7 ขั้นตอนปลดหนี้ สั่งสมความมั่งคั่ง มีกินมีใช้ในยามเกษียณ by Dave Ramsey | Money Back to Basic EP.10
คำกล่าวที่ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นคำกล่าวที่เรามักจะได้ยินมาเนิ่นนานแสนนาน จนถึงปัจจุบันคำกล่าวนี้ก็ยังคงใช้ได้อยู่ ซึ่งหาก ณ ตอนนี้ใครกำลังมีปัญหาหนี้สินรุมเร้า หาทางออกไม่เจอ ไม่รู้จะจัดการกับหนี้ยังไง หรือจัดการด้วยวิธีไหน ในโพสต์นี้ Dave Ramsey นักเขียนและนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง เจ้าของช่อง Youtube The Dave Ramsey Show ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.9 ล้านคน โดยในปี 2020 เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $200 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 6,000 ล้านบาท ได้ให้คำแนะนำในการปลดหนี้จากเป็นระบบ รวมไปถึงการสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงในบั้นปลายเกษียณอายุ โดยเขาตั้งชื่อ system นี้ว่า The 7 Baby Steps ซึ่งจากชื่อนั้นมันคือ 7 ขั้นตอนในการปลดหนี้ มีเงินเก็บ เซฟเงินเกษียณ ส่งเสริมการเรียนบุตรหลาน มีบ้านเป็นของตนเอง เก่งเรื่องสร้างความมั่งคั่ง มั่งมีพร้อมแบ่งปันแก่ชุมชน
Baby Step ที่ 1 – เก็บเงินสำรองฉุกเฉินขั้นแรกเริ่มต้นที่ 30,000 บาท (Save $1,000 for your starter emergency fund)
ก่อนที่จะไปทำการปลดหนี้ สิ่งแรกที่คุณจำเป็นจะต้องทำก่อนก็คือ ป้องกันอย่าให้หนี้ใหม่เกิด แต่ชีวิตมันเป็นอะไรที่ไม่แน่ไม่นอน เพราะหลายครั้งมันก็มักจะมีเรื่องเซอร์ไพรส์ที่จะต้องให้ใช้จ่ายเงินก้อนออกไป ซึ่งถ้าหากไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้ในเหตุเร่งด่วน นั่นมันทำให้การปลดหนี้ยากเข้าไปใหญ่
ดังนั้น Dave Ramsey จึงได้แนะนำว่า ทำยังไงก็ได้ให้ตัวคุณสามารถเก็บเงินสำรองฉุกเฉินก้อนแรกให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยขั้นต่ำเริ่มต้นที่ $1,000 เหรียญฯ หรือประมาณ 30,000 บาท โดยแยกเก็บเป็นบัญชีเงินสำรองฉุกเฉินโดยเฉพาะ และจะดึงเงินก้อนนี้มาใช้ก็ต่อเมื่อมันเป็นเรื่องที่ฉุกเฉินจริง ๆ อย่างเช่น รถเสีย, คอมพิวเตอร์ที่ใช้หากินพัง, ลูกป่วย ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้หากเกิดขึ้น เราก็สามารถดึงเงินก้อนนี้มาใช้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปหยิบยืมเป็นหนี้เป็นสินใครมากไปกว่านี้
Baby Step ที่ 2 – จ่ายหนี้ให้หมดยกเว้นหนี้บ้าน โดยใช้หลักสโนว์บอล Pay Off All Debt (Except the House) Using the Debt Snowball
และเมื่อคุณเก็บเงินสำรองฉุกเฉินก้อนแรกได้แล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องทำการปลดหนี้กันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้กยศ. และหนี้อื่น ๆ ยกเว้นไว้อย่างเดียวที่ไม่ต้องไว้ในข้อนี้ก็คือหนี้กู้ซื้อบ้าน จากนั้นให้นำหนี้ทั้งหมดมาเรียงลำดับจากหนี้น้อยสุดไปมากสุด โดยไม่ต้องสนใจค่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียไปในแต่ละก้อน จากนั้นก็เริ่มไล่ปิดหนี้ก้อนที่น้อยที่สุดให้หมดก่อน ยกตัวอย่างเช่น
- หนี้บัตรเครดิต 50,000 บาท
- หนี้ กยศ. 150,000 บาท
- หนี้รถยนต์ 1,000,000 บาท
โดยหลักการ Snowball ก็คือ การที่เริ่มจากหิมะหรือหนี้ก้อนน้อย ๆ ก่อน เพราะในทางจิตวิทยานั้นมันจะส่งผลให้เรามีกำลังใจที่ดีในการที่จะปิดหนี้ก้อนต่อไป เช่นเมื่อเราปิดหนี้บัตรเครดิตที่น้อยที่สุดใน list ได้แล้ว ต่อไปก็ค่อยไล่ปิดหนี้ กยศ. และหนี้รถยนต์ นอกจากนั้นพอคุณปิดบัตรเครดิตได้สักก้อนนึงแล้ว สิ่งที่คุณจะได้เพิ่มขึ้นมาทันทีก็คือ เงินในกระเป๋าคุณจะเหลือเพิ่มขึ้นเพราะคุณไม่ต้องกันเงินเอาไปโป๊ะบัตรเครดิตอีกต่อไป ดังนั้นคุณก็จะมีเงินไปโป๊ะหนี้ก้อนต่อไปได้มากขึ้น ทำให้หนี้หมดเร็วขึ้นโดยอัตโนมัติ (แต่ห้ามสร้างหนี้ใหม่เด็ดขาด!) ทีนี้เงินในกระเป๋าของคุณก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่ต้องคอยกันเงินไปจ่ายหนี้สินแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้คุณต้องกันเงินเอาไว้จ่ายบัตรเครดิต เดือนละ 5,000 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 60,000 บาท ส่วนหนี้ กยศ. ปกติคุณผ่อนปีละ 15,000 บาท ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะผ่อนหมด แต่หากได้แรงเสริมจากเงินที่เคยกันเอาไว้จ่ายบัตรเครดิตมาช่วย กลายเป็นสามารถผ่อนจ่ายหนี้ กยศ. ได้ปีละ 75,000 บาท นั่นเท่ากับว่า คุณสามารถใช้หนี้ กยศ. หมดภายใน 2 ปี เท่านั้น!!! ซึ่งเร็วกว่าเดิมถึง 5 เท่า! ทีนี้พอถึงตาโป๊ะหนี้รถยนต์ จากปกติคุณผ่อนรถประมาณเดือนละ 13,333 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 160,000 บาท ซึ่งต้องใช้เวลา 7 ปีในการผ่อนให้มด ถ้าบวกเงินที่เคยกันค่าบัตรเครดิตกับค่าหนี้ กยศ. มาช่วยโป๊ะ ก็จะสามารถส่งได้ปีละ 160,000+75,000 = 235,000 บาท ซึ่งจะทำให้ผ่อนรถหมดภายใน 4 ปีนิด ๆ เท่านั้น นี่แหละที่เรียกว่า snowball effect มันจะเร็วขึ้นและแรงขึ้นมาก
Baby Step ที่ 3 – ออมเงินสำรองฉุกเฉินให้มากกว่า 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน Save 3–6 Months of Expenses in a Fully Funded Emergency Fund
มาถึงขั้นนี้ สถานะของคุณก็ปลอดหนี้ได้เกือบหมดแล้ว ซึ่งก่อนที่จะไปปลดหนี้บ้าน Dave Ramsey แนะนำให้คุณกลับมาเก็บเงินสำรองฉุกเฉินต่อให้จบ เพราะแน่นอนว่าเรื่องที่ไม่คาดคิดที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าเงิน $1,000 เหรียญฯ หรือ 30,000 บาทนั้นมีอีกเยอะ เช่น ตกงาน อุบัติเหตุต้องนอนโรงบาล เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งการที่จะทำให้คุณเดินหน้าต่อไปได้แม้จะเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ก็คือ การที่คุณมีเงินสำรองฉุกเฉินให้พอเพียงกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพราะอย่าลืมว่า รายได้คุณหยุด แต่รายจ่ายมันไม่เคยหยุด ดังนั้นคุณควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 3-6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน ยกตัวอย่างเช่น คุณมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท ดังนั้นเงินสำรองฉุกเฉินที่คุณต้องมีก่อนไปสเต็ปต่อไปก็คือ 150,000 – 300,000 บาท นั่นเอง ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเงินก้อนที่เยอะพอสมควร แต่อย่าลืมว่า เงินที่คุณเคยกันเอาไว้เพื่อปลดหนี้ในแต่ละปีนั้นตอนนี้มีไม่ต้องใช้หนี้แล้ว นั่นเท่ากับว่า คุณใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็สามารถแตะเป้าสูงสุดที่ต้องมีสำรองเอาไว้ได้แล้วเรียบร้อย
Baby Step ที่ 4 – นำรายได้ 15% จากรายได้ทั้งหมดในครอบครัวลงทุนเพื่อการเกษียณ Invest 15% of Your Household Income in Retirement
และเมื่อคุณมีรายได้สำรองฉุกเฉินกันไว้สำรอง 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนได้เรียบร้อยแล้ว ทีนี้เงินสดคุณก็จะมีมากขึ้น ซึ่งถ้าหากฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารทั่วไป คุณจะได้รับดอกเบี้ยที่น้อยมาก มันจะดีกว่าไหมถ้านำเงินจำนวน 15% จากรายได้ในครอบครัวไปลงทุนในแผนเพื่อการเกษียณ ซึ่งถ้าหากคุณเป็นพนักงานบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ให้คุณเลือกอัตราการเก็บสูงสุดไปเลยเพราะเงินในส่วนนี้นายจ้างจะช่วยสมทบให้อีกครึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น คุณเลือกสะสมเดือนละ 10% นายจ้างก็จะสมทบเพิ่มให้อีก 10% รวมเป็น 20%
หรือถ้าหากงานที่คุณทำไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณก็นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นการเติบโตเป็นหลัก เช่น LTF กับ RMF ที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อกฎหมายว่า สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือลดหย่อนภาษีได้จำนวน 15% ของรายได้พึ่งประเมินแต่ไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีได้อีกด้วย และถ้าหากคุณแต่งงานแล้ว คุณจะต้องวางแผนการเกษียณเผื่อคู่ชีวิตด้วยนะครับ
Baby Step ที่ 5 – ออมเงินเพื่อการศึกษาให้กับลูก ๆ ของคุณ Save for Your Children’s College Fund
มาถึงขั้นนี้คุณปลดหนี้ได้หมดแล้ว(ยกเว้นบ้าน) และคุณได้ทำการลงทุนเพื่อการเกษียณของตนเองเรียบร้อยแล้ว ทีนี้หากคุณมีบุตรหลานคุณก็จำเป็นที่จะต้องวางแผนเพื่อการศึกษาให้พวกเขาด้วย เพราะเมื่อเด็ก ๆ ได้รับโอกาสในการศึกษาที่ดี ก็จะมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในสังคมด้วย และแน่นอนว่า กว่าจะจบปริญญาตรีนั้นเป็นเงินมิใช่น้อย ๆ ต่ำ ๆ ก็ต้อง 7 หลักกันบ้างล่ะงานนี้
ซึ่งหากมีการวางแผนที่ดี การออมเงินในกองทุนเพื่อการศึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระยะยาว ๆ จะทำให้สามารถเก็บเงินล้านเพื่อการศึกษาได้เช่นกัน
ทีนี้การบ้านของเราก็เหลือแค่ว่า เราจะออมเงินเพื่อการศึกษาในรูปแบบใด เช่น เก็บในรูปแบบ LTF – Long Term Equity Fund หรือ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” ที่มีข้อแม้ว่าขายได้ก็ต่อเมื่อลงทุนครบ 5 ปี ซึ่งสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีที่ลดหย่อยได้ถึง 15% ของรายได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี แต่ก็ต้องมีวินัยที่สูงมากด้วยเช่นกัน
หรืออีกวิธีที่นิยมก็จะเป็นการออมโดยใช้ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ที่ได้ประโยชน์ 3 ต่อ คือ
- ต่อที่ 1 ได้ลดหย่อนภาษีต่อปีไม่เกิน 100,00 บาท
- ต่อที่ 2 มีเงินเพื่อการศึกษาลูก ถ้าจ่ายครบตามที่กำหนด
- ต่อที่ 3 ได้รับการคุ้มครองชีวิต ที่คุณอาจเสียชีวิตก่อนวันอันควร ทางประกันก็จะมีเงินสดส่วนนี้เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูกใช้เป็นค่าเล่าเรียนจนจบการศึกษา แม้คุณจะจากโลกนี้ไปแล้ว
Baby Step ที่ 6 – ปลดหนี้บ้านให้เร็วที่สุด Pay Off Your Home Early
และแล้วก็มาถึงหนี้ตัวสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของคุณ ที่เป็นตัวขวางกั้นระหว่างตัวคุณกับอิสรภาพ ดังคำกล่าวเมื่อข้างต้นว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” และเมื่อคุณวางระบบเงินสำรองฉุกเฉิน วางระบบการเกษียณ และวางระบบการศึกษาให้บุตรหลานเรียบร้อยแล้ว เงินส่วนต่างที่เหลือจากรายได้ของคุณก็สามารถนำมาเพื่อปลดหนี้บ้านได้ และนอกจากนั้น เพียงแค่คุณทำการรีไฟแนนซ์บ้านคุณก็สามารถประหยัดดอกเบี้ยได้อีกหลายแสน หรือเพียงแค่การเพิ่มเงินในการผ่อนแต่ละงวดอีกเล็กน้อย ก็สามารถผ่อนบ้านได้หมดเร็วขึ้นอีกหลายปี ซึ่งข้อดีของเงินกู้ซื้อบ้านก็คือ เป็นการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ยิ่งเงินต้นลดมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งเสียดอกเบี้ยน้อยลงมากเท่านั้น
Baby Step ที่ 7 – สร้างความมั่งคั่งและแบ่งปัน Build Wealth and Give
คุณรู้ไหมว่าคนที่ไม่มีหนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้แบบเดือนชนเดือน ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินหลังการเกษียณว่าจะไม่พอใช้ ไม่ต้องกังวลว่าลูก ๆ จะไม่มีเงินเอาไว้เรียนสูง ๆ สามารถทำอะไรได้บ้าง คำตอบก็คือ พวกเขาสามารถทำได้ทุกอย่างตามที่ใจต้องการ และเมื่อคุณไม่มีความกังวลเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ คุณก็จะมีความเห็นแก่ตัวน้อยลง อยากแบ่งปันมากขึ้น และเมื่อคุณแบ่งปันตั้งแต่คนในระดับครอบครัว ไปถึงชุมชนที่คุณอยู่อาศัย หรือบางคนก็แบ่งปันระดับโลกอย่าง Bill Gates และ ปู่ Warren Buffett ที่บริจาครายได้นับหมื่น นับแสนล้าน ไปกับองค์กรเพื่อการกุศล โดยมีเป้าหมายที่อยากให้ชีวิตของคนบนโลกนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกลายเป็นตำนาน
Resources
- https://www.daveramsey.com/dave-ramsey-7-baby-steps/
- https://youtu.be/l_RvHPL-3Zo
- https://youtu.be/pftx9Jx6N1Q
- https://www.facebook.com/moneyideasth/photos/a.175344292911600/185058678606828/
- https://wealthygorilla.com/dave-ramsey-net-worth/
- https://www.moneybuffalo.in.th/mutual-fund/ltf-rmf-คือ
- https://aommoney.com/stories/pajaree/ออมเงิน-3-ระยะ-เพื่อส่งลูกเรียน/3336#khd5e5tw15
- https://www.chrishogan360.com/retirement/retirement-using-7-baby-steps