7 หลักคิด พนักงานบริษัทหัวใจผู้ประกอบการ | Blue O’Clock X Beyond Training
หลายคนอาจคิดว่า แนวคิดการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น ค่อยคิดเมื่อตอนที่ไปเปิดเป็นบริษัทของตนเองก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดแบบเจ้าของธุรกิจ แนวคิดแบบผู้ประกอบการนั้น สามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่ยังเป็นพนักงานประจำ ยังเป็นพนักงานในองค์กรได้ในทันที
โดยเฉพาะหากคุณมีแนวคิดที่ว่า บริษัทนี้ก็ไม่ใช่ของเรา เราจะตั้งใจทำงานให้ดีกว่านี้ไปเพื่ออะไร ออกไปทำบริษัทตัวเองไม่ดีกว่าหรือ? ซึ่งหากคุณคิดว่าตั้งใจจะออกไปเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งต้องทำงานให้ดีตั้งแต่เป็นพนักงานในองค์กรซะด้วยซ้ำ เพราะเมื่อคุณออกไปเป็นเจ้าของธุรกิจเอง คุณก็คงอยากให้พนักงานในองค์กรคุณตั้งใจทำงานและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้แก่องค์กร
ดังนั้น นี่คือ 7 วิธีคิดในแบบเจ้าของธุรกิจ ที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งอะไรก็ตามที โดย อาจารย์บี จาก Beyond Training ผู้ที่ผันตัวจากเภสัชกร มาเป็นวิทยากร และ เจ้าของธุรกิจฝึกอบรม
วิธีคิดแบบที่ 1 – Focus ที่ผลลัพธ์ (Result Base)
หากวันนี้คุณมีความคิดที่ว่า สิ้นเดือนจะได้รับเงินเดือน ค่าจ้างหรือผลตอบแทนเท่านี้ ฉันจะทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ฉันทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ส่งอีเมลหาลูกค้ากี่ฉบับ โทรหาลูกค้ากี่สาย นัดพบลูกค้ากี่คน แล้วก็จบงาน ซึ่งหากเราคิดเพียงเท่านี้ นั่นคือเราใช้แนวคิดที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของ Task & Time Base นั่นคือ ได้รับค่าตอบแทนมาเท่าไหร่ ก็แลกกับเวลา แลกกับ Job Description ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยที่ไม่ได้สนใจว่า ผลลัพธ์จากการที่ได้คุยกับลูกค้านั้นจะเป็นอย่างไร
แต่ในมุมของเจ้าของธุรกิจนั้น จะมองแตกต่างออกไป พวกเขาจะมองว่า เขาไม่ได้สนใจว่าจะส่งอีเมลกี่ฉบับ จะโทรหาลูกค้ากี่สาย จะนัดพบลูกค้ากี่ราย แต่พวกเขาสนใจแค่เพียงว่า ปิดการขายได้กี่ราย ยอดขายได้เท่าไหร่ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กับแผนกฝ่ายขายเพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้แนวคิดนี้ได้ในทุกแผนกไม่ว่าคุณจะทำในตำแหน่งอะไรก็ตาม เช่น ฝ่ายบัญชีไม่ใช่คิดแค่ว่า จะต้องลงข้อมูลลงบนตาราง Excel ให้ได้เยอะที่สุด เลิกงาน 1 ทุ่ม 2 ทุ่ม ก็ลุย แต่ให้ลองเปลี่ยนเป็น ฉันจะลงข้อมูลตัวเลขให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ส่งงบต่อสรรพากรให้ตรงต่อเวลา และหากมีข้อมูลใดที่ผิดปกติก็รีบแจ้งเจ้าของทันทีเพื่อที่จะสามารแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ซึ่งฉันจะตั้งใจทำให้เสร็จภายในเวลาก่อน 5 โมงเย็น เป็นต้น
วิธีคิดแบบที่ 2 – มุ่งเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Effective & Efficient)
ในบริษัทของคนอื่น หากเราอยู่ในฐานะพนักงานบริษัท หลายครั้งเรามักจะเผลอคิดและเผลอทำในสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ในสิ่งที่คิดว่านิดเดียวน่าก็ไม่เห็นจะเป็นไร ยกตัวอย่างเช่น จะปริ้นท์เอกสารก็ปริ้นท์มันเต็มที่เลย ไม่ต้องกลัวเปลืองเพราะบริษัทจ่าย หรือใช้แค่หน้าเดียวก็ทิ้งไปเลย ไม่ต้องเก็บมาใช้ใหม่ แต่หากมองในมุมว่าหากเราเป็นเจ้าของบริษัทนั้นซะเอง เราก็ต้องจะต้องเปลี่ยนความคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะใช้กระดาษ ให้มันคุ้มค่ามากที่สุด
หรืออย่างเวลาที่เราในฐานะที่เป็นพนักงานเวลาเข้าไปนำเสนอโปรเจค หากเราทำการบ้านเยอะหน่อย คิดให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น แทนที่จะเขียนรายงานแบบขอไปที มันก็อาจจะทำให้รายงานชิ้นนั้นไม่ผ่านการอนุมัติ กลายเป็นว่าเสียเวลาทั้งเราและทั้งนายจ้าง ถ้าหากเราเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เราอาจจะเพิ่มแผนสำรอง ถ้า A ไม่ผ่าน ลองนำเสนอ B ถ้า B ไม่ผ่านลองนำเสนอ C หรือลองนำตัวเลือกอื่น ๆ แนบไปนำเสนอด้วยว่า แบบไหนน่าจะคุ้มค่ามากที่สุด ก็มีโอกาสที่งานชิ้นนั้นจะได้ผ่านการอนุมัติโดยเราก็ไม่เสียเวลาไปทำข้อมูลใหม่ทั้งหมดและทางบริษัทก็ได้รับประโยชน์จากผลงานของเรา
ซึ่งแนวคิดของเจ้าของธุรกิจที่ถือว่าเป็นหลักยึดสำคัญในการทำธุรกิจเลยก็คือ ทำน้อยให้ได้มาก คือทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดผลลัพธ์สูงที่สุด โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรง ใช้เงิน ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิด Return On Investment (ROI) สูงที่สุด
ยกตัวอย่างจากเรื่องหนึ่งในวงการอวกาศ ที่ทางสหรัฐอเมริกา ใช้งบวิจัยหลายสิบล้าน ไปวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่บนอวกาศไร้แรงโน้มถ่วงนั้นเนี่ยมันไม่สามารถใช้ปากกาแบบน้ำหมึกเขียนได้ แต่ในขณะที่ประเทศรัสเซียบอกว่า ก็แล้วทำไมไม่ใช้ดินสอเขียนกันล่ะ มันก็เขียนได้เหมือนกัน แถมไม่ต้องใช้งบให้สิ้นเปลืองด้วย เพราะเป้าหมายของเรื่องนี้ก็คือ สามารถ Take Note สามารถเขียนบันทึกบนอวกาศได้ก็พอแล้ว ใช้อะไรเขียนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นปากกาเสมอไป
วิธีคิดแบบที่ 3 – ส่งมอบผลงานให้มากกว่าผลตอบแทน Over Deliver
ยิ่งให้ยิ่งได้ คำพูดนี้ใช้ได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม หากวันนี้คุณเป็นพนักงานบริษัท จงทิ้งความคิดที่ว่า บริษัทจ่ายให้ฉันเท่านี้ ฉันก็ทำเท่านี้ก็แล้วกัน หรือหากจังหวะไหนที่ฉันจะอู้ได้ฉันก็จะทำ เพราะนอกจากคุณอาจจะทำผลงานได้ต่ำกว่าค่าตอบแทนที่คุณได้รับแล้ว คุณยังสูญเสียโอกาสในอนาคตที่รอคุณอยู่ โดยแนวความคิดของคนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในฐานะของผู้ประกอบการหรือพนักงานบริษัทก็ตามที พวกเขาจะมีแนวความคิดที่ว่า การทำงานอย่างขยันขันแข็งและการได้ทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ พวกเขาทำงานเพื่อเพิ่มประสบการณ์ เพิ่มทักษะ พัฒนาทักษะติดตัวให้ดียิ่งขึ้น แล้วพอวันหนึ่งโอกาสมาถึง พวกเขาก็จะสามารถคว้าโอกาสนั้นเอาไว้
หลายคนบอกว่า อยากได้เลื่อนขั้น อยากมีตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้น อยากเป็นผู้จัดการ แต่กลับไม่ยอมเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการที่ใครสักคนนั้นจะขึ้นเป็นระดับ Manager ได้นั้น คน ๆ นั้นจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในระดับ Manager ให้ได้ซะก่อน ไม่ใช่ว่า ให้ฉันเป็นผู้จัดการสิ ฉันจะพัฒนาตนเองให้เก่งระดับ Manager ให้ดู แต่ในมุมมองของเจ้าของธุรกิจจะมองว่า มีคนใดบ้างที่เหมาะจะเป็น Manager คนต่อไป และก็จะหยิบยื่นโอกาสนั้นให้กับคนที่เหมาะสม คนที่ทุ่มเททำงานอย่างขยันขันแข็ง มีคุณค่าต่อองค์กร ส่งมอบผลงานมากกว่าผลตอบแทนที่ตนได้รับ
วิธีคิดแบบที่ 4 – ตัวเรานั้นอยู่เหนือปัญหาในทุกสถานการณ์ Be Bigger Than Your Problems
การสร้างคุณค่าของคนเรานั้น คือการที่เราสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้อื่นได้ ซึ่งถ้างานไหนไม่ได้มีปัญหาอะไร นั่นหมายถึงว่า งานนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเราก็ได้เช่นกัน
ซึ่งหลายคนเวลาเจอปัญหาในที่ทำงาน ก็มักจะบ่นว่า ทำไมงานนี้ปัญหามันเยอะจัง อะไร ๆ ก็ติดขัดไปหมด แต่หากมองในมุมกลับกันว่า ถ้างานนี้ไม่มีปัญหาเลย ทุกอย่างราบรื่น ลูกค้าไม่ติดขัดอะไร คู่แข่งก็ไม่มี การส่งสินค้าก็สมบูรณ์แบบ คำถามก็คือ ถ้ามันผ่านฉลุยขนาดนั้น บริษัทเขาจะจ้างเราไปเพื่ออะไร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตัวเรานั้นคือคนที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ขององค์กรให้องค์กรสามารถผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็สามารถหาวิธีการมาแก้ไขมันจนได้ ดังคำที่ว่า “ทุกปัญหามีทางออกอยู่เสมอ”
โดยวิธีคิดอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์บี บอกว่า ในหนังสือที่ชื่อ The 7 Habits of Highly Effective People ที่เขียนโดย Stephen Covey ที่ได้พูดถึงอุปนิสัยแบบ COC กับ COI ก็คือ
- COI : Circle of Influence การคิดโดยยึดจากความสามารถภายในไปสู่ภายนอก
- COC : Circle of Concern การคิดโดยยึดปัญหาจากภายนอกมาสู่ภายใน
การคิดแบบ COC ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เกิดภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ก็มักจะชอบพูดชอบบ่นว่า เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายเราเลยไม่โต เพราะปัญหานั้น ปัญหานี้ มันเลยทำให้บริษัทเราถอยหลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่า แนวคิดนี้ มองเห็นแต่ปัญหาภายนอกเต็มไปหมด เป็นการคิดในเชิงลบ Negative
แต่ในขณะคนในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จนั้น จะคิดแบบ COI คือคิดว่า ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า การคิดแบบนี้จะคิดไปในเชิงบวกแบบ Positive
วิธีคิดแบบที่ 5 – ไม่ยึดติดกับวิธีการแบบเดิม ๆ (Flexible Method)
ในแนวความคิดของเจ้าของธุรกิจนั้นจะยึดเป้าหมายเป็นหลักโดยไม่ยึดติดกับวิธีการ ดังประโยคที่ว่า “เป้าหมายสลักไว้บนหินผา วิธีการสลักไว้บนผืนทราย” ความหมายก็คือ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น พวกเขาก็จะยังคงเป้าหมายไว้ดังเดิม เช่น หากตั้งเป้าหมายว่าภายในปีนี้จะต้องสร้างยอดขายให้ได้ 100 ล้านบาท ก็จะมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น แต่พอมาขั้นตอนการดำเนินการจริงผ่านไปสักครึ่งปีกลับพบว่า จะไม่เข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ พวกเขาก็จะมองหาวิธีการใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มีแผนสำรอง แผน 2 แผน 3 เพื่อที่จะสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้จงได้
ยกตัวอย่างจาก อาจารย์ บี BeyondTraining ที่แต่เดิมทีใช้กลยุทธ์ในการสร้างยอดขายและหาลูกค้าแบบ B2C : Business to Customer ที่เน้นกลุ่มลูกค้า End User คือกลุ่มลูกค้าบุคคลทั่วไป ที่สนใจอบรมในงานสัมมนา งานอีเว้นท์ต่าง ๆ แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การจัดสัมมนาลำบากมากยิ่งขึ้น รายได้บริษัทลดลง อาจารย์บี ก็เลยต้องปลับเปลี่ยนกลยุทธ์จาก B2C ไปเป็น B2B : Business to Business คือเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าไปเป็นระดับองค์กร ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเกือบทั้งหมด โดยไม่ปิดกั้นตัวเอง ยอมรับสถานการณ์และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้องค์กรของเราก้าวต่อไปได้
และนอกจากนั้นอาจารย์ บี ก็ยังได้เปิดให้บริการ Online Training สำหรับพัฒนาพนักงานในองค์กร ที่ชื่อว่า Beyond Training Plus เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับองค์กร
โดย อาจารย์บี จะมีประโยคประจำใจว่า “Forget the past start the new” ที่หมายถึง จงลืมความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาแล้วจงเริ่มต้นสร้างเส้นทางความสำเร็จใหม่ซะ
เพราะหลายคนมัวแต่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตจนตัดสินใจที่จะหยุดพัฒนาตนเองไว้เพียงแค่นั้น ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า มันมีสิ่งที่ให้คนเราได้เรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความรู้ความสำเร็จในอดีตก็ไม่ได้การันตีว่ามันจะนำมาใช้ในยุคปัจจุบันได้ผลเช่นดังเดิม ดังนั้นจงยืดหยุ่น จงปรับเปลี่ยน และพร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
วิธีคิดแบบที่ 6 – ทุกคนคือพันธมิตร (Collaborative Networking)
ในยุคก่อนการสร้างธุรกิจหรือสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้นั้น อาจไม่ต้องพึ่งพาใคร ลุยเดี่ยว บินเดี่ยวก็ประสบความสำเร็จได้ แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่จะต้องร่วมมือกันจึงจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและยิ่งใหญ่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์มือถืออย่าง Huawei ที่เป็นแบรนด์มือถือจากประเทศจีน ที่ใครก็ไม่คิดว่าแบรนด์นี้จะขึ้นมาเป็นแบรนด์มือถืออันดับ 1 อันดับ 2 ของโลกได้ มาวัดกับแบรนด์ที่ครองตลาดอย่าง iPhone กับ Samsung ได้อย่างสูสี พอฟัดพอเหวี่ยงกันได้ เพราะในช่วงแรก ๆ ของ Huawei นั้น ได้ทำการ Co-Branding และ Co-Engineering กับแบรนด์กล้องระดับโลกอย่าง Leica จึงทำให้ตัวกล้องมือถือของ Huawei นั้นพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเป็นส่วนสำคัญจุดหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้ามาตีตลาดสมาร์ทโฟนได้
และในปัจจุบันก็จะเห็นแบรนด์ต่าง ๆ หันมา Collap กันมากขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างถล่มถลาย เช่น
- Nike x Off-White
- Reebok x Supreme
โดยหลักคิดแบบนี้ เราจำเป็นที่จะต้องมีแนวคิดแบบ Open-Minded คือมีแนวคิดที่เปิดใจเปิดรับในตัวผู้อื่น
ในขณะที่หลาย ๆ องค์กร แม้แต่ภายในองค์กรเอง พอข้ามแผนกเท่านั้นแหละ ยังไม่เปิดรับซึ่งกันและกันเลย บางแผนกยังถกเถียงยังปฏิเสธรับงานข้ามระหว่างแผนกกันอยู่เลย อันนี้ไม่ใช่งานของฉันบ้างล่ะ งานฉันก็เยอะอยู่แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานร่วมกับแผนกอื่นบ้างล่ะ
ดังนั้น ลองเปลี่ยนความคิดว่า หากงานนั้น ๆ ไม่เหนือบ่ากว่าแรงมากจนเกินไป ก็พยายามเปิดใจรับ เปิดใจช่วยเหลือผู้คน เริ่มต้นจากคนในแผนกเดียวกันก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ ขยับเป็นแผนกอื่น แล้วขยับไปเป็นร่วมงานกับแบรนด์อื่น ๆ ต่อไป
ลองเริ่มต้นจากแนวคิดด้วยแนวคิด 3 ข้อนี้ก็คือ
- เราสามารถช่วยเหลือเขาอย่างไรได้บ้าง
- เราสามารถช่วยเขาได้มากน้อยแค่ไหน
- เราสามารถช่วยเหลือเขาเรื่องใดได้บ้าง
ดังคำที่กล่าวเอาไว้ว่า “มีศัตรูคนเดียวก็มากเกินพอแล้ว” ดังนั้นผูกมิตรกับผู้อื่นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
วิธีคิดแบบที่ 7 – เรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Learning)
ในยุคอินเตอร์เน็ตเรามักจะได้ยินคำว่า Digital Disruption อยู่บ่อย ๆ ความหมายของมันก็คือ การมาของโลกอินเตอร์เน็ตนั้น มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในด้านเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ๆ ซึ่งความรู้เมื่อวาน อาจจะใช้กับวันนี้ไม่ได้เสียแล้วก็มี เพราะความรู้ในยุคนี้ตกยุคไวมาก ๆ ประสบการณ์ที่สร้างความสำเร็จในจุดนี้ อาจใช้ไม่ได้ในการทำงาน ทำธุรกิจในยุคต่อไป ดังนั้นการเรียนรู้ Up Skills และ Reskills ในการทำงานจึงไม่ใช่ทางเลือก อีกต่อไป แต่เป็นทางรอด ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ
ซึ่งเทคนิคหนึ่งที่ อาจารย์บี ใช้ในการที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็คือ การที่สร้างทีมด้วยคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพอมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ แอพพลิเคชั่นอะไรใหม่ ๆ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทำให้เรานั้นก็สามารถเรียนรู้จากน้อง ๆ ในทีมได้เช่นกัน
ปลูกฝังความใฝ่รู้ ให้ทีมงานพนักงานเห็นความสำคัญและรักการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ (Learning Culture) ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตของธุรกิจ
และนี่ก็คือ 7 หลักแนวคิดแบบ Corporate Entrepreneurship หลักคิดพนักงานบริษัทหัวใจผู้ประกอบการ ที่จะทำให้เรานั้น สามารถสร้างความก้าวหน้าในชีวิตได้ทั้งหน้าที่การงานและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น โดย อาจารย์บี จาก Beyond Training
Resources