Ray Dalio ผู้ก่อตั้งบริษัท Bridgewater Associates กองทุน Hedge fund กองทุนป้องกันความเสี่ยง ที่มีขนาดกองทุนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก เจ้าของผลงานเขียนหนังสือ Principles และ Principles for dealing with the changing world order why nation succeed and fail ที่ ณ ปัจจุบันเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $22,000 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือราว ๆ 7.8 แสนล้านบาท เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 71 ของโลก
โดยเนื้อหาในตอนนี้ จะเป็นบทสัมภาษณ์มาจากช่อง Youtube ของ Lex Fridman ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.8 ล้านคน ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา
Money vs Power
Lex ได้ถาม Ray ว่า จากหนังสือ Principles for dealing with the changing world order นั้น ในประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมา คิดว่าระหว่าง ‘Money’ กับ ‘Power’ หรือระหว่าง ‘เงิน’ กับ ‘อำนาจ’ นั้น อะไรสำคัญกว่ากัน
โดย Ray ตอบว่า คนที่มีอำนาจ มักจะมี ‘เงิน’ ดังนั้น เงินก็คืออำนาจประเภทหนึ่ง ที่ทำให้มีอำนาจในการที่จะซื้อสิ่งต่าง ๆ ได้ และสามารถใช้มันเพื่อโน้มน้าวต่อผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองได้
ซึ่งมันมีมาตั้งแต่ในสมัยอดีต ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ที่ยุโรป ก็จะพบความสัมพันธ์ระหว่างคนในราชวงศ์และเหล่าบรรดาขุนนาง รวมไปถึงโบสถ์ ที่พวกเขามักครอบครองที่ดินทำการเกษตรเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยที่ดินทำกิน และคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปในสมัยก่อนก็ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเช่าที่ดินและจ่ายภาษีให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเหล่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ครอบครองที่ดินเหล่านั้น มีอำนาจอยู่ในมือ
จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกของโลก ที่เกิดจากที่โลกที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ผุดขึ้นมา เริ่มมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงาน บวกกับผู้คนที่มีความสามารถสร้างสินค้าและบริการที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว
นั่นจึงทำให้เจ้าของที่ทำการเกษตรจากแต่ก่อนที่เคยมีอำนาจเป็นอย่างมาก กลับเริ่มมีปัญหาในการแย่งชิงอำนาจในการปกครองบ้านเมือง ปกครองผู้คน
และแม้ว่า ในยุคปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง เงินกับอำนาจนั้น ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่มันเปลี่ยนรูปแบบไปตาม Asset หรือทรัพย์สินในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่ง Asset ในยุคนี้ ก็มักจะเป็น Productive Asset หรือทรัพย์สินที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการออกมาเองได้ หรือก็คือเครื่องจักรผลิตเงินดี ๆ นี่เอง ซึ่งคนที่มีเงิน ก็มักจะใช้มันในการโน้มน้าวกับคนที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเหล่านี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองเมือง ปกครองผู้คน อยู่ร่ำไป
โดย Ray บอกว่า การเมือง การปกครองนั้น มันเริ่มต้นหลังจากสิ้นสุดสงครามในปี 1668 ให้หลัง 30 ปี ก็จะเริ่มมีการพัฒนาการการสร้างเขตแดนการปกครอง ที่ไม่ให้ผู้อื่นรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของตน ซึ่งภายในเขตแดนต่าง ๆ ก็จะมีผู้มีอำนาจปกครองเขตแดนนั้น ๆ อยู่ จนรวมเข้าเป็นประเทศ ประเทศหนึ่งขึ้นมา
โดยในแต่ละประเทศก็จะมีศูนย์กลางการปกครองตั้งอยู่และกระจายอำนาจการปกครองไปสู่แต่ละจังหวัดหรือแต่ละรัฐ และไปสู่ระดับอำเภอ ตำบล ซึ่งก็จะแบ่งอำนาจเล็กใหญ่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับ
The Big Cycle
ส่วน The Big Cycle ที่ Ray Dalio ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Changing World Order นั้น เขาบอกว่า โลกของเราจะประกอบไปด้วย system อยู่สองระบบใหญ่ก็คือ Internal System ซึ่งก็คือระบบภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ภายในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
และอีกระบบหนึ่งก็คือ World System คือระบบการจัดการของโลก ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1945 ที่เป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกมีการจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นใหม่ โดยผู้ที่ชนะสงคราม นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้จัดการประชุมที่เรียกเหตุการณ์วันนั้นว่า Bretton Woods System ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า 730 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการจัดระเบียบระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศ
และแน่นอนว่าหัวเรือใหญ่ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงินก็คือสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ชนะศึกสงคราม โดยสหรับอเมริกานั้นได้ยึดและครอบครองทองคำเป็นจำนวนมากกว่า 80% จากทองคำที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลก ณ ขณะนั้น ซึ่งทองคำก็ได้ทำหน้าที่เป็น ‘MONEY’ หรือเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนมูลค่าซึ่งกันและกัน นั่นจึงทำให้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ผูกติดอยู่กับทองคำนั้น กลายเป็น Reserve Currency หรือสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศไปโดยปริยาย อารมณ์ประมาณว่า ถ้าใครอยากค้าขายก็ต้องใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างประเทศเป็นหลัก เพราะเป็นสกุลเงินเดียวในโลกที่ผูกติดกับปริมาณทองคำ และคนที่มีทองคำเยอะที่สุดก็คือสหรัฐอเมริกา ที่เยอะก็เพราะยึดทองคำจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่แพ้ศึกสงครามนั่นเอง
และด้วยความที่เป็นผู้ชนะสงครามโลก ก็จะสังเกตได้ว่า สถาบันการเงินระดับโลกส่วนตั้งถูกตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น United Nations ที่ตั้งอยู่ใน New York รวมไปถึง The World Bank และสถาบัน IMF ก็ตั้งอยู่ใน Washington DC
ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นของ The Big Cycle มันก็เป็นอะไรง่าย ๆ ที่เข้าใจง่ายก็คือ มันมักจะเกิดมาจากการทำสงคราม พอได้ผู้ชนะสงคราม ผู้ชนะก็จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของโลก และผู้แพ้ก็จะต้องปฏิบัติตาม พอจบสงครามมันก็เหมือนกับการรีเซ็ตระบบใหม่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง การปกครอง รวมไปถึงระบบการเงิน ซึ่งในช่วงนี้ก็แทบจะไม่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น เพราะทุกหมดต่างก็ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ สร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่ ทุกคนต่างก็ช่วยเหลือกันในการตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมืองตามมา
หรือหากย้อนเวลากลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1500 ที่ชาว Dutch ได้ค้นพบระบบทุนนิยม (capitalism) ซึ่งพวกเขาได้คิดค้นและกลายเป็นตลาดทุนแห่งแรกของโลก ให้กำเนิดหุ้นแรก และตลาดหุ้นแรกของโลก
ซึ่งระบบทุนนิยมก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างความมั่งคั่งที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประเทศชาติ เพราะมันคือการที่มอบทรัพยากรให้แก่คนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จึงทำให้เกิดเครื่องจักร ที่ย้ายผู้คนที่เคยทำแต่เกษตรกรรมมาสู่ยุคการทำอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง
แต่พวกเขาก็กลับทำให้เกิดช่องหว่างระหว่างชนชั้นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยิ่งพวกเขาทำเงินได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเงินทุนไหลเข้ามาพวกเขามากขึ้น และพวกเขาก็ทำเงินได้มากขึ้นเป็นทวีคูณ จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นมากขึ้น และเมื่อพวกเขามีเงินและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น นั่นก็หมายถึงพวกเขามีอำนาจมากขึ้นด้วย เช่น พวกเขาสามารถให้การศึกษาแก่บุตรหลานของพวกเขาได้เป็นอย่างดี แบบที่คนธรรมดาทั่ว ๆ ไปไม่สามารถให้ได้
ซึ่งในระหว่างนี้นี่เอง ก็เริ่มก่อเกิดหนี้สินภายในประเทศที่สูงขึ้น เพราะมีการกู้ยืมเงินมาเพื่อขยายกิจการให้เติบโตมากยิ่งขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างจากในยุครุ่งเรืองของชาว Dutch ที่พวกเขานั้นมีความรู้ความสามารถในการสร้างเรือและประกอบเรือเดินทะเลที่ดีที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่พวกเขาได้รับการศึกษาที่ดีและพัฒนาจนกลายเป็นทักษะที่ยอดเยี่ยมในเดินเรือในทะเลทั่วโลกเพื่อทำการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ นั้น ได้เกิดขึ้นที่นี่เป็นจำนวนกว่า 25% ของสิ่งประดิษฐ์บนโลกใบนี้
และเมื่อพวกเขาสามารถสร้างเรือเดินทะเลได้เป็นอย่างดี นั่นจึงทำให้พวกเขาเริ่มออกเดินทะเลไปยังดินแดนต่าง ๆ เพื่อทำการค้าขาย ซึ่งสิ่งที่พวกเขานำพาไปด้วยก็คือสกุลเงินของพวกเขาและพลกำลังทหาร ทำให้มีกองกำลังทหารชาวดัตช์กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก และเช่นเดียวกันสกุลเงินของพวกเขาก็กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกด้วย
นั่นจึงทำให้สกุลเงินของชาวดัตช์กลายเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศไปโดยปริยาย
แต่สิ่งที่ตามมาจากการที่เจริญรุ่งเรืองก็คือ ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ากองกำลังทหารที่กระจายอยู่ทั่วโลก และค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ก่อให้เกิดต้นทุนสูงในทุก ๆ ด้าน
และในขณะเดียวกัน ในระหว่างนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มมีการพัฒนา อย่างเช่น United Kingdom สหราชอาณาจักร ที่พวกเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะสร้างเรือจากชาวดัตช์ ดังนั้นชาวดัตช์ที่ร่ำรวย พวกเขาก็เลือกที่จะใช้แรงงานจากชาว UK ที่มีค่าแรงและต้นทุนที่ถูกกว่า ซึ่งนั่นทำให้อาณาจักรของชาว British เริ่มเติบโตมากยิ่งขึ้น
และด้วยความที่ชาวดัตช์ร่ำรวยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึง มีการแข่งขันภายในประเทศที่ต่ำลง พวกเขาจึงใช้ชีวิตที่ชิลขึ้น และไม่ต้องตรากตรำทำงานอย่างหนักเหมือนแต่ก่อน เพราะไม่ได้มีแรงกดดันจากการแข่งขันด้านธุรกิจ นั่นแหละคือการวิวัฒนาการจากคนที่ไปสู่จุดเจริญรุ่งเรืองสุด ๆ
ต่อมาการที่ประเทศสู่จุดรุ่งเรืองสุด ๆ และสกุลเงินของตนกลายเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น ข้อเสียที่ตามมาก็คือ ประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มเก็บออมสกุลเงินของผู้นำโลกเหล่านั้น เพื่อที่จะหวังผลจากการที่ได้รับดอกเบี้ยที่ตนได้เก็บออมเอาไว้ หรือจะพูดในอีกทางหนึ่งก็คือ พวกเขาปล่อยกู้ให้แก่เจ้าของสกุลเงินดังกล่าว และเมื่อประเทศเจ้าของสกุลเงินดังกล่าวกู้ยืมเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็หมายถึงประเทศผู้นำก็เป็นหนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ ประเทศผู้นำก็จะค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่สถานการณ์ทางการเงินที่ย่ำแย่ บวกกับช่องว่างความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งยิ่งห่างกันออกไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้เริ่มเกิดความขัดแย้งภายในประเทศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับความขัดแย้งภายนอก ซึ่งอาจจะก่อให้สงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างประเทศ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบใหม่ของโลกใบนี้
ซึ่งพอหมดยุครุ่งเรืองของชาวดัตช์ ก็เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของชาว British และเช่นเดียวกัน มันเกิดวัฏจักรแบบเดิม จนในที่สุดพอหมดยุครุ่งเรืองของชาว British ก็เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของชาว American และตอนนี้ก็เลยจุดที่รุ่งเรืองสูงสุดของชาวอเมริกันมาแล้ว และยุครุ่งเรืองถัดไปก็อาจจะเป็นประเทศจีน และนั่นก็คือวงจรการเกิด The Big Cycle นั่นเอง
ซึ่งวัฏจักรที่ว่ามานั้น Ray บอกว่า เขาไม่ได้มโนมันขึ้นมาเอง แต่เป็นเพราะเขาได้ศึกษาและค้นคว้าวิจัยข้อมูลการเกิดวัฏจักรดังกล่าวย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์โลกกว่า 500 ปีที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมันสามารถใช้อินดิเคเตอร์หรือการวัดค่าต่าง ๆ ของแต่ละประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการวัดค่าจากระดับการศึกษา, ค่าความเข้มแข็งทางการทหาร, ค่าการเงินการคลังเศรษฐกิจ ฯลฯ
ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่า แต่ละประเทศกำลังเดินทางมาอยู่ ณ จุด ๆ ใด ของ The Big Cycle เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันมาจากการก่อเหตุในอดีตที่ผ่านมาอย่างมีเหตุมีผล ดังนั้นค่า indicators ต่าง ๆ จึงสามารถประมาณการณ์ได้ว่า ในอนาคตประเทศดังกล่าวจะเดินไปในทิศทางใด ซึ่งโอเคแหละว่า ไม่มีใครรู้อนาคตที่แน่นอนได้ แต่ Ray Dalio เขาแค่เพียงพบว่า วงจรต่าง ๆ มันมักมีวัฏจักรที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากมูลเหตุปัจจัยยังคงเป็นซ้ำ ๆ เดิม ๆ
Indicators
ซึ่งในหนังสือ Tha Changing World Order นั้น ได้มี Indicators ที่ใช้วัดค่าแต่ละประเทศเป็นจำนวน 18 ตัว โดยทาง Lex Fridman พิธีกรก็ได้ถามกับ Ray ว่า ให้ยกอินดิเคเตอร์ตัวเด่น ๆ ที่ใช้วัดค่าเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน ว่า ณ ตอนนี้ แต่ละประเทศมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
โดย Ray ได้เริ่มต้นกล่าวถึงฝั่งของสหรัฐอเมริกาก่อนว่า อินดิเตอร์เกี่ยวกับเรื่องของ financial หรือเรื่องของการเงินว่า ณ ตอนนี้ มีการกู้ยืมเงินเป็นปริมาณที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการปริ้นท์เงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
และนอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐ ยังมีการขายพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก เพราะสกุลเงินดอลล่าร์นั้นเป็น Reserve Currency ที่เป็นสกลุเงินสำรองระหว่างประเทศหลักของโลก ที่ทั่วโลกต่างก็เก็บออมในรูปของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อหวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่กลับคืนมาในรูปของดอกเบี้ย แต่ตอนนี้ผลตอบแทนที่ได้จากพันธรบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น กลับมีผลตอบแทนเป็นลบอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นทางธนาคารกลางสหรัฐฯ มีตัวเลือกในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอยู่ 2 แนวทางหลัก ๆ ก็คือ ทางแรกคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น เพื่อที่จะลดอัตราการกู้ยืมเงิน ลดอัตราการเพิ่มหนี้ ชะลอเศรษฐกิจให้เติบโตช้าลง และแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อตลาดและเศรษฐกิจในทางลบ
ส่วนทางเลือกที่สองก็คือ การผลิตเงินดอลล่าร์ฯ เพิ่มขึ้น ทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ขนาดเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตขึ้นตาม นั่นจึงส่งผลให้เกิดค่า Inflation หรือเกิดค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในสินค้าและบริการ รวมไปถึงสินทรัพย์ทางการเงินก็มีราคาปรับตัวสูงขึ้น นั่นคือสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเป็นอยู่ ณ ตอนนี้
ส่วนสถานะทางการเงินของประเทศจีนนั้น ดูดีกว่าสหรัฐอเมริกา แถม ณ ตอนนี้ยังได้กลายเป็นประเทศที่มีการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนสหรัฐอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศจีนกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้ามากที่สุดในโลกแล้ว ณ ขณะนี้ ทำให้ประเทศจีนมีความสามารถในการเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สูสีกับอเมริกา แต่โชคยังดีที่สกุลเงินหยวนของประเทศจีน ยังไม่ได้กลายเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ
ต่อมาอินดิเตอร์เกี่ยวกับ Internal conflict หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศนั้น ในฝั่งของสหรัฐอเมริกา Ray บอกว่า ตอนนี้มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ระบบการทำงานภายในประเทศทำได้ไม่ค่อยดี แต่ในขณะที่ทางฝั่งของประเทศจีนนั้นมีความขัดแย้งที่น้อยกว่า อันเนื่องมาจากการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่เข้มข้น ซึ่งไม่ว่าแต่ละคนจะตีความชอบหรือไม่ชอบอย่างไรเกี่ยวกับการปกครองของแต่ละประเทศ แต่สิ่งที่ Ray Dalio คอนเฟิร์มเลยก็คือ การมีความขัดแย้งภายในประเทศที่สูง ประเทศนั้นจะมีปัญหาอย่างแน่นอนในการทำให้เติบโตของเศรษฐกิจของประเทศต้องชะลอตัว ช้าลง หรือเศรษฐกิจตกต่ำลง
ซึ่งความขัดแย้งภายในประเทศนั้น Ray บอกว่า มันสามารถแบ่งออกเป็นสองแบบก็คือ ถ้าเป็น competition หรือเกิดการแข่งขันภายในประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะการแข่งขันทางธุรกิจนั้น จะทำให้ประเทศเจิรญเติบโต เพราะแต่ละบริษัทก็ต้องแข่งขันกันพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น
แต่ในขณะที่ความขัดแย้งที่เป็นการบ่อนทำลายประเทศชาตินั้น ก็อย่างเช่น ความขัดแย้งที่ดูได้จากการเมืองที่แบ่งเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน และเริ่มมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้งสองฝั่ง
ซึ่งผลเสียในระยะสั้น ความขัดแย้งดังกล่าวหากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันจะนำไปสู่การเกิด civil war หรือสงครามกลางเมืองที่รุนแรงและหดหู่ แต่ในระยะยาวมันจะนำไปสู่การเกิดปฏิวัติทางการเมือง และจะมีการจัดระบบระเบียบการเมือง การปกครองใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งความขัดแย้งนั้น เราสามารถวัดค่าได้จาก การเกิดการต่อสู้กันภายในประเทศ อัตราตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของการเกิดอาชญากรรม เป็นต้น
ส่วนอินดิเคเตอร์ที่มีส่วนสำคัญในการนำพาประเทศให้เจิรญก้าวหน้านั้น Ray บอกว่า มันมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างเช่น ดูได้จากประเทศจีน ที่จัดให้มีการศึกษาและสอบวัดระดับได้อย่างทั่วถึง ซึ่งไม่ว่าจะยากดีมีจน ใครก็ตาม ก็สามารถที่จะได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันและใครก็ตามที่สามารถทำการสอบได้ผลการเรียนที่ดี ก็สามารถที่จะก้าวขึ้นมาทำงานในตำแหน่งสูง ๆ ได้ โดยไม่ได้กีดกันว่าจะต้องเป็นลูกคนรวยหรือคนจน ถ้ามีความสามารถก็ขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าได้เช่นกัน
เพราะในความเป็นจริง คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนไหนเป็นคนเก่ง คนเก่ง ๆ เขาอยู่ที่ไหน แห่งใดบนประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้การศึกษาอย่างทั่วถึงและในระดับที่เท่าเทียมกัน เพื่อที่จะเฟ้นหาตัวคนเก่ง ๆ จากทั่วประเทศเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติได้
นอกจากนั้นโดยธรรมชาติของคนที่ฉลาดนั้น จะเป็นคนที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถหมายถึงได้ว่า พวกเขาสามารถทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความขัดแย้งที่น้อย
และการที่ประเทศชาตินั้น สามารถระดมพลคนเก่ง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก ๆ มารวมตัวกันได้ นั่นก็จะส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นอินดิเคเตอร์ด้านการศึกษานั้น จึงสามารถบ่งบอกได้ระดับหนึ่งได้เลยว่า ประเทศใดที่ได้รับการศึกษาในระดับที่สูง จะส่งผลให้ในอนาคต ประเทศดังกล่าวจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้
ตัวอย่างความสัมพันธ์ว่าทำไมระดับของการศึกษาจึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้แก่ประเทศนั้น ๆ ได้ โดย Ray เขาได้ยกตัวอย่างว่า ในช่วงเริ่มต้นของ cycle นั้น จะเริ่มจากประเทศดังกล่าวเต็มไปด้วยแรงงานที่มีค่าแรงที่ถูกมาก และด้วยระดับการศึกษาที่ต่ำ อย่างมากแรงงานเหล่านั้นก็จะทำได้แต่เรื่องพื้นฐานเรื่องพื้น ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงอะไรมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่พออินดิเคเตอร์เรื่องการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่สูงขึ้นตามไปด้วยก็คือค่าของเทคโนโลยี จึงส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ตัววัดค่าต่าง ๆ มันสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ ที่ส่งผลเป็นทอด ๆ
ต่อมาทาง Lex Fridman ได้ถาม Ray ว่า แล้วอินดิเคเตอร์ต่าง ๆ ที่ Ray ว่ามานั้น มันบ่งบอกว่า American Empire จะล่มสลายอย่างนั้นหรือ?
โดย Ray ตอบว่า ‘ใช่’ อินดิเคเตอร์ต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น มันชี้ไปว่าสหรัฐอเมริกากำลังจะล่มสลาย ยกเว้นอยู่บางอินดิเคเตอร์ที่ไม่ใช่ อย่างเช่น อินดิเคเตอร์ในกลุ่มของเทคโนโลยี ที่แม้แต่ในพื้นที่ที่มีการเติบโตของเทคโนโลยีที่ช้ากว่าประเทศจีน แต่ในสหรัฐอเมริกานั้นก็ยังเหนือกว่า ได้เปรียบกว่าจีนอยู่ถึง 8 เท่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านของจำนวนและความสามารถของวิศวกรคอมพิวเตอร์ ดาต้า ฯลฯ
แต่ถ้าดูอินดิเคเตอร์การเงิน แน่นอนว่าตอนนี้สหรัฐฯ นั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ส่วนในเรื่องของการศึกษาก็น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบการศึกษาในระดับทั่ว ๆ ไปนั้นเมื่อเทียบกับประเทศจีนนั้น สหรัฐอเมริกาถือได้ว่าเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีมหาวิทยาลัยที่ติดโผที่ดีที่สุดในโลกอยู่ก็ตามที แต่การศึกษาในระดับทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่แตกต่างมากนักกับประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้คะแนนระดับการศึกษาอันดับที่ 38 ด้วยซ้ำไป
แต่ในขณะที่ประเทศจีนนั้น ระดับการศึกษาทั่ว ๆ ไป สามารถส่งมอบได้ทั่วถึงมากกว่า และกำลังสร้างจำนวนคนเก่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับอัตราจำนวนของประชากรภายในประเทศ
ซึ่ง Ray ได้เล่าย้อนกลับไปในปี 1984 ตอนที่เขาได้ไปเยือนประเทศจีนนั้น เขาได้ยื่นเครื่องคิดราคา $10 ให้ผู้นำระดับสูงในประเทศจีนดู พวกเขาคิดว่ามันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกซะด้วยซ้ำไป แต่ตอนนี้หากลองยื่นอย่างพวกควอนตัมคอมพิวเตอร์ หรืออย่างปัญญาประดิษฐ์ให้พวกเขาดู ตอนนี้กลับพบว่า พวกเขากลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเลยทีเดียว
ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ก่อนเลยก็คือแก้ไขในเรื่องของการ financial ให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย มันเป็นเรื่องพื้นฐานเลย
แต่สิ่งที่พบก็คือ อย่างพวกนักการเมืองที่ชอบทำกันก็คือ การกู้ยืมเงินแล้วก็มาใช้จ่าย แจกจ่ายเงิน ซึ่งในเกมการเลือกตั้ง ก็มักจะเลือกที่จะจดจำฝ่ายที่แจกจ่ายเงิน โดยไม่สนใจว่าจะเป็นหนี้เป็นสินเท่าไหร่ กู้มาเท่าไหร่ สร้างหนี้เท่าไหร่ งบดุลเป็นอย่างไร
ส่วนหนี้สินที่นักการเมืองก่อเอาไว้อย่างมหาศาลก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ก็แค่พอหมดสมัยก็ปล่อยให้คนที่มารับช่วงต่อหาทางใช้หนี้ต่อไปแทน แถมคนที่มารับช่องเป็นประธานาธิบดีต่อ คณะรัฐบาลต่อ ที่นอกจากจะมีหนี้สินกองมหึมาที่ต้องแก้ไขจากคณะรัฐบาลรุ่นก่อนทิ้งเอาไว้แล้ว ยังมีงบประมาณน้อยกว่าด้วย มันจึงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากมาก มันก็เป็นแบบนี้เรื่อยมาในวงการการเมือง ที่คนรุ่นก่อน ๆ ทิ้งเอาไว้ให้แก่คนรุ่นปัจจุบัน
ซึ่งหาก Ray เขาได้เป็นผู้นำประเทศ เขาจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ดึงคนจากพรรคทั้งสองขั้วที่มีความเป็นกลาง เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาตอนนี้เลยก็คือ ไม่สามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลที่มีความเป็นกลางที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ประเทศจะพากันล่มได้เลย ทั้ง ๆ ที่สหรัฐอเมริกาตอนนี้ มีทรัพยากรที่ยอดเยี่ยมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในการความมั่งคั่ง ด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ฯลฯ เหลือแค่เพียงความสามัคคีร่วมกันทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงที่สุด นั่นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่หลีกเลี่ยงการเกิดสงครามทั้งสงครามภายในและสงครามภายนอก
War
ส่วนถ้าให้พูดถึงสงครามภายนอกที่สหรัฐอเมริกาปะทะกับจีน นั้น Ray บอกว่า มันจะมีการทำสงครามอยู่ด้วยกัน 5 แบบหลัก ๆ ก็คือ
- สงครามการค้า
- สงครามเทคโนโลยี
- สงครามภูมิรัฐศาสตร์ (สงครามการเมืองระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวเนื่องกับทางกายภาพทั้งมนุษย์และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์)
- สงครามเงินทุน
- สงครามทางการทหาร
ซึ่งสงครามทางการทหารที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ณ ตอนนี้ก็คือเรื่องของ ไต้หวัน ที่ทางประเทศจีนต้องการจะรวมชาติเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งอาจจะเกิดการใช้กำลังทหารเข้ายึดไต้หวันได้ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาก็มีพันธะทางการทหารที่จะช่วยปกป้องไต้หวันอยู่ แถมประธานาธิบดีไบเดน ยังออกมาบอกว่า หากจีนใช้กองกำลังทหารบุกไต้หวัน ทางสหรัฐอเมริกาไม่อยู่เฉยแน่ ซึ่งถ้ามันเกิดสงครามทางทหารระหว่างสหรัฐกับจีน ก็ขอให้พระเจ้าอวยพรด้วยก็แล้วกัน เพราะไม่มีอะไรมาการันตีว่า ใครจะชนะสงคราม เพราะในปัจจุบันอาวุธทางการทหารของแต่ละประเทศก็รุดหน้าเป็นอย่างมาก แต่ถ้าไม่เกิดสงครามทางการทหาร ในปัจจุบันมันก็เกิดสงครามอีกทั้ง 4 แบบที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วอยู่ดี ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้ชนะศึกสงครามดังกล่าว
ส่วนถ้าถามว่า cyber war จัดอยู่ในสงครามประเภทใด โดยทาง Ray ก็บอกว่า เขาจัดมันอยู่ในสงครามทางการทหาร รวมไปถึง Space War, Drone War ด้วย มันเป็นรูปแบบการโจมตีใหม่ ๆ นอกเหนือจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์
Xi Jinping
ต่อมา Lex ได้ถาม Ray ว่า เขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับ สี จิ้นผิง ในฐานะผู้นำของประเทศจีน
โดย Ray เล่าว่า สี จิ้นผิง โตมาในช่วงที่จีนมีการปฏิวัติ ที่เขาถูกปฏิบัติอย่างแสนสาหัส แต่เขาก็ค่อย ๆ ไต่เต้าตำแหน่งขึ้นมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นใหญ่เป็นโต ซึ่งเขาเป็นคนที่ฉลาด
โดยในสมัยแรกที่เขาได้ขึ้นเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศจีน (ซึ่งปกติแล้วประเทศจีนจะให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดสมัยละ 5 ปี) เขาก็ได้เริ่มต้นทำการปฏิรูปตลาดเศรษฐกิจให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดย ณ ขณะนั้น ธนาคารยักษ์ใหญ่ห้าแห่งทำการปล่อยกู้ให้แก่รัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น โดยมีผู้คำประกันคือรัฐบาล ซึ่งในช่วงนั้นไม่มีการควบคุมระบบดังกล่าว ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมากมาย ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ และช่วงนั้นเองทาง สี จิ้นผิง ก็เข้ามาจัดการกับปัญหาการคอรัปชั่น และเมื่อผ่านการปกครองไปราว ๆ 10 ปี สถานะทางการเงินของประเทศจีนก็เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก รวมไปถึงพวกเขาได้เปิดตลาดเพิ่มอีกหลายตลาด ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้คนในแต่ละชุมชน สามารถนำเงินไปใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เกิดจากคนในชุมชนและผลผลิตจากชุมชน ให้สามารถออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำการขายหรือให้บริการเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพื่อที่ชุมชนสามารถที่จะมีรายได้เลี้ยงดูและและดูแลชุมชนของตนเองได้
นอกจากนั้นยังได้พัฒนาระบบการปล่อยกู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการควบคุมดูแลอย่างรัดกุม ทำให้ตลาดทุนในประเทศจีนคึกคักเป็นอย่างมาก เพราะคนในประเทศสามารถระดมทุน สามารถขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ สามารถขึ้นเป็นเศรษฐีพันล้านได้ ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในยุคของ สี จิ้นผิง นั้น มีนักธุรกิจพันล้านเกิดขึ้นอย่างมากมาย
โดยในปัจจุบันประเทศจีนก็ได้พัฒนาตลาดทุนหรือ Capital Market ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
และในขณะเดียวกัน ประเทศก็เริ่มเกิดหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในช่วงสมัยที่สองของการเป็นผู้นำสูงสุดของจีนนั้น เขาก็ได้ทำการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ ซึ่ง ณ ตอนนั้นปัญหาหนี้สินและฟองสบู่ทางเศรษฐกิจของจีนนั้นหลัก ๆ เกิดจากในตลาด Real Estate หรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในกลุ่มของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำการปล่อยกู้ในสินทรัพย์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่กู้ไปสร้างอสังหาฯ เพื่อเก็งกำไรซะส่วนใหญ่ แต่ สี จิ้นผิง บอกว่า บ้านควรเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าการใช้มันเพื่อเก็งกำไร ดังนั้น มันจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวงการนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขและออกแบบอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถหาผู้คนมาอยู่อาศัยจริงได้ด้วย ไม่ใช่สร้างตึกเปล่า ๆ แล้วรอขายต่อเพื่อเก็งกำไรอย่างแต่ก่อน ซึ่งในความคิดเห็นของ Ray นั้น เขามองว่าสิ่งนี้ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว
และในขณะเดียวกัน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเทศ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ที่ออกไปในทางร่วมมือกันน้อยลง และเผชิญหน้ากันมากยิ่งขึ้น ที่ความสัมพันธ์มักจะส่อไปในทางที่อาจก่อให้เกิดสงครามกันมากขึ้น
ส่วนระบอบการปกครองนั้น สี จิ้นผิง ก็สามารถรวมอำนาจเอาไว้ที่ตัวเขาได้อย่างแข็งแกร่ง ผู้คนที่มีอำนาจสูงที่อยู่รอบตัวเขามีการแข็งข้อที่น้อยลง ซึ่งถ้าหากดูจากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมานั้น การรวมเป็นหนึ่งเดียว มักจะทำงานได้ดีกว่าการแบ่งพรรคพวกเป็นฝักเป็นฝ่ายตรงข้ามกันที่ก่อให้เกิดการขัดแย้งกันที่รุนแรง ดังนั้น พวกเขาจึงเชื่อว่า การรวมอำนาจไว้ที่แกนกลางของผู้นำนั้นจะทำให้การบริหารประเทศไปได้ดีกว่า ซึ่งต้องใช้ทักษะในการเจรจาขั้นสูงเป็นอย่างมาก เผื่อที่จะสามารถโน้มน้าวให้กลุ่มผู้นำที่มีอำนาจทั้งหลายในระดับตัวท็อปยอมร่วมมือด้วย และในปัจจุบันล่าสุดก็ดูเหมือนว่า ทาง สี จิ้นผิงจะเปลี่ยนกฎจากที่ผู้นำสูงสุดจะอยู่ในวาระได้สมัยละ 5 ปี นั้น ตอนนี้เขาแก้ไขจนเป็นว่า เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดนี้ได้ตลอดชีวิตไปเสียแล้ว
และนั่นก็คือความเห็นของ Ray Dalio ที่มีต่อ สี จิ้นผิง
America vs China
ส่วนการบริหารประเทศ ความแตกต่างระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนนั้น ในมุมมองของ Ray เขามองว่า ในสหรัฐอเมริกานั้นจะเริ่มต้นจากฐานล่างที่ระดับประชาชนก่อน โดยเริ่มต้นจากการให้สิทธิเสรีภาพในการพูด ในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการปกป้องตนเองและสินทรัพย์ของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
แต่ในขณะที่จีนนั้น จะเริ่มต้นจากการควบคุมจากด้านบนสุด คือกำหนดโดยผู้ที่มีอำนาจสั่งการลงมา ที่เน้นที่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนในระดับบุคคลจะเป็นรองลงมา ยกตัวอย่างเช่น หากจีนต้องการจะสร้างรถไฟความเร็วสูงที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ดังนั้นหากในระดับบุคคลมีการคัดค้านก็ถือว่าเป็นเรื่องรอง
หรืออย่างเรื่องการกำหนดประเภทของเกมที่เด็กสามารถเล่นได้และจำกัดเวลาในการเล่นต่อวัน นั้นทางรัฐบาลจีนก็มองว่าการเล่นเกมเยอะเกินไปจะส่งผลเสียมากกว่าก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมเด็ก ในขณะที่ทางสหรัฐอเมริกานั้น แต่ละบ้านก็จะจัดการกันเอาเอง ลูกฉัน ฉันจัดการเอง เพราะมันเป็นเรื่องระหว่างฉันกับลูกของฉัน
หรืออย่างเรื่องของ DATA ที่ในสหรัฐอเมริกานั้น บริษัทเอกชนจะเก็บข้อมูลเอาไว้กับตัว ไม่อยากให้รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามข้อมูล ในขณะที่จีนนั้นทางรัฐบาลจะควบคุมข้อมูลทุกอย่าง เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันจะส่งผลดีต่อสังคมมากกว่า
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ประเทศจีนนั้นหากพูดถึงกรอบขอบเขตเสรีภาพแล้ว มักจะปล่อยอิสระในด้านที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ การพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นการสร้างบาลานซ์กันระหว่างเรื่องต่าง ๆ ที่ถูกพิสูจน์มาแล้วว่ามันเวิร์ค โดย Ray Dalio เขายังพบด้วยว่า ในปี 1984 รายได้ต่อหัวของชาวจีนนั้น เพิ่มขึ้นสูงกว่า 26 เท่าจากก่อนหน้านี้, ประชาชนชาวจีนมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้นถึง 10 ปี และอัตราความยากจนลดลงจากร้อยละ 88 เหลือเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ส่วนระบอบการปกครองนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบระบอบประชาธปไตยหรือการปกครองบอบเผด็จการนั้น ทาง Ray บอกว่า แต่ละระบอบมันก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ถ้ามองข้อเสียของระบอบประชาธิปไตยนั้น ข้อเสียของมันก็คือ มันก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศ เพราะมันออกแบบมาให้แบ่งเป็นสองข้างสองฝั่ง ในขณะที่ประเทศที่เลือกจะปกครองด้วยระบอบเผด็จการนั้นเล็งเห็นว่าถ้ารวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางจุดเดียวก็จะขจัดปัญหาความขัดแย้งภายในออกไปได้ อย่างในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประเทศยักษ์ใหญ่ถึง 4 ประเทศ ที่เลือกที่จะปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ได้แก่ เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น และสเปน
ส่วนข้อดีของระบอบประชาธิปไตยนั้น มันมีระบบและกฎเกณฑ์ที่ดี มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ และมันจะดีมากก็ต่อเมื่อทุกคนเคารพกฎเกณฑ์ที่ตั้งร่วมกัน มันเป็นระบอบที่มีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง แต่ปัญหามันจะเกิดทันทีเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น อย่างเช่น เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ไม่ยอมรับคำตัดสิน มันจะก่อให้เกิดความโกลาหลภายในประเทศอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่ civil war หรือการเกิดสงครามกลางเมืองได้
ส่วนข้อเสียของระบอบการปกครองแบบเผด็จการหรือแบบคอมมิวนิสต์นั้น ทาง Ray บอกว่า ระบอบการปกครองแบบนี้มันขึ้นอยู่กับว่ามีความเข้มข้นระดับของเผด็จการมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ คือระบอบนี้มันขาดความยืดหยุ่น เพราะมันขึ้นอยู่กับผู้นำสูงสุดเป็นหลัก และระบบนี้สามารถถูกแทรกแทรงได้ง่าย ความหมายก็คือ ถ้าสิ่งที่คุณทำอยู่หากมันดันไปขัดหูขัดตาผู้นำ คุณก็โดนเล่นงานได้ในทันที และความเสี่ยงของระบอบเผด็จการนี้ก็คือ ยอมหักไม่ยอมงอ ซึ่งถ้าหากคุมคนไม่อยู่ก็แตกหักได้เลย
ในขณะที่การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยนั้น สามารถโยกไปทางซ้ายหรือทางขวาก็ได้ สามารถเปลี่ยนผู้นำได้ตลอด มันยืดหยุ่นกว่ามาก แต่ข้อเสียก็มีอีกนั่นแหละว่า ระบอบนี้อาจจะไม่ได้ผู้นำที่ดีที่สุด เก่งที่สุด เพราะมักถูกเลือกมาจากความชื่นชอบของเสียงข้างมาก
แต่ในขณะที่ระบอบเผด็จการนั้น จำเป็นที่จะต้องเลือกผู้นำที่ดีที่สุด เก่งที่สุด โดยเขาเปรียบกับบริษัทแห่งหนึ่ง ที่จะต้องมี CEO มีผู้นำ ซึ่งผู้นำจะพาบริษัทนั้นรอดและเติบโตได้นั้น จะต้องเป็นผู้นำที่เก่งกาจ เด็ดขาด และแน่นอนว่า เขามีอำนาจที่จะสั่งไล่ใครออกหรือรับใครเข้ามาทำงานในบริษัทนี้ก็ได้ แต่ย้ำว่า ‘ต้องเป็นผู้นำที่เก่งกาจ และมีวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยม’
ส่วนสาเหตุที่มันทำให้เกิด Cycle นั้น Ray ได้อธบายว่า คนรุ่นเก่าที่เคยผ่านช่วงที่เกิดสงครามมานั้น พวกเขาเข็ดขยาดกับการทำสงครามไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกหรือสงครามภายในประเทศ พวกเขาอยากใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ไม่ต้องการต่อสู้เพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะจดจำความเจ็บปวดที่ตนเคยผ่านมา แต่พอมาถึงคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคยผ่านช่วงสงครามทั้งภายในและภายนอกมาก่อน พวกเขาไม่ได้มีภาพความเจ็บปวดจากการทำสงคราม ดังนั้นพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ ต้องการจะไฟว้ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
และที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าโลกจะหมุนไป เทคโนโลยีจะพัฒนาเป็นอย่างมาก แต่ ‘มนุษย์’ นั้น ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยสักกะนิด มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ มันเหมือนกับหนังที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เปลี่ยนไปก็แค่ชุดที่คนใส่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปก็เท่านั้นเอง
Vladimir Putin
แล้ว Ray มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับ วลาดีมีร์ ปูติน ในฐานะผู้นำของรัสเซียบ้าง
โดย Ray Dalio เขาคิดว่า ปูตินนั้น เริ่มต้นเข้ามามีอำนาจในรัสเซียหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่ทุกอย่างพังพินาศลง ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ความยากไร้ จนเขาสามารถสร้างให้รัสเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพและนำพาความสงบสุขมาสู่ประเทศได้ ซึ่ง Ray เขาคิดว่า ปูติน นั้นเป็นผู้นำในระบอบกึ่งเผด็จการ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจตัดสินเด็ดขาด Ray เขาจึงคิดว่า ปูติน ในฐานะผู้นำประเทศนั้น เป็นผู้นำที่แข็งแกร่งเลยทีเดียว แม้ว่าจะไม่ใช่ในด้านเศรษญกิจ แต่ความแข็งแกร่งทางด้านการทหารนั้นมีความโดดเด่นเลยทีเดียว
และในปัจจุบันรัสเซียก็มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างประเทศจีน
ส่วนความอ่อนไหวในประเทศยูเครนนั้น ก็เป็นปัญหาเรื่องของเขตแดนที่ปูตินต้องการรักษาอำนาจคานกับกลุ่มนาโต้เอาไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพในเรื่อของดินแดน เขตแดนของประเทศ
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการปกครองระบอบใด หรือผู้นำประเทศจะเป็นใครนั้น ทาง Ray Dalio เขาก็พยายามที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงมาก่อนหน้านี้ โดยไม่พยายามใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไป เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องที่บิดเบือนได้
เพราะตอนที่เขาเติบโตมานั้น เขาเติบโตมาท่ามกลางความหลากหลายชนชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ การเมือง ฯลฯ ดังนั้น เขาจึงเรียนรู้ที่จะหาจุดยืนที่ดีพอที่จะไม่ล้ำเส้นใครเข้าให้ เพราะบริษัทของเขานั้น ได้ทำการลงทุนในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นเขาจะไม่ใช้ความคิดเห็นจากประเทศใดประเทศหนึ่ง รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือผู้นำคนใดคนหนึ่ง ในการตัดสินในแต่ละประเทศ แต่เขาจะเคารพกฎในแต่ละพื้นที่
ซึ่งการที่จะยอมรับและเข้าใจในผู้อื่นได้นั้น Ray บอกว่า อันดับแรกคุณจะต้องเปิดใจที่จะยอมรับในสิ่งที่แตกต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่าง ภาษาพูดที่แตกต่าง เสียก่อน แล้วจากนั้นให้คุณพยายามทำความเข้าใจในมุมมองของพวกเขา ซึ่งการทำความเข้าใจนั้น คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยทุกสิ่งอย่างกับพวกก็ได้ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน และอย่าพยายามยัดเยียดในสิ่งที่คุณเป็น ไปใส่ไว้ในหัวของพวกเขา คุณแค่เปิดใจ ยอมรับและเข้าใจผู้อื่น ก็เท่านั้นเอง
Bitcoin and Cryptocurrency
ทีนี้มาในเรื่องของ Cryptocurrency กันบ้าง โดย Lex ได้ถาม Ray ว่า เขามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ Bitcoin บ้าง
โดย Ray แสดงความคิดเห็นว่า หลังจากที่เขาได้เฝ้าดูการเติบโตของ Bitcoin ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้นั้น มันได้เปลี่ยนมุมมองของเขาไปอย่างมาก เพราะมันได้พิสูจน์ด้วยตัวมันเองแล้วว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น มันสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่เคยถูกแฮ็กเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้ง ๆ ที่หากย้อนไปสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ ใครจะไปคิดว่า การโยนโปรแกรมหรือโค้ดคอมพิวเตอร์ลงไปในโลกอินเตอร์เน็ตแล้วนั้น มันจะมาได้ไกลถึงเพียงนี้ จนมันได้กลายเป็นหัวข้อที่คนให้ความสนใจไปทั่วโลก ในกลุ่มคนหมู่มาก ที่ตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ที่มันได้กลายเป็นสิ่งที่มีผู้ใช้เข้ามาใช้งานมันจริง ๆ และเกิดเป็นมูลค่าขึ้นมา
โดยมันได้ถูกจัดอยู่ในรูปของ Asset หรือทรัพย์สินทางการเงินประเภทหนึ่ง ดังนั้น Ray จึงมองว่า นี่คือยุคของการแข่งขันการแย่งชิงกันเป็น ‘MONEY’ อย่างในปัจจุบันเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็ยังคงครองตลาดนี้อยู่ แต่เนื่องจากการที่มันถูกพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้มันเสื่อมค่าลง และนอกจากนั้นก็ยังจะมี CBDC : Central Bank Digital Currency ของธนาคารกลางที่กำลังจะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ด้วย
ส่วน NFT ที่มีการซื้อ ๆ ขาย ๆ กันได้ ก็สามารถนับได้ว่ามันเป็นเงินประเภทหนึ่งด้วย เพราะถ้าหากมีคนต้องการมัน ตัวมันก็สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าได้
ซึ่ง Ray Dalio ก็เคยบอกมาบอกผ่านสื่อด้วยว่า เขาก็ซื้อ Bitcoin เอาไว้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ
โดย Ray เขามองว่า มันก็เหมือนกับช่วงยุครุ่งเรืองของดอทคอม ที่ใครต่างก็ไม่เชื่อว่าเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Pets.com นั้นจะล่มสลายไป ดังนั้น ก็ต้องดูกันต่อไปว่าใครจะอยู่ใครจะไป มันเป็นเรื่องของการแข่งขัน
ส่วนถ้าถามว่าหน้าที่ของ ‘MONEY’ หรือ ‘เงิน’ นั้น มันทำหน้าที่อะไรบ้าง โดย Ray ก็บอกว่าหน้าที่ของเงินจะทำหน้าที่หลัก ๆ อยู่สองวัตถุประสงค์ก็คือ
- medium of exchange : เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
- store of wealth : เป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่ง
และเงินที่ดีนั้น จะต้องพกพาได้ง่าย
ส่วนทองคำนั้น ก็ทำหน้าที่เป็นเงินเช่นเดียวกัน และมันยังคงเป็นเงินที่ส่วนตัวเขาชื่นชอบอยู่ เพราะมันไม่สามารถถูกติดตามได้ ในขณะที่ bitcoin นั้น สามารถ track ได้ว่า เงินมันกำลังไหลจากกระเป๋าใดไปยังกระเป๋าใดอยู่บ้าง ซึ่งทางรัฐบาลสามารถตรวจสอบและตามเส้นทางเงินนั้นไปได้ แต่ในขณะที่เหรียญทองคำนั้น มันไม่ได้ออนไลน์มันไม่สามารถติดตามเส้นทางของทองคำชิ้นนั้นได้ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือ เขาต้องการความเป็นส่วนตัว เขาให้ความสำคัญในเรื่องของ privacy ที่หาได้ยากในโลกที่อะไร ๆ ก็ถูกเชื่อมต่อออนไลน์ไปเสียหมด
และนอกจากนั้น ทองคำมันได้พิสูจน์ตัวเองมานับพันปีแล้วว่าคนในสังคมให้การยอมรับมัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินทางไปที่แห่งใดบนโลก ผู้คนก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกับทองคำอยู่
แถมธนาคารกลางนั้น จะเก็บทองคำเอาไว้เป็นทุนสำรองคงคลังระหว่างประเทศ ที่มีทองคำในครอบครองถึง 1 ใน 3 ของทองคำที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลกใบนี้อีก ซึ่งส่วนตัวของเขาไม่คิดว่า bitcoin จะกลายเป็นทุนสำรองคงคลังของธนาคาร และแม้ว่าเขาจะชอบทองคำเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเทียบกับพอร์ทการลงทุนของเขาแล้วนั้น มันก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ดี เพราะเขายึดกฎในการกระจายการลงทุนไปในทรัพย์สินที่หลากหลายเพื่อป้องกันความเสี่ยงตามสไตล์ของเขานั่นเอง
ซึ่งถ้าถามว่า ราคาของ bitcoin ในอนาคต มันจะพุ่งไปที่เหรียญละ $1 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือไม่ ทาง Ray เขาก็ตอบว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะถ้าหากดูขนาดของตลาดทองคำ โดยเขาจะนับเฉพาะทองคำที่ไม่ถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับก็น่าจะมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ราว ๆ $5 trillion dollar ในขณะที่ bitcoin นั้น มีขนาดตลาดอยู่ที่ราว ๆ $0.5 trillion dollar หรือ bitcoin คิดเป็นสัดส่วนแค่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดของตลาดทองคำ(ที่ไม่นับพวกเครื่องประดับ)
แต่ถ้าถามว่า เขามั่นใจไหมว่า bitcoin มันไม่น่าจะโตไปกว่าทองคำหรือไม่? เขาก็ตอบว่า ‘ไม่’ เพราะอนาคตมันก็ไม่มีอะไรที่แน่นอน แต่ที่เขาตอบแบบนั้นเขาก็ตอบตามตรรกะที่เขาดูจากตัวเลขในอดีตและปัจจุบันก็เท่านั้นเอง
ส่วน Dogecoin หรือเหรียญหมานั้น Ray เขาก็บอกว่า มันก็น่ารักดี
Principles
ในการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง ในแต่ละครั้ง Ray เขาบอกว่า เขามักจะชอบจดโน้ตก่อน แล้วเริ่มต้นเขียนหลักการก่อนการตัดสินในเรื่องดังกล่าว เพราะเขาเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับตัวเองเป็นครั้งแรก แต่แต่ถ้าควานหาดี ๆ ก็จะพบว่า เรื่องดังกล่าวมันเคยเกิดขึ้นกับคนอื่นมาก่อนแล้วแทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น การมีลูกคนแรก ซึ่งคนอื่นก็เคยมีลูกคนแรกมาก่อนเรา เป็นต้น
ดังนั้น การที่จะตัดสินใจอะไรนั้น เขาก็จะเขียนหลักการก่อนเลยว่า เขาตัดสินใจแบบนี้ ด้วยเหตุผลอะไร ด้วยตัวเลขอะไร ด้วยการวัดค่าจากอะไรเท่าไหร่ เพื่อที่จะสร้างความชัดเจนแจ่มแจ้งว่า สิ่งที่เขาตัดสินใจนั้นเขาตัดสินใจด้วยหลักการนี้ และสามารถใช้อธิบายและสื่อสารกับผู้อื่นได้ด้วยว่าเพราะเหตุใดและทำไมเขาจึงตัดสินใจไปแบบนั้น และหากในอนาคตเขาเจอปัญหาดังกล่าวซ้ำอีก เขาก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และอย่างถูกต้อง มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่า พอเจอปัญหาแบบเดิม ๆ ก็ต้องใช้เวลานานที่กว่าจะผ่านมันไปได้
ดังนั้น Ray เขาจึงแนะนำให้ทุกคนลองจดหลักการ principles ลงบนกระดาษ เพื่อวิเคราะห์ว่าเพราะสาเหตุใด ที่ส่งผลให้พวกเขาตัดสินใจอย่างนั้น โดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้นยิ่งควรทำ เพื่อที่จะได้ส่งต่อหลักการที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จในลำดับถัดไป
Advice for Young people
คำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่นั้น Ray Dalio ก็แนะนำว่า ให้พยายามทำความรู้จักกับตนเองให้ได้มากที่สุด รู้ว่าชอบหรือรักที่จะทำในสิ่งใด และพยายามทำให้งานกับสิ่งที่รักนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ดังประโยคที่ว่า “รักในสิ่งที่ทำ และทำในสิ่งที่รัก” โดยให้คำนึงด้วยว่า สิ่งที่ทำนั้นจะต้องได้เงินดีด้วย เพราะเงินนั้นจะเป็นตัวช่วยให้นำพาไปสู่อิสระในการในชีวิต อิสระในการเลือกที่จะทำเฉพาะในสิ่งที่ตนเองต้องการ
ซึ่งถ้าคุณมีโอกาสได้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับการค้นหาตนเอง สมัยนี้ก็มีให้ทดสอบบนโลกออนไลน์เยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งแบบทดสอบเหล่านั้น จะช่วยให้คุณค้นพบตนเองได้เร็วยิ่งขึ้น
และจงอย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะหลักการ principles ของเขานั้น การที่จะประสบความสำเร็จได้ คุณจำเป็นที่จะต้องล้มเหลว เรียนรู้จากความล้มเหลวดังกล่าว แล้วพัฒนาตนเองให้ก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น หากคุณไม่เคยล้มเหลวเลย นั่นอาจแสดงว่า คุณไม่เคยลงมือทำอะไรเลย มันก็จะไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ หากขาดการพยายามลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง
นอกจากนั้น การรู้จักตนเอง ยังหมายถึง การรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง โดยหากคุณรู้ว่าตนเองนั้นมีจุดอ่อนในเรื่องใด ก็ให้หาคนที่มีจุดแข็งในเรื่องดังกล่าวมาทำหน้าที่นั้นแทน และเช่นเดียวกัน ก็ให้เราใช้จุดแข็งของเราเอง ช่วยเหลือผู้อื่นในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของพวกเขา นั่นมันจะทำให้การทำงานร่วมกันเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ในการบรรลุไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน
ซึ่งชีวิตมันก็เหมือนกับการเล่นเกมที่ต้องผ่านด่าน ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ และคอยเก็บสะสมประสบการณ์ระหว่างการเดินทาง ที่ต้องผ่านสิ่งล่อใจต่าง ๆ ที่ทำให้ออกนอกเส้นทางหรือหลงทางไปให้ได้
และนี่ก็คือ 5 ขั้นตอนที่จะส่งผลให้ชีวิตไปสู่ความสำเร็จ
ขั้นที่ 1 – Know your goal
เนื่องจากมันมีหลากหลายเรื่องในชีวิตที่ต้องการ ไอ้นั่นก็อยากได้ ไอ้นี่ก็อยากมี ไอ้นู่นก็อยากเป็น “ซึ่งคนเราเกิดมานั้น ไม่สามารถเป็นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราสามารถเป็นทุกสิ่งอย่างได้ถ้าเราอยากเป็น” ดังนั้น จงตั้งเป้าหมายเพื่อจัดลำดับความสำคัญก่อนว่า จะทำเรื่องใดเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อย ๆ ทำทีละเป้าหมายให้มันสำเร็จ ซึ่งในระหว่างทางก็จะพบเจอกับอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้ และต่อไปนั่นก็คือ step ที่ 2
ขั้นที่ 2 – Understanding your problem
ให้ระบุว่าปัญหาและอุปสรรคใดที่กำลังเผชิญอยู่และเป็นตัวขว้างกันระหว่างตัวคุณกับเป้าหมาย
ขั้นที่ 3 – Diagnosing root causes
การวินิจฉัยว่า อะไรคือรากแก่นของปัญหาที่แท้จริง เช่น ตัวคุณเองคือจุดอ่อน หรือเกิดจากจุดอ่อนของคนอื่น
ขั้นที่ 4 – Design Solution
ออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ขั้นที่ 5 – Implementation Design
จัดการดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงจาก Design ดังกล่าว
ซึ่ง Ray Dalio เขาเรียกกระบวนการทั้งห้านี้ว่า ‘Looping Process’
สุดท้ายท้ายสุด Ray เขาก็เชื่อว่า ความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์นั้น ก็คือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นอย่างไร และสังคมมนุษย์จะก้าวหน้าขึ้นได้ ก็เกิดจากการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ล้ำหน้าในอนาคต
Resources