Grant Cardone เจ้าพ่อนักขายและเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างฐานะขึ้นได้ด้วยลำแข้งของตนเองจากเซลล์ขายรถยนต์ ทำให้ในปี 2020 นี้เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ $300 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 9,300 ล้านบาท
โดยในโพสต์นี้ Grant Cardone จะมาให้คำแนะนำในการสร้างตัวให้เป็นเศรษฐีเงินล้านได้ด้วยตัวของคุณเอง
Grant Cardone เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่าถ้าให้เลือก “ระหว่างมีเงิน 1,000 ล้าน กับมีเพื่อน 1,000 ล้านคน เป็นคุณคุณจะเลือกอะไร?”
เงินคือสิ่งไร้ค่า?
โดย Grant Cardone เริ่มต้นอธิบายว่าตัวเงินนั้นไร้ค่าจนกว่ามันจะถูกนำไปใช้ ซึ่งกว่าที่เขาจะรู้ว่าตัวเงินนั้นมันไร้ค่าก็ใช้เวลานานพอสมควร เพราะเมื่อตอนที่เขายังหนุ่มยังแน่นนั้น เขาคิดว่าเงินคือสิ่งที่มีค่ามาก แถมยังถูกเสี้ยมสอนมาว่า การมีเงินมาก ๆ นั้นจะทำให้ชีวิตมั่นคงและปลอดภัย ทำให้เขาตัดสินใจไปเปิดบัญชีเพื่อการเกษียณอายุตั้งแต่อายุ 28 ปี โดยลงทุนใน 401K ซึ่งเป็นการวางแผนการสะสมเงินในระยะยาวจนกระทั่งเกษียณอายุ ซึ่งจะทำให้เขามีเงินมากพอที่จะใช้ในยามหลังเกษียณได้ตอนอายุประมาณ 65 ปี
จากนั้นเขาก็นำเงินไปลงทุนใน Mutual Fund หรือกองทุนรวม ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็ไม่มีความรู้ หรือความหลงใหลใด ๆ เกี่ยวกับการลงทุน รวมไปถึงคอนเนคชั่นหรือข้อมูลข่าวสารในการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ที่ทางกองทุนนำเงินของเขาไปลงทุนเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งถ้าหากมองให้เห็นเนื้อแท้ของตัวเงินที่อยู่ตรงหน้าของเราแล้วนั้น มันเป็นเพียงแค่กระดาษใบหนึ่งที่ถูกคนบางกลุ่มตีค่าให้ราคาและกลายเป็นตัวสมมติว่ามันมีค่าขึ้นมาจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวกระดาษที่ปริ้นท์ออกมาเป็นใบสีต่าง ๆ นั้น มันไม่มีค่าอะไรเลย ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ในประเทศเวเนซุเอลา(Venezuela) ที่ ณ ตอนนี้ตัวเงินนั้นมีค่าน้อยกว่ากระดาษกระชำเช็ดก้นซะอีก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวเงินนั้นผู้คนต่างไม่ให้ค่ามันแล้ว มันก็คือกระดาษธรรมดา ๆ ใบนึงเท่านั้น
ผู้คนมีค่ามากกว่าเงิน
และเมื่อเขาคิดได้ว่าตัวเงินมันไม่ได้มีค่ามากขนาดนั้น ทำให้ในปัจจุบันความคิดเขาเปลี่ยนไป เพราะสิ่งที่มีค่ามากกว่าตัวเงินก็คือ ”PEOPLE” หรือตัวของผู้คนที่เป็นผู้ใช้เงินต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐฯ นั้น ผู้คนในแต่ละปีใช้เงินจำนวนมากกว่า 80 พันล้านเหรียญฯ หรือเกือบ ๆ 2.5 ล้านล้านบาท หมดไปกับการซื้อลอตเตอรี่ ซึ่งมูลค่าขนาดนี้มากกว่า KFC, Starbucks, Taco Bell, Buger King รวมกันซะอีก นั่นมันหมายถึง เมื่อผู้คนให้แก่กับสิ่งใด เงินก็วิ่งเข้าไปหาสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ
การออมเงินทีละเล็กทีละน้อยไม่ได้ทำให้รวยขึ้น
และเมื่อสมัยก่อนที่ตัวเขาให้ค่าแก่ตัวเงิน เขาก็มักจะเก็บออมเงินทีละเล็กทีละน้อย ประหยัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แสดงหาคูปองลดราคา แห่ไปซื้อของตอนลดกระหน่ำซัมเมอร์เซล รวมไปถึงการช้อนซื้อหุ้นตอนราคาต่ำ ๆ แล้วไปเทขายตอนราคาสูง ๆ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ติดดอยกันซะมากกว่า) และคำสอนส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวที่บอกต่อ ๆ กันมา ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร หรือจะคิดง่าย ๆ ก็ได้ว่า ถ้าหากวันนี้คุณมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ต่อให้คุณออมเงิน 90% จากรายได้ทั้งหมดของคุณ (ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว) ก็จะได้เงินออมอยู่ที่ 9,000 บาท แต่ในขณะที่หากโฟกัสไปที่การพัฒนาทักษะการสร้างรายได้เยอะ ๆ เช่น มีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน แล้วออมสัก 10% มันยังมากกว่าการออมเงินเกือบทั้งหมดจากรายได้น้อย ๆ ซะอีก
พัฒนาทักษะให้กับตนเอง
จนกระทั่ง Grant Cardone ก็กลับมาคิดทบทวนดูว่า หากเขาเลือกที่จะพัฒนาทักษะบางอย่างให้มันดีขึ้น อย่างเช่นทักษะการโปรโมทตนเองให้เป็นที่รู้จักของผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน และถ้าเขาไม่ทำเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่
ซึ่งคำแก้ตัวส่วนใหญ่ของคนที่ไม่กล้าโปรโมทตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า อย่าเด่นอย่าดังเดี๋ยวจะเป็นภัย แต่ Grant Cardone กลับมองว่าการที่เขาโปรโมทตัวเองให้เป็นที่รู้จักของคนนับล้านนั้น ทำให้เขาไม่ต้องกังวลเรื่องของเงินอีกเลย รวมไปถึงภรรยาและลูก ๆ ของเขาด้วย แม้ว่าเขาจะจากโลกไปในวันนี้ก็ตามที
ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ในปี 2008 เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ หรือ ‘วิกฤตซับไพรม์’ ส่งผลให้เขาโดนฟ้องเป็นจำนวนเงินกว่า $60 ล้านเหรียญฯ หรือกว่า 1,800 ล้านบาท ทำในหัวของเขามีแต่กังวลเรื่องเงินมาตลอดนับตั้งแต่นั้นมา
เขาจึงต้องเริ่มทบทวนกับตนเองว่า นอกจากการลงทุนไว้ในอสังหาฯ เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าพิศมัยสักเท่าไหร่นัก ซึ่งการใส่เงินเพื่อลงทุนการสร้างแบรนด์นั้นเป็นอะไรที่น่าลงทุนมากกว่า ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขาไม่ได้มีความคิดที่อยากจะเด่นจะดังอะไรเลย เพราะเขาไม่อยากเป็นเป้าสายตาของคนอื่น ๆ มากเกินไป ตามคำสอนที่ว่า อย่าเด่นอย่าดังเดี๋ยวจะเป็นภัย
จนกระทั่งเขาคิดอีกมุมมองนึงว่า แล้วใครบ้างที่เด่นดังได้ดีและไม่เป็นภัย เขาก็นึกถึง Warren Buffett ขึ้นมาทันที ว่าเขาทั้งรวย ทั้งมีคนรักมากมาย แถมยังออกทีวีแทบทุกวัน ซึ่งเมื่อคิดได้ดังนั้น Grant Cardone ก็ตั้งป้าไว้เลยว่า เขาอยากเป็นอย่าง Warren Buffett บ้าง
บ้านเช่า VS บ้านซื้อ
ต่อมา Grant Cardone ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับระหว่างการซื้อบ้านกับการเช่าบ้านนั้น แบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งเขาได้แนะนำว่า หากบ้านนั้นคุณจะใช้ไว้เป็นที่อยู่อาศัยกับครอบครัว ไว้กินไว้นอนนั้น ควรเช่าอยู่มากกว่า เพราะการซื้อบ้านตั้งแต่แรกเริ่มต้นวัยทำงานแล้วเป็นหนี้ยาวไปอีก 30 ปีนั้น มันไม่ใช่ความคิดที่ดีเอาซะเลย อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนซื้อบ้านก็คือ บ้านเป็นหนี้สินไม่ใช่ทรัพย์ ตราบใดที่บ้านนั้นคุณยังคงต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อผ่อนค่างวดส่งธนาคารในทุก ๆ เดือน
ในขณะที่เรามักถูกพร่ำสอนจากคนรุ่นก่อน ๆ ว่าถ้าเช่าเขาอยู่ขนาดนี้ ซื้อเลยไม่ดีกว่าหรือ? ซึ่งอย่าลืมว่า บ้านเช่านั้นคุณไม่ต้องวางเงินดาวน์ คุณไม่ต้องเป็นหนี้การกู้เงินจากธนาคาร คุณไม่ต้องออกค่าบำรุงซ่อมแซมบ้าน บางบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์ครบครัน คุณก็ไม่ต้องหมดเงินหลายหมื่นหลายแสนเผลอ ๆ หลายล้านไปกับการตกแต่งภายในและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แถมคุณอยากจะย้ายเมื่อไหร่ก็ย้ายได้ หากคุณไม่ได้ติดสัญญาเช่าขั้นต่ำ หรือหากจะฉีกสัญญาเช่าขั้นต่ำ อย่างมากคุณก็จะเสียเงินมัดจำแค่ 2 เดือนแล้วก็จบกัน ไม่มีภาระผูกพัน จะย้ายไปเช่าข้ามจังหวัด ข้ามประเทศก็ยังได้
ในขณะหากคุณเลือกที่จะซื้อบ้านแล้วนั้น คุณจะต้องเสียตั้งแต่เงินดาวน์ก้อนแรกที่หากคุณไม่สามารถกู้ได้ 100% จากธนาคาร อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีเงินหลักแสนตุนเอาไว้ในกระเป๋า แถมเดือนไหนไม่มีเงินจ่ายค่างวดก็ไม่ได้ ต้องผ่อนแบบนี้ไปอีกเป็นสิบปี โดนดอกเบี้ยอีกบาน แถมนึกจากจะย้ายบ้านก็ย้ายไม่ได้ง่าย ๆ นึกอยากจะขายก็ไม่ใช่ว่าจะขายได้เดี๋ยวนั้นเลย พออยู่ไปสักพัก ไอ้ของที่มันต้องมีคุณก็จะต้องซื้อเข้าบ้านอีกหลายหมื่นหลายแสน
ซึ่ง Grant Cardone บอกว่า เงินที่จะหมดไปกับการซื้อบ้านก้อนนี้คุณควรจะนำไปลงทุนในการสร้างธุรกิจ สร้างแบรนด์ พัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น จนสามารถสร้างเม็ดเงินได้มากพอก่อนแล้วค่อยคิดเรื่องซื้อบ้านทีหลังก็ยังไม่สาย
โดย Grant Cardone ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
ในเกมธุรกิจ มันไม่มีคำว่าล้มเหลว หากคุณยังไม่ล้มเลิก
– Grant Cardone –
Resources