Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Economy

อเมริกากำลังเข้าสู่สภาวะทางการเงินที่ย่ำแย่อย่างหนัก by Jeremy Grantham

Jeremy Grantham นักลงทุนชาวอังกฤษ ผู้ร่วมก่อตั้ง และหัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของ Grantham, Mayo และ van Otterloo (GMO) บริษัทจัดการสินทรัพย์ในบอสตัน มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารมากกว่า $118,000 ล้านดอลลาร์ฯ ที่เขาผ่านวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ ๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และเขายังสามารถทำนายตลาดได้อย่างแม่นยำ

ซึ่งในปี 2021 ปีที่แล้ว เขาได้เคยทำนายเอาไว้ว่า ตลาด S&P 500 มีโอกาสจะร่วงลงราว ๆ ครึ่งหนึ่งจากจุดสูงสุด ซึ่งถ้าหากดูตัวเลขของวันนี้ ตลาด S&P 500 ได้ตกลงจากจุดสูงสุดมาแล้วราว ๆ -20% ทั้ง ๆ ที่ตอนที่ทำการทำนายนั้น ตลาดยังขึ้นเรื่อย ๆ อยู่เลย

โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ที่เคยถูก FED หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ถูกทุบราคาลงมา จากการขึ้นเรทดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อต่อสู้กับค่าเงินเฟ้อที่รุนแรงที่ไม่เคยสูงขนาดนี้มาก่อน ในรอบ 40 ปี ที่สูงถึง 8.6%

นอกจากนั้นทาง Jeremy Grantham ยังเตือนเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สหรัฐอเมริกาอาจกำลังมุ่งหน้าสู่วิกฤตเกี่ยวกับบ้านและที่อยู่อาศัย อันเนื่องมาจากมีการจำนองเป็นจำนวนมาก

และจากงานวิจัยของ Jeremy Grantham ก็พบว่า สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่สภาวะ super bubble ซึ่งสภาวะดังกล่าว เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกามาแล้วจำนวน 3 ครั้ง ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา

  • ครั้งแรกเมื่อปี 1929 กับเหตุการณ์ The Wall Street Crash
  • ครั้งที่สองเมื่อช่วงปี 1995 – 2002 กับเหตุการณ์ dot com bubble
  • และครั้งที่สามเมื่อช่วงปี 2006 – 2008 กับเหตุการณ์ Subprime mortgage crisis หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ซึ่งทั้ง 3 วิกฤตที่เกิดขึ้นมานั้น คือภาวะการเกิด super bubble ที่ในเวลาต่อมามันก็เกิดภาวะฟองสบู่แตกในที่สุด

ซึ่งตัวของ Jeremy Grantham เองนั้น เขาก็เป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับตลาดการลงทุนมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าเข้าขั้นเป็นเด็กเนิร์ดในด้านนี้ นั่นก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่เราก็ควรจะต้องฟังเอาไว้บ้างในสิ่งที่เขากำลังพูดถึงสภาวะตลาดโลก ณ ขณะนี้

โดย Jeremy Grantham บอกว่า พฤติกรรมก่อนที่ฟองสบู่จะแตกก็คือ มันจะเกิด Bull Market ระยะยาวก่อน ซึ่งที่ผ่านมา ตลาด S&P 500 ก็ขึ้นทะยานมาตลอดเป็นระยะเวลากว่า 11-12 ปี โดยที่ไม่มีหยุดพักเลย ซึ่งถือว่าเป็นตลาดกระทิงที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นเลยก็ว่าได้

ซึ่งในช่วงนี้ตลาดก็จะมีพฤติกรรมแปลก ๆ เกิดขึ้นแบบบ้าคลั่งอย่างเยอะแยะมากมาย และในช่วงท้ายสุดของช่วงสภาวะตลาดกระทิงนั้น มันจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าช่วงตลาดกระทิงปกติทั่วไปอยู่ราว ๆ 3 เท่า ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริงในช่วงที่เกิด covid-19 ที่ผ่านมา เช่น ตลาด NASDAQ ก็เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งสูงกว่าช่วงตลาดกระทิงปกติทั่วไปอยู่ราว ๆ 3 เท่าพอดี

และในช่วงนี้แม้ว่าจะเป็นตลาดกระทิงก็ตามที แต่มันจะเริ่มมีหุ้นเก็งกำไรหลาย ๆ ตัวเริ่มตกลง เพราะตลาดกำลังคัดแยกของเสียออกจากของดี ซึ่งมันก็เกิดขึ้นไปแล้วตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา

และในช่วงที่เรากำลังพูดอยู่นี้ จำนวนหุ้นในตลาด NASDAQ กว่าร้อยละ 40 นั้น กำลังร่วงลงเมื่อเทียบกับราคาสูงสุดมากกว่า -50% เข้าไปแล้ว

ซึ่งมันอาจจะเป็นจุดที่กำลังเกิดสภาวะฟองสบู่แตกแล้วก็เป็นได้ แต่มันก็ไม่มีอะไรที่แน่นอนเสมอไป

ซึ่งสัญญาณที่น่าสนใจก็คือ มันมักจะมีหุ้นเก็งกำไรเริ่มราคาร่วงลง แม้ว่าตลาดโดยรวมจะเป็นขาขึ้น ซึ่งมันเกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ ทำนองนี้เช่นเดียวกัน ในช่วงปี 1929, 1972, 2000 แล้วหลังจากที่มันเกิด สิ่งที่ตามมาก็คือ ตลาดหุ้นก็ได้พังครืนในปีถัดมา

ดังนั้น ในช่วงนี้ มันจึงมีโอกาสที่ตลาดจะมีแนวโน้มที่จะพังครืนลงมา และผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่คิดว่าตลาด S&P 500 จะลงมา -50% จากจุดยอดสุด ซึ่งตอนนี้มันลงมาราว ๆ -20% ซึ่งถ้าหากมันลงมาอีก ในช่วงนี้ก็จะมีคนสูญเงินเป็นจำนวนมาก

ซึ่งราคาสินทรัพย์ในตลาดอเมริกา ณ ตอนนี้ ดูเหมือนจะมีราคาที่สูงมากเกินไปในมุมมอง Jeremy Grantham ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรืออย่างอสังหาริมทรัพย์

ในขณะที่ตัวของเขามองว่า ตลาดที่มีสินทรัพย์ราคาสมเหตุสมผลอยู่นั้น ก็อย่างเช่น ในตลาดออสเตรเลีย อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ส่วนถ้าให้พูดถึงเรื่องของ Inflation หรือค่าเงินเฟ้อนั้น Jeremy Grantham บอกว่า ณ ตอนนี้เขาให้นิยามว่า Inflation = death หมายถึง การที่ค่าเงินเฟ้อขึ้นสูงเป็นอย่างมากนั้น ทำให้ผู้คนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำต้องอดอยากปากแห้ง พวกเขากำลังจะอดตาย จากการบริหารประเทศที่ล้มเหลว และระบบการเมืองที่ดูไม่ดีเลย เพราะดูแล้วมีแต่ความขัดแย้งเต็มไปหมด

ดังนั้นในฝ่ายบริหารประเทศ จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ค่าเงินเฟ้อลดลงมาให้ได้ ซึ่งการที่ FED หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ย นั้น ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะพยายามจะลดค่าเงินเฟ้อนั่นเอง

ซึ่งถ้าหาก FED ไม่สามารถลดค่าเงินเฟ้อได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ในสหรัฐฯ จะขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก แถมแรงงานมีค่าจ้างที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากค่าเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก เพราะมันส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจต่าง ๆ มีการปรับตัวที่สูงขึ้น

ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่าทาง FED มีการปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นรัว ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อพยายามลดค่าเงินเฟ้อให้ต่ำลง

ส่วนในมุมของนักลงทุน ทาง Jeremy Grantham ก็แนะนำว่า ถ้าหาก ณ ตอนนี้คุณถือหุ้นใน US market อยู่ ก็ต้องเลือกถือหุ้นที่ดีมีคุณภาพสูง และมีการเงินที่ดีมากเท่านั้น เพราะหุ้นเหล่านี้ มักจะมีโอกาสสูงที่จะอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำย่ำแย่

ซึ่งส่วนตัวเขานั้น แนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้เขาจะถือหุ้นที่อยู่นอกตลาดสหรัฐฯ อย่างในประเทศต่าง ๆ ที่เขากล่าวมาก่อนหน้านี้ มันก็ใช้ได้เลยทีเดียว เพราะถ้าราคามันตก มันจะตกไม่เยอะเท่าในตลาดสหรัฐฯ

โดยเฉพาะในตลาดที่เกิดใหม่ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้ลองหาหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี ตอนนี้จะมีหุ้นราคาถูก ๆ อยู่เยอะแยะเต็มไปหมด ดังนั้นเขาเลยคิดว่า หุ้นนอกสหรัฐฯ ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

เพราะถ้าดูเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ณ ตอนนี้ ที่เต็มไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง FAANG ที่ประกอบไปด้วยบริษัท Tech Company อย่าง Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google หรือ Alphabet ที่กำลังกลายมาเป็นบริษัทผูกขาดอย่างเต็มตัว นั่นหมายถึงว่า แม้บริษัทเหล่านี้จะสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล ที่มี P/E เฉลี่ยสูงถึง 56%, และกำไรสุทธิสูงถึง 30-35% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา แถมการเก็บภาษีจากบริษัทห้างร้านก็ถูกเก็บในอัตราที่ต่ำลง

แต่กลับทำให้มีอัตราการแข่งขันทางธุรกิจที่น้อยลง เพราะมันถูกผูกขาดทางธุรกิจไปแล้ว นั่นจึงส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัวลง มีอัตราการเติบโตที่ลดลง นั่นจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า สหรัฐฯ ได้เลยยุคทอง ยุครุ่งเรืองสูงสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Digital Asset

ส่วนสินทรัพย์ดิจิตอลนั้น ทาง Jeremy Grantham เขามองว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่ Asset ไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เขามองว่า มันก็คล้าย ๆ กับยุคอินเตอร์เน็ต ที่มีการใส่เทคโนโลยีเข้าไปแล้วก็เป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน และก็มีโมเดลทำรายได้แบบดั้งเดิม เขาจึงมองว่า มันเหมือนกับบริษัท Tech Company บริษัท ๆ หนึ่ง ที่เมื่อผู้คนเริ่มให้คุณค่า มันก็เริ่มมีราคาขึ้นมา และการที่ราคามันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะ ผู้คนถูกการตลาดของผู้สร้างเหรียญต่าง ๆ ให้คิดไปว่า ราคาของเหรียญมันจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะ Bitcoin นั้น เขามองว่าตัวของมันเอง ไม่ได้สร้างคุณค่าหรือสร้างมูลค่าอะไรขึ้นมาเลยด้วยตัวมันเอง และเขาก็เชื่อว่า ในอนาคต เดี๋ยวก็มีคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เก่งกว่า ฉลาดกว่า สร้างเหรียญใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้ในที่สุด ซึ่งตลาดคริปโตฯ ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป แต่ส่วนตัวเขาไม่เชื่อว่า มันจะกลายมาเป็น store of value หรือแหล่งเก็บสะสมความมั่งคั่งได้ มันเป็นเรื่องที่หลอกลวง

แถมมันยังมีความผันผวนที่สูงมาก ขัดกับหลักของแหล่งเก็บสะสมความมั่งคั่ง ที่มันควรจะมีค่าคงที่ ไม่ผันผวนสูง อย่างเช่น ทองคำ ที่ตัวมันพิสูจน์ตัวเองมาแล้วนับพันปีว่ามันเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งได้ มีความผันผวนที่ต่ำ ต่ำเสียจนการเฝ้าดูราคาของมันดูน่าเบื่อเลยทีเดียว เพราะบางทีราคาของมันก็นิ่งหลายอยู่หลายปีไม่ค่อยขยับไปไหน

สรุปคำแนะนำจาก Jeremy Grantham อีกครั้ง ก็คือ เขาให้หลีกเลี่ยงการเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ ในราคาที่สูงจนเกินไป และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลองมองหาหุ้นที่อยู่นอกตลาดสหรัฐฯ และเข้าซื้อในราคาหุ้นที่ถูกเมื่อเทียบกับพื้นฐานที่ดีของหุ้นเหล่านั้น และพยายามถือเงินสดบางส่วนเอาไว้ให้มากพอที่จะรอเก็บของดีในราคาถูก หลังจากที่เกิดมหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ที่อาจจะเป็นการตกต่ำของเศรษฐกิจที่ถือว่าใหญ่ที่สุดของโลกเลยก็ว่าได้

ส่วนคนที่ไม่มีเงินทุนก็จงออกไป ทำงาน! ทำงาน! ทำงาน! ซะ

Resources