9 กฎการเงินของคนระดับท็อป 1% by Dan Martell
Dan Martell ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่เริ่มต้นจากศูนย์ สู่การสร้างและขายบริษัทซอฟต์แวร์หลายแห่ง เจ้าของบริษัทมูลค่ารวมกว่า $100 ล้านดอลล่าร์ฯ
เขาจะมาแชร์ประสบการณ์กว่า 27 ปีในฐานะผู้ประกอบการ ที่ในเนื้อหานี้ Dan เขาได้แบ่งปัน 9 กฎการเงินของกลุ่มคนรวยระดับท็อป 1% ที่เขาสั่งสมมาและพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง
กฎการเงินข้อที่ 1: Act Your Wage (ใช้จ่ายตามฐานะของคุณ)
Dan Martell เขาเล่าว่าความร่ำรวยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้ที่หาได้เพียงอย่างเดียว แต่มันยังขึ้นอยู่กับนิสัยการใช้เงินและการจัดการเงินอย่างประสิทธิภาพ
Dan ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา โดยเริ่มจากคำสอนของพ่อที่ว่า “มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณสามารถหาเงินได้เท่าไร แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือคุณเก็บมันไว้ได้เท่าไหร่ต่างหาก”
โดย Dan ได้ยกสถิติมาแสดงให้เห็นว่า มีเศรษฐีจำนวนกว่า 33% ที่พวกเขามีรายได้ไม่เกิน $100,000 ดอลลาร์ต่อปี (หรือประมาณ 3.4 ล้านบาท/ปี) ซะด้วยซ้ำ แต่ที่พวกเขารวยได้ก็เป็นเพราะพวกเขารู้จักวิธีการจัดการกับเงินและการลงทุนอย่างชาญฉลาด จึงทำให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นมาได้
Dan ยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาเคยทำผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่เมื่อตอนที่เขาอายุช่วง 21 ปี โดยในตอนนั้นเขาได้รับเงินก้อนโตจากงานเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้ารายหนึ่ง และหลังจากนั้นเขาก็ได้ตัดสินใจใช้เงินก้อนดังกล่าวไปกับการพาน้องชายของเขา ไปเที่ยวเล่นสกี โดยใช้ชีวิตกันอย่างหรูหราตลอด 10 วัน ทั้งพักที่โรงแรมหรู ซื้ออุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ใหม่ทั้งหมด และกินอาหารที่ดีที่สุดที่มีในร้านหรู
แต่หลังจากทริปสิ้นสุดลง พ่อของเขาก็ได้โทรมาถามว่า “ Dan ลูกได้กันเงินเอาไว้จ่ายภาษีด้วยแล้วหรือยัง?” ซึ่ง Dan ก็ตอบว่า “ยังครับ เพราะผมคิดว่าเงินนั่นเป็นของผมทั้งหมด” ซึ่งพ่อของเขาได้อธิบายว่า “เงินที่ลูกได้มานั้นเป็นเงินก่อนหักภาษี ซึ่งครึ่งหนึ่งของมันไม่ใช่ของลูกเลย” และเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ Dan รู้ว่าเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือในการจัดการเงินจากคนที่เชี่ยวชาญเรื่องการเงินเป็นอย่างดี
และหลังจากนั้น Dan เขาจึงได้จ้างนักบัญชีมาช่วยจัดการระบบการเงินของเขา โดยนักบัญชีคนดังกล่าวได้แนะนำให้ Dan ทำการแยกเงินส่วนตัวออกจากเงินธุรกิจอย่างชัดเจน และนำเงินเข้าสู่ระบบการจ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง เพื่อช่วยลดการใช้จ่ายที่เกินตัวและการปะปนระหว่างเงินที่ได้จากการทำธุรกิจกับเงินส่วนตัว
ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ Dan ได้สรุปบทเรียนที่สำคัญเอาไว้อยู่ 3 ข้อ ก็คือ:
- ตั้งระบบจัดการการเงินอัตโนมัติ: โดย Dan ได้เน้นย้ำว่าการตั้งระบบอัตโนมัติ เช่น การแยกเงินเข้าสู่บัญชีที่เหมาะสมทันทีที่มีรายได้เข้ามา เป็นวิธีที่ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและป้องกันปัญหาทางการเงินในอนาคต ดังนั้นให้คุณทำการตั้งค่าอัตโนมัติแล้วลืมมันไปซะ
- ใช้จ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้: แม้ว่าในปัจจุบันเขาจะมีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวและรถหรู แต่ในอดีต Dan เขาก็ได้ใช้ชีวิตอย่างประหยัด โดยเขาเล่าว่าเขาเคยขับรถเก่าที่มีอายุกว่า 12 ปี ซึ่งในขณะนั้น แม้เขาจะมีรายได้มากแล้วก็ตามที แต่เพราะในช่วงเวลานั้นเขาต้องการให้มีเงินสดพร้อมสำหรับการลงทุนในโอกาสดี ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- คนเราไม่สามารถออมจนรวยได้ จำเป็นต้องลงทุน: Dan ชี้ให้เห็นว่าการออมเงินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ เมื่อคุณออมเงินถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้แล้ว ให้นำเงินส่วนที่เกินนำไปลงทุนในตัวเองหรือลงทุนในโอกาสที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับตัวเราเองได้
เขาย้ำว่าการใช้ชีวิตอย่างประหยัด ลงทุนในสิ่งที่เพิ่มมูลค่า และการตั้งระบบการเงินที่ดีนั้น มันช่วยให้เขาสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและเติบโตได้ในระยะยาวได้
กฎการเงินข้อที่ 2: The 10% Rule (กฎ 10%)
“The 10% Rule” เป็นแนวคิดที่ Dan เขาตั้งใจที่จะใช้ชีวิตเพียง 10% จากรายได้ทั้งหมดที่หามาได้หรือน้อยกว่านั้น
โดย Dan เขายอมรับว่าสำหรับหลายคน กฎนี้อาจจะฟังดูเหลือเชื่อ โดยเฉพาะถ้ารายได้ยังไม่สูงมาก แต่ Dan เขาบอกว่ามันไม่ได้ทำกันประเดี๋ยวประด๋าวแล้วจะได้ในทันที แต่มันจะต้องพยายามค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป จนถึงเป้าที่ตั้งเอาไว้
ซึ่งในช่วงแรกของการปรับตัว Dan เขาแนะนำให้เริ่มต้นจากการใช้รายได้ในสัดส่วนที่ค่อย ๆ เพิ่มจากน้อยไปมาก เช่นใช้เงิน 80% 60%, 40% ของรายได้ จากนั้นค่อย ๆ ปรับลดลงเรื่อย ๆ จนสามารถใช้ชีวิตด้วยรายได้เพียง 10% ได้ในที่สุด
เหตุผลหลักของการทำเช่นนี้คือ การสร้างวินัยในการออมและลงทุนให้กับตนเอง โดย Dan อธิบายว่าเป้าหมายคือการเก็บเงินให้ได้ถึง 90% ของรายได้ แล้วนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่ม เช่น การลงทุนในตัวเองหรือในสิ่งที่ช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
Dan ยังเล่าถึงแนวคิดหนึ่งที่เขายึดถือ ที่พูดว่า “หนึ่งในสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดที่คุณสามารถครอบครองได้ก็คือชีวิตที่คุณภาคภูมิใจในตนเอง”
สำหรับหลายต่อหลายคนที่ยังไม่รวยนั้น พวกเขามักมีมุมมองแบบขาดแคลน พวกเขาพยายามลดรายจ่ายให้น้อยที่สุด แต่กลับไม่รู้ว่าจะนำเงินส่วนเกินไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง Dan ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข
โดยสิ่งที่เขาแนะนำก็คือ:
- จงเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย: ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และตั้งเป้าหมายในการออมเงิน
- เก็บเงินอย่างมีเป้าหมาย: ไม่เพียงแค่ทำการออมเงิน แต่ต้องรู้ว่าตัวคุณเองนั้นจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปทำอะไรต่อด้วย
- ลงทุนในสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น: เช่น การพัฒนาทักษะส่วนตัว การลงทุนในธุรกิจ หรือสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนในอนาคต
Dan ยังเน้นว่าการมีกฎ 10% นี้ช่วยเปลี่ยนมุมมองต่อการใช้จ่ายและการลงทุนได้อย่างสิ้นเชิง จากคนที่มองเงินเพียงเพื่อการจับจ่ายใช้สอย มาเป็นการมองเงินเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงและสร้างโอกาสในอนาคต
กฎการเงินข้อที่ 3: Prioritize Investments (ให้ความสำคัญกับการลงทุน)
Dan กล่าวว่าคนร่ำรวยมีแนวทางที่แตกต่างจากคนทั่วไปในการใช้เงิน โดยเขาแบ่งความคิดของคนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังต่อไปนี้:
- คนจน: พวกเขาหาเงินเพื่อไปซื้อของไปวัน ๆ
- คนชนชั้นกลาง: พวกเขาหาเงินเพื่อเอาไปใช้หนี้บัตรเครดิต หรือเงินกู้ยืมจากธนาคาร หรือแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ
- คนรวย: พวกเขานำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น
Dan อธิบายว่าหลายคนมักอยู่ห่างจากโอกาสในการสร้างรายได้เพียงแค่ก้าวเดียวเท่านั้น เพราะแทนที่พวกเขาจะใช้เงินเพื่อคว้าโอกาสที่ผ่านเข้ามา แต่พวกเขากลับนำเงินไปใช้กับสิ่งของที่เสื่อมค่า อย่างเช่น รถยนต์หรือสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลให้พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักต่อเนื่องเพียงเพื่อรักษาระดับไลฟ์สไตล์ที่พวกเขาสร้างขึ้น
Dan ได้ยกตัวอย่างคำถามสำคัญที่ช่วยให้เขาเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการลงทุน ว่า: “มีทักษะอะไรบ้างที่ถ้าผมลงทุนเรียนรู้แล้ว มันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของตัวผมได้ในทันที?”
โดย Dan เขาแนะนำให้ทุกคนลองเริ่มต้นจากการถามตัวเองถึงสิ่งที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองได้ เช่น การพัฒนาทักษะใหม่เพื่อเลื่อนตำแหน่ง การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนอาชีพ หรือแม้กระทั่งการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก (Side Hustle) ที่สามารถสร้างรายได้ ได้เทียบเท่าหรือมากกว่างานประจำ
ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในมุมมองของ Dan ก็คือ การไม่เพียงแค่ถามว่า “เงินจะถูกนำไปใช้ทำอะไร?” แต่ยังรวมถึงการถามว่า “โอกาสแบบไหนที่สามารถช่วยเปลี่ยนชีวิตคุณได้ในทันที?” โดยเขาแนะนำให้โฟกัสกับโอกาสที่สามารถเพิ่มรายได้ในระยะยาว มากกว่าการใช้จ่ายเพื่อความสุขในระยะสั้น
ด้วยแนวคิดนี้ Dan เชื่อว่าการลงทุนในตัวเองและสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ได้ คือกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
กฎการเงินข้อที่ 4: Have a Nest Egg (มีเงินสำรองฉุกเฉิน)
Dan ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และเมื่อมันเกิดขึ้น คุณจะต้องมีทรัพยากรหรือเงินที่พร้อมใช้งานในทันทีเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
Dan เขาได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงของเพื่อนคนหนึ่งของเขาที่ต้องปิดกิจการไปในช่วงวิกฤตโรคระบาดในปี 2020 เนื่องจากธุรกิจของเขาถูกปิด Lockdown เป็นเวลานาน และเขาก็ไม่มีเงินสำรองเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ (ไม่ว่าจะเป็นทั้งค่าเช่า ค่าพนักงาน) ซึ่งเพื่อนของเขาในช่วงนั้นต้องการเงินสำรองเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายประมาณ 3 เดือนเท่านั้นเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ก่อนที่จะปลดการ lockdown แต่เพราะเพื่อนเขาคนนั้นไม่มีเงินส่วนสำรองเลย จึงต้องยอมปิดกิจการลงอย่างถาวร
Dan ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากที่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และพวกเขาก็มักจะต้องขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริง เพื่อหาเงินสดมาหมุน ซึ่งทำให้สูญเสียโอกาสและกลายเป็นสถานการณ์ที่ยากจะฟื้นตัว
ซึ่ง Dan Martell เขาก็แนะนำว่าคุณควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เดือนสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเงินนี้ต้องเป็นเงินสดที่พร้อมใช้ทันที มันไม่ควรเป็นเงินที่ผูกไว้อยู่กับการลงทุน เช่น หุ้นหรือกองทุนรวม ที่อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมและภาษีเมื่อทำการถอนออก
แม้บางคนอาจจะมองว่าเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือนนั้น เป็นจำนวนที่มากเกินไป แต่ในมุมมองของ Dan เขามองว่านี่คือระยะเวลาที่เพียงพอสำหรับการตั้งหลักใหม่
Dan กล่าวว่า “ผมไม่เคยเห็นใครที่สูญเสียงานทั้งหมดและไม่มีรายได้เลยในช่วงเวลาติดต่อกัน 6 เดือน เพราะผู้คนส่วนใหญ่มักจะสามารถหาโอกาสใหม่ได้ในช่วงระยะเวลานี้”
โดย Dan ได้จำแนกข้อดีของการมีเงินสำรองฉุกเฉิน อยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้:
- 1 – ลดความตึงเครียดทางการเงิน: เพราะคุณจะไม่ต้องเร่งรีบในการตัดสินใจเรื่องการเงินด้วยความความกลัว ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด
- 2 – สร้างความมั่นคงในชีวิต: เพราะการมีเงินสำรองช่วยให้คุณดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึกอุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดแคลน ไม่เช่นนั้นชีวิตของคุณอาจจะต้องขับเคลื่อนด้วยความกลัว
- 3 – เพิ่มโอกาสในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล: ในช่วงที่คนอื่นอาจตกอยู่ในความตื่นตระหนก คุณจะสามารถรักษาสติและมองหาวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น การมีเงินสำรองฉุกเฉินเป็นข้อได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์ และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คุณมีความพร้อมในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้อย่างมั่นใจ
กฎการเงินข้อที่ 5: Don’t Be Over-Leveraged (อย่าเป็นหนี้เกินตัว)
จงหลีกเลี่ยงหนี้ที่เกินความสามารถในการชำระคืนของคุณ โดย Dan เขาเล่าประสบการณ์ในวัย 20 ต้น ๆ ของเขา เมื่อเขาต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้าบ้าน เขาเจอโซฟาชุดหนึ่งที่ชอบมากในร้าน แถมพนักงานก็บอกกับเขาว่า “คุณสามารถผ่อนชำระแบบปลอดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ปี เลยนะครับ”
ทำให้ Dan ตัดสินใจสมัครสินเชื่อและได้รับอนุมัติทันที ที่แม้จะฟังดูเหมือนเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ Dan เขากลับไม่ได้อ่านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในสัญญาฉบับนั้น เพราะหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย มันทำให้เขากลับต้องชำระเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก และต้องใช้เวลาถึง 4 ปีเต็มกว่าจะปลดหนี้ก้อนนี้ได้
และบทเรียนจากประสบการณ์นี้ ทำให้ Dan สรุปได้ว่า หนี้สำหรับการบริโภคหรือการซื้อสินค้าโดยไม่จำเป็น สามารถกลายเป็นกับดักที่ดึงคุณเข้าสู่วงจรของปัญหาทางการเงินได้ง่าย ๆ และยากที่จะหลุดพ้น โดยเขาเตือนว่าธนาคารนั้น พวกเขาสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณต้องชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง
โดย Dan เขายังเล่าเพิ่มเติมถึงข้อมูลที่น่าตกใจว่า จำนวนกว่า 47% ของผู้ถือบัตรเครดิต มักหมุนหนี้จากเดือนหนึ่งไปอีกเดือนหนึ่ง และพวกเขาก็โดนอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงถึง 22% ต่อปี ซึ่งเป็นภาระที่ทำให้การสร้างความมั่งคั่งเป็นไปได้ยาก
ซึ่ง Dan ก็ได้แนะนำกฎง่าย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ก็คือ: “หากคุณไม่สามารถจ่ายได้ในตอนนี้ ให้รอจนกว่าคุณจะมีรายได้เพียงพอ” โดยเขาย้ำว่าการกู้ยืมเพื่อให้ตัวเองดูดีมีไลฟ์สไตล์ที่ตัวคุณไม่สามารถจ่ายได้จริงนั้น เป็นการบ่อนทำลายโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
โดยข้อคิดสำคัญของ Dan จากเหตุการณ์นี้ก็คือ:
- อย่าตกลงรับหนี้ใด ๆ โดยไม่เข้าใจเงื่อนไขทั้งหมดในเอกสารการกู้ยืม
- หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อในการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น
- เน้นการเพิ่มรายได้แทนการสร้างหนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของที่ต้องการ
ซึ่ง Dan เชื่อว่าการรักษาความเรียบง่ายในเรื่องการเงิน และการจัดการรายจ่ายให้สมดุลกับรายได้ จะช่วยให้คุณมีความมั่นคงและมีโอกาสในการลงทุนในอนาคตที่ดีกว่า
กฎการเงินข้อที่ 6: Invest in Your Skill Set (ลงทุนในทักษะของคุณ)
Dan Martell เน้นว่าหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนก็คือการลงทุนในตนเอง โดยเขาได้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเขาที่แสดงให้เห็นถึงพลังของการพัฒนาทักษะและความรู้เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ย้อนกลับไปในช่วงวัย 20 ต้น ๆ Dan เขาอยู่ในจุดที่สิ้นหวังมาก แต่เขาก็มีโอกาสได้อ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่งแล้วตัดสินใจจ้างโค้ชธุรกิจที่ชื่อ Bob มาโค้ชชิ่ง ที่แม้ว่า ณ ตอนนั้น Dan เขาจะมีเงินสำหรับจ่ายค่าโค้ชเพียงแค่ 2 เดือนแรกเท่านั้น แต่เขาก็ตัดสินใจเซ็นสัญญาเป็นเวลา 1 ปี กับโค้ชคนดังกล่าว
ซึ่งความคิดของ Dan ณ ขณะนั้น เขาคิดแค่เพียงว่า “ถ้าโค้ช Bob เก่งจริง เขาจะสามารถช่วยให้มีรายได้พอจ่ายค่าโค้ชในเดือนต่อ ๆ ไปจนครบสัญญาได้แน่ ๆ”
และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ในปีแรกของการทำงานระหว่าง Dan กับโค้ช Bob นั้น ทำให้ธุรกิจของเขาสามารถสร้างรายได้ได้เกือบ ๆ 1 ล้านดอลลาร์ฯ
ทั้ง ๆ ที่ตัวของ Dan เองนั้น เขาแทบไม่เคยลงทุนในตัวเองมาก่อนเลย แม้แต่การซื้อหนังสือพัฒนาตนเองสักเล่ม เขาก็รู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรใช้เงินในสิ่งเหล่านั้น เพราะเขากังวลว่า การลงทุนในตนเองอาจเป็นการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ แต่สิ่งที่เขาค้นพบกลับกลายเป็นว่า การลงทุนในตัวเองให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในชีวิต
โดย Dan ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมา เขาได้ใช้เงินประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์ฯ (หรือกว่า 50 ล้านบาท) ไปกับโค้ชชิ่ง การเข้าสัมมนา และการพัฒนาทักษะต่าง ๆ
ซึ่งหากเขานำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนในตลาดหุ้นอย่าง S&P 500 มันอาจจะให้ผลตอบแทนในระดับหนึ่ง แต่เมื่อนำมาเทียบกับรายได้ที่เขาสร้างจากทักษะและความรู้ที่เขาได้พัฒนาแล้วนั้น ผลตอบแทนที่ได้กลับคืนมานั้นสูงกว่าเป็นพันเท่าเลยทีเดียว
ซึ่ง Dan เขาชี้ให้เห็นว่าหลายคนไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการลงทุนในตนเอง โดยเขาบอกว่าถ้าตัวคุณไม่ยอมเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง คุณจะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคนอื่นว่าจะให้คุณได้เงินเพิ่มเท่าไร ซึ่งโดยเฉลี่ยทั่วไป ก็มักจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่แค่ 3-5% ต่อปีเท่านั้น มันไม่มากไม่มายอะไรเลย
และคนจำนวนมากมักหลงทางโดยนำตนเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนในโซเชียล โดยยอมจ่ายเงินซื้อสิ่งของต่าง ๆ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตนเองเอาไว้ให้ดูหรูดูแพง ซึ่ง Dan ก็แนะนำว่า ให้คุณนั้นเลื่อนการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยออกไปก่อน แล้วนำเงินไปลงทุนในตัวเองเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากกว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเสียก่อน
ซึ่งข้อคิดสำคัญที่ได้จากข้อนี้ก็คือ:
- จงลงทุนในตัวเองก่อนเสมอ เพราะตัวคุณคือสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด
- จงใช้เงินเพื่อเพิ่มทักษะที่สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น
- และอย่าปล่อยให้แรงกดดันจากสังคมมาทำให้คุณเสียโอกาสในการพัฒนาตัวเอง
ซึ่งการลงทุนในทักษะของตัวคุณเองนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ในระยะยาว แต่มันยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งที่แท้จริงและยั่งยืนอีกด้วย
กฎการเงินข้อที่ 7: Know Your Risk-Return (รู้ความเสี่ยงและผลตอบแทนของตัวคุณ)
Dan บอกว่า “เมื่อคนที่มีเงิน มาพบกับคนที่มีประสบการณ์ คนที่มีประสบการณ์จะได้เงินนั้นไป ส่วนคนที่มีเงินจะได้ประสบการณ์กลับไป” นั่นก็หมายความว่า หากคุณลงทุนในสิ่งที่คุณไม่ได้มีความเข้าใจมัน คุณก็มีโอกาสสูงที่สูญเสียเงินก้อนนั้นไป
หลายคนตัดสินใจลงทุนเพียงเพราะได้รับคำแนะนำจากคนใกล้ตัว หรือตัดสินใจลงทุนเพราะกลัวพลาดโอกาส (Fear of Missing Out – FOMO) แต่กลับไม่ได้ศึกษาความเสี่ยงอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การสูญเสียมากกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังเอาไว้
เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทน ทาง Dan เขาก็ได้แนะนำแนวคิดของ “ตาราง Quadrant ระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทน” (Risk-Return Quadrant) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ช่อง ดังนี้ก็คือ:
- High Risk, High Return (ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง): เช่น การลงทุนใน Bitcoin หรือสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง
- Low Risk, Low Return (ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ): เช่น การลงทุนในดัชนีหุ้น (Index Funds)
- High Risk, Low Return (ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต่ำ): ช่องนี้เป็นกับดักที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจสูญเงินทั้งหมด
- Low Risk, High Return (ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง): เช่น การซื้อธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้มันได้
Dan เน้นว่าเป้าหมายของคุณคือการมุ่งเน้นลงทุนในช่องที่ 4 ให้มากที่สุด เพราะมีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนสูงโดยมีความเสี่ยงต่ำ
โดย Dan เขายังแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า เราควรลงทุนในสิ่งที่เรารู้จักเป็นอย่างดี เช่น หากคุณเป็นนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ คุณก็ควรลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหากคุณเป็นนักออกแบบ ก็ควรลงทุนในโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ หรือถ้าคุณทำสื่อ คุณก็ควรลงทุนอะไรที่มันเกี่ยวกับ Media เพราะการเข้าใจธุรกิจที่คุณลงทุนจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จให้สูงขึ้น
Dan ยังกล่าวถึงแนวคิด “Asymmetrical Reward” หรือการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงที่จำกัด โดยให้มองหาการลงทุนที่คุณสามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การปรับปรุงธุรกิจหรือการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการที่คุณลงทุน เพื่อสร้างโอกาสแบบ Win-Win ที่ไม่เพียงแต่ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์นั้น ๆ อีกด้วย มันเป็นการลงทุนที่เสียต้นทุนน้อยแต่มีศักยภาพในการสร้างผลลัพธ์ที่ใหญ่
ข้อคิดสำคัญจากกฎข้อนี้ก็คือ:
- อย่าลงทุนในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ
- มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่คุณสามารถควบคุมหรือเพิ่มมูลค่าได้
- เลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนสูงให้มากที่สุด
ความรู้ ความเข้าใจในความเสี่ยงและผลตอบแทนคือกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืน โดยไม่ต้องเสี่ยงเกินไป
กฎการเงินข้อที่ 8: Build a Personal Profit And Loss (สร้างบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่วนบุคคล)
Dan เขาแนะนำให้ทุกคนจัดการการเงินส่วนตัวของตนเองเหมือนกับการบริหารธุรกิจ “ทุกครอบครัวควรมีบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่วนบุคคล (Personal P&L) เพื่อให้สามารถติดตามสถานะการเงินได้อย่างชัดเจน”
โดยคุณควรรู้ว่าแต่ละเดือนคุณมีรายรับเท่าไร และรายจ่ายเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากคุณพบว่าคุณขาดดุลในแต่ละเดือน นั่นหมายความว่าคุณกำลังดำเนินชีวิตที่ขาดความสมดุลทางการเงิน ซึ่งเหมือนกับการทำธุรกิจที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง มันดูแนวโน้มไม่ดีเอาซะเลย
และปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักเจอก็คือ การหลีกเลี่ยงการจัดการการเงินของตัวเอง เพราะกลัวที่จะพบกับความจริงในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเลข “หลายคนบอกว่าตัวเองไม่เก่งเรื่องตัวเลข แต่นั่นมันเป็นเพียงข้ออ้าง เป็นการเพิกเฉยต่อปัญหา มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย”
โดย Dan เขาได้เล่าเรื่องของเพื่อนเขาคนหนึ่งที่ชื่อ Manny ที่เขาคนนั้นสามารถทำรายได้ ได้หลายสิบล้านดอลลาร์ฯ ต่อปีจากธุรกิจของเขา แต่ Manny กลับไม่มีระบบจัดการการเงินส่วนตัวที่ดีพอ
Dan จึงแนะนำให้ Manny จ้างผู้จัดการภายในบ้านเพื่อดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวของเขา และใช้แนวคิดการบริหารธุรกิจมาจัดการชีวิตส่วนตัวด้วยการสร้างระบบ Personal P&L สร้างบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่วนบุคคล
โดยใช้แนวคิด “Family Office” ซึ่งเป็นทีมงานที่ช่วยจัดการเรื่องการเงินสำหรับครอบครัวที่มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งทีมนี้อาจประกอบด้วยผู้จัดการการเงิน นักบัญชี และที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อช่วยจัดการในเรื่องของการลดหย่อนภาษี จัดพอร์ตการลงทุน และตรวจสอบความเหมาะสมของความคุ้มครองประกันภัย
โดย Dan ชี้ให้เห็นว่าการมีทีมงานแบบนี้จะช่วยลดความตึงเครียดและนอกจากนั้นยังเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ข้อคิดสำคัญจากกฎข้อนี้ก็คือ:
- จงจัดการชีวิตส่วนตัวเหมือนที่จัดการกับธุรกิจ: คุณควรรู้รายรับ-รายจ่าย และติดตามสถานะทางการเงินของคุณอยู่เสมอ
- อย่ากลัวตัวเลข: การเข้าใจสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองจะช่วยให้คุณปรับปรุงและพัฒนาในเรื่องของการเงินได้ดียิ่งขึ้น
- สร้างระบบเพื่อความยั่งยืน: การสร้างระบบจัดการการเงินที่ดีจะช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มเวลาในการโฟกัสกับสิ่งสำคัญในชีวิตจริง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การมีบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่วนบุคคล จะช่วยให้คุณใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้คุณควบคุมชีวิตได้ดีขึ้นในระยะยาว
กฎการเงินข้อที่ 9: Money Is a Tool, Not the Goal (เงินคือเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย)
Dan Martell อธิบายว่าเงินไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในชีวิต แต่มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณสามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ขยายโอกาสให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้ดียิ่งขึ้น
Dan ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า เขาเคยอยู่ในช่วงเวลาที่รู้สึกว่างเปล่าทั้ง ๆ ที่มีเงินมากมายในบัญชี ซึ่งในช่วงเวลานั้นเขาไม่ได้ทำอะไรที่ทำให้ตัวเองพัฒนาขึ้น และไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับโลกใบนี้เลย
Dan ย้ำว่า “ชีวิตของคนเรานั้นมันไม่ได้มีความหมายเพียงเพราะคุณมีเงินมากมาย แต่สิ่งสำคัญคือคุณได้ทำอะไรให้ใครบ้างในระหว่างเส้นทางที่คุณสร้างความมั่งคั่งนั้นขึ้นมาต่างหาก”
Dan เล่าว่าในหมู่เพื่อน ๆ บางคนมีเงินในบัญชีมากมาย แต่ “พวกเขาดูจนเพื่อนมาก” เป็นคนที่ขาดความสัมพันธ์ที่ดี ขาดโอกาสในชีวิต และขาดการพัฒนาตัวเอง
ดังนั้น ความมั่งคั่งที่แท้จริงไม่ใช่จำนวนตัวเลขที่อยู่ในบัญชีธนาคาร แต่มันคือการเดินทางที่คุณได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน และวิธีการใช้เงินเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวคุณเองและผู้อื่น
โดย Dan ได้เปรียบว่าเงินนั้นเปรียบเสมือนแบตเตอรี่ที่เก็บพลังงานเอาไว้ และมันจะมีค่าก็ต่อเมื่อคุณนำไปใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากคุณไม่ใช้เงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือแม้กระทั่งช่วยให้ตัวเองเติบโต ในท้ายที่สุดคุณก็จะรู้สึกเหงาและว่างเปล่าเดียวดาย
เขาแนะนำให้ใช้เงินในลักษณะที่สามารถช่วยเพิ่มเวลาให้กับตัวคุณเองได้ และจงใช้เวลาที่ได้เพิ่มมานั้นเพื่อใช้ไปกับการลงทุนในตัวเอง และเมื่อคุณพัฒนาคุณค่าในตัวเองให้มากยิ่งขึ้นแล้ว คุณก็สามารถนำเงินที่หามาได้มากขึ้น ไปลงทุนต่อเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และขยายโอกาสในการมีเวลาเพิ่มมากขึ้นไปอีก และสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างมากมาย
ข้อคิดสำคัญจากกฎข้อนี้ก็คือ:
- จงใช้เงินเพื่อสร้างคุณค่า: เพราะเงินควรถูกใช้เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในตัวคุณและช่วยเหลือผู้อื่น
- จงมุ่งเน้นในการพัฒนาตัวเอง: เพราะการเดินทางสู่ความมั่งคั่งคือการฝึกตนเองให้เก่งยิ่งขึ้น
- จงสร้างสิ่งที่มีความหมายในชีวิต: โดยให้มุ่งทำสิ่งที่คุณรักและสร้างคุณค่าให้กับโลกใบนี้ เพราะสิ่งนี้จะทำให้ชีวิตของคุณมีความหมาย ไม่ว่าคุณจะมีเงินเท่าไหร่ก็ตามที
Dan สรุปว่า เป้าหมายของชีวิตคนเราไม่ใช่การสะสมเงินให้ได้จำนวนเลขศูนย์ต่อท้ายให้ได้มากที่สุด แต่จงใช้เงินเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย ทั้งต่อตัวคุณและโลกใบนี้
Resources