Site icon Blue O'Clock

7 หลักคิด พนักงานบริษัทหัวใจผู้ประกอบการ | Blue O’Clock X Beyond Training

BeyondTraining

หลายคนอาจคิดว่า แนวคิดการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น ค่อยคิดเมื่อตอนที่ไปเปิดเป็นบริษัทของตนเองก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดแบบเจ้าของธุรกิจ แนวคิดแบบผู้ประกอบการนั้น สามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่ยังเป็นพนักงานประจำ ยังเป็นพนักงานในองค์กรได้ในทันที

โดยเฉพาะหากคุณมีแนวคิดที่ว่า บริษัทนี้ก็ไม่ใช่ของเรา เราจะตั้งใจทำงานให้ดีกว่านี้ไปเพื่ออะไร ออกไปทำบริษัทตัวเองไม่ดีกว่าหรือ? ซึ่งหากคุณคิดว่าตั้งใจจะออกไปเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งต้องทำงานให้ดีตั้งแต่เป็นพนักงานในองค์กรซะด้วยซ้ำ เพราะเมื่อคุณออกไปเป็นเจ้าของธุรกิจเอง คุณก็คงอยากให้พนักงานในองค์กรคุณตั้งใจทำงานและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้แก่องค์กร

ดังนั้น นี่คือ 7 วิธีคิดในแบบเจ้าของธุรกิจ ที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งอะไรก็ตามที โดย อาจารย์บี จาก Beyond Training ผู้ที่ผันตัวจากเภสัชกร มาเป็นวิทยากร และ เจ้าของธุรกิจฝึกอบรม 

วิธีคิดแบบที่ 1 – Focus ที่ผลลัพธ์ (Result Base)

หากวันนี้คุณมีความคิดที่ว่า สิ้นเดือนจะได้รับเงินเดือน ค่าจ้างหรือผลตอบแทนเท่านี้ ฉันจะทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ฉันทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ส่งอีเมลหาลูกค้ากี่ฉบับ โทรหาลูกค้ากี่สาย นัดพบลูกค้ากี่คน แล้วก็จบงาน ซึ่งหากเราคิดเพียงเท่านี้ นั่นคือเราใช้แนวคิดที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของ Task & Time Base นั่นคือ ได้รับค่าตอบแทนมาเท่าไหร่ ก็แลกกับเวลา แลกกับ Job Description ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยที่ไม่ได้สนใจว่า ผลลัพธ์จากการที่ได้คุยกับลูกค้านั้นจะเป็นอย่างไร

แต่ในมุมของเจ้าของธุรกิจนั้น จะมองแตกต่างออกไป พวกเขาจะมองว่า เขาไม่ได้สนใจว่าจะส่งอีเมลกี่ฉบับ จะโทรหาลูกค้ากี่สาย จะนัดพบลูกค้ากี่ราย แต่พวกเขาสนใจแค่เพียงว่า ปิดการขายได้กี่ราย ยอดขายได้เท่าไหร่ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กับแผนกฝ่ายขายเพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้แนวคิดนี้ได้ในทุกแผนกไม่ว่าคุณจะทำในตำแหน่งอะไรก็ตาม เช่น ฝ่ายบัญชีไม่ใช่คิดแค่ว่า จะต้องลงข้อมูลลงบนตาราง Excel ให้ได้เยอะที่สุด เลิกงาน 1 ทุ่ม 2 ทุ่ม ก็ลุย แต่ให้ลองเปลี่ยนเป็น ฉันจะลงข้อมูลตัวเลขให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ส่งงบต่อสรรพากรให้ตรงต่อเวลา และหากมีข้อมูลใดที่ผิดปกติก็รีบแจ้งเจ้าของทันทีเพื่อที่จะสามารแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ซึ่งฉันจะตั้งใจทำให้เสร็จภายในเวลาก่อน 5 โมงเย็น เป็นต้น

วิธีคิดแบบที่ 2 – มุ่งเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Effective & Efficient)

ในบริษัทของคนอื่น หากเราอยู่ในฐานะพนักงานบริษัท หลายครั้งเรามักจะเผลอคิดและเผลอทำในสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ในสิ่งที่คิดว่านิดเดียวน่าก็ไม่เห็นจะเป็นไร ยกตัวอย่างเช่น จะปริ้นท์เอกสารก็ปริ้นท์มันเต็มที่เลย ไม่ต้องกลัวเปลืองเพราะบริษัทจ่าย หรือใช้แค่หน้าเดียวก็ทิ้งไปเลย ไม่ต้องเก็บมาใช้ใหม่ แต่หากมองในมุมว่าหากเราเป็นเจ้าของบริษัทนั้นซะเอง เราก็ต้องจะต้องเปลี่ยนความคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะใช้กระดาษ ให้มันคุ้มค่ามากที่สุด

หรืออย่างเวลาที่เราในฐานะที่เป็นพนักงานเวลาเข้าไปนำเสนอโปรเจค หากเราทำการบ้านเยอะหน่อย คิดให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น แทนที่จะเขียนรายงานแบบขอไปที มันก็อาจจะทำให้รายงานชิ้นนั้นไม่ผ่านการอนุมัติ กลายเป็นว่าเสียเวลาทั้งเราและทั้งนายจ้าง ถ้าหากเราเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เราอาจจะเพิ่มแผนสำรอง ถ้า A ไม่ผ่าน ลองนำเสนอ B ถ้า B ไม่ผ่านลองนำเสนอ C หรือลองนำตัวเลือกอื่น ๆ แนบไปนำเสนอด้วยว่า แบบไหนน่าจะคุ้มค่ามากที่สุด ก็มีโอกาสที่งานชิ้นนั้นจะได้ผ่านการอนุมัติโดยเราก็ไม่เสียเวลาไปทำข้อมูลใหม่ทั้งหมดและทางบริษัทก็ได้รับประโยชน์จากผลงานของเรา

ซึ่งแนวคิดของเจ้าของธุรกิจที่ถือว่าเป็นหลักยึดสำคัญในการทำธุรกิจเลยก็คือ ทำน้อยให้ได้มาก คือทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดผลลัพธ์สูงที่สุด โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรง ใช้เงิน ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิด Return On Investment (ROI) สูงที่สุด

ยกตัวอย่างจากเรื่องหนึ่งในวงการอวกาศ ที่ทางสหรัฐอเมริกา ใช้งบวิจัยหลายสิบล้าน ไปวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่บนอวกาศไร้แรงโน้มถ่วงนั้นเนี่ยมันไม่สามารถใช้ปากกาแบบน้ำหมึกเขียนได้ แต่ในขณะที่ประเทศรัสเซียบอกว่า ก็แล้วทำไมไม่ใช้ดินสอเขียนกันล่ะ มันก็เขียนได้เหมือนกัน แถมไม่ต้องใช้งบให้สิ้นเปลืองด้วย เพราะเป้าหมายของเรื่องนี้ก็คือ สามารถ Take Note สามารถเขียนบันทึกบนอวกาศได้ก็พอแล้ว ใช้อะไรเขียนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นปากกาเสมอไป

วิธีคิดแบบที่ 3 – ส่งมอบผลงานให้มากกว่าผลตอบแทน Over Deliver

ยิ่งให้ยิ่งได้ คำพูดนี้ใช้ได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม หากวันนี้คุณเป็นพนักงานบริษัท จงทิ้งความคิดที่ว่า บริษัทจ่ายให้ฉันเท่านี้ ฉันก็ทำเท่านี้ก็แล้วกัน หรือหากจังหวะไหนที่ฉันจะอู้ได้ฉันก็จะทำ เพราะนอกจากคุณอาจจะทำผลงานได้ต่ำกว่าค่าตอบแทนที่คุณได้รับแล้ว คุณยังสูญเสียโอกาสในอนาคตที่รอคุณอยู่ โดยแนวความคิดของคนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในฐานะของผู้ประกอบการหรือพนักงานบริษัทก็ตามที พวกเขาจะมีแนวความคิดที่ว่า การทำงานอย่างขยันขันแข็งและการได้ทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ พวกเขาทำงานเพื่อเพิ่มประสบการณ์ เพิ่มทักษะ พัฒนาทักษะติดตัวให้ดียิ่งขึ้น แล้วพอวันหนึ่งโอกาสมาถึง พวกเขาก็จะสามารถคว้าโอกาสนั้นเอาไว้

หลายคนบอกว่า อยากได้เลื่อนขั้น อยากมีตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้น อยากเป็นผู้จัดการ แต่กลับไม่ยอมเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการที่ใครสักคนนั้นจะขึ้นเป็นระดับ Manager ได้นั้น คน ๆ นั้นจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในระดับ Manager ให้ได้ซะก่อน ไม่ใช่ว่า ให้ฉันเป็นผู้จัดการสิ ฉันจะพัฒนาตนเองให้เก่งระดับ Manager ให้ดู แต่ในมุมมองของเจ้าของธุรกิจจะมองว่า มีคนใดบ้างที่เหมาะจะเป็น Manager คนต่อไป และก็จะหยิบยื่นโอกาสนั้นให้กับคนที่เหมาะสม คนที่ทุ่มเททำงานอย่างขยันขันแข็ง มีคุณค่าต่อองค์กร ส่งมอบผลงานมากกว่าผลตอบแทนที่ตนได้รับ

วิธีคิดแบบที่ 4 – ตัวเรานั้นอยู่เหนือปัญหาในทุกสถานการณ์ Be Bigger Than Your Problems

การสร้างคุณค่าของคนเรานั้น คือการที่เราสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้อื่นได้ ซึ่งถ้างานไหนไม่ได้มีปัญหาอะไร นั่นหมายถึงว่า งานนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเราก็ได้เช่นกัน

ซึ่งหลายคนเวลาเจอปัญหาในที่ทำงาน ก็มักจะบ่นว่า ทำไมงานนี้ปัญหามันเยอะจัง อะไร ๆ ก็ติดขัดไปหมด แต่หากมองในมุมกลับกันว่า ถ้างานนี้ไม่มีปัญหาเลย ทุกอย่างราบรื่น ลูกค้าไม่ติดขัดอะไร คู่แข่งก็ไม่มี การส่งสินค้าก็สมบูรณ์แบบ คำถามก็คือ ถ้ามันผ่านฉลุยขนาดนั้น บริษัทเขาจะจ้างเราไปเพื่ออะไร

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตัวเรานั้นคือคนที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ขององค์กรให้องค์กรสามารถผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็สามารถหาวิธีการมาแก้ไขมันจนได้ ดังคำที่ว่า “ทุกปัญหามีทางออกอยู่เสมอ”

โดยวิธีคิดอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์บี บอกว่า ในหนังสือที่ชื่อ The 7 Habits of Highly Effective People ที่เขียนโดย Stephen Covey ที่ได้พูดถึงอุปนิสัยแบบ COC กับ COI ก็คือ

การคิดแบบ COC ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เกิดภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ก็มักจะชอบพูดชอบบ่นว่า เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายเราเลยไม่โต เพราะปัญหานั้น ปัญหานี้ มันเลยทำให้บริษัทเราถอยหลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่า แนวคิดนี้ มองเห็นแต่ปัญหาภายนอกเต็มไปหมด เป็นการคิดในเชิงลบ Negative

แต่ในขณะคนในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จนั้น จะคิดแบบ COI คือคิดว่า ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า การคิดแบบนี้จะคิดไปในเชิงบวกแบบ Positive

วิธีคิดแบบที่ 5 – ไม่ยึดติดกับวิธีการแบบเดิม ๆ (Flexible Method)

ในแนวความคิดของเจ้าของธุรกิจนั้นจะยึดเป้าหมายเป็นหลักโดยไม่ยึดติดกับวิธีการ ดังประโยคที่ว่า “เป้าหมายสลักไว้บนหินผา วิธีการสลักไว้บนผืนทราย” ความหมายก็คือ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น พวกเขาก็จะยังคงเป้าหมายไว้ดังเดิม เช่น หากตั้งเป้าหมายว่าภายในปีนี้จะต้องสร้างยอดขายให้ได้ 100 ล้านบาท ก็จะมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น แต่พอมาขั้นตอนการดำเนินการจริงผ่านไปสักครึ่งปีกลับพบว่า จะไม่เข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ พวกเขาก็จะมองหาวิธีการใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มีแผนสำรอง แผน 2 แผน 3 เพื่อที่จะสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้จงได้

ยกตัวอย่างจาก อาจารย์ บี BeyondTraining ที่แต่เดิมทีใช้กลยุทธ์ในการสร้างยอดขายและหาลูกค้าแบบ B2C : Business to Customer ที่เน้นกลุ่มลูกค้า End User คือกลุ่มลูกค้าบุคคลทั่วไป ที่สนใจอบรมในงานสัมมนา งานอีเว้นท์ต่าง ๆ แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การจัดสัมมนาลำบากมากยิ่งขึ้น รายได้บริษัทลดลง อาจารย์บี ก็เลยต้องปลับเปลี่ยนกลยุทธ์จาก B2C ไปเป็น B2B : Business to Business คือเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าไปเป็นระดับองค์กร ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเกือบทั้งหมด โดยไม่ปิดกั้นตัวเอง ยอมรับสถานการณ์และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้องค์กรของเราก้าวต่อไปได้

และนอกจากนั้นอาจารย์ บี ก็ยังได้เปิดให้บริการ Online Training สำหรับพัฒนาพนักงานในองค์กร ที่ชื่อว่า Beyond Training Plus เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับองค์กร 

โดย อาจารย์บี จะมีประโยคประจำใจว่า “Forget the past start the new” ที่หมายถึง จงลืมความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาแล้วจงเริ่มต้นสร้างเส้นทางความสำเร็จใหม่ซะ

เพราะหลายคนมัวแต่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตจนตัดสินใจที่จะหยุดพัฒนาตนเองไว้เพียงแค่นั้น ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า มันมีสิ่งที่ให้คนเราได้เรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความรู้ความสำเร็จในอดีตก็ไม่ได้การันตีว่ามันจะนำมาใช้ในยุคปัจจุบันได้ผลเช่นดังเดิม ดังนั้นจงยืดหยุ่น จงปรับเปลี่ยน และพร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

วิธีคิดแบบที่ 6 – ทุกคนคือพันธมิตร (Collaborative Networking)

ในยุคก่อนการสร้างธุรกิจหรือสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้นั้น อาจไม่ต้องพึ่งพาใคร ลุยเดี่ยว บินเดี่ยวก็ประสบความสำเร็จได้ แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่จะต้องร่วมมือกันจึงจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและยิ่งใหญ่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์มือถืออย่าง Huawei ที่เป็นแบรนด์มือถือจากประเทศจีน ที่ใครก็ไม่คิดว่าแบรนด์นี้จะขึ้นมาเป็นแบรนด์มือถืออันดับ 1 อันดับ 2 ของโลกได้ มาวัดกับแบรนด์ที่ครองตลาดอย่าง iPhone กับ Samsung ได้อย่างสูสี พอฟัดพอเหวี่ยงกันได้ เพราะในช่วงแรก ๆ ของ Huawei นั้น ได้ทำการ Co-Branding และ Co-Engineering กับแบรนด์กล้องระดับโลกอย่าง Leica จึงทำให้ตัวกล้องมือถือของ Huawei นั้นพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเป็นส่วนสำคัญจุดหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้ามาตีตลาดสมาร์ทโฟนได้

และในปัจจุบันก็จะเห็นแบรนด์ต่าง ๆ หันมา Collap กันมากขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างถล่มถลาย เช่น

โดยหลักคิดแบบนี้ เราจำเป็นที่จะต้องมีแนวคิดแบบ Open-Minded คือมีแนวคิดที่เปิดใจเปิดรับในตัวผู้อื่น

ในขณะที่หลาย ๆ องค์กร แม้แต่ภายในองค์กรเอง พอข้ามแผนกเท่านั้นแหละ ยังไม่เปิดรับซึ่งกันและกันเลย บางแผนกยังถกเถียงยังปฏิเสธรับงานข้ามระหว่างแผนกกันอยู่เลย อันนี้ไม่ใช่งานของฉันบ้างล่ะ งานฉันก็เยอะอยู่แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานร่วมกับแผนกอื่นบ้างล่ะ

ดังนั้น ลองเปลี่ยนความคิดว่า หากงานนั้น ๆ ไม่เหนือบ่ากว่าแรงมากจนเกินไป ก็พยายามเปิดใจรับ เปิดใจช่วยเหลือผู้คน เริ่มต้นจากคนในแผนกเดียวกันก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ ขยับเป็นแผนกอื่น แล้วขยับไปเป็นร่วมงานกับแบรนด์อื่น ๆ ต่อไป

ลองเริ่มต้นจากแนวคิดด้วยแนวคิด 3 ข้อนี้ก็คือ

ดังคำที่กล่าวเอาไว้ว่า “มีศัตรูคนเดียวก็มากเกินพอแล้ว” ดังนั้นผูกมิตรกับผู้อื่นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

วิธีคิดแบบที่ 7 – เรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Learning)

ในยุคอินเตอร์เน็ตเรามักจะได้ยินคำว่า Digital Disruption อยู่บ่อย ๆ ความหมายของมันก็คือ การมาของโลกอินเตอร์เน็ตนั้น มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในด้านเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ๆ ซึ่งความรู้เมื่อวาน อาจจะใช้กับวันนี้ไม่ได้เสียแล้วก็มี เพราะความรู้ในยุคนี้ตกยุคไวมาก ๆ ประสบการณ์ที่สร้างความสำเร็จในจุดนี้ อาจใช้ไม่ได้ในการทำงาน ทำธุรกิจในยุคต่อไป ดังนั้นการเรียนรู้ Up Skills และ Reskills ในการทำงานจึงไม่ใช่ทางเลือก อีกต่อไป แต่เป็นทางรอด ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ

ซึ่งเทคนิคหนึ่งที่ อาจารย์บี ใช้ในการที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็คือ การที่สร้างทีมด้วยคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพอมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ แอพพลิเคชั่นอะไรใหม่ ๆ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทำให้เรานั้นก็สามารถเรียนรู้จากน้อง ๆ ในทีมได้เช่นกัน

ปลูกฝังความใฝ่รู้ ให้ทีมงานพนักงานเห็นความสำคัญและรักการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ (Learning Culture) ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตของธุรกิจ

และนี่ก็คือ 7 หลักแนวคิดแบบ Corporate Entrepreneurship หลักคิดพนักงานบริษัทหัวใจผู้ประกอบการ ที่จะทำให้เรานั้น สามารถสร้างความก้าวหน้าในชีวิตได้ทั้งหน้าที่การงานและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น โดย อาจารย์บี จาก Beyond Training

Resources

Exit mobile version