Trade War สงครามการค้าโลก ในยุค Donald Trump | Blue O’Clock Podcast EP. 90
สงครามการค้าในยุคของ Donald Trump
ในปี 2025 สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) (ประธานาธิบดีคนที่ 45 และ 47) ได้จุดชนวนสงครามการค้าครั้งใหม่ที่สร้างความตึงเครียดไปทั่วโลก ผ่านการเดินหน้านโยบาย “America First” อย่างเด็ดขาด
โดยในสงครามการค้าครั้งนี้ ทรัมป์ได้ตัดสินใจใช้เครื่องมือสำคัญในการเข้าสู่สมรภูมิการค้า นั่นคือ มาตรการภาษีศุลกากร (Tariffs) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกดดันประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง จีน, แคนาดา, และ เม็กซิโก อย่างดุดัน
ทันทีที่มีการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าตั้งแต่ต้นปี 2025 ก็ได้จุดกระแสความวิตกกังวลขึ้นทั่วโลก
แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์จะอ้างว่านโยบายนี้เป็นการปกป้องเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ แต่หลายฝ่ายมองว่านี่คือชนวนที่จุดประกายให้เกิด สงครามการค้าระดับโลกครั้งใหม่ ซึ่งอาจขยายวงกว้างและอาจส่งผลกระทบอย่างยาวนาน
ในเนื้อหานี้ เราจะพาคุณไปสำรวจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ:
- รายละเอียดของมาตรการภาษีที่ทรัมป์ประกาศใช้
- เหตุผลและเป้าหมายทางการเมืองเบื้องหลังมาตรการนี้
- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า
- การตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบ
- ผลกระทบในระยะยาว และทิศทางที่เศรษฐกิจและการเมืองโลก
ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการค้าโลกในรูปของ Trade War สงครามการค้าโลก
มาตรการภาษีศุลกากรในปี 2025 ภายใต้รัฐบาลทรัมป์
ภาษีศุลกากรต่อแคนาดาและเม็กซิโก
ในปี 2025 สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาสู่แนวทาง “America First” อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยมีการประกาศใช้ มาตรการภาษีศุลกากร (Tariffs) เพิ่มเติมสูงถึง 25% สำหรับสินค้านำเข้าทุกชนิดจาก แคนาดา และ เม็กซิโก ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ
โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่า นโยบายนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ โดยอ้างอิงตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) หรือ กฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ออกในปี 1977โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศและธุรกรรมทางเศรษฐกิจในสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ (national emergency) ซึ่งเกิดจาก “ภัยคุกคามที่ผิดปกติและรุนแรง” (unusual and extraordinary threat) ต่อความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายต่างประเทศ หรือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยภัยคุกคามนั้นต้องมีแหล่งที่มาส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจากนอกประเทศ
ผลกระทบและเป้าหมายของมาตรการ
การขึ้นภาษีในครั้งนี้ประกาศขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากกระทบต่อสินค้าเกษตร, ยานยนต์, และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ
โดยเป้าหมายหลักของมาตรการนี้คือการ:
- บังคับให้ทั้งแคนาดาและเม็กซิโก เร่งควบคุม ปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติด โดยเฉพาะ เฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งเป็นสารเสพติดที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสังคมอเมริกัน
- ควบคุม ปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย ที่ข้ามพรมแดนจากทั้งสองประเทศ
กระบวนการเจรจาและการบังคับใช้
มาตรการภาษีถูกประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 ทำให้เกิดการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับแคนาดาและเม็กซิโกอย่างเข้มข้น ซึ่งทั้งสองประเทศก็ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนและให้ความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ส่งผลให้ทรัมป์ตัดสินใจ เลื่อนการบังคับใช้ภาษีออกไปอีก 30 วัน เพื่อให้ทั้งสองประเทศปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อตกลงที่หารือกัน
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีก็ได้มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ในวันที่ 4 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกไม่มีข้อยกเว้นสำหรับสินค้าทุกประเภท
แต่ต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม 2025 ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศ ข้อยกเว้นบางส่วน ดังนี้:
- สินค้าพลังงานจากแคนาดา: จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 10% (ต่ำกว่าปกติจากสินค้าอื่น ๆ ที่ 25%) สิ่งนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการนำเข้าพลังงานต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และลดผลกระทบต่อราคาพลังงานภายในประเทศ ส่วนการนำเข้าพลังงานจากเม็กซิโกไม่มีข้อยกเว้นดังกล่าว
- สินค้าที่ผลิตตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี USMCA: United States-Mexico-Canada Agreement คือข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสามประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ คือเกณฑ์ที่ใช้กำหนดว่าสินค้าถูกผลิตขึ้นจากประเทศใด หากสินค้านั้นใช้วัตถุดิบหรือมีขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง สหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นพิเศษ
ส่วน แร่เกลือโปแตสเซียม (Potash) ซึ่งใช้ในการผลิตปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นวัตถุดิบที่สหรัฐฯ นำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในปริมาณมาก หากเก็บภาษีในอัตราสูง อาจทำให้ ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อ ต้นทุนการผลิตอาหาร และส่งผลกระทบต่อชาวเกษตรกรในสหรัฐฯ ดังนั้น แร่โปแตสเซียมจากแคนาดาและเม็กซิโกจึงถูกเก็บภาษีเพียง 10%
สรุป
มาตรการภาษีศุลกากรตั้งแต่ต้นปี 2025 ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “America First” ซึ่งมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาเป็นอันดับแรก ที่แม้ว่าจะช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังต้องติดตามต่อไปว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรในระยะยาว
การตอบโต้จากแคนาดา
ความพยายามในการหลีกเลี่ยงการปะทะทางเศรษฐกิจ
จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้พยายามใช้แนวทางทางการทูตเพื่อลดแรงกดดัน โดยเสนอความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนและการต่อต้านยาเสพติด รวมถึงจัดสรรงบประมาณกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ เพื่อเพิ่มเจ้าหน้าที่, โดรน, และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการตรวจสอบและควบคุมการลักลอบนำเข้ายาเสพติด โดยเฉพาะ เฟนทานิล ที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่ามอร์ฟีน 50-100 เท่า
แต่อย่างไรก็ตาม การเจรจาดังกล่าวก็สามารถชะลอการเก็บภาษีได้เพียง 30 วัน ก่อนที่สหรัฐฯ จะเดินหน้าจัดเก็บภาษีตามที่ประกาศไว้ในวันที่ 4 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา
มาตรการตอบโต้ของแคนาดา
ทันทีที่ภาษีของสหรัฐฯ มีผล แคนาดาได้ประกาศใช้ มาตรการตอบโต้แบบเท่าเทียม โดยเก็บภาษีนำเข้า 25% ต่อสินค้าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรายการสินค้าที่ถูกกำหนดให้มีภาษีนำเข้าเพิ่มเติม เช่น:
- สินค้าเกษตรและอาหาร: เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์นม, ผักผลไม้แปรรูป, และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สินค้าอุตสาหกรรมและยานยนต์: เครื่องจักร, เครื่องมือ, และชิ้นส่วนยานยนต์
- สินค้าอุปโภคบริโภค: เครื่องเรือน, เครื่องครัว, เสื้อผ้า, รองเท้า, เครื่องสำอาง, และกระดาษชำระ (87% ของกระดาษชำระในแคนาดานำเข้าจากสหรัฐฯ)
โดยรายการเหล่านี้ถูกเลือกอย่างมีกลยุทธ์และแบบแผนเพื่อให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักของสหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ เช่น รัฐเกษตรกรรมที่พึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร และรัฐ Rust Belt ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทวิภาคี
การตอบโต้ของแคนาดาในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ และแคนาดามีข้อตกลงการค้าเสรีต่อกัน ภายใต้ USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) การเพิ่มภาษีศุลกากรดังกล่าวเท่ากับเป็นการละเมิดหลักการของข้อตกลงในทางปฏิบัติ ที่แม้จะไม่ได้เป็นการละเมิดโดยตรงตามตัวบทกฎหมายก็ตาม
ภายใต้แรงกดดันจากการเมืองภายในประเทศ รัฐบาลภายใต้การนำของ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา จำเป็นต้องดำเนินมาตรการตอบโต้เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนและแสดงให้เห็นว่าแคนาดาจะไม่อ่อนข้อให้สหรัฐฯ อย่างง่ายดาย แต่ถึงกระนั้น แคนาดาก็ยังเปิดช่องสำหรับการเจรจา โดยระบุว่ายินดีถอนมาตรการตอบโต้ หากสหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว
การตอบโต้จากเม็กซิโก
โดยกว่า 78% ของสินค้าส่งออกของเม็กซิโกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 30% ของ GDP ทำให้เม็กซิโกได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีศุลกากร 25% ของทรัมป์ ทาง ประธานาธิบดีคลาวเดีย เฌ่นบาวม์ (Claudia Sheinbaum) ได้พยายามเจรจาโดยเสนอมาตรการควบคุมชายแดนและยาเสพติด รวมถึงส่งทหารกว่า 10,000 นาย ไปยังชายแดน ซึ่งตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง จำนวนการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายลดลงอย่างมาก โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนของสหรัฐฯ จับกุมผู้อพยพผิดกฎหมายได้ 8,326 คน เทียบกับในเดือนเดียวกันของปี 2024 (ภายใต้รัฐบาลของไบเดน) จับกุมผู้อพยพผิดกฎหมายได้ 189,913 คน
แต่ในท้ายที่สุด สหรัฐฯ ก็ยังคงเดินหน้าจัดเก็บภาษี 25% เมื่อถึงกำหนดวันที่ 4 มีนาคม 2025 อยู่ดี
ปฏิกิริยาของเม็กซิโกและมาตรการตอบโต้
ทาง ประธานาธิบดีเม็กซิโก คลาวเดีย เฌ่นบาวม์ ได้ประณามการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ว่า “ไม่ยุติธรรม” และจะประกาศมาตรการตอบโต้ ซึ่งอาจรวมถึง:
- การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ: แบบเดียวกับที่สหรัฐฯ จัดเก็บจากเม็กซิโก โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวโพดเหลือง, ข้าวสาลี, และเนื้อสุกร
- เข้มงวดด้านศุลกากร: ทำให้สินค้าสหรัฐฯ ล่าช้าขึ้นผ่านด่านที่เข้มงวดขึ้น
- ลดความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน: เพื่อกดดันให้สหรัฐฯ เจรจาข้อตกลงใหม่
ซึ่งแม้มาตรการเหล่านี้อาจเพิ่มอำนาจต่อรองของเม็กซิโก แต่ก็ต้องระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายใน เนื่องจากประเทศเม็กซิโกพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
ภาษีศุลกากรต่อสินค้าจีนในปี 2025
มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีน
โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กำหนดให้เก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิด รวมถึงสินค้าที่มาจากฮ่องกง มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมาเป็นต้นไป
การขยายมาตรการภาษีและแรงกดดันต่อจีน
โดยการเก็บภาษีเพิ่มรอบใหม่นี้ถือเป็นการขยายสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่สมัยทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ครั้งแรกในช่วงปี 2017-2021 แต่ในครั้งนี้ที่ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ภาษีครอบคลุมสินค้าทุกประเภทในอัตรา 10% ซึ่งต่างจากครั้งก่อนที่เน้นเฉพาะสินค้าบางกลุ่ม โดยนโยบายนี้ถูกเชื่อมโยงอย่างเป็นทางการกับความพยายามกดดันจีนให้ช่วยแก้ปัญหาการค้าสารตั้งต้น เฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งถูกลักลอบส่งเข้าสู่สหรัฐฯ และทรัมป์ถือว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตด้านสาธารณสุขและความมั่นคงของประเทศ
มาตรการตอบโต้ของจีน
เมื่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจีนตอบโต้ทันที โดย:
- ประกาศเก็บภาษีศุลกากรเพิ่ม 10% และ 15% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ (โดยเฉพาะกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและเครื่องจักรกล)
- ควบคุมการส่งออก แร่ธาตุสำคัญ ที่สหรัฐฯ ต้องนำเข้า เช่น แร่หายากและวัตถุดิบอุตสาหกรรม
- ขึ้นบัญชีดำ บริษัทอเมริกัน 2 แห่ง ใน “บัญชีองค์กรที่ไม่น่าเชื่อถือ”
- เปิดการสอบสวนการผูกขาดทางการค้าต่อ Google ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ รายใหญ่
- ยื่นเรื่องฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อ องค์การการค้าโลก (WTO) โดยอ้างว่าการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ขัดต่อกฎการค้าระหว่างประเทศ
การเพิ่มแรงกดดันจากสหรัฐฯ
เมื่อสถานการณ์การค้าตึงเครียดขึ้นและจีนยังไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการควบคุมสารตั้งต้นยาเสพติดเฟนทานิล ทรัมป์ได้เพิ่มแรงกดดันอีกขั้น โดยออกคำสั่งใหม่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2025 ปรับอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจาก 10% เป็น 20% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 มีนาคม 2025 เป็นการเก็บภาษีเพิ่มสองรอบภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน
ทำให้ทางประเทศจีนขยายมาตรการตอบโต้ ดังนี้:
- เก็บภาษีต่อสินค้าเกษตรและอาหารจากสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลืองและเนื้อสัตว์ เพื่อกดดันฐานเสียงเกษตรกรของทรัมป์ มาตรการนี้ถูกใช้มาเพื่อลดรายได้ของเกษตรกรอเมริกัน ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อทรัมป์จากกลุ่มผู้สนับสนุนโดยตรง โดยเฉพาะในรัฐที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน เช่น ไอโอวา, อิลลินอยส์ และเนบราสก้า การขึ้นภาษีนี้ไม่เพียงทำให้เกษตรกรสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับยอดขายที่ลดลง แต่ยังอาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดต่ำลง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรอเมริกันในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ทางจีนก็ได้เพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศอื่น ๆ เช่น บราซิลและอาร์เจนตินา เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียตลาดสำคัญไปในอนาคต
- และนอกจากนั้น ทางจีนยังได้เพิ่มชื่อบริษัทอเมริกันในบัญชีควบคุมการส่งออกและการลงทุน ซึ่งอาจจำกัดการดำเนินธุรกิจของบริษัทสหรัฐฯ ในประเทศจีน เพื่อเป็นการตอบโต้อีกด้วย
บทสรุป
การขึ้นภาษีสินค้าจีนของสหรัฐฯ ในปี 2025 เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง “America First” และการกดดันจีนให้ดำเนินมาตรการที่สหรัฐฯ ต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการการตอบโต้ของจีนแสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการค้าอาจลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ ซึ่งยังต้องจับตามองว่าสองประเทศจะสามารถกลับสู่โต๊ะเจรจาได้หรือไม่
ทรัมป์เปิดสงครามการค้ากับทั้งโลก
มาตรการภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ
นอกจากภาษีที่มุ่งเป้าไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ รัฐบาลทรัมป์ยังออกมาตรการภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมสำคัญภายในประเทศ โดยเฉพาะ เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นทรัพยากรสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ไม่ควรพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญจากต่างประเทศมากเกินไป ซึ่งเป็นมาตรการที่ทรัมป์เคยใช้ในปี 2018 ช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรก และในปี 2025 ทรัมป์ก็ได้ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้า เหล็กและอะลูมิเนียมเป็น 25% สำหรับทุกประเทศ โดยไม่มีข้อยกเว้น มีผลตั้งแต่ 12 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมาเป็นต้นไป
เหตุผลและผลกระทบ
โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์นั้นอ้างว่า มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าและกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ รวมถึงลดการพึ่งพาจากต่างชาติในวัตถุดิบที่สำคัญ แต่นักวิเคราะห์เตือนว่าการขึ้นภาษีทั่วโลกลักษณะนี้อาจทำให้เกิด สงครามการค้าหลายด้าน (Multi-front Trade War) เพราะประเทศพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบอาจตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจากับประเทศพันธมิตรด้านความมั่นคง ซึ่งหากตกลงกันได้ ทรัมป์อาจพิจารณาปรับลดภาษีให้บางประเทศ
แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าก็ไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องจ่ายภาษีเต็มอัตรา ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและกระทบต่อราคาสินค้าภายในสหรัฐฯ เอง
นโยบาย “ภาษีศุลกากรตอบโต้” (Reciprocal Tariffs)
Reciprocal Tariffs หรือ ภาษีศุลกากรตอบโต้ เป็นนโยบายที่กำหนดให้สหรัฐฯ สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าในอัตราเดียวกับที่ประเทศนั้นเรียกเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ หากประเทศคู่ค้ากำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูง สหรัฐฯ ก็จะเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าจากประเทศนั้นในอัตราที่สูงเท่าเทียมกัน (ประมาณว่าเธอเก็บภาษีฉันเท่าไหร่ ฉันก็จะเก็บภาษีเธอเท่านั้นเช่นกัน) เป้าหมายหลักของมาตรการนี้ก็คือ ทรัมป์ต้องการสร้าง ความเป็นธรรมทางการค้า (Fair Trade) ให้กับสหรัฐฯ และปกป้องผู้ผลิตและแรงงานอเมริกัน ซึ่งทรัมป์ได้ประกาศนโยบายนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา
ขอบเขตของนโยบาย
นโยบายนี้ครอบคลุมทุกประเทศและทุกภูมิภาคโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็ถูกนำมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากทรัมป์มองว่าการมี VAT สูงในบางประเทศเทียบเท่ากับการกำหนดกำแพงภาษีทางอ้อม ดังนั้น หากประเทศใดที่มี VAT สูง สหรัฐฯ อาจนำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของอัตราภาษีนำเข้าเช่นกัน
แผนการดำเนินงานและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
โดยนโยบายนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบ โดยทรัมป์สั่งให้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ภายในวันที่ 1 เมษายน 2025 นี้ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
ความเสี่ยงของสงครามการค้าขยายตัว
นโยบายนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากสงครามการค้าในระดับโลก หากประเทศต่าง ๆ ตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน การค้าระหว่างประเทศอาจหยุดชะงัก ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เราจึงจำเป็นที่จะต้องจับตามองว่ามาตรการนี้จะถูกบังคับใช้เต็มรูปแบบหรือไม่ และผลลัพธ์ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร
เป้าหมายและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์
- ความมั่นคงของชาติและการปกป้องชาวอเมริกัน
โดยทรัมป์อ้างว่าการขึ้นภาษีสินค้าจาก แคนาดา, เม็กซิโก, และ จีน เป็นมาตรการรับมือ “ภัยคุกคามฉุกเฉิน” ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายและการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะ เฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
ทรัมป์มองว่าปัญหายาเสพติดที่ถูกลักลอบนำเข้าผ่านเม็กซิโกและแคนาดา รวมถึงสารตั้งต้นจากจีน ได้ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข ส่งผลให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดเป็นจำนวนมาก ทางรัฐบาลสหรัฐฯ จึงถือว่าประเทศคู่ค้าเหล่านี้ยังดำเนินการแก้ไขไม่เข้มงวดมากพอ
ดังนั้น การใช้ “ไม้แข็ง” ทางเศรษฐกิจด้วยการจำกัดการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ผ่านกำแพงภาษี จึงเป็นมาตรการกดดันให้ทั้งสามประเทศสกัดกั้นการลักลอบขนยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติอย่างจริงจัง
แต่จากสถิติล่าสุด พบว่า 97% ของยาเสพติดถูกยึดจากพรมแดนเม็กซิโก ในขณะที่จากแคนาดามีเพียง 0.2% เท่านั้น ทำให้การที่แคนาดาถูกเหมารวมในมาตรการนี้จึงดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่นัก
- การเจรจาต่อรองและแรงจูงใจให้คู่ค้าปฏิบัติตามข้อตกลง
ทรัมป์เชื่อว่าการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ เป็น “สิทธิพิเศษ” ไม่ใช่ “สิทธิที่ใคร ๆ ก็ได้รับ” โดยทรัมป์บอกว่า สหรัฐฯ นั้น มีอัตราภาษีนำเข้าต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่หลายประเทศเรียกเก็บภาษีจากสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง
โดยประเทศคู่ค้าพึ่งพาการส่งออกมายังสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง เช่น:
- แคนาดา: มีสัดส่วนการส่งออกสินค้า กว่า 76% ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยคิดเป็น 18% ของ GDP ของประเทศแคนาดา
- เม็กซิโก: มีสัดส่วนการส่งออกสินค้า กว่า 78% ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยคิดเป็น 30% ของ GDP ของประเทศเม็กซิโก
- สหรัฐฯ: การส่งออกไปแคนาดาคิดเป็น 17% และเม็กซิโก 16% ของการส่งออกทั้งหมดของสหรัฐฯ และคิดเป็นเพียง 2% ของ GDP ของประเทศสหรัฐฯ
ทำให้สหรัฐฯ มี อำนาจในการต่อรองสูง ซึ่งการปิดกั้นตลาดอเมริกันจะสร้างความเสียหายแก่แคนาดาและเม็กซิโกมากกว่าสหรัฐฯ ทรัมป์จึงใช้ตรรกะนี้ในกดดันให้แคนาดาและเม็กซิโกดำเนินการตามที่สหรัฐฯ ต้องการ เช่น ต้องการให้ทางแคนาดาเสริมมาตรการชายแดนและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษที่ดูแลด้านเฟนทานิล โดยเฉพาะ ส่วนเม็กซิโกสหรัฐฯ ต้องการให้ส่งทหารและเพิ่มความเข้มงวดบริเวณชายแดน เพื่อแลกกับการชะลอหรือยกเลิกการขึ้นภาษี
ซึ่งแนวทางนี้สะท้อน แนวคิดแบบการเจรจาธุรกิจ (deal-making) ของทรัมป์ ที่ใช้ภาษีเป็นภัยคุกคามเพื่อดึงคู่ค้าเข้าสู่โต๊ะเจรจาและทำข้อตกลงที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สูงสุด ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ทรัมป์ยอมเลื่อนการเก็บภาษีเมื่อแคนาดาและเม็กซิโกเสนอความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน
- การปกป้องอุตสาหกรรมและแรงงานภายในประเทศ
หนึ่งในเหตุผลหลักของการที่ทรัมป์ใช้ภาษีศุลกากรในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ
โดยในปี 2024 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้าสูงที่สุดในโลก
โดยสหรัฐอเมริกา มีการขาดดุลการค้ากับประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น:
- จีน: ขาดดุล 270.4 พันล้านดอลลาร์ (อันดับ 1)
- เม็กซิโก: ขาดดุล 157.2 พันล้านดอลลาร์ (อันดับ 2)
- แคนาดา: ขาดดุล 54.8 พันล้านดอลลาร์ (อันดับ 9)
- ไทย: ขาดดุล 41.5 พันล้านดอลลาร์ (อันดับ 10)
ทรัมป์มองว่าสินค้าต่างประเทศที่ราคาต่ำทำให้โรงงานในสหรัฐฯ ปิดตัวและแรงงานตกงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก, อะลูมิเนียม และยานยนต์ การขึ้นภาษีจึงเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าและกระตุ้นการผลิตในประเทศสหรัฐฯ
- การสร้างความเป็นธรรมทางการค้า (Fair Trade)
ทรัมป์ชี้ว่าระบบการค้าระหว่างประเทศไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ หลายประเทศกำหนดภาษีนำเข้าสูงกว่าสหรัฐฯ เช่น:
- อินเดีย: เก็บภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ 39% ขณะที่สหรัฐฯ เก็บจากอินเดีย 5%
- EU: เก็บภาษีรถยนต์จากสหรัฐฯ 10% แต่สหรัฐฯ เก็บจากยุโรป 2.5%
- บราซิล: เก็บภาษีข้าวโพดจากสหรัฐฯ 18% แต่สหรัฐฯ เก็บจากบราซิล 2.5%
ทรัมป์ต้องการให้คู่ค้าเห็นว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมถูกเอาเปรียบฝ่ายเดียวอีกต่อไป จึงนำนโยบาย Reciprocal Tariffs หรือ ภาษีศุลกากรตอบโต้ มาใช้ โดยกำหนดให้สหรัฐฯ เก็บภาษีในอัตราเดียวกับที่คู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ เพื่อจูงใจให้คู่ค้าลดภาษีลง
- เป้าหมายทางการเมืองและฐานเสียงภายในประเทศ
ทรัมป์หาเสียงด้วยคำมั่นว่าต้อง “ปกป้องแรงงานอเมริกัน” และ “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again) ซึ่งมาตรการภาษีได้สะท้อนการเดินตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ และฐานเสียงหลักของทรัมป์ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมก็สนับสนุนในแนวทางนี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้โรงงานกลับมาเปิดและจ้างงานในประเทศสหรัฐฯ
การแสดงท่าทีแข็งกร้าวทางการค้าของทรัมป์ช่วยรักษาคะแนนนิยม ที่แม้จะสร้างแรงเสียดทานบนเวทีโลก แต่อีกด้านหนึ่ง ทรัมป์กลับมองว่านโยบายภาษีจะเป็นผลงานที่สามารถจับต้องได้ในการหาเสียงต่อไป โดยเฉพาะหากเรียกบริษัทอเมริกันกลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศ, สร้างงานใหม่ หรือบังคับให้คู่ค้าทำข้อตกลงการค้าที่ดีกว่าเดิมได้สำเร็จ
ผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ผลกระทบต่อตลาดการเงิน
ทันทีที่มีการประกาศขึ้นภาษีรอบใหม่ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงเกือบ 2% ในวันที่ 3 มีนาคม 2025 นักลงทุนกังวลว่ามาตรการภาษีครั้งนี้ไม่ใช่แค่เครื่องมือเจรจาเหมือนในอดีต แต่เป็นนโยบายจริงจังที่อาจนำไปสู่สงครามการค้ารอบด้าน ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนต่อเนื่อง ล่าสุด ณ วันที่ 14 มีนาคม 2025 ดัชนี S&P 500 ลดลงแล้วกว่า 7% สะท้อนแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีและเศรษฐกิจในยุคของทรัมป์ที่กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยที่สอง
ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและโอกาสเกิดภาวะถดถอย
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันหลายไตรมาส มักเกิดจากปัจจัยเชิงลบ เช่น อัตราดอกเบี้ยสูง, วิกฤตการเงิน, หรือแรงกดดันจากมาตรการภาษีที่กระทบการค้าและห่วงโซ่อุปทาน ตามการวิเคราะห์ของ JPMorgan Chase ที่เป็นสถาบันการเงินระดับโลก ให้วิเคราะห์ว่า การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีต่อแคนาดา, เม็กซิโก และจีน ในปี 2025 นี้ อาจทำให้โอกาสเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 31%
ในขณะที่ Goldman Sachs สถาบันการเงินชั้นนำของโลก ได้ประเมินความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเกิด Recession สูงขึ้นเป็น 23%
โดยนักเศรษฐศาสตร์สำนักต่าง ๆ ก็ได้เตือนว่าภาวะถดถอยอาจนำไปสู่การชะลอตัวของการเติบโต, ลดอัตราการจ้างงาน และความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ถดถอย หากบริษัทลดการลงทุนและปลดพนักงานเพื่อควบคุมต้นทุน อาจทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงและการบริโภคหดตัว
ซึ่งทาง Federal Reserve Bank of Atlanta ได้คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ของปี 2025 นี้ จากเดิมเคยประเมินเอาไว้ที่เติบโต 2.3% วิเคราะห์ใหม่หลังจากมีนโยบายภาษี เป็น -2.8% ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนถึงผลกระทบรุนแรงหากไม่มีมาตรการกระตุ้นหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว
ผลกระทบต่อต้นทุนดำเนินธุรกิจและค่าครองชีพ
อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ
การเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีน, แคนาดา และเม็กซิโก จะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ภาระนี้ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคผ่าน ราคาสินค้าที่แพงขึ้น เช่น อาหาร, เสื้อผ้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์, และพลังงาน
ตัวอย่างเช่น:
- รถยนต์ Honda CR-V ที่ผลิตในแคนาดา จากเดิมราคาอยู่ที่ $35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,175,124 บาท) เมื่อรวมภาษี 25% ราคาจะสูงถึง $43,750 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,468,906 บาท) หากภาษียังคงอยู่นาน อาจเกิด ปฏิกิริยาลูกโซ่ เช่น ค่าซ่อมรถเพิ่มขึ้น, ราคารถมือสองสูงขึ้น, ความต้องการช่างซ่อมรถมากขึ้น, และการขึ้นค่าจ้างในอุตสาหกรรมอื่น ๆ
และผลจากการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์นี้ ส่งผลให้ Honda ออกมาประกาศว่า จะย้ายฐานการผลิตรถยนต์ Civic Hybrid รุ่นต่อไปไปตั้งฐานในรัฐอินเดียนา สหรัฐฯ แทนประเทศเม็กซิโก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของทรัมป์ที่ต้องการให้โรงงานย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการนำเข้า
ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต
ธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศเผชิญต้นทุนที่พุ่งสูง กระทบอัตรากำไร ทำให้หลายบริษัทปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในวงกว้าง ตัวอย่างวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบ อย่างเช่น:
- เหล็กและอะลูมิเนียม: ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องจักรหนัก
- ชิปเซมิคอนดักเตอร์: จำเป็นสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
- เคมีภัณฑ์และพลาสติก: ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และยา
- อะไหล่รถยนต์: เช่น แบตเตอรี่, เครื่องยนต์ และเบรก จากเม็กซิโกและจีน
- ผลิตภัณฑ์เกษตร: เช่น ปุ๋ย, สารเคมีทางการเกษตร และอาหารแปรรูป
ซึ่งสถานการณ์นี้จะนำไปสู่การ ชะลอการลงทุน และ ปรับลดการจ้างงาน ในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิตที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ
บทสรุป
ดังนั้น มาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์ในปี 2025 นี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วย ตั้งแต่ตลาดการเงินที่ผันผวน, โอกาสที่จะเกิด Recession ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สูงขึ้น ไปจนถึงทำให้ต้นทุนธุรกิจและค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ที่แม้ว่าการขึ้นภาษีศุลกากรนั้นจะมีเป้าหมายในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและลดการพึ่งพานำเข้า แต่ผลลัพธ์อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าที่คาดเช่นกัน
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ
การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับ จีน, แคนาดา, และ เม็กซิโก ในปี 2025 ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ
โดยทาง ธนาคารโลก (World Bank): คาดว่าหากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้า 10% ทั่วโลกแบบไม่มีข้อยกเว้นและคู่ค้าตอบโต้ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว 0.3% ของ GDP โลก หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 326 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 10.93 ล้านล้านบาท
ห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้า
มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ทำให้บริษัทข้ามชาติจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุน:
- ย้ายฐานการผลิต: จากจีนไป เวียดนาม, อินเดีย, อินโดนีเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ มีต่อจีน
- เวียดนาม: กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตเร็วในยุคปัจจุบัน
- อินเดีย: ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อดึงดูดการลงทุน
- อินโดนีเซีย: เสนอสิทธิพิเศษทางภาษี
- เร่งลงทุนในเม็กซิโก: แม้ถูกเก็บภาษีเพิ่ม เม็กซิโกยังเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีดินแดนที่เชื่อมต่อกับสหรัฐฯ สามารถช่วยลดต้นทุนแรงงานและลดต้นทุนการขนส่ง และยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีในกฏหมาย USMCA หรือ United States-Mexico-Canada Agreement (ข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา)
- ขยายตลาดการส่งออก: ไปยัง อาเซียน และ แอฟริกา มากยิ่งขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ
- อาเซียน: กลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์
- แอฟริกา: มีความต้องการสินค้าโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
ส่วนทาง Donald Trump เอง เคยโพสต์บนโวเชียลมีเดียบน x.com ว่า หากบริษัทใดก็ตาม ย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ คุณไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรเลยสักแดงเดียว
โดยนักวิเคราะห์บางคนมองว่านี่คือยุทธศาสตร์ ที่ทรัมป์นั้น “ขู่ให้เจ็บ แล้วจบที่โต๊ะเจรจา” ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนใ้ห้กับเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น แต่สุดท้ายอาจนำไปสู่ข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และแน่นอนคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็ต้องเป็นสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ออกกฎเกณฑ์
บทสรุป
การเผชิญหน้าสงครามทางการค้าในปี 2025 นี้ ได้เป็น สัญญาณการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ของความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สหรัฐอเมริกา จากที่เคยเป็นผู้นำระบบเสรีนิยม หันมาใช้เครื่องมือกีดกันและบีบบังคับเพื่อบรรลุวาระของตนเองอย่างไม่ลังเล
และนี่ก็คือ การเริ่มต้น Trade War สงครามการค้าโลก ในยุคของ Donald Trump
Resources
- https://youtu.be/DLKMLqyT_zI?si=Ga5TqS0gGC1XS2aJ
- https://www.wsj.com/economy/trade/us-trade-import-export-deficit-charts-490a7bce
- https://www.politico.com/news/2025/02/05/trump-trade-deficit-2024-00202569
- https://www.facebook.com/nikkeiasia/photos/it-would-be-good-to-switch-to-more-us-equipment-because-president-trump-will-wan/1029077935922138/
- https://worldpopulationreview.com/country-rankings/us-trade-deficit-by-country
- https://www.morningstar.com/news/dow-jones/202503035450/honda-moving-civic-production-to-us-from-mexico-reuters-reports
- whitehouse.gov
- skadden.com
- hklaw.com
- lathamreg.com
- whitecase.com
- claconnect.com
- reuters.com
- nationthailand.com
- atlanticcouncil.org
- piie.com