ลงทุน Bitcoin ให้รวย สไตล์ Michael Saylor EP.3 ตอน ทำไมคนรวยถึงรวยขึ้น แต่คนจนกลับจนลง
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ทาง Michael Saylor ได้บอกว่า หลังจากที่มีการประกาศให้ปิดเมืองนั้น เราสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างบริษัทที่อยู่ใน Wall Street กับบริษัท SMEs และบุคคลธรรมดาทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากการชะงักของเศรษฐกิจ โดยบริษัทใน Wall Street นั้นมีการตื่นตระหนกชั่วคราวแล้วค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเป็นรูป V-shaped ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ นั้นมีรูปแบบ L-shaped คือในรับผลกระทบจากการปิดเมืองแบบเต็ม ๆ แล้วไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย พอลองนำกราฟทั้งสองมาวาดซ้อนทับกันก็จะได้กราฟในรูปของ K-shaped
ซึ่ง Michael Saylor บอกว่า โดยส่วนตัวนั้นเขาคือ Investor คือนักลงทุน และในขณะเดียวกันอีกบทบาทหนึ่งเขาก็เป็นคนทำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง
และสิ่งที่เขาสังเกตเห็นได้ก็คือ ถ้าหากคุณที่มีทรัพย์สินในพอร์ทการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหุ้น แล้วหลังจากเกิดการระบาดของไวรัส และทาง FED หรือธนาคารกลางได้มีการปริ้นท์เงินดอลล่าร์อย่างมหาศาล กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารที่แทบจะเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ คุณจะสังเกตได้ว่า จู่ ๆ คุณจะมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นราว ๆ 25%-30% โดยที่อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยตลอดทั้งปี
ความหมายก็คือ หากคุณลงทุนเอาไว้ที่ $1,000 ล้านดอลล่าร์ฯ พอสิ้นปีคุณก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น $1,300 ล้านดอลล่าร์ฯ โดยที่ไม่ต้องทำอะไร แค่อยู่เฉย ๆ
แต่ในขณะที่บริษัททั่วไปที่อยู่นอกตลาดหุ้น หากปีที่แล้วพวกเขาทำรายได้ ได้ $100 ล้านดอลล่าร์ฯ ในปีนี้ พวกเขาต้องเพิ่มรายได้ให้เป็น $130 ล้านดอลล่าร์ฯ เพื่อที่จะรักษาความมั่งคั่งให้เท่ากับปีที่แล้ว เพราะทรัพย์สินที่ใช้เงินซื้อนั้นกลับแพงขึ้น 30% หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ มูลค่าของเงินนั้นลดลง 30% ก็ได้เช่นกัน
เพราะหากดูการเติบโตของตลาดหุ้น S&P 500 จะพบว่า ในปี 2021 มันเติบโตราว ๆ 26.89% นั่นหมายความว่า หากคุณจะซื้อหุ้นในปีนี้ให้ได้จำนวนหุ้นเท่ากับปีที่แล้ว คุณจะต้องเพิ่มเงินอีกเกือบ ๆ 30% เลยทีเดียว
และต่อให้คุณเป็นคุณหมอที่มีรายได้สูง มีคลีนิคส่วนตัวเป็นของตัวเอง หากในปีนี้คุณยังคงสร้างรายได้ได้เท่าเดิม แต่ความมั่งคั่งกลับลดลงเฉลี่ยปีละ 20%-30% ดังนั้นคุณต้องเริ่มคิดแล้วว่า จะนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนอย่างไรเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้
ซึ่งหนึ่งในคอนเซ็ปต์ที่ผู้คนทั่วโลกต่างเข้าใจผิดเกี่ยวกับค่า Inflation หรือค่าเงินเฟ้อที่ถูกฝังหัวมาโดยตลอดก็คือ ค่าเงินเฟ้อจาก CPI : Consumer Price Index ที่มักจะแสดงค่าเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 2%-3% ต่อปี ส่วนในปี 2022 นี้ก็พุ่งไปกว่า 8.5% ซึ่งการยึดตัวเลขค่า Inflation หรือค่าเงินเฟ้อจากข้อมูลดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผิด
โดย Michael Saylor บอกว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่า Inflation นั้นคือ อะไรก็ตามที่เราต้องการซื้อแล้วกำลังขึ้นราคาไปเท่าไหร่ต่างหาก นั่นแหละคือค่าเงินเฟ้อที่แท้จริง ซึ่งมันไม่ได้มีเฉพาะค่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทางรัฐบาลเอามานำเสนอเพียงไม่กี่อย่าง
ซึ่งค่า Inflation นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตามกาลเวลา ตามพื้นที่ และตามแต่ละประเภทของสิ่งนั้น เช่น หลังจากที่ทางรัฐบาลสั่งประกาศปิดเมืองในช่วงเกิดโรคระบาดรุนแรงนั้น ก็ได้ออกกฏหมายให้ปิดสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ทำให้ไม่มีคนไปจับจ่ายใช้สอย มันก็ไม่แปลกที่ราคาสินค้าและบริการเหล่านี้จะไม่มีการขึ้นราคา
ในขณะที่คนอยู่แต่บ้าน สิ่งที่พวกเขาสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสะดวกและในทันทีเลยก็อย่างเช่น หุ้น ไม่ก็ crypto มันก็ไม่แปลกที่ราคาของทรัพย์สินเหล่านี้มีราคาที่สูงขึ้น
และพอคนในเมืองที่ต้องกักตัวเป็นเวลานาน ๆ ภายในห้องพักเล็ก ๆ ก็กลับกลายเป็นว่า ผู้คนกลับโหยหาบ้านที่มีบริเวณสนามหญ้าให้นั่งเล่น นั่งพักผ่อนหย่อนใจ ก็ส่งผลให้มี Demand หรือความต้องการจากผู้คนที่ต้องการจะซื้อบ้านที่มีสนามหญ้าแถวชานเมืองมากขึ้น นั่นมันก็ส่งผลให้ราคาบ้านชานเมืองปรับราคาสูงขึ้น
หรืออย่างช่วงล็อคดาวน์ ราคาของ Bonds หรือพันธบัตรนั้น มีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นสองเท่า ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น หรืออย่างในตลาดตราสารทุน (equity) นั้น มีการปรับราคาสูงขึ้นถึง 40% หรือในตลาด crypto อย่าง bitcoin ก็ราคาสูงขึ้นเฉลี่ยราว ๆ 170% ต่อปี
ในขณะที่หากหันไปดูในตลาดของการผลิตมักกะโรนีหรือบรรดาของกินต่าง ๆ นั้น อาจมีค่า Inflation ที่ราว ๆ 3%-5% ต่อปี หรืออย่างดู Youtube ดู Netflix ค่าใช้จ่ายรายเดือนก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก
ดังนั้น อย่าให้ค่า Inflation ที่ทางรัฐบาลนำมาจัดแสดงกราฟหลอกเอาได้ ว่ามีค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อที่ราว ๆ 3% ต่อปี หรือที่บอกว่าในปี พ.ศ. 2565 ค่าเงินเฟ้อในไทยพุ่งมากกว่า 5% นั่นนับว่าสูงแล้ว
แต่พอมาเทียบกับทรัพย์สินต่าง ๆ กลับมีค่า Inflation สูงกว่า 30% ซะอีก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม คนรวยจึงเลือกที่จะเปลี่ยนเงินสดในกระเป๋าไปเป็นทรัพย์สินซะเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะเก็บเงินสดเอาไว้ในบัญชีธนาคารแทนที่จะเอาไปลงทุนให้มันงอกเงย หรือส่วนใหญ่ก็เอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยที่นับวันของกินของใช้ก็มีราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะค่าเงินมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง
ดังนั้น หากต้องการที่จะเป็นคนรวย ก็จะต้องมองค่า Inflation ในมุมมองของคนรวย ว่าพวกเขาเลือกมอง Inflation ในสิ่งใด
และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม คนรวยถึงรวยเอา ๆ ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับจนลง
Resources
- https://youtu.be/Vuz44fwkEz0
- https://www.macrotrends.net/2526/sp-500-historical-annual-returns
- https://www.bls.gov/charts/consumer-price-index/consumer-price-index-by-category-line-chart.htm
- https://tradingeconomics.com/thailand/inflation-cpi