สำหรับโพสต์นี้ ผมได้มีโอกาสนั่งฟังเลคเชอร์ของ Peter Thiel ที่ได้มาบรรยายให้กับมหาวิทยาลัย Stanford University เมื่อปี 2014 โดย Peter Thiel นั้นคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ระดับโลกอย่าง Paypal ที่ถูก eBay เข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 2002 ไปในราคา 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ 46,500 ล้านบาท) และเขายังได้กลายเป็นนักลงทุนรายแรกของ Facebook ที่เขาลงเงินไปจำนวน 500,000 ดอลล่าร์ฯ แต่ ณ ปัจจุบัน เขาแบ่งขายหุ้น Facebook ไปจำนวน 73% กลับได้เงินสูงถึง 29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ลงทุนเงินก้อนแรกไปประมาณ 16 ล้านบาท แต่ขายได้เป็นเงินอย่างต่ำกลับคืนมากว่า 900 ล้านบาท เลยทีเดียว)
โดย Peter Thiel ได้จั่วหัวก่อนการเริ่มต้นเนื้อหาอย่างหนักหน่วงว่า หากต้องการที่จะสร้างธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จจะต้อง Monopoly หรือที่แปลว่า ‘ผูกขาด’ เท่านั้น เพราะ Competition หรือการแข่งขันนั้นมีไว้สำหรับผู้แพ้
ซึ่งหลายคนอาจจะถึงขั้นสตั้นกับคำว่าผูกขาดกันเลยทีเดียว เพราะในความคิดของคนทั่ว ๆ ไป การผูกขาดทางธุรกิจ หากตกไปอยู่ในมือของคนใดคนหนึ่งแล้วล่ะก็ ตลาดก็จะไม่มีการแข่งขัน เพราะถูกผู้ที่ผูกขาดกำหนดตลาดเอาไว้ในกำมือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทีนี้ เราลองมาเรียนรู้กันดูว่า ทำไม Peter Thiel ถึงกล่าวเช่นนั้น
Peter Thiel เริ่มด้วยการแบ่งเนื้อหาบรรยายออกเป็น 6 หัวข้อด้วยกัน คือ
- capturing value – การวัดมูลค่าของกิจการ
- lies people tell – คำหลอกลวงจากผู้คน
- how to build a monopoly – วิธีการสร้างธุรกิจแบบผูกขาด
- last mover advantage – ข้อได้เปรียบของผู้มาทีหลัง
- history of innovation – ประวัติศาสตร์ของนวัตกรรม
- psychology of competition – จิตวิทยาของการแข่งขัน
หัวข้อที่ 1 – Capturing value – การวัดมูลค่าของกิจการ
Peter Thiel เริ่มต้นด้วยสมการอย่างง่าย โดยมีตัวแรกสมการอยู่สองตัวแปรนั่นก็คือ X กับ Y
A business creates X dollars of value and captures Y% of X.
X and Y are independent variables
โดยการที่จะวัดมูลค่าของกิจการใดกิจการหนึ่งนั้น มันเกิดมาจากการที่ ธุรกิจนั้นสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ตลาดได้เป็นมูลค่าจำนวนเท่าไหร่? (แทนด้วยตัวแปรว่า X) และบริษัทนั้น สามารถทำกำไรได้กี่เปอร์เซ็นต์ (โดยให้แทนค่าเป็น Y%)
โดยที่ตัวแปร X และ Y นั้น เป็นตัวแปรอิสระใด ๆ ก็ได้ เช่น X อาจมีขนาดใหญ่มาก ๆ ทำให้แม้มี Y แค่นิดเดียวก็เกิดมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาลได้ หรือ X อาจมีค่าขนาดกลาง ๆ และ Y มีค่าที่ดีพอใช้ได้
โดยสรุปก็คือ การสร้างธุรกิจก็คือการสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับตลาด แล้วบริษัทสามารถกินส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นได้
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดย Peter Thiel ได้เปรียบเทียบขนาดของธุรกิจอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรก เป็นตัวเลขของธุรกิจสายการบินทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา โดยเขาได้ยกตัวเลขในปี 2012 ได้ว่า
- ปี 2012 มีรายได้อยู่ที่ $195.6 พันล้านเหรียญฯ
- ปี 2012 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 0.2%
- ทำให้มีมูลค่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ $112.4 พันล้านเหรียญฯ
ในขณะที่ธุรกิจของ Google ที่อยู่ในอุตสาหกรรม Search Engine หรือผู้ให้บริการการค้นหาข้อมูล ในปี 2012 มีตัวเลขดังนี้
- ปี 2012 มีรายได้อยู่ที่ $50.2 พันล้านเหรียญฯ
- ปี 2012 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.0%
- ทำให้มีมูลค่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ $393.8 พันล้านเหรียญฯ
ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจการบิน การเดินทาง การท่องเที่ยว นั้น มีมูลค่าทางการตลาดที่ใหญ่กว่าธุรกิจในอุตสาหกรรม Search Engine มาก ๆ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกกว่ามาก ดูได้จากตัวเลขรายได้ ที่สูงกว่าถึงเกือบ 4 เท่า (แถมรายได้นี้เป็นรายได้เฉพาะสายการบินภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น) ซึ่งเจ้ารายได้นี่แหละ ที่แทนค่า X
แต่หากเปรียบเทียบในสัดส่วนของอัตรากำไรเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือจากสมการก่อนหน้านี้เทียบได้กับตัว Y% ก็จะพบว่า ธุรกิจสายการบินนั้น กำไรน้อยมากถึงมากที่สุด เรียกได้ว่ากำไรเกือบเป็นศูนย์ และในช่วงร้อยปีที่ผ่านมานั้น ก็มีธุรกิจสายการบินที่ล้มหายตายจากและเกิดขึ้นใหม่นับครั้งไม่ถ้วน
แต่ในขณะที่ Google นั้นกลับทำกำไรได้สูงถึง 21.0% จากรายได้ที่น้อยกว่าหลายเท่า แต่กลับทำให้บริษัทของ Google นั้น ใหญ่กว่าธุรกิจสายการบินภายในประเทศสหรัฐฯ ถึง 3.5 เท่า และนี่คือสิ่งที่ Peter Thiel จะสื่อว่า ขนาดของตลาดแม้ไม่ได้มีเม็ดเงินมากที่สุด แต่หากบริษัทสามารถทำกำไรจากตลาดนั้นได้สูง ก็เพียงพอที่จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ได้เช่นกัน
ซึ่งโดยปกติแล้ว การแข่งขันทางธุรกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น จะแบ่งการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ก็คือ
- ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfectly Competitive Market)
- ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfectly Competitive Market)
- ตลาดการผูกขาด (Monopoly)
- ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)
- ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition)
ซึ่งเงื่อนไขในการที่จะแบ่งว่าเป็นการแข่งขันแบบใดนั้น ขึ้นอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัยก็คือ
- จำนวนของผู้ผลิตหรือผู้ขาย
- ความยากง่ายในการหาสินค้าอื่นมาทดแทน
- ความยากง่ายในการเข้าออกตลาดของผู้ขายหรือผู้ผลิต
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าระหว่าง การตลาดแข่งขันสมบูรณ์กับไม่สมบูรณ์นั้น มีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มต้นกันที่
1. ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfectly Competitive Market)
ลักษณะสำคัญจะมีดังนี้
- มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเวลาที่เกิดการซื้อขายแต่ละครั้งนั้นจะเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนการซื้อขายในตาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้แม้ว่าปริมาณการซื้อขายของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่ได้ทำให้อุปสงค์หรือความต้องการในตลาดเปลี่ยนแปลง
- สินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ (Homogeneous Product) ซึ่งในสายตาของผู้ซื้อเห็นว่าสินค้าดังกล่าวของผู้ขาย ไม่ว่าจะซื้อจากเจ้าใดก็ไม่แตกต่างกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทั้งฝั่งของผู้ซื้อและผู้ขายต้องยอมรับราคาที่กำหนดโดยตลาดที่เกิดจากอุปสงค์และอุปทาน หรือความต้องการซื้อกับความต้องการขาย
- ผู้ขายสามารถเข้าและออกจากกิจการได้อย่างเสรี ไม่มีกำแพงการค้า (Freedom of entry or exit) นั่นหมายถึงว่า ตลาดนี้ทำให้เกิดคู่แข่งเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
- สินค้าสามารถโยกย้ายได้อย่างเสรี เคลื่อนย้ายได้สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายหรือมีน้อยมากจนไม่กระทบต่อราคาสินค้า
- ผู้ซื้อและผู้ขายมีความรอบรู้เกี่ยวกับสภาพของตลาดได้เป็นอย่างดี (Perfect knowledge) โดยถ้าผู้ขายคนใดคนหนึ่งขึ้นราคาสินค้า ผู้ซื้อจะทราบและเลิกซื้อ หันไปซื้อสินค้าของผู้ขายรายอื่นแทน
ทีนี้ลองมาดูข้อดีข้อเสียของตลาดแข่งขันสมบูรณ์กันบ้าง เริ่มต้นกันที่
ข้อดี Pros.
- easy to model – ทำได้ง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้
- efficient in a static world – ผลตอบแทนดีภายใต้เศรษฐกิจที่มั่นคง
- politically salable – การเมืองมั่นคง
ข้อเสีย Cons.
- psychologically unhealthy – ตลาดค่อนข้างอ่อนแอ
- irrelevant in a dynamic world – โดยเฉพาะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- preempts question of value – การแข่งขันที่สูงอาจส่งผลเรื่องคุณภาพของสินค้า
2. ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfectly Competitive Market)
โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ตลาดการผูกขาด (Monopoly) เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เปรียบเทียบและเห็นภาพได้ชัดยิ่งขึ้น
ลักษณะสำคัญของการตลาดแบบผูกขาด จะเป็นดังนี้
- มีผู้ผลิตหรือผู้ขายรายเดียว เรียกว่า “ผู้ผูกขาด” (Monopolist)
- สินค้ามีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร ไม่สามารถหาสินค้าอื่นมาทดแทนได้อย่างใกล้เคียงหรือหามาใช้แทนไม่ได้
- ผู้ผูกขาดสามารถกีดกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาผลิตแข่งขันได้ หรือด้วยลักษณะพิเศษของการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นทำให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขันได้ยาก
- ผู้ผูกขาดมีอำนาจในการกำหนดราคาหรือกำหนดปริมาณการขายได้ แต่สามารถทำได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น
- ถ้าผู้ผูกขาดเลือกที่จะกำหนดราคาสินค้า ระบบตลาดหรือผู้ซื้อจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการขาย ว่ามีจำนวนกี่คนที่สนใจซื้อในราคานี้
- แต่ถ้าหากผู้ผูกขาดเลือกกำหนดปริมาณการขายที่จำกัด ราคาสินค้าก็จะถูกกำหนดโดยอุปสงค์หรือความต้องการของตลาดแทน
ข้อดี Pros.
- incentive to innovate – ทำให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
- stable, long-term planning – มีความมั่นคง สามารถวางแผนในระยะยาวได้
- deeper project financing – สามารถลงลึกในรายละเอียดการเงินได้
- symptomatic of creation – ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้าที่มีคุณค่าแก่ตลาด
ข้อเสีย Cons.
- lower output – ผลผลิตต่ำ
- higher prices – มีราคาสินค้าที่สูง
- price discrimination – ผู้ขายสามารถเลือกปฎิบัติได้ว่า จะขายสินค้าชิ้นเดียวกันนี้ในราคาที่ต่างกันกับผู้ซื้อที่ต่างกันได้ หรือจะเรียกว่าผู้ผูกขาดเลือกปฎิบัติเองได้
พูดโดยรวมก็คือ ตลาดแบบ Monopoly หรือตลาดแบบผูกขาดนั้น หากมีความสร้างสรรค์หรือ creative มากพอ มันจะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าแก่ตลาดได้อย่างมหาศาล
และเมื่อคุณพอจะรู้แล้วว่า ความแตกต่างระหว่าง ตลาดการแข่งขันแบบสมบูรณ์กับตลาดแบบผูกขาดนั้นเป็นอย่างไร แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะคิดไม่ดีหรือต่อต้านธุรกิจแบบตลาดผูกขาด ซึ่งในโพสต์ต่อไป เราจะมาดูกันว่า สิ่งที่ผู้คนมักจะบิดเบือนทำให้ตลาดแบบผูกขาดดูเป็นผู้ร้ายในสายตาของชาวโลกนั้น เป็นเพราะเหตุใด
ติดตามต่อใน EP. 2 นะครับ
Resoruces