Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates เจ้าของฉายา King of Hedge Fund หรือเจ้าพ่อแห่งวงการกองทุนป้องกันความเสี่ยง ที่ ณ ปี 2021 เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $20,300 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือราว ๆ 637,146 ล้านบาท ส่งผลให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 88 ของโลก
และนี่คือ 3 คำแนะนำทางด้านการเงินที่เขามีให้กับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ที่แม้ว่าจะเจอแต่อุปสรรคหรือประสบพบเจอกับวิกฤตก็ตามที คุณจะสามารถผ่านมันไปได้
คำแนะนำที่ 1 – Saving การออมเงิน
การออมเงินเพื่อให้มีเงินสำรองใช้จ่ายในยามวิกฤตในยามฉุกเฉิน ซึ่งการที่จะเหลือเงินเก็บออมเท่าไหร่นั้น มันก็ต้องมาย้อนดูด้วยว่า ในแต่ละเดือนคุณใช้จ่ายไปเท่าไหร่ แล้วเก็บได้เท่าไหร่ แล้วไอ้ที่เก็บออมเอาไว้นั้น จะสามารถใช้จ่ายได้นานเท่าไหร่ ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด นี่ก็งัดเงินออมมาใช้หมดไปตั้งแต่รอบแรก รอบสองแล้ว พอเจอรอบสามนี่เรียบร้อย แต่คนส่วนใหญ่บอกว่า หมดไปตั้งแต่วิกฤตรอบแรกแล้ว แต่ในขณะที่อีกหลายต่อหลายคน ต่อให้ไม่มีวิกฤตเกิดขึ้น เงินมันก็หมดไปตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว สิ้นเดือนก็มาม่าไปตามระเบียบ ส่วนช่วงนี้น่ะหรอ ก็แค่เปลี่ยนเป็นมาม่าตั้งแต่ต้นเดือนยันท้ายเดือนก็เท่านั้นเอง
ดั้งนั้นจากเดิมที่เราอาจเคยได้ยินกันมาว่า อย่างน้อย ๆ แต่ละคนควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉินที่สามารถเอาไว้ใช้จ่ายในยามที่ไม่มีงาน ไม่มีเงินเข้ามาเลยเผื่อไว้สัก 3-6 เดือน แต่บทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้ เราอาจจะต้องขยายการเก็บออมเงินสำรองให้ได้อย่างน้อยสัก 12 เดือนขึ้นไป หรืออาจจะยกระดับเป็น 24 เดือน หรือ 36 เดือนก็ว่ากันไป แต่อันที่จริงเผื่อเอาไว้สัก 12 เดือนนั้น ในระหว่าง 1 ปีนี้ ก็ยังพอมีเวลาคิดมีเวลาหางาน หาเงินใหม่ได้อยู่บ้าง แต่ถ้าไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินเลย มันจะคิดอะไรไม่ค่อยออก เพราะท้องมันหิว เครียดเรื่องค่าใช้จ่ายนู่นนี่นั่น ดังนั้น เป้าหมายแรกสุดคือ เราจะต้องเก็บเงินออมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในยามที่ไม่มีเงินใช้ให้ได้ซะก่อน แล้วจากนั้นค่อยไปคิดว่า จะออมเงินยังไง ลงทุนยังไง เพื่อให้ได้เงินมาเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงิน
คำแนะนำที่ 2 – How do you save well แล้วออมเงินแบบไหนดีที่สุด
และเมื่อคุณผ่านด่านแรกในการเก็บออมเงินได้แล้ว สิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องคิดในสเต็ปต่อมาก็คือ แล้วไอ้เงินที่เก็บออมไว้ได้นั้น ฉันจะเอาไปลงทุนในอะไรดี โดย Ray บอกว่า สิ่งแรกที่คุณจำเป็นต้องคิดไม่ใช่ดูว่าผลตอบแทนสูงเท่าไหร่ แต่สิ่งแรกที่คุณจะต้องดูก็คือ การลงทุนแบบไหนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก และการที่คุณเก็บออมในรูปแบบของเงินสด ฝากเอาไว้ในธนาคารอย่างเดียวนั้น เป็นการลงทุนที่แย่ที่สุดเลยก็ว่าได้
คำถามก็คือ ไหงเป็นงั้น?
โดยขั้นแรกสุดในการคำนวณผลตอบแทนนั้นที่คุณจะลงทุนว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ให้คุณเริ่มต้นจาก อัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3%-4% ต่อไป ต่อมาให้ดูผลตอบแทนจากการลงทุนว่ามันมีอัตราการเติบโตเท่าไหร่ อย่างการฝากเงินออมไว้ในธนาคารจะมีอัตราดอกเบี้ยหรู ๆ เลยก็อยู่ที่ประมาณ 1%-2% และอีกอย่างที่ต้องนำมาคำนวณด้วยก็คืออัตราภาษี ซึ่งสมมติว่าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 1%-2% ต่อปี และเมื่อนำตัวเลขทั้งหมดมาบวกลบคุณหารกันแล้วจะพบว่า
ผลตอบแทน = ดอกเบี้ย – เงินเฟ้อ – ภาษี = 2% – 4% – 2% = -4%
อ้าวเฮ้ย! ฝากเงินในแบงค์ครบ 1 ปี ขาดทุนไป -4% ซะอย่างงั้น
และการมองหาการลงทุนประเภทอื่น ๆ คุณจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป เพราะความจริงอย่างหนึ่งคุณต้องยอมรับว่า คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าการลงทุนไหนมันจะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค ต่อให้ค้นคว้าและวิเคราะห์มาอย่างละเอียดแล้วก็ตามที เพราะถ้าเรารู้ว่าลงทุนอะไรแล้วรวยคงมีแต่คนทุ่มหมดตัวขายบ้านขายรถเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ ไปแล้ว ดังนั้น หากจะลงทุนในสินทรัพย์เพียงหนึ่งหรือสองอย่าง มันอาจจะทำให้คุณสูญเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งได้เลยหากคุณเลือกลงทุนผิดตัว
ดังนั้น การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงนั้น คุณควรกระจายไปในประเทศที่แตกต่างกัน ทรัพย์สินที่แตกต่างกัน ยิ่งทรัพย์สินแต่ละอย่างมันแตกต่างกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงน้อยลง เพราะถ้าหากเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกัน แม้ว่าเวลามันเป็นขาขึ้นมันจะขึ้นหลายเท่า แต่เวลามันขาลง มันจะพากันลงทั้งหมดด้วยเช่นกัน
คำแนะนำที่ 3 – Do the opposite of what your instincts are ให้ทำตรงกันข้ามกับสัญชาตญาณของคุณ
คุณคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “จงกลัวในตอนที่คนอื่นกล้า และจงกล้าในตอนที่คนอื่นกลัว” เพราะในเกมการลงทุน ในตลาดการลงทุนมันจะเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากเสียงส่วนใหญ่ของคนในตลาด ดังนั้นจงทำตัวเป็น ‘ชาวสวน’ ??? หรือนั่นก็คือซื้อเมื่อตอนที่คนส่วนใหญ่ขาย และขายเมื่อตอนที่คนอื่นซื้อ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำอย่างนั้น
Resources