Site icon Blue O'Clock

วิธีรวยอย่างมั่งคั่งยั่งยืน by Garry Tan

Garry Tan - แกร์รี่ ตัน

Garry Tan ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Initialized Capital ที่เน้นลงทุนในบริษัท Startup ในช่วงตั้งไข่ ที่โด่งดังมาจากการลงทุนในบริษัท Startup อย่าง Coinbase กระดานซื้อขาย cryptocurrency แห่งแรกของโลก ที่พึ่งเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในอเมริกา เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา โดยเขาได้ลงทุนด้วยเงินจำนวน $300,000 ดอลล่าร์ฯ หรือประมาณ 9 ล้านบาท ผ่านไป 8 ปี เงินลงทุนดังกล่าวก็ได้งอกเป็น $2,000 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือกว่า 60,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 เท่า!

โดยในคอนเท้นต์นี้ Garry Tan จะมาแชร์วิธีการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในแบบฉบับของเขา

ประโยคแรกที่ Garry Tan บอกเลยว่า หากคุณต้องการรวย จงเลิกไล่ล่าหาเงินซะ เพราะสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ คือ Wealth หรือความมั่งคั่งต่างหาก โดยความมั่งคั่งนั้นมันไม่ได้หมายถึง การที่คุณได้ครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่โตหรือรถซุปเปอร์คาร์หรือเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวหรืออะไรทำนองนั้น

และนี่ก็คือวิธีการที่คุณจะรวยอย่างมั่งคั่งยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่มีเงินเยอะ ๆ เพียงอย่างเดียว

อย่างแรกสุด คุณต้องเข้าใจคำว่า Wealth กันก่อนว่ามันหมายถึงอะไร?

โดย Garry Tan ได้หยิบยกประโยคจาก Paul Graham ที่เป็น Programmer เศรษฐีร้อยล้าน ผู้ก่อตั้ง Y Combinator ศูนย์บ่มเพาะ Startup หน้าใหม่ที่โด่งดังมาอย่างมากมาย ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“…if you were in the middle of Antarctica, where there is nothing to buy, it wouldn’t matter how much money you had. Wealth is what you want, not money…”

หมายถึง “ถ้าตอนนี้คุณอยู่ที่ใจกลางบนทวีปแอนตากติกา ที่ ๆ ซึ่งไม่มีอะไรให้ซื้อสักกะอย่าง ดังนั้นมันไม่สำคัญเลยว่าคุณจะมีเงินอยู่เท่าไหร่หรือมากแค่ไหน

แต่สิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ คือความมั่งคั่งต่างหาก ไม่ใช่ตัวเงิน”

แล้วถ้าความมั่งคั่งมันสำคัญจริง ๆ แต่ทำไม ผู้คนส่วนใหญ่มักจะพูดแต่เรื่องของการทำเงินกันล่ะ?

อย่างแรก คำว่า ‘Money’ หรือ ‘เงิน’ นั้น เป็นการเรียกสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ โดยทั่วกันว่าใครมีเงินเยอะคือคนนั้นรวย แต่นั่นก็เป็นเพราะ ‘Money’ หรือ ‘เงิน’ นั้น เป็นช่องทางในการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าการมีเงินเยอะ ๆ จะส่งผลให้คน ๆ นั้นดูเหมือนมีความมั่งคั่ง แต่กลับเป็นว่า คำว่า ‘Money’ กับ ‘Wealth’ นั้นความหมายมันคนละเรื่องกันเลย

เพราะอันที่จริง Money เป็นเพียงแค่พลังงานที่อยู่ในรูปของตัวเลขที่อยู่ใน Book Bank ที่ทางธนาคารคอนเฟิร์มว่าตัวเลขนั้นคือจำนวนเงินที่คุณมีอยู่

ดังนั้น ไม่ว่าตัวเลขในบัญชีของคุณตอนนี้จะเป็นเท่าไหร่ ก็จงอย่าไปยึดติดกับมัน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไล่ล่าหาเงิน คุณจะกลายเป็นแค่ฟันเฟืองชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งที่กำลังหมุนไปในเครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยโฟกัสของคุณจะจดจ่ออยู่กับแค่เรื่องของการทำยังไงให้ได้เลื่อนขั้น ทำยังไงให้เงินเดือนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งสิ่งที่ล้ำค่ามากกว่านั้นมันคือการที่ได้สร้างและการที่ได้เป็นเจ้าของเจ้าเครื่องจักรทำเงินนั้นซะเอง หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือ จงสร้างเครื่องจักรผลิตเงิน ไม่ใช่ไล่ล่าหาแต่เงิน

อย่างที่สอง – โฟกัสในเรื่องของการสร้างทักษะที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป

ในยุคที่ใคร ๆ ต่างก็เข้าถึงข้อมูลความรู้ที่สามารถฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่จะมีสักกี่คนที่ฝึกทักษะด้านนั้น ๆ ให้เชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ แต่ก่อนอื่นต้องเลือกด้วยว่า ทักษะที่เรากำลังจะพัฒนาถึงขีดสุดนั้น มันทำได้ง่ายหรือยาก เพราะถ้าหากคุณสมัครเป็นภารโรงเพื่อเป็นนักถูพื้นที่ดีที่สุด (ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นงานที่สำคัญที่จำเป็นต้องมี) แต่มันก็คงไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคุณดีมากขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะใครต่อใครก็สามารถฝึกทักษะการถูกพื้นให้ดีได้ขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายขนาดนั้น และเมื่อมันเป็นทักษะที่ใคร ๆ ก็ทำได้นั่นก็แสดงว่า คุณสามารถถูกแทนที่ตำแหน่งงานนั้นได้อยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่ทักษะที่โดดเด่นในยุคนี้ ก็ต้องยอมรับว่า การพัฒนาทักษะให้ถึงขีดสุด โดยเฉพาะในด้าน Engineer, Designer หรืออย่าง นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นทักษะที่เป็นตัวเลือกที่ดีในยุคนี้ในการก้าวขึ้นสู่การเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรในยุคใหม่

ซึ่งสำหรับตัวของ Garry Tan เองนั้น เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน ที่บางมื้อก็จบลงด้วยขนมปังแผ่นจิ้มนมเป็นมื้อเย็น ซึ่งตัวของเขาในวัย 14 ปีนั้นก็ฉุกคิดได้ว่า เขาจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้ครอบครัวมีฐานะการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างน้อยตัวเขาก็ต้องช่วยแบ่งเบาภาระหารายได้ช่วยที่บ้านได้บ้างบางส่วนก็ยังดี เขาเลยตัดสินใจหยิบสมุดหน้าเหลืองขึ้น แล้วโทรไปสมัครงานอยู่ด้วยกันหลายต่อหลายบริษัท จนกระทั่งเขาก็ได้งานจนได้ โดยเขาเริ่มต้นงานที่ใช้ทักษะในด้านของ Design, Coding, Product Management, Marketing และ Branding และมันก็หล่อหลอมจนกลายเป็นตัวเขาในทุกวันนี้

ซึ่งมันคือเรื่องจริงที่โหดร้ายว่า แต่ละทักษะนั้นมีความสำคัญไม่เท่ากัน

โดย Garry ได้ยกตัวอย่างจากนักบาสชื่อดังอย่าง Dennis Rodman ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมกับ Michael Jordan ในทีม Chicago Bull ที่พวกเขาช่วยกันพาทีมให้คว้าแชมป์ได้ถึง 3 สมัย รวมถ้วยที่เขาเคยได้จากทีมแรกอย่างทีม Detroit Piston อีก 2 สมัย รวมเป็น 5 สมัย แต่หารู้ไม่ว่า Dennis Rodman นั้น อาชีพแรกสุดเมื่อตอนเขาอายุ 18 ปี นั้นเขาเริ่มจากการเป็นภารโรงที่สนามบินมาก่อน แน่นอนว่าต่อให้เขาพัฒนาทักษะการถูพื้นให้ดีขึ้นมากแค่ไหน ชีวิตเขาก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย

จนกระทั่งเขาได้ลงเล่นในทีมบาสเกตบอลระดับมหา’ลัย และได้ฝึกซ้อมอย่างหนักจนมีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนสามารถติด NBA Draft อันดับที่ 27 ในปีนั้นกับทีม Detroit Piston และได้ย้ายมาอยู่ทีม Chicago Bull ในเวลาต่อมา โดยเขามีทักษะอันโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร ที่นอกเหนือจากความห่าม ความบ้าดีเดือดแล้ว ทุกคนต่างยกย่องว่า เขาคือนักบาสที่รีบาวน์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น

ซึ่ง Dennis Rodman ได้เล่าให้ฟังว่า เขาฝึกและคิดอยู่ในหัวตลอดเกี่ยวกับเรื่องของการรีบาวน์ เวลาที่เพื่อนร่วมทีมกำลังจะยิงลูกจากจุดไหนก็ตาม เขาจะคำนวณในหัวอย่างรวดเร็วเลยว่า โอกาสที่หากลูกนั้นชู้ตไม่ลง มันจะเด้งไปตรงจุดไหนได้บ้าง และการฝึกทักษะในการคาดการณ์การเด้งของลูกบาสขณะตกกระทบกับห่วงบาสนั้นมันก็ทำให้เขา มักจะได้ตำแหน่งในการรีบาวน์ลูกที่ดีที่สุดมากกว่าใครในสนามอยู่เสมอ

ซึ่งทักษะนี้มันเป็นทักษะที่สำคัญมากในการเล่นบาส แต่กลับไม่ค่อยมีใครเขาฝึกกัน ทำให้ Dennis Rodman จากอดีตภารโรงถูพื้น สู่การเป็นแชมป์ NBA ถึง 5 สมัย แถมจำนวนการรีบาวน์ลูกของเขานั้น ยังติดอันดับที่ 23 ที่มีจำนวนการรีบาวน์สูงที่สุดในลีค NBA ที่เขารีบาวน์ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 11,954 ครั้ง อีกด้วย ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้เล่นทรงคุณค่าได้ในที่สุด (Hall of Fame)

ดังนั้นคุณจะต้องเลือกทักษะที่สำคัญ ที่ทำได้ยาก และไม่มีใครทำกัน และเมื่อคุณพัฒนาทักษะนั้นจนเก่งกาจแล้ว คุณจะกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงได้ในที่สุด

โดย Venkatesh Rao(เวนคาเตช ราว) นักเขียนและนักวิจัยจาก Cornell University และเคยเป็นที่ปรึกษาของบริษัท Xerox ได้เคยพูดเอาไว้ว่า คุณสามารถเลือกได้ว่า คุณจะใช้ชีวิตต่ำกว่าหรือสูงกว่า API ก็ได้ โดยที่ API มันย่อมาจากคำว่า Application Protocol Interface ที่เป็นการที่โปรแกรมคุยภาษาโปรแกรมด้วยกันเอง และนั่นมันก็หมายถึงการที่โปรแกรมพยายามคุยกับคนที่ใช้งานมันด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นเพียงแค่ผู้ใช้งานแอพ Uber เพื่อให้มันช่วยนำทางในการขับรถ คุณก็เป็นแค่แค่เพียงคนที่ใช้ชีวิตต่ำกว่า API คืออยู่ภายใต้คำสั่งและคำแนะนำของแอพ ซึ่งมันเป็นทักษะที่ใครก็สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษอะไร ไม่ต้องพยายามอะไรมากมาย ในขณะที่หากคุณสามารถสร้างแอพ Uber และเป็นเจ้าของมันได้ นั่นคือคุณกำลังใช้ชีวิตเหนือกว่า API ที่คุณเป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของมันอีกทีหนึ่ง

ซึ่ง Garry Tan ก็ได้เล่าให้ฟังเช่นกันว่า มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่หลายต่อหลายคนเข้ามาหาเขาเพื่อที่จะพยายามขอเงินทุนจากเขาอย่างมากมาย และสิ่งที่ Garry Tan ทำก็คือ การมองว่า Founder กับทีมของพวกเขานั้น มีทักษะพิเศษที่ไม่เหมือนกันที่ช่วยในการผลักดันความฝันให้กลายเป็นจริงได้ ทำไมน่ะหรือ? คำตอบก็ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ก็ถ้าเขาให้เงินกับคนที่ไม่มีทักษะเหล่านั้น เขาก็สูญเงินลงทุนหรือเจ๊งบ๊งกันพอดี และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มักจะเสียท่าให้กับคนที่จบเกรดสูง ๆ จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ที่เชื่อไปเองว่าพวกเขาน่าจะเป็น Engineer ที่ดีได้ แต่พอกลับทำจริงห่วยสุด ๆ

ในขณะพวกที่ดรอปเรียน เพื่อไปซุ่มเขียนโค้ดเขียนโปรแกรมเพื่อสร้าง Prototype หรือตัวต้นแบบจำลองออกมาทดสอบหลากหลายเวอร์ชั่นนั้น ซึ่งนั่นมันเหมือนกับว่าพวกเขากำลังสร้างบริษัทสตาร์ทอัพได้ก่อนที่จะได้รับเงินทุนซะอีก

อย่างที่สาม จงมองหา Leverage หรือพลังทวี ที่ทำน้อยให้ได้มาก โดยเฉพาะในเรื่องของเวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัด

โดย Garry Tan ได้ยกตัวอย่างจากบทสัมภาษณ์ของ Steve Jobs ที่เขาได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสร้าง Apple Computer ซึ่งเขาเล่าว่า ตอนแรกที่พวกเขาตัดสินใจสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลขึ้นมา เขาแค่จะสร้างเพื่อจะเอาไว้ใช้กันเองกับคู่หูของเขา Steve Wozniak เท่านั้นเอง แต่ปรากฎว่าเมื่อเหล่าบรรดาเพื่อน ๆ ของเขามาเห็นเจ้า Apple Computer แล้วต่างก็พูดว่า พวกเขาอยากได้กันสักเครื่อง

ซึ่งทันทีที่คำขอจากเพื่อนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ Steve Jobs ก็คิดว่า เขาคงจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตที่เหลือในการสร้างคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ ๆ ให้กับเหล่าบรรดาเพื่อน ๆ ที่สั่งกันเข้ามา ซึ่งถ้าเขาทำเองทั้งหมด ชีวิตนี้ก็คงไม่ต้องทำอย่างอื่นกันพอดี ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจ จัดตั้งบริษัทและหาบริษัทที่สามารถสร้างและประกอบคอมพิวเตอร์ได้ โดยมันเริ่มจาก 100 เครื่อง แล้วก็ค่อย ๆ ขยายกำลังการผลิต จนเป็นหลายสิบล้านเครื่องอย่างรวดเร็ว ณ เวลานั้น

ซึ่ง Garry Tan บอกว่า การจัดตั้งบริษัทและหาบริษัทมาช่วยประกอบคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการประหยัดเวลาได้อย่างมหาศาล

โดย Garry Tan ได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่เขายังทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ที่บริษัท Microsoft ซึ่งบริษัทกำลังซื้อเวลาจากเขาอยู่ และเขาก็ได้เงินเป็นรางวัลตอบแทน และเมื่อเขาเริ่มหมดแรง เขาก็ต้องการที่ปรนเปรอตัวเองให้กลับมาสดชื่นอีกครั้งด้วยการออกไปใช้เงิน ซื้อข้างของหรู ๆ ต่าง ๆ อย่างชุดสูทใหม่ ไปจิบไวน์แพง ๆ ที่บาร์สักแห่ง แล้วก็ถือโอกาสเช่าอพาร์ทเม้นท์ใหม่ในย่านหรู ๆ ซะเลย ซึ่งเขาใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ซึ่งเขาติดอยู่ในโหมดสิ้นเปลืองนี้อยู่เป็นเวลาพักใหญ่ ๆ ที่กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่า ของที่เขาใช้จ่ายไปนั้น เขาไม่ได้ต้องการพวกมันเลยสักกะนิด แถมพอใช้จ่ายไปได้สักพัก จิตใจเขาสุดท้ายก็ห่อเหี่ยวหมดแรงอยู่ดี

จนเขาตระหนักได้ว่า การปรนเปรอตัวเองด้วยวัตถุนั้นมันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ในขณะที่การสร้างอะไรขึ้นมาบางอย่างเพื่อมอบความสุขแก่ผู้อื่นได้นั้น มีความสุขมากกว่าหลายเท่าตัว ดังนั้นจงเปลี่ยนจากผู้เสพย์มาเป็นผู้สร้าง เพื่อตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้คน นั่นคือหนทางสู่ความมั่งคั่งอย่างแท้จริง

และอย่างสุดท้ายอย่างที่สี่ – สร้างเครื่องจักรผลิตเงิน ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้อื่นได้

Garry Tan อยากให้เราลองจินตนาการดูว่า หากเรามีเงินจำนวนหนึ่งที่เมื่อพอใส่เข้าไปในเครื่องจักรผลิตเงินแล้วกลับพบว่า มันสามารถผลิตเงินได้มามากกว่าเงินที่ใส่เข้าไป แล้วจากนั้นก็นำเงินที่ได้จากการผลิตล็อตแรกนั้น นำกลับเข้าไปใส่ใหม่หรือที่เรียกว่า re-invest แล้วก็พบว่าเงินที่เครื่องจักรผลิตออกมานั้นก็กลับเยอะขึ้นไปอีก ซึ่งนั่นคือกระบวนการนำเงินไปใช้สร้างความมั่งคั่ง ซึ่งเราจะเรียกมันว่าระบบ ‘Wealth Engine’ หรือระบบการทำงานของเครื่องจักรผลิตเงิน

โดย ‘Wealth Machine’ หรือเครื่องจักรผลิตความมั่งคั่งนั้น มันให้ได้ทั้งเงินและความมั่งคั่งไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมันตรงข้ามกันกับหลักการของ Get Rich Quick หรือรวยเร็วรวยลัดเลย เพราะมันให้ได้แต่ตัวเงิน แต่ไม่ได้ให้ความมั่งคั่ง

ในขณะที่การเอาเงินไปซื้อรถซุปเปอร์คาร์ นั้นก็ได้แค่ของ แต่ตัวของมันนั้นไม่สามารถผลิตเงินต่อหรือสร้างความมั่งคั่งต่อได้

หรือหากเป็นธุรกิจ ทุกครั้งที่มีการปิดดีลเกิดขึ้น หากมันไม่สามารถทำซ้ำได้ได้ คุณก็จะได้แค่เงินหรือที่เรียกว่า ‘Money without Wealth’

มาดูตัวอย่างของ Startup ที่ดีที่มันควรจะเป็นกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยกับสตาร์อัพที่มักไม่ค่อยมีกำไร เอาแต่ผลาญเงินนักลงทุนให้ร่อยหรอลงในทุกวัน

แต่ Garry Tan บอกว่า สตาร์ทอัพที่ดีนั้น มันควรจะสร้างได้ทั้งเงินและทั้งความมั่งคั่งในเวลาเดียวกันตั้งแต่มันยังไม่ได้รับเงินทุนด้วยซ้ำ

ซึ่งการที่จะเกิดแบบนี้ขึ้นได้นั้น จะประกอบส่วนสำคัญอยู่สองส่วนก็คือ Talent กับ Customer เมื่อคุณสามารถรวบรวมและดึงดูดผู้คนที่มีความสามารถมาร่วมกันได้ มันก็จะเกิดผลิตภัณฑ์ที่ดีและสามารถแก้ไขหรือทำให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าหรือผู้ใช้งานดียิ่งขึ้น และเมื่อพวกเขารักในผลิตภัณฑ์ของคุณ พวกเขาก็จะเกิดการบอกต่อ ซึ่งก็จะทำให้คุณมีลูกค้าหรือผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น และเมื่อจำนวนลูกค้าเพิ่มมากขึ้น มันก็จะเริ่มดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในท้ายที่สุด เพื่อขยายเครื่องจักรนี้ให้สามารถผลิตเงินและผลิตความมั่งคั่ง ในอัตราเร่ง

จะเห็นได้ว่าสตาร์ทอัพที่ดีนั้นพวกเขาไม่ได้โฟกัสที่เรื่องของเงิน แต่พวกเขาโฟกัสที่การสร้างความมั่งคั่ง โฟกัสที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี โฟกัสที่การแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า แล้วสุดท้ายเดี๋ยวเงินจะตามมาทีหลังเอง

อย่างที่ Steve Jobs เคยเล่าให้ฟังว่า มีคนมักจะชอบมาถามเขาอยู่บ่อย ๆ ว่า

นาย ก : “หากฉันต้องการเปิดบริษัทฉันจะต้องเริ่มต้นอย่างไร?”

ซึ่ง Steve Jobs ก็ถามกลับว่า “ทำไมถึงอยากเปิดบริษัทกันล่ะ?”

นาย ก : ก็ฉันอยากรวย อยากทำเงินเยอะ ๆ น่ะสิ

Steve Jobs ก็ตอบกลับไปว่า “งั้นลืมเรื่องเปิดบริษัทมันไปเสียเถอะ เพราะแค่อยากรวยมันไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอเอาซะเลย”

เพราะในชีวิตของเขาที่ผ่านมานั้น เขาแทบไม่เห็นใครเลยที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเพียงเพราะอยากรวย เพราะคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่นั้นพวกเขาแค่ต้องการให้ไอเดียเจ๋ง ๆ ของพวกเขา สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งพวกเขาไม่ได้ต้องการจะเปิดบริษัทซะด้วยซ้ำ แต่ก็จำเป็นต้องเปิดเพราะมันมีพลังในการกระจายและส่งเสียงได้ดังกว่าแบบบุคคลก็เท่านั้นเอง


กระดานซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin & Cryptocurrency

อันดับ 1 ของไทย คนส่วนใหญ่นึงถึง Bitkub

อันดับ 1 ของโลก คนส่วนใหญ่นึกถึง Binance


*หมายเหตุ: นี่ไม่ใช่ content แนะนำในการลงทุนใด ๆ เป็นเพียงข้อมูลฐานทั่วไปเท่านั้น โดยนักลงทุนควรศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนใด ๆ ด้วยตัวของท่านเอง

Resources

Exit mobile version