7 นิสัยการเงินที่กำลังฉุดรั้งคุณจากความมั่งคั่ง by Ramit Sethi
Ramit Sethi ผู้เขียนหนังสือ I will teach you to be rich : ผมจะสอนให้คุณรวย ในเนื้อหานี้ เขาจะมาแชร์เกี่ยวกับ 7 กับดักการเงินที่คุณอาจไม่รู้ตัว ว่ากำลังฉุดรั้งตัวคุณเองให้จนลง
เพราะจากประสบการณ์ของเขา ชีวิตคนรวยส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่กับเรื่องของจิตวิทยาการเงินและความเชื่อที่เรามีต่อเงินเป็นหลัก โดย Ramit เขาเชื่อว่าถ้าเราปรับเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมการใช้เงินใหม่ได้ เราจะแปลกใจเลยล่ะว่าทำไมสถานการณ์ทางการเงินของเรานั้นถึงได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วขนาดนี้
ดังนั้นเนื้อหาในครั้งนี้ Ramit เขาจึงอยากจะแชร์ให้ฟังถึง 7 นิสัยการเงินส่วนใหญ่ที่มักจะฉุดรั้งผู้คนจากความมั่งคั่ง พร้อมกับแชร์เคล็ดลับดี ๆ จาก Ramit ว่าเราควรจะรับมือกับมันอย่างไร
นิสัยการเงินแย่ข้อที่ 1 การไม่สนใจเรื่องของการเงิน – Ignoring money
Ramit บอกว่า การทำเป็นมองข้ามปัญหาเรื่องของการเงิน เป็นหนึ่งในนิสัยที่แย่ที่สุดเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการหนีหนี้บัตรเครดิต หรือการผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องของการลงทุน โดยคิดว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้
แต่ยิ่งคุณปล่อยไว้นานเท่าไหร่ หนี้ก็ยิ่งพอกพูน ดอกเบี้ยก็ยิ่งทบต้น แถมยังเสียโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งอีกด้วย เพราะมัวแต่เอาเงินไปใช้หนี้ ไม่มีเงินเหลือไปต่อยอด
ฉะนั้นถ้าใครมีหนี้บัตรเครดิตอยู่ตอนนี้ ให้รีบหันมาวางแผนปลดหนี้ซะ คุณต้องรู้เลยว่าจะหมดหนี้เมื่อไหร่ แค่เห็นแสงสว่างรออยู่ปลายอุโมงค์ มันก็ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้เยอะเลย จะ 3 ปี หรือ 30 ปี ก็ยังดีกว่าปล่อยค้างไว้ เพราะดอกเบี้ยพวกนี้มันสูงมาก อยู่ที่ 22-28% ต่อปี คิดดูว่าการผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 1,000 2,000 3,000 บาท ก็ลดหนี้ไปได้เป็นปี ๆ เลย
ส่วนเรื่องการลงทุนก็ห้ามนิ่งนอนใจเด็ดขาด โดย Ramit ก็แนะนำให้ทุกคนตั้งเป้าแบ่งรายได้อย่างน้อย 5-10% ไปเข้าบัญชีการลงทุนอัตโนมัติในทุก ๆ เดือน เพราะนี่คือหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว อย่าไปเสียเวลากับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการออมจากการงดดื่มกาแฟแก้วละร้อยกว่าบาท แต่ให้มองภาพใหญ่ว่าถ้าเราเอาเงินไปลงทุน ผลตอบแทนที่ได้จะเป็นกี่เท่า แล้วคุณจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเลยล่ะ
นิสัยการเงินแย่ข้อที่ 2 ชอบตั้งคำถามหลักร้อย แทนที่จะตั้งคำถามหลักล้าน – Asking $3 questions instead of $30K questions
Ramit บอกว่า มีหลายคนเวลาที่เครียดเรื่องเงิน แต่ชอบแก้ปัญหาด้วยการพยายามประหยัดในทุกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงดดื่มกาแฟแก้วละร้อยกว่าบาท, จ่ายตลาดให้น้อยลง หรือแม้กระทั่งประหยัดเรื่องของหนังยางรัดถุงแกง ซึ่งเขามองว่ามันเป็นวิธีการใช้ชีวิตที่แย่มาก ๆ เพราะมันแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลยถ้ามองในระยะยาว
Ramit บอกว่ามีทางที่ดีกว่านั้นก็คือ ให้เรามาโฟกัสไปที่เรื่องสำคัญ ๆ ที่จะสามารถสร้างผลกระทบมหาศาล หรือที่เขาเรียกว่า “The Big Wins”
ซึ่งมันมีไม่กี่เรื่องหรอกในชีวิต ที่ถ้าเราทำมันให้ถูกต้อง เราก็แทบไม่ต้องกังวลกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกเลยในชีวิต เพราะ The Big Wins แค่เพียง 5-10 เรื่อง มันมีมูลค่ามากกว่าอีก 50 เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำได้รวมกันซะอีก
แล้วอะไรบ้างล่ะ ที่เป็น The Big Wins ในชีวิตทางการเงิน?
โดย Ramit ยกตัวอย่างเช่นว่า ค่าธรรมเนียมในการลงทุน ซึ่งหลายต่อหลายคนที่มีที่ปรึกษาทางการเงินส่วนตัว โดยไม่รู้เลยว่าพวกเขาคิดอัตราค่าบริการเราเท่าไหร่ ซึ่งโดยเฉลี่ยถ้าเขาคิดอัตราค่าธรรมเนียมประมาณ 1% ต่อปี ของพอร์ตการลงทุนของคุณ มันหมายถึงว่าคุณต้องเสียเงินไปมากถึง 28% ของผลตอบแทนตลอดชีวิต ซึ่งมันเป็นเงินจำนวนมหาศาลมาก มันอาจจะเป็นหลักแสนหรือหลักล้านได้เลยทีเดียว นั่นคือเรื่องแรกที่เราสามารถทำให้มันเป็น The Big Wins ได้
ดังนั้น ใจความสำคัญที่ทาง Ramit ต้องการจะสื่อจริง ๆ ก็คือ ถ้าประหยัดในเรื่อง The Big Wins ไม่กี่เรื่องแต่สามารถประหยัดเงินได้เป็นล้าน คุณจะมามัวกังวลอะไรกับอีแค่กาแฟแก้วละร้อยกว่าบาท ที่ประหยัดให้ตายก็ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเงินมากนัก
นิสัยการเงินแย่ข้อที่ 3 มัวแต่เล่นเกมรับ รอลุ้นว่าเศรษฐกิจจะไปทางไหน – Playing defense with your money
Ramit เล่าว่า มีอีเมลเข้ามาถามเขาเป็นจำนวนมากว่า “เรื่องที่ FED หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประกาศนโยบายอะไร จะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่ คุณมีความคิดอย่างไรบ้าง?”
ทุกครั้งที่เจอคำถามแบบนี้ทาง Ramit เขาก็มักจะถามย้อนกลับไปว่า “เรื่องดังกล่าว มันเป็นเรื่องที่คุณไม่สามารถควบคุมได้เลย แล้วคุณจะเป็นกังวลไปทำไมกัน?”
แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ระหว่างที่หลายคนเสียเวลาไปกับการนั่งกลุ้มใจกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม พวกเขาก็กลับมองข้ามประเด็นสำคัญ ๆ ที่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองจริง ๆ ไป
โดย Ramit บอกว่า สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าใครสักคนกำลังเล่นเกมในเชิงรับกับเรื่องของการเงินก็คือ คน ๆ นั้น มักจะเข้าไปเช็คบัญชีในแอปธนาคารแทบจะทุกวัน โดยคิดว่าต้องเข้าไปตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบมีการตัดบิลต่าง ๆ ไปแล้วหรือยัง หรือเอาแต่คอยเฝ้าดูว่าตลาดหุ้นและธนาคารกลางจะประกาศข่าวอะไรออกมาบ้าง
ซึ่งเมื่อเห็นพฤติกรรมแบบนี้ Ramit ก็มักจะบอกอยู่เสมอว่า “คุณควรหยุดการกระทำแบบนี้ได้แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องมีแอปเกี่ยวกับข่าวการเงินในมือถือของคุณเลยซะด้วยซ้ำ คุณไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปเช็คในบัญชีรายวันขนาดนั้น ถ้าคุณมีการวางระบบการเงินอัตโนมัติที่ดีอยู่แล้ว”
ซึ่งการที่ใครสักคนต้องเปิดแอปเข้าไปดูบัญชีทุกวัน มันสะท้อนให้เห็นถึงว่า:
- พวกเขารู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่มีอำนาจอยู่เหนือเงินที่มีอยู่
- พวกเขายังไม่มีระบบการบริหารเงินที่มีประสิทธิภาพ
- ที่สำคัญที่สุด พวกเขากำลังหมกมุ่นกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากเกินไป
ซึ่งนี่แหละคือตัวอย่างของคนที่กำลังเล่นเกมการเงินในเชิงรับ คิดเล็กคิดน้อย ไม่กล้าคิดใหญ่ให้สมกับเป็นผู้ชนะ
ซึ่ง Ramit เขาก็ขอพูดตรง ๆ เลยว่า ไอ้การที่คอยเช็คยอดบิลในบัญชีทั้งวัน มันไม่มีทางทำให้คุณมีชีวิตที่ร่ำรวยได้แน่ ๆ เพราะมันเป็นเรื่องเล็กเกินไปที่คุณจะมาทุ่มเทเวลาให้กับมันมากขนาดนั้น และที่สำคัญไปกว่านั้น เจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์มันทำงานนี้ได้ดีกว่าตัวคุณเป็นไหน ๆ แถมใช้เวลาทำน้อยกว่าอีกด้วย
สิ่งที่ Ramit อยากย้ำก็คือ เขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดที่ว่า เงินเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ เศร้าหมอง เครียด หรือกดดันอยู่ทุกเวลา เพราะนั่นมันไม่ใช่สิ่งที่เงินเป็นเลย
ซึ่งโอเคแหละว่า คุณอาจต้องเก็บออมเงิน นำเงินไปลงทุน เอาเงินไปจ่ายหนี้ อะไรพวกนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง คุณก็ควรใช้เงินเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับชีวิต โดยที่ไม่ต้องไปรู้สึกผิดอะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับการมีเงินเยอะ ๆ
ดังนั้นเทคนิคสำคัญที่จะทำให้ถึงจุดนั้นได้ คุณจะต้องวางแผนเล่นเกมรุกกับการเงินของคุณให้ได้เสียก่อน และเมื่อมีระบบการบริหารเงินที่ดีและเข้าที่แล้ว การที่ต้องคอยเข้าไปเช็คยอดบัญชีรายวันก็จะกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นอีกต่อไป
นิสัยการเงินแย่ข้อที่ 4 ติดกับดักความเชื่อผิด ๆ เรื่องเงิน (Following invisible scripts)
Invisible Scripts หรือ “บทเรียนที่มองไม่เห็น” คือความเชื่อที่ฝังอยู่ลึกในจิตใจเรา ที่เราเคยได้รับรู้ผ่านมาในอดีต ที่อาจจะเป็นทั้งเรื่องจริงหรือไม่จริง จนแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันคอยชี้นำทัศนคติและพฤติกรรมของเราอยู่ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวเหล่านั้นอาจกลายเป็นกับดักทางจิตวิทยาที่อันตราย ฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวหน้า
โดย Ramit เขาได้ยกตัวอย่างหนึ่งของ Invisible Script ที่พบได้บ่อยในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือ “คุณควรซื้อบ้าน เพราะการเช่าอยู่เท่ากับทิ้งเงินไปเปล่า ๆ” ความคิดแบบนี้ถูกฝังหัวเรามาตั้งแต่เด็ก ทั้งจากคนรอบข้าง ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ จนเราเริ่มเชื่อในที่สุด ซึ่งความเชื่อนี้มันอาจจะจริงหรืออาจจะไม่ก็ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคนด้วย
หรืออย่างประโยค “เราจ่ายมันไม่ไหวหรอก” ที่หลายคนเคยได้ยินจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก
แต่ให้ลองนึกภาพเมื่อวันเวลาผ่านไป 30 ปี ตอนนี้คุณอาจจะมีหน้าที่การงานที่ดี เริ่มลงทุนบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใจเลยว่าทำไมถึงรู้สึกผิดเมื่อตอนที่กำลังจะซื้อกาแฟสักแก้วมาดื่ม ทั้ง ๆ ที่ก็มีกำลังจ่ายในระดับหนึ่งแล้ว เพราะมันถูกฝังรากลึกมาตั้งแต่เด็ก
และนี่แหละเป็นเหตุผลที่ Ramit เขาเรียกมันว่า “บทเรียนที่มองไม่เห็น”
ฉะนั้น Ramit แนะนำว่า ครั้งต่อไปเวลาที่เรารู้สึกในแง่ลบเกี่ยวกับเงิน ให้เราลองจดความเชื่อนั้นที่เราเคยได้ยินลงบนกระดาษ แล้วก็ลองตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเองดูว่า ทำไมเราถึงคิดแบบนั้น?
แล้วให้เราลองตั้งคำถามอีกคำถามดูว่า แล้วถ้าเราคิดในทางตรงข้ามล่ะ?
ใครคือคนที่เราชื่นชมในด้านของการเงิน เขาจะมองเกี่ยวกับเรื่องเงินนี้ว่าอย่างไรบ้าง?
จากนั้นก็ให้เราตัดสินใจเองว่า เราอยากเชื่อตามแบบไหน แบบแรก หรือแบบที่สอง ก็ขึ้นอยู่กับเราเลย เพราะชีวิตเรา เราเป็นคนกำหนดเส้นทางเดินเองได้
หรืออีกสักตัวอย่างนึงของ Invisible Script ที่หลายคนเติบโตมากับมัน ยกตัวอย่างเช่น “เราไม่คุยเรื่องเงินกันหรอก” ซึ่ง Ramit ก็ถามกลับไปทันทีว่า “แล้วคุณคิดว่าคุณจะทำให้เงินในกระเป๋าของคุณเพิ่มพูนมากขึ้นได้ยังไง ถ้าคุณไม่ยอมพูดถึงเรื่องเงินเลย?”
ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเงินนั้น เป็นแหล่งของความเครียด ความรู้สึกกระอักกระอ่วน และความกังวล พวกเขาเลยไม่อยากที่จะพูดถึงเรื่องของเงิน
แต่สำหรับ Ramit นั้นเขาคิดตรงกันข้าม โดยเขามองว่าเงินคือจุดเริ่มต้นของการผจญภัย และความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในชีวิต เขาก็เลยอยากคุยถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เพราะตัวของเขาอยากที่จะพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การวางระบบบัญชีและการลงทุน และแน่นอนอย่างที่สุดว่าเขาอยากคุยเรื่องเงิน เพราะมันช่วยให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างคนรวยได้อย่างที่เขาต้องการ
อีกความเชื่อที่ฝังหัวหลายคนก็คือประโยคที่ว่า “การลงทุนมีไว้สำหรับคนรวยเท่านั้น ไม่ใช่คนอย่างเรา ๆ” ซึ่ง Ramit บอกเลยว่าคุณคิดผิดถนัด เพราะถ้าหากคุณต้องการที่จะมั่งคั่ง มันคือเรื่องของการลงทุนเลยล่ะ
และความคิดนี้ก็พบได้บ่อยมากในกลุ่มของคนที่ไม่เคยสัมผัสกับการลงทุนมาก่อนเลยในชีวิตโดย Ramit นั้นเขาอยากให้ทุก ๆ คนได้เข้าถึงแหล่งสร้างความมั่งคั่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์อย่างตลาดหุ้น
เพราะต่อให้คุณมีรายได้แค่เพียงเล็กน้อย เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะลงทุนเริ่มต้นผ่านตลาดหุ้นด้วยเงินหลักสิบหลักร้อย ก็เริ่มได้แล้ว
Ramit ย้ำว่า คุณก็สามารถเริ่มใช้ชีวิตแบบคนรวยได้จริง เพียงแค่ใช้เวลาสักวันในการตั้งค่าการลงทุนอัตโนมัติ ซึ่งแอพพลิเคชั่นในสมัยนี้ สามารถตั้งค่าให้หักเงินไปลงทุนได้แบบอัตโนมัติในทุก ๆ เดือน
เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ไม่ต้องกังวลกับเรื่องของเงินอีกเลยในอีก 20 ปีต่อจากนี้
นิสัยการเงินแย่ข้อที่ 5 ตั้งเป้าหมายแบบดาด ๆ ทั่วไป – Having generic goals
คุณรู้มั้ยว่าเวลาที่ Ramit ถามใครหลาย ๆ คนว่า “ชีวิตในฝันของคุณเป็นยังไง?” และคำตอบกว่า 90% ของคนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบแบบเดียวกันว่า “ฉันอยากทำอะไรก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ใจต้องการ”
ซึ่ง Ramit เขาก็จะถามต่อว่า “แล้วจริง ๆ คุณอยากทำอะไรล่ะ?”
ปรากฏว่าพวกเขาก็ไม่ได้คิดเอาไว้เหมือนกันว่าอยากจะทำอะไร หรือว่าต้องการอะไรจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาใช้เวลาทำงานหนักมากกว่า 50 ปี ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ต้องเครียดกับเรื่องเงิน รู้สึกผิดเกี่ยวกับเงิน คิดถึงแต่เรื่องเงิน แต่ไม่เคยตอบคำถามได้สักข้อว่า แล้วจะเอาเงินพวกนั้นไปทำอะไร
โดย Ramit บอกว่า ไม่มีใครเป็นคนรวยได้โดยบังเอิญหรอก ดังนั้น ถ้าคุณอยากใช้ชีวิตในแบบที่ร่ำรวยจริง ๆ คุณจะต้องคิดแตกต่างจากคนอื่น คุณจะต้องออกแบบชีวิตของคุณขึ้นมาเอง
ซึ่งเป้าหมายทั่ว ๆ ไปที่ Ramit มักจะเจออยู่บ่อย ๆ อย่างเช่น
- “ฉันอยากมีสุขภาพที่ดี” ซึ่งมันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย
- “ฉันอยากปลดหนี้” ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นหนี้จำนวนเท่าไหร่ จะจ่ายเมื่อไหร่ หนี้จะหมดเดือนไหน ปีอะไร
มันก็แค่เป็นการพูดไปยังงั้น มันไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้นมาสักกะหน่อย
ดังนั้น Ramit แนะนำให้ใช้เทคนิค S.M.A.R.T. Goals ในการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง นั่นคือ
- Specific: เป้าหมายต้องเจาะจง บอกได้ว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ
- Measurable: วัดผลได้ รู้ว่าความสำเร็จหน้าตาเป็นอย่างไร
- Attainable: บรรลุได้จริง มีทรัพยากรที่จำเป็น
- Relevant: เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ
- Time-oriented: มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน มี deadline
เขายกตัวอย่างให้ฟังเช่น
- สมมติว่านี่คือการตั้งเป้าหมายที่แย่ เช่นคุณบอกว่า “ฉันจำเป็นที่จะต้องเก่งเรื่องการเงินให้ได้”
- เป้าหมายแย่น้อยหน่อยก็อย่างเช่น “ฉันจะเก็บเงินปีนี้ให้ได้ 30,000 บาท”
- ส่วนเป้าหมายแบบ SMART หน้าตาของมันจะเป็นแบบนี้ ก็คือ “ฉันจะให้หักเงินเดือนอัตโนมัติจำนวน 1,000 บาท ต่อเดือน เข้าบัญชีเงินเก็บ สำหรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เป็นเวลา 1 ปี” ซึ่งนี่แหละคือวิธีการตั้งเป้าหมายที่ถูกต้อง
นิสัยการเงินแย่ข้อที่ 6 ใช้จ่ายโดยไม่มีการวางแผน – Spending without a plan
หัวใจสำคัญของการมีชีวิตที่ร่ำรวยอย่างแท้จริง Ramit บอกว่า มันไม่ใช่การงดค่าใช้จ่ายไปเสียทุกอย่าง แต่มันอยู่ที่การใช้เงินอย่างชาญฉลาดต่างหาก
ซึ่งวิธีที่จะทำให้ความฝัน ในการที่เราอยากจะใช้ชีวิตแบบคนรวยให้เป็นจริงได้นั้น เขาแนะนำว่าให้เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องรู้จักตัวเลขการเงินของตัวเราเองเสียก่อน
โดยใช้ตารางอย่างง่าย ๆ ที่เขาเรียกมันว่า ตารางสำหรับแผนการใช้เงินอย่างมีสติ (conscious spending plan) ที่ออกแบบมาอย่างครบครัน
โดยแผนนี้จะแบ่งการใช้จ่ายออกเป็น 4 หมวดใหญ่ ๆ คือ
- ค่าใช้จ่ายคงที่ (fixed costs) ควรอยู่ที่ 50-60% ของรายได้สุทธิ ไม่เกินนี้ เพราะไม่งั้นชีวิตคุณจะเครียดอยู่ตลอดเวลาไปกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำ
- เงินลงทุน (investments) ควรแบ่งมาอย่างน้อย 10% ของรายได้ ยิ่งมากยิ่งดีเพราะนี่คือต้นทางของความมั่งคั่ง
- เงินออม (savings) อยู่ที่ 5-10% เป็นอย่างน้อย เพื่อใช้ยามฉุกเฉินและเพื่อเป้าหมายระยะสั้นใน 1-3 ปี ที่คุณอยากทำ
- ค่าใช้จ่ายอิสระไร้ความรู้สึกผิด (guilt-free spending) หมวดนี้สำคัญที่สุด ควรมีสัดส่วน 20-35% ของรายได้ไปเลย ซึ่งคุณอย่าพึ่งตกใจไป เพราะตัวเลขนี้มันอาจดูเยอะ แต่จริง ๆ แล้วกองทุนก้อนนี้มีไว้ให้คุณใช้จ่ายกับสิ่งที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็นมื้อพิเศษนอกบ้าน ปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ทริปท่องเที่ยว หรือของขวัญให้คนพิเศษในชีวิต
ไม่ต้องคิดมากว่าอะไรจะต้องเข้าหมวดไหนเป๊ะ ๆ เพียงแค่ประมาณการคร่าว ๆ ตามสัดส่วนนี้ แล้วปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการที่คุณมีเป้าหมาย และลงมือทำตามแผนนั้นให้ได้
ข้อดีของการวางแผนการใช้เงินอย่างมีสติ conscious spending นั้นก็คือ มันจะทำให้คุณมีเงินเก็บแบบอัตโนมัติ มีเงินลงทุนเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นแบบอัตโนมัติ และที่สำคัญคือ มันทำให้คุณมีอิสระในการใช้จ่ายกับสิ่งที่คุณรัก โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป
นี่คือความลับของคนรวย ที่พวกเขากล้าใช้เงินเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เพราะเขารู้ว่าการมีวินัยการเงินที่ดี ไม่ได้หมายถึงการอดออมจนตัวเองทรมาน
นิสัยการเงินแย่ข้อที่ 7 มีแนวคิดแบบขาดแคลน – Having a scarcity mindset
คุณเคยรู้สึกตัวเองพูดประโยคพวกนี้บ่อย ๆ ไหม “ฉันไม่มีทางซื้อมันได้หรอก” “จ่ายแบบนั้นมันสิ้นเปลืองเกินไป” “ฉันไม่จำเป็นต้องใช้เงินกับเรื่องพวกนั้นหรอก” ถ้าเคยพูดแบบนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังมีปัญหาในการใช้เงินเพื่อตัวเอง
Ramit แนะนำว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ให้ลองเริ่มต้นจากการดูตัวเลขทางการเงินของคุณไปพลาง ๆ ก่อน เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมคุณถึงรู้สึกแบบนั้น
บางครั้งคุณอาจคิดถูก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีหนี้บัตรเครดิตก้อนโต การไปพักโรงแรมหรูหราก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดนัก หรือถ้าค่าใช้จ่ายประจำ หรือ fix cost เกินกว่า 60% ของรายได้สุทธิ คุณก็คงจะซื้อรถใหม่ไม่ไหวจริง ๆ นั่นแหละ
แต่บ่อยครั้ง มันอาจเป็นเพียงมุมมองแบบขาดแคลนที่ฝังหัว โดย Ramit เขาเล่าว่าเขาเคยคุยกับคนหลายคนที่มีเงินในธนาคารเป็นล้าน แต่กลับไม่กล้าแม้แต่จะซื้อผลไม้กิน หรือใช้เงินเพื่อพาคู่ชีวิตไปเที่ยวตามที่ที่เธออยากไปมาหลายสิบปีแล้ว
พฤติกรรมแบบนี้มันจะฉุดรั้งตัวคุณเองไว้ Ramit เขาจึงอยากท้าทายให้ลองเปลี่ยนไปใช้มุมมองแบบเติบโต กล้าใช้เงินเพื่อใช้ชีวิตแบบคนรวยอย่างแท้จริง เพราะจุดประสงค์ของการมีเงินนั้น ไม่ใช่การสะสมมันเอาไว้จนตัวตาย แต่เป็นการใช้เงินนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหาก
และนี่ก็คือนิสัยการเงินแย่ ๆ ทั้ง 7 ข้อที่คอยขัดขวางความมั่งคั่งของผู้คนเอาไว้ ซึ่ง Ramit ก็หวังว่า หากเราสามารถละนิสัยแย่ ๆ เหล่านี้ทิ้งไปได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงินไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างมากเลยทีเดียว
Resources