James Clear นักธุรกิจ นักพูด นักยกน้ำหนักและนักเขียนหนังสือขายดี New York Times Best Sellers เจ้าของผลงานเขียนหนังสือ Atomic Habits ที่ขายได้มากกว่า 5 ล้านเล่มทั่วโลก ที่หนังสือเขากล่าวถึงเรื่องของการคนเราจะเดินไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ได้สำเร็จนั้น ไม่ได้เกิดมาจากการตั้งเป้าหมาย แต่เกิดมาจากการมีระบบเพื่อสร้างแผนการไปสู่เป้าหมายด้วยการพัฒนานิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันให้มันดีขึ้นแค่เพียงวันละ 1%
เช่นถ้าหากเป้าหมายของนักกีฬาคือการคว้าแชมป์อันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือต่างคนต่างก็ต้องการแชมป์กันทั้งนั้น แต่ความแตกต่างระหว่างผู้แพ่กับผู้ชนะก็คือ ‘ระบบ‘ ไม่ว่าจะเป็นระบบการฝึกซ้อม ระบบการคัดเลือกโค้ชและนักกีฬา หรือหากเป็นผู้ประกอบการ เป้าหมายแน่นอนว่าคือการสร้างธุรกิจให้เติบโตมีรายได้หลายล้าน โดยจะทำแบบนั้นได้สำเร็จก็จำเป็นที่จะต้องมีระบบการบริหารภายในองค์กร ระบบการสร้างผลิตภัณฑ์ ระบบการคัดสรรพนักงาน ระบบการเงิน ระบบการตลาดและการขาย เป็นต้น
โดย James บอกว่า หากคุณต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ให้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนอุปนิสัยในแต่ละวันเพียงเล็กน้อย โดยการเก่งขึ้นวันละ 1% ในทุก ๆ วัน มันจะสะสมอยู่ในตัวเราแบบดอกทบต้น พอผ่านไปเพียง 1 ปี ตัวเราจะดีขึ้นกว่าตัวเราในตอนเริ่มต้นทำกว่า 37 เท่าเลยทีเดียว
และสาเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถบ่มเพาะอุปนิสัยที่ดีได้นั้นส่วนใหญ่อุปนิสัยเหล่านั้นมักใช้เวลามากกว่า 2 นาทีขึ้นไป แต่รู้หรือไม่ว่ามีอุปนิสัยที่ดีที่ใช้เวลาในการทำในแต่ละครั้งน้อยกว่า 2 นาที ก็ใช้ได้เช่นกัน
และแน่นอนว่า Habit หรืออุปนิสัยนั้นก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี ซึ่งมันขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเราจะใช้เวลากับ Habit ในด้านใด ถ้าใช้เวลากับด้าน Good Habits เวลาจะกลายมาเป็นพันธมิตรเรา แต่ถ้าใช้เวลาไปกับด้าน Bad Habits เวลาจะกลายเป็นศัตรูกับตัวเราทันที
และนี่ก็คือวิธีการที่จะบ่มเพาะนิสัยทีละเล็กทีละน้อย เพื่อสร้าง Habit ที่จะช่วยนำพาไปคุณไปสู่ผลลัพธ์ที่คุณต้องการ
โดยวิธีดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ๆ ก็คือ
- Noticing – การสังเกตเห็น
- Wanting – เกิดความอยาก
- Doing – เกิดการลงมือทำ
- Liking – ชอบในสิ่งที่ทำ
ขั้นตอนที่ 1 – Noticing – การสังเกตเห็น
โดย James ได้ยกตัวอย่างจากการทดลองของเขาในหมวดของการออกกำลังกายซึ่งเขาสนใจในด้านนี้เป็นพิเศษ โดยเขาได้แบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน
- กลุ่มที่ 1 – โจทย์คือ ให้แต่ละคนในกลุ่มลองจดบันทึกสถิติในการออกกำลังกายของตนเองใน 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นมาตรฐานของคนทั่ว ๆ ไป
- กลุ่มที่ 2 – ไม่ต้องสนใจการจดบันทึกในออกกำลังกาย แต่กลุ่มนี้ให้ดูการบรรยายการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับข้อดีของการออกกำลังกาย การออกกำลังที่ถูกต้อง การให้ความรู้เกี่ยวกับด้านโภชนาการ รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาล ปลุกไฟเข้าไปด้วย
- กลุ่มที่ 3 – ก็ให้ดูการบรรยายแบบเดียวกันกับกลุ่มที่สอง ที่รวมถึงการได้รับแรงบันดาล ปลุกไฟ แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ ให้คนในกลุ่มนี้ระบุวัน เวลาและสถานที่ ที่จะทำการฝึกซ้อมและออกกำลังกายอย่างเข้มข้นเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป ภายในสัปดาห์หน้า
โดยผลลัพธ์ที่ออกมานั้นจะได้ว่า
กลุ่มที่ 1 – เมื่อพกวเขาได้รับโจทย์ให้บันทึกสถิติการออกกำลัง ปรากฎว่ามีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ยังคงออกกำลังอยู่
ในขณะที่คนกลุ่มที่ 2 ที่ได้รับแรงบันดาลใจนั้น ก็ไม่ได้ส่งผลให้คนในกลุ่มนี้ออกกำลังเพิ่มมากขึ้นเลย
แต่พอมาดูคนในกลุ่มที่ 3 ที่มีการระบุแผนการที่ชัดเจนจะพบว่า คนในกลุ่มนี้มีการออกำลังกายสูงถึง 9 ใน 10 คน เลยทีเดียว
ทำให้ James Clear สรุปได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ขาดแรงบันดาลใจ แต่ขาดแผนการลงมือทำที่ชัดเจนต่างหาก ทำให้หลายคนคิดว่าพอทำงานไม่สำเร็จก็จะวิ่งเข้าหาแรงบันดาลใหม่ ๆ เติมไฟมันอยู่ตลอด แต่สุดท้ายพอไฟมอดลง ก็กลับไปเป็นแบบเดิมอยู่ร่ำไป
ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนขาดจริง ๆ ไม่ใช่แรงบันดาลใจ แต่เป็นการระบุแผนงานที่ชัดเจนกว่าในวันพรุ่งนี้จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยให้เขียนมันเอาไว้ให้ชัดเจน
เพราะพอคุณตื่นขึ้นมาในวันใหม่ คุณก็จะสังเกตเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนที่คุณเขียนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ทำให้ตัวคุณตระหนักได้ว่า มีงานสำคัญที่จำเป็นจะต้องทำ
ขั้นตอนที่ 2 – Wanting เกิดความอยาก
สภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะส่งผลให้เรานั้นเกิดความอยากที่จะทำในสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้ เพราะถ้าเราตั้งใจว่าจะทำงานชิ้นหนึ่งให้เสร็จ แต่บริเวณรอบ ๆ โต๊ะทำงานกลับมีทีวีจอใหญ่ที่พร้อมจะดูหนังซีรี่ย์ มีเตียงนอนที่พร้อมจะเอนกายได้อยู่ตลอดเวลา มีเครื่องเกมรุ่นใหม่ล่าสุดพร้อมให้เล่นฆ่าเวลาได้ทุกเมื่อ สภาพแวดล้อมแบบนี้มันก็ไม่เอื้อต่อการทำงานเลย
ดังนั้นจงปรับสภาพแวดล้อมให้เกิดความอยากที่จะทำ เช่น หากเป้าหมายเราคือการอ่านหนังสือให้ได้สัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง ก็ให้เอาหนังสือไปวางไปตามที่ต่าง ๆ ที่เห็นได้ง่าย วางไว้บนโต๊ะทำงาน วางไว้หัวเตียงนอน วางไว้หน้าห้องน้ำ วางไว้ที่โต๊ะนั่งเล่น ซึ่งมันจะทำให้คุณอยากที่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 – Doing – ลงมือทำ
ถ้าตอบแบบขวานผ่าซาก ในขั้นตอนนี้ช่วงแรก ๆ ก็ให้หลับหูหลับตาลงมือตั้งตาตั้งตาทำไปก่อนเลย อย่าบ่น อย่ามีข้ออ้างใด โดย James Clear ได้นำกราฟที่แสดงการวัดผลจากการลงมือทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากภาพจะพบว่า ยิ่งทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มากขึ้น จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ยากขึ้นได้ดีกว่า
โดยเขาได้ยกตัวอย่างจากอุปนิสัยในการเขียนหนังสือของเขา ยิ่งเขาเขียนบทความมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และจะเห็นได้ว่าผู้ติดตามจะมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด
แต่ประเด็นสำคัญของการทำให้เกิด Repetition หรือเกิดการทำซ้ำนั้น คือต้องทำให้มันเริ่มต้นง่ายเข้าไว้ ใช้เวลาน้อย ๆ เพราะถ้ามันยาก มันใช้เวลานาน โดยธรรมชาติของมนุษย์จะรู้สึกขี้เกียจที่จะเริ่มต้นทำมันขึ้นมาทันที นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมถึงมีคนไปออกกำลังที่โรงยิมน้อย เพราะถ้าไปเข้าฟิสเนสแล้ว ก็ต้องใช้เวลาออกกำลังอย่างน้อย ๆ ก็มีครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป นั่นทำให้คนส่วนใหญ่ขี้เกียจที่จะไปออกกำลังกาย
ดังนั้นจงหากิจกรรมที่ใช้เวลาน้อย ๆ ก่อนจะช่วยทำให้เราเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งในทุก ๆ หมวดหมู่ก็จะมีกิจกรรมที่ใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาที ถมเถไป เช่น ฝึกเขียนสักสองนาที ฝึกอ่านสักสองนาที ฝึกนั่งสมาธิสักสองนาที ฝึกยืดเส้นยืดสายสักสองนาที เป็นต้น
ซึ่งอุปนิสยัการเริ่มต้นทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้จะนำไปสู่กิจวัตรประจำวันที่ใช้เวลาเยอะกว่า สำคัญกว่า ออกแรงมากกว่า แต่ร่างกายและสมองของเขาจะเริ่มชินไปเอง เช่น
- หากอยากออกกำลังด้วยการวิ่ง 10 กิโลเมตร ก็เริ่มต้นจากวิ่งแค่ 1 กิโลเมตรก่อน
- หรือหากต้องการลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ก็ให้เริ่มลดจาก 1 กิโลกรัมก่อน
- หรือหากต้องการทำงานหาเงินให้ได้มากขึ้นสัก 10,000 บาท ก็เริ่มต้นจากหาเพิ่มให้ได้สัก 1,000 บาทก่อน
- หากอยากเพิ่ม Subscribers หรือผู้ติดตามบนช่อง Youtube ให้ได้ 1 แสนซับ ก็ให้เริ่มจาก หนึ่งหมื่น หนึ่งพันหรือหนึ่งร้อยซับซะก่อน
ขั้นตอนที่ 4 – Liking ชอบในสิ่งที่ทำ
เหตุผลที่คนเรามักจะทำในสิ่งนั้น ๆ ซ้ำ ๆ ไปมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยหรือเบื่อหน่ายไปซะก่อน นั่นก็คือ เราชอบที่จะทำในสิ่งนั้น ชอบที่จะได้ลิ้มรสรางวัลแห่งความสำเร็จหลังจากที่ทำมันได้สำเร็จ
แต่ปัญหาก็คือ Good Habits จะออกดอกออกผล เห็นผลลัพธ์ที่ช้ามาก เช่น เราจะต้องใช้เวลาออกกำลังอย่างหนักในแต่ละวัน ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ หยาดเหงื่อเป็นอย่างมาก เพื่อต้องการผลลัพธ์คือ มีร่างกายแข็งแรง อ่อนกว่าวัย ไม่เจ็บป่วยไปตลอด 10 ปีให้หลัง ซึ่งคนส่วนใหญ่รอผลลัพธ์นานขนาดนั้นไม่ได้
ในขณะที่ Bad Habits นั้นให้ผลลัพธ์ที่เร็วกว่ามาก เช่น หยิบขนมหวานเข้าปากปุ๊บมีความสุขปั๊บ ฟินเฟอร์ให้กับการลิ้มรสแป้งและน้ำตาลหวาน ๆ ที่เคลือบขนมชิ้นนั้นอยู่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากมันก็จะค่อย ๆ ตามมาหลังจากทำมันไปแล้วสัก 3 สัปดาห์ 3 เดือน แล้วความอ้วน พุง ไขมัน ก็จะอยู่กับคุณไปอีกนานเลยทีเดียว
ทำให้คนส่วนเลิกล้มความตั้งใจที่จะก่ออุปนิสัยที่ดีขึ้นมา ซึ่งเหล่าบรรดาตัวท๊อปในแต่ละวงการก็เคยเป็นกันทั้งสิ้น พวกเขาก็เคยเลิกล้มความตั้งใจในการฝึกฝน แต่พวกเขามักจะคิดได้และกลับมาฝึกฝนต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยยึดกฎอย่างเคร่งครัดว่า “พวกเขาจะไม่ทำผิดพลาดแบบเดิมอีกเป็นครั้งที่สอง” ทำให้แม้ว่าจะทำ ๆ หยุด ๆ อย่างน้อยก็ยังมีการก้าวไปข้างหน้าสัก 50% ซึ่งก็ถือว่าดีกว่าเป็น 0% เยอะ
และโดยปกติของคนเรานั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง ก็มักจะเปรียบตนเองกับในสิ่งที่อยากเป็น มันจะช่วยส่งเสริมและเปลี่ยนแนวคิดจากการแค่เพียงตั้งเป้าหมาย ไปสู่การระบุตัวตนที่เราอยากจะเป็น เช่น
- หากเป้าหมายเดิมเราคือการอ่านหนังสือให้ได้เยอะ ๆ ลองเปลี่ยนเป้าหมายเป็น ฉันจะเป็นนักอ่านที่ยอดเยี่ยม
- หากเป้าหมายเดิมคือการอยากลงแข่งวิ่งมาราธอน ก็ลองเปลี่ยนเป็นเป้าหมายของฉันคือการเป็นนักวิ่งที่ดี
- หากเป้าหมายของเราคือการเขียนหนังสือให้ได้หลายเล่ม ก็ให้เปลี่ยนเป็น ฉันจะเป็นนักเขียนที่ดี
เพราะเมื่อเราเปลี่ยนเป้าหมายจากการเขียน ไปเป็นนักเขียนที่ดี ทีนี้ในหัวของเราก็จะเริ่มคิดแล้วว่า การเป็นนักเขียนที่ดีนั้นจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราก็จะเริ่มพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นนักเขียนมืออาชีพ
หรือหากเป้าหมายแต่เดิมของเราคือการหาเงินให้ได้หลายล้าน ลองเปลี่ยนเป็น ฉันจะเป็นมืออาชีพที่ดี ฉันจะเป็นผู้ประกอบการที่ดี ฉันจะเป็นคนรวยที่ดี ทีนี้ในหัวของเราก็จะเริ่มกระบวนการคิดว่า คุณสมบัติของคนที่สามารถหารายได้ได้เยอะ ๆ นั้นเขาทำกันอย่างไร ต้องพัฒนาทักษะด้านใดบ้างให้โดดเด่น ต้องเรียนรู้วิธีการผลิตสินค้า เรียนรู้วิธีการขาย เรียนรู้วิธีการทำการตลาด ฯลฯ
ซึ่งนั่นมันจะทำให้คุณไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนหิวเงิน แต่กลายเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตนเอง และตัวคุณเองก็สมควรได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม
If You Can Change Your Habits, You Can Change Your Life.
– James Clear –
Resources