Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Economy

เมื่อประเทศล่มสลาย | How Countries Go Broke by Ray Dalio EP.0

Ray Dalio หนึ่งในนักลงทุนมหภาคและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยประสบการณ์ในการลงทุนกว่า 50 ปี เขาได้เฝ้าติดตามและวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกในหลายช่วงเวลา ทั้งช่วงที่เฟื่องฟูและช่วงที่เกิดวิกฤต

Ray ได้ใช้หลักการที่มีระบบและเป็นแบบแผนในการวิเคราะห์วัฏจักรเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ‘วัฏจักรหนี้ขนาดใหญ่’ (Big Debt Cycles) ที่เขาเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำความเข้าใจว่าทำไมประเทศต่าง ๆ ถึงได้ล้มละลาย เขาได้ทำการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ๆ ของโลกย้อนหลังไปกว่า 100 ปี และบางส่วนได้ย้อนศึกษาไปถึง 500 ปีเพื่อรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและสร้างแบบจำลองที่สามารถอธิบายและคาดการณ์วัฏจักรเศรษฐกิจโลกเหล่านี้ได้

How Countries Go Broke‘ เป็นผลงานล่าสุดที่ Ray Dalio ต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและกระบวนการที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ล่มสลาย โดยอิงจากการศึกษาวัฏจักรหนี้ขนาดใหญ่และประวัติศาสตร์การเงินของโลก เพื่อให้ผู้คนสามารถเรียนรู้จากอดีตและหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเดิม ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมประเทศยิ่งใหญ่ที่เคยรุ่งเรืองถึงต้องล่มสลาย? มีปัจจัยใดบ้างที่เราควรเรียนรู้จากอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต? มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน”

บทนำ (Introduction)

Ray Dalio เปิดประเด็นด้วยคำถามสำคัญว่า

“ประเทศมหาอำนาจที่ใช้สกุลเงินหลักของโลก (เช่นสหรัฐฯ) จะล้มละลายได้หรือไม่?” และอีกคำถามก็ถามว่า

“แล้วมีขีดจำกัดของการก่อหนี้ในภาครัฐหรือไม่?”

ซึ่ง Ray เขาพบว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญได้แตกออกเป็นสองฝ่าย:

  • ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ารัฐบาลของประเทศที่เป็นเจ้าของสกุลเงินที่เป็นเงินทุนสำรองของโลกสามารถพิมพ์เงินใช้หนี้ได้ไม่จำกัด (จึงไม่น่าจะล้มละลาย)
  • อีกฝ่ายเห็นว่าการมีหนี้ที่มากและการเพิ่มหนี้อย่างรวดเร็วเป็นสัญญาณเตือนวิกฤตใหญ่ แม้จะยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด​

Ray ชี้ว่าประเด็น “วัฏจักรหนี้ขนาดใหญ่ (Big Debt Cycle)” ที่กินเวลานานหลายสิบปีนั้น ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอในแวดวงเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ผู้กำหนดนโยบายหลายคนมักละเลยวงจรนี้เพราะมองเห็นแต่ “วัฏจักรหนี้ระยะสั้น” (Short-term Debt Cycle) ที่คุ้นเคยกันดีเท่านั้น​

ดังนั้น Ray เขาจึงตัดสินใจทำการศึกษาวงจรหนี้ขนาดใหญ่ด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์กว่า 50 ปีในฐานะนักลงทุนมหภาคที่ผ่านวิกฤตหนี้มาหลายรอบ และการวิจัยวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่กว่า 100 ปีย้อนหลังอย่างละเอียด (และอย่างผิวเผินย้อนหลังไปอีก 500 ปี)​

และจากผลการศึกษาของ Ray เขาก็พบว่าวัฏจักรหนี้ขนาดใหญ่นั้น ได้เกิดขึ้นซ้ำ แล้วซ้ำเล่า ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา และนำไปสู่ “ฟองสบู่หนี้และการล่มสลายของประเทศ” ทุกครั้ง ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง

Ray เขาได้ยกตัวอย่างว่า จากปี ค.ศ.1700 มีสกุลเงิน ประมาณ 750 สกุล แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 20% เท่านั้น และสกุลเงินที่เหลืออยู่เหล่านั้นก็ถูกลดค่า(เสื่อมค่าลง) อย่างรุนแรงมาหลายครั้งตามกลไกของวัฏจักรหนี้ขนาดใหญ่​

Ray เขาตั้งข้อสังเกตว่าวัฏจักรนี้เคยถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลในรูปแบบของ กฎปี Jubilee (Jubilee Year) ซึ่งเป็นการล้างหนี้ทั้งหมดทุก ๆ 50 ปี เพื่อคืนความยุติธรรมและความสมดุลให้กับสังคม แนวคิดนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้ให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ โดยไม่ให้เกิดการสะสมหนี้จนเกินไป เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมามีความเท่าเทียมมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

นอกจากนั้น ในทางประวัติศาสตร์จีน แนวคิดคล้ายคลึงนี้ก็ปรากฏให้เห็นในช่วงการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ (Dynastic Cycle) เมื่อราชวงศ์หนึ่งเริ่มอ่อนแอจากการบริหารที่ผิดพลาดหรือเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น หนี้สะสมที่ไม่สามารถจัดการได้ ก็จะมีการลุกฮือขึ้นของกลุ่มต่าง ๆ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจเป็นราชวงศ์ใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของจีนหลายพันปีที่ผ่านมา

Ray มองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของกฎปี Jubilee หรือการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์จีน เป็นตัวอย่างของวัฏจักรที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตลอดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก เป็นปรากฏการณ์สากลที่ “ไร้กาลเวลา” ที่ทุกประเทศควรทำความเข้าใจ

นอกจากนี้ Ray ยังอธิบายว่าการเกิดและการล่มสลายทางการเงินนี้ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนดวัฏจักรใหญ่ของประเทศ แต่สัมพันธ์กับอีก 4 ปัจจัยหลัก ซึ่งได้แก่

  • วัฏจักรการเมืองภายใน (เช่น การเปลี่ยนขั้วอำนาจซ้าย-ขวา)
  • วัฏจักรระเบียบโลกและความขัดแย้งระหว่างประเทศ
  • เหตุภัยธรรมชาติ/โรคระบาด
  • และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทั้งห้าปัจจัยนี้สอดประสานกันและต้องพิจารณาร่วมกันในการวิเคราะห์การขึ้นลงของชาติมหาอำนาจโลก​

(ซึ่งเขาได้ขยายในหนังสือ Principles for Dealing with the Changing World Order)

ส่วนในหนังสือ How Countries Go Broke นี้ เขาจะมุ่งเน้นที่แรงขับทางเศรษฐกิจการเงิน (หนี้/เงิน) เป็นหลัก พร้อมกับเชื่อมโยงผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ ในบริบทที่จำเป็น​

Resources

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *