วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังใกล้เข้ามา โดย Ray Dalio | Blue O’Clock Podcast EP. 84
Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates เฮดจ์ฟันด์กองทุนป้องกันความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการของ Tom Bilyeu เพื่อวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากที่ Donald Trump ชนะการเลือกตั้ง เขากล่าวถึงผลกระทบของนโยบายใหม่ ทั้งในด้านตลาดแรงงาน เทคโนโลยี และระบบการเงิน พร้อมสะท้อนความท้าทายที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญภายใต้แนวทาง “America First” ที่อาจสร้างทั้งโอกาสและความเสี่ยงในระดับโลก
โดยพิธีกร Tom ได้เกริ่นเปรียบเทียบระบบของเศรษฐกิจมันก็เหมือนกับกระดานหมากรุก เพราะเมื่อคุณมองเห็นตำแหน่งของตัวหมากทุกตัวในกระดาน คุณจะเริ่มมองออกว่าเรากำลังอยู่ในตำแหน่งไหนของเกม และจะมองเห็นสิ่งที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้ โดยในตอนนี้สภาพการณ์คือการที่ผู้นำฝ่ายขวาที่มีแนวคิดประชานิยม อย่าง Donald Trump ได้ถูกเลือกเข้ามาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
คำถามก็คือ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต? นี่อาจจะเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจและการเมืองโลกในระยะยาว
5 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกตามมุมมองของ Ray Dalio
โดยทาง Ray Dalio ได้เริ่มต้นอธิบายว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ล้วนมีสาเหตุที่ทำให้มันเกิดขึ้น และมันก็เหมือนกับเครื่องจักรที่กำลังทำงานอยู่ โดย Ray บอกว่า มันมีอยู่ด้วยกัน 5 ปัจจัยหลักที่ทำงานร่วมกันเป็นเสมือนฟันเฟือง ที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจโลกนั้นจะไปในทิศทางไหน
ปัจจัยแรกคือ “เงินและเครดิต” (Money and Credit) คือการได้รับเครดิตที่ให้อำนาจในการซื้อ และเกิดหนี้สินที่จำเป็นที่จะต้องชำระคืนแก่ผู้ให้เครดิต และเครดิตจะถูกใช้ไปเพื่อเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจขึ้นมาให้มากขึ้น แต่หากมีหนี้สินที่มากจนเกินไปก็จะเกิดปัญหาและจะต้องมีการปรับตัวเพื่อลดภาระหนี้
ปัจจัยที่สองคือ “การจัดระเบียบภายในประเทศ” (Internal Order and Disorder) ซึ่งหมายถึงความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมภายในประเทศ เช่น การต่อสู้ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ที่ในบางช่วงเวลามีอุดมการณ์และแนวทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยแต่ละฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอีกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ความวุ่นวายและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
Ray Dalio กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เขามองว่าในครั้งนี้ สหรัฐฯ โชคดีที่การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างเป็นระเบียบ โดยไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง ทำให้การเปลี่ยนจากรัฐบาลฝั่งซ้าย (พรรคเดโมแครต) ไปสู่รัฐบาลฝั่งขวา (พรรครีพับลิกัน) เกิดขึ้นอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สถานการณ์ภายในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น
ปัจจัยที่สามคือ “การจัดระเบียบระหว่างประเทศ” (International Order) ซึ่งหมายถึงกฎเกณฑ์และข้อตกลงที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ในการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือความมั่นคง นอกจากนี้ ยังมี พลวัตของอำนาจโลก (Global Dynamics) ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ หรือการเปลี่ยนแปลงในพันธมิตรระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและทิศทางของเศรษฐกิจโลก
ปัจจัยที่สี่คือ “เหตุการณ์จากธรรมชาติ” (Acts of Nature) เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือจะเป็นโรคระบาด ซึ่งเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อโลกที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยสุดท้าย ปัจจัยที่ห้า คือ “เทคโนโลยี” (Technology) เป็นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมากและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน
โดยทั้งห้าปัจจัยนี้มันได้ทำงานร่วมกัน และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การปฏิรูปภายในประเทศและการเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม
โดยในลำดับต่อไป Ray จะกล่าวถึงเรื่องของ การปฏิรูปภายในประเทศ (Internal Reforms) เพื่อปรับปรุงการทำงานของรัฐบาลและประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม (Preparation for War) ซึ่ง Ray เขาไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดสงครามขึ้นจริง แต่เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสงคราม โดยเฉพาะกับประเทศที่มีอำนาจกำลังเติบโตแข็งแกร่งอย่างจีนและพันธมิตรของพวกเขา เช่น รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกัน Ray Dalio ยังกล่าวถึงการที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มดำเนินการเหมือนกับบริษัทเอกชน โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้รัฐบาลทำงานได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ภายใต้นโยบายที่เรียกว่า Industrial Policy ซึ่งมุ่งเน้นให้ธุรกิจภายในประเทศดำเนินงานไปในทิศทางที่ชัดเจน แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ นั่นก็คือรัฐบาลจะเข้ามาควบคุมมากยิ่งขึ้น
โดยการปรับเปลี่ยนนี้จะรวมถึง การยกเลิกกฎระเบียบบางประการ (Deregulation) การเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย และการเน้นให้เกิด ผลิตผลที่มีประสิทธิภาพ (productivity) โดยจะต้องคำนึงถึงการแข่งขันในระดับโลก ตัวอย่างเช่น การแข่งขันในด้านเทคโนโลยี ซึ่งหากคุณชนะสงครามเทคโนโลยี คุณก็จะชนะสงครามทางเศรษฐกิจและสงครามทางการทหารด้วย เนื่องจากผู้ชนะในสงครามเทคโนโลยีจะได้เปรียบในทางเศรษฐกิจและสามารถชนะในด้านอื่น ๆ ด้วย
การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกและแนวทาง “America First”
ต่อมา Ray ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของ ระเบียบโลก (World Order) โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก โดยเขาบอกว่า เรากำลังจะเห็นการดำเนินการในรูปแบบ “นโยบายที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นอันดับแรก” (America First) ซึ่งหมายความว่า มันไม่ใช่ระเบียบโลกแบบเดิมที่ถูกตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ชนะสงคราม
โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น โลกจะมีการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยมีการตั้งกฎระเบียบเพื่อให้ทุกประเทศสามารถปฏิบัติตามได้ ซึ่งในเวลานั้นจะมีองค์กรระหว่างประเทศ อย่างเช่น สหประชาชาติ (United Nations), ธนาคารโลก (World Bank), องค์การการค้าโลก (World Trade Organization), และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ทำงานตามกฎที่เป็นสากล
แต่ตอนนี้นั้น แนวทางการทำงานแบบนี้เริ่มล้าสมัยไปแล้ว เพราะสิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือ America First อเมริกาต้องมาก่อน ซึ่งมันได้สร้างแรงกดดันให้กับประเทศอื่น ๆ จำเป็นต้องเลือกข้าง ว่าจะต้องร่วมมือกับทางอเมริกาฯ หรือไม่ก็ต้องยืนอยู่ข้างอเมริกา และตอนนี้เราจะได้เริ่มเห็นการเตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งแยกของโลกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ว่าแต่ละประเทศจะเลือกอยู่ฝ่ายไหนกันแน่
นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเรากำลังอยู่ในกระบวนการของการพัฒนาทิศทางใหม่ของโลก
การเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลกและบทบาทของกลุ่ม BRICS
ต่อมา Ray ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลก โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเขาคาดการณ์ว่าในอนาคตเราอาจจะเห็นการ เพิ่มขึ้นของความขัดแย้งทางการทหาร (armed conflict) และมีการทดสอบอำนาจในระดับโลก ซึ่งในตอนนี้ อำนาจของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้มีความเข้มแข็งเหมือนในอดีตที่สามารถชี้นำประเทศต่าง ๆ ได้เพียงแค่การบอกหรือการทำการทูต แต่ในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ มักจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศตนเองมากยิ่งขึ้น
โดย Ray เขายังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ กลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศ Brazil, Russia, India, China, South Africa ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ และประเทศที่ไม่ใช่อยู่ในกลุ่มของทวีปยุโรป โดยกลุ่มเหล่านี้มีแนวทางร่วมกันในการหลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้ระบบที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ เช่น การพัฒนาระบบการเงินที่ไม่ขึ้นกับดอลลาร์สหรัฐฯ และพยายามสร้างสกุลเงินใหม่เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนในกลุ่มของตน
แต่แม้กลุ่ม BRICS จะมีมุมมองที่ต่างกันในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันก็คือการพยายามหลีกเลี่ยงการถูกควบคุมจากสหรัฐฯ ซึ่งในที่สุดแล้วสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับการลดบทบาทในเวทีโลก และเห็นการพัฒนาในทางที่มีความเป็นอิสระและเป็นเอกเทศมากขึ้นจากหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้อำนาจของสหรัฐฯ จะยังคงมีมากอยู่ แต่ประเทศส่วนใหญ่ของโลกเริ่มมองไปที่ผลประโยชน์ของตนเองและไม่ได้มองตามนโยบาย America First ของสหรัฐฯ อีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการเตรียมพร้อมสำหรับสงครามเทคโนโลยี
ต่อมาทางพิธีกร Tom ได้ถาม Ray เกี่ยวกับแนวทางของผู้นำคนใหม่อย่าง Donald Trump ที่ดูมีความเข้มแข็งและมีความดุดันขึ้นมาครองอำนาจ ซึ่งอาจจะทำให้สหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการตั้งภาษีนำเข้าสูงถึง 20% ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะที่มีความท้าทาย โดย Tom เขาถามว่า การกระทำนี้จะส่งผลอย่างไรในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบาย America First และทำให้ประเทศต้องอยู่ในสภาวะ “โดดเดี่ยว” ทางเศรษฐกิจจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ในระบบการเงินของสหรัฐฯ เอง
โดย Ray Dalio เขาอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นในรูปแบบของระบบเศรษฐกิจสองระบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีเทคโนโลยีที่มาจากจีน และอีกหนึ่งจะมาจากอเมริกา ซึ่งทั้งสองจะพยายามแข่งขันกันอย่างหนักในด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ภายใต้สภาวะสงครามเทคโนโลยีที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ การพึ่งพาอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนจากประเทศอื่น ๆ อาจจะเป็นความเสี่ยงหากเกิดสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะหากเกิดการตัดสินใจปิดกั้นการส่งออกของชิ้นส่วนเหล่านี้ การที่เอาแต่พึ่งพาเทคโนโลยีภายนอกจะทำให้ขาดเสถียรภาพ และนอกจากนั้น ไม่มีใครเชื่อมั่นหรือเชื่อใจว่า AI ของแต่ประเทศนั้น จะล้วงข้อมูลอะไรไปบ้าง
ซึ่ง Ray คาดว่าภายในปี 2030 จะมีการผลิตชิปถึง 20% ภายในสหรัฐอเมริกาเอง เพราะชิปที่ถูกผลิตในไต้หวัน มีความเสี่ยงที่อาจเกิดจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะหากเกิดสงครามในภูมิภาคนั้น ๆ ดังนั้น การพึ่งพาชิปที่ผลิตในไต้หวันอาจจะเป็นปัญหาต่อการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้
โดย Ray Dalio ได้เปรียบเทียบนโยบายอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Donald Trump กับนโยบายที่เคยใช้ในเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศและการลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า
เขาอธิบายว่า ทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นต่างเคยเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างหนักหลังสงคราม รัฐบาลของทั้งสองประเทศจึงหันมาใช้ นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) และ การกำหนดภาษีนำเข้า (Tariffs) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ส่งเสริมการผลิตภายใน และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งในระยะยาว นโยบายเหล่านี้ได้ช่วยให้ทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในเวทีโลก
แม้ว่าการใช้มาตรการเหล่านี้อาจทำให้สินค้าในประเทศมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสินค้าที่ถูกที่สุดจากตลาดโลกได้ แต่ก็จะช่วยสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมภายในประเทศ และยังส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจภายใน ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในสหรัฐฯ มีความมั่นคงและแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว
Ray Dalio อธิบายว่า การใช้นโยบาย “America First” และการตั้ง ภาษีศุลกากร (tariffs) อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เขาชี้ให้เห็นว่าการตั้งภาษีศุลกากรสามารถสร้างรายได้ให้รัฐบาลได้มากกว่า ภาษีความมั่งคั่ง (wealth taxes) ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ารวมของทรัพย์สินของผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น และสินทรัพย์อื่น ๆ
Ray มองว่าภาษีศุลกากรไม่เพียงเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ แต่ยังช่วยปกป้องธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยส่งเสริมให้เกิดการผลิตภายในประเทศมากขึ้น แม้ว่าการเพิ่มภาษีจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นและอาจกระทบต่อค่าครองชีพในระยะสั้น แต่หากสามารถนำรายได้จากภาษีเหล่านี้ไปใช้ในการเพิ่ม ผลิตผล (productivity) ภายในประเทศ จะช่วยชดเชยผลกระทบด้านราคาได้
Ray ยังเปรียบเทียบว่า รัฐบาลควรบริหารประเทศเหมือนกับการบริหารธุรกิจภาคเอกชน โดยเน้นการเพิ่มผลผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างความพึ่งพาตนเอง ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ (Modern Monetary Theory – MMT) กับความท้าทายในโลกแห่งความเป็นจริง
Tom ถาม Ray เกี่ยวกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่” (Modern Monetary Theory – MMT) ซึ่งเสนอว่าสามารถพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อสร้างทรัพยากรและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องหนี้สินของประเทศในระยะสั้น Tom ต้องการรู้ว่าเหตุใดทฤษฎี MMT จึงไม่สามารถใช้ได้จริงในโลกปัจจุบัน
Ray ตอบทันทีว่า ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ (MMT) ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ เพราะแม้ว่าการพิมพ์เงินเพิ่มจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ เงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างผลิตผล (Productivity) ได้จริง หากไม่มีการเพิ่มผลผลิตหรือสินค้าและบริการในตลาด การเพิ่มปริมาณเงินก็จะนำไปสู่ เงินเฟ้อ (Inflation)
เพราะการพิมพ์เงินเพิ่มเปรียบเสมือนการเพิ่มอุปสงค์ (Demand) โดยที่อุปทาน (Supply) ยังคงเท่าเดิม ทำให้เมื่อผู้คนมีจำนวนเงินที่มากขึ้นก็อยากที่จะใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในขณะที่ปริมาณสินค้าและบริการยังเท่าเดิม จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเหตุการณ์เหล่านี้จะส่งผลให้ ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในการซื้อสินค้ามีมากขึ้น แต่ของในตลาดมีอยู่อย่างจำกัด
นอกจากนี้ Ray ยังชี้ให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ก่อหนี้หรือลูกหนี้ (Debtor) และผู้ให้กู้ (Creditor) ว่าเมื่อมีการพิมพ์เงินเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง ทำให้ผู้ให้กู้ที่ออมเงินไว้หรือถือครองพันธบัตรเอาไว้ พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนที่น้อยลง เพราะเงินที่พวกเขาถืออยู่สูญเสียมูลค่าในตลาด ทำให้พวกเขาหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น อย่างเช่น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถรักษามูลค่าได้ดีกว่าการถือเงินเอาไว้
นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ต้องมีการตั้งอัตราดอกเบี้ยให้เพียงพอสำหรับผู้ให้กู้เพื่อจูงใจให้พวกเขายังคงปล่อยกู้และลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลต่อไปโดยไม่ดึงเงินออกไปไว้ในทรัพย์สินอื่น ๆ แต่ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ก่อหนี้ หรือลูกหนี้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เกิดเป็นหนี้เสีย สร้างปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ดังนั้น การพิมพ์เงินโดยปราศจากการเพิ่มผลิตผลจริงในเศรษฐกิจมันก็ไม่ต่างจากการ โอนย้ายความมั่งคั่ง (Wealth Transfer) ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลทางการเงิน (Financial Imbalance) ทำให้เกิดเงินเฟ้อ และในที่สุดก็จะเกิดการลดลงของมูลค่าหนี้สินและพันธบัตรในตลาด คนจึงหลีกเลี่ยงการถือครองหนี้เหล่านี้ และมุ่งไปหาสินทรัพย์อื่นที่มีความมั่นคงกว่า
นี่คือเหตุผลหลักที่ Ray Dalio มองว่า ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ (MMT) นั้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง แม้ว่ามันจะดูดีในทางทฤษฎี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง กลับเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
การปรับโครงสร้างภาครัฐ: โอกาสหรือความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ?
Tom ถาม Ray เกี่ยวกับแนวทางของ Elon Musk ที่เข้ามามีบทบาทในการปรับโครงสร้างของภาครัฐ โดยถามว่า หากพวกเขาเริ่มลดขนาดของหน่วยงานภาครัฐ หรือยกเลิกบางหน่วยงานไปเลย จะทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยหรือไม่ หรือว่ามันจะช่วยปลดปล่อยทรัพยากรมนุษย์ให้ไปทำงานในภาคเอกชนได้มากขึ้น
โดยทาง Ray ตอบว่า สิ่งสำคัญคือ แนวทางเหล่านั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือทำให้ประสิทธิภาพลดลง
ถ้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ถูกนำมาใช้ในภาครัฐและหน่วยงานที่ขวางการพัฒนาถูกยกเลิก จะเหมือนกับบริษัทเอกชนที่ไม่มีระบบราชการ ไม่มีการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับประเทศ
แต่คำถามก็คือ แล้วจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่สามารถทำงานในระบบนี้ได้ หรือแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยจากการปรับโครงสร้างนี้ มันจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ถ้าหากการปรับโครงสร้างของรัฐไม่ได้ผล และแม้การปรับปรุงประสิทธิภาพของประเทศอาจจะดีขึ้น แต่ Ray เขาก็ยังมีคำถามว่า จะทำให้ทุกคนมี productive ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ ซึ่งเขาคิดว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญกว่า
Tom ถามว่า วิธีใดบ้างที่จะช่วยเพิ่ม productive ให้กับผู้คนที่อาจได้รับผลกระทบจากการลดขนาดของรัฐบาลหรือการออกจากงานในภาครัฐ เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวและกลับมามีประสิทธิภาพในตลาดแรงงานได้หรือไม่?
โดย Ray ตอบว่า คนที่ถูกปลดจากภาครัฐ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องหาทางให้ได้ เพราะหากปล่อยให้มีคนที่ไม่ได้รับการพัฒนาหรือมีความสามารถที่ไม่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นปัญหาสำหรับสังคมในระยะยาว และสร้างปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้น และสิ่งที่ Ray เขากังวลก็คือ เขาคิดว่ารัฐไม่ได้ให้ความสนใจกับปัญหานี้อย่างเพียงพอ ซึ่งการทำให้ประชาชนมีความสามารถและมีความพร้อมในการทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข
และทางภาครัฐไม่ควรเป็นผู้ดำเนินการหลักในด้านการพัฒนาและการปรับตัวของแรงงาน เพราะการทำงานของภาครัฐก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ดังนั้น Ray เขาจึงมองว่าไม่ควรเอารูปแบบการทำงานของภาครัฐมาใช้ในการพัฒนาแรงงานของประเทศชาติ
ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี: โลกสองขั้วระหว่างผู้ได้ประโยชน์และผู้ถูกแทนที่
Ray อธิบายว่า โลกกำลังถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ ในด้านเทคโนโลยี หนึ่งคือกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานในภาคเทคโนโลยี มีการศึกษาในสถาบันชั้นนำ และเป็นผู้สร้าง “ยูนิคอร์น” (Unicorns – บริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับผลตอบแทนสูงจากเศรษฐกิจใหม่
เขากล่าวว่าในสหรัฐฯ มีประชากรประมาณ 333 ล้านคน แต่มีเพียงราว ๆ 3 ล้านคน (หรือคิดเป็นไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมดภายในประเทศ) ที่ได้รับประโยชน์หลักจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ และในจำนวนนั้นกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้อพยพที่มีความสามารถสูงจากต่างประเทศ คนเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาก กำลังเผชิญกับการถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี และไม่สามารถปรับตัวได้ง่าย ๆ นั่นก็คือกลุ่มของข้าราชการและพนักงานรัฐที่ทำงานมาเป็นเวลานาน ในระบบราชการมาตลอดชีวิต ที่ยากต่อการเปลี่ยนไปทำงานในภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีได้ในทันที
Ray ได้ยกตัวอย่างเช่นว่า ข้าราชการวัย 52 ปี ที่เคยทำงานอยู่ในระบบราชการมายาวนาน แล้วจู่ ๆ ต้องออกไปหางานใหม่ในตลาดแรงงานของภาคเอกชน ซึ่งต้องการคนที่มีประสิทธิภาพสูง และมีทักษะที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ดูยังไงก็ไปไม่น่ารอด เพราะภาคเอกชนต้องการแรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น
Tom ตั้งข้อสังเกตว่า หากคนไม่สามารถทำให้ตัวเองเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพในภาคเอกชนได้ สุดท้ายแล้วพวกเขาก็อาจต้องพึ่งพาระบบสวัสดิการสังคม (Social Safety Net) ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้คนจำนวนมากถูก “หล่อหลอม” ให้ยึดติดกับระบบนี้ที่เอาแต่พึ่งพาทางรัฐ แทนที่จะพยายามหาที่ทางในตลาดแรงงานที่สร้างมูลค่าได้จริง ๆ
การศึกษา: กุญแจสำคัญในการสร้างแรงงานคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
Ray ตอบว่า การที่จะแก้ไขปัญหาคุณภาพของคนได้อย่างยั่งยืนนั้น คำตอบของมันอยู่ที่ “ระบบการศึกษา” (Education) ที่สามารถเรียนรู้ได้จากประวัติศาสตร์ของหลายประเทศทั่วโลก ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นเมื่อคนเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีทักษะและไม่ได้รับการหล่อหลอมให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ก็คือพวกเขาจะกลายเป็นแรงงานที่ “ไร้ประโยชน์” (Difficult to make useful) ต่อระบบเศรษฐกิจ และทำให้สังคมเผชิญกับความยากลำบากที่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
Ray เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาการศึกษา โดยชี้ให้เห็นว่าประชากรในสหรัฐฯ กว่า 60% นั้นมีทักษะการอ่านต่ำกว่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (Grade 6) ซะอีก
โดยเขามองว่าการปรับปรุงระบบการศึกษาให้เข้มแข็งขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องไม่เพียงแต่เพิ่มทักษะการอ่านและการเขียนเท่านั้น แต่ยังต้องสอนทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ (civility) การมีความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้คนในสังคมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Ray อธิบายว่า โดยปกติ วัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งเวลาเท่านี้ถือว่าไม่นานเลย แต่สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องทำให้แน่ใจว่าคนทุกคนได้รับสวัสดิการ “มาตรฐานขั้นต่ำ” (Bottom Standard) ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการศึกษาและเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ดี นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น
Ray เน้นว่า ถ้าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ต้องเริ่มจากการ “เลี้ยงดูเด็ก ๆ ให้ดี” (Raise your children well) เพราะเด็ก ๆ จะซึมซับทัศนคติและแนวทางการใช้ชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องได้รับทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน แต่ยังต้องได้รับการสอนเรื่องจริยธรรม (Ethics) และพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อสังคม
โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่า หากเด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยปัญหา เช่น อาชญากรรม ปืน ยาเสพติด และการลักขโมย พวกเขาจะซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้และมองว่าเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้พวกเขามีโอกาสสูงที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางเดียวกัน การป้องกันไม่ให้เกิดสภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง
Ray กล่าวสรุปว่า บทเรียนสำคัญที่ได้จากสิงคโปร์ และจากประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ ก็คือ การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้น ย่อมดีกว่าการพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในภายหลัง
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
Ray ได้ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในรัฐคอนเนตทิคัต (Connecticut) ที่ภรรยาของเขาทำมูลนิธิอยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ร่ำรวยที่สุดของสหรัฐฯ แต่กลับมีช่องว่างทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างเมืองที่อยู่ใกล้กันเพียงไม่กี่กิโลเมตร ยกตัวอย่างเช่น
- ใน เมือง Greenwich ซึ่งเป็นพื้นที่มั่งคั่ง งบประมาณการศึกษาต่อหัวของนักเรียนอยู่ที่ประมาณ $28,000 (ประมาณ 980,000 บาท) ต่อปี
- ในขณะที่ เมือง Bridgeport ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ห่างออกไปเพียง 10 นาที แต่มีฐานะยากจน งบประมาณการศึกษาต่อหัวกลับอยู่ที่เพียง $14,000 (ประมาณ 490,000 บาท) ต่อปี หรือคิดเป็นครึ่งเดียวของเมืองก่อนหน้านี้
Ray ชี้ให้เห็นว่า ช่องว่างด้านทรัพยากรการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเงินทุน แต่รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและโอกาสทางการเรียนรู้ของเด็กแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น
- ในโรงเรียนของเมืองที่ร่ำรวย นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์ใช้ ขณะที่ในโรงเรียนของเมืองยากจน หลายคนไม่มีแม้แต่คอมพิวเตอร์ส่วนตัว
- โรงเรียนในพื้นที่มั่งคั่งมี สภาพแวดล้อมการเรียนที่ปลอดภัยกว่า ไม่มีปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด หรือความรุนแรงเท่ากับโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง
- นักเรียนที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะดี ได้รับการปลูกฝังค่านิยมและการศึกษาที่ส่งเสริมความก้าวหน้า ขณะที่นักเรียนจากครอบครัวยากจน ต้องต่อสู้กับปัญหาทางสังคมตั้งแต่เด็ก
- ครูจำนวนมากในโรงเรียนที่ยากจนต้อง ควักเงินส่วนตัวเพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ สมุด และอุปกรณ์พื้นฐานให้เด็ก ๆในช่วงโควิด มีนักเรียนกว่า 60,000 คนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์ และหากไม่มีองค์กรภายนอกที่เข้ามาสนับสนุน พวกเขาก็คงพลาดโอกาสทางการศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง
- เด็ก ๆ จำนวนมากต้องมาที่โรงเรียน เพื่อรับอาหารกลางวัน เพราะที่บ้านมีอาหารไม่เพียงพอ
Ray อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาสังคมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่มันเป็นวัฏจักรที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
- ในหลายชุมชนที่ยากจน เด็กจำนวนมาก เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อแม่ติดยาเสพติดตั้งแต่อายุเพียง 14-15 ปี
- พ่อแม่เหล่านี้มักไม่มีการศึกษา ไม่มีทรัพยากร และ ไม่มีแบบอย่างที่ดีในการเลี้ยงลูก ทำให้เด็กที่เกิดมา ขาดการชี้นำที่ถูกต้อง และมีโอกาสสูงที่จะเดินซ้ำรอยเดิมตามพ่อและแม่ของตน
- เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น พวกเขาก็มีแนวโน้มสูงที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน ตกงาน หรือเข้าสู่เรือนจำ และเมื่อพวกเขามีลูก ลูกของพวกเขาก็ต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
Ray อ้างอิงข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่ภรรยาของเขาสนับสนุน โดยศึกษาสถานการณ์ในรัฐคอนเนตทิคัตและพบว่า
- 22% ของนักเรียนมัธยมปลายในรัฐนี้ ออกจากโรงเรียนกลางคัน
- ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้รัฐต้องใช้จ่ายเงิน มากกว่า $700 ล้าน (ประมาณ 24,500 ล้านบาท) ต่อปี ในการบริหารระบบเรือนจำและการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม
- Ray ชี้ให้เห็นว่า หากรัฐสามารถลงทุนในระบบการศึกษาและช่วยเหลือเยาวชนตั้งแต่แรก มันจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการต้องจ่ายเงินมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาในภายหลัง
“มันเป็นเรื่องของการมองการณ์ไกล” Ray กล่าวว่า “ถ้าคุณสร้างระบบที่ช่วยให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี คุณไม่เพียงแต่จะช่วยพวกเขาหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งความยากจน แต่คุณยังลดอัตราการเกิดอาชญากรรม ลดค่าใช้จ่ายของรัฐ และสร้างสังคมที่มีเสถียรภาพได้มากขึ้นด้วย”
“แต่สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือ เราไม่ยอมแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เราปล่อยให้เด็ก ๆ ต้องเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก ขาดการศึกษา และสุดท้ายก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้นแทน”
Ray สรุปว่า “หากเราต้องการสร้างสังคมที่ดีขึ้น สิ่งแรกที่เราต้องทำคือลงทุนในเยาวชนของเรา เราต้องแน่ใจว่าเด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และได้รับการปลูกฝังค่านิยมที่ดี ไม่เช่นนั้น วัฏจักรนี้ก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และจะต้องจ่ายค่าแก้ไขปัญหาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต”
Ray เชื่อว่าการเพิ่มงบประมาณเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์ แต่ก็ ไม่สามารถละเลยเรื่องทรัพยากรพื้นฐานได้
ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพต้องมีทั้ง
- การสนับสนุนครูที่มีความสามารถ
- การปลดครูที่ไม่มีคุณภาพออกไป
- การจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน
หากปรับปรุงเพียงด้านเดียว โดยไม่แก้ไขอีกด้าน ระบบก็จะยังคงมีปัญหาอยู่
สุดท้าย Ray Dalio ได้เล่าว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เขาสังเกตเห็นว่าผู้คนมักใช้จ่ายเงินในช่วงเทศกาลคริสต์มาสไปกับ ของขวัญที่ไร้ประโยชน์ เช่น ขนม ลูกอม หรือของกระจุกกระจิกที่ถูกทิ้งอย่างรวดเร็ว โดย ยอดการซื้อลูกอมในช่วงคริสต์มาสเพียงอย่างเดียว มีมูลค่าสูงกว่างบประมาณประจำปีขององค์กรการกุศลขนาดใหญ่รวมกัน เช่น
- American Heart Association (สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน)
- American Cancer Society (สมาคมผู้ป่วยมะเร็งอเมริกัน)
- Habitat for Humanity (มูลนิธิบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ)
ซึ่ง Ray มองว่านี่เป็นเรื่องที่ ไร้เหตุผลที่สุด เพราะเงินจำนวนมหาศาลถูกใช้ไปกับสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นเลย ในขณะที่ มีองค์กรการกุศลมากมายที่ต้องการเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนเป็นจำนวนมากอยู่
และจากแนวคิดนี้ Ray เขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการให้ของขวัญ ซึ่งแทนที่จะซื้อของขวัญที่ไม่จำเป็น เขาเปลี่ยนเป็นการบริจาคเงิน หลายล้านดอลลาร์ ในแต่ละปี ให้กับองค์กรการกุศลเพื่อแจกเงินเป็นของขวัญแก่ผู้คนใจบุญ ความหมายก็คือ คนที่ได้รับเงินจากมูลนิธิ พวกเขาสามารถแจ้งความประสงค์ได้ว่า ต้องการนำเงินไปช่วยเหลือองค์กรใดก็ได้ในนามของพวกเขาเอง และจากผลสำรวจก็พบว่าคนที่ได้รับของขวัญแบบนี้รู้สึกซาบซึ้งมากกว่าการได้รับสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์
ไอเดียของโครงการนี้ก็คือ:
- ให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์การให้โดยตรง โดยที่พวกเขาไม่ต้องใช้เงินของตัวเอง
- กระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมของการให้ที่มีความหมาย แทนที่จะใช้จ่ายไปกับของขวัญที่สิ้นเปลือง
- สร้างผลกระทบในวงกว้าง เพราะเงินที่บริจาคจะถูกนำไปใช้ในโครงการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจริงในสังคม
Ray กล่าวว่าทุกปี เงินบริจาคที่แจกให้ประชาชนมักจะหมดลงภายในเวลาไม่กี่นาที เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องการมีส่วนร่วมในโครงการนี้
เขาเชื่อว่า:
- ถ้าผู้คนเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลไปกับสิ่งที่สิ้นเปลือง
- ถ้าเงินที่ใช้ซื้อลูกอมถูกเปลี่ยนเป็นเงินบริจาคให้โรงเรียน หรือองค์กรที่ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส
- ถ้าคนที่มีทรัพยากรสามารถสร้าง วัฒนธรรมของการให้ที่ยั่งยืน
โลกก็อาจกลายเป็นสถานที่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้เช่นกัน
Resources