Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

เรียนรู้เร็วด้วยกฎ 20 ชั่วโมงแรก by Josh Kaufman

Josh Kaufman ผู้เขียนหนังสือ ‘THE FIRST 20 HOURS’ กฎ 20 ชั่วโมงแรก ที่เขาได้ใช้เวลาในการค้นคว้าและวิจัยตลอดหลายปีว่า จะทำอย่างไรได้บ้างที่คนเรานั้น สามารถที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เรื่องใหม่ ๆ ที่แม้แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ให้เก่งขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยที่วิธีการนั้นจะต้องน่าตื่นเต้น สนุก ไม่น่าเบื่อ และไม่เคร่งเครียดจนเกินไป

และจากจุดนั้น เขาจึงเริ่มต้นเข้าห้องสมุด เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลการเรียนรู้เร็ว และเขาก็พบว่า หนังสือที่เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด มักจะอ้างอิงและพูดถึงอยู่วิธีการข้อหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ กฎ 10,000 ชั่วโมง ที่กฎนี้มีต้นกำเนิดมาจาก Professor K. Anders Ericsson ที่มหาวิทยาลัย Florida ที่ท่านได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับนักกีฬาระดับตัวท็อป ๆ ของโลก ในแต่ละวงการ เช่น แชมป์โลกหมากรุก, แชมป์โลกนักกรีฑา, แชมป์โลกนักปั่นจักรยาน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักกีฬา โดย Professor นั้นเขาค้นพบเคล็ดไม่ลับ ที่แชมป์โลกมีเหมือน ๆ กันก็คือ พวกเขาเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่ฝึกฝนกันอย่างหนักหน่วง ยิ่งใช้เวลาในการฝึกฝนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเก่งขึ้นมากเท่านั้น โดยการฝึกฝนนั้นก็จะต้องเป็นการฝึกฝนอย่างจริงจัง ตั้งใจ จดจ่อ กับทักษะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในหมวดหมู่นั้น ๆ อย่างมีวินัย และพวกเขาฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10,000 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะกินเวลานานนับ 10 ปี หรือถ้าคุณขยันสักหน่อย ฝึกฝนวันละ 10 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุดพักเลย ก็อาจจะใช้เวลาเหลือเพียง 10,000/10 = 1,000 วัน หรือประมาณ 2 ปี กับอีก 9 เดือน (ย้ำว่า วันละ 10 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุดพัก ตลอดเกือบ 3 ปี)

ดังนั้นที่ Professor K. Anders Ericsson ออกมาบอกว่า หากคุณอยากขึ้นเป็นตัวท็อปในสายงานของคุณ หากคุณทุ่มเทเวลาในการฝึกฝนอย่างเข้มข้นเป็นเวลาอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมงขึ้นไป นั้น แทบจะการันตีได้เลยว่า สักวันคุณจะขึ้นเป็นตัวท็อปในวงการอย่างแน่นอน นั้นก็ไม่ผิดอะไร

แต่เมื่อผู้คนทั่วไปฟังแบบผิวเผิน แล้วก็บอกกันปากต่อปากว่า ถ้าหากอยากเก่งระดับมาสเตอร์เป็น Expert ในเรื่องใดก็ต้องใช้เวลาฝึกฝน 10,000 ชั่วโมง หรือหากอยากเก่งเรื่องใดก็ให้ฝึกฝนเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมงขึ้น หรือหากอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง ขึ้นไป

แต่ประโยคสุดท้ายนั้น ทาง Josh Kaufman ก็ไม่เห็นด้วยว่า การที่คนเราจะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และทำให้ได้ดีนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากถึง 10,000 ชั่วโมง

เพราะคนปกติทั่วไปส่วนใหญ่นั้น เวลาที่พวกเขาต้องการที่จะเรียนรู้และทำให้มันออกมาในระดับที่เข้าขั้นว่าดีนั้น พวกเขาไม่ได้ต้องที่จะเป็นแชมป์โลก พวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะติดอันดับ 1 ใน 10 ตัวท๊อปของโลก พวกเขาแค่ต้องการเปลี่ยนจากที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นเลยแม้แต่น้อยให้กลายเป็นทำได้ในระดับที่เรียกว่าเข้าขั้นดี

ซึ่งทาง Josh Kaufman ก็ได้รวบรวมสติถิจากการค้นคว้าวิจัยของเขามาแล้ว ว่า การที่คนเราจะเรียนรู้ในเรื่องใหม่ ๆ เริ่มต้นจากศูนย์ไปสู่เข้าขั้นจัดว่าดีนั้น จะใช้เวลาในการฝึกฝนและเรียนรู้เฉลี่ยราว ๆ 20 ชั่วโมง ไม่ใช่ 10,000 ชั่วโมง

โดย 20 ชั่วโมงนั้น คุณจะใช้เวลาแค่เพียงเฉลี่ยวันละประมาณ 40 นาที หากทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ก็จะใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น (20×60)/40 = 30 วัน

ดังนั้น ขอให้คุณเริ่มต้นด้วยการจัดเวลาให้กับสิ่งที่คุณต้องการที่จะเรียนรู้เฉลี่ย 30-45 นาที ในแต่ละวัน บวกกับ วิธีในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ก็คือ

ขั้นตอนที่ 1 – Decide exactly what you want ตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวคุณต้องการกันแน่

คุณต้องการที่จะทำอะไร ทำสิ่งนั้นแล้วชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร ลองคิดว่า หากคุณทำมันแล้วอุทานออกมาว่า ในที่สุดฉันก็ทำได้สักที ในสิ่งนี้ที่ฉันอยากทำมันมาตลอด

โดยการกำหนดเป้าหมายแบบนี้ คือการกำหนดเป้าหมายแบบมีประสิทธิภาพ ให้คุณกำหนดไปเลยว่า คุณต้องการทำสิ่งนี้ได้ดีถึงระดับไหน แล้วมันจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อคุณได้ทำสิ่งนี้ไปแล้ว

ขั้นตอนที่ 2 – Deconstruct the skill แยกโครงสร้างของทักษะดังกล่าว

การที่จะเชี่ยวชาญในทักษะแต่ละด้านนั้น จริง ๆ แล้วทักษะดังกล่าว มันคือการรวมกลุ่มของหลายทักษะที่แตกต่างเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการตีกอล์ฟได้ดี มันสามารถแยกทักษะที่แตกต่างออกได้เช่น การหวดลูกระยะไกล กับการเคาะเบา ๆ ด้วยการพลัสลูกบนพื้นเรียบ นั้น ก็ใช้ทักษะที่แตกต่างกัน หรืออย่างทักษะในการเลือกรูปแบบของไม้กอล์ฟแต่ละเบอร์แต่ละแบบ นั้นก็ต้องใช้ทักษะในการเลือกในการตีที่แตกต่างกัน การตีลูกบนพื้นหญ้าสูง บนพื้นทราย หรือบนพื้นหญ้าเรียบกริบ ก็ใช้ทักษะที่แตกต่างกัน แต่ทักษะทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานั้น ก็ประกอบรวมกันทำให้เกิดทักษะการเล่นกอล์ฟที่ดีได้นั่นเอง

ขั้นตอนที่ 3 – Researching just enough to identify ค้นคว้าหาข้อมูลให้เพียงพอ

เมื่อเราแยกทักษะเป็นส่วนย่อย ๆ ได้แล้ว ทีนี้ก็ให้เริ่มต้นค้นคว้าหาข้อมูลที่เพียงพอสำหรับในการฝึกฝนทักษะย่อยแต่ละทักษะว่ามีวิธีการฝึกฝนอย่างไรบ้าง คุณอาจจะเริ่มต้นจากการหาหนังสือ ดูวีดีโอบนออนไลน์ เข้าเรียนคอร์สต่าง ๆ หรือหาโค้ช เพื่อที่จะช่วยบอกคุณว่า ควรเริ่มต้นจากทักษะใดก่อน ที่จะเป็นทักษะย่อยที่สำคัญที่สุด ใช้บ่อยสุด สำคัญที่สุดก่อน

แต่อย่าใช้แหล่งข้อมูลมากเกินไป เพราะมันจะทำให้คุณเกิดการผัดวันประกันพรุ่งได้ง่าย โดยคำแนะนำของ Josh ก็คือ ให้หาแหล่งข้อมูลสัก 3-4 อย่างก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้ามากเกินไป มันจะทำให้เรารู้สึกว่า มันเยอะ ขี้เกียจทำ เช่น หากคุณไปลงเรียนกอล์ฟสัก 5 คอร์ส คุณก็จะเริ่มขี้เกียจไปเรียน และใช้มันเป็นข้ออ้างกับตนเองว่า ฉันไม่มีเวลามากพอที่จะไปเรียนคอร์สทั้งหมดนั่นได้หรอก

ขั้นตอนที่ 4 – Removing barriers to practice ขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นในการฝึกฝน

ในปัจจุบันมีสิ่งรบกวนจิตใจ รบกวนสมาธิของเรานับร้อยนับพันอย่าง ที่มักจะทำให้เราหลุดโฟกัสในการฝึกฝนได้ เช่น ทีวี มือถือ โซเชียลมีเดีย อีเมล คนในบ้าน เพื่อนฝูง ที่จะคอยเข้ามาขัดจังหวะในระหว่างที่คุณกำลังจดจ่อและตั้งใจทำอยู่ มันคงฝึกฝนได้ไม่ถึงไหน ถ้าหากมีสิ่งรบกวนคุณทุก ๆ 5 นาที

ให้เราพยายามเอื้ออำนวยให้การฝึกฝน สามารถทำได้ง่าย ทำได้สะดวกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำลังฝึกฝนการเล่นกีต้าร์อยู่ ก็เอามันวางไว้ให้ใกล้หูใกล้ตา ใกล้มือใกล้เท้า แบบที่ว่า เดินผ่านแล้วหยิบยกขึ้นมาดีดได้เลย ไม่ใช่ว่า กว่าจะหยิบขึ้นมาฝึกได้ทีนึง จะต้องเอากีต้าร์ออกจากกล่องที่เก็บเอาไว้บนตู้เสื้อผ้าในห้องเก็บของชั้นสองของบ้าน แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

ขั้นตอนที่ 5 – Practice at least 20 hours ฝึกฝนอย่างน้อยเป็นเวลา 20 ชั่วโมง

จงตั้งมั่นและสัญญากับตนเองก่อนเริ่มต้นฝึกฝนเลยว่า ฉันจะจัดสรรเวลาเพื่อฝึกฝนทักษะดังกล่าวอย่างโฟกัสอย่างตั้งใจจริงอย่างน้อย 20 ชั่วโมง โดยการตั้งคำมั่นสัญญาตั้งแต่แรกนั้น มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ ก็คือ เป็นการพูดเพื่อรักษาสัญญาที่ให้กับตนเองว่า หากฉันตัดสินใจที่จะลงทุน ลงแรงในการฝึกฝนทักษะดังกล่าวเป็นเวลา 20 ชั่วโมงแล้วนั้น ฉันจะสามารถทำได้อย่างแน่นอน แต่หากไม่คิดที่จะลงทุนเวลาในส่วนนี้ ฉันก็จะทำมันไม่ได้ตลอดไป

ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้น อันที่จริงแล้ว คุณจะฝึกฝนตามธรรมชาติ ฝึกฝนตามอารมณ์ ฝึกฝนก็ต่อเมื่อคุณต้องการฝึกก็ได้ แต่หากเรามีทางเลือกที่ดีกว่า มีกลยุทธ์ มีวิธีการในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ที่จะช่วยให้เราสามารถ ใช้เวลาในการเรียนรู้ที่น้อยลง มีเวลาทำในสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น ได้พัฒนาทักษะได้อย่างหลากหลาย ได้เรียนรู้และได้ทำในสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มันก็น่าสนใจไม่น้อยที่จะลองใช้วิธีการนี้ดู ซึ่งมันเป็นวิธีที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนอะไรเลย แต่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ กับการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และทำมันให้ได้ดีภายใน 20 ชั่วโมง จาก Josh Kaufman

Resources