Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

ประวัติ ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub กระดานเทรด Bitcoin&Cryptocurrency สตาร์ทอัพพันล้าน

Bitkub บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยแท้ ๆ ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับ Unicorn ของประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเกินกว่า 30,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ก่อตั้ง Bitkub เมื่อปี พ.ศ. 2561 หรือปี ค.ศ. 2018 บริษัทมีการเติบโตกว่า 1,000% ในทุก ๆ ปี นั่นก็คือ

  • ปี 2561 (ค.ศ. 2018) มีรายได้ประมาณ 3 ล้านบาท
  • ปี 2562 (ค.ศ. 2019) มีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,000%)
  • ปี 2563 (ค.ศ. 2020) มีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,000%)
  • ต้นปี 2564 (ค.ศ. 2021) เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีรายได้กว่า 400 ล้านบาท
  • และในเดือนตุลาคม ปี 2564 (ค.ศ. 2021) ทางคุณท็อปได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทางรายการ Woody ว่ามีเงินฝากอยู่ใน bitkub มากกว่า 50,000 ล้านบาท และคุณท็อปก็ได้คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2021 นี้ ทางบริษัทน่าจะมีรายได้รวมกว่า 5,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วน่าจะมีผลกำไรกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ bitkub มีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์ฯ ทำให้กลายเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์นได้เป็นที่สำเร็จ

และผู้ก่อตั้งก็คือคุณ ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ในวัย 31 ปี

โดยในโพสต์นี้ เราจะไปทำความรู้จักกับคุณ ท๊อป จิรายุส กันว่า มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และฟันฝ่าอุปสรรคอะไรมาบ้าง ที่กว่า Bitkub จะมาถึงวันนี้ (และยังคงจะต้องฝ่าอุปสรรคใหญ่ ๆ ในอนาคตอีกหลายด่าน)

เริ่มต้นประวัติ ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) โดยเขาเติบโตมาในครอบครัวปานกลาง ที่ครอบครัวที่บ้านทำธุรกิจขายปลีกและขายส่งเสื้อผ้า ทั้งตามประตูน้ำและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งก็ถือว่า คุณพ่อและคุณแม่ขอบเขานั้น เลี้ยงดูคุณท๊อปมาแบบไม่ขาดตกบกพร่อง

คุณท๊อปเล่าว่า เมื่อตอนที่เขายังเด็ก ค่อนข้างเป็นเด็กแสบคนหนึ่ง ที่ถึงขนาดที่ว่า เมื่อตอน ป.4 ป.5 เขาชกต่อยกับเพื่อนจนเพื่อนแขนหัก จนครูใหญ่ต้องเรียกผู้ปกครองมาพูดคุย ซึ่งนั่นทำให้คุณแม่ของเขาต้องนั่งร้องไห้ และนั่นก็คือครั้งแรกที่คุณท๊อปเห็นคุณแม่ร้องไห้ต่อหน้าตนเองเป็นครั้งแรก

พอจบ ป.6 คุณแม่ของคุณท๊อปเลยตัดสินใจส่งเขาไปเรียนต่างประเทศที่ประเทศ New Zealand ซึ่งกะจะดัดนิสัยคุณท๊อปให้ดีขึ้น(แต่เขาก็ยังคงแสบเหมือนเดิม) โดยอันที่จริงแล้วคุณท๊อปมีความฝันตั้งแต่เด็ก ๆ เลยว่าว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย และมีไอดอลเป็นนักเตะระดับโลกอย่าง Cristiano Ronaldo ที่อยู่ทีม Manchester United ซึ่งเขาก็ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนสามารถติดทีมตัวจริงในโรงเรียนได้ในที่สุด แถมยังได้เป็นกัปตันทีมอีกด้วย

จนกระทั่งเขาเรียนจบระดับชั้น ม.6 ก็บินกลับมาที่เมืองไทย เพื่อที่จะตระเวนสมัครตามมหา’ลัยในไทย แต่ปรากฎว่า ผลการเรียนของเขานั้น ตกต่ำในระดับที่ไม่มีมหา’ลัย ใดในไทยเลยที่จะยอบรับเขาเข้าไปเรียน เพราะ ตอนที่อยู่ New Zealand เขาก็บ้าบอล วัน ๆ เตะแต่บอลอย่างเดียว วิชาการแทบไม่ได้สนใจ จึงทำให้เกรดเฉลี่ยต่ำมาก แต่ก็ยังพอเอาตัวรอดจนจบ ม.6 มาจนได้ แต่พอกลับมาไทย เขาก็ดันสอบแข่งขันสู้เด็กไทยไม่ได้เลยแม้แต่น้อย และนี่ก็คือหนึ่งในความล้มเหลวอย่างหนึ่งที่เป็นปมติดตัวเขาอยู่เรื่อยมา

และเมื่อเขาถอดใจที่จะสมัครเข้าเรียนต่อในไทย ช่วงนั้นก็ยังคงมีเวลาหาที่เรียนก่อนเปิดเทอมอีกประมาณ 9 เดือน เขาก็เลยตัดสินใจบินไปประเทศอังกฤษเพื่อตามความฝันที่อยากจะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ ประกอบกับในตอนนั้น ที่ประเทศอังกฤษ มีเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่อยู่พอดี โดยมีแบบฟอร์มให้ใส่ชื่อมหา’ลัย ที่อยากเข้าได้เพียง 5 แห่งเท่านั้น

แน่นอนว่า ถ้าดูจากผลการเรียนของเขาแล้วนั้น เขาแทบไม่กล้าคิดที่จะใส่ชื่อมหาวิทยาลัยท๊อป ๆ ในประเทศเลยสักที่ เขาจึงเลือกมหาวิทยาลัยระดับกลาง ๆ หน่อย แต่ก็ดันนึกชื่อไม่ออกนอกจากมหา’ลัย ที่เป็นชื่อเดียวกันกับสโมสรทีมฟุตบอลในเกาะอังกฤษ อย่าง

  • Man U
  • Liverpool
  • Newcastle

และแล้วมหาวิทยาลัย The University of Manchester ก็รับเขาเข้าไปเรียนจนได้ เขาถึงกับดีใจมากเพราะ Man U เป็นสโมสรฟุตบอลในดวงใจเขาเลย

และเมื่อเขาได้รับโอกาสครั้งใหม่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขาก็มีความตั้งใจจริงที่อยากจะแก้ปมตัวเองว่าเป็นคน ‘ห่วย’ ในสายวิชาการ สายการเรียน เขาจึงต้องต้องการแก้ปมนี้อย่างจริงจัง ด้วยการยกเลิกสิ่งที่รักมากอย่างกีฬาฟุตบอล เพื่อหันมาตั้งใจเรียนอ่านหนังสือวันละ 10-12 ชั่วโมง ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานกว่า 3 เดือน เพื่อที่ตั้งใจจะสอบให้ได้เกรดดี ๆ และนี่ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาที่เขาสอบได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ของมหา’ลัย ทำให้เขาได้ข้อคิดใหม่ว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เราตั้งใจมากพอ เราก็สามารถทำมันได้ดีจนได้เหมือนกันนี่นา

ทำให้ชีวิตที่เหลือในช่วงที่เขาเรียนอยู่ที่นี่ เขาทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อการเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัดใจไม่ไปงานปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ งดเรื่องสาว ๆ เอาไว้ก่อน แล้วหันไปอ่านหนังสือวันละ 10-12 ชั่วโมงอย่างบ้าคลั่ง จนกระทั่งถึงวันจบการศึกษา ปรากฎว่าเขาได้รับรางวัล เหรียญทองของเหรียญทอง หรือแปลได้ว่า ในบรรดานักศึกษาที่ได้เหรียญทองทั้งหมดนั้น คุณท๊อปได้อันดับ 1 ของพวกเขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยมีได้แค่คนเดียว

แถมอาจารย์ยังเซอร์ไพรส์คุณท๊อปด้วยการมอบเงินคืนส่วนหนึ่งผ่านรางวัลทางวิชาการของ Dean’s list สำหรับนักศึกษาดีเด่นให้เขาอีกด้วย

และปมเรื่องการเรียนของเขาก็ได้ถูกแก้ไข ต่างจากช่วงก่อนเข้าปริญญาตรีที่ไม่มีที่ไหนอยากรับเขาเข้าเรียน แต่พอถึงช่วงที่จะต่อ ป.โท เขากลับได้รับจดหมายเชิญเข้าเรียนตามมหาวิทยาลัยท๊อป ๆ ของโลก และเขาก็ได้ตัดสินใจตอบรับเข้าเรียนต่อ ป.โท ที่มหาวิทยาลัย Oxford (University of Oxford) และนั่นก็ถือว่าเป็นข่าวดีมาก ๆ กับทางครอบครัวของคุณท๊อป ถึงขนาดที่ว่าในวันรุ่งขึ้นคุณแม่ของคุณท๊อปเปิดร้านเพื่อแจกเสื้อลูกค้าฟรีกันไปเลย เพื่อฉลองที่ลูกชายนั้น ได้เรียนต่อ ป.โท กับมหาวิทยาลัยระดับโลก

ซึ่งโดยปกติแล้วทาง Oxford จะรับนักศึกษา ป.โท จากทั่วโลกเพียงปีละ 50 คนเท่านั้น และเขาก็เป็นหนึ่งในนั้น แถมยังมีอายุน้อยที่สุดในรุ่นที่มีอายุเพียง 21 ปี ในขณะที่คนอื่น ๆ อายุเฉลี่ยประมาณ 25 ปี ที่ผ่านการเรียน ป.โท กันมาแล้ว 2-3 ใบ ในขณะที่ตัวของคุณท๊อปเองนั้น มาจากการจบ ป.ตรี แล้วเข้ามาที่นี่เลย

ซึ่งสิ่งที่เจ๋งมาก ๆ ของมหาวิทยาลัย Oxford เลยก็คือ คุณจะได้เรียนสด ๆ กับอาจารย์หรือตัวจริงผู้คิดค้นทฤษฏีต่าง ๆ ที่เป็นต้นฉบับคนแรกที่เขียนหนังสือให้กับคนทั้งโลกได้ศึกษา แต่ในขณะเดียวกัน เวลาคนล้ำ ๆ สื่อสาร ก็จะมีแต่คนล้ำ ๆ เข้าใจ ซึ่งเกียรตินิยมเหรียญทองของเหรียญทองของคุณท๊อปนั้น ไม่ได้ช่วยอะไรเลยแม้แต่น้อย เพราะเขาตามเนื้อหาไม่ทันเลยสักกะนิด เรียกได้ว่า ตอนที่อยู่ ป.ตรี มีแต่คนมาลอกการบ้านกับเขา แต่ในขณะที่ตอนอยู่ ป.โท เขากลับต้องขอลอกการบ้านเพื่อนคนอื่นแทน รวมไปถึงเขาลองไปทำข้อสอบย้อนหลังตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เขาก็ทำไม่ได้สักกะข้อ

และแล้วก็มาถึงวันที่ต้องสอบเพื่อตัดสินใจว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาโทได้หรือไม่ ทันทีที่ได้กระดาษข้อสอบ คุณท๊อปเล่าว่า เลือดกำเดาแทบพุ่ง เพราะความดันจู่ ๆ ก็ดันหัวเขาแทบระเบิด แล้วก็ตะโกนในใจอย่างสุดเสียงดังที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ว่า “นี่มันอะไรกันวะเนี่ยยยยย” เพราะคำถามที่เขาได้รับมานั้น เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกี่ยวกับหัวข้อไหนในการเรียน เขานั่งมึนและช็อคมือสั่นไปกว่าครึ่งชั่วโมง และมีเวลาทำข้อสอบอีกเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง

และเมื่อเขาตั้งสติกลับมาได้ เขาตัดสินใจที่จะกาคำถามของอาจารย์ทิ้ง แล้วตั้งคำถามใหม่เอง แล้วใช้ความรู้ ความจำทั้งหมดที่อ่านหนังสือมาตลอดทั้งปี เขียนลงในกระดาษคำตอบยาวถึง 6 เล่ม แล้วส่งอาจารย์ไปทั้งอย่างนั้น จนไม่รู้ว่าอาจารย์อารมณ์อิท่าไหน ก็ให้เขาจบการศึกษาไปได้ในที่สุด ซึ่งส่วนตัวของคุณท๊อปเองก็เล่าว่า “ในชีวิตนี้ขอแบบนี้แค่ครั้งเดียว ไม่เอาแบบนี้อีกแล้ว มันทรมานมาก”

แต่หลังจากจบมาแล้ว เขาก็ยังมึน ๆ งง ๆ กับชีวิตอยู่ว่าเอายังไงต่อดี หลังจากที่อยู่ New Zealand มา 5 ปี อยู่ที่อังกฤษอีก 5 ปี เปลี่ยนที่บ้างก็น่าจะดี

เขาจึงตัดสินใจตีตั๋วไปเซี้ยงไฮ้ เพื่อเข้าไปทำงานกับบริษัทเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Investment Banking ในขณะที่เหล่าบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นของเขานั้น ก็มักจะไปทำงานกับบริษัทการเงินดัง ๆ ระดับโลกกันแทบทั้งสิ้น เพราะยังไงก็ได้งานทำแน่ ๆ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมยังได้เรทเงินเดือนที่สูงลิบ

แต่ในขณะที่คุณท๊อปมองมุมตรงกันข้าม เพราะเขาไม่ได้ทำงานเพื่อให้ได้เงินเดือนสูง ๆ แถมถ้าเขาเข้าไปอยู่กับบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ เขาก็จะเป็นแค่เพียงฟันเฟืองจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งของบริษัท ที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก

แต่ในขณะที่หากเขาเข้าไปทำงานที่บริษัทเล็ก ๆ เขาจะได้เห็นกระบวนการการทำงานทุกสิ่งอย่างของบริษัทอย่างละเอียด ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในทุกแผนก เพราะสิ่งที่เขาให้ค่ามากกว่าตัวเงินก็คือ “ประสบการณ์” และ “การเรียนรู้” และด้วยความที่เขาติดนิสัยถึกอึดทน ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยมาอย่างหนัก อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ปี ทำให้ตัวเขาเปรียบเสมือนกับเป็นตัวบ้าพลังแปลกประหลาดในหมู่กลุ่มคนทำงานในบริษัทด้วยกัน เรียกง่าย ๆ คือ ไฟท่วม ไฟลุกโชน บ้างาน แต่ติดอย่างเดียวตรงที่ Manager หรือหัวหน้าของเขานั้น เวลาที่เขาเสนอไอเดียเจ๋ง ๆ ไปกลับไม่ผ่านสักโครงการ ไม่เปิดให้คนรุ่นใหม่ทำอะไรใหม่ ๆ บ้างเลย ทำงานอยู่ที่เซียงไฮ้ได้ประมาณสองเดือนเศษเขาก็ลาออก

แต่ในระหว่างที่ทำงานอยู่ที่เซียงไฮ้นี้นี่เอง เขาก็พบกับคำว่า Bitcoin เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่จู่ ๆ มูลค่าของมัน จากราคาเหรียญละ 11 ดอลล่าร์ กลับพุ่งขึ้นเป็น 1,150 ดอลล่าร์ หรือราคาพุ่งขึ้นกว่า 1,000% ในเวลาอันรวดเร็ว เขาจึงเริ่มให้ความสนใจกับ Bitcoin แล้วว่า มันคืออะไร? มันเป็น Financial Asset หรือสินทรัพย์แบบใหม่อย่างนั้นหรือ?

จนกระทั่งเขาก็ไปเจอกับบทความบน Blog หนึ่งที่เขียนบทความเกี่ยวกับ Bitcoin โดยมีชื่อบทความว่า “Why Bitcoin Matters” ที่เขียนโดย Marc Andreessen เป็นผู้ก่อตั้ง Web Browser เว็บแรกของโลกที่มีชื่อว่า Netscape ที่ถูกบริษัท AOL (ซึ่ง Microsoft ของ Bill Gates ก็เข้าซื้อกิจการของ AOL ต่ออีกที) ซื้อไปในปี 1998 ในราคากว่า 4.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในวัยนักศึกษามหา’ลัย แถมยังเป็นคนแรก ๆ ที่สร้างระบบ Cloud Computing ขึ้นก่อนที่ Amazon.com ของ Jeff Bezos จะสร้างขึ้นมาซะอีก

แถมตอนนี้ยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของกระดานเทรดเหรียญดิจิตอลหรือ Crypto Exchange ที่ชื่อว่า coinbase ที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของอเมริกาที่ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ใน NASDAQ ได้เป็นแห่งแรกของโลกไปแล้ว โดย Marc Andreessen ณ ตอนนี้เขาติดอันดับมหาเศรษฐีอันดับที่ 1833 ของโลก มีทรัพย์สินกว่า 1.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 56,000 ล้านบาท

Marc Andreessen – Photograph by Joe Pugliese

ซึ่งบทความดังกล่าวได้เขียนไว้เมื่อราว ๆ เกือบสิบปีที่แล้ว ก่อนที่ Bitcoin มันจะบูมดังเช่นวันนี้ เพราะด้วย Vision หรือวิสัยทัศน์ของ Marc นั้น มักจะมองอนาคตข้ามชอร์ตกว่าคนทั่วไปล้ำหน้ากว่า 10 ปี และนั่นมันก็ทำให้คุณท๊อปให้น้ำหนักและค่อนข้างเชื่อมั่นว่า Bitcoin นั้นจะมาเปลี่ยนแปลงโลกทางการเงินในอนาคตภายใน 10 ปีนี้อย่างแน่นอน

และหลังจากที่คุณท๊อปออกมาจากเซี้ยงไฮ้ เขาก็ตัดสินใจไปสมัครงานที่ San Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อที่หวังว่าจะได้สัมผัสประสบการณ์ใกล้ชิดกับบริษัทระดับโลกของ Facebook และ Google แต่ก็ไม่ได้รับคัดเลือก เพราะเรียนไม่ตรงสาย เพราะเขาจบด้านเศรษฐศาสตร์มา ในขณะที่คนที่เรียน Computer Science หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาจะตรงสายกว่า เขาจึงไปได้งานเป็น Consultant ที่ปรึกษาที่ Market Street, Bank of America แต่ทำงานได้เพียงสัปดาห์เดียวเขาก็รู้ทันทีเลยว่า เขาไม่เหมาะกับงานนี้ เพราะต้องนั่ง Research หาข้อมูลทั้งวัน เหมือนดั่งตอนเรียนในมหา’ลัย ที่เขาไม่ขอทำงานแนวนี้อีกแล้วตลอดชีวิตนี้

ทำให้เขาตัดสินลาออกในเวลาอันรวดเร็ว แต่ไหน ๆ ก็ตีตั๋วมาไกลถึงอเมริกาแล้ว จะกลับเลยก็กะไรอยู่ คุณท๊อปจึงติดต่อเพื่อน ๆ ที่รู้จักกันว่า มีใครพอจะรู้จักคนวงในของ Sillicon Valley บ้าง จนกระทั่งเพื่อนเขาก็ได้ทำนัดให้คุณท๊อปพบกับ Dan Schatt (อดีต)ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ Paypal บริษัทรับชำระเงินออนไลน์ระดับโลกในเวลานั้น ที่ร้านแพนเค้ก

Dan Schatt อดีตผู้บริหารของ paypal

โดยคุณท๊อปได้เปิดด้วยประโยคคำถามประมาณว่า Dan คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ Bitcoin บ้าง โดย Dan ก็ตอบกลับมาว่า “เนี่ยคุณท๊อป คุณรู้ไหมว่า paypal จริง ๆ แล้วตั้งใจที่จะสร้าง Digital Dollar นะ แต่ในสมัยนั้นน่ะ เทคโนโลยีไม่เอื้อสักกะอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบ Cloud Computing ก็ยังไม่มี, อินเตอร์เน็ตก็ยังมีแต่ในบ้านแถมยังช้าเป็นเต่า, สมาร์ทโฟนที่ก็ยังไม่มา แถมยังไม่มีเทคโนโลยีอย่าง Blockchain อีกต่างหาก paypal ก็เลยเป็นได้แค่ payment gateway”

“ซึ่งรุ่นของคุณเนี่ย ถือว่าเป็นคนรุ่น ‘The Luckier Generation’ ที่โชคดีมาก ๆ ที่เติบโตมาเพียบพร้อมกับเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยทุกอย่าง” และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่คุณท๊อปเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า Bitcoin มันจะต้องมาเปลี่ยนแปลงโลกนี้อย่างแน่นอน

และอีกสิ่งหนึ่งที่เขาได้จากการเป็นอยู่ในสังคมของ Sillicon Valley นั้น ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหนก็ตาม แม้กระทั่งในผับ หากคุณเปิดประโยคด้วยคำถามว่า What do you do? คุณทำงานอะไร คนส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า I am a Entrepreneur. ที่แปลได้ว่า ฉันเป็นผู้ประกอบการ บริษัทสตาร์ทอัพที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น มันทำให้เขาเริ่มซึมซับวัฒนธรรมของฝั่งของคนที่มีความฝันที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่ เพราะในสายงานของคุณท๊อปนั้น เขาถูกปลูกฝังมาเพื่อให้เป็นพนักงานที่จะต้องไต่เลเวลจากล่างขึ้นบนเพียงอย่างเดียว

โดยหากย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่คุณท๊อปจะบินมาที่อเมริกานั้น เขาก็ได้มีโอกาสพบกับเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ที่ Philippines ที่ทำให้เขาพบกับเพื่อนใหม่อีก 3 คน ที่เคยทำงานที่อยู่ที่ Sillicon Valley แถมหนึ่งในนั้นยังเคยขายกิจการที่ชื่อ CardMunch ให้กับ LinkedIn โซเชียลมีเดียของคนทำธุรกิจอันดับโลกมาแล้วอีกด้วย โดยคุณท๊อปได้มีโอกาสไปช่วยทำงาน Research ในโปรเจคที่ชื่อว่า World Startup Report ที่คอยสำรวจทั้งโลกว่าในแต่ละประเทศนั้นมีบริษัท Startup อะไรบ้าง ซึ่งคุณท๊อปก็เริ่มเอะใจว่า ในประเทศไทยยังไม่มีใครทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเรื่องของ Bitcoin เลยสักกะคน นั่นทำให้เขาเริ่มปักหมุดในใจว่าจะเป็นเจ้าแรกในไทยในด้านนี้

11 Marzo 2013. Bowei Gai (foto) junto a su socio en la creacion Drew Beaurline , ambos idearon una aplicacion llamada World Starup Report. Foto:Rolando Morales C./ La tercera.

และคนจุดประกายก็คือ Bowei Gai เพื่อนใหม่ของเขาที่ไปช่วยทำโปรเจคนั่นเอง โดยได้เลี้ยงข้าวคุณท๊อปเพื่อเป็นการตอบแทน และในระหว่างที่นั่งคุยกันอยู่นี่เอง คุณ Bowei ก็ได้พูดในทำนองที่ว่า ได้ข่าวว่าคุณจะไปทำงานที่ San Francisco อย่างนั้นหรอ แถมยังจบมาจาก Oxford อีกด้วย คิดให้ดี ๆ ก่อนนะ ก่อนที่คุณจะติดลมบนไปกับการเป็นพนักงานประจำไปจนเกษียณ ซึ่งถ้าให้เขาแนะนำนะ ว่า “ตอนนี้คุณท๊อปคุณตอนนี้อายุเพียง 23 ปีเท่านั้น ยังหนุ่มยังแน่น สามารถทำงานได้วันละ 10-12 ชั่วโมงติดต่อกันไปตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ แถมยังเกิดมาอยู่ในกลุ่มของ ‘Lucky sperm club’ หรือแปลได้ประมาณว่า คนที่เกิดมาโชคดีไม่เดือดร้อนเรื่องการเงิน แถมที่บ้านก็ยังไม่ต้องการเงินเลี้ยงดูจากคุณด้วยเนี่ย ผมว่าคุณลองไปทำ Startup ดูก่อนดีกว่าไหม?” “เพราะต่อให้คุณล้มเหลวตอนนี้ คุณก็ยังหนุ่มยังแน่นอยู่ แถมมีดีกรี Oxford ติดตัวมาด้วย ใครต่อใครต่างก็แย่งตัวคุณกันอยู่แล้วไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีงานทำ”

เพราะถ้าคุณตัดสินใจที่จะไปทำงานประจำ แล้วติดลมบนจนอายุปาเข้าไป 40 ปี แถมยังมีลูกมีเมียที่ต้องคอยเลี้ยงดูอยู่ด้วยแล้วล่ะก็ ไอ้การที่จะลาออกมาเพื่อเปิดบริษัทของตัวเองนั้น โคตรจะเสี่ยง แถมหากบริษัทเจ๊งขึ้นมา แล้วคุณจะไปหางานประจำทำเพื่อเอาตัวรอดในวัยนั้น คงจะหางานยากน่าดู เพราะใครต่อใครต่างก็อยากได้เด็กรุ่นใหม่ อายุน้อย ๆ ไฟแรง ๆ ที่มีค่าตัวถูกกว่าคุณเข้ามาทำงานให้ซะมากกว่า

และดินเนอร์มื้อนั้นของคุณท๊อปก็ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เพราะหลังจากที่เขากลับมาที่เมืองไทยแล้วปรึกษากับที่บ้านแล้วเขาก็บอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่า “ผมจะเปิดบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ทำเกี่ยวกับ Bitcoin” ซึ่งคุณลองนึกภาพตามกันนะครับว่า ไอ้คำว่า startup เมื่อ 8 ปีที่แล้ว คนยังถามว่ามันคืออะไร มันต่างกับ SME ยังไงอยู่เลย และยิ่งไอ้เจ้า Bitcoin นี่อีก ยิ่งไม่รู้จักเข้าไปใหญ่

แต่โชคดีที่คุณพ่อและคุณแม่ไม่ได้ห้ามเขาไม่ให้เปิดบริษัท โดยบริษัทแรกของเขามีชื่อว่า คอยส์ ไทยแลนด์ (Coins Thailand) โดยสถานที่แรกที่เขาใช้เป็นออฟฟิศก็คือ ชั้นลอยของร้านขายเสื้อผ้าของคุณแม่ที่ประตูน้ำนั่นแหละ โดยมีพนักงานจำนวน 1 คนถ้วน นั่นก็คือ ตัวของคุณท็อปที่ทำตำแหน่ง CEO นั่นเอง โดยมีสปอนเซอร์คนแรกคือน้องสาวของคุณแม่ที่เปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์อยู่ ได้บริจาคชุดโต๊ะทำงานจำนวน 1 ชุด และ Asset เดียวของบริษัทของเขาก็คือ Laptop ยี่ห้อ Toshiba ที่เขาใช้ทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนมหา’ลัยนั่นเอง

และลูกค้าคนแรกของเขาก็คือคุณน้าคนนี้นี่แหละ ที่ใช้บริการซื้อ Bitcoin ผ่านบริษัทของเขา โดยคุณท๊อปแอบกระซิบมาด้วยว่า Bitcoin ที่คุณน้าซื้อในวันนั้น วันนี้แกก็ยังคงถือมันไว้อยู่ และแฮปปี้มาก ๆ ถึงมากที่สุด

โดย ณ วันแรก ๆ ของการทำเว็บไซต์เพื่อให้คนไทยเข้ามาซื้อขาย Bitcoin นั้น ยังเป็นเพียงแค่หน้ากากเว็บไซต์ที่ยังไม่มีระบบอะไรใด ๆ เลย ตอนนั้นคุณท๊อปได้สร้างเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า coins.co.th ที่ยังไม่มีแม้ wallet หรือกระเป๋าเก็บบิทคอยด์ออนไลน์เป็นของตัวเองด้วยซ้ำ พอเวลามีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาที่เว็บไซต์ เขาก็ต้องรีบวิ่งไปซื้อ Bitcoin จากที่อื่นเพื่อมาโอนให้ลูกค้า ไม่มีระบบออโต้ใด ๆ ทั้งสิ้น เขาจึงต้องทำงานทุกอย่างด้วยตนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ดีไซน์เว็บไซต์ กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ การตลาด การขาย โอเปอร์เรชั่น บัญชี

ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ทรมานที่สุดช่วงหนึ่งของการเริ่มต้นทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะเขาหยุดงานไม่ได้ เพราะตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่นั้น เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีวันหยุดเลยสักวัน ทำให้เขาต้องคอยรับออเดอร์อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลับไม่ได้นอน แถมยังหมุนเงินไม่ทัน จนมีอยู่ครั้งหนึ่งมีออเดอร์เข้ามาตอน ตี 3 เขาต้องรีบไปเคาะประตูห้องของคุณพ่อคุณแม่เพื่อที่จะยืมเงินไปซื้อ bitcoin มาให้ลูกค้าก่อน เพื่อที่รีบส่งออเดอร์ให้ลูกค้า ณ เดี๋ยวนั้น แถมยังประหยัดเงินทุกบาททุกสตางค์ แม้กระทั่งค่าข้าวเขาก็ยังอาศัยกินกับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน เป็นอย่างนี้อยู่กว่า 10 เดือน ที่เขาไม่ออกสังคมไปพบปะหรือเจอผู้คนเลยสักกะคน

จนกระทั่งเขาเริ่มเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงเริ่มหาพนักงานใหม่เข้ามาช่วยที่ออฟฟิศ แต่หลังจากที่เรียกมาสัมภาษณ์ ทุกคนก็ต้องตกกะใจกับสภาพของออฟฟิศของสถาบันการเงิน ที่อยู่ด้านบนของร้านขายเสื้อผ้า ที่มีโต๊ะและพนักงานแค่คนเดียวก็คือ ตัวคุณท๊อปที่เป็น CEO แถมยังได้ข่าวว่า Bitcoin นี่มันคือแชร์ลูกโซ่ไม่ใช่หรือไง ทำให้แม้มีเงินพอที่จะจ่ายค่าจ้าง แต่กลับไม่มีใครมาสมัครทำงานด้วยเลยสักกะคน

ทำให้ ณ เวลานั้น คุณท๊อปจึงต้องขอร้องให้เหล่าบบรรดาลูกพี่ลูกน้องที่เป็นเครือญาติกันมาช่วยทำงาน 2 คน ที่ว่างงานช่วงนั้นพอดี ก็ทำให้พอคลายเหงาไปได้บ้าง

แต่ในเวลาไม่นาน ทางบ้านของเขาก็ได้รับจดหมายจากแบงก์ชาติเขียนจดหมายมาแจ้งเตือนว่า Bitcoin อาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ และอาจจะมีมูลค่าเป็น ‘0’ ในไม่ช้านี้

แน่นอนว่า เมื่อคุณพ่ออ่านจดหมายเสร็จแล้วมองหน้าลูกชาย ไม่บอกก็รู้ว่าระหว่างแบงค์ชาติกับลูกชายที่พึ่งเรียนจบใหม่ ๆ อายุ 23 ปีนั้น ใครมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

โดยคุณพ่อและคุณแม่ของเขาก็รู้สึกเสียใจและผิดหวังในตัวลูกชายมากว่า อุตส่าห์ส่งเสียให้เรียนสูง ๆ ที่เมืองนอกกว่าสิบปี ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันที่จบไปแล้ว แต่ละคนก็ได้เงินเดือนหลายแสน แถมยังอยู่บริษัทชั้นนำของโลก พ่อของเขาจึงแนะนำให้คุณท๊อปเลิกกิจการแล้วไปหางานดี ๆ ทำซะ

แต่คุณท๊อปก็พยายามชี้แจงคุณพ่อคุณแม่ว่า ฺBitcoin มันไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ แต่มันคือเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลกใบนี้

จนเวลาผ่านไปสักพัก เขาเริ่มมีเงินเก็บและมีกำไรจากบริษัทมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงนำเงินก้อนนี้ไปเช่าออฟฟิศแห่งใหม่ที่ Cluster Office ซึ่งเป็น Co-Working Space แถวย่านเอกมัย โดยเขาเริ่มต้นจากเช่าห้องเล็กที่สุดที่นั่น ที่มีความจุพนักงานได้ประมาณ 4-5 คน จนกระทั่งกิจการเริ่มเติบโตมากยิ่งขึ้น จำนวน transaction หรือจำนวนการทำธุรกรรมเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องขยายเป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดของที่นั่น ที่สามารถให้พนักงานประมาณ 13-14 คน มาทำงานในห้องเดียวกันได้

และเมื่อมีการทำธุรกรรมที่มากขึ้น มันก็ไปเตะตากับ ปปง. หรือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ส่งจดหมายมาหาคุณท๊อป ซึ่งจั่วหัวด้วยชื่อจริงว่าให้ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ไปสอบปากคำเพื่อสืบสวนสอบสวนว่า Bitcoin เป็นการฟอกเงินหรือไม่อย่างไร

และแน่นอนว่าจดหมายนี้คุณพ่อของคุณท๊อปก็ได้อ่านด้วยเช่นกัน ถึงกับตัดพ้อกับลูกชายของตนว่า “ท๊อป ครอบครัวเราก็ไม่ได้ลำบากอะไรมากมาย ถึงกับขนาดที่ต้องไปเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางแบบนี้เลยนะลูก” “ปิดบริษัทเดี๋ยวนี้ซะ”

และเช่นเดิม คุณท๊อปก็เริ่มมีปากเสียงกับที่บ้าน และเขายังยืนด้วยคำเดิมว่า “Bitcoin ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ มันเป็นเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลก!”

แต่เขาก็ยังดื้อที่จะทำต่อ ไม่ยอมปิดบริษัท ทำให้ในช่วงนั้น เวลา 10 โมงเช้าจนถึง 1 ทุ่ม เขาใช้เวลาในการคุมลูกทีมในบริษัทกว่า 13 คนในออฟฟิศทำงานปกติ และใช้เวลาตั้งแต่ 1 ทุ่มจนถึงตี 3 ในการอ่านกฎหมายของ ปปง. เพื่อเตรียมไปพรีเซนต์ เพราะก่อนหน้านี้เขาพยายามติดต่อไปหากลุ่มเพื่อน ๆ ที่จบมหา’ลัย เดียวกันที่ทำงานเกี่ยวกับด้านกฎหมาย ปรากฎว่าไม่มีใครยอมรับงานนี้เลยสักคน เพราะไม่มีใครอยากเดือดร้อน ซึ่งคิดดูว่าย้อนกลับไปเมื่อสมัย 7-8 ปีที่แล้ว Bitcoin เป็นอะไรที่ใหม่มาก ๆ

ทำให้คุณท๊อปต้องพยายามหาข้อมูลอย่างหนัก เพื่อไปอธิบายให้กับ ปปง. และแบงค์ชาติ ว่า Bitcoin มันไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ มันเป็นสิ่งใหม่มาก และอะไรที่มันใหม่มาก ๆ มนุษย์เรามักจะกลัวการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ประกอบกับทั่วโลกก็ยังมองว่า Bitcoin ใช้กันในหมู่ของพวกพ่อค้ายาเสพย์ติดหรือไม่ก็พวกค้าอาวุธ หรือของที่ผิดกฎหมาย แต่เหตุการณ์ในการเข้าชี้แจงในครั้งนี้ก็ได้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

แต่พอคุณท๊อปกลับมาถึงที่ออฟฟิศ กลับพบว่า พนักงานกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทพากันลาออกไปในทันทีที่รู้ว่า คุณท๊อปโดน ปปง. เรียกตัวไปสอบสวน เพราะแน่แหละว่า ใคร ๆ ก็ไม่อยากติดร่างแหไปด้วยหากผลการชี้แจงล้มเหลว

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณท๊อปล้มเลิกความตั้งใจ เขาจึงเดินหน้าต่อ เพราะอัตราการเติบโตของการทำธุรกรรมต่อวันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องขยายออฟฟิศอีกครั้ง โดยย้ายไปที่ Draft board แถวชิดลม โดยมีพนักงานรวมแล้วกว่า 30 คน มี Transcation การทำธุรกรรมเฉลี่ยแล้วประมาณ 200-400 transactions ต่อวันส่งผลให้ในปี 2015-2016 บริษัทของเขาก็กลายเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับ Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

แต่แล้วคุณท๊อป ก็ได้รับจดหมายจากแบงค์ชาติอีกครั้ง และเฉกเช่นกับครั้งที่แล้วที่เมื่อคุณพ่อได้อ่านจดหมาย ก็สั่งให้คุณท๊อปปิดบริษัทเดี๋ยวนี้ทันที และเช่นเดียวกันคุณท๊อปก็ยังคงดื้อดึงและเถียงกลับไปว่า “bitcoin จะมาเปลี่ยนโลกใบนี้!”

ความเครียดเริ่มถาโถมเข้ามาหาคุณท๊อปจากทุกทิศทุกทาง ทำให้ไม่สามารถคุยเรื่องนี้กับใครได้เลย เพราะถ้าหากปล่อยให้พนักงานในบริษัทรู้ก็จะต้องพากันลาออกกันเกือบหมดแบบครั้งที่แล้วอีกเป็นแน่ ส่วนที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เชื่อใจเขาแล้ว แถมเวลาที่กลุ่มเพื่อน ๆ จากมหา’ลัย นัดเลี้ยงรุ่นกัน เขาก็ไม่กล้าคุยอะไรมากนัก เพราะในกลุ่มก็มักจะเกทับกันว่า ตอนนี้ทำงานอะไรกันบ้าง โดยแต่ละคนก็โชว์ว่าตนนั้นทำงานกับบริษัทชั้นแนวหน้าของโลกกันแทบทั้งสิ้น แต่พอถึงตาคุณท๊อปบอกว่า กำลังทำสตาร์ทอัพ เกี่ยวกับ Bitcoin อยู่ ก็โดนดูถูกว่า เฮ้ย! บิทคอยด์นี่แบงค์ชาติเขาบอกอยู่ที่ว่ามันอาจจะเป็นแชร์โลกโซ่นี่นา

ทำให้ในทุก ๆ เย็นวันศุกร์ วันหยุดงานที่บริษัท เขาเลือกที่จะพาตัวเองไปที่สนามบินเพื่อจิ้มไฟล์ทเที่ยวบินอะไรก็ได้ ณ ตอนนั้นสักไฟลท์ เพื่อหนี้จากความเครียด ไปที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ที่นี่ แล้ววันอาทิตย์ค่อยบินกลับมาลุยงานใหม่ ซึ่งคุณท๊อปเล่าว่า เขาเป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 7 สัปดาห์ จนกระทั่งเขาหาคำชี้แจงกับ แบงค์ชาติจนได้ว่า ไอ้ความหมายของคำว่าเงินนั้น เปลี่ยนครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) และ ‘บิทคอยด์’ นั้นไม่ใช่เงินตามความหมายดั้งเดิม ทำให้รอดพ้นสถานการณ์ที่กดดันนั้นมาได้

แต่พอเขากลับมาจากการชี้แจงกับแบงค์ชาติ ทันทีที่เหล่าพนักงานในออฟฟิศรู้เรื่องเข้า ก็พากันลาออกกันกว่าครึ่งบริษัทอีกรอบ

แต่รอบนี้เจอวิกฤตถาโถมอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากที่จบเรื่องกับแบงค์ชาติ ทีนี้เป็นตาของสรรพากร เพราะสรรพากรก็ยังไม่มีระบบจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับ Bitcoin ออกมา ณ เวลานั้น โดยคราวนี้คุณท๊อปไม่ต้องซ่อนจดหมายอีกต่อไป เพราะสรรพากร ส่งคนเข้ามาเฝ้าดูถึงในออฟฟิศกันเลยทีเดียว

และเมื่อไม่ต้องปกปิดพนักงานแล้ว ก็กลายเป็นว่า ในเวลางานปกติตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม ทุกคนเป็นพนักงานออฟฟิศทำงานปกติ แต่ตั้งแต่ 1 ทุ่มไปยันตี 3 ทุกคนในออฟฟิศทำหน้าที่เป็นนักบัญชีช่วยกันทำบัญชี โดยที่ไม่ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น ไม่มี OT ไม่มีโบนัส ทำให้ในช่วงนี้ พนักงานก็พากันลาออกเกือบหมด เพราะเกิดสภาวะความตึงเครียด งานก็หนัก โอทีก็ไม่ได้ แถมยังมาเสี่ยงกับบริษัทที่อาจจะทำผิดกฎหมายอีก ซึ่งแม้แต่พนักงานที่จงรักภักดีกับบริษัทก็ยังพากันลาออก เพราะเกิดอาการ burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน

แต่ก็ยังมีโชคดีมาอยู่บ้าง ตรงที่ในช่วงปีนั้น มีกฎหมายออกมาประมาณว่า หากนำบริษัทเข้าสู่ระบบของรัฐอย่างเป็นระบบ จะถือว่าเรื่องในอดีตที่ทำผิดพลาด ทำเอกสารไม่ครบถ้วน ถือว่าเป็นโมฆะไป เริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ทำให้รอดจากวิกฤตสรรพากรในครั้งนั้นไป ก็ทำให้บริษัทเริ่มต้นหาพนักงานเข้ามาร่วมทีมกันใหม่เพื่อลุยต่อ

และดูเหมือนสถานการณ์ที่เลวร้ายก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ประเทศญี่ปุ่นก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า Bitcoin เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ในวันนี้คุณท๊อปบอกว่า มันเหมือนกับวันที่เขาได้ยกภูเขาออกจากอก ที่แบกมันมาอย่างยาวนาน ทำให้สถานการณ์พลิกจากเดิมที่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวกับตัวเขาและบริษัทของเขา เพราะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แต่ในตอนนี้ ต่างมีคนเข้าหาเพื่อมาปรึกษาเขาเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ เพราะเขาคือคนที่พิสูจน์ให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นแล้วว่า คนส่วนใหญ่คิดผิดเกี่ยวกับ Bitcoin ในขณะที่ตัวของเขานั้นคือคนส่วนน้อยที่พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นมันถูก

จึงทำให้บริษัทสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่จากประเทศอินโดนีเซียนามว่า Gojek ติดต่อขอเข้าซื้อกิจการของคุณท๊อปไป และนั่นก็เป็นการ Exit จากบริษัทครั้งแรกของคุณท๊อปในฐานะ Entrepreneur หรือผู้ประกอบที่แท้จริง

และหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศว่า Bitcoin ถูกกฎหมายแพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้สื่อต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาหาคุณท๊อปจากทั่วประเทศไทย เพื่อติดต่อไปพูดตามเวทีต่าง ๆ นับร้อยเวทีภายในปีเดียว (ซึ่งอันที่จริง หลังจากที่เขาขายกิจการไปแล้ว กะว่าจะขอพักเหนื่อยใช้เงินชิล ๆ สักปีนึงก่อน) ทำให้เขาไม่ได้พักตามที่ตั้งใจเอาไว้

ประกอบกับในช่วงนั้น ทาง ก.ล.ต. ก็เปิดแข่งขัน FinTech Challenge เป็นครั้งแรกเพื่อส่งเสริมด้านนวัตกรรมในด้านการเงิน คุณท๊อปก็ไม่พลาดโอกาสนี้ในการที่จะถือโอกาสเผยแพร่ในเรื่องของเทคโนโลยี Blockchain ที่มันจะมาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ โดยเขาได้รวบรวมทีมแล้วตั้งชื่อว่า Privatechain โดยเสนอโปรเจค ตลาดหลักทรัพย์ 2.0 ด้วย T+0(วินาที) หรือแปลได้ว่า เขาจะสร้างตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ที่ซื้อขายหลักทรัพย์ประเภท Digital Asset โดยใช้เวลาในการซื้อขายเพียงเสี้ยววินาที ในขณะที่ตลาดทรัพย์หลักปัจจุบัน เวลาจะซื้อขายกันทีแล้วสามารถถอนเงินมาใช้ได้จริง ๆ นั้น ซึ่ง ณ เวลาที่แข่งขันนั้นตลาดหลักทรัพย์ยังใช้เวลาอยู่ที่ T+3 ที่แปลได้ง่าย ๆ ว่า กว่าจะได้จับเงินหลังจากเกิดการซื้อขายหลักทรัพย์กันแล้ว ต้องนับไปอีกสามวันกว่าจะได้เงินเข้าบัญชีมาใช้จ่ายได้จริง ๆ

Fintech Forum Blockchain พ.ศ. 2559

แต่ในขณะที่โปรเจค T+0(วินาที) ของคุณท๊อปนั้น คือเมื่อเกิดการซื้อขายหลักทรัพย์เดี๋ยวนั้นก็ได้เงินเดี๋ยวนั้นเลยรอไม่ถึงวินาที ทำให้โปรเจคนี้ก็ชนะเลิศเป็นอันดับ 1 ได้ในที่สุด ซึ่งในวันที่แข่งขันนั้น ก็มีทั้ง ก.ล.ต., กระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย คุณท๊อปจึงถือโอกาสบอกกับทาง ก.ล.ต. ตอนนั้นเลยว่า เขาอยากที่จะเปิดบริษัทใหม่เพื่อทำโครงการนี้ให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะ ก.ล.ต. ได้ตอบกลับมาแบบเสียงอ่อย ๆ ว่า เปิดไม่ได้ เพราะกฎหมาย ก.ล.ต. ระบุเอาไว้ว่าตลาดหลักทรัพย์มีได้เพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้น

แต่ก็ได้โครงการอย่าง SANDBOX เข้ามาช่วยผลักดันนวัตกรรมใหม่ ๆ และสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ให้ไอเดียเจ๋ง ๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่า ณ ตอนนั้นจะยังไม่มีกฎหมายรองรับก็ตามที ซึ่งถ้าหากพูดถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ แน่นอนว่ากฎหมายยุคเก่า ๆ มันตามไม่ทัน ทำให้ Bitcoin นั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้ถูกและก็ไม่ได้ผิดกฎหมายในเวลาเดียวกัน

ในเวลาต่อมา ทางกระทรวงการคลังก็มีคำสั่งลงมาว่า ประเทศเราจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุม กำกับและดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin ทำให้ทาง ก.ล.ต. จึงเรียกตัวคุณท๊อปเพื่อไปพรีเซ็นต์ให้กับเหล่าบรรดาบอร์ดบริหารระดับสูงสุดเพื่อให้ข้อมูลว่า จะจัดการอย่างไรกับ Bitcoin และสินทรัพย์ประเภท Digital Asset และข่าวดีก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อผู้ใหญ่ให้ไฟเขียว เพื่ออนุมัติให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจประเภท Digital Asset Exchange หรือตลาดซื้อขายเพื่อแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ประเภทดิจิตอลกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมี license ออกมารองรับธุรกิจประเภทนี้

ทำให้ในเวลาต่อมา คุณท๊อปจึงเริ่มเปิดระดมทุนเพื่อหาเงินทุนมาสร้างบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยในเวลาไม่นาน เขาก็ได้รับการติดต่อจาก SBI บริษัทกองทุนยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ที่เป็นบริษัทลูกของ Softbank อีกทีหนึ่ง โดยเขารู้จักและติดตามคุณท๊อปมาตั้งแต่สมัยเขาประสบความสำเร็จกับบริษัทแรก แต่เขาลงทุนไม่ทัน (เพราะตอนนั้นคุณท๊อปโนเนมมาก ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทจะไปรอดด้วยหรือไม่อีกต่างหาก) แต่รอบนี้พวกเขาอยากลงทุนกับคุณท๊อป โดยได้ส่งเอกสารมาว่า ต้องการลงทุนในบริษัทใหม่กับคุณท๊อป โดยจะให้เงินจำนวน 40 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้นบริษัทจำนวน 10% หรือแปลได้ง่าย ๆ ว่า นักลงทุนตีมูลค่าบริษัทใหม่ที่คุณท๊อปกำลังจะสร้างขึ้นมานั้นไว้ที่ราคา 400 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ ณ ตอนนั้นคุณท๊อปมีเพียงแค่แผนการที่เขียนไว้ในกระดาษแผ่นเดียวเท่านั้น! ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น มีแค่ตัวคุณท๊อปกับกระดาษ 1 แผ่น

ซึ่งมูลค่าบริษัทและเงินลงทุนระดับนี้ เทียบเท่ากับบริษัทสตาร์ทอัพระดับซีรี่ย์ A ที่บริษัทนั้น ๆ มักจะต้องมีทีมงาน มีผลงาน มีผลิตภัณฑ์ มีลูกค้า ระดับหนึ่งก่อนจึงจะได้เงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจต่อ

Image credit : https://blog.adioma.com/how-funding-works-splitting-equity-infographic/

แต่ด้วยความที่เงื่อนไข Term Sheet ของบริษัทญี่ปุ่นนั้น มีข้อจำกัดเยอะมาก ๆ กำหนดนู่นนี่นั่นเต็มไปหมด ทำให้คุณท๊อปเริ่มมองหาแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ในไทยดูก่อน ก็ปรากฎว่า หลังจากข่าวของคุณท๊อปกระจายไปถึงหูของนักลงทุนในประเทศไทย ก็กลับพบว่า ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยคนแรกที่เข้ามาก็คือคุณกอล์ฟ ณัฐพล วิมลเฉลา จากสยามราชธานี ที่มีข้อเสนอด้านเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่จู้จี้จุกจิกเหมือนกับบริษัทญี่ปุ่น ทำให้คุณท๊อปปฎิเสธข้อเสนอจากทางญี่ปุ่นไป แล้วไปตกลงกับนักลงในไทยแทน

คุณกอล์ฟ ณัฐพล วิมลเฉลา
Image credit: https://www.matichon.co.th/economy/news_2279409

ซึ่งการที่คุณท๊อปสามารถระดมทุนได้มากขนาดนี้ ในระยะเวลาอันสั้น แถมยังไม่ได้เริ่มทำบริษัทใหม่เลยด้วยซ้ำนั่นก็อาจจะมาจากการที่เขาประสบความสำเร็จกับบริษัทแรกมาก่อน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกลุ่มของนักลงทุน

และทันทีที่เงินลงทุนมา คุณท๊อปก็ได้ดำเนินการเปิดบริษัทอย่างรวดเร็ว และเร่งสปีดด้วยการเข้า TakeOver บริษัท IT แห่งหนึ่ง ที่มีพนักงานอยู่ประมาณ 10 คน แล้วฟอร์มทีมสร้าง bitkub ขึ้นมาจากจุดนั้น

ผ่านไปได้เพียง 1 เดือน ยังไม่ได้ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จู่ ๆ คุณท๊อปก็ได้รับการติดต่อจากคุณเหม็ง สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้บริหารของ DTAC Accelerate สนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

คุณเหม็ง สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์
ผู้บริหารของ DTAC Accelerate

ทำให้ในรอบ Seed Funding หรือเงินลงทุนตั้งต้นบริษัทใหม่นี้ ได้เงินลงทุนจำนวน 67 ล้านบาท โดยบริษัท bitkub ถูกตีมูลค่าเอาไว้ที่ 525 ล้านบาท มีนักลงทุนอยู่กัน 3 กลุ่มคือ

  • สยามราชธานี
  • dtac Accelerate
  • SeaX Ventures
SeaX Ventures

และดูเหมือนการได้เงินทุนก้อนแรกที่เยอะนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ก็กลายเป็นความกดดันอย่างมหาศาลตามมาด้วยเช่นกัน เพราะแน่นอนว่า เมื่อความคาดหวังของนักลงทุนมีสูง บริษัทก็จะต้องสามารถทำผลงานได้สูงในเวลาอันรวดเร็วด้วยเช่นกัน เพราะหากเงินที่ระดมทุนมานี้หมดก่อนที่จะระดมทุนในรอบถัดไป และถ้าบริษัทยังไม่โตเท่ามูลค่าที่ถูกตีเอาไว้ที่ 525 ล้านบาท จะทำให้หากต้องการระดมทุนในรอบถัดไป จะต้องถูก Down Round หรือถูกลดมูลค่าของบริษัทลงไป แปลได้คร่าว ๆ ว่า ถ้าบริษัทไม่โต จะทำให้การหาเงินทุนรอบถัดไป ได้เงินน้อยลง แถมยังต้องแบ่งหุ้นบริษัทในสัดส่วนที่มากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้นคุณท๊อป จึงจำเป็นที่จะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีผลประกอบการมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยอมแม้กระทั่งไม่รับเงินเดือนตัวเองนานกว่า 10 เดือน เพราะมันจะทำให้ ROI (Retern On Investment) มันออกมาแย่ เพราะยิ่งรายจ่ายมาก ก็จะทำให้ผลกำไรมันตกลง เขาจึงนำเงินที่จะต้องจ่ายเงินเดือนตัวเอง เอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นที่ส่งผลให้บริษัทเติบโตโดยตรงเลยจะดีกว่า ซึ่งก็โชคดีที่เขามีเงินที่ยังเหลือจากการขายกิจการให้กับ Gojek ไปก่อนหน้านี้ มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บวกกับ Bitcoin จำนวนหนึ่งที่เก็บสะสมส่วนตัวเอาไว้มากินมาใช้

โดยคุณท๊อปเปรียบการปิดดีลการระดมทุน(Funding) ในรอบแรกนี้ว่า เราเปรียบเสมือนพ่อครัว ที่เมื่อได้เงินมาแล้ว เราก็มีหน้าที่ไปช้อปปิ้งหาวัตถุดิบนำมาทำอาหารให้อร่อยดังที่เจ้าของเงินคาดหวังเอาไว้

และคุณท๊อปก็สามารถทำให้บริษัท bitkub เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อย่างน่าสนใจ

  • ปีที่ 1 พ.ศ. 2561(ค.ศ. 2018) มีรายได้ประมาณ 3 ล้านบาท
  • ปีที่ 2 พ.ศ. 2562(ค.ศ. 2019) มีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,000%)
  • ปีที่ 3 พ.ศ. 2563(ค.ศ. 2020) มีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,000%)
  • และปีที่ 4 พ.ศ. 2564(ค.ศ. 2021) แค่เพียงเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียว ก็มีรายได้กว่า 400 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และผ่านไปไตรมาสแรก ก็มีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งรายได้ของปีนี้เพียงแค่ 3 เดือนก็มากกว่า 3 ปีที่ผ่านมาซะอีก
  • และในเดือนตุลาคม ปี 2564 (ค.ศ. 2021) ทางคุณท็อปได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทางรายการ Woody ว่ามีเงินฝากอยู่ใน bitkub มากกว่า 50,000 ล้านบาท และคุณท็อปก็ได้คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2021 นี้ ทางบริษัทน่าจะมีรายได้รวมกว่า 5,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วน่าจะมีผลกำไรกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ bitkub มีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์ฯ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทำให้กลายเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์นได้เป็นที่สำเร็จ

ซึ่งคุณท๊อปได้ให้เหตุผลว่า การที่จะประสบความสำเร็จแล้วขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของ Exchange หรือกระดานแลกเปลี่ยนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลในไทยได้นั้น มันเกิดขึ้นจากการที่เริ่มต้นธุรกิจเป็นคนแรก ๆ ในหมวดหมู่นั้น ๆ และเกิดจาก Network Effect ที่แข็งแกร่ง ยิ่งมีผู้ใช้งานและการบอกต่อมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่ง bitkub ได้ทำสถิติมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบสูงสุดต่อวันในช่วงเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) สูงถึง 12,000 ล้านบาทต่อวัน

แต่หากเทียบกับแพลตฟอร์มจากต่างชาตินั้น ยังค่อนข้างเสียเปรียบอยู่หลายเรื่อง เนื่องมาด้วยตัวกฎหมายของบ้านเราที่แม้จะหวังดีที่จะช่วยคุ้มครองเงินของนักลงทุน แต่กลับทำให้เสียเปรียบกับต่างชาติ ที่กลับไม่ต้องทำในหลาย ๆ เรื่อง

ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา – bitkub

โดยคุณท๊อปได้แชร์แนวคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จว่า เวลาที่เราเจออุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ เราท้อได้นะ แต่อย่าพึ่งยอมแพ้หรือล้มเลิกจนกว่าจะถึงเป้าหมาย ซึ่งในแต่ละช่วงชีวิตของเขานั้น ก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป แต่เขาจะโฟกัสทีละเป้าหมาย เช่น

  • ในช่วงปริญญาตรี เป้าหมายเดียวของเข้าคือการไปต่อ ป.โท ที่ Oxford ให้จงได้
  • ในช่วงปริญญาโทที่ Oxford เป้าหมายเดียวของเขาคือ การจบจากที่นี่โดยไม่ให้เงินของคุณพ่อคุณแม่ต้องเสียเปล่า
  • ในช่วงทำบริษัทแรก Coins Thailand เป้าหมายเดียวของเขาคือ การพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า เขาเป็นคนส่วนน้อยที่คิดถูก ในขณะที่คนส่วนใหญ่คิดผิดเกี่ยวกับ Bitcoin
  • และในช่วงที่ทำบริษัทที่สองอย่าง bitkub เขามีเป้าหมายว่า จะต้องสร้างบริษัทให้มากกว่าการเป็น Good Company โดยการเป็น Great Company เพราะเขามีปมใหม่ในใจจากการที่เขาได้ขายกิจการแรกไปให้กับ Gojek ว่า หลังจากที่ถูกซื้อกิจการไป กิจการนั้นของเขาก็ไม่ได้ถูกย่อยอดอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนว่าซื้อไปทิ้งร้าง ทั้ง ๆ ที่เขาตั้งใจที่จะให้ธุรกิจแรกนั้นเป็นธุรกิจเปลี่ยนโลก แต่มันดันกลับกลายเป็นบริษัทร้างที่ไม่ได้ทำประโยชน์อันใดให้กับโลก ดังที่รุ่นพี่สตาร์ทอัพเคยทำเอาไว้

และเขาก็หวังเอาไว้ว่า bitkub จะเป็นบริษัทแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสัญชาติไทย ที่จะเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ เป็นแรงบันดาลให้ว่า คนไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก และยังเป็นบริษัทที่จ่ายภาษีให้กับประเทศชาติเพื่อให้ GDP ของประเทศไทยเราเติบโตมากยิ่งขึ้น โดย bitkub ได้จ่ายภาษีให้กับประเทศ ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากเราลองมองย้อนกลับไปดูธุรกิจในด้านอื่น ๆ เราจะพบว่า เราได้กลายเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีของต่างชาติกันเกือบหมดแล้ว เช่น

  • คนไทยใช้ LINE มากกว่า 47 ล้านคน แต่จ่ายภาษี 0 บาท
  • คนไทยใช้ Facebook มากกว่า 50 ล้านคน แต่เก็บภาษีได้แค่เพียง 10 ล้านบาท

และวงการการเงินก็เหลือเพียงวงการเดียวที่ยังไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีของต่างชาติ จะเหลือก็แค่แอพของธนาคารต่าง ๆ ในบ้านเรากับ Bitkub ที่ยังเป็นของคนไทยอยู่ ซึ่งคุณท๊อปก็หวังว่า นอกจากจะช่วยผลักดัน GDP ในประเทศไทยให้เติบโตแล้ว จากนั้นก็จะสามารถโกอินเตอร์เพื่อไปโกยเงินจากต่างประเทศให้กลับเข้ามายังบ้านของเราได้ด้วย

“แล้วคอยดูกัน!”

Resources