Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Bitcoin and Cryptocurrency

ลงทุน Bitcoin ให้รวย สไตล์ Michael Saylor EP.2 ตอน First Principles

จากตอนที่แล้ว Michael Saylor ได้เล่าย้อนกลับไปในช่วงก่อตั้งบริษัทว่าเราจะต้องกล้าที่จะเสี่ยงและเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยในตอนนี้เขาจะมาแชร์วิธีคิดที่เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยเขาได้เล่าย้อนกลับไปในวันที่กำลังศึกษาอยู่ที่ MIT ซึ่งเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะความคิดในการกล้าคิด กล้าทำ กล้าใช้สติปัญญาในการคิดหาวิธีการนอกกรอบ ในการค้นหาคำตอบของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเหล่าบรรดาเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขา ก็มีทั้งที่เปิดบริษัทคอมพิวเตอร์, เปิดตัวเกมคู่แข่งกับเกมดังพลุแตกสมัยนั้นอย่าง Pacman, สร้างฮาร์ดแวร์เพื่อนำไปใช้กับกระสวยอวกาศ ไม่ก็มีอยู่คนนึงที่ชอบทุบรถตัวเองเพื่อที่จะได้มีเวลาซ่อมรถตัวเองในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พวกเขานั้นล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีความกลัวในการทำในสิ่งต่าง ๆ เลย

ซึ่งมีอยู่คาบเรียนหนึ่งในวิชาเกี่ยวกับ Material เกี่ยวกับวัสดุ โดย Professor ก็ได้เข้ามาในห้องเรียนแล้วก็หยิบยกแผ่นกระเบื้องชิ้นหนึ่งขึ้นมาแล้วถามกับนักเรียนในห้องว่า มีใครพอจะรู้บ้างว่า ทำไมกระเบื้องชิ้นนี้จึงไหม้เกรียมในระหว่างที่มันออกไปกับยานอวกาศนอกโลก ซึ่งก็ไม่แปลกที่อาจารย์จะยกตัวอย่างวัสดุที่เกี่ยวกับยานอวกาศ เพราะท่านทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การ NASA

ซึ่งทุกคนในห้องเรียนต่างก็ช่วยกันค้นคว้าหาข้อมูลจากห้องสมุด จากหนังสือแทบทุกเล่มที่จะหาได้ แล้วนำมาอภิปรายร่วมกัน ตีความด้วยทฤษฎีต่าง ๆ นา ๆ สายมโนก็ยังมา

จนกระทั่งอาจารย์มาเฉลยคำตอบว่า สาเหตุที่ว่าทำไมวัสดุชิ้นนี้จึงไม่ทนทานและเกิดการเผาไหม้เมื่อนำขึ้นสู่ห้วงอวกาศนั้น คำตอบก็คือ ‘ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน’ เพราะขนาดองค์การ NASA เองก็ยังไม่รู้ และในโลกนี้ก็ยังไม่มีใครหาคำตอบนั้นได้เลยว่าทำไม

นั่นมันจึงทำให้ Michael Saylor ตระหนักได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เมื่อเราเผชิญกับปัญหาใหม่ ๆ แน่นอนว่า มันไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้จากการอ่านหนังสือ เพราะหนังสือมันคือการเขียนในสิ่งที่เคยเจอปัญหาเหล่านั้นมาแล้ว ซึ่งอย่างมากก็อาจจะใช้ทฤษฎีบางอย่างที่เขียนในหนังสือมาช่วยวิเคราะห์ค้นคว้าหาคำตอบ มันก็ยากเอาเรื่อง แต่นั่นมันก็คือชีวิตความเป็นจริง

แต่ในขณะที่ระบบการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ก็มักจะสอนให้ผู้เรียนเน้นที่การอ่านหนังสือหรือท่องตำรา จากนั้นก็เอาสิ่งที่จำสิ่งที่ท่องจากตำรา เขียนคืนส่งอาจารย์ไป ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้ มันตรงข้ามกับชีวิตจริงโดยสิ้นเชิง

โดยในชีวิตจริงนั้น เราควรเริ่มต้นจากการมีหลักการในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ก่อน โดย First Principles หรือหลักการหาความจริงอย่างเป็นระบบ โดยตามความเห็นของ Michael Saylor คือ เราต้องมีความเข้าใจในหลักของคณิตศาสตร์ หลักของวิทยาศาสตร์ และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในสิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณจะสร้างตึกสูง ๆ สักแห่ง คุณก็จะต้องพิจารณาองค์ประกอบที่จะนำมาใช้เป็นโครงสร้างที่แข็งแรง ซึ่งคุณก็ต้องเลือกว่า คุณจะเลือกใช้เหล็ก ทองแดง ทองคำ แร่เงิน ไม้ หรืออะไรทำนองนี้ มาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งแน่นอนว่า เหล็กกล้าก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการสร้างโครงสร้างตึกที่แข็งแกร่ง

ดังนั้น หากคุณไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักคณิตศาสตร์ของวิศวกรรมโยธา และหากคุณไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกวัสดุตามโครงสร้างตามหลักของวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะเลือกวัสดุนำมาก่อสร้างตึกสูง เพื่อให้มันมีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถตั้งตระหง่านบนพื้นได้โดยที่ไม่ถล่มลงมา

ดังนั้น หลักการของ Engineering หรือหลักของวิศวกรรมศาสตร์นั้น พื้นฐานมันก็มาจาก 2 สิ่งก็คือ หลักคณิตศาสตร์ บวกกับหลักของวิทยาศาสตร์ บวกกับความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่พอเพียง ที่จะใช้ในการวิเคราะห์ให้กลไกต่าง ๆ สามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะพิจารณาเรื่องใดหรืออยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม นั่นคือหลักการแรกสุด ในการที่พิจารณาอะไรสักอย่าง

และก่อนที่คุณจะเริ่มต้นหาข้อมูลเพื่อพิจารณานั้น ให้คุณทำตัวเป็นเสมือนกระดาษที่ว่างเปล่า โดยให้เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งนั้น โดยปราศจากจากกรอบความคิดที่เคยได้รับรู้หรือเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ให้หมดก่อน แล้วเริ่มต้นจากตรงนั้น

ยกตัวอย่างเช่น หากเขาสั่งให้ออกแบบเรื่องเกี่ยวกับการบิน ในกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม นั้น แรก ๆ ก็อาจจะเลือกใช้ไม้เป็นวัสดุ ต่อมาคุณก็อาจจะออกแบบโดยการใช้ Metal หรือโลหะผสม และต่อมาคุณก็รู้ด้วยว่า เราไม่สามารถใช้ Steel หรือเหล็กกล้ามาใช้ในการสร้างเครื่องบินได้แม้ว่ามันจะแข็งแรง ทนทานและสร้างได้เกือบทุกสิ่งบนพื้นผิวโลก แต่มันหนักเกินกว่าที่จะบินได้

และพอคุณเลือกได้แล้วว่า การออกแบบการบินนั้น วัสดุที่เหมาะสมที่สุดก็คือ Metal

แต่หากเขาตั้งโจทย์ใหม่ว่า จงออกแบบเครื่องบินที่บินด้วยความเร็วสูง หรือเครื่องบินที่บินได้ในสภาวะหนาวเหน็บ หรือเครื่องบินที่สามารถบินไปในอวกาศได้ คุณก็จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัสดุเป็นอย่างดีว่า หากวัสดุดังกล่าวอยู่ในสภาวะที่แตกต่างกัน ในแต่ละสภาวะนั้น มันจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับตัวของวัสดุ

ซึ่ง Michael Saylor เขาให้ความหมายของหลักทาง Engineering หรือหลักในทางวิศวกรรมศาสตร์นั้น มันคือช่องทางในการส่งผ่าน Energy หรือพลังงาน โดยอาศัยตามหลักโครงสร้างและกลไก

ซึ่งมันอาจจะฟังดูแล้วงง ๆ สักหน่อย แต่ Michael Saylor ก็ได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า มนุษย์เรานั้นมีการพัฒนาด้วยการส่งผ่าน Energy หรือพลังงาน ซึ่งไฟก็คือพลังงานชนิดหนึ่ง ที่มนุษย์เริ่มใช้ในการพัฒนาอารยธรรม โดยเบสิคง่าย ๆ ที่ใช้เป็นหลักการคิดในการใช้ไฟก็คือ อันดับแรกเราก็ต้องแยกให้ได้ก่อนว่า วัสดุใดที่สามารถเผาไหม้ได้หรือไม่ได้ เช่น ถ้าให้คุณเลือกวัสดุในการก่อไฟ ระหว่าง ก้อนหินกับไม้ หากคุณมีความรู้ คุณก็ต้องเลือกไม้ในการก่อไฟแทนที่จะใช้ก้อนหิน และหากมีหญ้าสดกับหญ้าแห้งให้เลือก คุณก็ต้องมีความรู้เพิ่มอีกว่า หญ้าแห้งนั้นติดไฟได้ดีกว่าหญ้าสด

หรือหากมนุษย์เราต้องการสร้างธนูขึ้นมาเพื่อใช้ล่าสัตว์ในระยะไกลได้ดีนั้น ถ้าเขามีโจทย์ว่า จงออกแบบลูกธนูที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากก้อนหินสี่ชนิดเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่า คุณก็จะต้องพิจารณาว่า หินประเภทใด ที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีความคม ในการผลิตหัวลูกธนู

แล้วความยาวของลูกธนูควรยาวเท่าไหร่ สั้น ๆ หรือยาว ๆ จะดีกว่ากัน ซึ่งการที่คุณจะรู้ได้นั้น คุณก็จำเป็นที่จะต้องทำการทดลองหลากหลายรูปแบบ ทดลองยิงเป็นร้อย ๆ ครั้ง จนคุณพบว่า ลูกธนูแบบ C นั้น พอลองยิงแล้ว ประสิทธิภาพดีถึง 87 ดอก จากการยิง 100 ดอก

แล้วพอคุณรู้ดังนั้น ทีนี้ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนทำซ้ำเพื่อผลิตลูกธนูแบบ C เพิ่มเป็นพันดอก หมื่นดอก เพื่อที่จะได้ใช้มันในการล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารได้โดยที่ไม่ต้องเอาชีวิตถือหอกถือดาบ เข้าไปสู้กับหมี สู้กับกอลิล่าตัวยักษ์ แบบเผชิญซึ่ง ๆ หน้าอีกต่อไป ชีวิตคุณก็จะยืนยาวมากขึ้น ล่าสัตว์ได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากที่จะต้องไปเผชิญกับสัตว์ที่ดุร้ายอันตรายแบบต่อหน้า

หรืออย่างการใช้ช่องทางส่งผ่านพลังงานอย่างพลังลมและพลังน้ำ ในการสร้างเรือนั้น หากคุณออกแบบให้เรือมีความกว้าง 1 ฟุต และมีความยาว 100 ฟุต เรือลำนั้นก็จะวิ่งได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่หากออกแบบเรือให้มีความกว้าง 10 ฟุต และความยาว 50 ฟุต คุณก็จะได้เรือที่แล่นช้าลงแต่สามารถบรรทุกของได้เยอะกว่าแบบแรก

และแม้กระทั่งการออกแบบรูปร่างของเรือก็มีความเร็วที่แตกต่างกัน อย่างเรือที่เป็นสี่เหลื่ยมก็จะแล่นได้ช้า แต่ในขณะที่เรือมีความโค้งจะแล่นได้เร็ว เพราะรูปร่างของมันส่งผ่านพลังงานน้ำ พลังงานลมได้ดีกว่า

ซึ่งนั่นจึงทำให้ทาง Michael Saylor นั้น มีมุมมองเกี่ยวกับ Bitcoin ว่า บิตคอยน์นั้นคือพลังงานทางเศรษฐศาสตร์แรกของมนุษยชาติที่ออกแบบตามหลักวิศวกรรม หรือมันคือพลังงานในทางเศรษฐกิจมันคือ Economic Energy

ซึ่งต้องบอกตามตรงว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับและปฏิเสธแนวคิด ทฤษฎีพลังงาน ทฤษฎีทางวิศวกรรมศาสตร์ ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการเป็นกลไกในการทำงานของ Monetary Asset หรือสินทรัพย์ทางการเงิน

Resources