Site icon Blue O'Clock

ประวัติ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter จากแอพที่ใช้เวลาเขียนสองสัปดาห์ เปลี่ยนค่าเป็นแอพพันล้านภายในสองปี

แจ็ค ดอร์ซีย์ - JACK DORSEY

Jack Dorsey คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Twitter เว็บแอพที่กลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คระดับโลกที่มีมูลค่าพันล้านภายในสองปี ซึ่ง Jack ใช้เวลาเขียนโค้ดดิ้งเว็บนี้เพียง 2 สัปดาห์

Jack Patrick Dorsey เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 1976 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน St. Louis, Missouri พ่อของเขาคือ Tim Dorsey เป็นวิศกรเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ และแม่ของเขา Marcia Dorsey เป็นแม่บ้าน

เส้นทางการเป็นโปรแกรมเมอร์ของ Jack เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อตอนที่เขาอายุได้ประมาณ 14 ขวบ โดยเขาเริ่มเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับการเรียกใช้บริการแทกซี่และรถดับเพลิง โดยเขามักจะสนใจเกี่ยวกับการติดตามสถานะการเคลื่อนย้ายบางสิ่งบางอย่างจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งเขาได้ไอเดียจากการที่ได้ยินคนอื่นพูดคุยกันถึงเรื่องของบุคคลที่สามที่พวกเขากำลังติดตามและให้ความสนใจอยู่ว่า คน ๆ นั้นกำลังทำอะไรอยู่ กำลังไปที่ไหน กำลังอยู่กับใคร และนี่ก็น่าจะเป็นไอเดียที่ส่งผลให้ก่อกำเนิด Twitter ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนแต่ละคนได้อัพเดทสถานะสั้น ๆ ลงบนโลกออนไลน์และคนที่ติดตามเขาก็สามารถรับรู้ได้นั่นเอง

ต่อมา ในปี 1991 Jack ในวัย 15 ปี ก็ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้ช่วยของเด็กฝึกงานภาคฤดูร้อนที่บริษัท Mira Digital Publishing โดยมี Jim Makkilvi เป็นหัวหน้า ซึ่ง Jack ได้บอกกับ Jim ว่า เขามีเรื่องต้องการคุยกับ Jim ซึ่งในระหว่างนั้น Jim กำลังวุ่น ๆ อยู่กับโครงการสำคัญของบริษัทอยู่ จึงตอบส่ง ๆ ไปว่า เดี๋ยวผมกลับมาคุยด้วย จนกระทั่งเวลาก็ล่วงเลยมาหลายชั่วโมง เพราะ Jim ลืมเรื่องที่ Jack นัดคุยไปแล้ว แต่ Jack ก็ยังคงเฝ้ารอการพูดคุยกับหัวหน้าของเขาอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน จนกระทั่ง Jim นึกขึ้นได้และมีโอกาสได้พูดคุยกัน และหลังจากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ Jack ก็ได้กลายมาเป็นมาเป็นหัวหน้าทีมของของเหล่าบรรดาโปรแกรมเมอร์ของบริษัทที่ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่าถึง 2 เท่าด้วยซ้ำไป เพราะ Jim เล็งเห็นว่า นอกจาก Jack จะมีฝีมือดีด้านโปรแกรมเมอร์แล้ว เขายังมีความอดทนอดกลั้น และแสดงความเป็นผู้นำออกมาให้เห็นอีกด้วย

พอจบระดับชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ในปี 1995 Jack ก็ได้เขาเรียนต่อระดับมหา’ลัย ที่ Missouri University ในสาขา Science and Technology แต่เรียนได้เพียงสองปี ครอบครัวของเขาก็ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ New York City และเข้าเรียนที่ New York University ซึ่งเป็นที่ที่เขาใฝ่ฝันอยากมาอยู่ตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นเด็กอยู่ และสิ่งที่เขาอยากบอกให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้นั่นก็คือ ณ ช่วงเวลานี้ มีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง มันจึงกลายเป็นที่มาของช่องอัพเดทสเตตัสบน Twitter ว่า “What’s happing?”

Jack ก็เป็นผู้ประกอบการอีกคนหนึ่งที่เรียนไม่จบ เพราะเขามองว่าการทำงานจริง ๆ เลยน่าจะได้อะไรที่มากกว่าอ่านเขียนในตำรา เขาจึงลาออกจากมหา’ลัย เพื่อไปหาประสบการณ์การทำงาน โดยได้มีโอกาสเข้าไปทำงานที่บริษัท Dispatch Management Services Corp โดยวิธีการส่งใบสมัครของเขาก็คือ เขาได้ส่งข้อมูลไปหา Greg Kidd ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัท ณ ขณะนั้นว่า เขาได้ทำการแฮ็คเข้าระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัทนี้อยู่ และส่งวิธีการอุดรอยรั่วนี้ไปให้ด้วย และนั่นก็ทำให้ Jack ได้รับการว่าจ้างมาทำงานที่บริษัทนี้

ที่นี่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการส่งข้อความ SMS และได้เห็นทุกขั้นตอนในการทำงานตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางแบบเรียลไทม์ อย่างที่เขาชอบ เขาทำที่นี่อยู่หลายปีด้วยกัน และได้ออกแบบซอร์ฟแวร์ที่เกี่ยวข้องกับแท็กซี่และรถพยาบาล แต่แล้วในปี 2000 ทางบริษัทก็โดนพิษของฟองสบู่ดอทคอมแตก ทำให้ Jack นั้นก็พลอยตกงานไปด้วย เขาจึงต้องออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับจ็อบเล็ก ๆ น้อยอยู่ประมาณ 5 ปี

ต่อมาในปี 2005 Jack ได้ถูกว่าจ้างให้ไปทำงานกับบริษัท Odeo ที่เป็นสตาร์ทอัพเกี่ยวกับ Podcasting ตั้งอยู่ที่ Silicon Valley โดยมี Evan Williams เป็นคนนำทีมนี้ ซึ่งเขาคือผู้ก่อตั้ง Blogger ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้คนเข้ามาเขียนบทความ ที่ถูกขายไปให้กับ Google เมื่อปี 2003 โดยไม่ได้เปิดเผยมูลค่าการซื้อขาย แต่มีข่าวลือกันว่า Google ซื้อด้วยการให้เขาเข้าถือหุ้นในบริษัท Google และในปี 2004 Google ได้เข้า IPO เป็นบริษัทมหาชน Evan ก็ได้ทยอยขายหุ้นแล้วออกมาตั้งบริษัทใหม่

ต่อมาในปี 2006 Odeo เกิดวิกฤตทางการเงิน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ทาง Evan จึงให้ทีมงานแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ประมาณ 2-3 คน แล้วแยกกันคิดและเสนอไอเดียใหม่ ๆ ซึ่ง Jack ได้มีไอเดียว่า เขาอยากอัพเดทสเตตัสให้กับเหล่าบรรดาเพื่อน ๆ ของเขาในถิ่นฐานบ้านเกิด ว่าหลังจากย้ายบ้านมาอยู่ที่ใหม่แล้ว มีอะไรเกิดขึ้นบ้างลงบนโลกออนไลน์ โดยมีพื้นที่ที่สามารถแชร์สเตตัสสั้น ๆ เพื่ออัพเดทชีวิตประจำวันของแต่ละคน เพื่อให้เพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ ที่ติดตามได้รับรู้

Jack กับเพื่อนของเขา จึงช่วยกันเขียนโค้ดโปรแกรมขึ้นมา โดยใช้คอนเซ็ปต์การส่งข้อความได้จำกัดแบบการส่งข้อความ SMS โดยจำกัดไว้ที่ 140 ตัวอักษร และเขาก็ใช้เวลาสร้างมันขึ้นมาประมาณ 2 สัปดาห์ และตั้งชื่อให้มันว่า Twitter โดยมีโลโก้เป็นนกสีฟ้า (ซึ่งรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งมีด้วยกัน 4 คน คือ Jack Dorsey, Evan Williams, Biz Stone และ Noah Glass)

และการส่งข้อความ Tweet แรกบน Twitter ก็ได้ถูกโพสต์โดย Jack Dorsey เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี 2006 เวลา 03.50 น. โดยโพสต์ว่า “just setting up my twttr” ซึ่งจริง ๆ แล้วเวอร์ชั่นที่เปิดให้ใช้แบบสาธารณะนั้น เปิดให้บริการหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน คือในเดือนมิถุนายน ปี 2006

ซึ่งในตอนนั้นผู้คนชาวอเมริกันต่างก็พากันบอกว่า Twitter มันเป็นเรื่องไร้สาระ แม้กระทั่งผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Evan Williams นั้น ยังเคยเปรียบเทียบระหว่าง Twitter กับ ไอศกรีม ว่า จริง ๆ ทั้งคู่มันก็ดูดีนะ แต่มันก็มีความไร้ค่าพอ ๆ กัน

แต่ก็น่าแปลกที่ Odeo สนับสนุนโครงการของโปรแกรมเมอร์หนุ่มอย่าง Jack Dorsey ทั้ง ๆ ที่กำลังมีปัญหาด้านการเงินกับนักลงทุน แต่แล้ว Jack ก็ได้รับข่าวดี เมื่อเขาได้รับเชิญไปร่วมทานอาหารเช้าจากผู้ใช้ Twitter คนหนึ่งที่โรงแรมใน San Francisco ที่ใช้เวลาพูดคุยกันไม่มาก แต่เต็มไปด้วยประโยคเนื้อ ๆ เน้น ๆ และหลังจากที่พูดคุยกันเสร็จและกลับมาที่ออฟฟิศ ภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง Jack ก็พบว่าเขาได้รับเช็คเป็นจำนวนเงินครึ่งล้านดอลล่าร์ฯ หรือประมาณกว่า 16 ล้านบาท โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องตั้งบริษัทใหม่ที่แยกออกมาจาก Odeo ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ Twitter เปิดตัวไปไม่ถึงหนึ่งเดือนซะด้วยซ้ำ

ซึ่งเงินลงทุนก้อนนี้ มาจากชายที่ชื่อ Fred Wilson นักธุรกิจและนักลงทุนผู้ก่อตั้ง Union Square Ventures ซึ่งได้ลงทุนในบริษัทที่เป็นเว็บไซต์ ยกตัวอย่างเช่น Tumblr, Foursquare, Zynga, Kickstarter และ MongoDB เป็นต้น

ซึ่งนอกจาก Fred จะเข้ามาลงเงินแล้ว เขายังเข้ามาช่วยบริหารจัดการใน Twitter อีกด้วย เพื่อให้ Twitter ไปในทิศทางเดียวกันกับความตั้งใจของผู้ร่วมก่อตั้งมันขึ้นมา และ Fred ก็เป็นคนที่ใส่ใจในทุก ๆ รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม โดยเขามักจะตั้งคำถามและมีโจทย์ใหม่ ๆ ให้กับทีมงานค้นคว้าหาคำตอบอยู่เสมอ

หลังจากที่ได้เงินทุนมา ก็ทำให้ Twitter เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยการที่มีสมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึง Internet ได้อย่างแพร่หลาย ประกอบกับมันใช้งานได้ง่ายกว่าการส่ง SMS ในมือถือแบบเดิม ๆ ซึ่งส่งผลให้มีผู้คนเข้ามาใช้งานบน Twitter ณ ตอนนั้น เป็นจำนวนกว่า 2,000 ล้านคนต่อเดือน โดยในเดือนพฤษภาคมปี 2008 มีการส่งข้อความ Tweet เป็นข้อความที่ 1,000 ล้าน ส่งผลให้ Twitter มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 5 หมื่นล้านบาท

มีดีแต่ก็มีเสีย เมื่อ Twitter ได้ถูกใช้เป็นอาวุธการเมือง โดยมีเหตุการณ์ในอิหร่านได้ระดมพลก่อม็อบขึ้น โดยอาศัย Twitter ในการส่งข่าวบอกต่อให้ผู้คน มาร่วมชุมนุมประท้วงกัน โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน และเหตุการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศกัวเตมาลาและประเทศยูกันดา ที่ใช้ Twitter เป็นที่ประกาศรวมพลเพื่อก่อม็อบ ถึงขนาดที่ว่ากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เชิญตัว Jack Dorsey ไปเข้าพบที่ประเทศอิรัก เพื่อสอนให้ผู้นำในท้องถิ่น ใช้งาน Twitter เพื่อสื่อสารกับประชาชนของพวกเขา

ด้วยความที่ Jack นั้นเป็น CEO มือใหม่หัดขับ เขาบริหารได้ไม่ค่อยดีนัก และมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานทำกิจกรรมชิล ๆ เช่น เล่นโยคะ ไม่ก็ออกแบบแฟชั่นดีไซน์ จึงขาดโฟกัสในการบริหารธุรกิจให้เติบโตตามที่นักลงทุนคาดการณ์เอาไว้ เขาจึงถูกนักลงทุนกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง CEO ในปี 2007

ในปี 2008 ทางบอร์ดบริหารจึงแต่งตั้งให้ Evan Williams ขึ้นแท่น CEO แทน แต่ก็ยังคงให้ Jack นั้นอยู่ในตำแหน่งประธานบอร์ดในนามผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter โดยบริษัทถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนระหว่างฝ่าย Jack และ Evan

สำหรับ Jack แล้ว ดูเหมือนว่าเขาแทบไม่เหลืออำนาจใน Twitter อีกต่อไปแล้ว เขาจึงหันมาตั้งบริษัทใหม่ของตนเอง โดยเริ่มเขียนโปรแกรมที่สามารถทำให้สมาร์ทโฟน  นั้นสามารถแปลงเป็นเครื่องรูดบัตรเครดิตได้ หลังจากที่โหลดแอพที่ชื่อ Square และติดตั้งอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมไว้กับช่องหูฟังของสมาร์ทโฟน ซึ่งทุก ๆ ครั้งที่มีคนชำระด้วยบัตรเครดิตผ่านแอพของเขา เขาจะได้ส่วนแบ่งที่ 2.75% และกิจการนี้ ก็เติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นบริษัทดาวรุ่งของโลกไอที

แม้แต่ Howard Schultz ซึ่งเป็น CEO ของ Starbucks เองนั้น ก็เข้ามาร่วมลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า 25 ล้านเหรียญฯ ซึ่งทาง Jack Dorsey เองนั้นการเป็นหุ้นส่วนกับร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นั้น จะทำให้ Square นั้น สามารถเข้าถึงผู้คนที่ยังไม่ได้ใช้บริการแอพของเขาได้อีกเป็นจำนวนมาก

และในวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 2015 Square ก็ได้เข้าสู่ตลาดหุ้นในนิวยอร์ค โดยมีมูลค่าบริษัทกว่า 2.9 พันล้านเหรียญฯ หรือเกือบ ๆ 1 แสนล้านบาท

กลับมาทางฝั่งของ Twitter ที่มี Evan Williams คุมบังเหียนอยู่ ซึ่งเขาก็สามารถทำให้ Twitter เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะได้รับเงินลงทุนจาก Google และ Microsoft เป็นจำนวนกว่า 25 ล้านเหรียญฯ ซึ่ง Twitter ได้เพิ่มข้อตกลงเพิ่มเติมด้วยการที่ให้ทาง Google และ Bing ซึ่งเป็น Search Engine ให้แสดงผลการค้นหาของ Twitter ลงไปด้วย ซึ่งได้ปฏิเสธการลงทุนของ Facebook ไป ณ ขณะนั้น เนื่องจากต่างก็รู้ว่าระหว่าง Google และ Facebook นั้น เป็นคู่แข่งกัน

แต่เนื่องจาก Evan เองก็เริ่มเอาไม่อยู่กับจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดหลังจากที่เขาบริหาร Twitter ได้อยู่สองปี เขาก็ขอลาออกจากตำแหน่ง CEO ในปี 2010 และจ้าง CEO มืออาชีพมาบริหารแทน นั่นก็คือ Dick Costolo ซึ่งเขาสามารถนำพาให้ Twitter เข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยนำเข้าตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2013 ซึ่งแม้ว่า Dick จะบริหารคน บริหารงานได้เป็นอย่างดี แต่กลับไม่ค่อยดีนักในเรื่องของการทำให้มีอัตราผู้ใช้งานมากขึ้น ซึ่งหากเทียบบริษัทโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook แล้วล่ะก็ เริ่มทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ ทั้งในด้านจำนวนผู้ใช้งานและรายได้ สุดท้าย Dick ก็โดนบอร์ดบริหารกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง CEO ในวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2015

และเมื่อตำแหน่ง CEO ว่างลง และบริษัทก็เริ่มสั่นคลอน เพราะบริษัทขนาดใหญ่กำลังขาดผู้นำ ในวันที่ 5 ตุลาคม ปี 2015 ทางบอร์ดบริหารจึงแต่งตั้งให้ Jack Dorsey กลับมานั่งตำแหน่ง CEO ชั่วคราวก่อน ในระหว่างที่กำลังเฟ้นหา CEO คนใหม่มาบริหารแทน

ซึ่งเอาเข้าจริงจากข่าวซุบซิบวงในเรื่องของการเมืองภายในบริษัทระหว่างผู้ร่วมก่อตั้งนั้น ทำให้ทั้ง Jack และ Evan เองก็อยากแยกตัวออกไปทำบริษัทใหม่ของใครของมันซะมากกว่า ซึ่ง Evan เอง ก็ได้แยกไปทำ Medium ที่เป็นแพลตฟอร์มให้คนเข้ามาเขียนบทความ (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาถนัด หลังจากที่เคยขายกิจการ Blogger ให้กับ Google มาก่อนหน้านี้)

แต่ท้ายที่สุดก็ยังหาใครที่มีดีกรีมากพอ ๆ กับ Jack ได้ทางบอร์ดบริหารจึงต้องขอร้องให้ Jack มาเป็น CEO ของ Twitter อย่างเป็นทางการ ซึ่ง Jack ได้ตั้งข้อตกลงเอาไว้ว่า เขาจะยังสามารถเป็น CEO ของบริษัท Square ควบคู่กันไปได้ด้วย ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการนั่งตำแหน่ง CEO พร้อม ๆ กันถึง 2 บริษัท แต่เขาก็สามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งหลาย ๆ คนก็นำไปเปรียบเทียบกับ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ว่า มีเหตุการณ์หนีตายคล้าย ๆ กันนั่นก็คือ การถูกกดดันให้ลาออกจากบริษัทที่ตนเองสร้างมากับมือและถูกเรียกกลับมาบริหารที่บริษัทเดิมเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤต

และหลังจากที่ Jack กลับมาบริหารที่ Twitter ทุก ๆ อย่างก็ไปได้สวย และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 ที่ผ่านมา เขาได้รายงานต่อสาธารณชนของสหรัฐอเมริกาว่าบริษัท Twitter Inc. นั้น มีกำไรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดกิจการมาเป็นเวลากว่า 11 ปี โดยมีผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 มีรายได้รวมอยู่ที่ 732 ล้านเหรียญฯ และมีกำไร 91 ล้านเหรียญฯ

ซึ่งที่ผ่านมา Twitter ได้ไล่ซื้อกิจการต่าง ๆ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรสักกะบริษัท ทั้งปิดตัวเองลงไม่ก็ขายกิจการต่อไปให้กับบริษัทอื่น ซึ่ง Jack Dorsey เองก็ต้องทำการทบทวนแนวทางของ Twitter ให้ชัดเจน ซึ่งแทนที่จะไล่ซื้อกิจการอื่น ๆ มาเสริม เขาตัดสินใจกลับมาพัฒนาแพลตฟอร์มของ Twitter ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยมุ่งเน้นไปที่ Live Event หรือการถ่ายทอดสดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข่าว, กีฬา, สารคดี ซึ่งแตกต่างจาก Facebook ก็ตรงที่ Facebook นั้นจะเน้น Video Live จากผู้คน ครอบครัว หรือเพื่อน ๆ มากกว่า

และจากการปรับเปลี่ยนแนวทางของ Twitter นี้นี่เอง ที่สามารถจับมือเซ็นต์สัญญาการถ่ายทอดสดบน Twitter กับสำนักข่าวและสื่อเจ้าใหญ่ ๆ ได้กว่า 22 บริษัท ที่ได้สิทธิในการถ่ายทอดแบบ Live Streaming จำนวนกว่า 1,140 งาน ที่คอนเฟิร์มแล้วว่าจะจัดงานภายในปี 2018

สำหรับเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จของ Jack Dorsey นั้น คือการทำงานอย่างหนัก โดยเขาทำงานวันละ 16 ชั่วโมง โดยใช้เวลาที่ Twitter 8 ชั่วโมง และที่ Square อีก 8 ชั่วโมง ซึ่งการที่เขาจะสามารถทำงานได้แบบนี้ จำเป็นต้องมีการวางแผนงาน จัดตารางเป็นอย่างดี รวมไปถึงการมีระเบียบวินัยในตนเองเป็นอย่างมาก

และนี่คือตารางการทำงานของเขาในแต่ละสัปดาห์

โดยในปี 2018 Jack Dorsey ในวัย 41 ปี เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ 5.1 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 1.7 แสนล้านบาท

Jack ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“Make every detail perfect and limit the number of details to perfect.”

หมายถึง จงแน่ใจว่าได้ทำให้ในทุก ๆ รายละเอียดมันเพอร์เฟ็ค และจงจำกัดจำนวนของรายละเอียดที่เพอร์เฟคนั้นด้วย

Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter

Resources:

Exit mobile version