ประวัติ Phil Knight ผู้ก่อตั้ง Nike แบรนด์กีฬาระดับตำนานของโลก
หากพูดถึงแบรนด์เครื่องแต่งกายด้านกีฬา ชื่อของ Nike นั้น เป็นชื่อแรก ๆ ที่ผู้คนมักจะนึกถึงขึ้นมาแทบจะทันทีทันใด เพราะแบรนด์นี้ได้เข้าไปอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นกีฬาหรือแม้กระทั่งคนที่ชื่นชอบเรื่องเกี่ยวกับกีฬา ซึ่ง Phil Knight เองก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นอดีตนักกีฬามาก่อน เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักวิ่ง แล้วผันตัวมาทำธุรกิจนำเข้ารองเท้า และพัฒนาสู่การผลิตรองเท้าเอง จนสามารถไต่ระดับจากแบรนด์ที่แทบไม่มีใครรู้จักเลย กลายมาเป็นแบรนด์กีฬาอันดับ 1 ของโลก ที่มีมูลค่ากว่า 29.6 พันล้านเหรียญฯ และมูลค่าของแบรนด์เป็นอับดับที่ 18 ของโลก
Philip Hampson Knight เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 1938 ที่ประเทศอเมริกา ที่เมือง Portland รัฐ Oregon เขาเป็นลูกชายของ William W. Knight ซึ่งเป็นอดีตทนายความและผันตัวสู่การเป็นสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ และแม่ของเขาคือ Lota Hatfield Knight เขาเติบโตมาในหมู่บ้านเล็ก ๆ ใน Portland อย่าง Eastmoreland และเข้าศึกษาที่โรงเรียน Cleveland Hight School
โดยมีเรื่องเล่าว่าในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนตอนหนึ่ง Knight ได้ขอเข้าไปทำงานที่โรงพิมพ์ของพ่อ(Oregon Journal) แต่พ่อของเขากลับปฏิเสธ เพราะต้องการที่จะให้เขานั้น ค้นหางานด้วยตนเองมากกว่าที่จะพึ่งเส้นสายของครอบครัว Knight จึงตัดสินใจไปสมัครงานกับสำนักพิมพ์คู่แข่งกับพ่อของเขาอย่าง Oregonian โดยเขาได้ทำงานกะดึก เพื่อรายงานตารางคะแนนของข่าวกีฬาในแต่ละวัน แล้วพอถึงรุ่งเช้า เขาถึงค่อยเดินทางกลับบ้านที่ห่างจากที่ทำงานประมาณ 11 กิโลเมตร (7 ไมล์)
หลังจาก Knight ได้เรียนจบระดับชั้นมัธยม เขาได้เข้าไปเรียนต่อที่ University of Oregon และได้มีโอกาสเป็นนักข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์มหา’ลัย อย่าง Oregon Daily Emerald
โดยในระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ที่นี่ ก็ได้เป็นนักวิ่งของมหา’ลัย โดยระยะที่เขาทำเวลาได้ดีที่สุดจะเป็นการวิ่งระยะกลาง ซึ่งระยะทางที่วิ่งจะอยู่ที่ 1 mile (1.6 กิโลเมตร) โดยสถิติที่ดีที่สุดของเขาอยู่ที่ 4 นาที กับอีก 10 วินาที ซึ่งนั่นก็เพียงพอทำให้เขาคว้าแชมป์ในรายการ Varsity Letters ในปี 1957, 1958 และ 1959 และในปี 1959 ในที่สุดเขาก็เรียนจบและได้รับปริญญาในสาขาวารสารศาสตร์(journalism)
และหลังจากเรียนจบระดับชั้นมหาวิทยาลัยแล้ว เขาได้เข้าสมัครเป็นทหารรับใช้ชาติอยู่ 1 ปีเต็ม และหลังจากปลดประจำการแล้ว เขาก็ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Stanford Graduate School of Business ซึ่งเขาก็กำลังอยู่ในช่วงที่ค้นหาตัวเองอยู่ว่า นอกจากเรื่องของกีฬาแล้ว เขายังสนใจเรื่องอะไรอีกบ้าง จนกระทั่งเขาก็เริ่มสนใจในเรื่องของการทำธุรกิจ จึงนำความชอบทั้งสองอย่างมารวมกันกลายเป็น ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกีฬา และเขาก็เรียนจบระดับปริญญาโทจนได้ในปี 1962 (ซึ่งในระหว่างนั้นเขาก็ได้เข้าเป็น Army Reserve หรือทหารกำลังพลสำรองอยู่อีก 7 ปี ด้วยกัน)
โดย Knight ได้ตั้งคำถามในการที่จะวางแผนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจแรกของตนเองว่า ““Can Japanese Sports Shoes Do to German Sports Shoes What Japanese Cameras Did to German Cameras?” หมายถึง รองเท้ากีฬาจากญี่ปุ่นนั้นจะทำกับรองเท้ากีฬาเยอรมันได้อย่างที่กล้องถ่ายรูปจากญี่ปุ่นทำกับกล้องถ่ายรูปเยอรมันได้หรือไม่?
ซึ่งที่มาของประโยคนี้ก็คือ เมื่อสมัยก่อนนั้น รองเท้ากีฬาอันดับหนึ่งของโลกก็คือ Adidas ซึ่งที่มาจากประเทศเยอรมันที่นำเข้ามาขายในสหรัฐอเมริกา ส่วนรองเท้ากีฬาของอเมริกานั้น ยังไม่มีเจ้าไหนที่ทำได้ดีพอ และก่อนหน้านั้นเอง กล้องถ่ายรูปจากญี่ปุ่นอย่าง Canon และ Nikon ก็สามารถตีตลาดโลกได้อย่างเด็ดขาด
Knight จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ในเมื่อรองเท้ากีฬาจากญี่ปุ่น มีคุณภาพที่ดีและราคาถูก หากนำเข้ามาขายในอเมริกา ทำไมจะสู้รองเท้ากีฬายี่ห้ออื่นไม่ได้กันเชียว
ซึ่งข้อดีของสินค้าราคาถูกจากญี่ปุ่นนั้น มีเหตุอันเนื่องมาจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพและราคาถูก เพื่อส่งออกไปทั่วโลก เพื่อดึงเงินเข้าประเทศให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
ซึ่งหลังจากที่เขาจบการศึกษาแล้ว เขาก็ได้วางแผนเดินทางรอบโลกเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปที่ประเทศญี่ปุ่น เมือง Kobe และได้ค้นพบฐานโรงงานผลิตรองเท้าวิ่งที่ชื่อ Onitsuka Tiger และประทับใจกับรองเท้าที่มีคุณภาพดีในราคาถูก เขาจึงตัดสินใจโทรไปหา Kihachiro Onitsuka เพื่อขอนัดพบและพูดคุยกัน จนในที่สุด เขาก็สามารถทำข้อตกลงกันได้ โดย Knight ได้รับสิทธิในการเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก
ประมาณ 1 ปี ต่อมา ในที่สุดรองเท้าตัวอย่างก็ได้ถูกส่งมาถึงมือของ Knight ซึ่งในระหว่างที่รอนั้น เขาได้ทำงานเป็นนักบัญชีที่ Portland เพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งทันที่ที่เขาได้ตัวอย่างรองเท้ามา เขาก็ได้ส่งรองเท้าไปให้กับ Bill Bowerman ที่มหา’ลัย Oregon ซึ่ง Knight หวังแค่เพียงว่าเขาจะอุดหนุนรองเท้าของเขา และทำให้คนอื่น ๆ ในมหา’ลัย ที่รู้จักเขาสั่งซื้อเพิ่มเข้ามา
แต่ผิดคาด เพราะทันทีที่ Bowerman ได้รับรองเท้า เขากลับไม่สั่งซื้อเลยสักคู่ แต่เขากลับบอกกับ Knight ว่า ขอเป็นหุ้นส่วนด้วยคน และทั้งคู่ก็ตกลงเป็นหุ้นส่วนกันในวันที่ 25 มกราคม ปี 1964 โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Blue Ribbon Sports (BRS) โดยใช้เงินเริ่มต้นเพียง 500 ดอลล่าร์ หรือประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้น ในการเริ่มต้นธุรกิจและก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา
และหลังจากนั้น พวกเขาก็ทำงานอย่างหนักเพื่อให้กิจการเติบโต ซึ่งในระหว่างนี้นี่เองที่ Knight ยังคงทำงานเป็นพนักงานบัญชีควบคู่ไปด้วย จนได้เปิดร้านค้าปลีกใน Santa Monica ที่ California และ Eugene ที่ Oregon ซึ่งสามารถกำไรได้เป็นอย่างดีในช่วงปี 1964-1969 นี้ จึงทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำและมาทำ Blue Ribbon Sports อย่างเต็มตัว
จนกระทั่งในปี 1971 เกิดปัญหาไม่ลงรอยกันในเรื่องของสัญญา จึงทำให้ทาง Onitsuka ยกเลิกสิทธิในการเป็นตัวแทนจำหน่ายของ Blue Ribbon Sports ไป
และหลังจากที่ถูกยกเลิกสัญญาจาก Onitsuka ทาง Knight และ Bowerman จึงเริ่มผลิตรองเท้าเป็นของตัวเอง โดยครั้งหนึ่งเขาได้ไอเดียการทำพื้นรองเท้าจากเครื่องทำวัฟเฟิล ซึ่งแทนที่จะใส่แป้งลงไป เขากลับใส่ยางลงไปแทน แล้วได้นำไปเย็บติดกับพื้นรองเท้า ซึ่งมันทำให้รองเท้านั้นเกาะติดพื้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ rubber-waffle
ต่อมา Jeff Johnson พนักงานคนแรกของเขาได้เสนอไอเดียว่า ควรเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Nike ซึ่งเป็นชื่อเทพเจ้าหนึ่งของกรีก โดยมีความหมายว่า “เทพธิดาแห่งชัยชนะ” Knight จึงเปลี่ยนชื่อจาก Blue Ribbon Sports เป็น Nike เมื่อปี 1971 และได้ว่าจ้างกราฟฟิคดีไซน์ให้ออกแบบโลโก้ในตำนาน “swoosh” หรือเครื่องหมายถูกที่คุ้นตาเรานั่นเอง ด้วยค่าจ้างเพียง 35 ดอลล่าร์ฯ เท่านั้น
จังหวะเหมาะในการขยายกิจการของ Nike เริ่มขึ้นเมื่อปี 1972 ที่เป็นช่วงแข่งกีฬาโอลิมปิคพอดีที่เมือง Munich ประเทศเยอรมัน ซึ่ง Knight นั้น ได้ออกแบบและดีไซน์รองเท้าให้กับนักกีฬาโอลิมปิคชื่อดังอย่าง Steve Prefontaine ซึ่งเป็นนังวิ่งระยะไกล โดยหวังว่า เมื่อผู้คนได้เห็นรองเท้าที่เขาใส่แล้ว จะช่วยทำให้เป็นที่สนใจของนักวิ่งคนอื่น ๆ ที่กำลังรับชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคอยู่ ซึ่งชื่อรุ่นของรองเท้าที่ว่านี้ก็คือ Cortez ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างงาม เพราะกลายเป็นแบรนด์รองเท้าตัวเลือกแรก ๆ ของนักกีฬา Knight จึงค่อนข้างมั่นใจว่า การใช้ Influencer ที่เป็นนักกีฬานั้น ได้ผลเป็นอย่างดี
Nike เติบโตและสามารถกำไรได้อย่างต่อเนื่อง และในปี 1980 ก็มีรายงานว่า Nike นั้นได้ยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดด้านรองเท้ากีฬามากถึง 50% ของสหรัฐฯ ซึ่งรายได้ในช่วงปี 1973 นั้นอยู่ที่ประมาณ 28.7 ล้านดอลล่าร์ฯ และในช่วงปี 1983 รายได้ก็กระโดดไปอยู่ที่ 867 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือโตขึ้นถึง 3,000% ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น
ทาง Nike จึงได้บุกตลาดอื่นต่อ โดยได้ทำสัญญากับนักเทนนิสที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ ณ ขณะนั้น John McEnroe และในเวลาต่อมาไม่นาน รองเท้ารุ่นที่เขาใส่นั้น ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นอีกครั้งที่ Knight ค่อนข้างมั่นใจว่า การทำการตลาดมาถูกทางแล้ว
และ Nike ก็ได้เข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยเปิดขายหุ้นให้แก่สาธารณะชนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1980 (โดยในวันเปิดตัวมูลค่าของหุ้นอยู่ที่ประมาณ 0.17 ดอลล่าร์ และในปี 2018 มีมูลค่าอยู่ที่หุ้นละ 76.48 ดอลล่าร์)
ในเวลาต่อมา ในช่วงปี 1980 ถึง 1999 ทาง Nike จึงเร่งเข้าเซ็นต์สัญญากับนักกีฬาในแวดวงอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Andre Agassi, Charles Barkely, Tiger Wood และ Michael Jordan เป็นต้น
ซึ่งการเซ็นสัญญาระหว่าง Nike กับ Michael Jordan นั้น ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในพรีเซนเตอร์รองเท้ากีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะการเซ็นต์สัญญาในครั้งนั้นในรองเท้ารุ่น Air Jordan สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับ Nike ได้อย่างมหาศาล
ซึ่งจะว่าไป Nike ก็เกือบชวดกับการเซ็นต์สัญญากับ Michael Jordan เพราะจริง ๆ แล้ว เขานั้น เป็นแฟนคลับตัวยงของ Adidas แต่ด้วยข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธของ Nike ที่ยื่นข้อเสนอให้กับ Michael Jordan นั้น สูงถึง 2.5 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเซ็นต์สัญญาเป็นเวลา 5 ปี เฉลี่ยปีละ 500,000 ดอลล่าร์ฯ ซึ่งพอ Adidas เห็นตัวเลขนี้แล้ว ก็ขอถอนตัวไป เพราะคิดว่า Michael Jordan นั้นไม่เก่งพอ และโชคดีที่เอเจนซี่ของ Michael Jordan นั้น กล่อมให้เขาไปคุยกับ Nike ได้สำเร็จ
และหลังจากเซ็นต์สัญญาแล้ว Nike ก็เกือบจะมีปัญหากับ Michael Jordan เพียงเพราะเขาไม่ยอมใส่รองเท้าที่นักออกแบบทำสีโทนดำแดงมาให้ เพราะเขาคิดว่ามันเหมือนกับรองเท้าของปิศาจ
และพอกล่อม Michael Jordan ให้ใส่ได้แล้ว Nike ก็ดันไปมีปัญหากับทางสมาคม NBA ที่กำหนดเอาไว้ในช่วงนั้นว่า รองเท้าบาสเกตบอลนั้นต้องมีโทนสีขาว แต่รองเท้า Air Jordan I นั้นแทบจะไม่มีสีขาวอยู่เลย ทำให้ทุกครั้งที่ Michael Jordan ใส่รองเท้ารุ่นนี้ลงสนาม จะต้องถูกโทษปรับเงินเป็นจำนวน 5,000 ดอลล่าร์ฯ (ราว ๆ แสนกว่าบาท) ทุกนัดที่เขาใส่ลงเล่นในสนาม
แต่ Nike ไม่สน แถมได้ใช้ประโยชน์จากจุดนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว แถมยังได้ทำโฆษณาจิกกัดต่อสมาคม NBA ด้วยว่า “โชคดีที่ NBA ไม่สามารถห้ามคุณไม่ให้ใส่รองเท้าคู่นี้ได้” กลายเป็นว่ารองเท้า Air Jordan I นั้น ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าหยั่งกับแจกฟรี ทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในรุ่นที่มีราคาแพงที่สุดในบรรดารองเท้าบาสเกตบอล ณ ขณะนั้นด้วยซ้ำไป
และหลังจากที่ Michael Jordan อกหักจาก Adidas และหันมาซบอกกับ Nike ภายในปีแรกของการเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพของ Michael Jordan ก็สามารถทำผลงานได้อย่างสุดยอด จนได้รับตำแหน่ง Rookie of The Year และ Nike สามารถทำเงินจากรองเท้ารุ่น Air Jordan หลังจากที่วางขายได้เพียง 2 เดือนได้กว่า 70 ล้านดอลล่าร์ฯ และเพียงสิ้นปี 1985 ก็มีรายได้ทะลุ 100 ล้านดอลล่าร์ฯ ได้อย่างสบาย ๆ
และจากนั้น Michael Jordan ก็สามารถทำผลงานดีอย่างต่อเนื่อง จนผู้คนต่างยอมรับในฝีมือและยกย่องให้เขานั้นเป็นไอคอนของวงการบาสเกตบอล และนั่นก็ส่งผลให้รองเท้ารุ่น Air Jordan นั้น ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปีด้วยกัน แม้ว่าเขาจะเลิกเล่นบาสเกตบอลใน NBA ไปแล้วก็ตามที
และเมื่อ Nike กำลังจะหมดสัญญากับทาง Michael Jordan และมีทีท่าว่าเขาจะไม่ต่อสัญญาซะด้วย แต่ด้วยความโชคดีที่ได้เอเจนซี่ช่วยกล่อมให้ พร้อมกับทาง Nike เองนั้น เอาใจ Michael Jordan ด้วยการแปะโลโก้ท่าสแลมดั้งของเขาไว้บนรองเท้าทุกคู่ ทำให้เขาพอใจเป็นอย่างมาก และปัจจุบันก็ให้ Air Jordan นั้น เป็นซับแบรนด์ของ Nike ที่แยกออกมาทำการตลาดโดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่า ต่อให้ Michael Jordan จากโลกนี้ไปแล้ว รองเท้าของเขาก็ยังขายได้อยู่ดี
ตามมาด้วยการตลาดที่ถือได้ว่าเป็นแคมเปญที่ทรงพลังที่สุดของ Nike เลยก็ว่าได้ เมื่อทาง Nike ได้จัดตั้งแคมเปญที่ชื่อว่า Just Do It “หยุดกลัวและลงมือทำมันซะ” ควบคู่ไปกับโลโก้เครื่องหมายถูกอย่าง Swoosh ซึ่งแคมเปญนี้ส่งผลให้ยอดขายของ Nike เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด จากก่อนเริ่มแคมเปญอยู่ที่ 18% กระโดดขึ้นเป็น 43% หรือจากเดิมยอดขายอยู่ที่ 877 ล้านเหรียญฯ พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 9.2 พันล้านเหรียญฯ ในช่วงระหว่างปี 1988 ถึง 1998 หรือรายได้เติบโตกว่า 1,000% ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี (อีกแล้วครับท่าน)
ซึ่ง Just Do It ได้กลายมาเป็นสโลแกนของ Nike จวบจนถึงปัจจุบัน และถูกยกย่องว่าเป็นสโลแกนแห่งทศวรรษที่ 20 อีกด้วย
และในช่วงปี 1990 – 1999 นี้นี่เอง ที่ Nike เริ่มบุกตลาดฮ็อคกี้และฟุตบอล อย่างหนัก ด้วยการทุ่มงบลงสื่อโฆษณาในทุก ๆ ช่องทาง และสามารถทำยอดขายได้กว่า 10 พันล้านดอลล่าร์ฯ (หรือราว ๆ กว่า 3.3 แสนล้านบาท) ก่อนที่จะถึง ปี 1999 ซะอีก
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคเข้ามา เพราะในช่วงปี 1998 Nike ถูกบอยคอร์ดจากลูกค้าในเรื่องของการกดขี่แรงงานและไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของค่าแรง แถมสถานที่การผลิตโรงเท้าก็ยังไม่ค่อยดี จึงส่งผลให้ ยอดขายของ Nike ตกฮวบ ทำให้ Knight เองนั้นประสบกับปัญหาทางเงินอย่างหนัก และจำเป็นที่จะต้อง Layoff พนักงานออก และจำเป็นต้องเร่งรีบแก้ไขในเรื่องดังกล่าว ด้วยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมต่อแรงงาน และปรับสถานที่การผลิตรองเท้าให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งฝันร้ายของ Nike ในครั้งนี้กินเวลาร่วมทศวรรษ จนกระทั่งภาพลักษณ์ของ Nike ดีขึ้นเรื่อย ๆ และกลับมาอยู่ในใจของผู้บริโภคได้อีกครั้ง
และหลังจากที่ Nike ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ และ Knight เองก็เริ่มมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงวางมือจากตำแหน่ง CEO และลาออกจาก Nike ในเดือน พฤศจิกายน ปี 2004 (ในวัย 66 ปี) และได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทในเวลาต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2016 (ในวัย 80 ปี) เพื่อใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว
ในปี 2006 เขาได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 105 ล้านดอลล่าร์ฯ (หรือราว ๆ 3,500 ล้านบาท) ให้กับ Stanford Graduate School of Business ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขานั้นได้รับปริญญาโท และเป็นสถานที่ที่เป็นต้นกำเนิดของการเริ่มต้นธุรกิจของ Nike
ในปี 2008 Knight กับภรรยาของเขา Penelope Penny ได้ร่วมกันบริจาคเงินให้กับสถาบันโรคมะเร็ง OHSU จำนวนกว่า 100 ล้านดอลล่าร์ฯ (ราว ๆ กว่า 3,000 ล้านบาท) และในเวลาต่อมาสถาบันก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น OHSU Knight Cancer Institute เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
และทำให้ผู้คนจดจำเขาในฐานะมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ซึ่งเขาได้บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยในปี 2018 มีรายงานว่า เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ 33.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ 1.1 ล้านล้านบาท) โดยนิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 28 ของโลก ในวัย 80 ปี
Knight ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“Make history or be a part of it.”
หมายถึง จงเกิดมาเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ให้กับมวลมนุษยชาติหรือไม่ก็อย่างน้อยก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน
Phil Knight ผู้ก่อตั้ง Nike
Resources