Site icon Blue O'Clock

สร้างเด็กรุ่นใหม่ ในยุค AI ครองเมือง by Po-Shen Loh | Blue O’Clock Podcast EP. 53

Po-Shen Loh

เนื้อหาในตอนนี้ เป็นการสำรวจผลกระทบจากการมาของปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะเจ้า AI ที่ชื่อว่า chatGPT ที่มีผลต่อระบบการศึกษาและอนาคตของคนรุ่นใหม่

โดย Professor Po-Shen Loh ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์และโค้ชของทีมคณิตศาสตร์โอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ของเขาที่ได้ขลุกอยู่กับเจ้า chatGPT ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาของคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะหาวิธีการในการเตรียมพร้อมให้กับเด็กรุ่นใหม่เพื่อรับมือกับการมาของปัญญาประดิษฐ์

โดยทาง Professor เขาได้บอกว่า เขาได้มีโอกาสรู้จักเจ้า chatGPT เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่ง ณ ตอนนั้น ยังมีแต่คนสบประมาทความสามารถของมันอยู่ซะเป็นส่วนใหญ่

แต่ในขณะที่เขานั้น ก็ลองได้ใช้งานเจ้า charGPT ดู เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องของการเขียนจดหมายเพื่อสมัครเข้าชิงทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่

ซึ่งการเขียนจดหมายนั้น สามารถเป็นเครื่องชี้เป็นชี้ตายได้เลยว่า คน ๆ นั้นจะสามารถได้รับทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนั้นหรือไม่

แล้วเขาก็พบว่า เมื่อลองใช้เจ้า chatGPT ในการเขียนเรียงความเพื่อส่งเข้าสมัครสมัครชิงทุน เขาก็สรุปได้ในแทบจะทันทีเลยว่า เจ้า AI ตัวนี้ สามารถสร้างความสั่นคลอนให้แก่ระบบการศึกษาในสหรัฐอเมริกาแน่ ๆ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาหรือการศึกษาที่สูงกว่าระดับชั้นมัธยมขึ้นไป

เพราะเจ้า chatGPT นั้น สามารถเขียนเรียงความได้ดีมาก ๆ เลยทีเดียว และที่สำคัญคือ มันสามารถเขียนได้ภายในไม่กี่วินาทีเท่านั้นเอง

ดังนั้น นี่เป็นปัญหาแน่ ๆ สำหรับอนาคตการศึกษาของเหล่าบรรดาลูกหลานที่เกิดมาในยุคนี้

ซึ่ง เนื้อหาในวันนี้ เขาจึงเน้นไปที่เรื่องวงการ การศึกษาเป็นหลัก เพื่อให้คนรุ่นใหม่ สามารถรับมือกับการมาของเจ้า chatGPT ได้

โดย Professor ก็ได้เล่าเรื่องของนักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่ง Professor ก็ได้ถามนักเรียนคนนั้นว่า เขาทำอะไรอยู่บ้างในช่วงที่ปิดเทอมภาคฤดูหนาวที่ผ่านมา

โดยนักเรียนคนนั้นได้ตอบว่า เขาใช้เวลาเขียนโปรแกรมในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา โดยสิ่งที่เขาทำก็คือ การเข้าไปที่เว็บไซต์ tutor.com ที่เป็นศูนย์รวมของนักเรียนและติวเตอร์ ที่มีคำถามต่าง ๆ มากมายจากนักเรียน แล้วให้คนที่เป็นติวเตอร์เข้าไปตอบคำถาม

ซึ่งแน่นอนว่า การถามตอบภายในเว็บไซต์นี้นั้น จะมีเฉพาะการสื่อสารแบบพิมพ์แชทหากัน

โดยสิ่งที่นักศึกษาคนนี้ทำก็คือ เขาใช้เจ้า chatGPT ในการช่วยให้เขากลายเป็นติวเตอร์มืออาชีพได้ในแทบจะทันที

โดยวิธีการที่เขาทำก็คือ การป้อนชุดคำสั่งเข้าไปใน chatGPT ให้เสมือนกับว่ากำลังเล่นบทเป็นติวเตอร์สาขาวิชาหนึ่งอยู่

แล้วจากนั้น ก็นำคำถามจากเว็บไซต์มาถามกับ chatGPT แล้วก็จะได้คำตอบออกมา

แต่เขาจะไม่ทำการส่งคำตอบไปในทันที เพราะเขาต้องการตรวจสอบว่า คำตอบที่ออกมานั้น มันมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด ซึ่งสเต็ปที่เขาทำต่อมาก็คือ การนำคำตอบที่ chatGPT ตอบออกมานั้น กลับไปถามกับมันอีกรอบหนึ่ง เพื่อทำการ double-check ทำการตรวจทานคำตอบเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง

และเมื่อมั่นใจในระดับหนึ่งแล้วว่า คำตอบดังกล่าว เป็นคำตอบที่ดีมากพอ

เขาก็เริ่มตอบคำถามลงบนเว็บไซต์ tutor.com ด้วยมือของเขาเอง ที่ไม่ใช่การก้อปวางมาจากเจ้า chatGPT โดยตรง ดังนั้น คำตอบที่ได้ ก็จะเป็นภาษามนุษย์ เพียงแต่เขาใช้เจ้า chatGPT เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงอีกทีหนึ่ง

ซึ่งนักศึกษาคนนี้สามารถทำเงินได้ราว ๆ $600 จากการให้บริการตอบคำถามบนเว็บไซต์ tutor.com ก่อนที่เขาจะถูกปิดบัญชีผู้ใช้งานไปเนื่องจากละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการ

และจากเรื่องดังกล่าว ทาง professor ก็คิดว่า มันก็เป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนักศึกษาคนดังกล่าว สามารถหลอกเอาเงินจากคนอื่นได้ถึง $600 หรือราว ๆ สองหมื่นกว่าบาท โดยใช้เวลาทำงานไม่ถึง 10 นาที ซะด้วยซ้ำ แถมสิ่งที่เขาทำนั้นยังไม่ได้ทำผิดกฎหมายใด ๆ อีกด้วย นั่นคือสิ่งที่มนุษย์เรานั้นไม่สามารถดูแคลนความสามารถของเจ้า chatGPT ได้เลย

และความน่ากลัวอีกอย่างหนึ่งของเจ้า chatGPT ก็คือ เวลาที่เราถามคำถามอะไรกับมันไป มันแทบจะตอบออกมาได้แทบทุกคำถาม แต่ประเด็นก็คือ บางคำตอบอาจจะมีความผิดเพี้ยนไปจากความจริง แต่มันก็เอาคำตอบดังกล่าวมาตอบเรา เสมือนว่ามันตอบได้ทุกคำถาม และนั่นคือความยากที่มนุษย์เรานั้นในหลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า คำตอบดังกล่าว มันจริงหรือเท็จแค่ไหน ซึ่งคนทั่ว ๆ ไป อาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำถ้ามองคำตอบดังกล่าวเพียงแค่ผิวเผิน

และเนื่องจาก Professor อยู่ในวงการการศึกษา เขาจึงให้ความสนใจในด้านนี้เป็นพิเศษ และเขาก็ได้เห็นกราฟข้อมูลจากบนเว็บไซต์ของบริษัท OpenAI ที่เป็นบริษัทแม่ของเจ้า chatGPT ก็พบว่า

จากกราฟคือผลคะแนนที่เจ้า chatGPT สามารถทำข้อสอบในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้เท่าไหร่เมื่อเทียบกับความรู้ของคนทั่ว ๆ ไปที่ทำแบบทดสอบในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งก็จะพบว่าจากข้อมูลการวิจัยนั้น เจ้า chatGPT สามารถทำคะแนนได้สูงกว่ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปเป็นอย่างมาก ยิ่ง chatGPT-4 เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดแล้วนั้น ยิ่งทำเปอร์เซ็นต์ได้สูงขึ้นกว่าเวอร์ชั่น 3.5 อีกหลายเท่าตัวในหลาย ๆ สาขาวิชา

นั่นหมายความว่า ความรู้ของเจ้า chatGPT นั้นได้เหนือกว่ามนุษย์ค่าเฉลี่ยทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในหลายสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่บนโลกใบนี้

แต่จากกราฟ Professor ก็ได้สังเกตเห็นว่า เพราะเหตุใดในหมวดข้อสอบวัดความรู้ในกลุ่มที่ชื่อ AMC 10 และ AMC 12 นั้น ทาง chatGPT จึงทำคะแนนได้ต่ำกว่าในกลุ่มอื่น ๆ

ซึ่งด้วยความที่ Professor สนใจในเรื่องของคณิตศาสตร์อยู่แล้ว เขาก็พบว่า แบบทดสอบในกลุ่มของ AMC นั้น คือ การแก้ปัญหาสมการคณิตศาสตร์ที่มักจะไม่ได้อยู่ในตำรา มักจะเป็นสิ่งที่คิดค้นได้ใหม่

ในขณะที่เจ้า chatGPT นั้น จะต้องอาศัยการป้อนข้อมูลที่มีอยู่บนโลกใบนี้อยู่แล้ว เพื่อฝึกฝนพวกมัน ดังนั้น การที่จะให้มันตอบในสิ่งที่ไม่ได้ถูกเทรนนิ่ง หรือไม่ค่อยได้มีการป้อนข้อมูลเรื่องดังกล่าวเข้าไปนั้น มันจะยังคงไม่สามารถให้คำตอบที่ดีได้อยู่ หรือบางสมการทางคณิตศาสตร์มันก็ยังไม่สามารถแก้ได้อยู่

นั่นจึงทำให้ Professor นั้น เขาคิดว่าหัวใจสำคัญของการสร้างคนใน Next Generation ต่อ ๆ ไป นั้น ไม่ใช่การพร่ำสอนในสิ่งที่มีอยู่ในตำราอยู่แล้ว เพราะเจ้า chatGPT สามารถทำแทนได้เกือบหมด แต่สิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้ในตอนนี้ก็คือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

ดังนั้นทาง Professor จึงคิดว่า กลุ่มผู้พัฒนา chatGPT นั้น ออกแบบมันมาเพื่อผลักดันให้มนุษย์เรานั้น สร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีบนโลกใบนี้ขึ้นมา

เพราะหากมนุษย์เรายังคงทำในสิ่งเดิม ๆ สิ่งที่มีอยู่แล้ว พวก AI ก็จะเข้ามาแทนตำแหน่งได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสังเกตได้จากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ได้มีการ layoff หรือปลดพนักงานออกนับพัน นับหมื่นตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่นในบริษัทที่ให้บริการด้านตอบคำถามทั่วไปกับลูกค้าหรือ customer services นั้น หากบริษัทที่เคยใช้มนุษย์ในการให้บริการมาแล้วหลายปี ที่พวกเขาได้เก็บข้อมูลที่เคยคุยกับลูกค้าเอาไว้ โดยเฉพาะการคุยตอบโต้กันแบบ chat นั้น ก็สามารถนำเอาข้อมูลดังกล่าว ไปฝึก AI เพื่อให้มันเรียนรู้วิธีการถามตอบของบริษัทตนในอดีตที่ผ่านมา จนทำให้ AI นั้น สามารถพัฒนาและตอบคำถามทดแทนเหล่าบรรดาพนักงานที่คอยตอบแชทลูกค้าได้ ซึ่งนั่นแค่เป็นตัวอย่างเดียวที่ AI เข้ามาทดแทนตำแหน่งงานของมนุษย์ที่ทำงานในรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ ที่ไม่ใช่การทำในสิ่งใหม่

ดังนั้น ส่วนตัวของ Professor นั้น เขาจึงไม่ชอบใช้สไลด์ในการสอนนักเรียน แต่เขาจะเดินเข้าไปในห้องเรียนแล้วถือชอล์กแท่งหนึ่งเพื่อเตรียมเขียนในสิ่งที่นักเรียนระดมสมอง ระดมไอเดีย จากการที่เขาเริ่มต้นตั้งโจทย์หรือตั้งคำถามแก่นักเรียน แล้วจากนั้น นักเรียนภายในห้องก็จะนึกหาไอเดียใหม่ ๆ ที่หลายต่อหลายครั้งก็เป็นไอเดียที่แปลกแหวกแนว ที่ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหานั้นได้ ก็กลับแก้ได้ก็มี

แต่วิธีการสอนแบบนี้ทาง Professor ก็พบว่า มันใช้ได้ผลเป็นบางที่ ส่วนที่ใช้ไม่ค่อยได้ผลก็คือ หากห้องเรียนใดที่เป็นห้องเรียนแบบปกติทั่ว ๆ ไป เป็นโรงเรียนที่มีแบบแผนการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พอ Professor เริ่มต้นตั้งโจทย์ แล้วให้นักเรียนช่วยกัน brain storm ระดมสมองเพื่อหาไอเดียกันนั้น เขากลับพบว่า มีนักเรียนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ช่วยกันระดมสมอง ส่วนนักเรียนอีกร้อยละ 80 นั่งดูนักเรียนกลุ่มที่ออกไอเดีย

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ การแยกกลุ่มของนักเรียนที่ชอบระดมไอเดียในกลุ่ม 20% นั้น ออกมาตั้งทีมใหม่ ซึ่งเขาเรียกทีมนี้ว่า “Math Team” แล้วอำนวยความสะดวกให้แก่พวกเขากลุ่มนี้ จัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสในการระดมไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมา

เพราะตัวของ Professor เอง ก็โชคดีที่ได้เคยเป็นเด็กในกลุ่มแบบนี้มาก่อน ซึ่งมันนำพาให้เขาได้ค้นพบกับไอเดียใหม่ ๆ อีกมากมายหลายอย่าง

ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เด็กในกลุ่มนี้ ไม่ใช่เด็กที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นเด็กที่ชอบระดมสมอง และชอบแสดงหรือนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ก็เท่านั้นเอง

ส่วนคำแนะนำจาก Professor เองนั้น เขาก็แนะนำว่า หากใครมีลูกมีหลานเขาก็แนะนำว่าให้พยายามศึกษาเรื่องของคณิตศาสตร์เอาไว้ให้เก่ง ๆ และนอกจากนั้นสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ยังมอบให้เหมือนกับที่มนุษย์ให้ไม่ได้ในตอนนี้นั้นก็คือ ความรัก ความเป็นมนุษย์ และการคิดถึงอนาคต หรือจะพูดรวม ๆ ก็คือ สิ่งที่ควรปลูกฝังให้แก่คนรุ่นต่อไปก็คือ การระดมสมองเพื่อค้นหาไอเดียใหม่ ๆ กับการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ให้ได้มากที่สุด

และทักษะต่อมาที่ทาง Professor แนะนำให้คนที่เก่งในเรื่องของคณิตศาสตร์จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารในที่สาธารณะ เพราะโดยปกติแล้วนั้น พวกที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเลขนั้น มักจะเป็นเด็กเนิร์ด ที่คุยกับคนทั่ว ๆ ไปไม่ค่อยรู้เรื่อง ตัวของเขาเองก็เป็นเช่นกัน ที่ในตอนแรกนั้นเขาคุยแต่กับเด็กเนิร์ดด้วยกันถึงจะรู้เรื่อง ซึ่งมันทำให้เขาต้องไปฝึกทักษะในการสื่อสารให้แม้แต่คนปกติทั่ว ๆ ไป ก็สามารถเข้าใจได้ ซึ่งเขาบอกว่า มันเป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุดทักษะหนึ่งที่เขาเคยทำมาเลยก็ว่าได้ แถมค่าเรียนก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิดซะด้วย

แถมเมื่อฝึกทักษะการสื่อสารได้อย่างเชี่ยวชาญ คล่องแคล่วแล้วล่ะก็ ตัวของ Professor เองนั้นก็พบว่า มันมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาไม่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวสอนก่อนเข้าห้องเรียนอีกเลย

เพราะเขาสามารถใช้ทักษะในการสื่อสาร เชื่อมโยงองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน แถมยังสามารถดึงข้อมูลตรงนั้น มาผสมตรงนี้ ให้เหมาะกับนักเรียนตรงหน้า ได้อย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ซึ่งมันช่วยประหยัดเวลาในการเตรียมตัวสอนของเขาได้เป็นอย่างมากเลยทีเดียว

ดังนั้น เขาจึงจ้างนักเล่าเรื่องตลก นักแสดงมาเป็นครูสอนให้แก่นักเรียนที่เก่งเรื่องคณิตศาสตร์ เพื่อให้เด็ก ๆ มีทักษะในการสื่อสารที่ดีและโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

เพราะถ้าคุณลองสังเกตดูดี ๆ ก็จะพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ในโลกนี้นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาวิชาชีพใดก็ตาม พวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีทักษะในการสื่อสารในที่สาธารณะได้อย่างยอดเยี่ยมกันแทบทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในการที่ Professor นั้น เขาเป็นคณะกรรมการในการคัดเด็กนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย เด็กที่โดดเด่นนั้น มักจะมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ที่ดีและการแสดงออกที่ดี ส่งผลให้ในระหว่างการสัมภาษณ์นั้น เด็กเหล่านี้มักจะทำได้ดีกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ และมีความมั่นใจในตนเองเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็ก ๆ เหล่านี้ จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในโลกนี้

เพราะมีทั้งพลังด้านปัญญาและพวกเขาเรียนรู้ที่จะสังเกต ดู ฟังผู้คนในระหว่างที่กำลังสนทนาอยู่ และสามารถสร้างสีสัน เสียงหัวเราะให้แก่คนอื่น ๆ ในเวลาที่เหมาะเหม็ง และเข้าใจความคิดความอ่านของผู้คน

จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่งในระหว่างการสัมภาษณ์ ก็มีนายกเทศมนตรีท่านหนึ่งเดินเข้ามาหาเขา แล้วก็พูดว่า “นี่คุณกำลังสร้างคนรุ่นใหม่ที่อันตรายมาก ๆ” นั่นก็เป็นเพราะพวกเขานอกจากจะหัวไวแล้ว ยังสามารถนำเสนอในสิ่งที่พวกเขาคิดอยู่ในหัวออกมานำเสนอให้แก่นายทุน เพื่อนร่วมทีม หรือจัดกิจกรรมการกุศลใด ๆ ก็สามารถดึงดูดผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว

นั่นมันจึงทำให้ สิ่งแรกที่ Professor จะต้องทำให้มั่นใจก่อนที่จะรับเด็กคน ๆ นั้นมาเข้าโปรแกรมการเรียนนี้ก็คือ เด็กคนนั้นพื้นฐานจะต้องเป็นคนดีก่อนเลย

ดังนั้นโปรแกรมการเรียนการสอนนี้ ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อเข้าเรียนได้ ตรงกันข้ามซะด้วยซ้ำที่ทางเขาจะเป็นคนที่จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่เด็ก ๆ

และการที่เขาสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถกลุ่มนี้ขึ้นมาก็จะทำให้เด็กกลุ่มนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่การงานที่ดี ด้วยทักษะที่ยอดเยี่ยม

เพราะอย่าลืมว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ผู้ใหญ่ทุกคนต่างก็ต้องมีบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องหามาจ่ายให้ทันและพอเพียง เพราะเขาไม่อยากให้คนที่มีทักษะที่ยอดเยี่ยม จะต้องไปประทังชีวิตด้วยการหารายได้เสริมจากการขี่รถเดลิเวอร์รี่ส่งอาหาร

โดยวิธีการที่จะส่งเสริมเด็กที่ชอบระดมสมองและมีความสนใจในด้านคณิตศาสตร์ก็คือ การพูดคุยกับพวกเขาแบบตัวต่อตัวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดย Professor จะใช้โปรแกรม Zoom ในการสอน เพราะมันสามารถใช้สอนออนไลน์ได้สะดวกและสอนได้ทั่วโลก

จากนั้นทาง Professor ก็จะเรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดง มาสอนให้กับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ เพื่อเป็นการเติมเต็มทักษะอีกด้านหนึ่ง ที่อยู่ตรงข้ามกับสมองด้านที่มีความคิดเป็นระบบ คิดเป็นตรรกะ คิดเป็นเหตุเป็นผล นั่นก็คือ สมองในด้านของ emotion หรือด้านอารมณ์ การแสดงออก การสื่อสารอย่างมีศิลปะ

ดังนั้นจริง ๆ แล้วต่างฝ่าย ต่างก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะฝั่งหนึ่งก็คือผู้เชี่ยวชาญด้านตรรกะ กับอีกฝั่งหนึ่งคือผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์ ที่มักจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถเรียนรู้ได้อีกมากมายระหว่างกัน

นอกจากนั้นมันยังเป็นการสร้าง ecosystem หรือระบบนิเวศน์ ที่ทำให้ผู้สอนได้มีงานทำ จากทั้งฝั่งผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ และผู้สอนจากฝั่งของศิลปะการแสดง เพื่อเติมเต็มและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

และนี่ก็คือสิ่งที่ ศาสตราจารย์ Po-Shen Loh ตั้งใจทำเพื่ออนาคตการศึกษาของเด็กรุ่นใหม่ ๆ ในยุคต่อ ๆ ไปในอนาคต

Resources

Exit mobile version