมอไป โดย Mark Cuban ได้แชร์ให้ฟังว่า เขามี Passion หรือความหลงใหลในการเล่นบาสเกตบอลเป็นอย่างมาก แต่เขาก็พบว่าตัวเองนั้น ไม่ว่าจะฝึกฝนมากเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะทำได้ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเขาค้นพบว่า เขามีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสายอาชีพนักธุรกิจ และเรื่องที่เกี่ยวกับไอที เขามักทำได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับผู้อื่น ซึ่งเขาค้นพบความสนใจนี้เมื่อตอนที่ยังทำงานประจำที่เกี่ยวข้องกับการเขียนซอร์ฟแวร์ แล้วเขาก็พบว่าเขาทำมันได้ค่อนข้างดี และเมื่อเขาทำได้ดี เขาก็เริ่มรู้สึกสนุกไปกับการเขียนโปรแกรม จนกระทั่งเขามีความคิดที่อยากจะสร้างเงินจากการเขียนโปรแกรม เขาจึงลาออกมาเพื่อเปิดบริษัทเป็นของตนเอง แล้วเขาก็พบว่า เขาต้องเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ และเขาก็พบอีกว่า เขาค่อนข้างทำได้ดี เขาจึงรู้สึกกับทั้งการเขียนโปรแกรมและการทำเงินจากธุรกิจซอร์ฟแวร์ ทั้ง ๆ ที่ตอนที่เขาเติบโตมานั้น เขาไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของซอร์ฟแวร์และธุรกิจเลยแม้แต่น้อย และแน่นอนว่า ในปัจจุบัน Passion หรือความหลงใหลเกี่ยวกับบาสเกตบอลเขาก็ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เขาเลยตัดสินใจซื้อทีมบาสเกตบอลในลีค NBA ที่ชื่อ Dallas Mavericks ซะเลย ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นผู้เล่น ก็เป็นเจ้าของทีมเองเลยก็แล้วกัน ยังไงก็เกี่ยวข้องกับบาสเกตบอลอยู่ดี แถมยังพาทีมคว้าแชมป์ในปี 2011 อีกด้วย ดังนั้นหากคุณพบว่าตนเองทำอะไรได้ดีกว่าใคร ๆ จงทำให้มันดีที่สุด แล้วเอาเงินมาใช้กับ Passion ในภายหลังก็ยังไม่สาย

ทักษะที่ 2 – สามารถเล่นเกมธุรกิจในระยะยาวได้ (Play The Long Game)

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลกนามว่า Amazon.com (ไม่ใช่เจ้าของเดียวกับกาแฟ Amazon นะครับ) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกคนในปี 2019 โดยมีทรัพย์สินอยู่ที่ 110 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 3.4 ล้านล้านบาท ได้ให้คำแนะนำว่า ผลของกำไรในวันนี้คือสิ่งที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว

โดยเขามักจะถามความเห็นจากคนที่ชอบวางแผนธุรกิจระดับ 5-7 ปีขึ้นไป และเมื่อคุณมีแนวคิดแบบเล่นเกมระยะยาวแล้วล่ะก็ มันจะส่งผลให้การกระทำของคุณทั้งหมดเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น วิธีการวางแผน วิธีการบริหารจัดการกับเวลาในงานแต่ละส่วน การมองหาทรัพยากรที่จะทำให้แผนเป็นจริงในเวลาที่กำหนด ซึ่งมันค่อนข้างย้อนแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์เอามาก ๆ โดยเฉพาะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่รักความสะดวกสบาย ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้แผนระยะยาวเกิดขึ้นจริงนั้นก็คือ “วินัย” ที่จะทำให้คุณรวยอย่างช้า ๆ แต่รวยอย่างยาวนานและมั่นคง ไม่ใช่ Get Rich Quick หรือรวยเร็ว รวยเปรี้ยงปร้างภายในระยะเวลาอันสั้น

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2017 เว็บไซต์ Amazon.com มีผลประกอบการที่สูงที่สุดตั้งแต่เปิดธุรกิจมาได้ 14 ปี โดยในปีที่ผ่าน ๆ มานั้น Jeff Bezos มักใช้เงินในการลงทุนกับระบบของเว็บไซต์ การเข้าซื้อกิจการของบริษัทที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของบริษัทหลัก ลงทุนในระบบการขนส่งสินค้า ลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ในแต่ละตลอดช่วง 14 ปีที่ผ่านมานั้น Amazon แทบจะไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำ แต่แล้วเมื่อวันเวลาของการออกดอกออกผลก็มาถึง จึงส่งผลให้ Jeff Bezos กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก โดนโค่นแชมป์อย่าง Bill Gates ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานได้ในที่สุด

ทักษะที่ 3 – การเล่าเรื่อง (Storytelling)

Kevin O’Leary มหาเศรษฐีบริษัทซอร์ฟแวร์ ชื่อดังจากรายการ Shark Tank ที่ ณ ปัจจุบันมีทรัพย์สินอยู่ที่ 400 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 12,400 ล้านบาท ได้ให้คำแนะนำว่า เขาได้มีโอกาสลงทุนในบริษัทของผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่งพวกเธอชื่อว่า Tracy และ Danielle ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับขายคัพเค้ก โดยแพคเกจอยู่ในรูปของขวดโหล ซึ่งทันทีที่เทปบันทึกรายการ Shark Tank ของพวกเธอออนแอร์ พวกเธอตัดสินใจที่จะเพิ่มกำลังผลิตในทันที ซึ่งจากเดิมที่พวกเธอมีพนักงานเพียง 7 คน พวกเธอเพิ่มพนักงานเป็น 39 คน เพื่อเตรียมรองรับออเดอร์มหาศาลจากรายการทีวี เพราะพวกเธอรู้ดีว่า เมื่อเทปบันทึกรายการนั้นเผยแพร่ไป มันจะเข้าถึงผู้คนนับล้านภายในเวลาพริบตาเดียว และแน่นอนว่า หากเธอไม่เพิ่มกำลังผลิต ผลที่ตามมาก็คือ ต่อให้มีออเดอร์นับล้านบาทรออยู่ตรงหน้า ก็ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทัน และนั่นก็หมายถึง ต้องสูญเสียโอกาสในการทำรายได้อย่างมหาศาล แถมในครั้งต่อ ๆ ไป เมื่อผู้คนที่ออเดอร์เข้ามาแล้วไม่ได้สินค้า พวกเขาก็อาจจะไม่กลับมาสั่งสินค้าของพวกเธออีกเลย ซึ่งในครั้งนี้ พวกเธอเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า การที่จะหาลูกค้าใหม่เข้ามาในธุรกิจสักคนนั้น มันช่างแสนจะลำบาก และถึงได้มาก็ต้องใช้งบการตลาดอยู่มากโข ยกตัวอย่างเช่น หากต้นทุนการที่จะได้ลูกค้ามาหนึ่งคนนั้นเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 100 บาท หากต้องการลูกค้า 10,000 คน นั่นหมายถึง พวกเธอจะต้องมีงบประมาณด้านการตลาดอย่างน้อย ๆ ก็ 100 x 10,000 = 1,000,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่านี่แค่เฉพาะค่างบการตลาดเพียงอย่างเดียว ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ที่มากโขอย่างเช่นต้นทุนในการผลิตคัพเค้กและค่าแรงพนักงาน แต่ทันทีที่พวกเธอออกทีวีนั่นหมายถึง พวกเธอได้ลูกค้ามาแบบฟรี ๆ หรือต้นทุนในการได้มาของลูกค้าแต่ละคนนั้นคือ “ศูนย์” บาทนั่นเอง

คำถามก็คือ แล้วในเมื่อธุรกิจคัพเค้ก แทบจะมีอยู่ล้นตลาด มีอยู่นับพันร้าน แถมเป็นขนมที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้เองที่บ้านอีกต่างหาก แต่เพราะอะไร ทำไมพวกเธอกลับขายคัพเค้กได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ นั่นก็เพราะ พวกเธอเรียนรู้มาแล้วนี่ว่า การออกสื่อทีวีหรือรายการโชว์ต่าง ๆ นั้น พวกเธอจะได้ลูกค้ามาแบบฟรี ๆ ดังนั้นพวกเธอจึงออกสื่ออยู่ตลอดเวลา และสร้างเรื่องราวชีวิตในการเริ่มต้นทำธุรกิจคัพเค้ก เล่าเรื่องราวการทำคัพเค้กแสนอร่อยได้ด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งหลายคนคิดว่าการสอนคนอื่นทำอาหารให้เป็นแล้วนั้น ใครจะซื้อสินค้าของพวกเธอกันล่ะ แต่ตรงกันข้าม ยิ่งพวกเธอเล่าเรื่องราวผ่านคัพเค้กออกรายการทีวีมากเท่าไหร่ ชื่อของพวกเธอก็ยิ่งแพร่ออกไปไกลมากเท่านั้น และกลายเป็นว่าแบรนด์คัพเค้กของพวกเธอนั้น ได้พื้นที่หน้าสื่ออยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คู่แข่งของพวกเธอนั้นยังคงต้องอัดงบค่าโฆษณาอย่างต่อเนื่องและแพงขึ้นในทุกวัน กำไรก็น้อยลง ในขณะที่คัพเค้กของพวกเธอนั้น ยิ่งมีสื่อให้ความสนใจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีกำไรมากขึ้น ผลิตมากขึ้น รวยมากขึ้น ทำให้ทิ้งห่างคู่แข่งไปแบบตามไม่ทันกันเลยทีเดียว

และจุดเริ่มต้นความสำเร็จของคัพเค้กของพวกเธอก็คือ การนำเสนอธุรกิจต่อหน้า Kevin O’Leary ให้สนใจลงทุนในธุรกิจของพวกเธอให้ได้ในเวลาเพียง 90 วินาทีเท่านั้น!

Resources

Exit mobile version