Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

5 ขั้นตอนสร้างธุรกิจเงินล้าน ให้รวย สไตล์ Richard Branson | Blue O’Clock Podcast EP. 77

Richard Branson คือมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท Virgin ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีธุรกิจหลากหลายที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม การขนส่ง การบิน ค่ายเพลง สุขภาพ น้ำดื่ม นิตยสาร หรือแม้แต่ธุรกิจยานอวกาศ ฯลฯ ที่มีรวม ๆ กว่า 400 บริษัท ใน 35 ประเทศทั่วโลก Richard Branson เขาได้ทำทุกอย่างมาเกือบหมดแล้ว

โดยในเนื้อหานี้ Richard Branson ได้ให้สัมภาษณ์บนช่อง Youtube ที่ชื่อว่า Simon Squibb ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.59 ล้าน subscribers

และนี่คือ 5 ขั้นตอนในการสร้างธุรกิจเงินล้าน ที่ Richard Branson เขาจะมาแชร์ประสบการณ์ในเนื้อหานี้ ซึ่งได้แก่

  1. การค้นหาปัญหา (Identifying a Problem)
  2. การหาเงินล่วงหน้า (Getting Revenue in Advance)
  3. การทำงานกับคนที่เชื่อมั่นในตัวคุณ (Working with the Right People)
  4. ความสำคัญของการสร้างแบรนด์ (Building a Brand)
  5. และการเรียนรู้ที่จะรับความเสี่ยง (Taking Risks)

ขั้นตอนที่ 1 การค้นหาปัญหา (Identifying a Problem)

พิธีกรได้เริ่มต้นถามกับ Richard Branson ว่า ถ้าจะเริ่มธุรกิจใหม่อีกครั้งในวันนี้ คุณจะทำอะไรบ้าง?

โดย Richard Branson ก็ตอบว่า “ผมจะรอจนกว่าผมจะเห็นบางอย่างที่ทำให้ผมหงุดหงิด แล้วก็กระโดดเข้าไปในนั้นและพยายามแก้ไขมัน ทำให้มันดีกว่าที่มันเป็นอยู่ หรือไม่ก็เริ่มต้นมันใหม่ทั้งหมด ซึ่งนั่นแหละคือสิ่งที่ธุรกิจเป็น มันเกี่ยวกับการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่สามารถสร้างความแตกต่างเชิงบวกให้กับชีวิตของผู้คน

ซึ่งนั่นคือวิธีคิดที่เขาใช้ทำกับบริษัทในเครือ Virgin Groups เขาไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจเลย เขาแค่ คิดว่า เขาไม่ชอบการบินกับสายการบินอื่น เขาเลยสร้างสายการบิน Virgin ของตัวเองขึ้นมาซะเลย หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในวงการเพลง ที่เขาอยากจะออกอัลบั้มเพลง แต่ค่ายเพลงไม่ยอมอนุมัติ เขาก็เลยเริ่มต้นทำค่ายเพลง Virgin ของตัวเองซะเลยเช่นกัน

ซึ่ง Richard Branson เขาคิดว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นสร้างธุรกิจ

โดย Richard Branson เขาคิดว่าการเรียนการสอนของโรงเรียน จากคำถามที่ว่า “โตขึ้นคุณอยากทำอะไร?” ให้เปลี่ยนเป็น “คุณอยากจะแก้ปัญหาอะไรในโลกนี้?” นี่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องมากกว่า

ขั้นตอนที่ 2 การหาเงินล่วงหน้า (Getting Revenue in Advance)

แต่บางคนอาจไม่มีเงินทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ แล้วควรทำอย่างไร?

โดย Richard Branson ก็เล่าว่า เมื่อตอนที่เขาเริ่มธุรกิจแรก เขาก็ไม่มีเงินเลยเช่นกัน ดังนั้นเขาเลยต้องขายโฆษณาล่วงหน้าสำหรับนิตยสารก่อนที่จะทำการพิมพ์ขึ้นมา ซึ่งเมื่อได้เงินค่าโฆษณาแล้ว ค่อยนำเงินจากสปอนเซอร์ไปพิมพ์นิตยสาร

หรืออย่างการเริ่มต้นทำธุรกิจขายแผ่นเสียงทางไปรษณีย์สมัยก่อน เขาก็จะทำการเก็บเงินจากลูกค้าก่อน แล้วค่อยไปซื้อแผ่นเสียงไปส่งให้พวกเขา ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แน่นอนว่าคุณสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจโดยการหาเงินจากลูกค้าล่วงหน้ามาก่อนได้

ขั้นตอนที่ 3 การทำงานกับคนที่เชื่อมั่นในตัวคุณ (Working with the Right People)

ต่อมาคือการหาคนที่เชื่อมั่นในแนวคิดของคุณ และอยากร่วมงานกับคุณ คนที่ตื่นเต้นกับสิ่งที่คุณทำ ซึ่งถ้าคุณมีทีมที่ดี แม้จะเป็นแค่สองสามคน อะไรก็สามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น

Richard Branson เล่าว่า เขาเริ่มต้นทำนิตยสาร Student เมื่อตอนอายุ 16 ปี และมีพนักงานคนแรกที่ชื่อ Johnny Holland เป็นนักเรียนอายุ 15 ปี และไม่ค่อยมีปัญหาด้านการอ่านเหมือนกับเขา เพราะในตอนเด็กทาง Richard Branson นั้นเขาเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน ดังนั้น ถ้าคุณจะเริ่มต้นทำนิตยสาร คุณจำเป็นที่จะต้องมีคนที่เขียนได้ดีอยู่ในทีมด้วย คุณจะต้องหาคนที่มีทักษะที่เราขาดหายไป ถ้าคุณไม่เก่งเรื่องอะไรก็ให้ไปหาคนที่เก่งในด้านนั้นมาช่วยทำ

ซึ่งการหาพันธมิตรเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม มันเหมือนกับการเลือกคู่แต่งงาน ที่คุณจะต้องหาให้ดีเพราะเขาจะอยู่กับเราไปอีกนาน

โดย Richard Branson เขาเชื่อว่าการทำธุรกิจและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำกำไรหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นด้วยแนวคิด Give and Take หรือ การให้และรับ ซึ่งหมายถึงการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือแบ่งปันสิ่งดี ๆ กับผู้อื่น โดยไม่คาดหวังผลตอบแทนในทันที หรือคิดแต่จะเอาผลประโยชน์ในระยะสั้น

โดยเขามีสโลแกนที่ว่า “ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน” (Give without expecting anything in return) ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อที่ว่า หากเราช่วยให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จอย่างจริงใจ สุดท้ายแล้วสิ่งดี ๆ เหล่านั้นจะย้อนกลับมาหาเราเองในรูปแบบที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เครือข่ายที่แข็งแกร่ง หรือแม้แต่แรงบันดาลใจในการก้าวต่อไป

แนวคิดนี้ทำให้ Richard Branson มีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับพนักงาน หุ้นส่วน และลูกค้า ซึ่งช่วยให้ธุรกิจของเขาเติบโตได้อย่างยั่งยืนและได้รับความไว้วางใจจากผู้คนทั่วโลก

ขั้นตอนที่ 4 ความสำคัญของการสร้างแบรนด์ (Building a Brand)

Richard Branson เขาเล่าว่าในสมัยก่อน เขาต้องเสี่ยงมากเพื่อทำให้บริษัท Virgin ของเขาเป็นที่รู้จัก เช่น การขึ้นบอลลูนยักษ์ข้ามมหาสมุทรเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้คน

นอกจากนั้นเขาเชื่อว่าการสร้างแบรนด์ไม่ใช่แค่การมีโลโก้สวย ๆ หรือสโลแกนที่โดดเด่น แต่คือการสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้า ซึ่งการตลาดที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัท Virgin ของเขา มันทำให้บริษัทสามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้

แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจะต้องสะท้อนถึงตัวตนของเจ้าของธุรกิจและต้องมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากคู่แข่ง

และในปัจจุบันก็ต้องใช้โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารกับลูกค้า และการทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์คือสิ่งที่ทำให้ Virgin เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขั้นตอนที่ 5 การเรียนรู้ที่จะรับความเสี่ยง (Taking Risks)

Richard Branson เขาเชื่อว่าความเสี่ยงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือการรู้จักปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงที่อาจทำลายทุกอย่างที่สร้างขึ้นได้ โดยเขาได้ยกตัวอย่างความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดของเขา ในเหตุการณ์ที่เขานั้นพยายามบินข้ามมหามสุทรด้วยบอลลูนยักษ์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายและสอนให้เขารู้จักการเตรียมพร้อมก่อนเผชิญหน้ากับความเสี่ยง

และต่อให้เขาสามารถย้อนกลับไปบอกตัวเองในตอนอายุ 20 ได้ เขาก็คงบอกว่า “ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย”

เพราะเขาสนุกกับทุกอย่างที่เคยทำมา และทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมาโดยตลอด

โดยเขาคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการใช้ชีวิตให้เต็มที่ ทำงานอย่างหนักและสนุกไปกับมัน

Resources