Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Economy

Ray Dalio วิเคราะห์ วิกฤตเศรษฐกิจโลก และทำนายสงครามโลกครั้งที่ 3

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมราคาทุกอย่างถึงแพงขึ้นเรื่อยๆ? ทำไมความขัดแย้งทางการเมืองถึงรุนแรงขึ้นทุกวัน? และทำไมโลกถึงดูวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม?

Ray Dalio นักลงทุนระดับตำนานและผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาจมีคำตอบ และคำเตือนที่น่าตกใจ:

  • วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังจะมา
  • สหรัฐอเมริกามีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองสูงถึง 40% ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
  • และที่น่าตกใจที่สุด โอกาสที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อยู่ที่ 40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้? และเราควรเตรียมตัวอย่างไรกับอนาคตที่ไม่แน่นอน?

ติดตามเนื้อนี้ตลอดจนจบ เพื่อเข้าใจสถานการณ์โลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และวิธีรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึง”

ส่วนที่ 1: สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศสหรัฐอเมริกา

Ray Dalio นักลงทุนระดับตำนานและผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates เขาได้เคยกล่าวเอาไว้เกี่ยวกับ The Big Cycle ที่เป็นวัฏจักรของอาณาจักรต่าง ๆ จากยุครุ่งเรืองสู่ยุคถดถอยเพื่อเริ่มต้นสู่มหาอำนาจโลกคนใหม่

โดยเขาได้แบ่งวัฏจักรออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้ก็คือ

  • ขั้นที่ 1 เศรษฐกิจเฟื่องฟู : การเติบโตทางเศรษฐกิจสูง, อัตราการจ้างงานสูง และมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น
  • ขั้นที่ 2 ฟองสบู่ : ราคาสินทรัพย์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว, การเก็งกำไรเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงในระบบการเงินสูงขึ้น
  • ขั้นที่ 3 วิกฤตทางการเงิน : ฟองสบู่แตก, ราคาสินทรัพย์ตกต่ำ และสถาบันการเงินประสบปัญหา
  • ขั้นที่ 4 ภาวะถดถอย : การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ, อัตราการว่างงานสูงขึ้น และรัฐบาลเข้าแทรกแซงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ขั้นที่ 5 ความขัดแย้งภายในประเทศ : ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น, ความไม่พอใจในสังคมสูงขึ้น และการเมืองแบ่งขั้วรุนแรง
  • ขั้นที่ 6 ปฏิวัติและสงคราม : ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นใช้กำลัง, การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน และอาจนำไปสู่สงครามภายในหรือระหว่างประเทศ

ในการวิเคราะห์ล่าสุด Ray Dalio เขาเชื่อว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในขั้นที่ 5 ของวัฏจักรนี้ ซึ่งหมายความว่าอเมริกากำลังเผชิญกับความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง และอยู่ในจุดที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

โดยเขาชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของผู้คนในสังคม การเกิดขึ้นของลัทธิประชานิยมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา และความขัดแย้งภายในที่รุนแรง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประเทศสหรัฐฯ อ่อนแอลงในสายตาของมหาอำนาจอื่น ซึ่งพวกเขาอาจฉวยโอกาสนี้ในการเคลื่อนไหวในระดับโลก

โดย Ray Dalio เขาได้เน้นย้ำว่ามีสามสิ่งสำคัญที่เราต้องจับตามองเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือ :

  1. ดูว่าประเทศกำลังหารายได้มากกว่าที่ใช้จ่ายหรือไม่ หรือกำลังสร้างหนี้เพิ่มมากขึ้น
  2. พิจารณาความสัมพันธ์ภายในประเทศ ว่าผู้คนกำลังร่วมมือกันหรือขัดแย้งกัน
  3. สังเกตการเติบโตของมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและรัสเซีย

และนอกจากนี้ Ray Dalio ยังอธิบายว่าการสร้างหนี้และพิมพ์เงินมากเกินไปจะนำไปสู่การลดมูลค่าลงของเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ส่วนที่ 2: การอธิบายเกี่ยวกับเงินเฟ้อและผลกระทบ

Ray Dalio ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีการพิมพ์เงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างอำนาจในการซื้อ มันจะทำให้มูลค่าของเงินลดลง ซึ่งส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ และเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ผลตอบแทนจากการถือครองเงินสดหรือพันธบัตรจะแย่ลง

และเมื่อผู้คนเริ่มตระหนักถึงภาวะเงินเฟ้อ พวกเขาจะพยายามลดการถือครองเงินสดและพันธบัตร เพราะมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้ลดลงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารและรัฐบาลจึงต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อจูงใจให้คนยังคงถือครองเงินสดและพันธบัตรเอาไว้ให้ได้ ซึ่งมันส่งผลทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่เงินเฟ้อก็ยังคงสูงอยู่ สถานการณ์นี้อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจชะงักงันพร้อมเงินเฟ้อ’ หรือที่เรียกว่า ‘stagflation’

โดย Ray Dalio เขาได้เน้นย้ำว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังสร้างหนี้จำนวนมหาศาล ใช้จ่ายมากกว่าที่หาได้ และมีการพิมพ์เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่เงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ซึ่ง Ray เขายังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘เงินสดคือขยะ’ ในสภาวะเงินเฟ้อ เพราะมูลค่าของมันจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนพยายามหลีกเลี่ยงการถือครองเงินสด ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ส่วนที่ 3: การอธิบายเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในประเทศสหรัฐอเมริกา

Ray Dalio ตั้งคำถามว่า ประชาชนในประเทศกำลังร่วมมือกันทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกันหรือไม่ หรือประชาชนภายในประเทศกำลังขัดแย้งกันจนถึงขั้นทำร้ายกันเอง โดย Ray เขาเตือนว่าหากผู้คนให้ความสำคัญกับความเชื่อหรืออุดมการณ์ของตนมากกว่าระบบโดยรวมของประเทศ ระบบนั้นก็อาจตกอยู่ในอันตราย

โดย Ray อธิบายว่าในช่วงเวลาแบบนี้ เราจะเห็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น โดยมักจะแสดงออกในรูปแบบของ ‘ประชานิยม’ ทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ประชานิยมคือแนวคิดทางการเมืองที่อ้างว่าตนเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วไปที่ต่อสู้กับชนชั้นนำที่เห็นแก่ตัว

นักการเมืองประชานิยมมักจะพูดว่า ‘ฉันกำลังต่อสู้เพื่อคุณ’ เพื่อดึงดูดผู้สนับสนุน แต่พวกเขามักจะไม่สนใจการประนีประนอมหรือการทำงานร่วมกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งต่างจากนักการเมืองสายกลางที่พยายามหาจุดร่วมและประนีประนอมเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

Ray Dalio เตือนว่าการต่อสู้ระหว่างกลุ่มประชานิยมที่มีความคิดสุดโต่งอาจนำไปสู่ความไร้ระเบียบในสังคม และในกรณีที่รุนแรงที่สุด อาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองได้ ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบการปกครองและเสถียรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา”

ส่วนที่ 4: ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบัน

Ray Dalio ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงเวลานี้ มีประเทศประชาธิปไตยถึงสี่ประเทศที่เปลี่ยนไปสู่ระบอบเผด็จการ ได้แก่:

  1. เยอรมนี (Germany): จากสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) สู่ระบอบนาซีภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
  2. อิตาลี (Italy): ภายใต้การปกครองของเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini)
  3. สเปน (Spain): หลังสงครามกลางเมือง นำโดยฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)
  4. ญี่ปุ่น (Japan): มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบทหารนิยม

สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ผู้นำเผด็จการเหล่านี้ใช้ความไม่พอใจของประชาชนและสัญญาว่าจะฟื้นฟูประเทศให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

นอกจากนี้ Ray Dalio ยังยกตัวอย่างการปฏิวัติในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส (France), รัสเซีย (Russia), จีน (China), และคิวบา (Cuba) เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่คล้ายคลึงกันของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรง:

  1. การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution, 1789-1799): เป็นตัวอย่างของการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรุนแรง
  2. การปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution, 1917): นำไปสู่การล้มล้างระบอบซาร์และการก่อตั้งสหภาพโซเวียต
  3. การปฏิวัติจีน (Chinese Revolution, 1949): ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นสู่อำนาจ
  4. การปฏิวัติคิวบา (Cuban Revolution, 1953-1959): นำโดยฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของคิวบา

Ray Dalio ชี้ให้เห็นว่าในช่วงแรกของการปฏิวัติ มักจะมีกลุ่มคนที่พยายามประนีประนอมและแก้ปัญหาร่วมกัน แต่เมื่อความขัดแย้งรุนแรงขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้มักถูกกำจัดออกไป โดยเฉพาะในกรณีของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งมีช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘ยุคแห่งความหวาดกลัว’ (Reign of Terror) ระหว่างปี 1793-1794 ในช่วงนี้ ผู้นำปฏิวัติหัวรุนแรงอย่างมักซิมิเลียน โรเบสปิแยร์ (Maximilien Robespierre) และพรรคพวก ได้ใช้กิโยติน (guillotine) เป็นเครื่องมือในการประหารชีวิตผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ รวมถึงนักการเมืองสายกลางและผู้ที่เคยสนับสนุนการปฏิวัติในช่วงแรก แต่ภายหลังถูกมองว่าไม่สนับสนุนแนวทางที่รุนแรงมากพอ การกวาดล้างนี้ส่งผลให้ผู้คนนับหมื่นถูกประหารชีวิต และทำให้เหลือเพียงกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งในการควบคุมอำนาจ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน Ray Dalio สังเกตเห็นแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน โดยชี้ให้เห็นว่านักการเมืองสายกลางกำลังถอนตัวออกจากการเมือง ขณะที่การแข่งขันทางการเมืองกลับมุ่งเน้นไปที่ใครจะมีจุดยืนที่สุดโต่งที่สุด

Ray Dalio ยังอ้างถึงสถิติที่น่าตกใจ แม้ว่าเขาจะจำตัวเลขไม่ได้แน่ชัด แต่เขากล่าวว่ามีประมาณ 10-15% ของสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งที่หวังให้สมาชิกพรรคตรงข้ามเสียชีวิต และไม่ต้องการให้ลูก ๆ ของตนแต่งงานกับคนจากพรรคตรงข้าม

นอกจากนี้ Ray Dalio ยังชี้ให้เห็นว่าความแตกแยกทางการเมืองนี้ส่งผลถึงการย้ายถิ่นฐานของผู้คน โดยไม่ได้เป็นเพียงเพราะเหตุผลทางภาษีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะความแตกต่างในค่านิยมด้วย

Ray Dalio สรุปว่าแนวโน้มเหล่านี้สามารถเห็นได้ชัดในปัจจุบัน และยังสอดคล้องกับสถิติและการวิเคราะห์ที่เขาได้นำเสนอในหนังสือของเขา ทั้งหมดนี้เป็นการเตือนว่าในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ประชาธิปไตยอาจเปราะบางและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา (United States) ซึ่งควรระมัดระวังและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในลักษณะเดียวกัน”

ส่วนที่ 5: สถานการณ์ทางการเงินและความขัดแย้งภายใน

Ray Dalio วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาทางการเงินและความขัดแย้งภายในสังคม โดยเขาอธิบายว่า:

‘เมื่อประเทศเผชิญกับวิกฤตทางการเงิน พร้อม ๆ กับการแบ่งขั้วทางความคิดอย่างรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งภายในสังคมมากขึ้น’

โดยเขาชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้อัดฉีดเงินและให้เครดิตจำนวนมหาศาลแก่ประชาชน ซึ่ง Ray เห็นว่านี่เป็นสาเหตุโดยตรงที่จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อสูง

ซึ่งเจ้าเงินเฟ้อนี้ไม่เพียงแต่ลดทอนอำนาจการซื้อของประชาชน (Purchasing power) แต่มันยังนำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะยิ่งสร้างความกดดันให้กับผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้นไปอีก

Ray Dalio ยังเน้นย้ำว่าสถานการณ์นี้จะทำให้ช่องว่างทางความมั่งคั่งขยายกว้างขึ้น และปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะยิ่งทวีความรุนแรง

ส่วนที่ 6: การแข่งขันระหว่างประเทศและสงครามรูปแบบต่าง ๆ

Ray Dalio อธิบายถึงพลังขับเคลื่อนที่สามในวงจรเศรษฐกิจและการเมืองโลก นั่นคือ การเติบโตของมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะประเทศจีนและประเทศรัสเซีย

โดย Ray ชี้ให้เห็นว่าเมื่อประเทศมหาอำนาจเดิมจากสหรัฐอเมริกาอ่อนแอลง ไม่ว่าจะด้วยปัญหาทางการเงินหรือความขัดแย้งภายใน มันก็มักจะมีคู่แข่งใหม่ที่พร้อมจะก้าวขึ้นมาแทนที่อยู่ตลอดเวลา และเมื่อประเทศเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้น พวกเขาก็จะแข็งแกร่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านทางการทหารและทางด้านการค้า

นอกจากนั้น Ray ยังเคยกล่าวเอาไว้ในหนังสือของเขาว่าการแข่งขันระหว่างประเทศจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของความตึงเครียดที่มีต่อกันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือการคาดการณ์ของ Ray เกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา และความขัดแย้งครั้งใหญ่กับจีน โดยในหนังสือ The Changing World Order ของเขานั้นระบุว่ามีโอกาส 30% ที่สหรัฐฯ จะเกิดสงครามกลางเมืองในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และ มีโอกาส 35% ที่จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่กับจีนในอีก 10 ปีข้างหน้านี้

เมื่อถูกถามว่าตัวเลขเหล่านี้ยังคงเหมือนเดิมที่ Ray เขาเคยเขียนเอาไว้ในหนังสือหรือไม่?

ทาง Ray Dalio ก็ตอบว่า “ผมคิดว่าตัวเลขเหล่านั้นอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อย ตอนนี้ สิ่งต่าง ๆ กำลังพัฒนาไปเร็วขึ้น” โดยตัวเลขที่อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ กับเกิดสงครามระหว่างประเทศกับจีน อาจจะมีตัวเลขอยู่ที่ 35 ถึง 40% สำหรับทั้งสองกรณี

โดย Ray ยังเน้นย้ำว่าสถานการณ์ในยูเครนกำลังเร่งพัฒนาการเหล่านี้ในระดับนานาชาติ ซึ่งเขาเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับสงครามโลก โดยกล่าวว่าจะมีสองฝ่ายหลักสู้รบกัน และมีประเทศที่เป็นกลางด้วย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ส่วนที่ 7: การวิเคราะห์สถานการณ์ในยูเครนและผลกระทบต่อระเบียบโลก

Ray Dalio ได้วิเคราะห์สถานการณ์ในยูเครนอย่างละเอียด โดยเขามองว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ โดย Ray เขาได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัสเซียกับจีน ซึ่งพวกเขามีเป้าหมายร่วมกันในการท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกา

โดย Ray อธิบายว่า จีนมองนโยบายการยับยั้งและขัดขวางของสหรัฐฯ ว่าเป็นการจำกัดอิทธิพลของประเทศจีน โดย Ray เขาได้เปรียบเทียบกับอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่มีในแถบละตินอเมริกา เช่น กรณีวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งเป็นจุดที่โลกเกือบจะเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ เมื่อสหภาพโซเวียตติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา และสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการปิดล้อมทางทะเล และวิกฤตการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการรักษาอิทธิพลในภูมิภาคของตน ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จีนรู้สึกว่าได้ถูกจำกัดอิทธิพลในภูมิภาคของตนเอง

ในการวิเคราะห์สถานการณ์ในยูเครน Ray Dalio ระบุว่ามีสามประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามก็คือ:

  1. ผลลัพธ์ของความขัดแย้ง: โดย Ray อธิบายว่าชัยชนะของรัสเซียอาจหมายถึงการที่ยูเครนอยู่ในตำแหน่งที่เป็นกลาง รัสเซียควบคุมเมืองฝั่งทางตะวันออก เศรษฐกิจรัสเซียไม่ถูกทำลาย (GDP ลดลงเพียง 10-12%) และปูตินยังคงอยู่ในอำนาจ
  2. ประสิทธิภาพของมาตรการคว่ำบาตร: Ray Dalio เน้นว่าโลกกำลังจับตามองพลังของการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบัน เนื่องจากอำนาจทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ไม่ได้เปรียบเหมือนอย่างในอดีต
  3. การจัดตั้งพันธมิตรระหว่างประเทศ: Ray Dalio สังเกตว่าโลกกำลังแบ่งเป็นสองฝ่าย เปรียบเสมือนการเกิดฝ่ายอักษะและฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลก

นอกจากนั้น Ray Dalio ยังได้เตือนถึงผลกระทบของการใช้สกุลเงิน US Dollar เป็นอาวุธในการคว่ำบาตร ซึ่งอาจทำให้ประเทศอื่น ๆ พยายามลดการพึ่งพาสกุลเงิน US Dollar ในระยะยาว ส่งผลต่อสถานะของสกุลเงินสำรองของโลก

และนอกจากนี้ Ray ยังได้เปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับเหตุการณ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะกรณีของญี่ปุ่นที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ซึ่งนำไปสู่การโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและสงครามโลกครั้งที่สอง

กองทัพเรือญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินรบกว่า 350 ลำจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำ โจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ เกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย โดยไม่มีการประกาศสงครามล่วงหน้า การโจมตีครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างหนัก ทำลายเรือรบสหรัฐฯ 18 ลำ รวมถึงเรือประจัญบาน 8 ลำ ส่งผลให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต 2,403 คน และบาดเจ็บ 1,178 คน เหตุการณ์นี้นำไปสู่การที่สหรัฐฯ ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันถัดมา และเป็นเหตุให้สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัวในที่สุด

สุดท้าย Ray ได้สรุปว่าผลลัพธ์ของสถานการณ์ในยูเครนจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อดุลอำนาจระหว่างประเทศและระเบียบโลกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย รวมถึงบทบาทของสกุลเงิน US Dollar ในระบบการเงินโลก

Resources