4 ตัวเลขการเงินช่วยให้เป็นเศรษฐี โดย Ramit Sethi
Ramit Sethi นักเขียนชื่อดัง ผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาด้านการเงินส่วนบุคคล เจ้าของหนังสือ Bestsellers ผมจะสอนให้คุณรวย I Will Teach You to Be Rich และนี่คือ 4 ตัวเลขสำคัญทางการเงินที่จะช่วยให้คุณเป็นเศรษฐีเงินล้านในอนาคต
เหล่าบรรดาเศรษฐีที่ Ramit Sethi ชื่นชมมากที่สุด พวกเขามักติดตามเพียงแค่ตัวเลข 4 ตัวเท่านั้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้พวกเขาควบคุมการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่สำคัญก็คือ Ramit เองก็ติดตามตัวเลขเหล่านี้ทุกเดือนด้วยเช่นกัน
ซึ่ง “คุณไม่จำเป็นต้องรู้ถึง 50 ตัวเลข ไม่ต้องสนใจค่า PE Ratio ของหุ้น หรือแม้แต่ราคาซอสมะเขือเทศในซูเปอร์มาร์เก็ต” เราไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น
Ramit บอกว่าหากคุณโฟกัสแค่ตัวเลขสำคัญเพียง 4 ตัวนี้ คุณจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงต่อเดือนในการดูแลการเงินส่วนตัว และจะสามารถควบคุมการใช้จ่าย การออม และการลงทุนได้อย่างง่ายดาย
และการรู้ตัวเลขเหล่านี้ มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ความมั่งคั่งที่คุณกำลังมองหาอยู่
ตัวเลขที่ 1 – จัดการค่าใช้จ่ายประจำ Fixed Cost กุญแจดอกแรกสู่ความมั่งคั่ง
Ramit Sethi เริ่มต้นด้วยคำพูดที่ว่า ค่าใช้จ่ายประจำ หรือ fixed cost นั้น เป็นตัวเลขสำคัญอันดับแรกสุดที่คุณจะต้องติดตาม หากอยากจัดการการเงินให้ได้ดี โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ควรอยู่ที่ไม่เกิน 50-60% ของรายได้สุทธิ (คือเงินที่เหลือหลังหักภาษีแล้ว)
“ถ้าค่าใช้จ่ายประจำของคุณเกินกว่านั้น คุณจะพบว่ามันยากมากที่จะออมเงินหรือมีเงินเพียงพอสำหรับนำไปลงทุนต่อ และคุณจะรู้สึกเครียดระดับหนึ่ง เพราะคุณไม่มีเงินเหลือสำหรับในการใช้ชีวิตให้กระชุ่มกระชวยเลย”
ซึ่งค่าใช้จ่ายประจำครอบคลุมสิ่งที่เราต้องจ่ายในทุก ๆ เดือน อย่างเช่น ค่าเช่าบ้านหรือค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ (รวมถึงค่าน้ำมัน ค่าประกันและค่าภาษีจดทะเบียนรายปี) ค่าอาหาร และการชำระหนี้ อย่างเช่น หนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาด้วย
ปัญหาที่หลายคนมองข้าม: ค่าใช้จ่ายแฝง
โดย Ramit ชี้ว่า แม้คุณจะรวมค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนทั้งหมดแล้ว แต่หลายคนก็ยังลืมคิดถึงค่าใช้จ่ายแฝง อย่างเช่น ค่าซ่อมรถที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด หรือค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน “และเพื่อแก้ปัญหานี้ Ramit เขาก็แนะนำให้เพิ่มไปอีก 15% จากยอดรวมค่าใช้จ่ายประจำ เพื่อเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายที่เราอาจลืมนึกถึง”
ตัวอย่างเช่น ค่าซ่อมรถ หากคุณซ่อมรถแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย 400 ดอลลาร์ฯ (หรือเกือบ 14,000 บาท) นั่นหมายถึงคุณควรเผื่องบเดือนละ 33 ดอลลาร์ฯ (หรือประมาณพันกว่าบาท)สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้
ตรวจสอบสัดส่วนค่าใช้จ่ายประจำของคุณ
และเมื่อคุณรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด บวกกับ 15% ที่เผื่อไว้แล้ว Ramit เขาก็แนะนำให้คุณลองคำนวณดูว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยการนำไปเทียบกับรายได้สุทธิของคุณ
“ซึ่งถ้าค่าใช้จ่ายแบบ fixed cost มันอยู่ในช่วง 50-60% ของรายได้สุทธิ ก็ถือว่าเยี่ยมเลย!”
“แต่ถ้าสัดส่วนมันมากกว่านั้น คุณต้องเริ่มตรวจสอบแล้วว่า รายจ่ายส่วนไหนที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของคุณพุ่งสูง”
เมื่อค่าใช้จ่ายประจำสูงเกินไป
ซึ่งถ้าหากค่าใช้จ่ายประจำของคุณเกิน 60% ของรายได้สุทธิ แล้วล่ะก็ Ramit เขาชี้ว่า ปัญหามักจะเกิดจากค่าใช้จ่ายสองหมวดหลักก็คือ: ค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัย และ ค่ารถยนต์
“ซึ่งคนส่วนใหญ่คนมักจะดูแค่จำนวนเงินที่ต้องจ่ายรายเดือน แล้วบอกว่า ‘เดือนละ 400 ดอลลาร์ฯ (หมื่นกว่าบาท)ต่อเดือน ก็น่าจะไหว’ แต่นั่นมันเป็นความคิดที่ผิด!”
โดย Ramit ย้ำว่า คุณจะต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายแฝงที่มากับบ้านด้วย เช่น ค่าภาษีทรัพย์สิน ค่าสาธารณูปโภค และค่าบำรุงรักษาบ้าน
ซึ่งค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยไม่เกินควร 28% ของรายได้รวมของคุณ แต่ถ้าหากคุณอยู่ในตัวเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงมาก อาจยืดหยุ่นอยู่ที่ราว ๆ 32-33% ของรายได้รวมแทน
ส่วนในเรื่องของรถยนต์ หลายคนตัดสินใจซื้อรถโดยดูแค่ค่างวดรายเดือน แต่ลืมคำนวณค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน ค่าจอดรถ ค่าประกัน และค่าซ่อมบำรุง
โดย Ramit เขาได้เล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า “ตอนนั้นเขาจ่ายค่าผ่อนรถ 350 ดอลลาร์ฯ (หมื่นกว่าบาท) ต่อเดือน ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่แพงมาก แต่พอรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถยนต์แล้วนั้น ค่ารถของเขาพุ่งไปถึง 1,000 ดอลลาร์ฯ (สามหมื่นกว่าบาท) ต่อเดือน!” เลยทีเดียว
มุ่งเน้นที่ตัวเลขใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ
Ramit เตือนว่า หลายคนเสียเวลากับการติดตามรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การเปรียบเทียบราคาผักในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือการเลือกซื้อสินค้าโปรโมชั่นที่ลดราคาเพียงไม่กี่บาท “ซึ่งถ้าคุณมัวติดตามราคาบรอกโคลีในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต นั่นมันมันหมายความว่าคุณกำลังหลงทางแล้ว!”
เพราะสิ่งที่สำคัญคือการโฟกัสไปที่ตัวเลขใหญ่ ๆ อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์ ซึ่งเป็นรายจ่ายสองหมวดหมู่ที่ส่งผลต่อสถานะการเงินของคุณมากที่สุด
สรุป
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายประจำเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งหากคุณสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายนี้ให้อยู่ที่ 50-60% ของรายได้สุทธิ คุณจะมีเงินเพียงพอสำหรับการออมและการลงทุน
“จงอย่ากลัวที่จะตรวจสอบและปรับปรุงการเงินของคุณ” “ถ้าคุณสามารถจัดการค่าใช้จ่ายประจำได้เป็นอย่างดี คุณจะพบว่าเงินของคุณจะเริ่มทำงานให้คุณ และชีวิตของคุณก็จะสบายขึ้นในทุก ๆ ด้าน”
ตัวเลขการเงินที่ 2 – การลงทุนระยะยาว: ก้าวสำคัญสู่ความมั่งคั่งที่แท้จริง
หลังจากพูดถึงค่าใช้จ่ายประจำ Ramit เขาชี้ให้เห็นว่า การลงทุนระยะยาว (Long-term Investments) เป็นตัวเลขที่สองที่คุณจำเป็นต้องติดตาม และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืน
“และนี่คือตัวเลขที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งที่แท้จริง” โดย Ramit อธิบายว่า การกันเงินเพื่อการลงทุนไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของตัวคุณให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น แต่มันยังทำให้เงินของคุณเติบโตเองได้ในระยะยาวด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) เป็นการใช้เงินทำงานแทนคุณอย่างแท้จริง
คำถามที่สำคัญ ทำไมต้องลงทุนอย่างน้อย 10% ของรายได้สุทธิ?
โดย Ramit แนะนำว่า คุณควรจัดสรรเงินอย่างน้อย 10% ของรายได้สุทธิ เพื่อการลงทุน เช่น ในกองทุนรวม หุ้น หรือแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ “ยิ่งคุณลงทุนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี”
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น Ramit เขายกตัวอย่างการลงทุนระยะยาวของสองคนที่มีแนวทางที่แตกต่างกัน:
- Savvy Sally เริ่มลงทุน $200 ต่อเดือน ตั้งแต่อายุ 35 ถึง 45 ปี รวมเวลา 10 ปี แล้วหยุด
- Naive Noah เริ่มต้นลงทุนช้ากว่า โดยเริ่มตอนอายุ 45 แต่ลงทุน $200 ต่อเดือนจนถึงอายุ 65 ปี รวมเวลา 20 ปี
แม้ว่า Noah จะลงทุนโดยใช้เงินต้นเป็นสองเท่าของ Sally แต่ผลลัพธ์กลับต่างกันมาก เพราะ Sally กลับมีเงินมากกว่า Noah ถึง $60,000 (หรือสองล้านกว่าบาท) เป็นเพราะเธอเริ่มลงทุนเร็วกว่าถึง 10 ปี “นี่คือพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่ทำงานให้คุณ”
เริ่มต้นช้า ยังไม่สาย!
“แต่ถ้า ณ ตอนนี้ คุณอายุ 48 ปี แล้วเพิ่งเริ่มลงทุน และกำลังรู้สึกท้อแท้ ทาง Ramit ก็บอกว่าไม่ต้องกังวลไป เพราะแม้การเริ่มต้นเร็วตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมดีกว่าเสมอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเริ่มต้น ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน ดังนั้น เวลาเริ่มต้นการลงทุนที่ดีที่สุดอาจผ่านเลยมาสิบปีแล้ว เวลาที่ดีที่สุดต่อมาก็คือ ตอนนี้นั่นเอง
โดยคุณสามารถลองใช้เครื่องมือการคำนวณดอกเบี้ยทบต้น Compound Interest Calculator เพื่อคำนวณศักยภาพของเงินลงทุนของคุณ ที่หาได้บน google ที่เพียงป้อนจำนวนเงินที่คุณสามารถลงทุนได้ต่อเดือน เช่น $100, $200 หรือ $500 (3,000, 5,000 หรือ 10,000 บาท) และตั้งค่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 7% ต่อปี คุณจะได้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนเลยว่าเงินของคุณจะเติบโตขนาดไหนในระยะเวลา 10, 20 หรือ 30 ปี
แล้วถ้าไม่มีเงินสำหรับการลงทุนล่ะ จะต้องทำอย่างไร?
ซึ่งทาง Ramit เองเขาก็เข้าใจดีว่า หลายคนอาจไม่มีเงินเหลือพอสำหรับการลงทุนหลังจากชำระค่าใช้จ่ายประจำ ซึ่งหากคุณอยู่ในสถานการณ์นี้ เขาแนะนำให้ตรวจสอบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหารนอกบ้าน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจปรับลดได้
ซึ่ง Ramit เขาเห็นหลายคนใช้เงินไปกับบริการส่งอาหารมากเกินไป หรือเผลอใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นให้คุณนำเงินที่ประหยัดได้จากหมวดหมู่เหล่านี้มาลงทุนแทน
การลงทุนควรเป็นแบบอัตโนมัติ
นอกจากนั้น Ramit เขายังได้เน้นว่า การลงทุนที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรตั้งค่าให้เป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อให้เงินถูกหักเข้าบัญชีลงทุนในทุก ๆ เดือนโดยไม่ต้องเสียเวลาไปคิดซ้ำหรือมีข้ออ้างใด ๆ ที่จะไม่ยอมทำการลงทุน ซึ่งการลงทุนแบบอัตโนมัติไม่เพียงช่วยให้คุณมีวินัย แต่ยังช่วยลดความยุ่งยากในการบริหารเงินอีกด้วย
โดย Ramit แนะนำว่า “คุณจำเป็นที่จะต้องลงทุน 10% เป็นอย่างน้อย และให้เพิ่มจำนวนเงินลงทุนขึ้นอีก 1% ในทุก ๆ ปี”
พลังของการเริ่มต้นและการสม่ำเสมอ
Ramit เขาสรุปว่า การลงทุนคือจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่จำนวนเงินที่คุณเริ่มต้น แต่คือการเริ่มต้นให้เร็วที่สุด และทำอย่างสม่ำเสมอ “เพราะเงินที่คุณลงทุนในวันนี้ จะเติบโตมากกว่าที่คุณคาดคิดในอีก 20-30 ปีข้างหน้า”
“อย่าปล่อยให้เวลาสูญเปล่าไป จงลงทุนในทุก ๆ เดือน และให้ดอกเบี้ยทบต้นทำงานแทนคุณ”
ตัวเลขที่ 3 – เป้าหมายในการออม: วางแผนเพื่ออนาคตและความมั่นคงในชีวิต
เป้าหมายในการออม (Savings Goals) เป็นอีกหนึ่งตัวเลขสำคัญที่ทุกคนต้องติดตาม หากเปรียบการลงทุนคือการช่วยสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวแล้ว ด้านการออมก็คือการเตรียมความพร้อมสำหรับเป้าหมายระยะสั้น เช่น ทริปท่องเที่ยวหรือการซื้อสิ่งของที่ต้องการ และยังช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิต เช่น การมีเงินสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
“ซึ่งหลายคนคิดว่าการออมคือการเก็บเงินไปเรื่อย ๆ แต่จริง ๆ แล้ว คุณต้องรู้ว่าคุณกำลังออมเงินเพื่ออะไรอยู่” การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณออมเงินได้อย่างมีวินัยและมีประสิทธิภาพ
ออมเงิน 5-10% ของรายได้สุทธิ
โดย Ramit เขาแนะนำให้เราจัดสรรเงินจากรายได้มาจำนวน 5-10% สำหรับเพื่อการออมโดยเฉพาะ และเงินส่วนนี้ควรแยกออกจากเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนในระยะยาวนับสิบปี ส่วนเงินออมนั้นจะนำไปใช้กับเป้าหมายในช่วงเวลา 1-5 ปี เช่น การท่องเที่ยว ซื้อเสื้อโค้ชตัวใหม่ หรือเก็บเงินไว้ดาวน์บ้าน
“ซึ่งการออมจะช่วยให้คุณควบคุมการใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น” เพราะแทนที่จะใช้เงินไปทันทีที่มีรายรับเข้ามา การตั้งเป้าหมายจะทำให้คุณวางแผนและใช้เงินได้อย่างมีความสุขมากขึ้นเมื่อถึงเวลาที่จะต้องใช้เงิน
เป้าหมายสำคัญ: กองทุนฉุกเฉิน Emergency fund
นอกจากการออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้นแล้ว ทาง Ramit ยังได้เน้นย้ำว่า กองทุนฉุกเฉิน หรือ Emergency fund นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี
“ลองคิดดูว่า ถ้าวันหนึ่งคุณถูกเลิกจ้าง หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คุณไม่สามารถทำงานได้ คุณจะยังคงต้องจ่ายค่าเช่าบ้านหรือค่าอาหารอยู่ใช่หรือไม่?”
ซึ่ง Ramit ก็แนะนำให้คุณสร้างกองทุนฉุกเฉินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อย่างน้อย 3-6 เดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ โดยคำนวณเฉพาะสิ่งที่ต้องใช้เพื่อยังคง “เปิดไฟในบ้านให้ยังสว่างได้อยู่” หากคุณถูกเลิกจ้างหรือต้องหยุดทำงานกะทันหัน
โดยการสร้างกองทุนฉุกเฉินนี้อาจใช้เวลาหลายปี ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ “ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการเก็บเดือนละ 100 ดอลลาร์ฯ (3,000 บาท) หรือ 200 ดอลลาร์ฯ (5,000 บาท) ต่อเดือน ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว”
วางแผนการออมอย่างชัดเจน
โดย Ramit ชี้ว่า การออมที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมีการจัดการและแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน ซึ่งเงินออมควรถูกแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามเป้าหมาย เช่น:
- เงินออมสำหรับการสร้างกองทุนฉุกเฉิน
- เงินออมสำหรับทริปท่องเที่ยว
- เงินออมสำหรับสิ่งของที่ต้องการ เช่น คอมพิวเตอร์ใหม่หรือโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งการตั้งเป้าหมายแบบนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่ากำลังออมเพื่ออะไร และช่วยลดความรู้สึกผิดเมื่อต้องใช้เงิน เพราะคุณได้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าไม่มีเงินเหลือออมล่ะ?
ซึ่งหากคุณรู้สึกว่าไม่มีเงินเหลือพอที่จะออม Ramit เขาก็แนะนำให้กลับไปตรวจสอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของตัวคุณเอง เช่น ค่าใช้จ่ายประจำ หรือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่สามารถปรับลดได้ “คุณจะต้องหาวิธีสร้างงบประมาณสำหรับเงินออมให้ได้”
การออมเป็นรากฐานของความมั่นคง
Ramit สรุปว่า การออมเงินเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิต และเป็นตัวเลขสำคัญที่คุณต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอ
“เริ่มต้นด้วยเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ สร้างมันขึ้นมา” และแม้ว่าการสร้างกองทุนฉุกเฉินหรือออมเงินสำหรับเป้าหมายอื่น ๆ นั้น อาจดูเหมือนเป็นงานใหญ่ แต่สิ่งที่สำคัญคือการเริ่มต้นและทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า
ตัวเลขที่ 4 – การใช้จ่ายอย่างสบายใจ: ใช้เงินเพื่อชีวิตที่คุณมีความสุข
Ramit Sethi ปิดท้ายด้วยตัวเลขที่เขาชื่นชอบมากที่สุด นั่นก็คือ: การใช้จ่ายอย่างสบายใจแบบไม่รู้สึกผิด (Guilt-Free Spending) โดยเขาอธิบายว่า เงินในหมวดหมู่นี้คือเงินที่คุณสามารถใช้จ่ายกับสิ่งที่คุณรักและให้ความสุข โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือกังวลใด ๆ
“จุดประสงค์ของเงินนั้น มันไม่ใช่แค่การใช้เพื่อเก็บออมหรือเพื่อการลงทุน แต่คือการใช้มันเพื่อสร้างชีวิตในแบบที่คุณต้องการ” พร้อมชี้ให้เห็นว่าการใช้เงินอย่างสบายใจนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับการเก็บออม
20-35% ของรายได้เพื่อความสุข
โดย Ramit แนะนำว่า การใช้จ่ายในหมวดนี้ควรอยู่ที่ 20-35% ของรายได้สุทธิ โดยให้จัดการหลังจากที่คุณได้จัดสรรเงินไปกับค่าใช้จ่ายประจำ ออมเงิน และการลงทุนเสร็จแล้ว โดยเงินในส่วนนี้คือ “เงินที่คุณสามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องคิดมาก”
ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าวที่ร้านโปรด การไปเที่ยวพักผ่อน หรือการซื้อสิ่งของที่คุณชื่นชอบ เงินส่วนนี้ออกแบบมาเพื่อให้คุณได้ใช้ชีวิตในแบบที่คุณต้องการ
“อย่าลืมนะครับว่า เราทำงานหนักเพื่ออะไรกัน? เราทำเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานและเติมเต็มได้ในวันนี้ด้วย ไม่ใช่แค่เก็บเงินเอาไว้ใช้แต่ในอนาคต”
ปัญหาของการใช้จ่ายมากไปและน้อยไป
Ramit ชี้ว่ามีสองปัญหาใหญ่ที่หลายคนเจอเมื่อพูดถึงการใช้จ่ายอย่างสบายใจ:
- ใช้จ่ายมากเกินไป:
หลายคนปล่อยให้หมวดนี้กลืนเงินไปมากกว่า 50% ของรายได้โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งมักเกิดจากการไม่ติดตามการใช้จ่ายอย่างจริงจัง โดยตัวอย่างที่พบได้บ่อยก็คือ การใช้จ่ายเกินตัวกับร้านอาหาร การช็อปปิ้ง หรือการเดินทางบ่อยเกินไป”ซึ่งถ้าคุณพบว่าคุณใช้จ่ายมากกว่าที่ควรในหมวดนี้ นั่นหมายความว่าคุณอาจกำลังลดโอกาสในการออมและการลงทุนเพื่ออนาคตของตัวเอง” - ใช้จ่ายน้อยเกินไป:
อีกด้านหนึ่งตรงกันข้ามก็คือกลุ่มคนที่พวกเขาภาคภูมิใจกับการใช้เงินเพียงเล็กน้อย เช่น ใช้จ่ายเพื่อความสุขเพียง 5% ของรายได้ แต่ทาง Ramit เขากลับมองว่านี่เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน “เพราะถ้าคุณใช้จ่ายน้อยขนาดนั้น นั่นหมายความว่าคุณล้มเหลวในการเรียนรู้ทักษะการใช้จ่ายอย่างมีความสุข”เขายกตัวอย่างผู้คนที่เก็บเงินอย่างหนัก แต่ไม่เคยอนุญาตให้ตัวเองได้ใช้เงินเพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการจริง ๆ เลย เพราะแม้จะมีเงินเก็บมากมาย พวกเขาก็ยังไม่กล้าใช้จ่ายอยู่ดี เพราะติดอยู่กับความคิดที่ว่าการใช้เงินคือความฟุ่มเฟือย
การสร้างสมดุลในการใช้จ่าย
Ramit เชื่อว่าการใช้จ่ายอย่างสบายใจต้องอาศัยการฝึกฝนและการเรียนรู้ “มันก็เหมือนการฝึกเล่นกล้าม ยิ่งคุณฝึกยกน้ำหนักบ่อยและเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของคุณก็จะพัฒนาขึ้น ดังนั้นคุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่มีความหมายกับคุณจริง ๆ” มันจะช่วยให้คุณได้พัฒนาทักษะในการใช้จ่ายเงินได้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างง่าย ๆ คือ การตั้งงบประมาณในหมวดนี้ให้สอดคล้องกับความชอบและเป้าหมายของคุณ เช่น ถ้าคุณชอบการเดินทาง คุณอาจกันเงินในหมวดนี้ไว้สำหรับทริปที่คุณใฝ่ฝัน แต่ถ้าคุณชอบเทคโนโลยี เงินส่วนนี้อาจไปอยู่ที่การซื้อแก็ดเจ็ตใหม่ ๆ
“จงใช้เงินเพื่อสิ่งที่คุณรัก ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นคิดว่าคุณควรจะรัก”
ความสำคัญของการปลดล็อกความสุขในวันนี้
Ramit ทิ้งท้ายว่า การใช้จ่ายอย่างสบายใจนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของตัวเลข แต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตในแบบที่คุณต้องการ “เพราะเราไม่ได้ทำงานหนักเพื่อสะสมเงินเอาไว้เฉย ๆ เราทำงานเพื่อให้ตัวเองมีความสุขในวันนี้และวันข้างหน้าต่างหาก”
โดยเขาเตือนว่า หากคุณใช้ชีวิตโดยมุ่งเน้นแค่การเก็บเงินและไม่อนุญาตให้ตัวเองใช้เงินเพื่อความสุขในวันนี้ คุณอาจพบว่า เมื่อถึงวันที่คุณพร้อมที่จะใช้เงินจริง ๆ คุณอาจสูญเสียความสามารถในการใช้จ่ายอย่างมีความสุขไปแล้ว คุณอาจจะแก่เกินจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามทริปที่คุณใฝ่ฝัน มันไม่สนุกซะแล้วในยามแก่
“การใช้จ่ายอย่างสบายใจไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่มั่งคั่ง และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้ที่จะทำ”
สรุป: ตัวเลข 4 ตัวเพื่อชีวิตที่มั่งคั่ง
Ramit สรุปว่า ตัวเลข 4 ชุดนี้ ค่าใช้จ่ายประจำ การลงทุนระยะยาว การออม และการใช้จ่ายเงินอย่างสบายใจนั้น คือรากฐานสำคัญของการจัดการการเงินที่มีประสิทธิภาพ
“ถ้าคุณทำตามแนวทางนี้ คุณจะสามารถออมเงิน ลงทุน และใช้จ่ายอย่างสบายใจได้ โดยไม่ต้องรู้สึกเครียดหรือกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป” การจัดการเงินไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน หากคุณรู้ว่าคุณควรโฟกัสที่ตรงจุดไหน
Resources