Phil Town นักลงทุนชาวอเมริกัน นักพูด และนักเขียน New York Time Bestsellers เจ้าของผลงาน Rule #1: The Simple Strategy for Successful Investing in Only 15 Minutes a Week! โดยในปี 2020 เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $5 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 150 ล้านบาท ได้ให้คำแนะนำว่า
- 7 คำแนะนำการเงินที่ดีที่สุดที่พวกเขาเคยได้รับมาในชีวิตนี้ | Money Back to Basic EP.1
- Shaquille O’Neal อดีตนักบาสหมื่นล้านแนะนำการเก็บเงินให้รวย | Money Back to Basic EP.2
- จงโฟกัสที่การสร้างเงิน ไม่ใช่ที่การออมเงิน by Grant Cardone | Money Back to Basic EP.3
- ถ้าผมให้เงินคุณเป็นจำนวน 1 ล้านบาทในวันนี้ by Warren Buffett | Money Back to Basic EP.4
ในฐานะที่เขาผ่านวัยช่วงวัย 30 หรือวัยกลางคนมาก่อน เขาพบว่ามีกับดักการเงินมากมายที่ทำให้คนวัยทำงานนั้นประสบความสำเร็จทางการเงินได้ช้าลง ซึ่งมันส่งผลให้คนส่วนใหญ่มักมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณอายุหรือบางคนก็แทบไม่มีเงินใช้เลยด้วยซ้ำ โดยหลัก ๆ จะมีกับดักทางการเงินอยู่ด้วยกัน 6 อย่างก็คือ
กับดักทางการเงินข้อที่ 1 – อย่าซื้อรถยนต์ที่เกินกำลังที่ตัวคุณจ่ายไหว
Phil เล่าว่า เมื่อตอนที่เขาเริ่มลงทุนใหม่ ๆ ในช่วงนั้นจู่ ๆ เขาก็สามารถทำเงินก้อนได้อยู่ที่ราว ๆ $83,000 เหรียญฯ หรือราว ๆ 2.5 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่เขาทำเมื่อได้เงินก้อนนี้มาเลยก็คือ ตรงดิ่งไปที่โชว์รูมรถ Jaguar แล้วถอยรถใหม่ออกมาทันที โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่เขาซื้อมันก็เพราะ เวลาที่เขาขับแล้วมันดูคูล ดูเท่ห์ เวลาขับไปเจอใครที่ไหนต่างก็มีแต่คนชื่นชมเขาอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากที่ซื้อรถมาได้ประมาณสองสัปดาห์เขาก็เริ่มคิดได้ว่า แทบไม่มีใครสนใจรถแฟนซีรถคูล ๆ ของเขาอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นข้อคิดที่เขาได้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ จงอย่าซื้อรถแฟนซีเพื่อสร้างความประทับใจให้กับคนที่คุณไม่ชอบหรือคนที่ไม่ชอบคุณ หรือแม้กระทั่งกับคนที่คุณไม่รู้จักด้วยเหตุผลเพียงแค่อยากอวดคนอื่นว่าฉันก็มีปัญญาซื้อรถคูล ๆ เหมือนกัน เพราะพวกเขาไม่ได้แคร์คุณตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป
จริง ๆ แล้วสิ่งที่คุณต้องการก็คือการเดินทาง ซึ่งหากคุณเลือกรถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง มันก็มีหลากหลายราคาให้คุณเลือกซื้อ เพราะรถจะถูกจะแพงก็ติดไฟแดงเหมือนกัน ขอแค่กันลมกันฝนได้ก็ตอบโจทย์การเดินทางได้แล้ว
เพราะการซื้อรถยนต์นั้นมักเป็นหนึ่งในเงินก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนเรา ที่ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จทางการเงินได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
เพราะมูลค่าของรถยนต์นั้น เพียงแค่คุณถอยรถมาได้ประมาณ 1 ปี มูลค่าของรถยนต์จะหายไปราว ๆ 30% และมูลค่าจะหายไปกว่าครึ่งเมื่อตอนใกล้หมดปีที่ 3 ของการออกรถ ทั้ง ๆ ที่สมรรถนะของรถยนต์จะยังดีอยู่แท้ ๆ ดังนั้น การเลือกซื้อรถมือสองที่มีอายุการใช้งานสัก 3 ปีในราคาครึ่งเดียวของราคารถใหม่ ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยในการเซฟเงิน เพื่อนำเงินส่วนต่างไปลงทุนให้มันงอกเงย
กับดักทางการเงินข้อที่ 2 – อย่าซื้อบ้านที่เกินกำลังที่ตัวคุณจ่ายไหว
บ้านคือสิ่งที่แพงที่สุดในชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่จะซื้อหามาในครอบครองเลยก็ว่าได้ แต่ส่วนใหญ่เวลาที่เราทำเรื่องกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร ก็มักจะกู้ในอัตราแบบเต็มเหนี่ยวของเงินเดือนหรือรายได้ที่ได้รับที่เหลือในแต่ละเดือน นั่นแสดงว่าเมื่อรวมค่าผ่อนบ้านกับค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จ่ายอยู่แล้วเข้าด้วยกัน มันจะทำให้เงินเดือนหรือรายรับของคุณเต็มพิกัด ไม่เหลือเงินไว้ใช้อย่างอื่นอีก เช่น กันเงินไว้ในเงินสำรองฉุกเฉิน, กันเงินไว้เพื่อการลงทุน ฯลฯ และนอกจากนั้นมันจะทำให้ชีวิตการสมรสเกิดความเครียด และมีโอกาสที่จะทะเลาะเบาะแว้งในเรื่องของเงินได้ และแน่นอนว่าคุณจะเจอภาวะมีเงินใช้แบบเดือนชนเดือน ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เดือนไหนการเงินสะดุด คุณจะมีปัญหาการเงินทันที เริ่มหมุนไม่ทัน เริ่มกู้หนี้ยืมสินมาโปะ บริหารใช้หนี้ใช้สินไม่ดีกลายเป็นยิ่งแย่ยิ่งกู้เพิ่มยิ่งเป็นหนี้เพิ่ม สุดท้ายก็อาจจะต้องขายบ้านไปหาบ้านเช่าที่อื่นแทน หรือหนักหน่อยก็อาจโดนยึดบ้านต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแถมยังเสียเครดิตในการทำธุรกรรมอื่น ๆ อีกด้วย
ซึ่ง Phil แนะนำว่า ทางที่ดีกว่าการรีบร้อนซื้อบ้านเกินตัวนั้นก็คือ ให้คุณจับตาราคาบ้านในท้องที่ที่คุณเล็งจะซื้อเอาไว้ว่าราคาตลาดนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเจอบ้านที่มีราคาต่ำกว่าหรือราคาย่อมเยาว์กว่าในตลาดและอยู่ในช่วงราคาที่คุณจ่ายไหว ก็ค่อยคิดเรื่องการซื้อบ้านก็ยังไม่สาย
หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ ให้คุณมองหาบ้านที่ประกาศขายที่สามารถต่อรองได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องการขายบ้านนั้นร้อนเงิน รีบใช้เงิน ส่วนใหญ่จะต่อรองได้เยอะ และคุณก็มีโอกาสที่จะได้บ้านในราคาที่ถูกกว่าปกติ
อีกวิธีหนึ่งก็คือ หากในพื้นที่นั้น ๆ กำลังจะเจริญ แต่ตอนนี้ยังเป็นพื้นที่รกร้างหรือห่างไกลอยู่ แต่ภายในไม่กี่ปีจะมีศูนย์การค้ามาเปิด จะมีแหล่งเที่ยว หรือจะมีโครงการสร้างตึกสร้างหมู่บ้านใหม่แถวนั้นอยู่ หรือแม้กระทั่งจะมีถนนสายหลักตัดผ่าน คุณก็อาจจะเริ่มค้นหาและมองทำเลบ้านดี ๆ แถบนั้นเอาไว้ เพราะหากคุณซื้อในตอนนี้ก็จะยังคงได้ราคาบ้านในราคากลาง ๆ ก่อนที่มันจะกลายเป็นบ้านราคาที่สูงเมื่อกลายเป็นหมู่บ้านที่เจริญแล้ว
กับดักทางการเงินข้อที่ 3 – กินข้าวนอกบ้านมากเกินไป
หลายคนพอได้ยินถึงข้อนี้ แทบจะอุทานออกมาทันทีเลยว่า อุตส่าห์เหนื่อยกับการเงินมาทั้งวัน นี่กะจะไม่ให้ไปผ่อนคลายนอกบ้านกันบ้างเลยหรือไง แล้วถ้าไม่ใช้จ่ายนอกบ้านบ้าง จะหาเงินกันไปทำไมละเนี่ย
ใจเย็น ๆ กันก่อนนะครับ ในข้อนี้ Phil ไม่ได้ต้องการบอกว่าห้ามกินเที่ยวนอกบ้านเลย แต่ให้เราควบคุมการกินนอกบ้านในวงเงินที่เรากำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะหากคุณลองจดรายการการใช้จ่ายนอกบ้านดี ๆ คุณจะพบกับความจริงอันน่าตกใจว่า นี่คือรายจ่ายที่ทำให้หลาย ๆ คนใช้เงินแบบเดือนชนเดือน หรือเงินหมดตั้งแต่ยังไม่สิ้นเดือนต้องพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันอีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติว่า เราไปกินร้านอาหารนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ชาบู ปิ้งย่าง บุฟเฟ่ต์ ฟาสต์ฟู้ด ที่ดูเหมือนราคาต่อครั้งจะไม่มากมายอะไร แต่ถ้าเทียบกับการกินข้าวที่บ้านหรืออาหารจานเดียวก็จะพบความแตกต่างที่น่าสนใจ เราลองมาดูตัวอย่างกัน
สมมติว่า เรากินข้าววันละ 3 มื้อ ถ้ากินข้าวอาหารจานเดียวง่าย ๆ ตกมื้อละ 50 บาท ในหนึ่งวันเราจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 150 บาทต่อวัน เผื่อค่าขนมขบเคี้ยวอีก 50 บาท เหมารวมไปเลยว่างบวันละ 200 บาท (ซึ่งถ้าใครใช้เยอะกว่านี้ก็ลองเทียบงบประมาณตัวเองได้เลยนะครับ) ในหนึ่งเดือนจะมีค่าข้าวอยู่ที่ 200×30 = 6,000 บาท โดยประมาณ
ทีนี้สมมติว่า มื้อเช้ากับกลางวันก็ยังคงกินอาหารจานเดียวเหมือนเดิม แต่มื้อเย็นเรากินนอกบ้านทุกวัน จะได้ว่า 50+50+400 = 500 บาทต่อวัน ในหนึ่งเดือนเราจะมีค่าอาหารอยู่ที่ 500×30 = 15,000 บาท โดยประมาณ
จะเห็นได้ว่า จากเดิมที่กินแบบปกติ แต่ถ้าออกไปข้าวเย็นนอกบ้านทุกวัน ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 15,000 – 6,000 = 9,000 บาท หรือคิดเป็น 2.5 เท่าเลยทีเดียว หรือคิดได้อีกแบบนึงว่า กินแบบที่สองได้เดือนเดียว แต่สามารถกินแบบที่หนึ่งได้ถึงสองเดือนครึ่งเลยนะนั่น
โดย Phil เล่าให้ฟังว่า มีคนที่เขารู้จักใช้วิธีการควบคุมรายจ่ายจากการไปกินข้าวนอกบ้าน ด้วยการกำหนดงบประมาณตั้งแต่เงินเดือนออก โดยเขาจะเก็บเงินกินข้าวนอกบ้านถอนเก็บเอาไว้ในซองล่วงหน้า แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่เงินในซองหมด เขาก็รู้ทันทีว่า เดือนนี้หมดงบแล้ว ก็จะยับยั้งการไปทานข้าวนอกบ้านโดยอัตโนมัติ
กับดักทางการเงินข้อที่ 4 – ชำระหนี้บัตรเครดิตมากเกินไป
หนี้บัตรเครดิตถือว่าเป็นหนี้ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่มีระบบการติดหนี้ที่เคยมีมา โดยเฉพาะหนี้ที่มาจากการอุปโภคบริโภค ซึ่งมันทำให้คนส่วนใหญ่ติดหนี้บัตรเครดิตได้อย่างง่ายดายแถมออกจากวงการนี้ก็ยากซะด้วย และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มจ่ายเงินเต็มไม่ไหว เข้าสู่การจ่ายแบบขั้นต่ำเมื่อไหร่ นั่นแสดงให้เห็นว่าการเงินคุณเริ่มมีปัญหาแล้ว แถมซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายคนกลับเลือกที่จะเปิดบัตรเครดิตใบใหม่ แล้วเอามาผ่อนใบเก่า ทำเป็นงูกินหางไปเรื่อย ๆ กลายเป็นวงจรอุบาทว์แบบไม่มีที่สิ้นสุด และมันจะลุกลามไปสู่การจ่ายไม่ไหว ซึ่งดอกเบี้ยที่ทางบัตรเครดิตคิดนั้นสูงจนน่าตกใจ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว ๆ 18% – 25% ในขณะที่การลงทุนแบบทั่วไปนั้นได้กำไร 10% ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ก็ยังได้ไม่ถึงครึ่งของดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตด้วยซ้ำ ดังนั้นต่อให้ลงทุนเก่งแค่ไหน แต่ถ้ายังเสียหนี้บัตรเครดิตอยู่ก็ล้มเหลวทางการเงินอยู่ดี
กับดักทางการเงินข้อที่ 5 – ไม่คิดที่จะลงทุนใด ๆ เลย
หลาย ๆ คนเลือกที่จะลงทุนในระยะสั้น ๆ เพื่อเป้าหมายประเดี๋ยวประด๋าว เปรียบเสมือนกับการวิ่งร้อยเมตร แต่อย่าลืมว่าการจะก้าวไปสู่จุดที่เรียกว่าอิสรภาพทางการเงินนั้น มันเป็นการวิ่งมาราธอนในระยะยาว ซึ่งการลงทุนในระยะยาวยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เปรียบ
การวางแผนทางการเงินเพื่ออิสรภาพทางการเงินนั้น เป็นเรื่องความสมดุลของการจับจ่ายใช้สอย การกำจัดหนี้สินในปัจจุบันและการสำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน เพื่อช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น โดย Tip สั้น ๆ ที่ Phil ทิ้งท้ายเอาไว้ที่เขามักจะชอบใช้ก็คือ ทุกครั้งที่เขาได้รับรายได้มา เขาจะตัดออก 10% ทันทีเพื่อจ่ายให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยเอาเงินส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรวมถึงจ่ายภาษีด้วย และทุกครั้งที่เขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เขาจะหักออกอีก 10% นำไปไว้ในบัญชีการลงทุนทันทีอีกด้วย เพื่อกันไม่ให้ตัวเองใช้จ่ายมากเกินไป
Resources