Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

เงินซื้อความสุขไม่ได้?

Michael Norton คือศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจจากสถาบันชื่อดังอย่าง Harvard Business School ที่เขาได้แชร์เอาไว้ในเวที Ted Talks ในงาน TEDxCambridge เมื่อปี 2011 ในหัวข้อที่ชื่อว่า “Money can buy happiness” เงินสามารถซื้อความสุขได้

โดย Michael Norton ได้เริ่มเกริ่นนำว่า ระหว่าง Money กับ Happiness เป็นสองสิ่งที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันมาเป็นเวลาอย่างยาวนานถึงความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งนี้

ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับประโยคจากหนังสือในกลุ่มของ self-help หรือกลุ่มของหนังสือการพัฒนาตนเองมักจะเขียนวลียอดฮิตว่า “Money can’t buy happiness.” หรือเงินไม่สามารถซื้อความสุขได้ ซึ่ง Michael Norton บอกว่ามันเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอย่างแรกสุดเลยก็คือ เขาเรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับการเงินและการบริหารคนในองค์กรให้มีความสุข

โดยเขาบอกว่า หากตอนนี้คุณกำลังคิดว่าเงินไม่สามารถซื้อความสุขได้ นั่นแสดงว่าคุณกำลังใช้เงินยังไม่ถูกวิธี ซึ่งคำถามแรกที่ควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากในวันนี้เราใช้เงินแล้วยังไม่มีความสุข แล้วเราควรจะใช้เงินอย่างไรให้มีความสุข?

และแน่นอนว่าเขาในฐานะที่เป็นศาตราจารย์แล้วด้วยล่ะก็ เขาก็จะมาหาวิธีใช้เงินซื้อความสุขด้วยหลักของวิทยาศาสตร์ ที่ได้จากผลการทดสอบและทดลองจากคนจริง ๆ ที่เขาได้ทำการทดสอบมา

เริ่มต้นจาก คนคุณจะเคยเห็นข่าวคนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อย ๆ ซึ่งแว๊บแรกที่คุณเห็น คุณก็คงจะต้องนึกขึ้นมาในทันทีเลยว่า โอ้วจอร์จมันยอดมาก มันยอดเยี่ยมสุด ๆ ไปเลยที่คน ๆ นั้นถูกรางวัลที่ 1 แถมทันทีที่ผู้คนรู้ข่าวว่าคน ๆ นั้นถูกรางวัล จู่ ๆ อยู่ ๆ ดีก็มีพี่น้องท้องเดียวกันที่พรากจากกันมานานนับสิบปีที่ไหนก็ไม่รู้ติดต่อคุณมา กลายเป็นยุ้ยญาติเยอะกันเลยทีเดียว

ซึ่งในความเป็นจริง แทนที่จะมีความสุข แต่คนส่วนใหญ่ที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มักมีจุดจบที่คล้าย ๆ กันนั่นก็คือ พวกเขาจะนำเงินที่ได้มานั้น ไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายและลงเอยด้วยการเป็นหนี้ซะอย่างงั้น

ดังนั้นการถูกลอตเตอรี่ มีสองสิ่งที่ทำให้แย่ลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกันก่อนจะถูกรางวัลก็คือ

  • เงินหมด
  • ความสัมพันธ์ระหว่างคนรู้จัก (และจู่ ๆ ก็ทำเหมือนรู้จัก) แย่ลง

เพราะเมื่อมีญาติพี่น้องเพื่อนพ้องแห่กันมาขอเงินจากคุณ ซึ่งไม่ว่าคุณจะให้หรือไม่ให้ก็มีความทุกข์ ความหมองใจระหว่างกันอยู่ดี เช่น ยืมแล้วไม่คืนคุณก็เป็นทุกข์ หรือหากไม่ให้ยืมเงินพวกเขาก็โกรธคุณอีกซะอย่างงั้น

และเมื่อเข้าไปดูคอมเม้นท์ต่าง ๆ ของคนบนโลกออนไลน์ ก็มีจะหลายคอมเม้นท์ประมาณว่า

  • ถ้าหากฉันถูกรางวัลที่ 1 นะ ฉันจะซื้อบ้านหลังใหญ่ ๆ ซื้อรถหรู ๆ
  • หรือถ้าหากฉันถูกรางวัลที่ 1 ฉันจะไปเที่ยวรอบโลก
  • หรือไม่ก็คอมเม้นท์ว่า หากใครพยายามจะมาเซ้าซี้เพื่อรีดไถเงินจากเขา เขาก็จะเอาเงินไปเลี่ยมใส่กรอบแล้วก็โพสต์ภาพนั้นส่งข้อความกลับไปให้คนที่จะพยายามจะขอเงินจากเขาแบบกวน ๆ ซะเลย

ซึ่งก็จะเป็นอะไรแนว ๆ นี้ที่ออกไปทางปรนเปรอตัวเองซะเป็นส่วนใหญ่ โดยศาตราจารย์มองว่า การใช้เงินลักษณะนี้จะออกไปในทางที่เพิ่มความเห็นแก่ตัวและเป็นคนต่อต้านสังคม

ดังนั้นในเมื่อการใช้เงินปรนเปรอกับตนเองดูเหมือนจะไม่มีความสุข เขาจึงคิดแบบง่าย ๆ เลยว่า งั้นทำตรงกันข้ามไปเลยก็แล้วกัน โดยแทนที่จะนำเงินให้ตนเองก็ลองนำเงินไปให้คนอื่นดูสิ แล้วดูว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร

โดยทางศาตราจารย์ Michael Norton ก็ได้เริ่มทำการทดลองครั้งแรกที่เมือง Vancouver ประเทศ Canada โดยทำการทดลองในเขต University of British Columbia

โดยวิธีการทดสอบก็คือ เขาจะเตรียมเงินใส่ซองพร้อมกับมีข้อความในซองที่มีข้อความไม่เหมือนกัน

  • โดยซองกลุ่มแรก จะมีข้อความที่เขียนว่า “จงใช้เงินในซองนี้ให้กับตนเองให้หมดภายใน 5 โมงเย็น”
  • กับซองกลุ่มที่สองจะเขียนอีกอย่างนึงว่า “จงใช้เงินในซองนี้กับคนอื่นให้หมดภายใน 5 โมงเย็น”

โดยที่ซองกลุ่มแรกจะได้รับเงินจำนวน $5 หรือประมาณ 125 บาท แต่ในขณะซองกลุ่มที่สองจะมีเงินอยู่ในนั้นจำนวน $20 หรือประมาณ 500 บาท ซึ่งมากกว่าซองกลุ่มแรกถึง 4 เท่า

และเขาก็ได้ติดตามการใช้เงินตามข้อความที่แต่ละคนได้รับในซองจดหมายนั้น ก็เพื่อคอนเฟิร์มว่าพวกเขาได้ใช้เงินตามนั้นจริง ๆ และเมื่อการทดลองสิ้นสุดลง เขาก็ได้เรียกตัวผู้ที่รับการทดลองนี้ มาเพื่อสอบถามอยู่สองข้อก็คือ

  1. คุณใช้เงินในซองนั้นไปในเรื่องอะไร
  2. แล้วคุณมีความสุขแค่ไหนในตอนนี้

โดยผู้รับการทดลองส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี โดยคนที่ได้รับซองกลุ่มแรกที่ให้ใช้เงินปรนเปรอตนเองนั้น พวกเขามักจะซื้อเครื่องประดับอย่างต่างหู ไม่ก็เครื่องสำอางกิ๊ฟเซ็ท หรือไม่ก็กาแฟ Starbucks สักแก้ว

ในขณะที่คนที่ได้รับซองในกลุ่มที่สองที่ต้อใช้เงินเพื่อผู้อื่น สิ่งที่พวกเขาทำอย่างเช่น บางคนก็นำไปซื้อตุ๊กตาสัตว์น่ารัก ๆ ให้กับหลานที่บ้าน บางคนก็ให้เงินนั้นไปกับคนเร่ร่อนข้างถนน และบางคนก็นำไปซื้อ Starbucks เช่นกัน แต่ซื้อให้คนอื่นดื่ม

ส่วนเมื่อถามว่าพวกเขามีความสุขแค่ไหนหลังจากที่ได้ใช้เงินในซองนั้นไปแล้ว โดยกลุ่มแรกบอกว่าก็งั้น ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขเพิ่มมากขึ้นหรือลดลงไปจากเดิมสักเท่าไหร่ แต่ในขณะที่คนกลุ่มที่สองกลับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขามีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนจำนวนเงินที่แตกต่างกันถึง 4 เท่านั้น ศาตราจารย์ก็พบว่า มันไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้มีความสุขมากหรือน้อยแตกต่างกัน 4 เท่าตามจำนวนเงินที่แต่ละคนได้ นั่นหมายถึงว่า มันไม่สำคัญหรอกว่าจำนวนเงินจะมากหรือน้อย แต่มันสำคัญตรงที่ว่า เงินจำนวนนั้นคุณได้ใช้ไปกับใครสักคนมากกว่าจะนำมาปรนเปรอตนเอง

แต่การทดลองนี้เกิดขึ้นในประเทศ Canada ที่ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ดังนั้นศาตราจารย์จึงสงสัยว่า ผลลัพธ์จากการทดลองนี้จะเป็นเฉพาะกับกลุ่มประเทศร่ำรวยเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เขาจึงได้ทำการทดสอบที่คล้ายกันนี้กับกลุ่มประเทศยากจน โดยเขาเลือกที่จะทดสอบที่ประเทศ Uganda

และผลลัพธ์ที่น่าสนใจก็คือ ในกลุ่มของคนที่ใช้เงินเพื่อคนอื่นนั้น มีผลการทดสอบที่คล้ายคลึงกันอย่างนึงก็คือ ใน Uganda มีชายคนหนึ่งตัดสินใจที่จะใช้เงินไปกับผู้สาวที่เขาแอบชอบเธอ แต่ก็ไม่กล้าขอเธอออกเดทสักกะที เขาจึงตัดสินใจชวนเธอไปดินเนอร์อยู่ด้วยกันสองครั้ง

ในขณะที่ชายจาก Canada ก็แชร์ว่า เขาได้ใช้เงินนั้นชวนแฟนสาวไปดินเนอร์และดูหนังรอบดึกด้วยกัน และคืนนั้นเขากับแฟนสาวก็ลงเอยพากันไปที่บ้านในช่วงที่พ่อแม่ไม่อยู่เพื่อไปกิน…เค้ก ด้วยกัน

ซึ่งมันก็แปลกดีที่แม้ว่า ผู้บ่าวทั้งสองประเทศจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีฐานะที่แตกต่างกัน แต่ก็มีเหตุการณ์ในการใช้เงินเพื่อคนอื่นที่คล้าย ๆ กัน

แต่ก็มีอีกหลาย ๆ เคสที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น

ผู้สาวใน Canada เธอแชร์ว่า เธอได้นำเงินนั้นเพื่อไปซื้อของขวัญให้กับแม่ของเธอในวันเกิด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

แต่ในขณะที่ผู้สาวจาก Uganda นั้น เธอได้ใช้เงินไปกับการให้กับเพื่อนบ้านที่ลูกของเพื่อนเธอนั้นป่วยเป็นไข้มาลาเรียและกำลังยากลำบากในการหาเงินเพื่อไปรักษา แม้ว่าเงินก้อนนี้จะไม่ได้มากมายอะไร

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเคสดังกล่าว มีแรงจูงใจต่างกันมาก โดยเคสที่ Canada ก็เป็นเรื่องซื้อของทั่ว ๆ ไป แต่ในขณะที่เคสจากประเทศ Uganda มีแรงจูงใจในการช่วยชีวิตผู้คน

ดังนั้น ถ้าจะให้ลงลึกไปมากกว่าการใช้เงินเพื่อปรนเปรอคนอื่น แต่เพิ่มเติมคือหากนำเงินไปช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังลำบากหรือตกทุกข์ได้ยากนั้น แม้จะเป็นแค่เงินเพียงน้อยนิด แต่กลับสร้างความสุขใจกลับมาให้ตนเองได้เป็นอย่างมาก

แต่กระนั้นทางศตราจารย์ก็ยังไม่ชัวร์ว่าคนทั่วโลกจะมีผลลัพธ์ที่คล้ายกับที่เขาได้ทดลองมาหรือไม่ ซึ่งโชคดีที่ก็มีข้อมูลจาก Gallup Oraganization ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนทั่วโลกโดยตั้งคำถามกับผู้ทำแบบสอบถามว่า “พวกคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้มีการบริจาคเงินเพื่อการกุศล” โดยจากแผนภาพก็จะพบได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ที่ทำการบริจาคเงินเพื่อการกุศลพวกเขารู้สึกมีความสุขเพิ่มมากกว่าคนที่ไม่ได้ทำการบริจาคเงิน

ทีนี้ถ้าลองมาดูผลการทดสอบภายในองค์กรหรือบริษัทกันบ้าง โดยศาสตราจารย์เขาได้แชร์ผลการทดสอบของทีมขายของบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศ Belgium โดยทีมแรกให้ใช้เงินจำนวน 15 EUR เพื่อตนเอง และกลุ่มที่สองให้ใช้เงินเพื่อเพื่อนร่วมทีม

ซึ่งสิ่งที่พวกทำก็คือ ทีมแรกพวกเขาส่วนใหญ่เก็บเงินสดใส่กระเป๋าเอาไว้ ไม่ก็เอาไปซื้อกาแฟให้กับตัวเองสักแก้ว แต่ในขณะที่ทีมที่สองใช้เงินไปกับการซื้อของเล่นเพื่อมาให้เพื่อนร่วมทีมเล่นร่วมกัน ที่ดูเหมือนของเล่นนั้นจะดูไร้สาระ แต่ก็ทำให้คนทั้งทีมมีกิจกรรมสนุก ๆ ทำร่วมกัน และเมื่อวัดผลยอดขายจากทั้งสองทีมที่มีศักยภาพพอ ๆ กันก็พบว่า ทีมที่สองที่ใช้เงินเพื่อคนอื่นกลับสร้างยอดขายได้มากกว่าทีมแรกที่ใช้เงินเพื่อตนเอง

โดยหากเปรียบเทียบเงินที่จ่ายไปให้กับทีมแรกจำนวน 15 EUR นั้น พวกเขากลับทำยอดขายได้เฉลี่ยเพียง 4.5 EUR แต่ในขณะที่คนกลุ่มที่สองนั้นกลับทำยอดขายเฉลี่ยสูงถึง 78 EUR ซึ่งเขาก็ค่อนข้างแปลกใจมากที่ผลการทดสอบภายในองค์กรได้แบบนี้

แต่เขาก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า ผลการทดสอบนี้จะเป็นเหมือนกันกับทุกกลุ่มคน เขาจึงนำบททดสอบเดียวกันนี้ไปทดสอบกับทีมนักกีฬา dodgeball ซึ่งทีมที่ใช้เงินเพื่อตัวเองนั้นก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง อัตราการแพ้ชนะของเขาก็เท่า ๆ กับก่อนการทดสอบ แต่ในขณะที่ทีมที่ใช้เงินเพื่อคนอื่นเพื่อเพื่อนร่วมทีม พวกเขากลับมีอัตราการชนะที่สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ดังนั้น ศาสตรจารย์ Michael Norton จึงค่อนข้างเชื่อแล้วว่ามันได้ผลแม้กระทั่งในวงการกีฬาด้วยเช่นกันที่การใช้เงินเพื่อคนอื่นมักจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

และศาสตราจารย์ก็ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หากคุณอยากจะลองทดสอบด้วยตนเองอย่างง่าย ๆ ก็สามารถเริ่มต้นได้ที่เว็บไซต์ www.donorschoose.org ที่เป็นเว็บไซต์ขององค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรสำหรับโรงเรียนรัฐที่มีรายได้ต่ำ ที่ทางคุณครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วโลกมาโพสต์ในสิ่งที่ทางโรงเรียนยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ เช่น บางโรงเรียนต้องการโต๊ะเรียน บางโรงเรียนขาดแคลนกล้องจุลทรรศน์ หรือบางโรงเรียนต้องการห้องสมุด ซึ่งแอดมินก็ได้จัดไปเรียบร้อยแล้วกับการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อยในการช่วยสร้างห้องสมุดให้กับโรงเรียน

Resources