Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Quote

100 ข้อคิด จาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | Blue O’Clock Podcast EP. 56

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร คือนักลงทุนระดับตำนานของประเทศไทย เป็นนักลงทุนแบบ VI: Value Investor นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ฉายา วอร์เรน บัฟเฟตต์ แห่งเมืองไทย ที่สามารถพลิกชะตาจากยาจกสู่มหาเศรษฐีพันล้านได้ด้วยตนเองจากการลงทุนในตลาดหุ้น และนี่คือ 100 ข้อคิด 100 บทเรียนจาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

  1. ดร. เล่าว่า เขาประหยัดอดออมเงินมาก โดยเขาสามารถออมเงินได้เป็นจำนวนประมาณ 10 ล้านบาท เมื่อตอนอายุราว ๆ 44 ปี เป็นจังหวะที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งแล้วตกงาน ซึ่งดอกเตอร์เขาไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน เช่ารถ เพราะเขาไม่ได้ซื้อ จึงทำให้มีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับคนอีกหลายคน เงินเก็บจำนวนนี้ดอกเตอร์บอกว่าถือว่ายังน้อยไปซะด้วยซ้ำ
  2. ตราบใดที่ตัวเรายังมีแรงทำงาน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ นั้น ก็จงทำงานหาเงินต่อไป อย่าพยายามไปคิดว่า จะนำเงินจากการลงทุนมาใช้จ่ายในช่วงแรก ๆ เพราะการลงทุนคือการหวังผลตอบแทนในระยะยาว มีกินมีใช้ในยามเกษียณ ดังนั้น ถ้ามีแรงทำงานอยู่ให้ใช้เงินที่ได้จากตรงนั้น อย่าพึ่งไปแตะเงินลงทุน รอให้มันงอกเงยเสียก่อน
  3. หลังจากที่ ดอกเตอร์ ตกงาน ในวัย 44 ปี แล้วนั้น เขานำเงินเก็บจำนวน 10 ล้านบาท ไปทยอยลงทุนในหุ้นจนหมด แล้วไม่แตะเงินลงทุนนั้นอีกเลย โดยในระหว่างที่รอหุ้นเติบโตและรอออกดอกออกผลนั้น ดอกเตอร์บอกว่า ในระหว่างนั้น เขาก็ทำงานหาเงินไปอีก 7 ปี แล้วถ้ามีเงินเหลือในแต่ละเดือน หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เขาก็จะนำเอาเงินที่เหลือนั้น ไปลงทุนอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 51 ปี เขาก็พบว่า เงินปันผลที่ได้รับนั้น สามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องทำงานอีกต่อไป
  4. ปีแรกที่ดอกเตอร์ลงทุนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท นั้น เขาได้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อสมัย 30 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นเงินจำนวนที่เยอะมาก สามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ได้เลย และพอวันเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อหุ้นเติบโตขึ้น เขาก็ได้เงินปันผลหลายร้อยล้านบาทต่อปี ซึ่งนี่คือข้อดีหากบริษัทดังกล่าวมีการเติบโตอยู่เรื่อย ๆ
  5. การเลือกลงทุนในหุ้นที่มีคุณค่า อย่างน้อยจะต้องมีคุณค่ามากกว่าราคาอย่างน้อย 30% ขึ้นไป เผื่อในกรณีที่เราคำนวณผิดพลาด เช่น สมมติเราคำนวณผิดพลาดไปสัก 20% อย่างน้อยเราก็จะยังคงมีกำไรเหลือ 10%
  6. การลงทุนแบบ VI: Value Investor นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่านั้น คือการลงทุนในหุ้น โดยให้คิดเสมือนว่าเรากำลังลงทุนในบริษัทนั้น ๆ เป็นเจ้าของร่วมในธุรกิจนั้น ๆ ที่เรามีสัดส่วนเป็นเจ้าของในบริษัทนั้น ๆ อยู่ โดยเราสามารถรับปันผลส่วนแบ่งจากผลกำไรที่บริษัทนั้น ๆ ทำได้
  7. การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น เวลาซื้อหุ้นบริษัทที่เราทำการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว ให้เราคิดไปเลยว่า เราจะไม่ทำการขายหุ้นบริษัทดังกล่าวไปตลอดชีวิต เพราะถ้าบริษัทมันดี เราจะขายหุ้นทำไมกัน
  8. ถ้าตลาดหุ้นร่วง ราคาหุ้นตก แล้วเราเอาเงินไปลงทุนกับหุ้นหมดเลย จะทำยังไง ซึ่งทาง ดร. นิเวศน์ ก็บอกว่า ราคาหุ้นตกก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีเงินกินเงินใช้จากปันผลไปตลอดชีวิต ตราบใดที่เราไม่ได้ขายหุ้นนั้นทิ้งไป
  9. การซื้อพันธบัตร และการฝากเงินออมนั้น เงินมันจะไม่โต ผ่านไปสิบปีถอนออกมาก็ได้เท่า ๆเดิม ไม่เหมือนกับหุ้น ที่เมื่อเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น บริษัทภายในประเทศก็เติบโตขึ้น
  10. ถ้าคุณจะวางแผนการเงินเพื่อชีวิตนั้น คุณจะขาดหุ้นไปไม่ได้ เพราะจากสถิติทั่วโลกนั้น หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด และปลอดภัยที่สุดในระยะยาว
  11. การลงทุนในหุ้นหลายต่อหลายครั้ง มีต้นทุนถูกกว่าการไปทำบริษัทเองซะอีก เราจะไปเหนื่อยทำเองกันไปทำไม
  12. หุ้นของบริษัทที่มั่นคง เป็นเจ้าในตลาดนั้น ๆ มักไม่ใช่หุ้นที่จะเติบโตอะไรมากนัก แต่มักจะจ่ายปันผลที่ดี จ่ายปันผลสูง
  13. การลงทุนแบบ VI เน้นคุณค่านั้น ไม่ว่าราคาหุ้นจะต่ำไปหรือสูงเกินไป สุดท้าย ราคาหุ้นมันจะกลับมาเป็นราคาที่แท้จริงที่มันควรจะเป็น
  14. บริษัทที่แสดงตัวเลขการเติบโตที่ดีเกินไป จนผู้สอบบัญชีไม่กล้ารับรองนั้น ให้ระวังเอาไว้ว่า ภายในบริษัทดังกล่าวอาจมีปัญหาภายในที่ยังไม่ปรากฏ และอาจเกิดปราฏการณ์ราคาหุ้นร่วงอย่างรุนแรง และบริษัทหมดค่าไปเลย
  15. ตามหลักจิตวิทยาของมนุษย์แล้วนั้น มักคิดว่าตนเองคือผู้ล่า และมักไม่คิดว่าตนเองนั้นเป็นเหยื่อ จนกระทั่งวันที่เกิดวิกฤตนั่นแหละ จึงรู้ว่าตนเองนั้นตกเป็นเหยื่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจงอย่าประมาท
  16. บริษัทที่กิจการโตปีละ 20% นี่ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่ถ้าบริษัทไหนโตปีละ 2 เท่า 5 เท่า 10 เท่า นี่ต้องระวังเอาไว้เลยว่า อาจจะเป็นหุ้นปั่น ที่หลอกให้นักลงทุนรายย่อยเข้าไปซื้อ
  17. หุ้นต่างประเทศที่เป็นกลุ่มพวก technology อย่างเช่นโซเชียลมีเดียนั้น สามารถเติบโตปีละหลายเท่าได้ เพราะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านคนอย่างรวดเร็วทั่วโลก แต่ในขณะที่หุ้นในประเทศไทยต้องระวังเอาไว้หากมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะบริษัทเทคโนโลยีในไทย มักไม่ได้ไปทั่วโลก
  18. ประเทศไทย จากเดิมที่เคยเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน ตอนนี้กลายเป็นประเทศที่เติบโตช้าที่สุดในอาเซียน ถ้าไม่นับรวมอย่างประเทศพม่า
  19. การกระจายความเสี่ยง โดยการซื้อหุ้นหลาย ๆ ตัวนั้น ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด เพราะถ้าคุณอยากได้ผลตอบแทนสูงกว่า 20%-30% ต่อปี ที่ขนาดนักลงทุนเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Warren Buffett ยังได้เฉลี่ยปีละ 20% เอง คุณจะต้องควานหาเพชรในตมให้เจอ แล้วเน้นลงทุนหุ้นตัวนั้นตัวเดียวไปเลย แต่คนทั่ว ๆ ไป ก็ไม่สามารถทำได้ แต่มันก็มีคนที่ทำได้อยู่ แต่ก็มีน้อยคนที่ทำได้
  20. ถ้าคุณไปถามคนที่ไม่ค่อยมีตังค์ว่า ในประเทศไทย วิธีไหนที่รวยเร็วสุด พวกเขาจะตอบว่า ซื้อล็อตเตอร์รี่ ซึ่งดอกเตอร์บอกว่า มันก็จริงที่คนที่ถูกรางวัลที่ 1 รวยได้ แต่มันจะมีคนจำนวนกว่า 99% ที่ขาดทุน มีคนจำนวนน้อยมากที่จะได้กำไรจากการซื้อล็อตเตอร์รี่
  21. ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจ ที่น่าจะมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ซึ่งประเทศเวียดนามในตอนนี้ คล้าย ๆ กับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่มีโอกาสเติบโตดังเช่นประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทางดอกเตอร์เขาเชื่อเรื่องของการศึกษาในประวัติศาสตร์
  22. จงลงทุนในสิ่งที่ตนเองถนัด รู้ และคาดการณ์ได้
  23. กฎแห่งความมั่งคั่ง ตะเกียงวิเศษ 3 ดวง หลักในการลงทุนสไตล์ ดร.นิเวศน์ ก็คือ 1) เก็บออมให้เยอะที่สุด ขยันทำงาน อดออม อย่าซื้อของฟุ่มเฟือย อย่าพึ่งซื้อบ้าน ซื้อรถ 2) ลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ซึ่งตามประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาก็คือการลงทุนในหุ้น ซึ่งคุณจะต้องเลือกหุ้นให้ถูกตลาด เลือกตลาด เลือกประเทศ ที่กำลังมีการเติบโต มีการเติบโตในระยะยาว ไม่ใช่ประเทศที่มีแต่คนแก่ ต้องมีประชากรจำนวนเยอะ ๆ และเลือกลงทุนในหุ้นเอง โดยไม่ผ่านพวกกองทุนรวม และต้องลงทุนสไตล์ VI 3) ระยะเวลาในการลงทุน คุณจะต้องลงทุนในระยะยาว ซึ่งในบางครั้ง ตลาดหุ้นมันมีการตกอย่างรุนแรง แต่คุณอย่าตกใจขาย หากในระยะยาวตลาดนั้น มันยังคงเติบโตอยู่ ให้คุณถือหุ้นเก็บเอาไว้ ไม่ก็เข้าซื้อเพิ่ม
  24. ถ้าคุณไม่ได้เกิดมาเป็นลูกคนรวย เงินต้นไม่เยอะ คุณจะต้องแข็งใจอดออมมากกว่าคนอื่นเอาหน่อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำงานได้ 100 ก็ตัดเอาไปลงทุนเลยสัก 50 เหลือเอาไว้กินสัก 50 หรืออย่างบ้าน อย่างรถนั้น ถ้าไม่จำเป็นยังไม่ต้องซื้อ หรือถ้าจะซื้อบ้านก็ซื้อหลังเล็ก ๆ ก่อน ส่วนรถนั้น ใช้รถคันเก่าไปก่อน หรือถ้าไม่มีรถ ก็นั่งรถแท็กซี่ รถเมล์ ไปก่อน แล้วนำเงินที่เหลือไปลงทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้เงินต้นมีจำนวนมากที่สุดก่อน
  25. คนที่อายุยังน้อยนั้น มีข้อได้เปรียบในการลงทุนมาก เพราะระยะเวลาในการลงทุนนั้น มีมากกว่าคนวัยอื่น ๆ แต่หลายคนกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์และข้อได้เปรียบจากตรงนี้ เพราะคิดว่า การลงทุนเป็นเรื่องที่น่ากลัว เลยไม่คิดที่จะเริ่มต้นลงทุนสักกะที
  26. ดอกเตอร์ บอกว่า ยิ่งคุณลงทุนนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมั่งคั่งร่ำรวยมากเป็นทวีคูณ สมมติว่าในวันนี้คุณมีความมั่งคั่งในหุ้นจำนวน 1 ล้าน แต่พอผ่านไป 30 ปี คุณอาจจะมีความมั่งคั่งในหุ้นมากกว่าเดิมเป็นร้อยเท่าได้เลย
  27. การเรียนเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนเรา และเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในบรรดาการลงทุน สมมติว่าคุณเรียนไป 1 ปี ปีต่อไปคุณสามารถใช้ความรู้ดังกล่าวไปทำงานหาเงินเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นสิบเท่าได้
  28. ดร. นิเวศน์ บอกว่า ตัวของท่านนั้นไม่ใช่เซียนหุ้น ไม่ได้เป็นคนเล่นหุ้น แต่เป็นนักลงทุน ลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจ ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจผ่านตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็ปล่อยให้บริษัทนั้น ทำหน้าที่ทำธุรกิจของพวกเขาต่อไป
  29. ตราบใดที่บริษัทดังกล่าวที่เราเข้าไปลงทุน ยังสามารถบริหารได้เป็นอย่างดี ทำกำไรได้เป็นอย่างดี จ่ายปันผลดี เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไร ซึ่งโดยปกติการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ VI นั้น มักจะลงทุนเกินหลักสิบปีโดยปกติ
  30. เงินที่นำมาลงทุนนั้น จะต้องเป็นเงินเย็น เป็นเงินที่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้จนกว่าจะเกษียณ จนกว่าจะตาย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ขายหุ้นบริษัทดังกล่าวไป มันก็จะยังจ่ายเงินปันผลอยู่เรื่อย ๆ
  31. การลงทุนแบบ VI คือการลงทุนระยะยาว ลงทุนเพื่อการเกษียณ ส่วนตราบใดที่คุณยังทำงานไหว ทำงานได้อยู่ ก็ให้ใช้เงินในส่วนที่หามาได้ไป แต่เงินในส่วนของการที่จะนำมาลงทุนนั้น จะทำเพื่ออนาคตเท่านั้น ไม่ใช่ทำเพื่อจะรวยวันนี้ พรุ่งนี้
  32. การลงทุนแบบ VI แบบเน้นคุณค่านั้น คุณจะต้องลงทุนในธุรกิจที่มั่นคง อยู่มานาน เป็นบริษัทที่รู้จักกันโดยทั่วไป คนในประเทศใช้บริการกันแทบทุกวัน เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยให้ลงทุนกับเจ้าของบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจในระยะยาวนับสิบปี ไม่ใช่ทำประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็เลิก เพราะการเลือกบริษัทที่เราจะทำการไปลงทุนด้วยนั้น มันก็เหมือนกับเราเป็นเป็นเจ้าของร่วมส่วนหนึ่งของธุรกิจดังกล่าว ร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน เพียงแต่เราไม่ต้องเข้าไปบริหารเอง
  33. เมื่อมีรายได้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นจากช่องทางใดก็ตาม ไม่ว่าจะได้เงินจากโบนัส เงินเดือน ทำงาน ทำธุรกิจ ขายของ ให้เก็บเงินออมเพื่อการลงทุนทันทีอย่างน้อย 15% เพราะนี่คือต้นทุนแรกสุดในการเริ่มต้นลงทุน หากคุณไม่ได้เกิดมาเป็นลูกคนรวยอย่าง ดร. นิเวศน์
  34. ดอกเตอร์เรียนจบด้านวิศวกรมา แต่ท่านเล็งเห็นว่า เพดานเงินเดือนแม้ว่าจะสูงเมื่อเทียบกับสายอาชีพอื่น ๆ แต่เพดานเงินเดือนก็ยังมีจำกัด และอัตราการเติบโตค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับด้านสายการตลาดหรือสายการเงิน ท่านจึงไปเรียน ป.โท ต่อเพิ่มด้านบริหารธุรกิจ เพราะเล็งเห็นว่า ถ้ามีความรู้ด้านนี้ แม้ว่าในช่วงแรกต่อให้มีเงินเดือนที่ต่ำ แต่หากมีความรู้ จะสามารถใช้ความรู้ทำให้หาเงินได้แบบก้าวกระโดดได้
  35. ระหว่างเรียนต่อ ป.โท ในช่วงที่ทำงานไปด้วยนั้น ดอกเตอร์เล่าว่า เขาต้องทำงาน 3 วัน เรียน 3 วัน สลับกันไปแบบนี้ในแต่ละสัปดาห์ โดยยอมโดนหักเงินเดือนเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะระหว่างเรียนไปด้วย ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา แต่เขาก็ทำงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดี นายจ้างจึงยอมให้ทำได้
  36. สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีทุนให้คุณสามารถเรียนต่อจนจบปริญญาเอกเสมอ ซึ่งนักเรียนจำนวนกว่าร้อยละ 90 มักได้รับทุนเรียนฟรี เพราะที่สหรัฐอเมริกา เขามีนโนบายในการมอบทุนการศึกษาปริญญาเอก เพื่อที่จะได้มีคนมาช่วยวิจัยสิ่งใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้โลกเกิดความก้าวหน้า
  37. หลังจากเรียนจบ ป.โท ที่ต้องใช้เงินทุนตัวเอง ท่านได้ไปเรียนต่อ ป.เอก ด้านการเงิน ที่ Mississippi State University เพราะ ดร. นิเวศน์ ท่านมองว่า เรื่องของการเงินนั้นมันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ว่าองค์กรใดก็จะต้องเกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน และในเวลานั้น ก็มีคู่แข่งน้อยมาก ในขณะที่ตอนเป็นวิศวกรนั้น มีคู่แข่งเยอะ การแข่งขันเยอะ
  38. ถ้าคุณไม่เก่งจริง คุณไม่ควรเล่นหุ้น แบบซื้อ ๆ ขาย ๆ เพราะคนที่เล่นหุ้นนั้น มีแต่คนเก่ง ๆ ที่จบจากมหาวิทยาลัยท็อป ๆ อย่าง Havard หรือ MIT ที่พวกเขาฉลาดและเก่งกว่าพวกที่จบ ป.เอก ซะอีก ดังนั้น ทางเลือกแรกในการเข้าสู่ตลาดหุ้นที่ดอกเตอร์แนะนำสำหรับมือใหม่ที่ยังเลือกหุ้นเองไม่เป็นนั้น การลงทุนในกองทุนรวมจะเหมาะกว่า เพราะมีผู้จัดการกองทุนเก่ง ๆ คอยบริหารแทน
  39. ในตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะมีแต่คนอยากขาย และขายทรัพย์สินในราคาที่ถูกมาก ๆ ดังนั้น ในช่วงวิกฤตคือโอกาสของคนที่มีเงินสด ที่สามารถเข้าซื้อทรัพย์สินเหล่านั้นได้ในราคาที่ถูกแสนถูก เมื่อเทียบกับราคาในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ
  40. ดร. นิเวศน์ เล่าว่า ตอนที่พอร์ทหุ้นมีมูลค่าเป็นพันล้าน ยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่า เขาร่ำรวยแล้ว เพราะบริษัทก็ไม่ได้ทำ ลูกน้องก็ไม่มี รถเบนซ์ก็ไม่มี บ้านหลังใหญ่โตก็ไม่มี เพราะเขายังใช้รถคันเก่า และยังอาศัยอยู่บ้านพ่อตาที่สร้างให้เขาอยู่กับภรรยาอยู่เลย
  41. ความสุขของดอกเตอร์บอกว่า ความสุขของเขานั้นมาจากการที่เขาได้เก็บออมเงิน ไม่ใช่จากการใช้เงิน เช่น เวลาที่จะจ่ายค่าเครื่องบินชั้น busienss class นั้น เขารู้สึกเสียดายเงิน ในขณะที่หากนั่งชั้น economy นั้น เขามีความสุขที่ได้ประหยัดเงินมากกว่า
  42. ดร. นิเวศน์ บอกว่า เขาเกิดมาเป็นลูกคนจน แต่ลูกสาวของท่านนั้น เธอเกิดมาเป็นลูกคนรวย ดังนั้น ด้วยความที่ท่านเกิดมาเป็นลูกคนจน ท่านก็พอใจที่จะใช้ชีวิตแบบไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย แต่ถ้าเป็นเรื่องของลูกสาวนั้น เธอก็จะใช้เงินเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับครอบครัว อย่างเช่น เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ก็บิน business class ไปทั้งครอบครัว
  43. ถ้าถามดอกเตอร์ว่า เขาคิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้หรอก” โดยทางดอกเตอร์ท่านก็ตอบว่า “เงินน่ะ มันซื้อความสุขจริง ๆ ไม่ได้หรอก แต่มันสามารถซื้อความทุกข์บางอย่างทิ้งไปได้” อย่างเช่น เวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็สามารถอยู่โรงพยาบาลที่ดี ๆ ได้ หรืองานบางอย่างที่เราไม่อยากทำ เราก็สามารถจ้างคนอื่นให้ทำสิ่งนั้นแทนได้
  44. ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของเรา ไม่ใช่ที่สิ่งของ
  45. สมมติว่า ถ้าเราเกิดมาได้รับพรให้สามารถมีความสุขได้มากสุดที่ 120% การที่เรามีเงินนั้น เราก็สามารถใช้มันเพื่อให้เรามีความสุขเข้าใกล้ 100% หรือ 120% ก็เท่านั้นเอง เพราะเงินมันไม่สามารถทำให้คุณมีความสุขได้เกิน 120% ไปได้หรอก
  46. การลงทุนแบบเน้นคุณค่าแบบ VI นั้น ให้ลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินกิจการ มีผลผลิตออกมาอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่มีคนซื้อขายหุ้นบริษัทนั้นเลยก็ตามที มันก็ยังคงมีมูลค่าในตัวมันเอง สามารถผลิตเงินได้ด้วยตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า Productive Asset
  47. การมีเงินเยอะขึ้น คุณจะรู้สึกมั่นคงมากยิ่งขึ้น คุณสามารถที่จะเลือกทำในสิ่งที่คุณต้องการได้อย่างอิสระ และส่งผลให้คุณมีความสุขมากยิ่งขึ้นได้
  48. คนรวยส่วนใหญ่ ที่เมื่อรวยแล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่หยุดทำงาน นั่นก็เป็นเพราะ คนรวยส่วนใหญ่ เขามีความสุขจากการที่ได้ทำงานอยู่ มันก็ไม่มีเหตุผลที่ว่า ทำไมจะต้องหยุดทำงาน หรือทำในสิ่งที่เขารัก ทำในสิ่งที่พวกเขามีความสุข ซึ่งดอกเตอร์เชื่อว่า ยิ่งหยุดทำงานเนี่ยสิ อาจจะยิ่งอยู่ไม่นาน เพราะเมื่อหยุดทำงาน เซลล์สมอง เซลล์ร่างกายต่าง ๆ มันจะฟ่อลง เพราะมันไม่ค่อยได้ถูกใช้งาน
  49. เมื่อถึงจุดหนึ่งที่หุ้นที่เราถือโตมาก ๆ แล้วในจังหวะ ณ เวลานั้น มีทางเลือกที่ดีกว่า โอกาสเติบโตดีกว่า ก็สามารถขายหุ้นบริษัทเดิม เพื่อไปลงทุนในบริษัทใหม่ที่ดีกว่าได้เช่นกัน
  50. การที่ยอดขายของธุรกิจบางธุรกิจมียอดขายสูงขึ้น เราต้องดูด้วยว่า มันขึ้นเฉพาะราคาหุ้น หรือธุรกิจขยายตัวจริง ๆ โดยดอกเตอร์ยกตัวอย่างสมมติว่า ราคาน้ำมันเคยมีราคา 50 บาทต่อบาร์เรล จู่ ๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 100 บาทต่อบาร์เรล ส่งผลให้ยอดขายบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 100% แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น จำนวนที่ขายน้ำมันได้ก็เท่าเดิม โรงงานก็โรงงานเดิม ไม่มีมีการขยายตัวของธุรกิจแต่อย่างใด แต่คนกลับแห่กันเข้าไปซื้อหุ้น เพียงเพราะเห็นว่ายอดขายธุรกิจสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคนที่เข้าไปซื้อหุ้นทีหลังคนอื่น พอซื้อปุ๊บ ราคาก็ตกเลย ขายไม่ทัน ก็เจ๊งกันไป
  51. เวลาลงทุน อย่ามัวไปมองคนอื่นว่า เขาหุ้นกำลังขึ้น กำลังได้กำไร แต่ไม่เคยมองเลยว่า หุ้นตัวที่เขาถืออยู่นั้น อาจจะนิ่งเงียบมาหลายปีแล้ว ซึ่งสิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ การโฟกัสที่ตัวเราเอง โฟกัสที่การลงทุนของตัวเอง
  52. ก่อนที่เราจะเลือกลงทุนในธุรกิจใด ให้เราลองไปใช้บริการเป็นลูกค้าในธุรกิจนั้นดู ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหาร ก็ให้เราไปลองใช้บริการที่ร้านสาขาต่าง ๆ ดูว่า รสชาติอาหารเป็นอย่างไร อาหารอร่อยไหม บริการดีหรือไม่ มีราคาถูกกว่าอีกเจ้า แต่มีคุณภาพดีกว่า
  53. เวลาเลือกลงทุน อย่ามัวรอดูตอนตัวเลขทางบัญชีออกมาแล้ว เพราะการรอดูตัวเลขทางบัญชี มันจะช้าเกินไป เพราะมันคือผลสรุปที่ผ่านมาทั้งปีแล้ว แต่คุณสามารถดูตัวธุรกิจก่อนหน้าที่ตัวเลขทางบัญชีจะออกได้ เช่น ดูวิธีการทำการตลาด สอบถามการรับรู้แบรนด์จากคนทั่ว ๆ ไปว่ารู้จักแบรนด์ดังกล่าวหรือไม่ ดูว่ามีการขยายสาขาจำนวนเท่าไหร่ ความเร็วในการขยายสาขาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งการเฝ้าสังเกตสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราพอจะคาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจดังกล่าว มีอัตราการเติบโตที่ดี ส่วนเรื่องของกำไรนั้น หากธุรกิจดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็อาจจะยังไม่มีกำไรมากนัก ก็อย่าพึ่งไปสนใจตัวเลขตรงนั้นมากนักในช่วงแรก
  54. ดอกเตอร์เล่าว่าที่ต่างประเทศเคยมีกรณีศึกษาลองให้เด็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจด้วยการซื้อหุ้น แต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับหุ้นเลย แต่ให้พาเด็ก ๆ ไปชม ไปสัมผัส ไปรับประสบการณ์จริง ๆ จากธุรกิจจริง ๆ ซึ่งด้วยความเป็นเด็ก พวกเขาก็มักจะใช้ common sense คือใช้สามัญสำนึกโดยทั่วไปว่า แบรนด์ไหนดีกว่า แบรนด์ไหนน่าลงทุนกว่า ปรากฏว่า เด็ก ๆ กลุ่มนี้ สามารถลงทุนได้ผลตอบแทนที่ชนะขาดเลย เมื่อเทียบกับพวกกองทุนใหญ่ ๆ ที่ดูทั้งทางเทคนิค ดูข่าว วิเคราะห์ PE ดูงบการเงิน ฯลฯ ดังนั้นบางครั้งเราก็ต้องใช้ common sense ในการเลือกลงทุน โดยจะต้องไม่มีการ bias หรือเอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือเอาแต่ดูราคาหุ้นเพียงอย่างเดียว
  55. ดอกเตอร์บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ มักจะเข้าถึงเทรนด์ใหม่ ๆ ได้ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนดอกเตอร์รู้จักแต่ Search Engine หรือผู้ให้บริการผลการค้นหาบนอินเตอร์เน็ต ที่ชื่อว่า Yahoo! แต่จู่ ๆ ลูกของดอกเตอร์ก็มาถามว่า Google มันใช้หาข้อมูลยังไง ซึ่งตอนนั้นดอกเตอร์ไม่รู้จัก Google ซะด้วยซ้ำ นึกว่าชื่อกุ๊กไก่ จนมาถึงตอนนี้ บริษัท Google กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับท็อป ๆ ของโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  56. ดอกเตอร์แนะนำว่า การบริหารพอร์ทการลงทุน ถ้าจะไปลงทุนในบริษัทที่พึ่งเริ่มกิจการใหม่ ๆ นั้น ควรลงทุนไม่เกิน 3%-5% ของพอร์ท เพราะเราไม่รู้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคตได้หรือไม่ ดังนั้น กรณีแย่สุดคือบริษัทนั้นเจ๊ง เราก็จะไม่กระทบมาก เพราะเป็นปริมาณส่วนน้อยของพอร์ท ดังนั้นเวลาเริ่มต้นลงทุนบริษัทใหม่ ๆ ให้เริ่มต้นทีละน้อย
  57. การถือหุ้นผิดบริษัทเป็นสิบปีไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะดอกเตอร์บอกว่า ถ้าธุรกิจที่ไม่ดี เราในฐานะนักลงทุนคุณค่าแล้วนั้น จะต้องตระหนักรู้ตั้งแต่ 2-3 ปีแรก แล้วว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีการเติบโต กำไรไม่มี ปันผลไม่ดี เราก็ควรขายหุ้นบริษัทนั้นทิ้งไปตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ทนถือบริษัทแย่ ๆ มานานนับสิบปี
  58. ดร. นิเวศน์ เล่าว่า การเข้าซื้อหุ้นบริษัทนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบหาเพื่อเข้าไปลงทุนบริษัทดังกล่าวตั้งแต่พึ่งเริ่มใหม่ ๆ เพราะอย่าง Warren Buffett ที่กว่าจะเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท โค้ก นั้น ก็ได้ก่อตั้งมากว่า 50 ปี แล้ว แต่ตอนที่ Warren Buffett เข้าซื้อหุ้นบริษัทโค้ก นั้น ก็เป็นเพราะว่า เขาเล็งเห็นว่า จากเดิมที่โค้กได้ขายเฉพาะในแถบอริกาและยุโรป แต่พอขยายไปเอเชีย อย่างประเทศจีน และประเทศอินเดียแล้วนั้น คนจำนวนมากเหล่านี้ ยังไม่เคยดื่มโค้กกันมาก่อน นั่นจึงทำให้โค้ก สามารถเติบโตได้อย่างมากมายได้อย่างอีกยาวไกลในอนาคต
  59. ข้อดีของความฝัน ก็คือ มันฟรี ไม่เสียตังค์ ดังนั้น ถ้าคุณอยากได้อะไร ให้ฝันเอาไว้ แล้วเอาเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ตามฝันนั้น แล้วพอคุณอยู่ในตลาดหุ้นนานมากพอ เดี๋ยวสิ่งต่าง ๆ ที่คุณเคยฝันเอาไว้จะค่อย ๆ ตามมาเอง
  60. ดอกเตอร์แนะนำว่า เมื่อทำงานได้เงินมาแล้ว อย่ามัวเอาเงินไปฝากแบงค์ อย่าเอาเงินไปซื้อทอง อย่าเอาเงินไปซื้อพันธบัตร อย่าเอาเงินไปทำอย่างอื่น แต่ให้ซื้อหุ้นเพียงอย่างเดียว ถ้าอยากจะรวย เพราะจากสถิติทั่วโลกส่วนใหญ่นั้น ผลตอบแทนในระยะยาวนั้น หุ้นคือสินทรัพย์ที่สูงที่สุดและปลอดภัยที่สุด
  61. โดยธรรมชาติของหุ้น มันจะยากในช่วงแรก ๆ แต่หากคุณสามารถอยู่ทนได้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป คุณจะรู้สึกได้เลยว่า เงินมันจะเพิ่มมากขึ้น กว่าการฝากเงินเอาไว้ในธนาคาร และมันจะไม่กลับมาต่ำกว่าการฝากเงินเอาไว้ในแบงค์อีกเลย ซึ่งเมื่อถึงจุด ๆ นั้น คุณจะสบายอย่างยิ่ง โดยไม่วิตกกังวลอะไร ในการที่จะถือหุ้นเอาไว้แบบ 100%
  62. ข้อดีของการลงทุนในหุ้นนั้น เงินของเรา มันสามารถไปได้ทั่วโลก มันสามารถไปต่างประเทศได้ เช่น เราอาจจะเริ่มจากการลงทุนในหุ้นไทย แต่อีกหน่อย เราก็สามารถลงทุนในเวียดนามได้ ลงทุนในจีนได้ หรือจะไปลงทุนในลาว หรือพม่า หรือประเทศอื่น ๆ ได้
  63. การที่คุณเกิดมาไม่มีแต้มต่อ ไม่ใช่ลูกคนรวย ก็ยังถือว่ายังมีโอกาสรวยได้ แต่หากใคร ที่แม้ไม่แต่กระทั่งอยากที่จะขวนขวาย กระตือรือร้น หาความรู้ใส่ตัว มีความทะเยอทะยานอยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิต ขยันทำมาหากินด้วยแล้วล่ะก็ หมดแต้มต่อไปเลย มันก็จบเกมไปตั้งแต่วันแรกแล้ว
  64. ลูกคนรวยนั้น ถ้าไม่ทำอะไรที่เลวร้ายจนเกินไป ยังไงก็สบาย แต่หากเลือกเส้นทางเดินผิด ถลุงเงินจนหมด ก็สามารถหมดตัวได้เช่นกัน
  65. ดอกเตอร์เล่าว่า แม้ว่าเขาจะเกิดมาจน แต่เขาก็มีแต้มต่อตั้งแต่ยังเด็ก เช่น เป็นคนมีระเบียบวินัย เป็นอดออม กินแต่พอดี ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นแต้มต่อในชีวิตส่วนหนึ่ง ที่แม้คุณจะเกิดมายากจน แต่คุณก็สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
  66. หลายคนไม่รู้พลังของการทบต้น ว่ามันมโหฬารมาก มันเหมือนกับ snow ball ที่ช่วงแรก ๆ มันเป็นหิมะก้อนเล็ก ๆ ที่ลงจากภูเขา แต่พอวันเวลาผ่านไป มันจะมีขนาดที่ใหญ่มหึมามาก ซึ่งการลงทุนก็จะเป็นในลักษณะดังกล่าว ที่หากคุณอยู่ในตลาดหุ้นที่ยาวนานมากพอ เงินของคุณจะโตมากเป็นทวีคูณ
  67. พลังของทบต้นนั้น ดร.นิเวศน์ ลองคำนวณให้ดูว่า ถ้าหากวันนี้คุณมีเงินต้น 1 ล้านบาท แล้วลงทุนเป็นระยะเวลานาน 50 ปี ถ้าลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% คุณจะเป็นเศรษฐีร้อยล้าน แต่ถ้าผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 15% คุณจะเป็นเศรษฐีพันล้าน แต่ถ้าผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 20% แบบทบต้น คุณจะกลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน จากเงินต้นเพียง 1 ล้านบาท
  68. ถ้าในวันนี้สำหรับคนที่ขวนขวายหาความรู้เรื่องการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยอยู่ พอเรียนจบ เริ่มต้นทำงาน ตั้งแต่อายุ 22 ปี คือจบระดับชั้นปริญญาตรี แล้วเริ่มลงทุนเลยตั้งแต่นั้น จะได้เปรียบมาก เพราะกว่าจะถึงวัยเกษียณ ก็อีกราว ๆ 30-40 ปี ซึ่งได้เปรียบกว่าตัวของ ดร.นิเวศน์ มาก ๆ เพราะกว่าที่เขาจะเริ่มลงทุนแบบจริง ๆ จัง ๆ 100% นั้น อายุก็ปาเข้าไป 44 ปี แล้ว อีก 30-40 ปี เขาก็ตายแล้ว เหลือเวลาไม่มาก
  69. ดร. นิเวศน์ เล่าว่า สไตล์การเก็บเงินหากคุณทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเขาแล้วนั้น จะต้องเลือกงานที่มีค่าตอบแทนสูง และรายจ่ายน้อย เพราะจะทำให้มีเงินเหลือออมไปลงทุนได้เยอะ ๆ ซึ่งกรณีของดอกเตอร์นั้น เขาวางแผนไว้เลยว่า เขาเลือกที่เรียนวิศวกร ที่สมัยก่อนมักมีรายได้ที่สูง แล้วเขาเลือกที่จะไปทำงานต่างจังหวัดที่มีค่าครองชีพที่ต่ำ แถมยังเลือกทำบริษัทที่มี OT: Over Time หรือที่เรียกว่าทำโอ ที่จะได้เงินเสริมการทำงานค่าล่วงเวลามาเพิ่มอีกหลายเดือน แถมบริษัทดังกล่าวยังมีสวัสดิการที่ดี เช่น มีที่พักให้อยู่ฟรี มีรถประจำตำแหน่งให้ มีอาหารให้กินสามมื้อ ทำให้ดอกเตอร์ มีเงินเก็บเยอะ ที่ขนาดยังส่งเงินไปให้ที่บ้านพ่อแม่ใช้แล้วประมาณ 30% ของรายได้ ก็ยังเหลือเงินเยอะอยู่ เพราะแทบไม่ได้ใช้จ่ายอะไร
  70. หลายคนพอทำงานแล้วได้ขึ้นเป็นผู้บริหาร มีรายได้เยอะขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะหมดไปกับค่า ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนของชิ้นใหญ่ ๆ จนไม่เหลือเงินเก็บ แต่ในขณะที่ ดร. นิเวศน์ นั้น ท่านบอกว่า กว่าท่านจะซื้อรถคันแรก อายุก็ปาไป 40 กว่า แล้ว แถมยังเป็นรถมือสองถูก ๆ ส่วนบ้านนั้น กว่าจะซื้อหลังแรก อายุก็ปาไป 50 กว่าแล้ว ส่วนก่อนหน้านั้นก็อยู่อาศัยที่บ้านของภรรยาที่พ่อตาสร้างเอาไว้ให้
  71. หลักการเป็น VI : Value Investor ที่ดีนั้น คือการที่คุณต้องเป็นนักเลือก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่เลือกหุ้น แต่เป็นการเลือกในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเลือกเส้นทางเดินที่ถูกต้อง ถ้าคุณเลือกเส้นทางเดินที่ถูกต้อง ก็ถือว่าคุณเข้าใกล้การประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
  72. เส้นทางการเป็น VI นั้น มันอาจจะสำเร็จช้า คุณอาจจะผิดหวัง แต่คุณจะไม่เจ๊ง และในที่สุด ถ้าคุณไปในทิศทางที่ถูกต้อง เดี๋ยวมันปูเส้นทางไปสู่ความสำเร็จด้วยตัวมันเอง
  73. ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เมื่อสมัยก่อนเกลียดวิชาพวก ชีววิทยา มาก แต่มาตอนนี้เขากลับชอบศึกษาเรื่องยีนส์ จิตวิทยา และประวัติศาสตร์มาก เพราะตลาดหุ้นมันก็คือแหล่งรวมของกระแสผู้คน ซึ่งเมื่อเข้าใจในเรื่องของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้มองเห็นภาพของมวลชนมากยิ่งขึ้น ลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
  74. คนสมัยนี้ มีทางเลือกที่ดีกว่าคนสมัยก่อนมาก โดย ดอกเตอร์เล่าว่า สมัยที่ท่านทำงานเป็นวิศวกรอยู่นั้น เงินเดือนแค่ 3,000 บาท เอง ซึ่งสมัยก่อนวิธีที่จะรวยได้มีเพียงอยู่วิธีเดียวก็คือ จะต้องทำธุรกิจ ซึ่งการที่จะทำธุรกิจสมัยก่อนนั้น คือเรื่องใหญ่มาก ที่แม้คุณจะมีความรู้เรื่องการทำการตลาด แต่ก็ทำได้ยากมาก ใช้ทุนสูง การตั้งออฟฟิศเป็นเรื่องเป็นราว จะต้องมีโกดังเก็บสินค้า ใช้เงินเยอะมาก แต่ในสมัยนี้ มีเงินนิดเดียว ก็สามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้แล้ว หรือถ้าจะทำธุรกิจสมัยนี้ ขอแค่คุณมีไอเดียกับเงินทุนหมุนเวียนสักก้อนหนึ่งคุณก็ไปได้แล้ว ส่วนการตลาดทำเองบนออนไลน์ก็ยังได้ แถมยังไม่ต้องสต็อกของไว้เยอะ ๆ เพราะคุณสามารถไปซื้อราคาส่งจากเจ้าใหญ่ ๆ มาขายต่อได้ หรืออย่างในสมัยนี้ก็มีคนรับผลิตสินค้าเยอะแยะ จ่ายเงินก็จบ
  75. นักร้องสมัยก่อน กว่าจะดัง ว่าจะรวยได้นั้น จะต้องมีค่ายยักษ์ใหญ่อยู่ แต่ในขณะที่สมัยนี้ คุณแค่มีเครื่องมือนิด ๆ หน่อย อัดวีดีโอแล้วโพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดีย คุณก็สามารถดังได้ และเมื่อคุณดังแล้ว คุณก็สามารถรวยได้
  76. ตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ดร. นิเวศน์ ในวัย 44 ปี โดน layoff ไล่ออกจากงาน ท่านเล่าว่า ท่านไม่เศร้าเลย แต่สิ่งที่ท่านทำก็คือ รีบสำรวจอย่างรวดเร็วต่อเลยว่า จะมีเส้นทางใด ที่จะเดินหน้าต่อไปได้บ้าง จนกระทั่งเส้นทางรอดทางเดียว ณ ตอนนั้น คือตลาดหุ้น เพราะครั้นจะไปสมัครงานที่แห่งใหม่ก็หาได้ยากมาก มีแต่บริษัทต้องการไล่ออก แถมอายุเยอะแล้วด้วย แต่ด้วยความที่มีประสบการณ์ในการลงทุนหุ้นในนามบริษัทเก่ามาก่อน จึงรู้หลักของการลงทุนแบบ VI มาเป็นอย่างดี
  77. ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เมื่อตนเองเลือกที่จะเป็น VI เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หลังจากตกงานแล้วนั้น ท่านก็ตัดสินใจที่จะเขียนหนังสือในทันที เพราะการลงทุนแบบ VI ในตอนนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งถ้าหากแนวคิดนี้ติดตลาดได้ ท่านก็จะกลายเป็นผู้นำในตลาดนี้ในทันที เวลาที่มีข่าวอะไรเกี่ยวกับหุ้น สื่อต่าง ๆ ก็มักจะนึกถึงท่านเป็นอันดับต้น ๆ ที่จะถามคำถาม นั่นคือข้อได้เปรียบของการเป็นผู้นำในวงการนั้น ๆ
  78. ดอกเตอร์บอกว่า ถ้าเรื่องใดที่เขาไม่มั่นใจที่จะชนะ เขาเลือกที่จะไม่ทำ ต่อให้มีโอกาสชนะถึง 60% ก็ไม่ทำ จะเลือกทำหากเรื่องดังกล่าวมีโอกาสชนะ 80% ขึ้นถึงจะทำ ถ้าต่ำกว่านั้น ไม่ทำซะดีกว่า อยู่เฉย ๆ ดีกว่า
  79. สาเหตุที่ ดร. นิเวศน์ ไม่เลือกที่จะเล่นการเมือง แม้ว่าท่านจะบอกว่า ท่านรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเกือบหมด นั่นก็เป็นเพราะว่า การรู้ทุกเรื่อง ไม่เหมือนกับการลงไปเล่นการเมืองเอง การลงไปเล่นการเมืองเองนั้นต้องแพ้แน่ ๆ เพราะท่านบอกว่า การเป็นนักการเมืองนั้นจะต้องมีบุคคลิกที่ดี หน้าตาดี มีแรงดึงดูดมวลชน ซึ่งถ้าไม่มีเหล่านี้ก็ชนะยาก
  80. ดร. นิเวศน์ บอกว่า แม้ว่าท่านจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจ แต่ถ้าให้ท่านไปบริหารธุรกิจเองเจ๊งแน่นอน เพราะการบริหารธุรกิจนั้น มันจะต้องเก่งเรื่องของการบริหารคน มี EQ สูงมาก พูดอะไรแล้วคนฟัง พูดจาเพราะพริ้ง คนฟังแล้วเคลิ้มนิยมชมชอบ ในขณะที่ตัวของท่านเองเป็นคนพูดตรง คนไม่ค่อยชอบ
  81. การเป็น VI ที่ดี จะต้องรู้กว้าง รู้รอบโลก รู้เรื่องที่สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก และที่สำคัญจะต้องรู้เรื่องของมนุษย์เป็นอย่างดี
  82. ตลาดหุ้นมันคือชีวิต มันคือทุกอย่าง มันเป็นที่รวมเรื่องของเศรษฐกิจโลก และเรื่องเศรษฐกิจคือชีวิตของมนุษย์เรา และโลกอยู่ในภาวะขาขึ้นมาอย่างยาวนาน ดังนั้นถ้าตลาดหุ้นตกต่ำ เดี๋ยวมันก็ขึ้น ถ้าคุณเลือกหุ้นที่ถูกตัว เพราะโดยปกติแล้ว โลกมีการพัฒนาขึ้นอยู่ตลอดในช่วงหมื่นปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการสร้างเมือง ตั้งอาณานิคม มีแต่เจริญขึ้น เศรษฐกิจขึ้นทุกปี ดังนั้นตลาดหุ้นมันคือสิ่งที่สะท้อนเศรษฐกิจทั้งโลกว่า โลก ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร
  83. ต้องระวังเอาไว้ว่า พักหลัง ๆ เรื่องของการเมืองภายในประเทศต่าง ๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ บางครั้งหุ้นอาจจะลงมาต่ำกว่า 50% แล้วไม่กลับไปขึ้นอีกเลยก็เป็นได้ จังหวะนั้น คุณอาจจะต้องตัดสินใจขายก่อนที่ย่ำแย่ยิ่งไปกว่านี้ ยกตัวอย่างประเทศที่ล่มสลายไป เช่น ประเทศเวเนซุเอลา ประเทศอาร์เจนตินา ประเทศศรีลังกา เป็นต้น
  84. การคิดแบบ VI คุณจะต้องคิดแบบตรงไปตรงมา ไม่ bias หรือคิดทำนองพรรณาเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่จะต้องวิเคราะห์ตามหลักสถิติ ตัวเลข อย่างมีเหตุมีผล
  85. เวลาจะลงทุนในสิ่งใด ให้คุณลองคำนวณด้วยหลักสถิติดู ยกตัวอย่างเช่น หากคุณได้ยินมาว่า มีคนลงทุนใน cryptocurrency แล้วรวย ก็ต้องกลับไปดูสถิติว่า มีคนจำนวนเท่าไหร่ที่ร่ำรวยจาก crypto ซึ่งมันอาจจะมีเพียงคนแค่ 0.1% เท่านั้น ที่ร่ำรวยจากตลาดนี้ ส่วนอีก 99% นั้นเจ๊งหมด คุณก็ต้องคิดแล้วว่า คุณเก่งพอที่จะเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มของ 0.1% ที่ร่ำรวยจากโลก crypto นั้นหรือไม่
  86. ดอกเตอร์บอกว่า ถ้าคุณศึกษาเรื่องยีนส์ของมนุษย์ คุณจะสามารถรู้พฤติกรรมของคน ๆ นั้นค่อนข้างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องใช้เรื่องของจิตวิทยามาพิจารณาก็ยังได้เลย เพราะโดยปกติแล้ว ยีนส์ของมนุษย์แต่ละคนนั้น จะแสดงออกมาตามธรรมชาติของมนุษย์เอง เช่น ยีนส์ของผู้นำ ผู้บริการองค์กรระดับสูงนั้น มักจะเป็นคนที่มีร่างกายสูงใหญ่ เหมาะกับการเป็นผู้นำ เป็นจ่าฝูง เป็นต้น
  87. ความสุขส่วนใหญ่ของคนเรานั้น มักมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนฝูง ซึ่งเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ที่คุณมีเงินเกินพอแล้ว มีเป็นพันล้านแล้ว ความสุขคุณก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมากกว่าที่คุณมีอยู่ เพียงแต่มันแค่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของคุณให้ง่ายยิ่งขึ้นก็เท่านั้นเอง
  88. สิ่งที่ ดร. นิเวศน์ แสวงหานั้น ไม่ใช่ความร่ำรวย แต่เป็นความมั่นคง ซึ่งการมีเงินเยอะจะทำให้เรารู้สึกมีความมั่นคง ไม่พะวงหน้าพะวงหลังในเรื่องของการหาเงิน
  89. สาเหตุที่ ดอกเตอร์ ท่านได้ตัดสินใจลาออกจากงานสุดท้ายนั้น ไม่ใช่เพราะมีเงินเยอะแล้ว แต่เป็นเพราะมีความเครียด มีความกดดัน ในตอนที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่แบงค์ แล้วต้องเซ็นต์อนุมัติสินเชื่อรายหนึ่งที่ส่อแววจะเจ๊ง แล้วอาจจะผิดกฏหมายได้หากเซ็นต์อนุมัติปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ กลับไปบ้านก็เครียดนอนไม่ค่อยหลับ เลยตัดสินใจลาออกจากธนาคาร
  90. ในขณะที่คุณลงทุน หากคุณไม่ได้เดือดร้อนอะไร การทำงานเพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอด ก็จะทำให้คุณรู้สึกมั่นคงมากยิ่งขึ้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องลาออกก็ได้ หากคุณยังมีแรงทำงานและมีความสุขกับงานทำงานอยู่
  91. เราทุกคนควรวางแผนทางการเงินในระยะยาว ตั้งแต่แรก ๆ ในวัยทำงานเลย วางให้เห็นภาพใหญ่ทั้งหมด แล้วกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วเลือกเส้นทางเดิน แล้วค่อย ๆ ทำตามเป้าหมายทีละเล็กทีละน้อยให้กลายเป็นจริงตามแผนที่วางเอาไว้
  92. เมื่อคุณแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก คุณจะกล้าเสี่ยงได้น้อยลง เพราะก่อนหน้านั้น คุณสามารถลุยได้เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องคอยห่วงคนอื่น ๆ ว่าจะได้รับผลกระทบหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แต่เมื่อมีครอบครัวแล้ว คุณจะไม่กล้าเสี่ยงมาก เพราะกลัวลูกเมียได้รับผลกระทบตามไปด้วย หากเกิดข้อผิดพลาด
  93. การเป็นนักลงทุนแบบ VI ไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าหน้าจอเพื่อดูกราฟ เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วนั้น ยังเสียประโยชน์ด้วย เพราะเราจะไปมัวหาแพทเทิร์นของกราฟ เพื่อหาจุดเข้าทำเก็งกำไร ในขณะที่หลักการใหญ่ที่เป็นหัวใจสำคัญแบบ VI คือการวิเคราะห์ตัวบริษัท ไม่ใช่อยู่ที่ราคาหุ้น
  94. คุณต้องแยกก่อนว่า ระหว่าง ชีวิตกับเงิน นั้น เป็นคนละเรื่องกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรง คุณไม่สามารถใช้เงินไปซื้อยามาโดปแล้วก็แข็งแรงขึ้นมาได้ เพราะถ้าคุณอยากแข็งแรง คุณก็ต้องไปออกกำลังกาย ออกไปวิ่ง
  95. ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เคยมีคนถาม George Soros พ่อมดแห่งโลกการเงินว่า การที่เขามีเงินเยอะขึ้นอย่างมหาศาลนั้น มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ซึ่งเขาก็ตอบกลับมาในทำนองที่ว่า เขาก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือน ๆ เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนก็คือ มีคนฟังเสียงของเขามากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง ดร.นิเวศน์ ท่านก็เห็นด้วยว่า พอมีเงินเยอะถึงจุด ๆ หนึ่ง คุณก็จะใช้ชีวิตไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนอย่างชัดเจนก็คือ มีคนฟังเขามากยิ่งขึ้น
  96. ดร. นิเวศน์ เล่าว่า เขามีเพื่อนที่เรียนจบมาพร้อม ๆ กัน แต่เพื่อนเลือกที่จะทำธุรกิจ ทำจนแก่ แล้วก็เลิกไป ส่วนรุ่นลูกก็ไม่อยากทำต่อ ซึ่งทำมาทั้งชีวิต อย่างมากก็ได้ประมาณร้อยล้าน หรืออย่างแย่หน่อยก็ได้ราว ๆ 20-30 ล้านบาท แต่ในขณะที่การลงทุนในหุ้นนั้น สามารถทำให้เรามีเงินเป็นพันล้านได้ โดยที่ไม่ต้องออกแรงมากเท่ากับการทำธุรกิจเอง
  97. กฎ 72 คือตัวเลขมหัศจรรย์ที่นำไปใช้คำนวณหาได้ว่า เงินของเราจะโตขึ้นเป็นสองเท่าต้องใช้เวลากี่ปี โดยนำผลตอบแทนไปหาร 72 ยกตัวอย่างเช่น ผลตอบแทน 5% ต่อปี ก็จะได้ว่า 72/5 = 14.4 ปี ถ้าผลตอบแทน 10% ต่อปี เงินจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 72/10 = 7.2 ปี เป็นต้น
  98. ดอกเตอร์เล่าว่า รุ่นคุณพ่อของเขาท่านอพยพมาจากประเทศจีนที่ไม่ได้มีการศึกษาอะไร ก็ทำได้แต่งานช่างก่อสร้างตลอดชีวิต ดังนั้น ดร.นิเวศน์จึงได้ข้อคิดว่า เขาจะต้องลงทุนในความรู้ เพราะด้วยความที่เขาไม่ค่อยมีเงิน การลงทุนในความรู้จึงเป็นอะไรที่ทำได้ในตอนนั้น ซึ่งก็อาศัยทำงานไป เรียนควบคู่กันไป แม้แต่ตอนที่บินไปเรียนปริญญาเอกที่ต่างประเทศ ดอกเตอร์ยังมีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินแค่ขาไปขาเดียว ส่วนที่เหลือไปลุยทำงานเลี้ยงตัวเอง ช่วยอาจารย์สอนบ้าง ทำรีเสิร์ชช่วยอาจารย์บ้าง จนกระทั่งสามารถเรียนจบปริญญาเอกได้ มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน บินกลับไทยได้
  99. ใครที่บอกว่า ดร.นิเวศน์ พอเข้าตลาดหุ้นแล้วรวยเลย ดอกเตอร์บอกว่าไม่เป็นความจริง เพราะในวันที่ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งราว ๆ ปี พ.ศ. 2537 นั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ราว ๆ 1,700 จุด พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมาประมาณ 50% เหลือแค่เพียง 800 จุด ทางดอกเตอร์จึงตัดสินใจ อัดเงินเก็บทั้งชีวิต 100% ที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายการทำงานประมาณ 10 ล้านบาท ลงไปในตลาดหุ้นทั้งหมด ซึ่งพอผ่านไปเพียงแค่สองปี จาก 800 จุด เหลือแค่เพียง 200 จุด แต่พอผ่านไป 20 ปี ตลาดหุ้นไทยก็กลับมาที่ประมาณ 1,600-1,700 จุด ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนี่คือข้อดีของการลงทุนแบบ VI ในการเลือกถือหุ้นที่ดี ที่ในระยะยาวมันจะสามารถกลับมาได้
  100. วิธีเลือกหุ้น super stock สไตล์ของ ดร.นิเวศน์ ก็คือการเลือกจากคุณภาพของกิจการ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น Mega Trends อยู่ในช่วงเติบโต ณ เวลานั้น และเลือกผู้นำที่เป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมนั้น ที่จะต้องเป็นผู้ชนะที่มี market share ทิ้งห่างจากอันดับรองลงมาอย่างน้อย 2 เท่าตัว และนอกจากนั้นยังต้องเป็น super brand ที่สามารถขายสินค้าได้ราคาสูงกว่าคู่แข่งมาก ๆ ได้ มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่มาก ๆ จนคู่แข่งตามไม่ทัน ต่อมาคือจะต้องมี network effect อย่างเช่น Social Media ต่าง ๆ ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างมหาศาล และลูกค้ามาใช้บริการซ้ำ หรืออาจจะเป็นธุรกิจที่มีให้บริการเพียงเจ้าเดียว ไม่มีคู่แข่ง และธุรกิจดังกล่าวจะต้องไม่ถูกทำลายโดยเทคโนโลยี และนอกจากนั้นก็จะต้องมีตัวเลขที่ดี ผลกำไรที่ดี เติบโตทุกปี มีหนี้สินน้อยหรือไม่มีหนี้เลย และมีการลงทุนน้อยแต่สามารถขยายกิจการได้เยอะ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่พื้นฐานบริษัทเหล่านั้น สูญเสียความเป็น super stock คุณก็จะต้องสามารถตัดสินใจขายมันทิ้งได้ในทันที แต่ถ้าพื้นฐานยังดีอยู่ ก็ถือกันยาว ๆ

และนี่ ก็เป็นเพียงคำแนะนำส่วนตัวจากทาง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เพียงท่านเดียวเท่านั้น ไม่ใช่การแนะนำในการลงทุนใด ๆ ดังนั้น เงินของคุณ คุณต้องตัดสินใจกันเอาเอง โดยเนื้อหานี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรณีศึกษาและเรียนรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

Resources