Site icon Blue O'Clock

ประวัติ Jack Ma จากครูสอนภาษาอังกฤษ ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น สู่การเป็นเจ้าของ Alibaba เว็บไซต์ค้าขายออนไลน์แบบ B2B ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แจ็ค หม่า - Jack Ma

Jack Ma ขึ้นทำเนียบเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก  ด้วยการเป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่ากว่า 39 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 1.2 ล้านล้านบาท จากเด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน ผลการเรียนเข้าขั้นห่วย ที่แม้กระทั่ง KFC ยังไม่รับเข้าทำงาน เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ 5 ปี สู่การเป็นมหาเศรษฐีที่สร้างฐานะขึ้นมาด้วยลำแข้งของตนเองนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร

Ma Yun หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Jack Ma นั้น เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 1964 เกิดที่ประเทศจีน มณฑลเจ้อเจียง(Zhejiang) เมืองหางโจว(Hangzhou) โดยเกิดมาในครอบครัวยากจน Jack Ma จึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง

ในวัยเด็กเขาสอบตกจากการประเมินผลการเรียนรู้ระดับชาติซ้ำ ๆ เช่นสอบตก 2 ครั้งในช่วงประถม, 3 ครั้งในช่วงมัธยม และ 2 ครั้งสำหรับการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แต่นั่นไม่ได้เป็นการปิดกั้นแจ๊คหม่าในห่างจากการเรียนรู้  แจ๊ค หม่า คิดอยู่เสมอว่าเขาสามารถสอนตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบการศึกษาในโรงเรียน

ในช่วงวัยรุ่น  แจ็ค หม่า เข้าใจในข้อจำกัดของตัวเองเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ  ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่ามันจะสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดกับชีวิตเขาได้อย่างแน่นอน  ตอนเรียนจบชั้นมัธยมและเตรียมตัวสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แจ็ค หม่าพยายามที่จะสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลายสิบครั้งและถูกปฏิเสธมาทุกครั้ง  อาจจะด้วยความสารถในการใช้ภาษาอังกฤษยังไม่ดีพอจนกระทั่งเขาตัดใจและบอกตัวเองว่า ‘สักวันหนึ่งฉันจะต้องไปสอนที่นั่นให้ได้’

แจ็ค หม่า จัดการกับข้อจำกัดในเรื่องภาษาอังกฤษของตัวเอง  โดยการปั่นจักรยานกว่า 45 นาที เข้าไปในเมืองทุกวันเพื่อเป็นไกด์อาสานำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเที่ยวไปรอบเมืองด้วยภาษาอังกฤษแบบงู ๆ ปลา ๆ ดำน้ำไปเรื่อย ๆ และในระหว่างนั้นเขาไม่ลืมที่จะพกปากกาเพื่อบันทึกความผิดพลาด  และความรู้ใหม่ของตัวเองอยู่เสมอ

แจ็ค หม่า ทำซ้ำ ๆ แบบนี้ทุกวัน จนกระทั่งเกิดเป็นทักษะการพูดคุยภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ  และมันก็เป็นเส้นทางที่ทำให้เขาเลือกที่จะสอบเข้าสถาบันครูในเมืองหางโจวและเรียนจนกระทั่งจบปริญญาตรีในสาขาเอกวิชาภาษาอังกฤษ  ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษและการค้าระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยหางโจว

ด้วยความที่ แจ็ค หม่า มีวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใคร  แม้กระทั่งตอนที่เขาเป็นครูก็เป็นครูนอกตำรา เขาไม่เคยอยู่ในกรอบ ไม่แม้แต่การเตรียมการสอน  เขาใช้วิธีสอนตามแต่ละสถานการณ์ ณ ขณะนั้น นักศึกษาจึงรู้สึกสนุกกับรูปแบบการสอนของเขา แม้มันจะเป็นงานที่ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่เส้นทางที่ แจ็ค หม่า ต้องการ  เขาเป็นครูอยู่เพียง 5 ปี ก็ลาออกเพื่อจะเดินทางตามแนวความเชื่อของตัวเอง

แจ็ค หม่า มีประสบการณ์การถูกปฏิเสธงานครั้งแล้วครั้งเล่า มีหลายคนที่รู้ว่าเขาเคยสมัครงานมากว่า 30 งาน  แล้วถูกปฏิเสธทั้งหมด แม้กระทั่งการสัมภาษณ์งานในร้าน KFC ที่มีผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ทั้งหมด 24 คน และมีเขาเพียงคนเดียวที่ถูกปฏิเสธ (แต่ในปัจจุบันนั้นเขาได้กลายเป็นเจ้าของ KFC ในประเทศจีนไปซะแล้ว โดยมีเรื่องเล่ากันขำ ๆ ว่า ณ วันหนึ่ง Jack Ma อยากกิน KFC จึงวานให้เลขาไปซื้อมาให้ เวลาผ่านไปประมาณสิบนาที เลขาก็กลับมาพร้อมกับรายงาน Jack Ma ว่าดิฉันได้ซื้อ KFC ในราคา 460 ล้านดอลล่าร์ เรียบร้อยแล้วค่ะ (ราว ๆ 14,000 ล้านบาท) )

รวมไปถึงเขาเคยถูกมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างฮาร์วาร์ดปฏิเสธกว่าสิบครั้ง ไหนจะเคยสมัครคัดเลือกเข้าเป็นตำรวจ  จากจำนวนคนทั้งหมด 5 คน มีเขาเพียงคนเดียวที่ไม่ได้รับคัดเลือก แถมเคยไปสมัครงานพร้อมกับลูกพี่ลูกน้องที่โรงแรม 4 ดาว และผลก็ออกมาเหมือนเดิม ลูกพี่ลูกน้องของเขาได้งานนี้ ในขณะที่เขา ถูกปฏิเสธอีกครั้ง  ซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้ว เขาก็ไม่แน่ใจ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้แจ็ค หม่า สิ้นหวัง เขากลับมองว่า การถูกปฏิเสธซ้ำ ๆ เป็นบทเรียนของมหา’ลัยในชีวิตจริงก็เท่านั้นเอง

เส้นทางทำธุรกิจออนไลน์ของ แจ็ค หม่า เกิดขึ้นมาเมื่อตอนที่เขารู้จักกับอินเตอร์เน็ตครั้งแรก ในช่วงที่เขาเป็นอาจารย์เขาได้เริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการแปล และมีโอกาสไปเป็นล่ามที่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี 1995 และที่นั่นเป็นการเปิดโลกให้ แจ็ค หม่า ได้รู้จักกับอินเตอร์เน็ต และเขาก็รู้สึกแปลกใจมากเมื่อพบว่า สินค้ามากมายที่บนโลกอินเตอร์เน็ตซึ่งผลิตมาจากประเทศจีน แต่กลับไม่มีชื่อของตัวแทนจากจีนเป็นผู้ขาย และตอนนั้นเองที่เขาได้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพของอินเทอร์เน็ต และวิธีการที่จะช่วยให้วิสาหกิจจีนเติบโตและจีนจะสามารถทำธุรกิจกับส่วนอื่น ๆ ที่เหลือบนโลกใบนี้ได้

และหลังจากที่ แจ็ค หม่า กลับมาที่ประเทศจีน ในเดือนเมษายน ปี 1995 เขาได้รวบรวมเงินจากกลุ่มเพื่อน ๆ เป็นจำนวนเงินประมาณ 20,000 เหรียญฯ (ราว ๆ 6 แสนบาท) เพื่อเปิดตัวเว็บไซต์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีนและธุรกิจจีนออนไลน์ ในชื่อ “China Yellow Pages” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนธุรกิจของจีนและผลิตภัณฑ์ขายผลิตภัณฑ์ของจีนเท่านั้น แม้ว่ามันจะได้การตอบรับที่ดีแต่รายได้มันไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมรายจ่าย แจ็ค หม่า จึงตัดสินใจระดมทุนจากหน่วยงานของรัฐ โดยให้การรัฐบาลจีนเป็นหุ้นส่วนใหญ่ จนผ่านไป 3 ปี บริษัทเขาก็สามารถทำเงินได้กว่า 5 ล้านหยวน หรือราว ๆ กว่า 24 ล้านบาท แต่น่าเสียดายที่ในยุคนั้นยังอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลที่เข้มงวด อีกทั้งยังยับยั้งการพัฒนาตามแนวความคิดของเขาที่จะทำการค้ากับนานาประเทศ ทำให้ในที่สุดแจ็คหม่าก็ตัดสินใจเดินออกมาจาก China Yellow Pages

จนกระทั่งใน ปี 1999 Jack Ma กับเพื่อน ๆ รวม 18 คน ได้ก่อตั้ง Alibaba ขึ้นมา โดยมีเงินทุนที่ช่วยกันลงขันราว ๆ 500,000 หยวน (หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท) เพื่อที่จะสร้างศูนย์รวมการทำการค้าระหว่าง Business-to-Business (B2B) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจแต่ละแห่งได้มีโอกาสซื้อขายกัน โดยเน้นที่การขายส่งเป็นจำนวนมาก

ในช่วงระหว่างปี 1999-2000 นี้นี่เองที่ Alibaba ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศจำนวน 25 ล้านเหรียญฯ (ราว ๆ กว่า 700 ล้านบาท) โดยจุดประสงค์ของเงินทุนก้อนนี้ Jack Ma จะต้องทำให้ตลาด E-commerce ในจีนขยายตัวให้ได้มากที่สุด และสร้างเว็บไซต์แพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งขึ้นมา โดยเน้นไปที่กลุ่มของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อผลักดันให้สามารถแข่งขันกับการค้าระดับโลกอย่าง World Trade Organization (WTO) หรือ องค์การการค้าโลก ได้ในที่สุด

ในปี 2003 Jack Ma รุกหนักด้านอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Taobao.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ค้าขายออนไลน์แบบ Business-to-Consumer (B2C) ที่เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนมาขายของออนไลน์ โดยเป้าหมายต้องการที่จะเป็น eBay ในเวอร์ชั่นเอเชีย และนอกจากนั้นยังเปิดตัวระบบจ่ายเงินออนไลน์ที่ชื่อ Alipay โดยมีเป้าหมายคือการเป็นระบบชำระเงินออนไลน์อย่าง Paypal ในเวอร์ชั่นเอเชียเช่นกัน

ในปี 2004 มีข่าวว่า eBay ได้ยื่นข้อเสนอในการเข้าซื้อกิจการของ Taobao แต่ Jack Ma ได้ปฏิเสธไป เพราะในระหว่างปี 2005 เขาก็ได้รับการเสนอเงินทุนจาก Jerry Yang ผู้ก่อตั้ง Yahoo! ซึ่งเป็นชาวจีนด้วยกัน ด้วยจำนวนเงินถึง 1 พันล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ 3 หมื่นล้านบาท) เพื่อแลกกับการถือหุ้นใน Alibaba 40%

จนกระทั่งในปี 2006 eBay ก็ต้องยอมถอยทัพออกจากจีนไป เพราะไม่สามารถต่อกรกับ Taobao ได้นั่นเอง

ในเดือนสิงหาคม ปี 2014 มีรายงานว่า Jack Ma กลายเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในจีนด้วยทรัพย์สิน $21.8 B (หรือราว ๆ กว่า 6 แสนล้านบาท)

และในวันที่ 19 กันยายน ปี 2014 นี้นี่เอง Jack Ma ก็ได้นำ Alibaba เข้าตลาดหุ้นที่อเมริกาในตลาด New York Set และระดมทุนได้กว่า $25 B (หรือราว ๆ กว่า 7.8 แสนล้านบาท) ส่งผลให้ในปี 2016 Jack Ma กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียด้วยทรัพย์สินมูลค่า $33.3 B (ราว ๆ 1 ล้านล้านบาท) และในปี 2018 Jack Ma มีทรัพย์สินอยู่ที่ $39.3 B (ราว ๆ 1.2 ล้านล้านบาท) กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 20 ของโลกในที่สุด

ใครจะไปคิดว่า จากเด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน และมองเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่จากโลกอินเตอร์เน็ต ผลักดันให้วงการการค้าของประเทศจีนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและตอนนี้ก็กำลังเปลี่ยนวงการการค้าโลกแบบ B2B โดยเข้าใจในการทำการค้าในฝั่งเอเชียเป็นอย่างดี สามารถต่อกรกับฝรั่งได้อย่างเฉียบขาด

และในปัจจุบันนั้น Jack Ma ก็ได้เริ่มทำการตลาดในประเทศไทยมาซักพักนึงแล้ว ผ่านเว็บไซต์อย่าง Lazada ที่ Alibaba เข้าซื้อกิจการไปในเดือนเมษายน ปี 2016 ที่ผ่านมา

ถ้าในวันหนึ่งที่แจ็คหม่ามีโอกาสได้เขียนหนังสือ  สิ่งที่เขาต้องการถ่ายทอดไม่ใช่เรื่องราวแห่งความสำเร็จ  แต่เขาต้องการที่จะบอกเล่าเรื่องราวของความล้มเหลวในชีวิตต่างหาก เขาเคยคิดตั้งชื่อหนังสือของตัวเองว่า “ Alibaba ‘1,001 mistakes.’”(ความผิดพลาด 1001 ของ อาลีบาบา) แจ็คหม่ามีความเชื่ออย่างเหลือเกินว่า การประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ได้สอนอะไรเรามักนัก ในขณะที่ความล้มเหลวต่างหากที่จะสอนเราได้มากกว่า

“ถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จ คุณต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นอย่าเรียนรู้จากเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จของคนคนนั้น”

และนี่ก็คือหลักฐานที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าใครจะเกิดมามีฐานะเป็นอย่างไร โตมาในครอบครัวแบบไหน ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

แจ็ค หม่า กล่าวเอาไว้ว่า

“If you don’t give up, you still have a chance. Giving up is the greatest failure.”

หมายถึง หากคุณยังไม่ล้มเลิกหรือยอมแพ้ไปซะก่อน คุณย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ แต่เมื่อไหร่ที่คุณถอดใจยอมแพ้คุณก็จะไม่มีโอกาสชนะได้เลย และนั่นก็คือความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคุณ

– Jack Ma –

Resources

Exit mobile version