ประวัติ ผู้พันแซนเดอร์ส ผู้ให้กำเนิดตำนานไก่ทอด KFC ที่กว่าจะมีวันนี้ ก็เริ่มต้นธุรกิจในวัยหลังเกษียณเข้าไปแล้ว
ข้ออ้างเรื่องของอายุในการเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ผลกับแซนเดอร์สคนนี้ เพราะกว่าที่ KFC จะมีวันนี้และโด่งดังไปทั่วโลกนั้น ผู้ให้กำเนิด KFC อย่าง ผู้พันแซนเดอร์ส อายุอานามก็ปาเข้าไปกว่า 60 ปีแล้ว
และหากจะอ้างว่า ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เพราะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ก็ใช้กับแซนเดอร์สไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะเขาเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แถมคุณพ่อของเขาก็ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่เขาอายุได้ 6 ขวบ แถมยังถูกพ่อเลี้ยงทุบตีจนต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปทำมาหากินเองตั้งแต่อายุได้เพียงสิบต้น ๆ เท่านั้น
Harland David Sanders เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน ปี 1890 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐ Indiana เมือง Henryville เป็นบุตรชายคนแรกของ Wilbur David Sanders และ Margaret Ann Sanders โดยมีน้องชายชื่อ Clarence Saunders และน้องสาวชื่อ Catherine Sanders
แซนเดอร์สเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน โดยคุณพ่อของเขาทำงานรับจ้างทั่วไปและทำการเกษตรบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนคุณแม่ของเขาไม่ได้ทำงาน โดยทำหน้าที่เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูก ๆ ทั้งสามคน แต่แล้วเมื่อแซนเดอร์สอายุได้เพียง 6 ขวบ ก็ต้องสูญเสียคุณพ่ออันเป็นที่รักไป ทำให้คุณแม่ของเขาต้องออกไปเป็นลูกจ้างเป็นคนปอกมะเขือเทศในโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง รวมไปถึงตอนกลางคืนก็ยังรับจ๊อบเย็บผ้าเพิ่มเติม แซนเดอร์สจึงต้องทำหน้าที่คอยเลี้ยงดูน้อง ๆ อีกสองคนอยู่ที่บ้าน โดยคอยหุงหาอาหารให้กับน้อง ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสั่งสมทักษะการเป็นพ่อครัวในวัยเด็กของเขา แถมฝีมือของเขาเจ๋งขนาดที่ว่า เคยได้แชมป์ทำอาหารประจำหมู่บ้านด้วยวัยเพียง 7 ขวบเท่านั้น อีกด้วย
แต่รายได้ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายภายในบ้าน จนเมื่อแซนเดอร์สอายุได้ 10 ขวบ เขาจึงออกไปรับจ๊อบที่ฟาร์มข้าง ๆ บ้าน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแม่อีกแรง และตอนนั้นเขาเองก็ตัดสินใจที่จะลาออกจากโรงเรียนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ซึ่งเขาเรียนถึงแค่ชั้นประถม 7 เท่านั้น
ด้วยความเป็นอยู่ที่ยังคงย่ำแย่ แม่ของเขาจึงตัดสินใจแต่งงานใหม่กับเจ้าของฟาร์ม โดยตอนนั้นแซนเดอร์สมีอายุได้เพียง 12 ปี แต่ทุกอย่างกลับเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม เพราะเขาไม่สามารถเข้ากันกับพ่อเลี้ยงคนใหม่ได้ แถมพ่อเลี้ยงก็ชอบใช้กำลังและทำร้ายร่างกายจนทนไม่ไหว เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปอยู่ที่เมือง Clark County แล้วรับจ๊อบหลายต่อหลายจ๊อบ จนได้ทำงานที่ไร่แห่งหนึ่ง โดยได้ค่าแรงเดือนละ 15 ดอลล่าร์ แต่ดีหน่อยที่เขาประหยัดค่าที่พักกับอาหารที่เจ้าของไร่อนุญาตให้เขาได้หลับนอนและหุงหาอาหารกิน เขาอยู่ที่นี่จนกระทั่งอายุได้ 15 ปี ตอนอายุ 16 เขาก็ได้เปลี่ยนอาชีพไปเป็นกรรมกรก่อสร้างถนน และเมื่อทางกองทัพสหรัฐอเมริการับสมัครทหารเกณฑ์ เขาได้ปลอมแปลงเอกสารของตนเอง เพื่อที่จะเข้าไปเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ เพราะจริง ๆ แล้วเขาอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ จนได้ไปประจำการอยู่ที่คิวบา เป็นเวลา 1 ปี
และหลังจากที่เขาปลดประจำการจากกองทัพ ในปี ค.ศ. 1908 เมื่อ แซนเดอร์ส อายุได้ 18 ปี เขาหวังจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ เขาได้แต่งงานกับ Josephine King และมีลูกด้วยกันสามคนคือ Harland Jr. (ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่อายุยังน้อย) และลูกสาวอีกสองคนคือ Mildred Sanders และ Margaret Sanders
และในระหว่างนี้นี่เองที่เขาได้เปลี่ยนงานหลายต่อหลายงาน ไม่ว่าจะเป็น คนขายประกันชีวิต ขับเรือกลไฟ เป็นเลขาของหอการค้าโคคัมบัส ซึ่งในระหว่างที่ทำงานที่นี่ เขาได้พบกับนักประดิษฐ์ตะเกียงที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติได้ แซนเดอร์สจึงตัดสินใจซื้อสิทธิบัตรและเปิดบริษัทผลิตตะเกียง แต่ก็ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจู่ ๆ ก็มีโครงการขยายไฟฟ้าสู่ชุมชน กลายเป็นว่าตะเกียงเจ้าพายุของเขากลายเป็นสินค้าที่ตกยุคไปในทันที
ในระหว่างที่เปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ แซนเดอร์สเองก็มีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับด้านกฏหมาย โดยอาศัยการเรียนหลักสูตรทางไกลกับ Southern University จนในช่วงปี 1915 สามารถมาประกอบอาชีพในการพิจารณาคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ศาลได้ แต่อาชีพนี้ก็ต้องมายุติลงเมื่อเขาเกิดมีเหตุทะเลาะวิวาทกันในศาลกับลูกความ และเขาตัดสินใจที่จะจบสายอาชีพนี้ในช่วงปี 1920
ผ่านมาหลายปี จนถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งของแซนเดอร์ส นั่นก็คือ เมื่อตอนที่เขาอายุประมาณ 40 ปี หลังจากที่ได้สะสมเงินเก็บมาหลายปี เขาได้ตัดสินใจนำเงินก้อนนั้นไปเปิดปั๊มน้ำมันเล็ก ๆ ที่เมือง Corbin รัฐ Kentucky และแน่นอนว่า คราวนี้ เขาได้เริ่มต้นทำในสิ่งที่รัก และเชี่ยวชาญเป็นพิเศษสักกะที นั่นก็คือ การทำอาหารขายให้แก่คนที่เดินทางผ่านเส้นทางนั้นและแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มของเขา ที่มีโต๊ะนั่งเพียง 6 ที่นั่งเท่านั้น แต่ด้วยความที่อาหารที่เขาทำมันมีรสชาติที่อร่อย จนเกิดการบอกปากต่อปากกัน ทำให้เริ่มมีคนแวะเข้ามาสั่งอาหารที่ปั๊มน้ำมันเขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาตัดสินใจที่จะเปิดร้านอาหารจริง ๆ จัง ๆ เสียที เขาจึงย้ายไปเปิดร้านอาหารที่โรงแรมฝั่งตรงข้าม โดยมีพื้นที่รองรับลูกค้ากว่าร้อยที่นั่งเลยทีเดียว โชคดีหน่อยที่แถวนั้นแทบไม่มีร้านอาหารร้านอื่นเลยนอกจากร้านของเขา ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างหนาหูกันในชื่อว่า “Kentucky Fried Chicken of Harland Sanders”
โดยในปี 1930 นักวิจารณ์อาหารชื่อดังอย่าง Duncan Hines ยกให้ร้านของแซนเดอร์สเป็น Adventure in Good Eating ทำให้ร้านอาหารของเขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนกระทั่งในปี 1935 ผู้ว่ารัฐเคนทักกีที่ชื่อ Ruby Laffoon ก็ได้แต่งตั้งให้แซนเดอร์สเป็น “Kentucky Colonel” หรือ “ผู้พันแห่งเคนทักกี” โดยตำแหน่งนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งทางการทหาร แต่ให้เพื่อสดุดีสำหรับคนที่สร้างคุณงามความดีและทำประโยชน์ให้กับรัฐเคนทักกี
ในปี 1937 ผู้พันแซนเดอร์สมีความคิดที่จะขยายกิจการ ด้วยการเปิด Motel ควบคู่ไปกับร้านอาหาร โดยใช้ชื่อว่า Sanders Court & Cafe โดยกะเอาไว้ว่าจะเป็นร้านอาหาร Fast Food ยอดฮิตแห่งใหม่ แต่ก็ไม่เข้าข่ายเพราะว่า ใช้เวลาในการทอดไก่นานเกินกว่าที่จะเป็นร้านอาหารจานด่วนได้
จนกระทั่งในปี 1939 ผู้พันแซนเดอร์สก็ได้คิดค้นวิธีการทอดไก่ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาทอดไก่กว่าครึ่งชั่วโมง ให้เหลือเพียงแค่ 9 นาที ด้วยวิธีการนำกระทะทอดแบบแรงดันเข้ามา ซึ่งนับได้ว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ และก็ร้านอาหารต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้วิธีการทอดแบบผู้พันมาจนถึงทุกวันนี้
ในปี 1947 เขาได้หย่าร้างกับภรรยา แล้วได้แต่งงานใหม่ในปี 1949 กับ Claudia Ledington ซึ่งเป็นเลขาในร้านของเขานั่นเอง โดยในปี 1950 ตอนที่แซนเดอร์ส อายุได้ 60 ปี เขาก็ได้รับตำแหน่งผู้พันอีกครั้งจากรองผู้ว่าการรัฐเคนทักกีที่ชื่อ Lawrence Weatherby และในคราวนี้ ผู้พันเคนทักกี ก็ได้เริ่มต้นสร้าง Personal Branding ด้วยการแทนตัวเองว่าผู้พัน และแต่งชุดสูทสีขาวและผูกไทร์สีดำแบบ String tie ที่มีเอกลักษณ์การแต่งตัวแบบผู้ดีชาวอเมริกาทางตอนใต้ และไว้หนวดเคราสีขาว พร้อมกับถือไม้เท้า โดยกลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าคนรุ่นหลังจะไม่รู้จักผู้พันในรายละเอียดลึก ๆ แต่หากเจอรูปปั้นหรือโลโก้ที่ไหน คนส่วนใหญ่ก็แทบจะรู้ทันทีว่า นี่คือ ผู้พันแซนเดอร์ส อย่างแน่นอน
แต่ทุกอย่างก็เหมือนจะไปได้ดีจนกระทั่งในปี 1956 มีการสร้างถนนตัดใหม่ ที่ทำให้ลูกค้าไม่ค่อยใช้ถนนเส้นที่ร้านของผู้พันตั้งอยู่ ทำให้ยอดขายเริ่มลดลงและเริ่มเป็นหนี้ จนกระทั่งต้องขายร้านเพื่อปลดหนี้สิน จนแซนเดอร์สในวัย 65 ปีนั้น กลายเป็นบุคคลแทบล้มละลายกันเลยทีเดียว
โดยแซนเดอร์สในวัย 66 ปีนี้ ต้องยันชีพด้วยเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการสังคมที่จ่ายให้เพียงเดือนละ 105 ดอลล่าร์เท่านั้น เขาเคยยอมรับว่าเขาคิดที่จะจบชีวิตของตัวเองลง พร้อมกับเขียนจดหมายลาตายไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ในระหว่างที่เขียนจดหมายนี่เอง ที่เขาคิดขึ้นมาได้ว่า ในชีวิตนี้ เขายังไม่เคยประสบความสำเร็จอะไรในชีวิตที่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ซึ่งมันทำให้เขาฮึดและลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่ว่า อย่างน้อยในช่วงชีวิตที่เหลือนี้ จะต้องประสบความสำเร็จให้จงได้
เขาจึงใช้เงินก้อนแรกจำนวน 105 ดอลล่าร์ ที่ได้จากการช่วยเหลือของสวัสดิการสังคม นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตระเวนขายสูตรไก่ทอดทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วนำอุปกรณ์การทำอาหาร เช่น หม้อแรงดันสูง และสูตรไก่ทอดติดตัวเขาไปด้วย เพื่อสาธิตวิธีการทอดไก่และขายสูตร โดยคิดค่าแฟรนไชส์จำนวน 5 cent ในไก่ทอดทุก ๆ ชิ้นที่ใช้เครื่องปรุงสูตรพิเศษของเขา โดยตระเวนไปเสนอสูตรตามร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วประเทศสหรัฐฯ และกว่าที่จะได้รับการตอบรับจากร้านอาหารต่าง ๆ เขาต้องพูดคุยกับร้านอาหารกว่าพันร้าน และเริ่มมีร้านอาหารที่ตอบรับมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 1960 ผู้พันแซนเดอร์สในวัย 70 ปี ก็มีร้านสาขาแฟรนไชส์กว่า 400 ร้าน ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยในปี 1963 มีรายงานว่า เขาสามารถทำกำไรได้กว่า 300,000 ดอลล่าร์ฯ
โดยสูตรสำเร็จที่ผู้พันแซนเดอร์สให้ความสำคัญมากที่สุด มีด้วยกัน 3 ข้อ ก็คือ
- คุณภาพของอาหาร
- ความสะอาดของอาหารและร้าน
- การให้บริการที่ดี
จนกระทั่งในวันที่ 6 มกราคม ปี 1964 ผู้พันแซนเดอร์สในวัย 74 ปี เขาก็ได้ตัดสินใจขายกิจการ Kentucky Fried Chicken ในประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กับ John Y. Brown Jr. และ Jack Massey ที่เป็นนักธุรกิจในเคนทักกี เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านดอลล่าร์ฯ และได้รับเงินรายปีอีกประมาณปีละ 250,000 ดอลล่าร์ ซึ่งผู้พันได้รับเกียรติให้เป็นเสมือนโลโก้ของแบรนด์ Kentucky Fried Chicken ซึ่งทุกครั้งที่มีการประชาสัมพันธ์แบรนด์ ผู้พันก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนโฆษกของแบรนด์ และปรากฏตัวในสื่อต่าง ๆ ด้วยตนเองอยู่ตลอด
บริษัท Kentucky Fried Chicken ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนในปี 1969 ก็ได้เข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น New York
แต่หลังจากนั้นสุขภาพของผู้พันก็แย่ลงเรื่อย ๆ จนตรวจพบว่า เขาได้เป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวอย่างเฉียบพลัน (acute leukemia) ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมในโรงพยาบาลที่เมือง Louisville รัฐ Kentucky เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1980 ในวัย 90 ปี โดยได้นำร่างของผู้พันไปฝังไว้ที่สุสานที่ Cave Hill Cemetery ใน Kentucky
แม้ว่าผู้พันจะจากไปแล้ว แต่การเติบโตของกิจการไก่ทอดของเขาก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น โดยในปี 1986 บริษัท Kentucky Fried chicken ก็ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง PepsiCo เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่ากว่า 840 ล้านดอลล่าร์ฯ และในปี 1991 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น KFC ซึ่งเป็นอักษรย่อจากชื่อเต็มแทน และต่อมาในปี 2002 KFC ก็ได้เข้าไปอยู่ในการบริหารของ Yum! Brands ซึ่งมีบริษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่อย่าง Pizza Hut, Taco Bell ที่ PepsiCo ได้เข้าซื้อกิจการไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกลายเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทอาหารของทั้งโลก
และนี่ก็เป็นบทพิสูจน์อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นว่า กว่าที่ KFC จะมีวันนี้ได้นั้น เกิดจากผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำมาตลอดหลายสิบปี ล้มแล้วล้มอีก จนเกือบจะฆ่าตัวตายในวัยหลังเกษียณ แต่กลับลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาที่เล่นตลกร้ายกับเขา และเริ่มต้นผลักดัน KFC อีกครั้งในวัย 66 ปี จนกระทั่ง สามารถขายกิจการและกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ในที่สุดในวัยกว่า 74 ปี เขาค้นนั้นได้รับฉายาว่า Colonel Sanders หรือที่เรารู้จักกันในนาม ผู้พันแซนเดอร์ส ที่เมื่อเขากลายเป็นเศรษฐีแล้ว เขาก็ไม่ลืมที่จะตอบแทนบุญคุณต่อสังคม เพราะหากไม่มีคนในสังคมที่คอยสนับสนุนกิจการของเขา เขาก็ไม่สามารถมาถึงจุด ๆ นี้ได้
ผู้พันแซนเดอร์ส ไก้กล่าวเอาไว้ว่า
“There’s no reason to be the richest man in the cemetery. You can’t do any business from there.”
หมายถึง มันไม่มีประโยชน์อันใดเลยที่คุณจะกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในสุสาน เพราะคุณไม่สามารถทำธุรกิจอะไรได้เลยในสุสานนั้น
– Colonel Harland David Sanders –
Resources:
- https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_KFC
- https://astrumpeople.com/colonel-harland-sanders-biography-inspiring-history-of-kfc/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Colonel_Sanders
- https://adioma.com/@Jan-Badenhorst/infographic/life-of-colonel-sanders-of-kfc
- https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/yum_brands_pizza_hut_kfc/04.html