Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

7 ขั้นตอนรวยด้วยตนเอง by Naval Ravikant

ตอนที่ 1 Wealth vs Money vs Status

Naval Ravikant นักลงทุนและผู้ประกอบการชาวอินเดีย-อเมริกัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท AngelList ที่เป็นบริษัทสำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพ ซึ่งเขาได้เคยลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ที่กลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างเช่น Twitter, Uber และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยในปี 2022 นี้เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ราว ๆ $69 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือประมาณ 2,300 ล้านบาท

โดยในคอนเท้นต์นี้ ทาง Naval จะมาแชร์แนวคิดและวิธีในการก้าวขึ้นสู่การเป็นคนรวยที่ไม่ได้รวยมาจากโชคช่วยอย่างฟลุ๊ค ๆ ได้ด้วยตนเอง

คำถามแรกที่พิธีกรถามก็คือ “Naval คุณช่วยบอกหน่อยว่าความแตกต่างระหว่างคำว่า Wealth, Money และ Status(สถานะทางสังคม) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?”

โดย Naval ได้ตอบว่า Wealth หรือความมั่งคั่ง คือสิ่งที่ทำให้คุณสามารถไปทำในสิ่งที่คุณต้องการในชีวิตได้ โดยหากต้องการความมั่งคั่งจริง ๆ แล้วล่ะก็ คุณจำเป็นที่จะต้องมี Asset หรือทรัพย์สินที่สามารถทำเงินให้คุณได้แม้ในยามที่คุณกำลังนอนหลับอยู่

  • มันอาจจะเป็นโรงงานที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ที่ทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
  • หรือมันอาจจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่รันด้วยซอร์ฟแวร์ที่มันสามารถทำงานได้เองในตอนกลางคืน ที่คอยบริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • หรือมันก็สามารถเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีธนาคาร ที่ตั้งค่าให้มัน re-investment ในการลงทุนในทรัพย์สินหรือในธุรกิจอื่น ๆ
  • หรือจะเป็นบ้านที่คุณปล่อยให้คนอื่นมาเช่า หรือจะเป็นที่ดินที่คุณปล่อยให้เช่าแล้วคุณก็เก็บค่าเช่าหรือขอแบ่งจากยอดขายที่ธุรกิจนั้น ๆ ที่มาอยู่บนที่ดินของคุณก็ได้เช่นกัน

ดังนั้นคำจำกัดความของคำว่า Wealth ในความเห็นของ Naval ก็คือธุรกิจหรือทรัพย์สินใดก็ตามที่สามารถทำเงินให้คุณได้แม้ในยามที่คุณหลับอยู่นั่นเอง

ซึ่งสาเหตุที่เราขวนขวายหาความมั่งคั่งนั่นก็เป็นเพราะ เราต้องการมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต ที่ไม่ต้องตื่นตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อรีบไปทำงาน ฝ่าฟันการจราจรที่คับคั่งเพื่อไปนั่งทำงานในออฟฟิศราวกับร่างไร้วิญญาณทุกวี่ทุกวันโดยที่งานนั้นไม่ได้เติมเต็มชีวิตของคุณเลย

ดังนั้น Wealth = Freedom ไม่มีอะไรไปมากกว่านั้น

ซึ่งหลายคนคิดว่าความมั่งคั่งคือการที่เราสามารถซื้อเสื้อผ้าหรู ๆ แพง ๆ แบรนด์เนมมาใส่ได้, หรือสามารถซื้อรถซุปเปอร์คาร์มาขับ, ร่องเรือยอร์ชไปตกปลา หรือจะเป็นการนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวเพื่อไปเที่ยวรอบโลก ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้น มันเป็นเรื่องน่าเบื่อและเป็นเรื่องงี่เง่าสิ้นดี เพราะแน่นอนว่าทั้งหมดที่ว่ามานั้น เขาลองกับตัวเองมาหมดแล้ว มันเป็นเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว มาแล้วก็ไป

ดังนั้นคำว่า Wealth นั้น สำหรับตัวของเขาแล้ว มันคือการที่เรา สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ สามารถใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากจะเป็นได้อย่างเต็มที่ต่างหาก

ส่วนความหมายของ Money นั้น Naval บอกว่า มันคือเครื่องมือในการถ่ายโอนความมั่งคั่ง มันคือเครดิตทางสังคม คนในสังคมจะรู้สึกติดหนี้คุณ เมื่อคุณสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคมเมื่อในอดีตที่ผ่านมา เช่น คุณทำงานงานหนึ่งเสร็จสิ้น สังคมก็จะบอกกับคุณว่า “โอ้ว ฉันรู้สึกเป็นหนี้คุณ ฉันต้องให้อะไรบางอย่างเพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่คุณทำเพื่อฉัน” และ Money ก็ถูกนำมาใช้แทนการตอบแทนหนี้บุญคุณ มันเป็นวิธีการส่งต่อความมั่งคั่งไปยังคนที่ส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคม

ทีนี้ ชีวิตคนเรา หากเปรียบดั่งเกม คนเราก็จะมีเกมชีวิตอยู่ด้วยกันสองเรื่องใหญ่ ๆ ก็คือ เรื่องแรกคือเกมการเงิน แม้ว่าเงินจะไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างในชีวิตได้ แต่เงินสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เงินได้ ซึ่งแม้ว่าหลายคนรู้ดีว่า ปัญหาการเงินก็ต้องแก้ด้วยเงิน แต่หลายคนลึก ๆ แล้วก็มักจะบอกตัวเองว่า ฉันไม่สามารถหาเงินเยอะ ๆ ได้ ฉันไม่สามารถมั่งคั่งร่ำรวยได้ มันทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่า เงินมันไม่สำคัญ เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง และแย่สุดคือ เงินคือสิ่งชั่วร้าย ใครโหยหาเงินคนนั้นเป็นคนเลว และเมื่อพวกเขาไม่สามารถเล่นเกมการเงินได้ดี พวกเขาจึงเลือกที่จะในเกม status หรือเกมแสดงฐานะทางสังคมแทน

ที่พวกเขาพยายามแสดงให้สังคมเห็นว่าพวกเขาดูดีกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม

โดยในมุมมองของ Naval เขาบอกว่า ในเกมของการสร้าง Wealth หรือเกมการสร้างความมั่งคั่งนั้น มันไม่ใช่ zero sum game มันไม่ใช่เกมที่จะต้องมีใครได้ใครเสีย ทุกคนบนโลกนี้ต่างก็สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ และการมีบ้านเป็นของตนเอง มันก็ขึ้นอยู่กับน้ำพักน้ำแรง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาเงินของตัวคุณ คุณไม่ได้ไปขโมยหรือโจมตีใครเพื่อให้ได้บ้านมา ความมั่งคั่งเป็นเกมในทาง positive เป็นเกมในทางบวก ที่ผู้คนต่างสร้างคุณค่าให้แก่สังคม

แต่ในขณะ Status Game นั้น มันเป็น zero-sum game คือเป็นเกมที่ต้องมีคนได้และคนเสีย มันเป็นเกมจากยุคเก่าที่ไม่สร้างสรรค์เอาซะเลย ยกตัวอย่างเช่น เกมที่ต้องมีผู้ชนะอันดับ 1,2 และ 3 ซึ่งเมื่ออันดับ 4 สามารถเลื่อนอันดับขึ้นมาได้ คนที่อยู่ในอันดับ 3 ก็จะต้องถูกถีบออกจากแท่นอันดับ เป็นต้น

ดังนั้นคุณจะเห็นได้ว่า Status Game มันเป็น zero-sum game ที่เมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย

ยกตัวอย่างเช่นในวงการนักการเมือง ที่มีผู้ชนะเลือกตั้งก็ต้องมีผู้ที่แพ้การเลือกตั้ง หรืออย่างในเกมกีฬา ที่มีคนที่ได้เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ส่วนที่เหลือเรียกได้ว่าไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่นักกีฬาต่างก็เฝ้าฝึกซ้อมมาอย่างหนักกันทั้งนั้น แต่ในขณะที่การทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเงิน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นคนที่มีความมั่งคั่งได้กันแทบทั้งสิ้น

ดังนั้น Naval เขาจึงชอบเล่นในเกมการเงิน มากกว่าที่จะลงไปเล่นใน Status game

นอกจากนั้นเขาได้ยกตัวอย่างของคนที่มักชอบเล่นใน Status Game เช่น นักข่าวที่ชอบโจมตีคนรวย เพียงเพื่อให้ตัวเองมีพื้นที่ในสื่อต่าง ๆ ยกระดับตนเองว่าตนเองดี ตนเองอยู่เหนือกว่าพวกคนรวย และชอบโจมตีพวกคนรวยต่าง ๆ นา ๆ ว่าเป็นพวกชั่วร้ายบ้างล่ะ เป็นพวกเอาเปรียบสังคมบ้างล่ะ ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่า หากอยากดูดีใน Status Game คุณจำเป็นที่จะต้อง Look Down ใครสักคน หรือทำให้ใครสักคนดูแย่ เพื่อที่ตนเองนั้นจะได้ดูดี มันเหมือนกับการที่หากคุณอยากได้ดีคุณก็ต้องเหยียบย่ำใครสักคนให้ดูแย่ มันเป็น zero-sum game ที่มีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย

นี่เป็นเหตุผลที่คุณควรหลีกเลี่ยงที่จะเล่นใน Status Game เพราะมันเป็นไปในทาง Negative เป็นไปในทางลบ แต่คุณก็ต้องเข้าใจว่า เมื่อคุณเล่นใน Wealth Game แล้วนั้น ก็มักจะมีพวกที่ชอบเล่น Status Game มาโจมตีคุณ มาทำให้คุณหัวเสียอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น คุณอย่าหลวมตัวไปเล่นในเกมของพวกเขา

ตอนที่ 2 รวยได้เพราะโชคช่วยจริงหรือ?

ทาง Naval ได้อธิบายไปแล้วว่า ความหมายของคำว่ามั่งคั่งร่ำรวยนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยในคอนเท้นต์นี้ Naval จะมาวิเคราะห์ให้ฟังว่า การที่บางคนบอกว่าการที่ใครจะรวยขึ้นมาได้นั้น จะต้องเป็นคนที่ดวงดี โชคดี โชคช่วย ถึงจะรวยได้ มันจริงหรือไม่อย่างไร?

โดย Naval บอกว่า การที่ใครสักคนทำเงินได้นั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชค แต่มันเป็นการสร้างลักษณะของคน ๆ นั้นให้สามารถดึงดูดเงินเข้ามาหาตนเองได้

โดย Naval บอกว่า ถ้าหากวันรุ่งขึ้นเขาตื่นมาแล้วพบว่าตนเองนั้นสูญสิ้นทรัพย์สินเงินทองทุกอย่างที่เคยมีไปทั้งหมด แล้วหากเขาไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศใดสักประเทศหนึ่ง แต่ขอเป็นประเทศที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ เขามั่นใจมากว่า ภายในเวลา 5 ปี เขาจะสามารถกลับมามั่งคั่งร่ำรวยได้อีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงว่า ตัวของเขาได้มี Skillsets หรือทักษะที่จำเป็นในการก้าวขึ้นเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวยติดตัวอยู่ และเขาจะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าใครก็สามารถฝึกษะที่จำเป็นต่อการเป็นคนที่มั่งคั่งร่ำรวยได้ทั้งนั้น

โดยเขาได้มีโอกาสได้อ่านบทความ blog post ที่เขียนโดย Marc Andreessen มหาเศรษฐีอันดับที่ 1,833 ของโลก ที่มีทรัพย์สินกว่า 1.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 46,000 ล้านบาท ได้เขียนเอาไว้ตั้งแต่ปี 2007 หลังจากที่เขาตกผลึกจากการอ่านหนังสือ Chase, Chance, and Creativity: The Lucky Art of Novelty ที่เขียนโดย Dr. James Austin

โดยเขาได้เขียนบทความที่ชื่อว่า Luck and the Entrepreneur: The four kinds of luck ความโชคดีกับเหล่าบรรดาผู้ประกอบการ : ความโชคดีทั้ง 4 ประเภท ซึ่งจริง ๆ ในหนังสือจะใช้คำว่า Chance ที่แปลว่า ‘โอกาส’ มีดังต่อไปนี้

  • Chance I: Blind Luck
  • Chance II: Motion
  • Chance III: Recognizing Good Fortune
  • Chance IV: Directed Motion

Chance I: Blind Luck

คือความโชคดีที่มาแบบงง ๆ มันมักจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ หาที่มาที่ไปไม่ได้ จู่ ๆ มันนึกจะมาก็มา โดยที่เราไม่ต้องพยายามทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งโชคแบบนี้เขาเปรียบเปรยมันเหมือนกับการถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ ตัวเราแค่บังเอิญ ไปอยู่ถูกที่ ถูกเวลา ก็เท่านั้นเอง คุณแค่บังเอิญไปซื้อลอตเตอรี่ใบนี้ ที่นี้ เลขนี้ แล้วรางวัลก็ดันออกเหมือนกับเลขที่คุณซื้อเอาไว้ก็เท่านั้นเอง

Chance II: Motion

โชคที่เกิดจากการกระทำอะไรบางอย่าง ซึ่งโชคมันอาจจะเข้าหาหรือไม่เข้าหาคุณก็ได้ ทางที่ดีคุณไม่ควรที่จะคาดหวังใด ๆ ไม่ควรคิดเยอะ ไม่ต้องวิเคราะห์ ให้โชคดีมีโอกาสวิ่งเข้าหา เมื่อคุณลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง ถ้ามุมมองในคนทำธุรกิจ อาจจะเกิดโชคดีจากการที่คุณเลือกเข้ามาในตลาดที่กำลังฮอตฮิต กำลังบูม ณ ขณะนั้น ซึ่งถ้าหากคุณลงมือทำอย่างขยันขันแข็ง ในเส้นทางนั้น คุณอาจจะพบกับอะไรบางอย่าง ที่คุณอาจจะอุทานออกมาว่า “เรานี่โชคดีเหมือนกันแฮะ ที่ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดนี้” แต่โชคดีที่ว่านั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย หากคุณไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเลย

หรือหากเปรียบให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สมมติว่าคุณเป็นนักกีฬาเบสบอล มันคงจะดีกว่าหากคุณได้ลงเล่นในสนามที่มีโอกาสหวดลูก แน่นอนว่าคุณมีโอกาสหวดลูกโดนมากกว่าการที่นั่งอยู่ที่ม้านั่งตัวสำรองเป็นแน่แท้ และเช่นกันเมื่อคุณมีโอกาสลงเล่นเป็นตัวจริง การหวดไม้มากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะตีลูกถูกมากกว่าที่คุณเอาแต่ยืนถือไม้ไว้เฉย ๆ แน่ ๆ ส่วนจะตีได้โฮมรันหรือไม่นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับความโชคดีของคุณ แต่ลูกตีโฮมรันไม่เกิดขึ้นแน่ ๆ หากคุณไม่คิดที่จะหวดไม้เลยสักครั้งเดียว

Chance III: Recognizing Good Fortune

ความโชคดีประเภทนี้ ตัวมันจะเผยตัวเองออกมาให้เห็นเลย คุณก็เห็น คนอื่นก็เห็น แต่จะเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปตามองค์ความรู้, ประสบการณ์และทักษะเฉพาะตัว ดังคำกล่าวที่ว่า “จงเตรียมตัวคุณเองให้พร้อมรับเมื่อโอกาสมาถึง” ซึ่งแม้ว่าหลายคนจะเห็นโอกาสนั้น แต่กลับคว้าเอาไว้ไม่ได้ ล้มเหลวไม่มีชิ้นดี และแย่หน่อยที่หลายคนกลับมองไม่เห็นโอกาสนั้นซะด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น ยุคการมาของอินเตอร์เน็ตใหม่ ๆ ที่หลายคนก็ไม่เห็นว่าอินเตอร์เน็ตนั้นมันจะมีประโยชน์อะไร และบางคนก็เล็งเห็นแล้วว่าอินเตอร์เน็ตนั้นมีประโยชน์ แต่กลับไม่รู้ว่าจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ยังไง และเช่นกัน หลายคนใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตแต่กลับล้มเหลว ไม่ปังอย่างที่คิด ในขณะที่ Google, Facebook, Amazon นั้นกลับนำการมาของโลกอินเตอร์เน็ตไปสร้างบริษัทที่ยิ่งใหญ่ได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ต่อให้เห็นว่ามีโอกาส มีโชคลาภลอยมา ก็ใช่ว่าทุกคนจะคว้ามันเอาไว้ได้ เพราะมันมีไว้สำหรับคนที่มองเห็นโอกาสและคว้ามันเอาไว้ได้เท่านั้น

Chance IV: Directed motion

รูปแบบสุดท้ายของดวงดีก็คือ มันเกิดจากที่เราเคลื่อนไหวโดยตรง ซึ่งจะแตกต่างจากดวงในแบบที่ 2 ที่อันนั้นมันเกิดจากการเดาสุ่ม คาดการณ์ไม่ได้ แต่ในขณะที่การเคลื่อนไหวแบบนี้ เป็นการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะ เคลื่อนไหวอย่างมีทิศทาง คุณเคลื่อนไหวไปตามลางสังหรณ์ เคลื่อนไหวไปตามสัญชาตญาณ แล้วโชคดีนั้นก็จะปรากฎขึ้นต่อหน้าคุณ

ดังนั้นความโชคดีในแบบที่ 3 และ 4 นั้น จะช่วยให้คุณพบกับความโชคดีที่ไม่เหมือนใคร เพราะมันเกิดจากตัวคุณล้วน ๆ และเป็นความโชคดีที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ วิสัยทัศน์ มุมมอง สัญชาตญาณ และบุคคลิกนิสัยส่วนบุคคล

ดังนั้น คนเรา สามารถกำหนดโชคตะชาด้วยตัวของเราเองได้ โดยที่ไม่ต้องรอ สามารถวิ่งเข้าหาโชคได้เองเลย

โดย Naval ได้ยกตัวอย่างว่า สมมติว่าคุณเป็นนักดำน้ำที่เก่งมาก ๆ และสามารถดำน้ำได้ลึกชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีใครกล้าดำน้ำลึกขนาดนี้มาก่อน จนกระทั่งคุณก็ดำไปพบกับเรือโจรสลัดที่มีสมบัติเต็มลำนอนนิ่งอยู่ใต้พื้นน้ำนั้น นั่นคือคุณใช้ความสามารถ คุณใช้ความพยายาม คุณใช้พลังจากที่คุณมีอยู่ เพื่อเดินไปหาโชคนั้นด้วยตัวคุณเอง ทั้ง ๆ ที่เรือสมบัติลำนั้นมันก็อยู่ของมันตรงนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยมีใครกล้าดำน้ำลึกในบริเวณนั้นมาก่อน

ในขณะที่บางคนก็โชคช่วยแบบงง ๆ ที่จู่ ๆ ก็มีสมบัติลอยมาบนชายหาดแล้วก็มีคนมาเห็นเข้า นั่นคือโชคแบบ Blind Luck คือนึกจะมาก็มา แต่ควบคุมโชคชะตาเองไม่ได้ ในขณะที่คนที่เจอสมบัติโดยบังเอิญ ก็เข้ามาถามคุณว่าหากคุณช่วยเขาลากกล่องสมบัตินั้นขึ้นมาจากชายฝั่งและช่วยเขาปกป้องและเก็บรักษา เขาจะแบ่งสมบัติให้คุณครึ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นคือโชควิ่งเข้าหาคุณ และหากคุณรับโอกาสนั้นไว้ก็มีสิทธิได้รับโชคดี แต่หากคุณไม่คว้ามันไว้โชคนั้นก็หลุดลอยไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่า โชคดีมาได้ในหลากหลายรูปแบบ แบบทั้งฟลุ๊ค หรือแบบมีคนนำโชคดีมาเสิร์ฟถึงที่ หรือแบบทั้งใช้แรงกายแรงใจเพื่อพุ่งเข้าหาโชคด้วยตัวคุณเอง

ซึ่งหลายคนก็ยังแคลงใจอยู่ว่า ที่ Naval รวยได้ ก็เพราะเขาเจอแต่โชคดี เป็นคนดวงดีอยู่แล้วต่างหากล่ะ ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่มีดวงด้านนี้เอาซะเลย

ซึ่งทาง Naval ก็ตอบว่า นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเลย เพราะเขาโชคร้ายตั้งแต่เกิดมาด้วยซ้ำ ตั้งแต่เกิดมาเป็นคนอินเดียที่ยากจนขนแค้น แถมพออพยพมาอยู่ที่อเมริกา ที่เหมือนจะตั้งตัวได้ แต่ก็ดันพับกับโชคร้ายอยู่สองสามครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ขาดทุนในตลาดหุ้นจนเกือบหมดตัว, พอหันมาทำธุรกิจก็โดนพาร์ทเนอร์หรือหุ้นส่วนบริษัทโกงเงินไปอีก

ดังนั้นในเมื่อเขาเจอแต่โชคร้าย และโชคดีก็ไม่ค่อยเดินมาหาเขาเลย เขาจึงต้องเดินเข้าหาโชคดีด้วยตัวของเขาเอง

ตอนที่ 3 ทำแบบไหนรวย VS ทำแบบไหนจน

คุณคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเนื้อหาในตอนนี้ ทาง Naval Ravikant จะมาแชร์มา ทำแบบไหนรวย ทำแบบไหนจน เพราะไม่ใช่คนขยันทุกคนจะเป็นคนรวย แต่คนรวยทุกคนต่างก็เป็นคนที่ขยัน

โดยมาดูกันก่อนว่า ทำแบบไหนไม่รวย อย่างแรกก็คือ ถ้าหากคุณยังเอาเวลาไปแลกกับเงินอยู่ นั้นยากมากที่จะรวยได้ เพราะอย่าลืมว่าเวลาของเรานั้นมีอยู่อย่างจำกัด และไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ มีแต่จะลดลง ดังนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินบางอย่าง ที่สามารถสร้างเงินให้คุณได้แม้ในยามที่คุณหลับอยู่ เช่น เป็นเจ้าของธุรกิจ ห้างร้าน ต่าง ๆ

แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับเชื่อผิด ๆ ว่า การทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนตามเวลาที่ทำงานนั้น จะทำให้มั่งคั่งร่ำรวยได้ แต่ไม่เลย มันไม่เวิร์ค แม้ว่าคุณจะมีรายได้เยอะแบบทนายหรือคุณหมอก็ตามที

โดย Naval ได้ยกตัวอย่างว่า คุณหมอแม้ว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงมาก แต่คุณหมอจะได้รับค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อ คุณหมอทำงานอยู่เท่านั้น คุณหมอต้องเอาเวลาในชีวิตไปแลกกับการทำงานเพื่อให้ได้เงินมา แต่ในขณะที่นอนหลับ ไปพักร้อน หรือยามหลังเกษียณ คุณหมอจะไม่ได้รับเงินเลย เพราะไม่ได้ทำงาน ไม่ได้เอาเวลาไปแลกกับเงิน

แล้วทำไม คุณหมอหลายคนถึงดูร่ำรวยกันล่ะ? นั่นก็เป็นเพราะคุณหมอเหล่านั้น นำเงินที่ได้มาไปต่อยอดในธุรกิจต่าง ๆ เช่น เปิดคลีนิคส่วนตัว แต่เดี๋ยวก็มีคนถามอีกแหละว่า เปิดคลีนิคส่วนตัวคุณหมอก็ต้องใช้เวลาแลกเงินอยู่ดี ดังนั้นคุณหมอที่ Beyond เลเวลอัพกว่านั้นพวกเขาจะสร้างแบรนด์ขึ้นมาแล้วสร้างทีมหมอขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ให้พวกเขาช่วยรันธุรกิจได้ โดยที่ไม่ต้องเอาตัวเองลงไปทำงานเต็มเวลาอย่างที่เคยทำ หรือคุณหมอที่ร่ำรวยบางท่านก็ใช้ชื่อเสียงตัวเองในการสร้างแบรนด์ เพื่อขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ได้อีกเยอะแยะมากมาย

แต่ก็อย่าลืมว่า หาก ณ วันนี้คุณกำลังทำงานให้คนอื่นอยู่ คน ๆ นั้นก็คือ ผู้ประกอบการ ที่พวกเขาต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำธุรกิจ และความรับผิดชอบจะสูงตามขึ้นไปด้วย ต้องรับผิดชอบเรื่องการสร้างแบรนด์ การสร้างผลิตภัณฑ์ การดูแลลูกค้า เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาพวกเขาก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด และเหล่าบรรดาเจ้าของธุรกิจที่จ่ายเงินให้พนักงานนั้น พวกเขาก็ไม่ได้จ่ายค่าจ้างสูงสุดให้แก่พนักงาน แต่จ่ายในอัตราที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ดังนั้นเงินเดือนที่ได้รับในฐานะพนักงาน มันก็ไม่เพียงพอต่อการเกษียณ

แต่ก็อย่างที่บอก การที่ใครสักคนจะมั่งคั่งได้นั้น คน ๆ นั้นก็ต้องส่งมอบคุณค่าแก่สังคมได้มากพอ ดังนั้นหัวข้อเรื่องในเนื้อหานี้ ที่แท้จริงแล้ว มันควรจะเป็น ‘How to create wealth’ มากกว่าที่จะเป็น ‘How to get rich’ เพียงแต่หัวข้อหลังมันดึงดูดผู้คนได้ดีกว่า

ดังนั้นเหตุผลที่การทำงานโดยเอาเวลาตนเองไปแลกกับเงินในแต่ละองค์กรนั้น มันไม่ได้สร้างคุณค่าให้แก่สังคมมากพอ และหลาย ๆ งานที่ได้รับค่าแรงน้อยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่จำเจ ทำซ้ำ ๆ เดิม ๆ และก็สามารถหาคนอื่นมาแทนตำแหน่งงานนั้นได้ง่าย

โดยงานใดก็ตามที่มีการเรียนการสอนคล้าย ๆ กับตอนที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งต้องยอมรับว่าโรงเรียนเกือบทั้งหมด สอนให้เราออกมาเป็นแรงงานในระบบ ดังนั้น งานใดก็ตามที่มีการสอนและคนเรียนก็เรียนรู้กันได้แบบง่าย ๆ นั่นหมายถึงว่า คนที่ถูกสอนก็สามารถแทนกันได้ และคนที่เรียนรู้ได้ดีกว่าในกลุ่มนั้นก็จะถูกยกให้เป็นตัวเลือกแรกก่อนเสมอ

และงานอีกประเภทที่คุณกำลังจะถูกแทนที่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือ งานใดก็ตามที่ AI และ Robot สามารถทำแทนมนุษย์ได้ งานนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีคุณอีกต่อไป เพราะนอกจากพวกมันจะขยันขันแข็ง เหนื่อยไม่เป็นแล้ว พวกมันยังไม่บ่นใส่นายจ้างของมันด้วยอีกต่างหาก

ดังนั้น หากงานนั้นใช้แต่แรง ไม่ค่อยได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็ยากที่จะรวยขึ้นมาได้ โดย Naval บอกต่อว่า ดังนั้น หากคุณต้องการที่จะเป็นคนที่มั่งคั่งแล้วล่ะก็ คุณจะต้องสร้างเงินจากการเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างที่มันสามารถทำเงินเองได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ หรือจะเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่คุณได้รับปันผล ซึ่ง Naval ก็แนะนำให้ลองเริ่มต้นกับบริษัทที่เป็น Tech Company ก็เป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจดี

ซึ่งโดยปกติแล้ว การสร้าง Wealth หรือการสร้างความมั่งคั่งโดยทั่วไปที่เห็นได้อยู่บ่อย ๆ ก็คือ การเริ่มต้นลงทุนกับบริษัทตัวเองนี่แหละ ยกตัวอย่าง เช่น Elon Musk ก็ได้นำเงินตัวเองไปลงทุนช่วงเริ่มต้นในบริษัท Tesla กว่า $70 ล้านดอลล่าร์ฯ และใน SpaceX กว่า $100 ล้านดอลล่าร์ฯ

หรือมหาเศรษฐีที่รวยจากการลงทุนเป็น Investor อย่าง Warren Buffett ก็ลงทุนในบริษัท Berkshire Hathaway ที่เป็นบริษัท Holding Company ที่คอยซื้อหุ้นในบริษัทอื่น ๆ อีกทีหนึ่ง พวกเขาก็ล้วนแล้วแต่ลงทุนในบริษัทของตนเองก่อนแทบทั้งสิ้น

แต่…แน่นอนว่าหลายคนก็ชอบที่จะทำงานในออฟฟิศ ทำงานเป็นพนักงานประจำ ซึ่งทาง Naval เองก็ได้บอกว่า ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามทำงานที่ Input = Output ความหมายก็คือ งานที่เป็นการใส่แรง ใส่เวลาไปเท่าไหร่ก็ได้เงินกลับมาเท่านั้น

แต่งานที่ทำให้มั่งคั่งได้นั้นมันจะต้องเป็นงานที่ Input ≠ Output ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันก็ต้องบอกว่า เป็นยุคที่เปิดโอกาสให้คนที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการขยายผลจากไอเดียให้กลายเป็นจริงไปได้ทั่วโลก ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าโลกเดิมมาก เช่น Software Engineer ใช้พลังจากโลกอินเตอร์เน็ตในการสร้างเครือข่าย Bitcoin ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์ฯ ขึ้นมาได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้พลัง Leverage หรือการใช้พลังทวีจากโลกอินเตอร์เน็ตนั้น ทำให้ Output ออกมามากกว่า Input ที่ใส่เข้าไป ซึ่งเกิดจากพลังความรู้ในการนำเทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบ cryptography รวมเข้ากับ Internet ในการรังสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมขึ้นมา

แต่ก็อย่าลืมว่า Software Engineer หลายคนก็ใช้เวลาเป็นปีในการเขียนโค้ดอะไรขึ้นมาสักอย่างนึง แต่กลับพบว่า มันไม่ได้เป็นที่ต้องการของลูกค้า ทำเงินไม่ได้แม้แต่แดงเดียวก็มีถมเถไป แต่นั่นก็เป็นข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นในสิ่งที่ Naval พยายามจะสื่อก็คือ จงหางานที่ Input ≠ Output นั่นเอง ส่วนจะไปในด้านเป็นบวกหรือติดลบนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทักษะความเชี่ยวชาญของแต่ละคนบวกกับไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นว่ามันสามารถส่งมอบ Value หรือคุณค่าให้แก่สังคมได้มากน้อยแค่ไหน

และการที่จะหาสิ่งที่ Input ≠ Output ได้นั้น ให้คุณมองหา Tools หรือเครื่องมือที่จะสร้างความแตกต่างจากคนอื่น ๆ ได้ เช่น Software Engineer ก็มีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็น Tools ในการสร้างความแตกต่าง หรืออย่างคนตัดต้นไม้ที่มีหุ่นยนต์ มีเลื่อยไฟฟ้า มีขวาน ก็ย่อมสร้างความแตกต่างได้เหนือกว่าคนที่คิดจะใช้มือเปล่าไปตัดต้นไม้

ดังนั้น หากงานที่คุณทำอยู่ Input = Output คือการใช้เวลาแลกกับเงินอยู่มันยากที่คุณจะมั่งคั่งได้ แต่หากคุณสามารถหางานที่ใช้ Tools+Ideas เป็น Input ที่สามารถสร้างพลังทวีได้ Output ออกมาอย่างมหาศาล โดยไม่ได้ขึ้นตรงกับเวลาที่ใส่ไปการทำงานแล้วล่ะก็ คุณก็มีโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนได้ หากสิ่งที่คุณสร้างขึ้นมานั้นสังคมเห็นว่ามันมี Value มันมีคุณค่า

และอย่างที่ Naval เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่า คนในยุคนี้ค่อนข้างโชคดีที่อยู่ในยุคของอินเตอร์เน็ต เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีพลังทวีหรือ Leverage ที่มีพลังมหาศาลในค่าใช้จ่ายที่น้อยนิด เพราะข้อดีของอินเตอร์เน็ตก็คือ มันสามารถเชื่อมต่อผู้คนหลายพันล้านทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน และเราก็สามารถเข้าถึงผู้คนนับพันล้านคนได้ภายในเสี้ยววินาทีโดยที่มีค่าใช้จ่ายค่าอินเตอร์เน็ตที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับความสามารถของมันที่สามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากขนาดนั้นได้

และในโลกนี้ มีผู้คนที่สนใจในหลากหลายหมวดหมู่ที่เรียกว่า Niche Market คือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ที่มีความสนใจในหลากหลายเรื่องมาก เรื่องบางเรื่องที่ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจก็กลับมีอยู่จำนวนไม่น้อย เช่น คนชอบเลี้ยงงู คนนั่งบอลลูนเที่ยวรอบโลก คนแล่นเรือใบข้ามมหาสมุทร คนทำอาหารในป่าแบบธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงแค่ไหน ก็สามารถเข้าถึงผู้ที่สนใจในเรื่องที่คุณทำอยู่อย่างขี้เหร่สุดก็ต้องมีสัก 50,000 คนบ้างแหละ ถ้านับจากประชากรทั่วโลกที่มีกว่า 7 พันล้านคน คุณไม่จำเป็นที่จะต้องยิ่งใหญ่แบบ Facebook ก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ในยุคนี้

และคุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนใคร เพราะจุดเด่นของมนุษย์ก็คือ แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีความ Unique มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ในโลกนี้ไม่มีใครเหมือนกันแบบเป๊ะ ๆ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่ฝาแฝดไข่ใบเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่มีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน มีทักษะในแต่ละด้านแตกต่างกัน มีความหลงใหลในแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน

มันไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นชาวประมงตัวเล็ก ๆ ในทะเลที่ห่างไกลจากผู้คน หรือจะชาวเขาที่อยู่บนดอย ขอเพียงแค่คุณสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ของคุณสร้างเป็นคอนเท้นต์ขึ้นมา โดยใช้ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณแสดงให้ชาวโลกได้เห็นตัวตนของคุณ ค้นหากลุ่ม Audience หรือกลุ่มผู้รับชมรับฟังของคุณ แล้วใช้จุดนั้นในการต่อยอดสร้างสินค้า สร้างผลิตภัณฑ์ สร้างธุรกิจ สร้างความมั่งคั่ง ส่งมอบคุณค่าให้แก่กลุ่ม Audience สร้างความสุขให้แก่พวกเขา

ในยุคนี้คุณจะเห็นได้ว่า มีผู้คนหลายต่อหลายคนที่สามารถสร้างเงินล้านได้จาก

  • เล่นเกมออนไลน์
  • ทำรายการ Podcast
  • เป็น Youtuber
  • เป็น Blogger

ซึ่งที่ว่ามานั้น มีเศรษฐีหน้าใหม่ เกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย สามารถสร้างเงินหลายร้อยล้าน พันล้านได้ โดยที่ไม่ต้องมีบริษัทใหญ่โต ไม่ต้องมีพนักงานนับร้อยคน พันคน หลายคนแค่มีกล้องมือถือที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แค่เพียงอย่างเดียว ก็สามารถสร้างเงินล้าน สร้างความมั่งคั่งบนโลกออนไลน์นี้ได้

อย่าง Joe Rogan ที่ทำรายการ Podcast เขาสามารถทำรายได้กว่า $100 ล้านดอลล่าร์ฯ ต่อปี

หรืออย่าง PewDiePie ที่เป็น Youtuber ที่มีผู้ติดตามแบบบุคคลมากที่สุดในโลก เขามีทรัพย์สินราว ๆ $54 ล้านดอลล่าร์ฯ โดยช่องของเขา สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า กว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับสถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่มีพนักงานนับร้อยนับพันคนซะอีก

และข่าวดีก็คือ ทุกคนมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นมันมีพื้นที่มากพอให้สำหรับทุกคนที่สามารถแสดงความเป็นตนของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยให้คุณพัฒนาในสิ่งที่คุณสนใจจนถึงขีดสุดก็จะทำให้คุณมีที่ยืน มีพื้นที่ได้การต่อยอดเพื่อสร้างความมั่งคั่งได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องไปลอกเลียนแบบใคร

ซึ่งในโลกของธุรกิจเรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า การทำธุรกิจคือการแข่งขัน ซึ่ง Naval บอกว่า หากคุณกำลัง copy กำลังลอกเลียนแบบคนอื่นอยู่ นั่นคือคุณกำลังเข้าสู่เกมการแข่งขัน และเกมการแข่งขันก็ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ แต่ในขณะที่ตัวตนของคุณนั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นเลียนแบบได้ยาก เพราะตัวของเราแสดงเป็นตัวเราเก่งกว่าใคร ๆ บนโลกใบนี้

ตอนที่ 4 ทักษะที่จำเป็นในการเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย

จาก Episode ที่ 3 Naval ได้พูดถึงการมาของโลกอินเตอร์เน็ตที่ทำให้คนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ สามารถใช้พลังทวีจากโลกออนไลน์ในการเข้าถึงผู้คนนับพันล้านคนทั่วโลกได้ในภายไม่กี่วินาที ในค่าใช้จ่ายที่น้อยมากจนสามารถเรียกได้ว่าเกือบฟรี ไม่ว่าจะเป็นการส่ง email, Tweet บน Twitter, โพสต์บน Facebook, Tiktok, Youtube หรือ Website ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

อย่างโลกยุคก่อนการมาของอินเตอร์เน็ต เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘ศิลปินไส้แห้ง’ ที่เมื่อวาดรูปขึ้นมาสักรูปหนึ่ง จะบนกระดาษหรือในคอมพิวเตอร์ มันยากมากที่ศิลปินคนนั้นจะวิ่งไปเคาะประตูตามบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อโชว์ผลงานตัวเอง หรือจะไปเช่าพื้นที่จัดนิทรรศกาลเพื่อแสดงศิลปะ แสดงผลงานตัวเอง ก็ไม่มีเงินเยอะขนาดที่จะทำได้แบบนั้น

ในขณะที่การมาของโลกอินเตอร์เน็ต ศิลปินหลายต่อหลายคน สามารถขายผลงาน สร้างเงินล้านได้อย่างมากมายเพียงแค่โพสต์ผลงานมันลงบนโลกอินเตอร์เน็ต หรืออย่างการมาของเทคโนโลยี Blockchain การมาของ NFT(Non-Funjible Token) ที่สามารถขายผลงานที่ไม่ใช่แค่งานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่สามารถขายอะไรก็ได้ที่สิ่งนั้นสามารถนำขึ้นสู่บนโลกออนไลน์ได้

Naval บอกว่า ถ้าหากคุณพัฒนาทักษะการขายและทักษะการสร้าง (Sell & Build) จนถึงขีดสุดแล้วล่ะก็ อะไรก็ฉุดคุณไม่อยู่แล้วทีนี้

โดย Naval เริ่มต้นที่ทักษะการสร้าง (Build) โดยทักษะที่จำเป็นที่จะต้องมีก็คือการสร้าง Product หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ ซึ่ง ใช่ มันเป็นเรื่องที่ยาก แต่เป็นเรื่องที่จำเป็น โดย Product นั้น มันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นของที่เป็นชิ้น เป็นสินค้าที่จับต้องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ Product สามารถเป็นได้ทั้งการออกแบบดีไซน์(Design), หรืออาจเป็นการพัฒนา(Development), อาจเป็นการขนส่ง(Logistics), วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง(Procurement), ระบบการดำเนินงาน(Operating) รวมไปถึงการบริการ(Service) ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่าคำจำกัดความของการสร้าง Product นั้น มีได้หลากหลายรูปแบบมาก แต่โดยรวม ๆ แล้วจะเรียกผู้คนเหล่านี้ว่า Builder หรือผู้สร้าง

ยกตัวอย่างอย่างในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ก็จะมี CTO : Cheif Technology Officer คือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ที่ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในตำแหน่งนี้มักจะเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นวิศกรซอร์ฟแวร์ เป็นวิศกรฮาร์ดแวร์

คน ๆ นั้นอาจจะอยู่ในธุรกิจซักรีด ที่เขามีหน้าที่ออกแบบระบบการขนส่งเสื้อผ้าเพื่อส่งให้ถึงมือลูกค้าตามเวลาที่กำหนดอย่างถูกต้อง

ต่อมาคือทักษะการขาย(Sale) ที่ความหมายของมันก็ไม่ได้หมายถึง การปิดการขายกับลูกค้าที่อยู่ตรงหน้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งคำจำกัดความของมันก็กว้างเอามาก ๆ มันอาจจะเป็นการทำการตลาด(Marketing), มันอาจจะเป็นการสื่อสารกับลูกค้า(Communication), หรืออาจเป็นการสรรหาทรัพย์กรต่าง ๆ (Recruiting), หรืออาจจเป็นการหาเงินทุน(Raising Money), หรืออาจเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน(Inspiring), หรืออาจเป็นการ PR การประชาสัมพันธ์ ซึ่งทักษะการขายมันไม่ใช่แค่การขายสินค้าเพื่อแลกกับเงินจากลูกค้าเพียงอย่างเดียว มันยังรวมไปถึงการขายวิสัยทัศน์ให้กับนักลงทุนและคนในองค์กรหรือแม้กระทั่งคนนอกองค์กร

ซึ่งโดยปกติแล้วใน Silicon Valley นั้น มักจะนิยมใช้โมเดลในการรวมตัวกันของผู้ร่วมก่อตั้ง(Co-Founders) อย่างน้อยสองคน โดยคนแรกคือสุดยอดนักขาย และอีกคนคือสุดยอดนักสร้าง ยกตัวอย่างเช่น

บริษัท Apple เริ่มต้นจาก Steve Jobs ที่เป็นสุดยอดนักขาย และ Steve Wozniak ที่เป็นสุดยอดนักสร้าง

หรืออย่าง Microsoft ที่เริ่มต้นด้วย Bill Gates ที่เป็นสุดยอดนักขาย และ Paul Allen ที่เป็นสุดยอดผู้สร้าง

บริษัท Google หรือ Alphabet ในปัจจุบัน ก็เริ่มต้นมาจาก Larry Page ที่เป็นสุดยอดนักขาย กับ Sergey Brin ที่เป็นสุดยอดนักสร้าง

ดังนั้นคุณจะสังเกตเห็นได้ว่า รูปแบบการรวมตัวระหว่าง CEO กับ CTO ที่เก่งกาจนั้น กลายเป็นสูตรสำเร็จที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เสมอมา ดังนั้นในมุมมองของนักลงทุน ที่มักจะให้ความสำคัญกับทีมมาก่อนเป็นอันดับต้น ๆ นั้น พวกเขาก็จะมองหาทีมที่มีโมเดลในลักษณะนี้

แต่ก็มีสุดยอดมนุษย์อยู่ด้วยเหมือนกันที่ในตัวของเขานั้นมีทั้งอย่างเลยก็คือเป็นทั้งสุดยอดนักขายและสุดยอดนักสร้าง ยกตัวอย่างเช่น Elon Musk ที่แม้เขาจะไม่ได้เป็นคนลงไปประกอบจรวดอวกาศด้วยตนเอง แต่เขารู้วิธีในการสร้างมันขึ้นมา เขามีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีที่มากพอในระดับที่ไม่น้อยไปกว่าใคร ๆ

ดังนั้นในความเห็นของ Naval เขาจึงมองว่า ทักษะของการขายและการสร้าง หากคน ๆ นั้น มีทักษะทั้งสองอย่างนี้ในขั้นสูงรวมเข้าด้วยกันแล้ว ใครก็ฉุดไม่อยู่ แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องเก่งที่สุดทั้งสองเรื่องนี้

เพราะมันมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างคนที่เริ่มต้นจากการเป็นสุดยอดนักขายนั้น ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาจะไม่มีเวลามากพอที่จะโฟกัสและพัฒนาทักษะด้านการเป็นผู้สร้าง เพราะการเป็นผู้สร้างนั้นจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาทักษะที่ยาวนานกว่าที่จะกลายเป็นระดับ Expert ได้ แต่ในขณะที่คนที่เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้สร้างแล้วค่อยมาพัฒนาทักษะด้านการขายในภายหลังนั้น กลับทำได้ง่ายว่า โดยเฉพาะผู้สร้างที่มีทักษะในการสื่อสารที่ดีอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นวิศวกรที่ดี ที่สามารถพัฒนา Product ได้เป็นอย่างดีแล้ว ทีนี้มันก็จะมาถึงในพาร์ทของการขาย ซึ่งคุณอาจจะไม่ได้เก่งมากนัก แต่คุณเป็นนักเขียนที่ดี ซึ่งทักษะการเขียนนั้น สามารถเรียนรู้ได้ง่ายกว่าการพูดเพื่อขายแบบตัวต่อตัว ดังนั้นคุณก็สามารถโฟกัสและพัฒนาทักษะการเขียนเพื่อขาย จนสามารถกลายเป็นนักสื่อสารที่ดีได้ผ่าน blog post บนโลกออนไลน์ ซึ่งคุณก็สามารถใช้การเขียนเพื่อขายของได้เช่นกัน

หรือหากคุณเป็นผู้สร้างที่ดี แต่เป็นนักเขียนที่แย่ แต่คุณมีทักษะในการพูดแบบตัวต่อตัวกับผู้อื่นได้ ดังนั้นคุณก็สามารถพัฒนาทักษะการพูด เพื่อหานายทุน หาทีมงานเก่ง ๆ เข้ามาช่วยได้เช่นกัน

ดังนั้นคุณอย่าได้วิตกกังวลหากคุณไม่ได้เป็นนักสร้างที่ดีที่สุด หรือเป็นนักขายที่เก่งที่สุด แต่หากคุณสามารถรวมทั้งสองทักษะนี้เข้าด้วยกันได้ คุณก็สามารถก้าวไปข้างหน้าแบบไม่มีใครสามารถหยุดคุณได้เช่นกัน

ซึ่งถ้าให้เลือกได้เพียงทักษะเดียว ทาง Naval เองเขาก็บอกว่า ขอเลือกเป็น Builder หรือผู้สร้างก่อน แล้วค่อยไปพัฒนาทักษะด้านการขายในภายหลัง เพราะโดยปกติแล้ว ก็จะมีอาชีพนักขายอยู่มากมายซึ่งก็สามารถให้พวกเขาช่วยทำการขายได้ แต่ข้อเสียของการเป็น Builder ก็คือ คุณจะหมดแรงง่าย เพราะการเป็นนักสร้างจะต้องใช้พลังในการโฟกัสและจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่สูงมาก และด้วยความที่โลก ณ ปัจจุบันหมุนเร็วมาก เดี๋ยวก็มี Product ใหม่ มีเทคโนโลยีใหม่ มีเครื่องมือใหม่ มีผู้คนหน้าใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเก่งกว่า เข้ามาเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ดังนั้น คำแนะนำของเขาก็คือ เมื่อเริ่มต้นด้วยการเป็น Builder แล้ว ก็ให้คุณเริ่มย้ายตัวเองมาเป็น Seller มาพัฒนาทักษะการขายให้มากยิ่งขึ้น

เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อคุณสร้างผลิตภัณฑ์เสร็จ คุณก็จำเป็นที่จะต้องเดินสายไปติดต่อสื่อสารเพื่อทำการขายกับผู้อื่น ซึ่งทักษะการขายข้อดีของมันก็คือ ทักษะนี้มันสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้เมื่อเวลาผ่านไป

ตอนที่ 5 เรียนรู้อย่างไรให้รวย

Naval เชื่อว่าการอ่านคือรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งคนที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จทุกคนที่เขารู้จักนั้น ทุกคนต่างเป็นนักอ่านกันแทบทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “คนอ่านหนังสือไม่ได้รวยทุกคน แต่คนรวยทุกคนล้วนแล้วแต่อ่านหนังสือ” ดังนั้นการที่คุณจะพัฒนาตนเอง ก็ให้คุณเริ่มต้นที่สร้างนิสัยรักการอ่านให้กับตนเองซะก่อน “Read What You Love Until You Love to Read.” โดยให้เริ่มต้นจากการอ่านในสิ่งที่คุณรัก จนกระทั่งคุณหลงรักในการอ่าน

ซึ่งโดยส่วนตัวของ Naval เองนั้นเขาบอกว่าการอ่านเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเอง คือหนทางที่ดีที่สุด เร็วที่สุดสำหรับตัวเขา เหตุผลเพราะ เขาสามารถพัฒนาการอ่านอย่างรวดเร็วได้ค่อนข้างดี และแม้ว่าตัวเขาเองจะทำ Podcast ซึ่งแม้ว่าเราจะสามารถกดเร่งสปีดคลิปให้เร็วขึ้น 2 เท่า 3 เท่า ได้ก็ตาม แต่มันยากที่ย้อนกลับไปดูและทำไฮท์ไลท์ในส่วนเนื้อหาที่มีความสำคัญ ในขณะที่หนังสือนั้น สามารถทำได้ง่ายและสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

โดยให้คุณฝึกการอ่านจนกว่ามันจะกลายเป็น Habit หรือเป็นอุปนิสัยในการรักการอ่าน ซึ่งแน่ล่ะว่าการอ่านสำหรับหลายคนที่พึ่งเริ่มต้นนั้น มันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย อ่านแปบเดียวเดี๋ยวก็ง่วงหงาวหาวนอน ดังนั้นทาง Naval ก็แนะนำว่าให้คุณลองเริ่มต้นอ่านจากนิยายที่อ่านง่าย ๆ ก่อน แล้วสเต็ปถัดไปก็ค่อยเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ ต่อไปก็เป็นหนังสือวิชาการวิทยาศาสตร์ แล้วคุณก็อาจจะต่อยอดจนเรียนจบสาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ให้มันดำเนินไปตามธรรมชาติของตัวคุณเอง ตามสิ่งที่คุณสนใจ

แต่ก็ต้องระวังว่า หนังสือในโลกนี้นั้นมีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด และแน่นอนว่าหนังสือที่ไม่มีประโยชน์ก็มีอยู่เยอะเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากคุณไม่เลือกสิ่งที่จะอ่าน คุณก็จะสูญเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ ดังนั้น การที่จะทำให้ตัวเรากรองได้ว่า หนังสือเล่มไหนเป็นเล่มที่ควรค่าแก่การอ่านหรือไม่นั้น ให้คุณเริ่มต้นที่หนังสือที่พูดถึงเรื่อง Basic สุด ๆ เรื่องที่เป็นความรู้พื้นฐานสำคัญในหมวดหมู่นั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของ Business คุณก็เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำงานของระบบเศรษฐศาสตร์ของโลกนี้เสียก่อน

หรือถ้าหากคุณจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับควอนตัมฟิสิกส์ขั้นสูง ก็ให้คุณเริ่มต้นจากหนังสือพื้นฐานของฟิสิกส์เสียก่อน

โดยหากคุณมีความรู้พื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะในหมวดของ คณิตศาสตร์(mathematics) ฟิสิกส์(physics) และวิทยาศาสตร์(sciences) ติดตัวแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มไหนคุณก็สามารถลุยได้หมด

ต่อมาปัญหาที่เรามักจะเจอในห้องเรียนก็คือ หากเรามีพื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ ไม่แน่นพอ เช่นในวิชาคณิตศาสตร์ พอเวลาอาจารย์สอนก็จะเริ่มมีสมการและสูตรเยอะแยะเต็มไปหมด พอเราตามเนื้อหาไม่ทัน สุดท้ายเราก็จะถูกทิ้งเอาไว้ด้านหลัง ได้แต่เพียงจดสูตรตามบนกระดานดำ โดยที่ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของสมการดังกล่าว ในขณะที่อาจารย์นั้นมีพื้นฐานที่แน่นอยู่แล้ว ทำให้เวลาที่อธิบายสูตรสมการต่าง ๆ พวกเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งอธิบายเบสิค

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า อย่างตึกระฟ้า พวกสูตรสมการต่าง ๆ ที่อยู่บนหอคอยนั้น มันจะไม่มีประโยชน์เลย หากตึกนั้นมีพื้นฐานโครงสร้างของตึกที่ไม่ดีพอ

ดังนั้นการที่เราท่องจำสูตรสมการต่าง ๆ มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากเราไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องดังกล่าว แต่ในขณะที่หากเรามีพื้นฐานมีเบสิคที่แน่นแล้ว ต่อให้คุณเจอหนังสือเล่มไหนคุณก็อ่านได้หมด สามารถซึมซับได้ และสามารถพิจารณาได้ว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มใดที่มีเนื้อหาที่ถูกต้องหรือเล่มใดมีเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนไป และข้อดีในยุคนี้ก็คือ คุณสามารถเข้าถึงเนื้อหาดี ๆ ผ่านโลกอินเตอร์เน็ต ที่มีเนื้อหาให้คุณเสพย์มากกว่าหอสมุดแห่งชาติซะอีก

ซึ่งวิธีการศึกษาตามธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น จริง ๆ แล้ว เราควรเรียนรู้แบบเด็ก ที่เด็ก ๆ นั้น เวลาที่พวกเขากำลังเรียนรู้อะไรบางอย่าง พวกเขาก็จะเริ่มต้นจากการถามนู่นนี่นั่นคืออะไรเต็มไปหมด ในขณะที่ระบบการศึกษานั้นกลับไม่ค่อยเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ถามมากนัก เพราะเน้นไปที่การออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กฎระเบียบของโรงเรียนซะมากกว่า เพื่อที่เวลาเรียนจบแล้ว ก็จะได้เข้าไปเป็นแรงงานในระบบที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของโรงงาน โดยไม่ค่อยได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์สักเท่าไหร่นัก

โดย Naval บอกว่า การที่จะมีพื้นฐานที่ดีได้นั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องของตรรกะ(Logic) หลักคิด วิธีคิด บวกกับหลักของคณิตศาสตร์ จะทำให้เราสามารถเข้าใจหลักคิดและวิธีการในเรื่องพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ได้ และเมื่อคุณเข้าใจกระบวนการและหลักการของวิทยาศาสตร์ได้ คุณก็จะสามารถวิเคราะห์และแยกแยะได้ว่า ข้อมูลใดเป็นจริงข้อมูลใดเป็นเท็จ ในระหว่างที่คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มนั้นอยู่

และแม้ว่าการอ่านหนังสือในช่วงแรก ๆ มันออกจะช้าไปสักหน่อย แต่เมื่อคุณเริ่มอ่านเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ไปสัก 30 เล่ม 50 เล่มแล้วล่ะก็ มันก็จะลื่นไหลไปอย่างรวดเร็ว ดังที่ Bruce Lee เคยกล่าวเอาไว้ว่า “I fear not the man who has practiced 10,000 kicks once, but I fear the man who has practiced one kick 10,000 times.” โดย Naval ให้ความหมายว่า อ่านหนังสือหมื่นหมวดหมู่ ไม่เท่าอ่านหมวดหมู่เดียวหมื่นครั้ง เพราะมันจะทำให้เรา มีข้อมูลแทบจะทุกด้านของเรื่องนั้น ๆ จนมีความเชี่ยวชาญในระดับสูง

และทักษะที่ถือว่าเป็นทักษะที่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในโลกยุคปัจจุบัน จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ทักษะดังนี้

1 Reading (การอ่าน)

2 Writing/Speaking/Communication (การสื่อสาร)

3 Arithmetic/Mathematics (คณิตศาสตร์)

4 Persuasion (การโน้มน้าว)

5 Computer Programming (การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

ซึ่งทักษะดังกล่าว เมื่อพัฒนาแล้ว เราสามารถใช้พลัง Leverage จากมันได้แบบฟรี ๆ คือทำน้อยแต่ได้มาก ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีทักษะการสื่อสารที่ดี บวกเข้ากับทักษะการโน้มน้าวและการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตัวคุณเพียงคนเดียว ก็สามารถเข้าถึงผู้คนนับพันล้านคนทั่วโลกโดยมีต้นทุนแทบจะเป็นศูนย์

ส่วนการเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจแค่ภายในห้องเรียนอย่างมากเราก็ได้จะได้เรียนรู้แค่เพียง Case Study หรือกรณีศึกษาจากธุรกิจต่าง ๆ แต่นั่น Naval บอกว่า มันเป็นเศษเสี้ยวอันน้อยนิดมากที่จะมีผลในการทำธุรกิจ จนกว่าตัวคุณจะลงไปเล่นในสนามจริง ๆ อย่าอ่านหรือท่องตำรามาเพียงอย่างเดียว แต่จงเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing)

เขายกตัวอย่างว่า หากคุณจะเล่นเกมสักเกมให้เก่ง คุณไม่สามารถเก่งได้เพียงแค่อ่านจากตำรา คุณต้องลงเล่นเกมจริง ๆ ด้วย เพราะต่อให้คุณรู้ทฤษฎีหรือกฎการเล่นเกมนั้น ๆ ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่สามารถเอาไปใช้ในสนามจริงได้ มันก็เท่านั้น

แต่ต้องระวังว่า จำนวนชั่วโมงนั้นก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะเก่งขึ้น หากสิ่งที่คุณทำนั้น มันเป็นเรื่องจำเจ ซ้ำซาก และไม่ค่อยส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจสักเท่าไหร่ เช่นการ เปิดร้านค้าปลีก ตื่นขึ้นมาคุณก็จัดเรียงของ เช็คสต็อค เช็คสินค้า รับของ ส่งของ สั่งซื้อสินค้ามาไว้ในคงคลัง ต่อให้คุณทำมันเป็นพันเป็นหมื่นชั่วโมง มันก็อาจจะไม่มีอะไรดีขึ้น แต่ถ้าหากคุณตื่นขึ้นมาในวันใหม่ แล้วลองทำการตลาดแบบใหม่ ๆ ดู ถ้าการตลาดแบบที่ 1 ไม่ได้ผล ก็ลองแบบ 2 แบบที่ 3 ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุด ๆ หนึ่งคุณจะมีความรู้แบบก้าวกระโดด เพราะคุณได้ทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ แต่เป็นการทำ Marketing เพียงเรื่องเดียว คุณวนเวียนกับเรื่องของ Marketing นับพันนับหมื่นชั่วโมง จนคุณมีความเชี่ยวชาญในการทำการตลาดอย่างยอดเยี่ยมที่ส่งผลให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างมหาศาล

ตอนที่ 6 Leverage พลังทวี

Archimedes นักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่เคยกล่าวเอาไว้ว่า “Give me a lever long enough and a fulcrum on which to place it, and I shall move the world.” หมายถึง “หากลองให้คานงัดกับเขาที่ยาวมากพอ พร้อมกับจุดศูนย์กลางในการวางคานงัดดังกล่าว เขาจะเคลื่อนย้ายโลกนี้ให้ดู”

โดย Naval Ravikant เคยเขียน Tweet บน Twitter ว่า การที่จะกำหนดอนาคตกำหนดโชคชะตาในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยพลังทวีหรือ Leverage รวมเข้าด้วยกันอยู่ 3 สิ่งก็คือ

  • People – ผู้คน
  • Capital – เงินทุน
  • Product – ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเมื่อมีการทำซ้ำ

ซึ่ง Naval บอกว่า เมื่อพูดถึงคานงัด หลายคนในวัยเด็กมักจะนึกถึงกระดานหกในสนามเด็กเล่น ที่แม้ว่าฝั่งที่คนตัวเล็กกว่าก็สามารถยกอีกฝั่งที่มีน้ำหนักเยอะกว่าได้อย่างสบาย ๆ โดยอาศัยคานงัดและจุดศูนย์กลางของกระดานหกนั้น

People Leverage – พลังทวีจากผู้คน

เริ่มต้นกันที่พลังทวี พลัง Leverage แบบยุคเก่า ยุคดั้งเดิมก็คือ Labor หรือแรงงานจากผู้คน ก็คือการที่เราใช้แรงงานจากคนอื่นมาช่วยทำงาน ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะยกของขนาดใหญ่ด้วยตัวคนเดียวมันยาก ก็ให้เราหาแรงงานหลาย ๆ คนมาช่วยเคลื่อนย้ายของสิ่งนั้นก็จะทำได้ง่ายกว่า เคลื่อนย้ายไปได้ไกลกว่า และได้จำนวนของที่มากกว่าการที่เรายกด้วยตัวเราเพียงคนเดียว

แต่ในยุคสมัยใหม่ผู้คนในสังคมต่างตีค่าพลังทวี หรือพลัง Leverage ในรูปแบบของแรงงานนั้นไปไกลเกินกว่าที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ครอบครัว มักจะดีใจเมื่อลูกของตนได้เลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น เพราะพวกเขาตีความว่า การเลื่อนขั้นที่สูงขึ้น ก็คือการมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่มากขึ้น มีลูกน้องมากขึ้นภายใต้ตำแหน่งนั้น หรือในการทำธุรกิจ คนที่ไม่รู้ประสีประสา ก็มักจะตีความว่า ยิ่งบริษัทมีจำนวนพนักงานที่เยอะ ก็คือบริษัทที่ยิ่งใหญ่ บริษัทที่เจ๋งมาก ๆ แห่งหนึ่ง

แต่ Naval บอกว่า พลัง Leverage แบบนี้ เป็นพลังทวีที่เลวร้ายที่สุดในพลังทวีทั้งหมดที่มีอยู่ เพราะการจัดการกับคนจำนวนมากนั้น จัดการได้ยากมาก มันมีความวุ่นวายยุ่งเหยิงเยอะแยะเต็มไปหมด คุณจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะในการเป็นผู้นำขั้นสูงเพื่อควบคุมฝูงชนขนาดใหญ่ และมันมีความเสี่ยงมากหากเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้นำและผู้ตาม มีโอกาสที่จะเกิดการประท้วงจากแรงงานได้ และกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือ หากเกิดความขัดแย้งขั้นรุนแรงระหว่างผู้นำเพียงคนเดียวกับกองทัพแรงงาน อาณาจักรของคุณก็สามารถล่มสลายได้ในทันที

ดังนั้นคำแนะนำของ Naval ก็คือ คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้พลังทวีจากแรงงานจำนวนมาก ให้ใช้จำนวนคนที่น้อยที่สุดที่เพียงพอต่อการดำเนินงานและทำงานร่วมกับคุณ แล้วให้หันไปใช้พลังทวีอื่นต่อไป

Capital Leverage – พลังทวีจากเงินทุน

ในโลกของเรานั้นเต็มไปด้วยเงินมากมายมหาศาล เพราะอย่างที่เรารู้ ๆ กันดีว่า รัฐบาลหลายประเทศนั้น สามารถปริ้นท์เงินได้อย่างไม่มีจำกัด ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนมีทักษะและความสามารถในการคว้าเงินดังกล่าวเอาไว้อย่างไรได้บ้าง แต่มันก็มีความยากของมันอยู่เพราะคนที่ต้องการใช้พลังทวีจากเงินทุนนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะการจัดการกับเงินทุนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ การมาของเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นหน้าที่หลักของตำแหน่ง CEO ในยุคปัจจุบันนั้น จริง ๆ แล้วพวกเขามีหน้าที่ในการบริหารเงิน เป็นผู้จัดการการเงินที่เก่งกาจ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายก็คือ ก็จะคล้าย ๆ กับปู่ Warren Buffett ที่เน้นที่การจัดการและบริหารเงินทุนเป็นหลัก

แต่ลึก ๆ ในจิตใจของคนเรานั้น ก็มักมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีกับคนที่ใช้พลังทวีจากเงินทุน เพราะดูเหมือนว่าคนที่ใช้พลังทวีประเภทนี้ เป็นพวกเอาเปรียบ เรียกได้ว่า มีเงินเยอะซะอย่างอย่าง จะทำอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนอย่างปู่ Warren Buffett นั้น เขาก็จำเป็นที่จะต้องสั่งสมชื่อเสียง สั่งสมเครดิต และผ่านการพิสูจน์ตนเองมาเป็นอย่างมากที่กว่าจะมาถึงจุด ๆ นี้ จุดที่ใครต่อใครก็อยากเทเงินให้ปู่ช่วยบริหารให้มันงอกเงยขึ้นมา ซึ่งต้องรวมไปถึงตัวของปู่เองนั้น ก็ต้องใช้ชื่อตนแลกกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะถ้าหากปู่เสียชื่อเสียง ก็จะไม่มีใครอยากให้เงินทุนปู่ไปบริหารอีกต่อไป มันมีหน้าที่ความรับผิดชอบและภาระอันยิ่งใหญ่ที่คน ๆ นั้นจำเป็นต้องแบกรับเอาไว้ หากเลือกที่จะใช้พลังทวีจากเงินทุน

เพราะการใช้พลังทวีจากเงินทุนนั้น สามารถแปรเปลี่ยนเป็นทรัพยากรอะไรก็ได้ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานคน หรือทรัพยากรอื่น ๆ

Product Leverage – พลังทวีจากผลิตภัณฑ์

เป็นพลังทวีที่น่าสนใจที่สุดในบรรดาทั้งหมดที่กล่าวมา โดยเฉพาะ product ที่ไม่มีต้นทุนเพิ่มเมื่อมี User หรือผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น เพราะการมาของโลกอินเตอร์เน็ตจึงทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากพลังทวีนี้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องหาคนมาช่วยหรืออาศัยเงินทุนมหาศาล

ยกตัวอย่างเช่น การจัดรายการ Podcast ที่เขานั้นสามารถอัดเสียงได้ด้วยตัวคนเดียวแล้วก็อัพโหลดมันลงไปบนโลกอินเตอร์เน็ต ที่สามารถเข้าถึงผู้คนนับล้านคนได้โดยเกือบฟรี เสียค่าอินเตอร์เน็ตนิดหน่อย

แต่ในขณะที่โลกก่อนหน้าที่จะมีอินเตอร์เน็ตนั้น ถ้าเขาจะทำรายการวิทยุ ก็จะต้องไปสถานีวิทยุกระจายเสียง ที่หากทำเองก็มีต้นทุนมหาศาล หรือหากใช้สถานีวิทยุคนอื่นก็ต้องจ่ายเงินเพื่อไปขอใช้งาน หรือหากอยากใช้ฟรี ก็ต้องลุ้นเอาว่า เขาจะเอาออกรายการนั้นหรือไม่ และถ้าได้ออกรายการก็อาจเข้าถึงคนได้แค่หลักร้อยหลักพันคน ซึ่งถ้าโชคดีหน่อย เขาก็อาจได้ต่อยอดไปออกรายการทีวี ที่เขาถึงผู้คนได้เยอะขึ้น แต่ก็อาจโดนทางรายการทีวีจำกัดเวลา จำกัดคำสื่อสารที่สามารถออกอากาศได้ และอาจจะต้องบิดเบือนตัวตนที่แท้จริงของเราเอง เผลอ ๆ จะต้องจ่ายตังค์เพื่อไปออกรายการพวกเขาอีก เพราะมันเป็นพลังทวีของพวกเขา ไม่ใช่ของเรา

ในขณะที่โลกอินเตอร์เน็ตนั้น ขอแค่คุณมีเพียงสมาร์ทโฟน แท็ปเลต หรือคอมพิวเตอร์กับไมค์ถูก ๆ สักตัว บวกกับแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตอีกนิดหน่อย คุณก็สามารถอัพโหลดแล้วเข้าถึงผู้คนนับล้านได้เลย

ซึ่งมหาเศรษฐีที่ใช้พลังทวีจากเงินทุนคนสุดท้ายก็น่าจะเป็นรุ่น Warren Buffett ส่วนในยุคอินเตอร์เน็ตเราก็จะมีเศรษฐีแบบใหม่ อย่างเช่น Youtuber ชื่อดังอย่าง PewDiePie ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ที่เขามีทีมงานเพียงไม่กี่คนแต่มีฐานผู้ชมเยอะกว่าสถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกซะอีก

และยังมีมหาเศรษฐีที่ใช้พลังทวีจากการเขียนโค้ดโปรแกรมต่าง ๆ บวกกับโลกอินเตอร์เน็ต อย่าง Bill Gates (Microsoft), Jeff Bezos (Amazon.com), Mark Zuckerberg (Facebook), Larry Page&Sergey Brin (Google), Steve Jobs (Apple) ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ ใส่ input ขั้นต่ำลงไป แต่กลับได้ output ออกมาอย่างมหาศาล และพวกเขารู้จักการใช้พลังทวีทั้ง 3 สิ่งเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ คน เงินทุน และผลิตภัณฑ์

โดยการใช้พลัง Leverage ในยุคปัจจุบัน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องรอใคร ไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตใครมากเท่าแต่ก่อน ที่มีกฎเกณฑ์เยอะแยะมากมายเต็มไปหมดกระดิกตัวแทบไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณจะทำวีดีโอขึ้นมาสักคลิปหนึ่ง แล้วจะเอาไปออกสถานีโทรทัศน์นั้น คุณก็จะต้องได้รับอนุญาตจากทางสถานีก่อนว่า เผยแพร่ได้ช่องของพวกเขาได้หรือไม่ หรือหนักกว่านั้นคือพวกเขาก็จะตีกรอบให้คุณเลยว่าทำเนื้อหาตามที่พวกเขากำหนดเอาไว้เท่านั้น ในขณะที่หากคุณเริ่มต้นทำวีดีโอลงบนโลกโซเชียล คุณก็สามารถถ่ายวีดีโอแล้วอัพโหลดลงบนโลกอินเตอร์เน็ตได้ทันที โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตใคร จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ก็ตรงที่แพลตฟอร์มที่คุณเข้าไปใช้งานนั้นพวกเขาก็มีกฎของพวกเขาอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นกฎโดยสามัญสำนึกพื้นฐานทั่ว ๆ ไป เช่น ไม่ใช่เนื้อหาความรุนแรง ไม่ใช่เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ห้ามให้คุณแสดงความเป็ตัวตนของตนเองออกมา

ตอนที่ 7 จากแรงงานสู่เจ้าของกิจการ

การอ่านข้อความหรือตัวอักษรที่เกี่ยวกับการสร้างตัวหรือการทำธุรกิจบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้น ดูจะเป็นนามธรรมซะเป็นส่วนใหญ่ มันไม่ค่อยเห็นภาพและตีความได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นเนื้อหาในตอนนี้ทาง Naval Ravikant จึงได้พยายามยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพการก่อร่างสร้างตัวโดยเริ่มต้นจากรากหญ้าสู่การเป็นเจ้าของกิจการได้ด้วยตนเองว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

Level 0 – Labor กรรมกร

โดย Naval เขาได้ยกตัวอย่างจากในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยสมมติว่าหากคุณเริ่มต้นจากการเข้าสู่วงการด้วยการเป็นกรรมกร ที่เข้ามาซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับคนอื่น คุณก็อาจจะได้รับคำสั่งในทำนองว่า ฉาบปูนตรงนั้น ยกอิฐตรงนี้ ตอกตะปูตรงนั้น ที่มักจะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องอาศัยแรงงานในการทำไปเรื่อย ๆ และแม้ว่าคุณจะมีทักษะในการใช้เลื่อยไฟฟ้าตัดไม้อยู่บ้าง แต่นั่นมันก็เป็นทักษะพื้น ๆ ที่นายจ้างก็พร้อมที่จะหาคนใหม่มาแทนที่คุณได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ดังนั้นค่าจ้างในตำแหน่งกรรมกรนั้นจึงได้ค่าตอบแทนที่น้อยนิด แม้ว่าคุณจะมีทักษะการใช้เครื่องมือบางอย่างได้ดีกว่าคนอื่น ๆ อยู่บ้างก็ตามที เช่น คุณอาจขับรถแบคโฮเพื่อขุดดินได้ มันก็จะดีขึ้นกว่าหน่อยกว่าคนที่ขับไม่เป็นแล้วต้องใช้มือขุดเท่านั้นเอง

Level 1 – Contractor ผู้รับเหมา

สเต็ปต่อมาคุณเลื่อนขั้นมาอีกหน่อย ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยจากเดิมที่คุณจะต้องลงมือทำเองทุกสิ่งอย่าง แต่ในขั้นนี้คุณมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการซ่อมแซมและต่อเติมบ้านมาพอสมควร และคุณก็เริ่มมี contract กับช่างฝีมือดี ร้านขายวัสดุก่อสร้างราคาพิเศษสำหรับผู้รับเหมา ส่วนตัวคุณเองก็รู้ราคาต้นทุนค่าแรงที่จะต้องจ่ายค่าช่างกับต้นทุนจากวัสดุก่อสร้างเป็นอย่างดี และเมื่อคำนวณมาแล้วก็พบว่า คุณจะได้กำไรจากโครงการรับเหมาดังกล่าวราว ๆ 30% แต่สิ่งที่จะเพิ่มขึ้นมาในสเต็ปนี้ก็คือ ความรับผิดชอบจะสูงเพิ่มมากขึ้น คุณจะต้องคอยดูแลและควบคุมหน้างานให้เป็นไปตามที่ตกลงกับทางลูกค้าเอาไว้ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว งานอาจไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เกิดการแก้งาน เกิดค่าใช้จ่ายบานปลาย ส่งงานไม่ตรงตามกำหนด เกิดความไม่พอใจ จนลูกค้าบอกปากต่อปากจนคุณเสียชื่อเสียงและไม่มีงานเข้ามาในอนาคตได้ และถ้าเป็นโครงการที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในภายหลังตามมาเพิ่มเติมได้อีก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในสเต็ปนี้แม้จะมีโอกาสใช้พลังทวีจากคนอื่น แต่มันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงในการควบคุมพลังทวีที่มาจากแรงงานให้อยู่หมัด ถ้ากำไรก็ดีไป แต่ถ้าขาดทุนคุณก็ต้องรับมันเอาไว้ เพราะยังไงตัวคุณก็ต้องหาเงินมาจ่ายค่าจ้างแรงงานและค่าวัสดุอยู่ดี

Level 2 – Property Developer นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ทีนี้ลองขยับสเต็ปขึ้นไปอีกขั้น เลื่อนไปเป็นตำแหน่งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อนที่คุณจะเลื่อนมาสเต็ปนี้ คุณก็ได้ผ่านประสบการณ์ในการรับเหมาก่อสร้างมาพอสมควรและผ่านการทำโครงการที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีแล้ว ทีนี้คุณก็มีแนวความคิดว่ามันน่าจะถึงเวลาที่จะต้องทำธุรกิจอะไรสักอย่างเป็นของตัวเองขึ้นมาบ้าง คุณจึงเริ่มค้นหาทำเลเหมาะ ๆ เพื่อที่จะขึ้นโครงการใหม่สักโครงการ โดยคุณอาจจะเริ่มต้นจากการวางเงินดาวน์ที่ดินแห่งนั้น แล้วเริ่มระดมทุนจากนายทุนที่สนใจลงเงินกับคุณ แล้วหลังจากนั้นคุณก็สามารถสร้างโครงการเสร็จแล้วสามารถขายเพื่อทำกำไรออกไปได้กำไรเป็นสองเท่าจากเงินทุนเริ่มต้น

แต่การที่จะมาสเต็ปนี้ คุณก็สังเกตได้ว่า มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบและความเสี่ยงที่สูงขึ้น และคุณจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เฉพาะทางเป็นอย่างมาก เช่น การรู้ว่าทำเลย่านไหนเหมาะหรือไม่เหมาะแก่การทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา นอกจากนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องจินตนาการและนึกภาพเมื่อตอนที่มันสร้างเสร็จแล้วว่าน่าหน้าตามันจะเป็นอย่างไร แม้ว่าภาพตรงหน้าปัจจุบันดังกล่าวจะดูโทรม ๆ ก็ตามที

และการมาถึงสเต็ปนี้คุณก็ได้ใช้พลังทวีจาก capital หรือเงินทุน ที่มีเงินก้อนโตมากองไว้ตรงหน้าที่คุณสามารถนำไปใช้ซื้ออสังหาฯ ทำเลแจ่ม ๆ สักผืน ในราคาสัก 2 ล้าน แล้วสามารถสร้างโครงการอาจเป็นคฤหาสถ์หลังงามที่สามารถขายออกไปได้สัก 10 ล้าน

Level 3 – Trust Manager ผู้จัดการกองทรัสต์

ต่อมาขึ้นมาอีกสเต็ป ในเลเวลนี้คุณอาจจะเป็นสถาปนิกชื่อดังหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถปั้นโครงการเพื่อขายได้ในราคาดี ๆ มาหลายแห่งแล้ว ทีนี้คุณก็เริ่มมองหาวิธีการที่ไม่ใช่แค่เพียงหามาแล้วก็ขายออกไปอยู่เรื่อย ซึ่งสเต็ปที่เหนือกว่านั้นก็คือ คุณไม่อยากที่จะต้องวุ่นวายกับการควบคุมแรงงาน ควบคุมคนจำนวนมาก ที่มาช่วยในการก่อสร้าง คือคุณไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับพลังทวีจากแรงงาน แต่คุณอยากโฟกัสที่การใช้พลังทวีจากเงินทุนเพียงอย่างเดียวแบบเน้น ๆ คุณก็อาจจะเริ่มต้นธุรกิจที่เกี่ยวกับ REIT : Real Estate Investment Trust คือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘กองรีท’

โดยในสเต็ปนี้คุณจะต้องมีความรู้ที่เฉพาะทางอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการจัดการเงินทุน การเงิน วัฏจักรของอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงกฎหมายและข้อบังคับกำกับต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำเดินเงินในด้าน Trust โดยคุณอาจจะเป็นผู้จัดการกองทรัสต์จัดตั้งกองรีทเพื่อเสนอขายกองทรัสต์เหล่านี้ให้แก่เหล่าบรรดานักลงทุนต่าง ๆ เพื่อนำเงินทุนเหล่านี้ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพ โดยรายได้หลักของกองรีทนี้ก็จะมาจากค่าเช่าในอสังหาฯ ที่ไปลงทุน แล้วนำกำไรมาปันผลแจกจ่ายแก่นักลงทุน

Level 4 – Tech Startup สตาร์ทอัพเทคโนโลยี

และอีกสเต็ปที่เหนือขึ้นไปอีกขั้นเพื่อที่คุณต้องการจะใช้พลังทวีแบบขั้นสุดก็คือ คุณจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ แบบขั้นสุดด้วยเช่นกัน ตั้งแต่พื้นฐานในการก่อสร้างจากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่การสร้างที่อยู่อาศัยจากขนาดเล็กไปขนาดใหญ่ จนสามารถขายเพื่อทำกำไรได้จริง แล้วคุณก็รู้จักวัฏจักรในแวดวงอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี รู้ว่าช่วงไหนซบเซาช่วงไหนตลาดกำลังเติบโต

และเพิ่มเติมคือ คุณรู้จักเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการทำธุรกิจ คุณสามารถเขียนโค้ดเขียนโปรแกรมได้ คุณรู้จักการหา developer หรือนักพัฒนาเก่ง ๆ เข้ามาร่วมทีมของคุณ คุณรู้จักการสร้างผลิตภัณฑ์จากซอร์ฟแวร์ และคุณก็รู้จักวิธีการหาเงินจากนายทุน และเมื่อดูจากความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางทุกอย่างที่ว่ามานั้น ส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยมากกว่าหนึ่งคน คุณต้องมีทีมที่มีทักษะที่แตกต่างกันช่วยกันผลักดันให้ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ เดินหน้าไปพร้อม ๆ กันได้ และแน่นอนว่า มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบและความเสี่ยงขั้นสุด ก็ดังประโยคที่ว่า High Risk High Return ซึ่งเมื่อคุณตัดสินใจที่จะใช้พลังทวีขั้นสุดในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การใช้พลังทวีจากการเขียนโค้ดโปรแกรม, พวังทวีจากเงินของนักลงทุน และพลังทวีจากแรงงานคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น สุดยอดวิศวกร สุดยอดสถาปนิก สุดยอดนักขาย สุดยอดนักการตลาด เข้ามาร่วมทีม และเมื่อคุณสามารถทำทั้งหมดที่ว่านั้นได้ บริษัทคุณก็อาจเติบโตเป็นบริษัทระดับพันล้าน หมื่นล้านได้

คุณจะสังเกตได้ว่า การที่คุณจะเติบโตขั้นสุดในอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ได้นั้น มันคือการสั่งสมในทุก ๆ ด้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสั่งสมความรู้ สั่งสมประสบการณ์ สั่งสมชื่อเสียง สั่งสมเงินทุน สั่งสมคอนเนคชั่น สั่งสมทีมงานระดับคุณภาพสูง ซึ่งสเต็ปทั้งหมดที่ว่ามานั้น ก็มีหลายต่อหลายคนที่เริ่มต้นจากการเป็นชนชั้นแรงงานในวันแรก สู่การเป็นเจ้าของกิจการที่กลายเป็นบริษัทมหาชนที่ใหญ่โต ที่พวกเขาได้สั่งสมในทุก ๆ ด้าน และใช้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายต่อหลายปี

และนี่ก็คือตัวอย่างของการเติบโตจากแรงงานสู่การเป็นเจ้าของกิจการที่ร่ำรวย ที่ถ่ายถอดจาก Naval Ravikant นักลงทุนและผู้ประกอบการชาวอินเดีย-อเมริกัน ที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ราว ๆ $69 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือประมาณ 2,300 ล้านบาท ที่มาจากประสบการณ์การลงทุนของเขา

Resources

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *