Peter Schiff ได้ให้สัมภาษณ์บนช่อง Youtube ของ Natalie Brunell เกี่ยวกับเรื่องของการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะมาเยือนว่ามีวิธีใดบ้างที่จะเจ็บตัวน้อยที่สุด จากการพังทลายของเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
โดย Peter Schiff เริ่มต้นด้วยการพูดว่า หลายคนอาจกำลังคิดว่าเศรษฐกิจ ณ ตอนนี้กำลังไปได้ดี แต่เขากลับมองว่าเศรษฐกิจ ณ ตอนนี้นั้น มันแย่กว่าที่หลายคนคิดมาก นั่นก็เพราะว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มันอาจจะทำให้เราเข้าใจผิดได้
ซึ่งหากเราลองนึกย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008 ตอนนั้นตัวของ Peter Schiff เขาได้ประกาศว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในเดือนธันวาคม ปี 2008 แต่จริง ๆ แล้วนั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยมันได้เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2007 แล้ว นั่นหมายความว่าพวกเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาเป็นปีแล้วโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งหลังจากนั้นพวกรัฐบาลต้องกลับไปแก้ไขข้อมูลย้อนหลังทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นพวกเขายังบอกปาว ๆ อยู่เลยว่าเศรษฐกิจยังเติบโตดีอยู่เลย
และแน่นอนว่าในช่วงปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นถ้ารัฐบาลแสดงตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจให้มันดูดีเข้าไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากกว่า
ซึ่งทาง Peter Schiff เองนั้นเขาก็เชื่อว่าประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยอีกครั้ง โดยในตอนนี้รัฐบาลสหรัฐฯ บอกว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ Peter Schiff บอกว่า หากลองมองให้ลึกลงไปอีกสักหน่อยก็จะพบว่า อัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นเป็นงานพาร์ทไทม์ ไม่ใช่งานเต็มเวลา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น งานแบบ full-time กำลังหายไป ไม่ใช่เพิ่มขึ้น โดยเขามองว่านี่เป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ไม่ใช่แข็งแกร่งอย่างที่รัฐบาลพยายามจะบอก
คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ “แล้วทำไมผู้คนถึงต้องทำงานหลายงานกันด้วยล่ะ? พวกเขาอยากทำหลายงานหรือจำเป็นต้องทำหลายงานกันแน่?” คำตอบก็คือ พวกเขาจำเป็นต้องทำหลายงาน นั่นก็เพราะว่า ในปัจจุบันค่าครองชีพมันสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ประธาธิบดีไบเดนเข้ามาบริหารประเทศ ค่าครองชีพของประชาชนชาวอเมริกันก็เพิ่มสูงขึ้นกว่า 30-40% เลยทีเดียว ซึ่งนี่มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย เพราะมันทำให้ประชาชนต้องทำงานหนักขึ้น ทำงานหลายงาน เพื่อที่จะมีเงินเพียงพอไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ ซื้ออาหาร จ่ายค่าไฟ ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้อยู่รอดในแต่ละวัน
นอกจากนี้ อัตราการออมของคนก็ลดลงเป็นอย่างมาก คนเริ่มใช้เงินเก็บที่เหลืออยู่จากช่วงที่รัฐบาลแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อตอนช่วงเกิด covid-19 แต่มันก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หลายต่อหลายคนต้องไปกู้เงิน แถมมีหนี้บัตรเครดิตสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็สูงมากด้วย แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือก
ดังนั้น เราลองคิดดูเอาว่า ถ้าเศรษฐกิจดีจริง ทำไมคนถึงต้องเป็นหนี้มากขึ้น? ทำไมคนไม่สามารถเก็บออมเงินได้? ซึ่ง Peter Schiff บอกว่า นี่มันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไม่ได้แข็งแรงอย่างที่หลายคนคิด
แล้วยังมีอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ นั่นคือเรื่องหนี้สาธารณะ ที่ตอนนี้รัฐบาลสหรัฐฯ มีหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ ขาดดุลงบประมาณสูงมาก ขาดดุลการค้าก็สูงด้วย นี่ไม่ใช่ลักษณะของเศรษฐกิจที่แข็งแรงเอาซะเลย มันเป็นลักษณะของเศรษฐกิจที่อยู่รอดด้วยการก่อหนี้และการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือความนิยมของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ตอนนี้ไบเดนเป็นประธานาธิบดีที่ไม่เป็นที่นิยมที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจความคิดเห็นมา ส่วนแฮร์ริสก็เป็นรองประธานาธิบดีที่ไม่เป็นที่นิยมที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
คำถามก็คือ “ทำไมพวกเขาถึงไม่เป็นที่นิยมกันล่ะ?” คำตอบนั้นก็คงเป็นเพราะเศรษฐกิจมันแย่จริง ๆ นั่นแหละ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ประชาชนอเมริกันก็กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เงินเฟ้อมันทำให้อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนลดน้อยลง ทำให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง
โดย Peter Schiff บอกว่าปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อนี่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก และมันก็เกิดมาจากการที่รัฐบาลใช้จ่ายมากเกินไป และธนาคารกลางก็พิมพ์เงินเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายนี้ โดยพวกเขาเรียกมันว่า “การทำ QE” (Quantitative Easing) แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นนั่นแหละ
ซึ่งผลที่ตามมาจากการพิมพ์เงินเพิ่มก็คือ มันส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งมันก็เหมือนกับเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากประชาชนนั่นเอง และคนที่ได้รับผลกระทบจากการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมากที่สุดก็คือคนจนและคนชนชั้นกลาง เพราะพวกเขาต้องใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าน้ำมัน ส่วนทางประธานาธิบดีไบเดนที่อาจจะได้รับการสนับสนุนจากคนรวยอยู่นั้น พวกเขาได้รับผลประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เพราะมันทำให้ Assets หรือทรัพย์สินที่พวกเขาถือครองอยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น พวกเขาร่ำรวยขึ้น ในขณะที่บิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ พวกคนรวยนั้น อาจจะไม่รู้สึกอะไรมากนักกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เพราะมันเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ ของพวกเขา
ดังนั้น หากจะบอกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้น จะต้องมีตัวเลขงาน part-time ลดลง และมีตัวเลขงาน full-time ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญที่ออกมาอย่างเป็นทางการ ถึงจะพอเชื่อได้ว่าเศรษฐีเริ่มดีขึ้นแล้วจริง ๆ
คำถามต่อมาก็คือ “แล้วเจ้าปัญหาเงินเฟ้อนี้จะหายไปในเร็ว ๆ นี้หรือไม่?” ทาง Peter Schiff ก็ตอบว่า ‘ไม่’
เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED บอกว่าพวกเขากำลังพยายามควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2% แต่ Peter Schiff เขาคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอะไรน่ะหรอ? ก็เพราะว่าพวกเขาไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาน่ะสิ
เพราะสิ่งที่ FED ทำก็คือ พวกเขาพยายามควบคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แนวคิดการทำแบบนี้ก็คือ ถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น คนก็จะกู้ยืมน้อยลง ใช้จ่ายน้อยลง แล้วเงินเฟ้อก็จะลดลง แต่ปัญหาก็คือ ถึงแม้ FED จะขึ้นดอกเบี้ย แต่ทางรัฐบาลก็ยังมีอัตราเร่งที่นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของการกู้ยืมและการใช้จ่ายในระดับที่สูงสุดอยู่ดี และประชาชนแต่ละครัวเรือนก็ยังคงมีอัตราเร่งที่สูงนับเป็นประวัติการณ์ในการกู้ยืมมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ดี
นั่นหมายความว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งการพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อจริง ๆ นั้น จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้มาก แต่ FED ก็ไม่กล้าทำหรอก นั่นก็เพราะพวกเขากลัวว่าจะทำให้ธนาคารล้มละลาย เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ Silicon Valley Bank และ Signature Bank เมื่อไม่นานมานี้
ถ้า FED ขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่านี้ ธนาคารอื่น ๆ ก็อาจจะล้มตามไปด้วย เพราะระบบธนาคารทั้งระบบตอนนี้มันอ่อนแอมาก พวกเขาถือพันธบัตรรัฐบาลและหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้จะลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
ดังนั้น FED จึงต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่เพราะพวกเขาสู้กับเงินเฟ้อสำเร็จแล้ว แต่เพราะถ้าพวกเขาขึ้นดอกเบี้ยต่อไป มันอาจจะทำให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ได้
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป? Peter Schiff เขาก็คิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ FED อาจจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ควรทำ แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจจะแย่ลงเรื่อย ๆ อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น การสร้างงานจะชะลอตัวหรืออาจจะติดลบ
FED จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการลดดอกเบี้ย โดยบอกว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจะช่วยลดเงินเฟ้อในอนาคต แม้ว่าตอนนั้นเงินเฟ้ออาจจะยังอยู่ที่ 4-5% ก็ตาม พวกเขาจะบอกว่า “เราเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะลดลงเอง เพราะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอ่อนแอลง ดังนั้นเราจึงสามารถหันไปให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว”
แต่สิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับก็คือ การถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งต่อไปจะยิ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น เหตุผลก็เพราะว่าการขาดดุลงบประมาณที่มหาศาลอยู่แล้วจะยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก รัฐบาลจะต้องพิมพ์เงินมากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหานี้
สิ่งนี้จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมาก ซึ่งเราก็ยังไม่เห็นผลกระทบนี้ชัดเจนในตอนนี้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้น มันจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูงขึ้นไปอีก
สิ่งที่เรากำลังจะเผชิญคือภาวะถดถอยที่มาพร้อมกับเงินเฟ้อที่สูง หรือที่เรียกว่า Stagflation ซึ่ง Stagflation เป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติและยากต่อการแก้ไข เพราะโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมักจะต่ำ แต่ในกรณีของ stagflation เงินเฟ้อกลับสูงขึ้นพร้อม ๆ กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
หรือสหรัฐอเมริกาอาจจะประสบกับความรุนแรงถึงขั้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่มาพร้อมเงินเฟ้อ (Inflationary Depression) ก็ได้ มันจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่เราไม่เคยเจอมาตั้งแต่ในปี 1970 และครั้งนี้มันจะรุนแรงกว่าตอนนั้นมาก
ต่อมาทาง Peter Schiff ได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา โดยเขาเปรียบเทียบการพิมพ์เงินของรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เหมือนกับการเสพยา ติดยาเสพติด โดยเขาอธิบายว่ายิ่งใช้นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องการปริมาณมากขึ้นเท่านั้น เพราะร่างกาย (หรือในกรณีนี้คือเศรษฐกิจ) ได้สร้างภูมิต้านทานและต้องการปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม
โดยเขาชี้ให้เห็นว่าทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีปัญหา รัฐบาลและ FED ก็จะแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินเพิ่ม แทนที่จะยอมรับความเจ็บปวดในระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริง แต่พวกเขากลับเลือกที่จะ “เสพยา” หรือก็คือการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในระยะยาวจะยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตขึ้น
และนอกจากนี้ทาง Peter Schiff ยังพูดถึงปัญหาการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเขาชี้ให้เห็นว่าขณะนี้สหรัฐฯ กำลังใช้เงินจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเพียงเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหนี้สาธารณะ และภายในปีหน้า ตัวเลขนี้อาจพุ่งสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่เพิ่มขึ้นอีกก็ตามที
และ Peter Schiff ยังเตือนอีกว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ การจ่ายดอกเบี้ยอาจกลายเป็นรายจ่ายที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลสหรัฐฯ มากกว่าค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมหรือด้านการทหาร และหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ในที่สุดรัฐบาลอาจต้องใช้รายได้จากภาษีทั้งหมดเพียงเพื่อจ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น
โดยเขาเชื่อว่าสถานการณ์นี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และจะต้องเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินที่เรารู้จักในปัจจุบัน
Peter Schiff เขาก็ได้สรุปว่าการแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มเติมจะยิ่งทำให้สถานการณ์ของเศรษฐกิจแย่ลง และเขาก็แนะนำให้ผู้คนเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตที่กำลังจะมาถึงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอย่างแท้จริง อย่างเช่น ทองคำ
เหมืองทองคำ แร่ทองคำและแร่เงิน
โดย Peter Schiff ได้กล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่าราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปถึง 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 20% ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 4 เดือน
ซึ่งนี่เป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญมากสำหรับทองคำ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงขนาดมูลค่าของตลาดขนาดใหญ่ของทองคำ โดยเขาอธิบายว่าการที่ทองคำซึ่งมีมูลค่าตลาดมหาศาลสามารถเพิ่มขึ้นได้ 20% นั้น เทียบเท่ากับการที่ bitcoin ราคาพุ่งขึ้นเป็นสี่เท่าเลยทีเดียว
ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม Peter Schiff เขาถึงชอบพูดถึงทองคำ นั่นก็เพราะว่าทองคำนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าในตัวมันเอง มันไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขในคอมพิวเตอร์เหมือนเงินในธนาคารหรืออย่าง bitcoin
ทองคำมีประโยชน์มากมาย มันเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่าง เช่น นำไฟฟ้าได้ดี ไม่เป็นสนิม และมีความสวยงาม นอกจากนี้ ทองคำยังมีปริมาณจำกัดในโลก เราไม่สามารถพิมพ์ทองคำเพิ่มได้เหมือนกับเงินกระดาษ
ที่น่าสนใจก็คือ คุณจะสังเกตได้ว่าช่วงนี้ธนาคารกลางของหลายประเทศกำลังซื้อทองคำกันมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศในตลาดเกิดใหม่ เช่นในธนาคารกลางในแถบตะวันออก คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมพวกเขาถึงทำแบบนั้น? ทั้ง ๆ ที่พวกเขาสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วได้ดอกเบี้ย 5% แต่กลับเลือกที่จะซื้อทองคำที่มันไม่ให้ผลตอบแทน หรือผลตอบแทนเป็น 0% กันล่ะ?
ซึ่งทาง Peter Schiff เขาคิดว่าเป็นเพราะพวกเขาเห็นสัญญาณอันตราย พวกเขาไม่เชื่อมั่นในความรับผิดชอบทางการคลังของรัฐสภาสหรัฐฯ และไม่เชื่อว่า FED จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ พวกเขากำลังแสดงออกผ่านการกระทำโดยการขายสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์และเพิ่มทองคำสำรองแทน
นี่คือการเริ่มต้นของกระบวนการ “ลดการพึ่งพาดอลลาร์” หรือ de-dollarization ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ กำลังย้ายออกจาก U.S. ดอลลาร์ และก็ยังพากันเริ่มออกจากยูโร เยน และเงินปอนด์ด้วย พวกเขากำลังย้ายไปสู่เงินที่แท้จริงอย่างทองคำมากขึ้น พวกเขาต้องการที่จะรองรับสกุลเงินของตัวเองด้วยสิ่งที่มีค่าจริง ๆ แทนที่จะเป็นแค่สกุลเงินกระดาษที่ไม่มีอะไรค้ำประกัน
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแนวโน้มนี้เท่านั้น มันยังต้องต้องดำเนินต่อไปอีกยาวไกล เพราะธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังถือครองทองคำน้อยเกินไป โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่งเริ่มซื้อ ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศตะวันตกมีทองคำสำรองในสัดส่วนที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับปริมาณทองคำสำรองคงคลังที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลกใบนี้
แต่ Peter Schiff ก็บอกว่า ที่น่าเสียดายก็คือ ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ กำลังซื้อทองคำ แต่คนอเมริกันจำนวนมากกลับกำลังขายทองคำเพื่อไปซื้อ bitcoin หรือ ETF ของ bitcoin แทน ซึ่งนี่เป็นการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งออกจากสหรัฐฯ ไปสู่ประเทศอื่น ๆ อย่างจีนหรืออินเดีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ในปัจจุบัน
ทีนี้ ทาง Peter Schiff เขาอยากจะพูดถึงเรื่องหุ้นเหมืองทองคำสักหน่อย หลายคนอาจจะไม่รู้ว่านี่เป็นการลงทุนที่น่าสนใจมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้นทุนในการทำเหมืองทองคำเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเงินเฟ้อ ทั้งค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ค่าพลังงาน ทุกอย่างแพงขึ้นหมด
แต่ราคาทองคำกลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากพอที่จะชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้กำไรของบริษัทเหมืองทองคำลดลง แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นเร็วกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้กำไรของบริษัทเหมืองทองคำพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
ซึ่งแม้จะมีนักคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ธนาคารกลางจะตรึงราคาทองคำเอาไว้ที่ $1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แต่ลองคิดดูว่าถ้าตอนนี้ต้นทุนการขุดทองคำอยู่ที่ $2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำในตลาดอยู่ที่ $1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ บริษัทเหมืองก็จะขาดทุนทุกครั้งทุกออนซ์ที่ทำการขุดมันขึ้นมา มันก็จะไม่มีแรงจูงใจในการขุดทองคำเพราะมีแต่ขาดทุน แต่ถ้าในอนาคตราคาทองคำพุ่งไปถึง $5,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น $3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ บริษัทก็จะมีกำไรมหาศาลถึง $2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นี่คือเหตุผลที่ Peter Schiff เขาลงทุนในหุ้นเหมืองทองคำเป็นจำนวนมาก โดยเขามีพอร์ตการลงทุนที่แบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน โดยครึ่งหนึ่งเป็นหุ้นเหมืองทองคำ ส่วนทองคำและแร่เงินนั้น เขาไม่นับว่าอยู่ในพอร์ตการลงทุน เขามองว่ามันเป็นเงินออมของเขา โดยใช้หลักคิดว่า แทนที่จะออมเงินสดอยู่ในธนาคาร เขาเลือกที่จะออมไว้ในรูปของทองคำกับแร่เงินแทน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลและหุ้นคุณค่าทั่วไป
โดยเขาจะซื้อหุ้นเหมืองทองคำเมื่อตอนที่มันมีราคาต่ำลง และเวลาที่หุ้นเหมืองทองคำสูงขึ้น เขาจะหยุดซื้อเหมืองทองคำ แล้วเอาไปลงทุนในหุ้นคุณค่าที่ไม่เกี่ยวข้องกับทองคำและแร่เงินแทน เพื่อทำการบาลานซ์พอร์ตการลงทุนของเขาให้อยู่ 50/50
bitcoin
ทีนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว bitcoin ล่ะ? ทำไมตัวของ Peter Schiff เขาถึงไม่สนับสนุนให้ลงทุนในบิทคอยน์ นั่นก็เพราะเขามองว่าบิทคอยน์ไม่ใช่เงินที่แท้จริง มันไม่มีมูลค่าในตัวมันเอง มันเป็นแค่ตัวเลขดิจิทัลที่มีแต่ราคา และราคาที่มันสูงขึ้นก็เพราะคนอยากซื้อต่อ ๆ กันเท่านั้นเอง
โดย Peter Schiff เขากล่าวว่า “ถ้าคุณอยากเล่นการพนัน ถ้าคุณอยากจะได้ moonshot ถ้าคุณอยากซื้อ lambo และทำเงิน 10 เท่า 20 เท่า หรือ 50 เท่า โอกาสที่จะทำแบบนั้นได้ด้วย Bitcoin นั้นมีน้อยมาก” โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมว่าในขณะที่โอกาสที่ Bitcoin จะให้ผลตอบแทนมหาศาลในอนาคตนั้นมีน้อยมาก แต่ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงิน 70-80% หรือแม้กระทั่ง 90% ในการลงทุน Bitcoin นั้นกลับมีสูงมาก ดังนั้นเขาจึงไม่เห็นว่าความเสี่ยงนั้นคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่อาจจะได้รับ
ในทางตรงกันข้าม Peter Schiff เขาเชื่อว่าแม้หุ้นเหมืองทองคำอาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียครึ่งหนึ่งของมูลค่า แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นน้อยกว่าการลงทุนใน bitcoin และในขณะเดียวกัน โอกาสที่หุ้นเหมืองทองคำจะให้ผลตอบแทนกลับคืนมา 10 เท่า 20 เท่า หรือแม้แต่ 3 เท่านั้นมีโอกาสมากกว่า bitcoin ซะอีก
ซึ่งถ้าคุณมองหาแหล่งกักเก็บความมั่งคั่ง Peter Schiff เขาก็แนะนำให้คุณซื้อทองคำแท่งเก็บเอาไว้ ส่วนถ้าหากคุณต้องการเพิ่มความมั่งคั่งก็ให้เก็งกำไรจากหุ้นเหมืองทองคำเอาไว้
ซึ่งตัวของ Peter Schiff เอง เขาก็เข้าใจว่าหลายคนหวังว่าจะรวยจากบิทคอยน์ แต่นั่นเป็นความหวังที่ผิด ๆ มันก็เหมือนกับการซื้อลอตเตอรี่ คุณอาจจะถูกรางวัล แต่โอกาสก็น้อยมาก และถ้าคุณไม่ถูก คุณก็จะสูญเสียเงินทั้งหมด
ตัวของ Peter Schiff เองเขาก็เข้าใจว่าหลายคนอาจจะมองว่าตัวเขานั้นไม่เข้าใจใน bitcoin หรืออาจจะคิดว่าเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะตัวของเขานั้นขายทองคำ แต่ความจริงแล้วเขาศึกษาเรื่องของ bitcoin มาอย่างละเอียด และเขาเพิ่งเริ่มขายทองคำในปี 2011 เท่านั้นเอง ก่อนหน้านั้นเขาก็แนะนำให้คนซื้อทองคำมาตลอดเป็น 10 ปีแล้ว
Peter Schiff เขายอมรับว่าเขาก็เสียใจอยู่บ้างที่ไม่ได้ซื้อบิทคอยน์ตั้งแต่แรก เป็นใครก็เสียใจเมื่อเห็นราคามันพุ่งขึ้นมาขนาดนี้ แต่นั่นก็เป็นการมองย้อนหลังไปในอดีต ซึ่งในตอนนั้นมันก็เป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลที่จะไม่ซื้อ bitcoin เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตภายภาคหน้า
และในตอนนี้ ถึงแม้ว่า bitcoin จะมีราคาสูง แต่ทาง Peter Schiff เขาก็ยังคงเชื่อว่ามันเป็นฟองสบู่ที่กำลังใกล้จะแตก เพราะแม้จะมี bitcoin ETF ออกมาให้ซื้อขายกัน แต่คนที่ซื้อ ETF เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่เชื่อมั่นในบิทคอยน์จริง ๆ พวกเขาแค่อยากเก็งกำไรเท่านั้น ถ้าราคาลงสัก 20-30% พวกเขาก็จะเทขายทันที
เขาจึงอยากจะเตือนทุกคนว่า อย่าเอาเงินทั้งหมดไปลงกับ bitcoin เพราะถ้าคุณเชื่อว่าราคามันจะขึ้นไปถึง $100,000 ดอลลาร์ หรือ $1 ล้านดอลลาร์ คุณก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะมาก แค่ลงทุนนิดหน่อยก็พอ แล้วเอาเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า เช่น ทองคำ หุ้นที่จ่ายเงินปันผล หรืออย่างพวกอสังหาริมทรัพย์ จะดีกว่า
อย่างน้อยถ้า bitcoin มันล่ม คุณก็ยังมีสินทรัพย์อื่นเหลืออยู่ แต่ถ้าคุณเอาเงินทั้งหมดไปลงกับ bitcoin แล้วมันล่ม คุณก็จะสูญเสียทุกอย่าง
และตัวของ Peter Schiff เองเขาก็รู้ว่าหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา แต่เขาก็หวังว่าทุกคนจะลองคิดให้รอบคอบ อย่าปล่อยให้ความโลภหรือความกลัวที่จะพลาดโอกาสมาครอบงำการตัดสินใจของคุณ จงระมัดระวังและรอบคอบในการลงทุน
Peter Schiff ได้อธิบายว่าทองคำและแร่เงินนั้น ถือว่าเป็น “เงินของประชาชน” (people’s money) โดยเขาได้เน้นย้ำว่า มันไม่ใช่การที่รัฐบาลกำหนดให้ทองคำและแร่เงินเป็น Money แต่เป็นประชาชนที่เลือกใช้ทองคำและแร่เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
โดยเหตุผลที่รัฐบาลและกษัตริย์ในอดีตยอมรับทองคำและแร่เงินเป็น Money นั้นก็เพราะว่าประชาชนใช้มันอยู่แล้ว โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่าเมื่อกษัตริย์ต้องการจ่ายเงินให้แก่ทหารเพื่อเป็นค่าจ้างในการปกป้องบ้านเมือง พวกเขาก็ต้องจ่ายด้วยสิ่งที่เหล่าบรรดาทหารสามารถนำไปซื้ออาหารได้ ซึ่งก็คือทองคำและแร่เงิน
ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการนำทองคำและแร่เงินมาตีขึ้นรูปเป็นเหรียญ แต่พวกรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้กำหนดให้มันเป็น Money ดังนั้น ทองคำและแร่เงินได้รับการยอมรับให้เป็น Money โดยธรรมชาติจากการเลือกของประชาชน
ซึ่ง Bitcoin ไม่ได้เป็น “เงินของประชาชน” เหมือนอย่างทองคำ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจากการเลือกใช้โดยธรรมชาติของผู้คน แต่เป็นการสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายให้เป็นเงินมาตั้งแต่แรก
bitcoin มันไม่ได้เป็น “ทองคำดิจิทัล” อย่างที่หลายคนชอบพูดกัน เพราะมันไม่มีคุณสมบัติของทองคำเลย คุณไม่สามารถทำสร้อยข้อมือจากบิทคอยน์ได้ คุณไม่สามารถใช้บิทคอยน์นำไฟฟ้าได้ มันไม่มีประโยชน์อื่นใดนอกจากการเก็งกำไร
หลายคนอาจจะบอกว่า “Peter คุณไม่เข้าใจโลกดิจิทัล เราต้องการเงินดิจิทัลสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เขาอยากจะบอกว่า เขาเข้าใจดีว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง แต่การที่เราต้องการระบบการเงินดิจิทัลมันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยอมรับ bitcoin
ลองคิดดูว่า เรามีระบบการเงินดิจิทัลอยู่แล้ว เราโอนเงินผ่านธนาคารออนไลน์ได้ เราใช้บัตรเครดิตได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่บนพื้นฐานของเงินที่มีมูลค่าจริง ไม่ใช่แค่ตัวเลขในคอมพิวเตอร์
ทองคำก็สามารถใช้เป็นพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัลได้เช่นกัน เราสามารถมีสกุลเงินดิจิทัลที่มีทองคำหนุนหลังได้ นั่นจะทำให้เรามีทั้งความสะดวกของเทคโนโลยีดิจิทัล และความมั่นคงของสินทรัพย์ที่มีค่าจริง
อีกประเด็นที่ Peter Schiff เขาอยากจะพูดถึงคือเรื่องของการกระจายอำนาจ หลายคนบอกว่า bitcoin ดีเพราะมันกระจายอำนาจ ไม่มีใครควบคุม แต่ความจริงแล้ว การที่ไม่มีใครควบคุมก็เป็นปัญหาได้เช่นกัน เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะไม่มีใครรับผิดชอบ
ในขณะที่ทองคำ แม้จะถูกเก็บไว้ในธนาคารหรือคลังสินค้า แต่มันก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ มีกฎหมายคุ้มครอง และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน
สุดท้ายนี้ Peter Schiff เขาอยากจะย้ำอีกครั้งว่า เขาไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่เขาเชื่อว่าเราต้องระมัดระวังและคิดให้รอบคอบ อย่าหลงไปกับกระแสหรือคำโฆษณาชวนเชื่อ และต่อให้ bitcoin มันจะขึ้นหรือจะลง เขาก็ยังคงรวยอยู่ดี ดังนั้นคุณไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความมั่งคั่งของเขา ที่แม้ว่าหากเขาซื้อ bitcoin ก่อนหน้านี้ เขาอาจจะกลายเป็นเศรษฐีพันล้านไปแล้วก็ได้ แต่ต่อให้ไม่มี bitcoin เขาก็จะเป็นเศรษฐีพันล้านให้ได้อยู่ดี แม้ว่ามันอาจจะเป็นได้ช้าสักหน่อย
ดังนั้น การลงทุนควรอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ไม่ว่าคุณจะเลือกลงทุนในอะไร ขอให้ศึกษาให้ดี เข้าใจความเสี่ยง และอย่าลงทุนมากเกินกว่าที่คุณจะรับความเสียหายได้
และเขาหวังว่าสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามที อย่างน้อยก็ขอให้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และอย่าลืมว่า ในโลกการลงทุน ไม่มีใครรู้ทุกอย่าง เราต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ
Resources