Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Interview

จากยุคไอน้ำถึงยุคปัญญาประดิษฐ์ บทสัมภาษณ์ Jensen Huang ถึงวิวัฒนาการครั้งสำคัญของเทคโนโลยี ในงาน World Governments Summit 2024 | Blue O’Clock Podcast EP. 64

จากบทสัมภาษณ์ของ Jensen Huang ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ NVIDIA บริษัทผู้นำด้านการผลิตชิปประมวลผลกราฟิก หรือ GPU ในงาน World Governments Summit 2024 ของเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์

โดย Jensen บอกว่า “พวกเรากำลังเข้าสู่ยุคของ accelerated computing” ซึ่งเขาอธิบายว่า นี่คือการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของวงการคอมพิวเตอร์ มันเทียบได้กับการเปลี่ยนจากยุคที่โลกได้ใช้พลังงานไอน้ำมาเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า หรือจากยุคอุตสาหกรรมมาสู่ยุคดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต

โดยหลายคนอาจสงสัยว่า ไอ้เจ้าคำว่า “accelerated computing” มันคืออะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คือแนวคิดการใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะทางในการเร่งความเร็วของการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะแทนที่จะพึ่งพา CPU หรือหน่วยประมวลผลกลางเพียงอย่างเดียว เหมือนยุคก่อน ๆ

ลองนึกภาพว่า เจ้าคอมพิวเตอร์สมัยก่อน มันก็เหมือนกับคนที่ใช้มีดอเนกประสงค์ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งหั่นผัก ไขน็อต ซ่อมรถ มันก็ทำได้อยู่ แต่อาจจะไม่เร็วและไม่คล่องแคล่วเท่าเครื่องมือเฉพาะทาง

ซึ่งเจ้า accelerated computing เปรียบได้กับการมีชุดเครื่องมือพิเศษสำหรับงานแต่ละอย่าง เช่นใช้ GPU ประมวลผลงานกราฟิก, ใช้ชิปสำหรับงาน AI หรือใช้ ASICs สำหรับขุดเหมือง Bitcoin โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้การประมวลผลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเดิมมาก ๆ

โดยย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน ตั้งแต่ตอนที่บริษัท IBM เปิดตัวคอมพิวเตอร์เมนเฟรมรุ่นแรกในปี 1964 เรามัวแต่พึ่งพาการประมวลผลจาก CPU เพียงอย่างเดียวมาโดยตลอด

แต่ Jensen บอกว่า วันนี้ แค่นั้นไม่พอแล้ว เพราะถ้าอยากได้คอมพิวเตอร์ที่ทำงานได้เร็วขึ้น ประหยัดพลังงานกว่าเดิม และคุ้มค่ามากขึ้นกว่าเดิม เราจะต้องหันมาใช้ accelerated computing

โดยในปัจจุบัน องค์กรทั่วโลกกำลังทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล (data center) ยุคใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วย accelerated computing และ Jensen คาดว่า ภายในเวลา 4-5 ปี ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

แต่สิ่งสำคัญที่เขาย้ำก็คือ เราไม่ควรมองแค่ตัวเลขของศูนย์ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องคิดถึงประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของมันด้วย อย่างที่ NVIDIA เอง ก็สามารถเพิ่มความเร็วในการประมวลผลได้ถึง 1 ล้านเท่า ในช่วงเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่สูงมาก และสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต นั่นหมายความว่า แม้ความต้องการในการประมวลผลจะมากขึ้น แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานหรือพื้นที่มากขึ้นเป็น 1 ล้านเท่าตามไปด้วย เพราะประสิทธิภาพที่ดีขึ้นจะช่วยให้เราทำได้มากกว่าเดิม ด้วยทรัพยากรที่เท่าเดิมหรือน้อยลงด้วยซ้ำ

ไม่เพียงเท่านั้น accelerated computing ยังช่วยขับเคลื่อน AI ยุคใหม่ ที่เรียกว่า “Generative AI” ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเขียนบทความ วาดภาพ แต่งเพลง ได้อย่างน่าทึ่ง โดยอาศัยการเรียนรู้จากตัวอย่างผลงานนับล้านชิ้นที่มีอยู่ป้อนเข้าไปให้เจ้า AI มันเรียนรู้

และอีกเรื่องสำคัญที่ Jensen เน้นย้ำก็คือ การ “ทำให้ AI เป็นประชาธิปไตย” ซึ่งหมายความว่า ทุกคนควรมีสิทธิและโอกาสที่จะเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือภูมิภาคใดก็ตาม

เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง แต่ละประเทศควรลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้แข็งแกร่ง ทั้ง hardware, software และ cloud computing รวมถึงสนับสนุนการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ AI ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน วงการการศึกษา ไปจนถึงระดับปัจเจกบุคคล

และอันที่จริงแล้วนั้น AI ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสามารถด้านภาษาเพียงอย่างเดียว แต่มันยังใช้ได้กับอีกหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา เภสัชกรรม พลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม หรือแม้แต่หุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความก้าวหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และการทำให้ AI เป็นสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้ จะช่วยให้ทุกคนได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าเหล่านี้อย่างทั่วถึง

อีกแนวคิดสำคัญที่ Jensen Huang เน้นย้ำ คือเรื่อง “Sovereign AI” หรือ “AI อธิปไตย” ซึ่งหมายถึงการที่แต่ละประเทศพัฒนาขีดความสามารถ AI ของตนเองให้แข็งแกร่ง สอดคล้องกับวัฒนธรรม ความต้องการ และค่านิยมของประเทศนั้น ๆ

Jensen ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เกือบทุกประเทศต่างตื่นตัวและเห็นความสำคัญของ AI มากขึ้น จากเดิมที่อาจรู้สึกว่า AI มันเป็นเรื่องไกลตัว มันใหญ่เกินไป หรือเป็นเรื่องเฉพาะของประเทศมหาอำนาจ แต่ตอนนี้หลายประเทศกลับมองว่า พวกเขาต้องหาทางนำ AI มาปรับใช้และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศของตัวเองให้ได้

Jensen กล่าวว่า “ทุกประเทศต้องเป็นเจ้าของข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ของตัวเอง ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์ สามัญสำนึก และภูมิปัญญาของประชาชน คุณไม่ควรปล่อยให้ใครมากำหนดสิ่งเหล่านี้แทนประเทศของคุณ”

ในทางปฏิบัติ การสร้าง Sovereign AI อาจเริ่มต้นจากการรวบรวมและพัฒนาชุดข้อมูลในภาษาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อใช้เป็นฐานในการฝึกฝนแบบจำลอง AI ให้รู้จักภาษา เข้าใจวัฒนธรรม และตอบสนองต่อบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศได้ดียิ่งขึ้น อย่างที่เราเห็นตัวอย่างจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ต่างก็พยายามพัฒนาแบบจำลองภาษาอาหรับขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง

นอกจากนี้ การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศน์ด้าน AI ในประเทศ ตั้งแต่การวิจัย การศึกษา ไปจนถึงอุตสาหกรรม ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยวางรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนา AI อธิปไตยในระยะยาว

อีกประเด็นสำคัญที่ Jensen Huang เน้นย้ำคือ ความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของแต่ละประเทศ

Jensen บอกว่า “สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure “ถ้าคุณต้องการผลิตอาหาร คุณต้องสร้างฟาร์ม, ถ้าคุณต้องการผลิตพลังงาน คุณต้องสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้า, ถ้าคุณต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล คุณต้องมีอินเทอร์เน็ต” “แล้วถ้าคุณต้องการสร้างสรรค์และใช้งาน AI ล่ะ? คุณก็ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI โดยเฉพาะ

ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้ยากหรือแพงอย่างที่หลายคนเข้าใจ มันเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ที่คุณสามารถซื้อหามาได้ในท้องตลาด และมีผู้เชี่ยวชาญในเกือบทุกประเทศที่พร้อมจะช่วยติดตั้งและดูแลระบบให้”

Jensen ชี้ให้เห็นว่า การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ภาษา ชีววิทยา วิทยาศาสตร์กายภาพ การผลิต ไปจนถึงเกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งเมืองอัจฉริยะ ซึ่งล้วนมีความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

“ถ้าคุณสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี คุณจะปลดปล่อยศักยภาพของนักวิจัยและผู้ประกอบการในประเทศ ให้สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มที่ในแทบทุกด้าน” Jensen กล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา Jensen แนะนำให้เริ่มต้นจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานพื้นฐานก่อน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ข้อมูล ระบบคลาวด์ และเครือข่ายความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา

ทั้งหมดนี้จะเป็นรากฐานสำคัญ ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของตนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่รอรับเทคโนโลยีจากที่อื่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม Jensen เน้นย้ำว่า AI อธิปไตย ไม่ได้แปลว่าต้องปิดกั้นตัวเองและไม่ร่วมมือกับใคร ท่ามกลางโลกที่เชื่อมโยงแบบทุกวันนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องมาตรฐานสากล จริยธรรม และการกำกับดูแล AI ที่พึงปรารถนา แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดควรอยู่ที่การเสริมสร้างศักยภาพของชาติ ให้สามารถนำ AI มาใช้ประโยชน์ได้อย่างชาญฉลาด เหมาะสมกับจุดแข็งและความต้องการเฉพาะของตน มากกว่าที่จะต้องพึ่งพิงหรือคล้อยตามประเทศอื่นเพียงอย่างเดียว

แม้ Jensen จะเชื่อมั่นในศักยภาพของ AI และสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมัน แต่เขาก็เตือนด้วยว่า เราจำเป็นต้องนำ AI มาใช้งานอย่างระมัดระวังและมีความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ผ่านมา

Jensen ยกตัวอย่างว่า “ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินที่ผมมาที่นี่ รถยนต์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ระบบการผลิตในโรงงาน หรือแม้แต่ยารักษาโรค ต่างก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าจะถูกนำมาใช้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม”

“กฎระเบียบเหล่านั้นจำเป็นต้องขยายขอบเขตและปรับให้เข้ากับยุคของ AI ด้วย เพราะ AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์และบริการในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ใช่เป็นเพียงเทคโนโลยีที่แยกขาดออกมาต่างหาก”

อย่างไรก็ตาม Jensen ก็เตือนว่า ในขณะที่เรากำลังพัฒนากรอบการกำกับดูแล AI นั้น เราต้องระวังไม่ให้กฎเกณฑ์เข้มงวดจนเกินไปจนไปขัดขวางการพัฒนานวัตกรรม เพราะอาจมีบางฝ่ายที่พยายามสร้างความหวาดกลัวต่อ AI ว่าเป็นสิ่งที่อันตรายเกินกว่าจะควบคุมได้ ทำให้คนไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือพัฒนา AI กันเอง ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิดครั้งใหญ่

“เราควรส่งเสริมให้ทุกคน ทุกประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก AI อย่างทั่วถึง ไม่ใช่ผูกขาดโดยใครไม่กี่ราย ต้องมีการให้ความรู้ สร้างโอกาส เปิดเผยข้อมูล และกำหนดมาตรฐานจริยธรรมกันอย่างโปร่งใส เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า AI จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมโดยรวม ไม่ใช่แค่เพื่อผลประโยชน์ของใครบางคน”

Jensen ฝากให้เราตระหนักว่า การพัฒนา AI ที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่การสร้างเทคโนโลยีที่เก่งและฉลาดเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องฝังคุณธรรม จริยธรรม และความห่วงใยต่อผลกระทบในวงกว้างเอาไว้ด้วย ผ่านการสร้างกลไกที่เหมาะสมในการกำกับดูแล AI เพื่อประโยชน์สูงสุดของมวลมนุษยชาติ

ซึ่งในปัจจุบันก็มี AI ที่เป็นแบบ Opensource ที่มีความโปร่งใส ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ สามารถเข้าไปช่วยพัฒนาต่อยอดมันได้

และทางหน่วยประมวลผล GPU จาก NVDIA นั้น คุณจะนำไปใช้กับแพลตฟอร์มใดก็ได้ จะใช้กับการประมวลเจ้าใดก็ได้ เพราะไม่มีการปิดกั้น

ทักษะที่สำคัญในยุค AI

และเมื่อถูกถามถึงทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคของ AI Jensen Huang ให้ความเห็นที่น่าสนใจและขัดแย้งกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่

Jensen บอกว่า เขาจะพูดในสิ่งที่อาจฟังดูตรงข้ามกับความรู้สึกของหลายคน ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เกือบทุกคนที่ขึ้นมาพูดบนเวทีแบบนี้ จะบอกว่าลูกหลานเราจำเป็นต้องเรียนสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือ computer science ต้องรู้จักเขียนโปรแกรม แต่ตัวของเขากลับคิดว่ามันตรงกันข้ามเลย

เพราะหน้าที่ของเขาและ NVDIA นั้นคือการสร้างเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้ง่ายจนไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์เป็น ซึ่งทุกคนจะสามารถสั่งงานคอมพิวเตอร์ได้ด้วยภาษามนุษย์ธรรมดา ๆ ที่ใช้พูดกันอยู่ทุกวันได้ นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริงของ AI เพื่อให้ทุกคนกลายเป็น Developer เป็นนักพัฒนาได้ในที่สุด

Jensen ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันเราอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับคนทั่วไปแทบจะถูกลบล้างไปจนหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความก้าวหน้าของ AI ที่ทำให้ทุกคนสามารถสั่งงานคอมพิวเตอร์ได้ตามที่ต้องการ เพื่อช่วยทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ช่วยคิดสร้างสรรค์ได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญมากที่ทุกคนต้องตระหนักว่า อำนาจในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีกำลังถูกรีเซ็ตใหม่ คนที่เข้าใจปัญหาเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา การศึกษา การผลิต หรือการเกษตร จะสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อช่วยสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาหรือพัฒนางานของตัวเองได้อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้าน IT อีกต่อไป

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทักษะทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือการเขียนโปรแกรมจะกลายเป็นเรื่องที่ไร้ค่า

โดย Jensen ย้ำว่ามันยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะมาพัฒนาเทคโนโลยี AI และเครื่องมือต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่จะสำคัญกว่าคือความสามารถในการคิดเชิงคำนวณ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เข้ากับวิธีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีตรรกะของคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่าย ผ่านการแยกย่อยเป็นส่วน ๆ การหารูปแบบหรือความสัมพันธ์ การสร้างอัลกอริทึมหรือกระบวนการทำงานที่ชัดเจน และการประเมินผลลัพธ์อย่างเป็นระบบ

ถ้าเรามีความคิดเชิงคำนวณเป็นพื้นฐาน เราจะสามารถออกแบบวิธีการทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แม้จะไม่ได้เขียนโค้ดเองสักบรรทัดเดียวก็ตาม และนั่นจะเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เราสามารถสร้างคุณค่าที่โดดเด่นในยุคนี้ได้อย่างแท้จริง

จากมุมมองของ Jensen Huang จะเห็นได้ว่า ทักษะที่จำเป็นในโลกที่ขับเคลื่อนด้วย AI นั้นไม่ได้มีเพียงแค่การเขียนโปรแกรมเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความสามารถในการบูรณาการความรู้เชิงลึกในแต่ละสาขา เข้ากับวิธีคิดและทำงานแบบใหม่ที่ผสานพลังของมนุษย์และ AI เข้าด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้างได้อย่างเต็มศักยภาพ

ซึ่งหากเราเปิดใจและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างชาญฉลาด มันจะไม่เพียงทำให้เรากลายเป็นผู้ตามทันโลกเท่านั้น แต่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ และสร้างโลกในแบบที่เราต้องการได้ด้วยตัวเราเอง นั่นคือสาระสำคัญที่ Jensen Huang ต้องการจะบอกกับเราทุกคน ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ AI ระดับโลก

Resources