ภาษียิ่งขึ้นยิ่งพัง โดย Ray Dalio | Blue O’Clock Podcast EPISODE 98
Ray Dalio หนึ่งในนักลงทุนระดับโลก ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates กองทุน Hedge Fund กองทุนป้องกันความเสี่ยงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ Tariffs นโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน ที่เขามองว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของภาษี แต่มันคือภาพสะท้อนของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกอยู่ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกมาอย่างยาวนาน โดย Ray เขายอมรับว่าปัญหาที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามรับมืออยู่นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แต่เขากลับกังวลว่าทางแก้ไขปัญหาในปัจจุบันนั้นอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิมในระยะยาว
ภาษีนำเข้าเป็นเพียงปลายเหตุ ไม่ใช่รากของปัญหา
Ray Dalio เชื่อว่า ภาษีนำเข้าเป็นแค่กลไกหนึ่งที่แสดงออกถึงความผิดปกติของระบบที่ลึกกว่านั้นมาก โดยเขาใช้คำว่า “วัฏจักรการล่มสลายของระเบียบโลก” (Breakdown of World Order) เพื่ออธิบายสภาวะที่ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงอำนาจและผลประโยชน์ที่แต่ละประเทศมีต่อกัน ซึ่งประเทศต่าง ๆ เคยพึ่งพากันมานานหลายสิบปี แต่ตอนนี้โลกของเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งใหญ่
โดยเหตุการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้งในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง แต่เมื่อมันเกิดขึ้น มันมักจะมีรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา
เมื่อระบบเศรษฐกิจโลกแบบเดิมต้องเจอกับปัญหาหนัก ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น หนี้สินที่พอกพูน ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น และความร่วมมือระหว่างประเทศที่อ่อนแอลง ระบบเหล่านี้ก็เริ่มแสดงสัญญาณว่าไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันเหล่านั้นได้อีกต่อไป จนท้ายที่สุด ระบบก็อาจพังทลายลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่ Ray Dalio หมายถึง มันไม่ได้มีแค่เศรษฐกิจในภาพรวมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดทุนระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การกระจายทรัพยากรภายในประเทศ และการตัดสินใจของผู้นำประเทศ เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้เริ่มเสียสมดุลไปพร้อมกัน นั่นคือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับใหญ่ ซึ่งนโยบายอย่างการขึ้นภาษีนำเข้าอาจเป็นแค่การระบายแรงกดดันในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ไม่ใช่คำตอบหรือทางออกระยะยาวในการฟื้นฟูระบบที่สั่นคลอนนี้
วัฏจักรที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าและบทเรียนจากประวัติศาสตร์
Ray Dalio เขาได้ใช้เวลากว่า 50 ปี ในการศึกษาเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก และเขาได้แบ่งกลไกหลัก ๆ ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกออกเป็น 4 วัฏจักรสำคัญ ๆ ได้แก่:
- วัฏจักรการเงิน (Monetary Cycle): เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย การพิมพ์เงิน และสภาพคล่องในระบบ
- วัฏจักรหนี้ (Debt Cycle): การกู้ยืมและการสะสมหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
- วัฏจักรการเมืองภายใน (Internal Political Order): การเปลี่ยนแปลงระบอบหรืออำนาจรัฐ จากผลของความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งทางชนชั้น
- วัฏจักรระเบียบโลก (International Geopolitical Order): ความสัมพันธ์และอิทธิพลระหว่างประเทศ มหาอำนาจ และการกำหนดกติกาโลก
Ray ชี้ว่า เมื่อวัฏจักรเหล่านี้เริ่มเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักร มันจะมีสัญญาณที่ชัดเจนบ่งบอกออกมา เช่น เกิดความผันผวนทางการเงิน เศรษฐกิจมีการเติบโตที่ชะลอตัว มีความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น และการเสื่อมศรัทธาในสถาบันหลักของสังคม
การเสื่อมถอยของระบบพหุภาคีที่เริ่มหลังสงครามโลก
Ray อธิบายว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้เข้าสู่ยุคของระเบียบใหม่ที่ออกแบบโดยประเทศผู้ชนะสงคราม นั่นก็คือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพวกเขาได้สร้างสถาบันระหว่างประเทศที่เน้นการร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น สหประชาชาติ (UN), องค์การการค้าโลก (WTO), ธนาคารโลก (World Bank), และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐฯ
โดยแนวคิดที่ยึดถือการจัดระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ “พหุภาคี” ซึ่งหมายถึงการตกลงร่วมกันเพื่อประโยชน์ร่วมกันของนานาประเทศ
แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ระบบนี้เริ่มเสื่อมถอย หลายประเทศเริ่มหันมาเน้นนโยบายแบบ “เอกภาคี” ที่ขับเคลื่อนผลประโยชน์ของประเทศตนเองก่อนเป็นหลัก โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากภายในประเทศ เช่น การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่มั่นคงทางการเมือง
นี่คือบริบทที่ทำให้การขึ้นภาษีนำเข้าดูเหมือนเป็นการปกป้องชาติ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังแยกตัวออกจากกันมากกว่าจะรวมตัวกัน
ปัญหาที่ฝังลึกในโครงสร้างระบบ
Ray Dalio เขาได้ระบุชัดเจนว่า วิกฤตที่โลกกำลังเผชิญนั้นมีรากฐานมาจาก 3 ประเด็นหลักที่สำคัญ:
- มีหนี้สะสมในระบบสูงเกินกว่าจะบริหารจัดการได้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
- เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและทักษะแรงงาน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันถดถอย
- การพึ่งพาระหว่างประเทศในด้านการค้าและการเงินในแบบที่ไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน
เขาได้ยกตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของระบบที่เปราะบางและขาดเสถียรภาพ เมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตสินค้าที่สำคัญได้ด้วยตนเอง และจีนก็ไม่สามารถเติบโตได้หากไม่มีทุนจากสหรัฐฯ ความเชื่อมโยงนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนมากกว่าที่จะเป็นจุดแข็ง
Tariffs ภาษีนำเข้า: ยิ่งใช้ ยิ่งเสียสมดุล
ในเชิงกลไกเศรษฐกิจ Ray อธิบายว่า ภาษีนำเข้าจะส่งผลในลักษณะที่คาดการณ์ได้ คือ:
- ต้นทุนการผลิตภายในประเทศของภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้นทันที
- ประเทศมีรายได้ลดลงโดยเฉพาะกับบริษัทที่พึ่งวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก
- ทำให้การลงทุนใหม่ชะลอตัว เพราะเกิดความไม่แน่นอนทางการค้า
- ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสะดุด ซึ่งกระทบทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำในกระบวนการผลิต
โดย Ray เขาเปรียบเทียบว่า ภาษีนำเข้าทำหน้าที่เหมือน “ทราย” ที่เข้าไปขัดกลไกของเครื่องจักรเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเวลาที่เครื่องจักรนั้นเริ่มชำรุดอยู่แล้ว
สหรัฐฯ จะผลิตในประเทศได้จริงหรือ? เป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ
โดย Ray ตั้งข้อสังเกตว่า แม้แนวคิดการฟื้นฟูภาคการผลิตในประเทศสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่หลายคนเห็นด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สหรัฐฯ อาจยังไม่มีความพร้อมด้านโครงสร้าง
เพราะจากข้อมูลของ Ray นั้นเขาพบว่า สหรัฐฯ มีเพียง 1% ของประชากรที่มีความสามารถสูงในระดับที่สามารถสร้างนวัตกรรมระดับโลกได้ และคนกลุ่มนี้จำนวนมากก็เป็นแรงงานต่างชาติ
ในทางกลับกัน ประชากรสหรัฐฯ กว่า 60% มีทักษะการอ่านต่ำกว่าระดับชั้นประถมปีที่ 6 ซะอีก ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการศึกษาที่ฝังลึกมานาน
คำถามคือ หากไม่มีการปฏิรูปทักษะแรงงานอย่างจริงจัง แล้วสหรัฐฯ จะสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้อย่างไรกัน?
เห็นตรงกันในปัญหา แต่เห็นต่างในการแก้ไข
Ray เห็นด้วยกับหลายฝ่ายว่า สหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหามีหนี้ที่ระดับสูง มีงบประมาณขาดดุล และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่สิ่งที่เขาเน้นก็คือ “ทางออก” ที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหานั้นมันยังไม่แตะไปถึงแก่นรากของปัญหาที่แท้จริง
โดย Ray เขามองว่าการขึ้นภาษีนำเข้า อาจเป็นเพียงการตอบสนองต่อแรงกดดันทางการเมืองในระยะสั้น และอาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลวร้ายลง การเพิ่มภาษีนำเข้ามันเป็นการเพิ่มต้นทุนของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจชะลอตัวในภาพรวม
บทสรุป: เรากำลังอยู่ในวัฏจักรที่ต้องเปลี่ยนทั้งระบบ
Ray ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เรากำลังเผชิญ ไม่ใช่แค่วิกฤตการค้า หรือปัญหาการผลิต แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญก็คือ “วัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของโลก” ที่กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน
ซึ่งหากเราไม่เข้าใจวัฏจักรเหล่านี้ และยังคงแก้ปัญหาแบบผิวเผินด้วยนโยบายเฉพาะหน้า เราอาจกำลังพลาดโอกาสครั้งสำคัญที่จะสร้างระบบใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืนมากกว่าเดิม
Resources