Jan Koum เด็กหนุ่มที่อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อหลีกหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศยูเครนไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในสหรัฐอเมริกา เลี้ยงชีพด้วยงานรับจ้างทำความสะอาดร้านชำและคูปองอาหาร แถมยังเรียนไม่จบจากมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ
ด้วยต้นทุนชีวิตต่ำ เต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบาก ใครเลยจะคิดว่า Jan Koum กลับกลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้ยิ่งใหญ่ โดยเป็นเจ้าของแอพพลิเคชั่นชื่อดังที่หลายคนรู้จักในนามว่า WhatsApp ที่ถูก Facebook เข้าซื้อกิจการไปในปี 2014 ที่ผ่านมา ด้วยดีลมูลค่ากว่า 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ กว่า 6 แสนล้านบาท) ทำให้เขากลายเป็น Billionaire ในทันที โดย ในปี 2019 นี้เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ กว่า 3 แสนล้านบาท
ชีวิตในวัยเด็กของ Jan Koum
ยาน คูม (Jan Koum) เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 1976 ที่ประเทศยูเครน ในเมืองหลวงอย่าง Kiev และต่อมาได้อาศัยอยู่ในเมือง Fastiv ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเมืองหลวง เขาเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวและได้รับเชื้อสายยิวที่สืบทอดมาจากพ่อและแม่ของเขาโดยตรง โดยพ่อของเขามีอาชีพเป็นผู้จัดการโครงการฝ่ายก่อสร้าง และแม่มีอาชีพเป็นแม่บ้าน
ชีวิตในวัยเด็กของ Jan Koum นั้นยังถือว่าห่างไกลจากคำว่าความสะดวกสบายอยู่พอสมควร เนื่องจากเขาเติบโตขึ้นในบ้านที่ไม่มีน้ำร้อนใช้ Jan Koum เล่าให้ถึงความลำบากในช่วงนั้นว่า ภายในโรงเรียนนั้นไม่มีแม้กระทั่งห้องน้ำ ทำให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนต้องเดินข้ามลานจอดรถเพื่อไปใช้ ห้องน้ำอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสภาพอากาศของยูเครนในช่วงหน้าหนาวนั้นมีอุณหภูมิที่หนาวเหน็บซึ่งลดต่ำลงกว่า -20 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องเลือกเอาว่า จะยอมอั้นเอาไว้หรือยอมฝ่าอากาศที่หนาวเหน็บเพื่อไปปล็อดทุกข์ที่ห้องน้ำ
นอกจากนี้ ครอบครัวของเขายังได้รับผลกระทบจากสภาวะทางการเมืองที่วุ่นวาย ที่ประเทศยูเครนในช่วงนั้น ถูกปกครองด้วยสหภาพโซเวียต และมีการต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรง และแทบไม่มีความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกเลย เพราะมักจะถูกดักฟังจากทางโทรศัพท์จากรัฐบาลที่เข้มงวดกับกลุ่มชาวยิว
ดังนั้น ครอบครัวของ Jan Koum จึงวางแผนที่จะอพยพไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแม่และยายพาเขาเดินทางล่วงหน้าไปก่อนในปี 1992 ตอนที่เขาอายุได้เพียง 16 ปี ในขณะที่พ่อของเขาตั้งใจจะเดินทางตามมา แต่น่าเสียดายที่พ่อของเขาเกิดล้มป่วยลงเสียก่อนทำให้ต่อมาในปี 1997 พ่อของเขาก็ได้เสียชีวิตลงในยูเครนก่อนจะได้เดินทางตามครอบครัวมาสหรัฐอเมริกาดังที่ตั้งใจเอาไว้
ชีวิตในวัยรุ่น ของ Jan Koum กับความท้าทายครั้งใหญ่ในต่างแดน
หลังจาก Jan Koum ในวัย 16 ปี ก็ได้เดินทางอพยพมายังสหรัฐอเมริกา เขาต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ในประเทศที่ไม่คุ้นเคย โดยแม่ของเขาได้พามาอาศัยอยู่ที่เมือง Mountain View ในรัฐ California ในอพาร์ทเมนต์สองห้องนอนขนาดเล็กซึ่งจัดหาโดยรัฐบาลจัดสรรให้
และด้วยความยากจนของครอบครัว ก่อนเดินทางอพยพมาที่อเมริกา แม่ของ Jan Koum ได้หอบสมุดโน้ตประมาณ 20 เล่มและปากกาอีกหลายแท่งยัดใส่มาในกระเป๋าเดินทางด้วย เพราะจะได้ไม่ต้องเปลืองเงินค่าอุปกรณ์การเรียนมากเกินไป
โดยในช่วงแรกนั้น ครอบครัวของพวกเขาอยู่ได้ด้วยเงินสวัสดิการและแสตมป์อาหารที่ต้องต่อคิวยาวเหยียดบริเวณสำนักงานเทศบาลที่เป็นสถานที่แลกสแตมป์อาหารสำหรับผู้ยากไร้
ต่อมาแม่ของเขาก็ได้เริ่มต้นทำงานด้วยการรับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ในขณะที่ Jan Koum เองก็ต้องออกไปทำงาน ด้วยการเป็นเด็กทำความสะอาดร้านขายของชำเพื่อหาเงินอีกทางหนึ่งมาจุนเจือครอบครัว
แต่แล้ว ก็เหมือนโชคชะตาเล่นตลกร้ายกับ Jan Koum เมื่อแม่ของเขาถูกตรวจพบและวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ทำให้แม่ของเขาต้องออกจากงานเพื่อมารักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยเลี้ยงชีพด้วยการได้รับเบี้ยเลี้ยงชดเชยความทุพพลภาพของเธอ จนกระทั่งเธอก็ได้เสียชีวิตลงในปี 2000
Jan Koum ในช่วงชีวิตที่ต้องเรียนไปทำงานไป
หลังจากที่ Jan Koum อพยพมาได้สักพัก เขาก็ต้องฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษอย่างหนัก เพื่อที่จะสามารถเอาตัวรอดในดินแดนอเมริกานี้ได้ โดยเขาได้เริ่มเข้าเรียนระดับไฮลสคูลที่ Mountain View High School และจบการศึกษาในปี 1995 Jan Koum ในวัย 18 ปี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้นี่เองที่เขาก็เริ่มได้ให้ความสนใจด้านการเขียนโปรแกรมมิ่งเป็นพิเศษ ซึ่งเขาเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการซื้อหนังสือจากร้านขายหนังสือมือสองและนำไปขายคืนเมื่ออ่านจนจบแล้ว (เพราะเขาต้องประหยัดเงินให้ได้มากที่สุด)
ต่อมาในปี 1996 Jan Koum สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย San Jose State University ซึ่งในระหว่างที่เรียนมหา’ลัย เขาก็ได้ทำงานไปด้วย โดยรับงานมาทำช่วงกลางคืนจากบริษัท Ernst & Young ในตำแหน่งผู้ทดสอบความปลอดภัย(Security Tester) และเขาก็ยังได้เข้าร่วมกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า w00w00 ซึ่งทำให้พบกับ Shawn Fanning ที่กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Napster โปรแกรมสตรีมมิ่งและแชร์เพลงชื่อดังในช่วงปี 1990 – 2002
ต่อมา Jan Koum ก็ได้พบกับ Brian Acton(ที่ต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพนักงานที่ทำงานให้กับ Yahoo ที่รับผิดชอบในส่วนของเรื่องโฆษณา จึงได้ชักชวน Jan Koum ให้มาทำงานด้วยกันที่นี่ โดย Jan Koum ก็ได้ตัดสินใจมาทำงานที่ Yahoo ในตำแหน่ง Infrastructure Engineer(วิศวกรโครงสร้างพื้นฐาน) โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Yahoo ถูกกลุ่มวัยรุ่นแคนาดาทำการโจมตีเว็บไซต์ในรูปแบบ Massive denial-of-service attack ซึ่งเป็นวิธีการโจมตีที่ใช้วิธีส่งข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลเข้าไปที่เว็บเป้าหมายเพื่อทำให้การรับ-ส่งข้อมูล จนเกิดคอขวดและทำให้เว็บไซต์ล่มไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งทาง Jan Koum เองก็ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ในกลุ่มแฮกเกอร์ w00w00 นี้ทำให้สามารถผ่านพ้นปัญหาในช่วงที่เว็บไซต์ของ Yahoo ล่มไปได้ด้วยดี
และทุกครั้งที่เกิดปัญหาบน Yahoo ทางหัวหน้าของเขาก็มักจะติดต่อให้ Jan Koum รีบเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ ซึ่งในระหว่างนั้นเขาก็ยังเรียนอยู่ จนทำให้เขาจึงต้องตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน แล้วไปทำงานแบบ Full-Time ที่ Yahoo ตั้งแต่ปี 1997 เป็นเวลากว่า 9 ปี จนกระทั่งในปี 2007 ทั้ง Jan Koum และ Brian Acton ก็ได้ตัดสินใจลาออกจาก Yahoo พร้อมกัน เนื่องจากเริ่มเบื่อหน่ายกับการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนกของ “การโฆษณา” เพราะพวกเขารู้สึกว่า มันรบกวนผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มมากเกินไป
และหลังจากที่ทั้งคู่ได้ลาออกจาก Yahoo พวกเขาก็ใช้เวลาไปกับการเดินทางไปทั่วอเมริกาใต้เป็นเวลากว่าหนึ่งปีเต็ม เพื่อชาร์ตแบตตัวเองกันใหม่ และเมื่อกลับมายังสหรัฐอเมริกาพวกเขาก็เริ่มต้นมาสมัครงานใหม่ที่ Facebook แต่กลับถูกปฏิเสธซะอย่างงั้น
จุดพลิกผันธุรกิจ ต้นกำเนิดของแอพพลิเคชั่น WhatsApp
ต่อมาในเดือนมกราคม ปี 2009 Jan Koum มีโอกาสได้ซื้อ iPhone มาเครื่องหนึ่งและเข้าไปยัง App store ซึ่งทันทีที่เข้าไป เขาก็ตระหนักได้ถึงศักยภาพของตลาดแอพพลิเคชั่นที่ใช้กับ iPhone ที่กำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเติบโตและกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้ ได้อย่างมหาศาล
Jan Koum ที่เห็นโอกาสทางธุรกิจนั้น จึงมีไอเดียว่า จะต้องทำแอพอะไรสักอย่างขึ้นมาให้ได้ โดยเขาได้เขาไปหารือกับเพื่อนชาวรัสเซียที่ชื่อ Alex Fishman โดยใช้เวลาหารือกันอยู่ประมาณสองชั่วโมงกว่า และ Jan Koum ก็ได้ไอเดียว่า บน iPhone มันมีสมุดบันทึกรายชื่อและเบอร์โทรของเพื่อน ๆ และคนที่รู้จัก ซึ่งทำให้เขาคิดว่า หากสามารถสร้างแอพที่สามารถโพสต์สเตตัสของตนเองและเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ก็สามารถเห็นสเตตัสนั้นได้ ก็น่าจะแหล่มอยู่ไม่น้อย
โดย Jan Koum สามารถเขียนโค้ดในส่วนของ Back-end หรือหลังบ้านได้ แต่ยังขาดในส่วนของระบบหน้าบ้าน ทาง Alex Fishman จึงได้แนะนำให้รู้จักกับนักพัฒนาแอพที่ชื่อ Igor Solomennikov ซึ่งกลายมาเป็น iOS Engineer คนแรกของ WhatsApp โดยที่มาของชื่อ WhatsApp นั้นมาจากการออกเสียงที่คล้ายกับคำว่า What’s up ในภาษาอังกฤษ ที่ชาวอเมริกันใช้ในการทักทายกัน โดยจดทะเบียนบริษัทในชื่อ WhatsApp Inc. โดย Jan Koum เลือกที่จะจดบริษัทในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2009 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ Jan Koum ในวัย 33 ปีพอดี
อุปสรรคช่วงแรกของ WhatsApp กับการทำงานติดขัดจนแทบปิดตัว
ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2009 แอพพลิเคชั่น WhatsApp 1.0 ก็ถูกปล่อยออกไปแต่มันก็ยังทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะหลังจากติดตั้งลงบนมือถือแล้ว แอพก็มักจะเออเร่อและล่มอยู่บ่อย ๆ กว่าจะพัฒนาให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่ง Jan Koum ยอมรับว่าเขาเกือบจะถอดใจจากโปรเจคนี้แล้ว ในระหว่างนี้เขาจึงแก้เครียดด้วยการไปลงแข่งกีฬาจานร่อนอย่าง Ultimate Frisbee จนกระทั่งคู่หูของเขา Brian ก็พูดขึ้นมาว่า “เป็นความคิดที่โง่มากที่จะหยุดตอนนี้ ลองให้เวลากับมันอีกสักหน่อยสิ แล้วค่อยตัดสินใจอีกทีก็ยังไม่สาย” ซึ่งทำให้ Jan Koum กลับมาฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง และแล้วโอกาสที่เขารอคอยก็มาถึง
เมื่อต่อมาในเดือนมิถุนายน 2009 เมื่อ Apple เปิดตัวการใช้งานแบบ push notification โดยอนุญาตให้นักพัฒนาแอพฯ สามารถส่งข้อความไปยังผู้ใช้งานได้ แม้ในขณะที่ผู้ใช้ไม่ได้เปิดโปรแกรมเอาไว้อยู่ ซึ่ง Jan Koum ก็ได้นำฟีตเจอร์นี้มาปรับใช้กับ WhatsApp เมื่อเพื่อนในสมุดโทรศัพท์อัพเดท Status ก็ให้เด้งแจ้งเตือนไปยังเพื่อน ๆ ที่อยู่ภายในรายชื่อสมุดโทรศัพท์ด้วย แต่เหมือนพวกเขาจะเจอลู่ทางใหม่โดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเจ้าเพื่อนชาวรัสเซีย Alex Fishman ได้เคยลองทดสอบแอพฯ ด้วยการอัพเดท Status ว่า Hey! What’s up แต่จู่ ๆ ก็มีเพื่อนของเขาตอบกลับมาประมาณว่า I’m Fine ซึ่ง Fishman บอกกับ Koum ว่า มันเหมือนแอพเอาไว้แชทเลย
จากเดิมที่ผู้คนและพวกเขารับรู้แค่เพียงว่าแอพ WhatsApp เป็นแอพที่เอาไว้อัพเดท Status ในสมุดโทรศัพท์ และกลับกลายพวกเขากำลังสร้างแอพ Instant Messenger หรือแอพเอาไว้แชทขึ้นมาต่างหาก ซึ่ง WhatsApp มันสามารถส่งข้อความอัพเดทหาผู้ใช้ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันได้ และในที่สุด มันก็สามารถใช้ส่งข้อความโต้ตอบหากันแบบทันที ซึ่ง Jan Koum กล่าวว่า “ความสามารถในการเข้าถึงใครสักคนที่อยู่ห่างกันครึ่งโลกผ่านอุปกรณ์ที่อยู่กับตัวตลอดเวลาได้ในทันทีนั้นเป็นเรื่องที่ทรงพลังอย่างมาก”
โดย ณ ขณะนั้นบริการส่งข้อความฟรีอื่น ๆ มีเพียง BBM ของ BlackBerry ที่ทำงานได้เฉพาะบนเครื่อง BlackBerry เพียงอย่างเดียว รวมถึง G-Talk และ Skype ของ Google แต่ WhatsApp นั้นแตกต่างออกไป เพราะในการเข้าสู่ระบบสามารถใช้เพียงแค่หมายเลขโทรศัพท์ก็สามารถเข้าใช้งานได้แล้ว โดยที่ไม่มีการเก็บข้อมูลของใช้ ทำให้หลังจากที่ปล่อยตัวฟีตเจอร์ WhatsApp ในเวอร์ชั่น 2.0 นี้ออกไป ก็กลายเป็นว่า มีผู้คนเข้ามาดาวน์โหลดแอพสูงถึง 250,000 คนแทบจะในทันที เพราะฟีตเจอร์นี้มันสามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้กับผู้คนที่ต้องการส่งข้อความหากันทั่วโลก ที่ไม่ต้องการเสียค่าบริการอย่าง SMS ขอเพียงมือถือที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ก็สามารถส่งข้ความได้ไม่จำกัดจำนวนและส่งได้ทั่วโลกได้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ
ต่อมา Jan Koum ตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้อย่างมาก ในช่วงเดือนตุลาคม 2009 เขาจึงไปชักชวน Brian Acton เข้ามาร่วมวงด้วย ซึ่งในขณะนั้น Brian ก็ยังคงว่างงานอยู่ แต่ก็ได้ Bian นี่แหละ ที่เป็นคนสามารถชักชวนอดีตเพื่อนร่วมงานที่เคยทำงานด้วยกันสมัยที่ยังอยู่ที่ Yahoo จำนวน 5 คน มาร่วมลงขันรวมแล้วได้เงินตั้งต้นกว่า 250,000 เหรียญฯ (หรือราว ๆ กว่า 8 ล้านบาท) ทาง Jan Koum จึงให้เครดิตกับ Bian Acton เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp โดยทั้งคู่ถือหุ้นรวมแล้วกว่า 60% โดย Jan Koum เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด
ค้นหาโมเดลรายได้เพื่อความอยู่รอดก่อนเงินก้อนแรกจะหมด
และหลังจากที่ได้เงิน Seeding มาแล้ว ทาง Jan Koum กับ Brian Acton ก็พยายามขยายฐานผู้ใช้กับค้นหาโมเดลรายได้ให้กับธุรกิจ เพราะเงินก้อนแรกที่พวกเขาระดมทุนมาได้นั้น ก็มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ในช่วงแรกของการตั้งไข่ WhatsApp นั้น ไม่มีรายได้เข้ามาเลย มีแต่รายจ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของการส่งข้อความยืนยันตัวตน(Verification text) ที่ต้องส่งให้กับผู้ใช้งานที่ใช้เบอร์มือถือในการลงทะเบียนใช้งานครั้งแรก
ทำให้ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2009 พวกเขาได้ลองเปลี่ยนจากการให้ดาวน์โหลดแอพได้ฟรี มาลองเป็นการเก็บค่าดาวน์โหลดดูบ้าง โดยเก็บเงินค่าดาวน์โหลดอยู่ที่คนละ 0.99 เหรียญฯ ทำให้ยอดดาวน์โหลดจากเดิมที่เฉลี่ยวันละ 10,000 คน ตกลงมาเหลืออยู่ที่วันละ 1,000 คน เท่านั้น แต่พวกเขาก็แก้เกมด้วยการปล่อยฟีตเจอร์ที่สามารถส่งรูปภาพฟรีหากันได้ จึงทำให้ผู้ใช้งานค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะเก็บตังค์ก็ตามที จึงทำให้ WhatsApp นั้นมีรายได้ที่เพียงพอและครอบคลุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
และหลังจากที่ใช้เงินทุนก้อนแรกในช่วง Seeding และ WhatsApp ก็สามารถตั้งไข่ได้บ้างแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะหาช่องทางในการเติบโตในลำดับถัดไป เพราะในช่วงต้นปี 2011 WhatsApp ก็กลายเป็นแอพฯ ที่ติดอันดับ Top 20 ของ App Store ในอเมริกาที่มีคนดาวน์โหลดสูงที่สุด พวกเขาจึงเริ่มมองหาแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนรายใหม่ ๆ โดยมีข้อแม้ว่า โมเดลการหารายได้จากแอพฯ นั้น จะต้องไม่มาจาก โฆษณา, เกมและไม่แฝงลูกเล่นใด ๆ กับผู้ใช้งาน
ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนที่สนใจจะนำเงินมาลงทุน แต่เมื่อเจอข้อแม้ของ WhatsApp เข้าไป ต่างก็ถอยห่างออก แต่ก็มีนักลงทุนจากบริษัท Sequoia ที่เป็นบริษัทที่มักจะลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดย Jim Goetz ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้ฟรีเป็นเวลากว่า 8 เดือน โดยเขาสัญญาว่า จะไม่พยายามโน้มน้าวให้หารายได้จากการโฆษณา แต่ Jim Goetz ก็ยังรู้สึกทึ่งมากกว่า มีสตาร์ทอัพน้อยรายมาก ที่มีการเติบโตขนาดนี้ แถมยังมีรายได้เพียงพอโดยไม่ขาดทุนอีกต่างหาก ซึ่งตรงข้ามกับสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ ที่มีการเติบโตสูง แต่รายได้มักจะติดลบ จนกระทั่ง WhatsApp ก็ได้ตกลงรับเงินทุนจาก Sequoia ในที่สุด เพราะเห็นว่า มีแนวทางและวิสัยทัศน์ที่ไปด้วยกันได้ โดยดีลนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ กว่า 264 ล้านบาท)
ถัดจากนั้นเพียง 2 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 WhatsApp ก็ได้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้ใช้งานสูงถึง 200 ล้านคนต่อเดือน ทำให้ Sequaia ระดมเงินทุนเพิ่มเข้าไปอีกเป็นจำนวนกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ กว่า 1,650 ล้านบาท) ทำให้บริษัท WhatsApp นั้น มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเกือบ ๆ 5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว)
แอพพลิเคชั่น WhatsApp พลิกชีวิต Jan Koum ให้ก้าวสู่การเป็นมหาเศรษฐีอย่างยิ่งใหญ่
ฐานผู้ใช้ WhatsApp เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนต่อมาและในเดือนธันวาคม ปี 2013 มีผู้ใช้งานอยู่ราว 450 ล้านคนต่อเดือน ทำให้ถัดจากนั้นอีกเพียง 2 เดือน ในช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2014 Mark Zuckerberg CEO ของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ก็ได้ติดต่อมาหา Jan Koum เพื่อชวนไป Dinner ที่บ้านของเขา และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2014 ทาง Facebook ก็ประกาศเสนอเข้าซื้อกิจการของ WhatsApp อย่างเป็นทางการที่มูลค่า 19 พันล้านเหรียญหสรัฐฯ (หรือราว ๆ 6.27 แสนล้านบาท) ซึ่งอยู่ในรูปของเงินสด 16 พันล้านเหรียญฯ และอยู่ในรูปแบบหุ้นอีก 3 พันล้านเหรียญฯ โดย Jan Koum ได้เซ็นสัญญาที่สำนักงานใหญ่ของ WhatsApp ซึ่งอยู่ติดกับตึกร้างที่เคยเป็นสำนักงานเทศบาลที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยไปยืนต่อแถวเพื่อเอาสแตมป์ไปแลกอาหารเพื่อประทังชีวิตเมื่อตอนที่เขาอพยพมาจาก ยูเครนใหม่ ๆ
ซึ่งต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 2014 เขายังได้บริจาคหุ้น Facebook ที่เขาถืออยู่เป็นมูลค่ากว่า 555 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว ๆ 16,650 ล้านบาท) ให้กับ Silicon Valley Community Foundation แต่นั่นก็เพียงพอที่ทำให้เขาติดโผอันดับมหาเศรษฐีเป็นอันดับที่ 62 ของสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2014 นี้นี่เอง
หลังจากการซื้อขายจบลง Jan Koum ก็ยังคงทำงานต่อที่ WhatsApp จนถึงเดือนเมษายน ปี 2018 โดยประกาศลาออกจากบอร์ดบริหารของ Facebook
และในปี 2019 ทาง Forbs ได้ระบุว่า Jan Koum มีทรัพย์รวมอยู่ที่ 10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 3 แสนล้านบาท เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 143 ของโลก ที่สร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง
Jan Koum เคยกล่าวเอาไว้ว่า
I only have one idea, that is WhatsApp, and I am going to continue to focus on that. I have no plans to build any other ideas.
ตลอดชีวิตที่ผ่านมาผมมีเพียงแค่ไอเดียเดียวนั่นก็คือ การสร้าง WhatsApp ขึ้นมา โดยโฟกัสการทำมันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และผมก็ไม่มีแผนการหรือไอเดียที่สร้างสิ่งอื่น ๆ เลยแม้แต่น้อย
– Jan Koum –
Resources